Plastic 24 Hours : พลาสติกหมุนรอบตัว อีกหนึ่งโปรเจ็กต์จุดประกายความคิดสร้างสรรค์จาก Design Catalyst

โลกของเราเต็มไปด้วยพลาสติก

แม้จะอยากปฏิเสธมากเท่าไหร่ก็ตาม แต่นั่นคือความจริงที่เราต้องยอมรับ..ว่าพลาสติกอยู่ทุกที่ในชีวิตประจำวัน ลองหันไปมองดูรอบๆตัวคุณสิ คุณเห็นอะไรที่เป็นพลาสติกบ้าง ทั้งบรรจุภัณฑ์ต่างๆ เรื่อยไปจนถึงแพมเพอร์สสำหรับเด็ก หรือแม้แต่อวัยวะทดแทนในร่างกายมนุษย์เองก็ยังใช้พลาสติกเป็นวัสดุสำคัญ ถ้าไม่มีพลาสติกในวันนี้ก็อาจจะไม่มีมนุษย์แล้วก็เป็นได้

และในเมื่อมันเป็นสิ่งที่สำคัญกับมนุษย์ขนาดนี้ เห็นทีคงถึงเวลาที่จะเรียนรู้ที่จะอยู่กับมันแล้วล่ะมั้ง?

หนังสือ Plastic 24 Hours ผลงานล่าสุดของ Design Catalyst แห่ง SCG ก็ว่าด้วยประเด็นนี้ แทนที่จะผลักใส บางทีสิ่งที่เราควรทำคือทำความเข้าใจกับวัสดุประเภทนี้ให้มากขึ้น เพราะพลาสติกก็เหมือนกับวัสดุอื่นที่หากใช้ให้ถูกทางแล้วก็อาจทำคุณประโยชน์ให้ได้อย่างมหาศาล โดยทาง SCG เพิ่งจะจัดงานเปิดตัวหนังสือเล่มนี้ไปหมาดๆเมื่ออาทิตย์ก่อนที่ศูนย์สร้างสรรค์การออกแบบ (TCDC) และดูเหมือนจะได้ผลตอบรับอย่างดี เห็นได้จากจำนวนผู้มาร่วมงานที่เรียกได้ว่ามากมายจนทำให้ห้องออดิทอเรียมของ TCDC แน่นขนัด 

หลังจากเปิดโอกาสให้ผู้เข้าร่วมงานได้ทำความรู้จักกับพลาสติกอย่างคร่าวๆด้วยนิทรรศการเคลื่อนที่และวิดีทัศน์เรื่อง Everyday Plastic แล้ว ช่วงเวลาที่เป็นไฮไลต์ของงาน ซึ่งก็คือการเสวนาในหัวข้อ Plastic Inspire ก็เริ่มขึ้น โดยส่วนนี้เป็นการพูดคุยกับนักออกแบบสามท่านที่ได้ฝากผลงานไว้ในหนังสือ Plastic 24 Hours นี้ ได้แก่ วศินบุรี สุพานิชวรภาชน์, อานนท์ ไพโรจน์ และวิภาวี คุณาวิชยานนท์ ที่มาแชร์ประสบการณ์ที่เกี่ยวกับการใช้พลาสติกเป็นวัสดุในการออกแบบ 

วศินบุรี สุพานิชวรภาชน์แห่งเถ้าฮงไถ่นั้นหยิบยกตัวอย่างผลงานที่ใช้พลาสติกเป็นวัสดุหลักอย่าง "ไอ้จุด" ซึ่งเป็นหนึ่งความร่วมมือระหว่างเขาและ SCG มาพูดคุยในครั้งนี้ โดยเขากล่าวว่าไอ้จุดนั้นเป็นเหมือนผลงานที่เกิดจากการทดลองเล่นกับประโยชน์ใช้สอยและศิลปะ ความคิดของคนทั่วไปคือสิ่งที่มีประโยชน์ใช้สอยนั้นมักจะไม่มีศิลปะ ดังนั้นหากเราลองนำวัสดุที่เต็มไปด้วยประโยชน์ใช้สอย (อย่างพลาสติก) มาสร้างสรรค์งานโดยไม่เน้นประโยชน์ใช้สอยล่ะ อะไรจะเกิดขึ้น? วศินบุรีเน้นว่าหนึ่งในหลักของการออกแบบอย่างสร้างสรรค์นั้นคืออย่าไปมองว่าวัสดุใดมีค่ามากกว่าหรือน้อยกว่า แต่ให้นึกถึงเจตนาไว้เป็นหลัก 

ส่วนอานนท์ ไพโรจน์จาก Anon Pairot Studito นั้นกล่าวว่าพลาสติกเป็นวัสดุอีกอย่างหนึ่งที่เขาคิดว่าทำให้การออกแบบสนุกยิ่งขึ้น เพราะพลาสติกเป็นวัสดุที่ยืดหยุ่น สามารถนำมาประยุกต์ได้หลากหลาย การที่ศิลปินตีความพลาสติกแต่ละประเภทและนำมาสร้างสรรค์งาน สุนทรียะในแง่มุมใหม่ๆจึงเกิดขึ้น สำหรับนักออกแบบนั้น ด้วยความที่พลาสติกเป็นสิ่งที่ยืดหยุ่นนี้เอง การเรียนรู้เรื่องการรับรู้ การมองเห็นและการรู้สึกของผู้บริโภคจึงเป็นสิ่งสำคัญสำหรับนักออกแบบ เมื่อเราเข้าใจว่าคนอื่นๆรับรู้สิ่งต่างๆอย่างไร เราก็จะเข้าใจปัญหาและสร้างสรรค์ผลงานที่จะมาตอบโจทย์ตรงนั้นได้

สำหรับวิภาวี คุณาวิชยานนท์ หนึ่งในผู้ก่อตั้งกลุ่ม Design for Disasters นั้นกล่าวว่ากุญแจสำคัญในการออกแบบอย่างสร้างสรรค์นั้นอาจอยู่ที่การเปลี่ยนมุมมมอง นักออกแบบต้องหัดมองในมุมใหม่ๆ เพราะวัสดุหลายอย่าง เช่น พลาสติก เมื่อนำมาดัดแปลงนิดเดียวก็อาจช่วยชีวิตคนได้แล้ว

เมื่อจบการเสวนาก็ถึงเวลาของช่วง Plastic Fantastic ที่เหล่า Design Catalyst ได้นำตัวอย่างผลงานที่ใช้พลาสติกอย่างสร้างสรรค์มานำเสนอ เช่น แซ็กโซโฟนที่ทำจากพลาสติก อุปกรณ์ Lifestraw หรือเครื่องกรองน้ำขนาดพกพา รวมถึง Flux Chair เก้าอี้แบบพับที่ทำจากแผ่นพลาสติกที่พับเก็บได้ง่าย ไม่กินที่

จากงานนี้ เชื่อว่าหลายๆคนคงที่มาฟังคงได้แรงบันดาลใจกลับไปอีกหลายกระบุง ส่วนหนังสือ Plastic 24 Hours นั้นจะเริ่มวางจำหน่ายในเดือนธันวาคมนี้ที่ร้านหนังสือชั้นนำ

 

Views: 553

Comment

You need to be a member of PORTFOLIOS*NET to add comments!

Join PORTFOLIOS*NET

© 2009-2024   PORTFOLIOS*NET by CreativeMOVE.   Powered by

Badges  |  Report an Issue  |  Terms of Service