INTERVIEW: Special Scoop (FOTO INFO Magazine 2007)


Special Scoop:
Interview with Thanaboon Somboon

***********************************************************
Pro Photographer: ธนบูรณ์ สมบูรณ์
หลังจากจบการศึกษาด้านการถ่ายภาพจากซานฟรานซิสโก ธนบูรณ์ได้เริ่มทำงานเป็นช่างภาพมืออาชีพที่มีความถนัดทางด้าน fashion และ portrait เป็นพิเศษ ในการถ่ายภาพ portrait เค้าสามารถดึงตัวตนของแบบออกมาอย่างชัดเจน และถึงเวลาที่ต้องถ่ายภาพ fashion ก็ยังกำกับอารมณ์ของแบบได้ดีไม่แพ้กัน ทำให้งานที่ออกมามักจะแฝงไปด้วยพลังที่จะดึงดูดผู้ชมภาพให้เข้าไปร่วมจินตนาการด้วยอยู่เสมอ ปัจจุบันนอกจากจะถ่ายภาพแฟชั่นและโฆษณาให้กับลูกค้าในและต่างประเทศแล้ว ธนบูรณ์ยังเป็น Photography Director ดูแลด้านการถ่ายภาพให้กับบริษัท Inspire Entertainment ผู้ผลิตนิตยสาร ARENA, FHM, Car, Stuff, Casa Viva, Ray และ Cawaii อีกด้วย

"ผมให้ความสนใจกับสื่งต่างๆ รอบตัว และมักได้รับแรงบันดาลใจจากสิ่งเหล่านั้น แต่เมื่อถึงเวลาที่ผมถ่ายภาพ ผมใช้สัญชาตญาณของตัวเอง"
***********************************************************

วันนี้ FOTOINFO มีโอกาสจับเข่าช่างภาพหนุ่มอารมณ์ดีคนนี้มานั่งคุยถึงงานเวิร์คช็อปสองโปรเจคใหญ่ที่เขากำลังเตรียมการอย่างขะมักเขม้น ห้วงเวลาสั้นๆ สำหรับความคิดประสาคนรุ่นใหม่ไฟแรงของเขา เราเชื่อว่ามันจะพาคุณกระโจนสู่ถนนสายเดียวกับเขาได้แบบไม่ยากเย็นนัก

กลับมาทำงานที่เมืองไทยได้กี่ปีแล้ว
ประมาณ 4 ปีแล้วครับ

แนวโน้มของวงการแฟชั่นในบ้านเราเป็นอย่างไรบ้างในสายตาของคุณ
เปลี่ยนแปลงรวดเร็วมากครับ แทบจะเรียกได้ก้าวไปพร้อมกับต่างชาติเลยครับ เดี๋ยวนี้โลกมันแคบลงทุกคนมี Internet เราได้มีโอกาสรับข่าวสารกันมากขึ้น และผมว่า designer ของไทยเดี๋ยวนี้ไม่ธรรมดาเลยครับเห็นได้จากหลายๆ คนที่ได้ไปสร้างชื่อที่ต่างประเทศมาแล้ว เรื่องเทคนิคและฝีมือในการออกแบบเราก็สู้เค้าได้สบายๆ ครับ

สไตลลิสต์มีอิทธิพลกับช่างภาพมากน้อยแค่ไหน
สไตลลิสต์เป็นคนที่มีความสามารถพิเศษทางเสื้อผ้า หน้า และผม เป็นคนที่มีความทันสมัยและติดตามแฟชั่นใหม่ๆ ตลอดเวลา ช่างภาพแฟชั่นอย่างผมต้องพึ่งบุคคลคนเหล่านี้ให้ช่วยดูแลเรื่องให้ครับ ถ้าให้ผมไปทำเองคงออกมาไม่ดีเท่า ปล่อยให้มืออาชีพกำกับเรื่องเสื้อผ้าดีกว่า ส่วนเรื่องการจัดแสงและกำกับแบบของแบบนั้นคงต้องเป็นหน้าที่ของช่างภาพ บ่อยครั้งที่เราจะทำงานแบบแชร์ความคิดกัน มีข้ามเส้นมาช่วยกันบ้าง ถ้าผมไม่ชอบเสื้อผ้าชุดใดก็อาจจะขอให้ stylist เปลี่ยนให้ ในขณะเดียวกัน stylist ก็อาจจะช่วยออกความคิดเรื่องการโพสต์ท่าของแบบบ้าง เราทำงานกันเป็นทีมครับ สไตลลิสต์ที่เก่งจะทำให้เราไม่ต้องกังวลเรื่องเสื้อผ้าเลยเวลาทำงาน จะคอยเก็บ details ให้เราตลอด ปล่อยให้เรามีสมาธิที่จะกำกับแสงและกำกับแบบอยู่หลังเลนส์ได้เต็มที่ครับ

ตอนที่กลับมาทำงานในเมืองไทยนั่นเข้าสู่ยุดดิจิตอลแล้วหรือยัง
เป็นดิจิตอลประมาณ 30% ได้ครับ ช่วงนั้นกำลังเป็นช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อของของการเปลี่ยนแปลง ตอนนี้งานเกือบ 100% แล้วที่เป็นดิจิตอลครับ แต่ก็มีบางครั้งที่ผมจะใช้ฟิล์มบ้าง ขึ้นอยู่กับว่าจะต้องการ effect หรือบรรยากาศของภาพอย่างไร

มีโอกาสได้ดูงานของกลุ่มนักถ่ายภาพแนวอื่นๆ หรือคนที่ไม่ใช่ช่างภาพอาชีพบ้างไหม
มีบ้างครับ ส่วนใหญ่จะเป็นจากทางอินเตอร์เน็ต เวลาว่างผมก็จะเข้าไปดูข่าวสารหรือ ข้อมูลใหม่ๆ บางทีก็จะแวะไปดูความเป็นไปในวงการถ่ายภาพอยู่เรื่อยๆ เดี๋ยวนี้ช่างภาพใหม่ๆ มีมุมมองที่น่าสนใจมาก เคยเห็นงานของมือสมัครเล่นบางคนที่โดดเด่นมากผมจนเห็นแล้วทึ่งเค้ามากๆ ครับ บางคนเริ่มถ่ายภาพได้ไม่นานกลับมีผลงานที่ออกมาดีเกินคาด เห็นตอนแรกนึกว่าเป็นคนที่ศึกษาการถ่ายภาพมาโดยเฉพาะ

แต่บางกลุ่มก็เกาะกันแบบผิดๆ พัฒนางานไปในทางเดียวกันหมด งานออกมาเหมือนทั้งกลุ่มเลย ไม่มี style เป็นของตัวเอง เอาภาพมาเรียงกันถ้าไม่ดูชื่อของช่างภาพและโลโก้ที่ทับอยู่กลางภาพผมคงคิดว่าคนเดียวกันถ่ายครับ ผมเชื่อว่าถ้าเราเชื่อมั่นและให้เกียรติตัวเองก่อน ต่อให้คนร้อยคนเดินออกไปถ่ายรูปที่เดียวกัน งานทุกคนจะออกมาแตกต่างกันร้อยแบบเลยครับ แม้จะถ่ายในมุมหรือสถานที่เดียวกัน

"บางกลุ่มก็เกาะกันแบบผิดๆ พัฒนางานไปในทางเดียวกันหมด
งานออกมาเหมือนทั้งกลุ่มเลย ไม่มี style เป็นของตัวเอง เอาภาพมาเรียงกัน
ถ้าไม่ดูชื่อของช่างภาพและโลโก้ของกลุ่ม ที่ทับอยู่บนภาพผมคงคิดว่าคนเดียวกันถ่ายครับ "

อะไรคือสิ่งที่ขาดหายไปสำหรับช่างภาพพอร์ตเทรตในยุคดิจิตอล
ผมว่าหลายคนลืมไปว่าสิ่งที่สำคัญที่สุดสำหรับการถ่ายภาพพอร์ตเทรตคือตัวตนของแบบ แบบที่เรากำลังถ่ายอยู่ นักถ่ายภาพใหม่ๆ มักจะให้ความสนใจกับอุปกรณ์มากเกินไป จนลืมที่จะสื่อสารกับแบบ เคยลองให้น้องๆ ช่างภาพหลายๆ ถ่ายรูปแบบคนหนึ่ง 20 ภาพ พบว่าในจำนวนหลายๆ ภาพที่พวกเขาถ่ายจะมาจากแทบทุกช่วงซูมที่อยู่ในมือตั้งแต่ช่วงมุมกว้างยาวหรือยาวสุด พวกเค้าจะตั้งตาถ่าย เมามันส์อยู่กับการปรับอุปกรณ์ถ่ายภาพ ไม่ก็มัวกังวลอยู่กับจอ LCD หรือมัวแต่หามุมแปลกๆ แล้วปล่อยให้แบบโพสต์ไปเรื่อยแบบไร้จุดหมาย จนแทบจะไม่ได้สนใจที่จะสื่อสารกับแบบเลย ภาพที่ออกมาจึงขาดอารมณ์และความรู้สึก ถ้าจะถ่ายภาพพอร์ตเทรตผมจะพยายามไม่เปลี่ยนตำแหน่งกล้องมาก หามุมหน้าที่ดีที่สุดของนางแบบแล้วถ่ายทั้ง 20 รูปตรงนั้นเลย ผมจะสื่อสารกับแบบและพยายามที่จะดึงอารมณ์หรือตัวตนแบบออกมาให้ได้มากที่สุด การถ่ายภาพพอร์ตเทรตต่างกับการถ่ายภาพนางแบบที่ยืนตามงานแสดงสินค้าต่างๆ ครับ เป็นคนละเรื่องกันเลยต้องแยกให้ถูก

"ปล่อยให้แบบโพสต์ไปเรื่อยแบบไร้จุดหมาย
จนแทบจะไม่ได้สนใจที่จะสื่อสารกับแบบเลย
ภาพที่ออกมาจึงขาดอารมณ์และความรู้สึก"

คิดว่าระบบดิจิตอลเข้ามามีบทบาทกับพัฒนาการทางด้านการถ่ายภาพอย่างไรบ้าง
มันทำให้ช่างภาพมีปริมาณเยอะขึ้นมาก แต่ช่างภาพที่มีคุณภาพนั้นน้อยลงเมื่อเทียบกันตามอัตราส่วนนะครับ

อะไรคือจุดด้อยหรือสิ่งที่ขาดหายไปสำหรับช่างภาพพวกนั้น
“สัญชาตญาณในการถ่ายภาพ วิธีในการถ่ายภาพ และวิธีคิดครับ” ช่างภาพรุ่นใหม่ๆ อาศัยการถ่ายภาพแบบแสวงโชค เป็นการบันทึกภาพในเชิงปริมาณ ถ่ายกันเป็นร้อยๆ รูปเพื่อจะให้ได้รูปดีๆ เพียงรูปเดียวมันเหมือนการถ่ายภาพแบบเหวี่ยงแหจับปลา โอเคมันอาจจะโชคดีได้ปลาเยอะ แต่บางทีอาจจะไม่ติดปลาขึ้นมาเลยก็ได้ หรือได้แต่เศษขยะที่จมอยู่ใต้น้ำขึ้นมาแทน คุณไม่เสียค่าฟิล์มครับ แต่เสียเวลาและโอกาส โอกาสที่จะได้ภาพดีๆ บางทีคุณน่าจะลองเลือกวิธีถ่ายแบบใช้ฉมวกจับปลาดู รอให้แน่ใจว่านั่นคือปลาตัวที่คุณอยากได้จริงๆ แล้วค่อยๆ ปล่อยฉมวกของคุณออกไป การรอจังหวะที่ดี องค์ประกอบที่เหมาะสม และอารมณ์ของแบบที่ลงตัว ให้เวลากับภาพแต่ละภาพแล้วผมเชื่อว่าถ่ายเพียงไม่กี่สิบภาพคุณก็จะได้ภาพที่ดีที่สุดออกมา

"อะไรคือจุดด้อยหรือสิ่งที่ขาดหายไปสำหรับช่างภาพพวกนั้น?
สัญชาตญาณในการถ่ายภาพ"

อีกเรื่องหลายๆ คนไม่ให้ความสำคัญการวัดแสง แล้วมาพึ่ง Post Production รูปมากเกินไป พอถ่ายออกมาไม่ดีแล้วมักจะพูดว่าเดี๋ยวค่อยไปแก้ในโปรแกรมแต่งภาพ หรือตอน process เอา พึ่งพาโปรแกรมแก้ไขภาพจนขาดความตั้งใจในการถ่ายภาพ หลายๆ คนใส่ใจในกรรมวิธีที่จะปรับเปลี่ยนภาพให้ดีขึ้นจากไฟล์ดิจิตอลที่ออกมาจากกล้อง แต่ไม่ค่อยให้ความสำคัญกับการสร้างภาพที่ดีให้ออกมาจากกล้อง

"ถ่ายแบบใช้ฉมวกจับปลาดู
รอให้แน่ใจว่านั่นคือปลาตัวที่คุณอยากได้จริงๆ
แล้วค่อยๆ ปล่อยฉมวกของคุณออกไป
การรอจังหวะที่ดี องค์ประกอบที่เหมาะสม และอารมณ์ของแบบที่ลงตัว"

นี่เลยเป็นแนวความคิดที่คุณและทาง BIG Camera พยายามจะช่วยกันสร้างความคิดที่ถูกต้องในการถ่ายภาพให้กับนักถ่ายภาพทั่วไปเหล่านั้นใช่หรือเปล่า
ถูกต้องครับ หลายๆ คนยังขาดสัญชาตญาณในการถ่ายภาพ มันคือความกระหายที่อยากจะได้ภาพดีๆ ระหว่างถ่าย มันคือความรู้สึกที่ว่าจะทำอย่างไรให้ได้ภาพที่ดีที่สุด ไม่ใช้ถ่ายให้ได้แยะที่สุด ส่วนใหญ่ช่างภาพที่เริ่มมาจากฟิล์มจะมีมันติดตัวกันมา ผมอยากให้นักถ่ายภาพดิจิตอลมีสิ่งนี้กันครับ ระหว่างถ่ายภาพผมอยากให้พวกเค้าลืมคอมพิวเตอร์ ลืมโปรแกรมแต่งภาพ ลืมว่าคุณสามารถแก้ไขภาพได้ทีหลัง แล้วหันมาใส่ใจกับการถ่ายภาพ การวัดแสง การสื่อสารกับแบบ ลองกวาดตาไปดูทั่วๆ จอ LCD แล้วดูว่ามันยังขาดอะไรอยู่ ถ้าขาด เติมมันให้เต็ม แล้วเริ่มใช้สัญชาตญาณของคุณถ่ายภาพ

"หลายๆ คนยังขาดสัญชาตญาณในการถ่ายภาพ
มันคือความกระหายที่อยากจะได้ภาพดีๆ ระหว่างถ่าย"

หลังจากจบงาน BIG Pro Days ครั้งที่แล้วนานไหมถึงมาเป็นโปรเจค NO PRO GO FASHION ที่จะกำลังจัดขึ้น
พอสมควรครับ ผมมองว่าน่าจะมีการจัดเวิร์คช็อปที่เต็มรูปแบบจริงๆ อีก ครั้งแรกจะเน้นผู้ที่ใช้กล้องประเภทคอมแพ็ค และครั้งต่อไปสำหรับผู้ที่ใช้กล้องระดับ DSLR

สำหรับกล้องคอมแพ็คนี่เป็นสิ่งที่ท้าทายครับสำหรับผม หลายคนยังนึกภาพไม่ออกว่าเอาผมมาสอนถ่ายคอมแพ็คแล้วออกมาจะเป็นอย่างไร ผมมองว่าจะต้องเป็นบรรยากาศที่สบายๆ มีสาระแต่ไม่หนักเกินไป รับรองครับว่ามีอะไรสนุกๆ แน่นอน

คาดหวังกับการอบรมสำหรับโปรเจค NO PRO GO FASHION ไว้อย่างไร
Workshop นี้จะช่วยทำให้เขามีพื้นฐานการถ่ายภาพบุคคลและแฟชั่นที่ดีขึ้น สามารถนำไปใช้กับเพื่อนฝูง ญาติพี่น้อง หรือแม้กระทั่งนางแบบจริงๆ สามารถนำไปใช้ประโยชนในชีวิตประจำวันได้ วันนั้นขอแค่ให้คุณมีกล้องคอมแพ็คดิจิตอลเล็กๆ มาตัวเดียวพอ ที่เหลือผมจะแนะนำวิธีการที่จะได้ภาพสวยๆ ให้คุณเอง

เชื่อว่าวันนั้นน่าจะมีผู้ใช้กล้องที่หลากหลายความรู้หลากหลายพื้นฐานในการถ่ายภาพมาอบรม คุณมีวิธีการอย่างไรในการพาพวกเขาเดินไปถึงจุดหมายได้พร้อมๆ กัน
จริงๆ แล้วจุดประสงค์ของทุกคนมาที่ร่วมทำ workshop ผมเชื่อว่าทุกคนต้องการพัฒนาการถ่ายภาพให้ดีขึ้น เพราะฉะนั้นคงไม่ใช่เรื่องยากอะไรนัก เป้าหมายเดียวกันนี้ไม่ยากครับ ตอนนี้ก็อยู่ที่กรรมวิธีเท่านั้นซึ้งเราเตรียมพร้อมไว้หมดแล้ว ช่วงหนึ่งของการอบรมผมจะมีของเล่นสนุกๆ บางอย่างไว้ให้ทุกคนได้เล่นกันและสามารถนำกลับไปเล่นหรือฝึกฝีมือที่บ้านต่อได้ด้วยด้วย หลังจากจบการอบรมผมจะมีการบ้านให้ผู้ที่มาร่วมอบรมได้ทำกันด้วย แย้มไว้นิดงานนี้ว่าคนที่ทำการบ้านได้ถูกใจผม เราจะมีรางวัลเป็นกล้อง Canon EOS 350 DSLR พร้อมเลนส์แจกให้ด้วยครับ เป็นการเปิดโอกาสให้ผู้ใช้กล้องคอมแพคได้มีโอกาสก้าวขึ้นไปใช้กล้องในระดับโปรฯ ด้วยนะครับ

เป้าหมายเดียวกันนี้ไม่ยากครับ ตอนนี้ก็อยู่ที่กรรมวิธีเท่านั้น

มีข้อจำกัดอะไรสำหรับผู้ที่สนใจเข้าร่วมการอบรมในครั้งนี้บ้างไหม
เปิดสำหรับคนที่มีกล้องดิจิตอลทุกชนิด ตอนแรกเราจะเน้นไปที่กลุ่มผู้ใช้กล้องคอมแพ็คมากกว่า แต่ก็มีเสียงเรียกร้องจากผู้ที่ใช้กล้อง DSLR ที่อยากเข้าร่วมด้วย ผมมีโปรเจคต่อเนื่องขึ้นมาอีกหัวข้อหนึ่งคือ ‘50% EROTIC’ ซึ่งจะจัดขึ้นที่ ‘ภัทราวดีเธียเตอร์’ เดือนพฤษจิกายน นี้ โปรเจคนี้คนที่มีกล้องดิจิตอลคอมแพ็คก็มาได้นะครับหากสนใจ แต่อาจจะเสียเปรียบกล้อง DSLR ช่วงที่ทำ workshop ในเรื่องการถ่ายบ้างครับ

50% EROTIC คืออะไร
ภาพถ่ายแนวอีโรติกขนานแท้ 100% คือภาพถ่ายขาว-ดเชิงสังวาส หรือภาพที่กระตุ้นอารมณ์ความรู้สึกทางเพศ “50% EROTIC” มาจากสไตล์งานของผมเอง คือการผสมผสานระหว่างความเป็นอีโรติกกับภาพถ่ายแนวแฟชั่นเข้าด้วยกัน กลายเป็น Erotic ที่มีสีสันร้อนแรงเข้ามาด้วย ไม่มีความความเปลือยเปล่า งานแฟชั่นของผมขายเสื้อผ้าผ่านอารมณ์ ผ่านความเซ็กซี่ของตัวนางแบบหรือนาแบบ แล้วลดความรุนแรงของเซ็กส์ลงมา นี่คือคำจำกัดความของสไตล์งานของผม

“50% EROTIC” คือการผสมผสานระหว่างความเป็นอีโรติกกับภาพถ่ายแนวแฟชั่น

ใครคือคนที่น่าจะมาลงอบรมถ่ายภาพในโปรเจคนี้
ผู้ที่สนใจการถ่ายภาพทุกท่านที่มีกล้องดิจิตอล DSLR หรือกล้องอื่นๆ ทุกประเภท ผู้ที่ใข้ DSLR อาจจะได้เปรียบบ้างเพราะมันจะทำให้สะดวกในการถ่ายภาพ workshop มากกว่า

ทราบว่าโปรเจคนี้มีเกจินู้ดชื่อดังของเมืองไทยอย่าง ‘อาจารย์นิวัติ กองเพียร’ มาให้ความรู้เรื่องอีโรติกด้วย
เราได้เชิญ
อาจารย์นิวัติมาให้ความรู้เรื่องอีโรติกว่าจริงๆ แล้วมันคืออะไร ภาพถ่ายแนวอีโรติกที่ดีมันเป็นอย่างไรให้คนที่มาอบรมได้รู้กันแบบถูกต้องรู้จริง และอาจารย์นิวัติก็จะนำผลงานที่ท่านถ่ายเอาไว้เมื่อ 15 ปีที่แล้วมาให้พวกเราชมกันด้วย อยากให้ทุกคนเจอต้นตำหรับจริงๆ หากมีคนสงสัยว่าถ้างานของผมคือ 50% EROTIC แล้ว 100% คือใคร ผมก็จะบอกว่าอาจารย์นิวัตินี่แหละคือ 100% EROTIC นอกจากอาจารย์นิวัติแล้วในวันนั้นเรายังเชิญมืออาชีพในแวดวงคนทำงานด้านแฟชั่นได้มาร่วมพูดคุยและถ่ายทอดประสบการณ์สองท่านคือ ‘โอเด็ด-เฮนเรียต แจ็คโคมิน’ นางแบบอาชีพชื่อดัง ‘ต้น คำนวนแสง’ แฟชั่นสไตลลิสต์ระดับแนวหน้าของเมืองไทย

ถ้างานของผมคือ 50% EROTIC แล้ว 100% คือใครผมก็จะบอกว่าอาจารย์นิวัตินี่แหละคือ 100% EROTIC

คาดหวังกับสองโปรเจคที่กำลังจะเกิดขึ้นนี้อย่างไรบ้าง
ผมอยากจะให้คนที่รักการถ่ายภาพมีความตื่นตัวและได้รับการสนับสนุนชี้เแนะที่ถูกต้อง ชัดเจน ผมหวังว่าสิ่งที่เรากำลังทำจะช่วยเปิดโอกาสหรือชี้ช่องทางให้กับใครซักคนที่อยากจะเป็นช่างภาพแฟชั่น ช่างภาพพอร์ตเทรต แต่ไม่รู้ว่าเขาควรจะเดินไปทางไหนดี ทุกวันนี้ยอดขายกล้องดิจิตอลมีมากมายนับไม่ถ้วนในแต่ละวัน แต่ผมรู้สึกว่านักถ่ายภาพที่มีคุณภาพจริงๆ มันกลับน้อยลงสวนทางกับยอดขายที่เกิดขึ้นอย่างสิ้นเชิง

อะไรคือแรงบันดาลใจที่อยากก้าวเข้ามาทำตรงจุดนี้
ผมอยาก
นำประสบการณ์ชีวิตมาถ่ายทอดให้กับกลุ่มนักถ่ายภาพรุ่นใหม่ๆ ฟัง สมัยผมเริ่มถ่ายรูปยี่สิบปีก่อนไม่มี workshop อะไรเลย และการพูดคุยกับช่างภาพมืออาชีพเป็นเรื่องที่ยากมาก ผมอยากลดช่องว่างตรงนี้ออกไป อีกอย่างมันท้าทายครับ ผมอยากจัด workshop ที่เป็น workshop แบบเต็มรูปแบบจริงๆ อย่างที่กำลังจะเกิดขึ้นในครั้งนี้ ในเมืองไทยยังไม่เคยมีมาก่อน ครั้งนี้จะเป็นครั้งแรกของเมืองไทยครับ

Views: 123

Comment

You need to be a member of PORTFOLIOS*NET to add comments!

Join PORTFOLIOS*NET

© 2009-2024   PORTFOLIOS*NET by CreativeMOVE.   Powered by

Badges  |  Report an Issue  |  Terms of Service