Com, Art and Me (สัมภาษณ์พี่แป้ง Computer Art Thailand)

แป้ง – ณัฐจรัส เองมหัสสกุล บอกชื่อนี้ไปอาจจะสงสัยกันนิดหน่อยว่าเธอเป็นใคร แต่ถ้าบอกว่าเธอคือบรรณาธิการแห่งนิตยสาร Computer Arts Thailand คิดว่าหลายๆ คนก็คงจะรู้จักกันดี

ผมเคยอ่านเจอข้อความหนึ่ง ขออภัยที่จำชื่อผู้เขียนไม่ได้ และจำข้อความนั้นได้แบบเลือนราง ใจความนั้นมีอยู่ว่า “เวลาที่เราคุยกับคนทำหนังสือ เราจะรู้สึกเหมือนกับว่ากำลังอ่านหนังสือ”… มันเป็นแบบนั้นจริงๆ ครับ และกับการที่ผมได้พูดคุยกัผู้หญิงคนหนึ่ง มันยิ่งทำให้ผมมั่นใจยิ่งๆ ขึ้นไปอีกว่า ข้อความที่ผมได้อ้างไปนั้น มันจริง จริง และจริง…

บุคคลที่ผมกำลังจะกล่าวถึงในครั้งนี้ เธอมีชื่อว่า แป้ง – ณัฐจรัส เองมหัสสกุล บอกชื่อนี้ไปอาจจะสงสัยกันนิดหน่อยว่าเธอเป็นใคร แต่ถ้าบอกว่าเธอคือบรรณาธิการแห่งนิตยสาร Computer Arts Thailand คิดว่าหลายๆ คนก็คงจะรู้จักกันดี การที่ได้ฟังสิ่งต่างๆ จากผู้หญิงคนนี้ ขณะที่กำลังนั่งฟัง ผมรู้สึกเหมือนกับว่า มีคนหยิบหนังสือที่ชื่อ ณัฐจรัส เองมหัสสกุล มาอ่านให้ผมฟัง นอกจากจะมีเนื้อหาที่ครอบคลุมจนเรียกได้ว่าผมแทบจะนึกไม่ออกว่าจะถามอะไรดี แถมยังมีการใช้คำ ใช้สำนวนที่ผมได้ยินแล้วต้องอุทานในใจว่า “เฮ้ย เจ๋งอะ!”


ก่อนที่จะเล่าเรื่องราวเกี่ยวกับเธอ ผมขอเล่าเรื่องของ Computer Arts Thailand ก่อนเพื่อให้ทราบกันถึงที่มาที่ไปของนิตยสารเล่มนี้ด้วยครับ… Computer Arts Thailand เป็นนิตยสารเกี่ยวกับศิลปะประเภทดิจิตอลอาร์ต เช่น กราฟิกดีไซน์ ไทโปกราฟี ภาพประกอบ เป็นต้น

จริงๆ แล้วนิตยสารเล่มนี้มีต้นกำเนิดมาจากประเทศอังกฤษครับ ซึ่งนำเสนอเรื่องราวของศิลปะที่มีความเป็นสากล บทสัมภาษณ์ของดีไซเนอร์ชื่อดังระดับโลก และผลงานดีไซน์จากหลากหลายประเทศทั่วโลก ซึ่งตอนนี้ นิตยสาร Computer Arts มีทั้งหมด 10 ภาษาทั่วโลกแล้วล่ะครับ แม้จะมีต้นกำเนิดหรือต้นฉบับส่วนใหญ่มาจากประเทศอังกฤษ แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าจะต้องยึดเนื้อหามาจากอังกฤษทั้งหมด ยกตัวอย่างเช่น Computer Arts Edition โปรตุเกส เขาก็ดีไซน์ปกของเขาเอง ส่วนของประเทศไทยนั้นเธอเล่าว่า 

“ทางอังกฤษเองไม่ได้มีกฎเกณฑ์ว่าจะต้องเป็นเนื้อหาของทางอังกฤษ 70 หน้า เนื้อหาไทย 30 หน้า เราจะมองว่าถ้าเนื้อหาไหนเหมาะกับประเทศเราเราก็จะเก็บไว้ อันไหนที่ไม่เหมาะหรือไม่เข้าก็ตัดทิ้งไป แล้วก็ทำเนื้อหาของเราเพิ่มขึ้นมาเอง ยกตัวอย่างเล่มล่าสุดที่กำลังจะวางแผง เราทำสกู๊ปประจำฉบับเรื่อง ‘แรงบันดาลไทย’ และดีไซน์ปกขึ้นมาใหม่เพื่อให้สอดคล้องกับเนื้อหาด้านใน ส่วนเนื้อหาการสัมภาษณ์ดีไซเนอร์ระดับโลกหรือความต่างทางวัฒนธรรมดีไซน์เราก็เก็บไว้บ้าง เพื่อให้คนอ่านได้เรียนรู้ถึงความแตกต่าง ระหว่างเขากับเราน่ะค่ะ” สิ่งหนึ่งที่ผมได้ยินแล้วก็แอบภูมิใจไปด้วยก็คือ พี่แป้งบอกว่า Computer Arts Thailand ได้รับคำชื่นชมจากการประชุมประจำปีของ Future Publishing ซึ่งเป็นสำนักพิมพ์ของ Computer Arts ทางอังกฤษให้ Computer Arts Thailandเป็นเอดิชั่นที่ดีที่สุดเมื่อเทียบกับอีกหลายๆ ภาษาที่เคยทำมา… น่าภูมิใจนะครับ


แนะนำในส่วนของนิตยสาร Computer Arts Thailand ไปแล้ว คราวนี้ผมก็จะขอเข้าเรื่องของเธอกันเลยนะครับ ก็เชิญติดตามกันได้เลยครับว่า ผู้หญิงคนนี้สุดยอดยังไงบ้าง…

แป้งมาเป็นบรรณาธิการนิตยสาร Computer Arts Thailand เมื่อประมาณ 3 ปีที่แล้วครับซึ่งพร้อมกันกับการมาถึงของ Computer Arts Thailand พอดี แต่ก่อนหน้านั้น เธอเคยทำงานอยู่ที่นิตยสาร a day มาก่อนครับ ทั้งในตำแหน่งกองบรรณาธิการและกราฟิกดีไซเนอร์ รวมเวลาแล้วก็ราวๆ 3 ปีครึ่ง “จากตอนที่เราเรียนในมหาวิทยาลัย เราใช้เวลา 4 ปีในการทำความเข้าใจว่า ดีไซน์คืออะไร ส่วนการทำงานที่ a day ก็เหมือนว่าเราใช้เวลาอีก 3 ปีในการเข้ามหาวิทยาลัยแห่งใหม่เพื่อเรียนรู้ว่า การเขียนที่ดีเป็นยังไง โอเค เราอาจจะไม่ได้เป็นนักเขียนที่ดีที่สุดในโลก แต่เราก็รู้จักว่ามาตรฐานที่ดีมันอยู่ตรงไหน และเมื่อเราผ่านมันมาทั้งหมดนี้ มันก็ทำให้เรามีส่วนผสมทั้ง 2 อย่างนี้ในตัวเอง นั่นก็คือเรื่องดีไซน์กับเรื่องการเขียน”

หลังจากนั้น Computer Arts Thailand ก็เปิดตัวพอดี เธอยอมรับว่าตำแหน่งบรรณาธิการ Computer Arts Thailand เป็นตำแหน่งที่ท้าทาย แต่มันก็เป็นอาชีพในอุดมคติมาก เป็นอาชีพที่เหมาะกับเธอมากเลยเพราะมันเป็นอาชีพที่นำการดีไซน์กับการเขียนมารวมกัน “เรามักจะบอกว่าเป็นอาชีพที่ซุปเปอร์อุดมคติ เพราะถ้าเป็นแต่ก่อนถ้าให้ลองนั่งนึกว่าเราจะไปเจออาชีพที่เหมาะกับเราขนาดนี้ได้ยังไง เราก็คงนึกไม่ออก โดยเฉพาะกับการได้มาทำนิตยสารหัวนี้ เพราะเนื้อหามันเป็นเรื่องดีไซน์ ซึ่งเราเองก็เป็นดีไซเนอร์อยู่แล้ว เลยรู้สึกว่ามันเป็นส่วนผสมที่พอดีเหลือเกิน เป็นงานที่พอดีกับตัวเรา เหมือนเข้าไปในร้านตัดเสื้อ แล้วได้ใส่เสื้อที่ถูกตัดมาเฉพาะกับเรา” นี่เป็นเหตุผลที่ทำให้เธอตัดสินใจเข้ามาทำงานในตำแหน่งนี้ จากจำนวนกองบรรณาธิการเล่มแรกของ Computer Arts Thailand อยู่ที่ 5 คน ตอนนี้พนักงานก็เพิ่มขึ้นเป็น 8 คนแล้วซึ่งก็แบ่งเป็นนักเขียน 2 คน กราฟิกดีไซเนอร์ 2 คน อาร์ตไดเร็กเตอร์ 1 คน พิสูจน์อักษร 1 คน และเลขากองบรรณาธิการ 1 คน

 

ส่วนกระบวนการทำงานนั้น ก็จะเริ่มจากต้นฉบับที่ทางประเทศอังกฤษส่งมาครับ จากนั้นก็จะส่งให้คนแปลแปลเนื้อหา เมื่อแปลเสร็จก็จะส่งให้กับกองบรรณาธิการเพื่ออีดิตให้ภาษาเป็นไปในทิศทางเดียวกัน รวมถึงตรวจสอบความถูกต้อง จากนั้นก็ส่งต่อให้พิสูจน์อักษร แล้วก็ส่งให้ฝ่ายกราฟิกวางเลย์เอาต์ เมื่อวางเลย์เอาต์เรียบร้อยก็พิสูจน์อักษรอีก 1 รอบ แล้วก็ออกเป็นบรู๊ฟดิจิตอล (งานพรินต์ที่ใกล้เคียงกับของจริง แต่ยังสามารถแก้ไขความถูกต้องได้อยู่) และกระบวนการทั้งหมดนี้จะต้องเสร็จก่อนวันที่ 15 ของทุกเดือนเพราะเป็นวันปิดต้นฉบับ จากนั้นจะต้องส่งงานเข้าโรงพิมพ์ และมีกระบวนการการพิมพ์อีก 10 วัน เพื่อให้ทันกับการวางแผงหนังสือในวันที่ 25 ของทุกเดือนโดยประมาณ

ผมถามถึงปัญหาที่เกิดขึ้นระหว่างการทำงาน ตอนแรกผมนึกว่าจะเป็นปัญหาที่เกิดจากการการบรู๊ฟคำหรือการบรู๊ฟสี แต่พี่แป้งบอกว่า การที่ทำงานปิดเล่มมาแล้ว 6-7 ปี เรื่องความผิดพลาดในด้านนั้นเป็นเรื่องธรรมชาติ เราทำได้เพียงแต่ควบคุมให้มันเกิดขึ้นน้อยที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ แต่ปัญหาที่ใหญ่กว่าคือเนื้อหาที่จะต้องใส่ลงไปในเล่ม “ประเด็นที่สำคัญ และใหญ่กว่านั้นก็คือ ทุกเดือนเราต้องคิดว่าเราจะนำเสนอและวางโครงเล่มยังไง สมมติว่าเราอยากทำฟีเจอร์อะไร เราก็จะนั่งถกเถียงกันนานว่ามันจะประกอบด้วยเรื่องอะไร และจะนำเสนอมันอย่างไร เรื่องใหม่นี้เหมาะกับแม็กกาซีนหรือเปล่า เคยมีคนพูดถึงหรือยัง ถ้ามี เราจะเสนอยังไงให้มันแตกต่างกันกับสิ่งที่เขาเคยทำมาแล้ว จะให้ความสำคัญกับคอนเทนต์ค่อนข้างมาก ว่าอันนี้ดี อันนี้ไม่ดี เราให้ความสำคัญกับขั้นตอนการทำงานขั้นตอนนี้มากที่สุด”

กองบรรณาธิการนิตยสาร Computer Arts Thailand ล้วนแล้วแต่เป็นคนรุ่นใหม่ ที่อายุไล่เลี่ยกัน เป็นข้อดีทำให้การแลกเปลี่ยนความคิดเห็นในเรื่องต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นข้อมูล ก็อปปี้ หน้าปก โทนของภาพ จะเขียนแบบไหน เล่าผ่านอะไร เป็นไปแบบเพื่อนปรึกษาเพื่อน พี่ปรึกษาน้อง

“เราทำงานให้มีมาตรฐานได้โดยที่ยังรักษาความสัมพันธ์ของความเป็นเพื่อน ความเป็นพี่น้องที่ดีต่อกันได้ ซึ่งเรื่องนี้เรารู้สึกว่ามันสำคัญมากสำหรับการทำงานแบบนี้ และมีความเชื่อว่าจะทำแบบนี้ไปตลอด งานดีได้โดยไม่ต้องแลกมาด้วยเลือดเนื้อของคนในทีม” เธอเล่าให้ฟังว่าการทำงานนิตยสาร ทีมงานต้องใช้ชีวิตอยู่ด้วยกันเยอะมาก บางทีก็อาจจะได้อยู่ด้วยกันเยอะกว่าครอบครัวเสียด้วยซ้ำ กินข้าวด้วยกันวันหนึ่งก็ 2 มื้อแล้ว กลางวันกับเย็น บางครั้งก็มีทำงานวันเสาร์-อาทิตย์ ดังนั้น การรักษาความสัมพันธ์อันดีกับคนในทีมด้วยความจริงใจจึงเป็นสิ่งสำคัญ

“มันเป็นชีวิตไปแล้ว” เธอเอ่ย ก่อนที่จะเล่าเรื่องราวเกี่ยวกับไลฟ์สไตล์ในการทำงานให้เราฟัง “การทำงานนิตยสารคือการเอาชีวิตของเราไปโคจรรอบหนังสือ น้อยครั้งที่เราจะเอาตัวเราเป็นศูนย์กลาง ทุกคนในกองบรรณาธิการทั้ง 8 คนก็เป็นแบบนี้ ทำให้บางครั้งเวลากินข้าว เวลานอน ก็ไปโคจรรอบโรงพิมพ์บ้างเป็นครั้งคราว ไลฟ์สไตล์ของคนที่อยากทำจึงต้องทุ่มเท” และอีกสิ่งหนึ่งที่เธอเสริมไว้เกี่ยวกับไลฟ์สไตล์ของคนที่ทำงานหนังสือก็คือทำงานหนังสือมันไม่รวย “ไม่เคยเห็นใครรวยมากๆ เลยนะ คนที่อยากทำงานหนังสือจึงต้องรัก ต้องอดทน และอยากทำมันจริงๆ เพราะเป็นงานที่ละเอียดอ่อน ต้องการการเอาใจใส่มาก โดยไม่ได้มีค่าตอบแทนให้สูงลิบเหมือนอาชีพอื่น”

 

การทำหนังสือหรือนิตยสาร เธอจัดหมวดมันอยู่ในสิ่งพิมพ์ประเภท Editorial design แปลเป็นไทยว่าการดีไซน์ที่อาศัยความต่อเนื่อง อาจจะต้องใช้พื้นที่หลายหน้าเพื่อเรียงร้อยความคิด มีเกริ่นนำ เนื้อเรื่องหลัก มีตอนจบ ไม่เหมือนงานโฆษณาที่เน้นไปที่ความตรงไปตรงมาในการสื่อสาร “คนที่ชอบการบรรยาย ชอบเล่าเรื่อง น่าจะเป็นคนที่ชอบงานแบบนี้”

และอีกหนึ่งสิ่งสำคัญที่เราควรคิดไว้เสมอในการทำหนังสือนั่นก็คือ เราต้องแยกให้ออกว่าอันไหนคือสิ่งพิมพ์ที่ควรค่าแก่การเก็บ อันไหนคือขยะ “เราเคยเขียนไว้ในบทบรรณาธิการฉบับหนึ่งว่า ทุกครั้งที่เราปิดเล่มเสร็จ วันรุ่งขึ้นเราจะเก็บกระดาษบนโต๊ะทิ้ง เราแยกกระดาษที่จะไม่ทิ้งไว้ 2 อย่าง นั่นก็คือ มันสวยมาก หรือไม่ก็มีสาระจนเราทิ้งไม่ลง เช่น อาจจะเป็นหนังสือที่ดีไซน์ธรรมดา แต่ให้ข้อมูลกับเราดี เป็นงานวรรณกรรมที่อ่านแล้วสนุกจังเลย อันนี้เราไม่ทิ้ง หรือถ้าเป็นงานที่ดีไซน์ดี โอเค ถึงมันอาจจะไม่ได้บอกเล่าเนื้อหาอะไรมาก แต่มันสวยมีค่าต่อการมอง อันนี้ก็จะเก็บไว้ เพราะฉะนั้นอะไรที่อยู่นอกเหนือจากนี้เช่น เป็นงานที่มีดีไซน์ไม่สวย แถมยังไม่มีสาระอีกต่างหาก อันนั้นก็จะเป็นขยะ ซึ่งจริงๆ แล้ว เส้นแบ่งระหว่างสิ่งพิมพ์ที่ควรเก็บกับขยะมันใกล้กันมาก เช่น เราเดินตามห้างสรรพสินค้า ได้ใบปลิวมาใบหนึ่ง เราอาจจะรับเพราะสงสารเขา กระดาษนั่นพรินต์สีพิเศษ เราก็ทิ้งอยู่ดีถ้ามันไม่เข้าตาเราในประเด็นใดประเด็นหนึ่ง สิ่งนี้มันจึงจำเป็นในการทำสิ่งพิมพ์ เมื่อเรารู้แล้วว่าอะไรคือขยะ เราจึงต้องทำให้สิ่งที่เราทำนั้น ห่างไกลจากคำว่าขยะมากที่สุด”

 

จากการได้พบเห็นตัวอย่างงานดีๆ แนวคิดดีๆ จากนักออกแบบทั้งในประเทศและนอกประเทศ ถ้าให้แนะนำนักออกแบบรุ่นใหม่ คุณจะแนะนำพวกเขาว่าอย่างไร – ผมถาม “ส่วนตัวเราแล้ว เราคิดว่านักออกแบบหรือดีไซเนอร์ทุกคน ไม่ควรมีกรอบ คำว่ากรอบนี้หมายถึง กรอบที่เราสร้างขึ้นมาเอง ไม่ว่าเราอาจจะมีชุดความรู้ที่เคยเรียนตอนมหาวิทยาลัยมา หรือเรามีความเชื่อแบบนึงมาตลอดชีวิต สิ่งที่เราเชื่อ มันอาจจะเปลี่ยนแปลงได้หรือมันอาจจะมีมากกว่าที่เราเคยรู้ ถ้ากำแพงที่อยู่ในใจของเรายิ่งสูงมากเท่าไหร่ เราก็จะยิ่งไม่เห็นว่าข้างนอกนั้นมันเป็นยังไง เราต้องพร้อมที่จะดูงานใหม่ๆ พร้อมที่จะทำความเข้าใจความคิดของคนอื่น”

การออกไปทำความเข้าใจความคิดคนอื่นเป็นเรื่องสำคัญ เธอเปรียบเปรยก็เหมือนกับการได้เปิดประตูบ้านของตัวเอง แล้วออกไปทำความรู้จักกับคนแปลกหน้า “ถ้าเราอยู่ในพื้นที่ปลอดภัย เราก็จะรู้จักแค่คนใกล้ๆ ตัว หน้าตาเดิมๆ เปรียบกับการทำงานก็คือ สไตล์หรือความคิดของเราก็จะเหมือนๆ เดิม แต่ถ้าเราลองไปทำความรู้จักกับงานรูปแบบอื่น ออกไปดูโน่นดูนี่บ้าง เราก็อาจจะได้ไอเดียอะไรที่เยอะขึ้นก็ได้”

“งานเขียน งานสัมภาษณ์ ก็เช่นกัน การได้ออกไปทำความรู้จักคนอื่นๆ จะทำให้เรามีตะกอนของคนเหล่านี้ตกอยู่ในตัวเรา นานวันเข้า มันจะทำให้เราเข้าใจคนอื่นมากขึ้น ตะกอนนั้นจะมางอกเงยที่ตัวเรา และเป็นผลต่อการทัศนคติในการมองโลกของเรา”

นอกจากการทำลายกรอบของตัวเองแล้ว อีกสิ่งหนึ่งที่เธอฝากไว้คือการสร้างสรรค์สิ่งใหม่ๆ “ดีไซเนอร์มีหน้าต้อง Create คือการสร้างสรรค์ หลายคนเข้าใจผิดว่าคือการ Copy เราสามารถก็อปปี้เพื่อการเรียนรู้ได้ แต่ไม่ควรเอาของคนอื่นมาเป็นของตัวเอง ถ้าเราจะได้แรงบันดาลใจมาจากงานอื่นก็ควรจะเพิ่มเติมแนวคิดของตัวเองเข้าไป เพื่อให้ใหม่หรือแตกต่างไปจากเดิมและเป็นงานที่มีความออริจินัลในแบบของตัวเอง การทำอะไรใหม่ๆ นั้นก็รวมถึงการทำสิ่งที่ตัวเองไม่เคยทำมาก่อน และแค่รู้สึกว่ามันใหม่ที่สุดในความรู้สึกตอนนั้น”

คำว่า ‘ศิลปะ’ มีความหมายต่อคุณอย่างไร? “ก่อนอื่นต้องบอกว่าการที่เราเป็นคนแบบนี้ มีทัศนคติแบบนี้ ใจเย็น เราขอยกความดีความชอบทั้งหมดให้กับศิลปะ เพราะฉะนั้นศิลปะสำหรับเรามันคือความสมดุลระหว่างฟังก์ชั่นกับความสวยงาม การใช้ชีวิตแบบมีศิลปะมันสำคัญ ไม่ว่าเราจะทำอะไร ตัดสินใจอะไร พูดยังไง อยู่กับคนอื่นยังไง เราก็ต้องใช้ศิลปะ เราไม่ได้มองว่าคำว่าศิลปะคือคำที่มีรูปธรรม ไม่ได้เป็นภาพที่แขวนอยู่ในแกลเลอรี่ แต่ศิลปะรวมอยู่ในการใช้ชีวิต คนที่มีศิลปะในหัวใจจะรู้ว่า เฮ้ย! แบบนี้มันมากไป แบบนี้มันน้อยไป แบบนี้มันกำลังพอดี แล้วถ้าเราจุดที่มันพอดีได้ เราจะทำอาชีพอะไรก็ได้ มันก็ดีทั้งนั้น”

 

สุดท้ายครับ มีอะไรที่พี่แป้งอยากจะฝากไปบอกถึงแฟนๆ Computer Arts Thailand บ้าง?… “เราและทีมตั้งใจทำComputer Arts Thailand กันมากเลย เราตั้งใจกันทุกเดือน ถึงแม้ว่าเดดไลน์จะกระชั้นชิด หรือว่าเราต้องทำหลายเล่มก็ตาม แต่มันก็ยังทำอยู่บนความตั้งใจเดิม ที่พยายามจะหาอะไรใหม่ๆมาให้คนอ่านอ่าน และเราก็พยายามหนีจากตัวเองไปเรื่อยๆ จากที่เราเคยทำมา เล่มที่ 1 จนถึงตอนนี้ก็เกือบ 40 ฉบับแล้ว คนที่เป็นแฟน Computer Arts Thailand ก็จะเห็นว่ามันมีพัฒนาการในแต่ละช่วง ซึ่งผู้อ่านก็คงจะเห็นได้ว่ามันเป็นสิ่งพิมพ์ที่ค่อนข้างมีชีวิต คือมันเคลื่อนไหวไปกับคนอ่านด้วย คงไม่ฝากอะไรหรอกมั้ง อ่านให้สนุก ให้เพลิดเพลิน ให้ได้แรงบันดาลใจไปทำงานสักชิ้นนึงหรือวแค่ดูรูปแล้วพูดว่าสวยดีก็ได้ (หัวเราะ)”

“เรารู้สึกว่าดีใจที่ได้ทำหน้าที่สื่อสารมวลชนที่ได้ทำอะไรให้กับนักเรียนออกแบบ เพราะเราก็เคยเป็นนักเรียนออกแบบมาก่อน เราก็อ่าน Computer Arts ในแบบราคาแพง เราซื้อไม่ไหว วันนึงเรากลายมาเป็นคนทำเราก็ดีใจมาก หนังสือเล่มนี้ไม่ได้ใหญ่โตถึงขนาดที่จะไปบอกใครต่อใครได้ว่ามันจะเปลี่ยนสังคมดีไซน์ในประเทศไทยไปตลอดกาล เราไม่ได้มีอิทธิพลขนาดนั้น หนังสือเล่มนี้แค่เป็นส่วนประกอบหนึ่งที่ผลักดันให้มันมีทิศทางที่อาจจะเห็นการรวมกลุ่มกันมากขึ้น ได้นำเสนองานของคนรุ่นใหม่ที่ไม่มีใครรู้จักเพื่อให้เขาได้มีโอกาสเติบโตในวงการดีไซน์มากขึ้น แค่นี้ก็น่าจะหมดหน้าที่ของเราและ Computer Arts แล้ว”

ทาง undomag ต้องขอขอบคุณคุณแป้งมากเลยนะครับที่มาแบ่งปันสิ่งดีๆ ให้ชาว undomagให้ได้อ่านกัน อ่านแล้วรู้สึกอย่างไรกันบ้างครับ เหมือนที่ผมเขียนไว้ในตอนต้นไหม… บอกแล้วไงว่า ผู้หญิงคนนี้ “เฮ้ย เจ๋งอะ!” ขอบคุณมากครับ

UNDO Magazine issue 16 – The Making of Magazine
URL – www.undomag.com
FB - www.facebook.com/undomagazine
Issuu - UNDO Magazine

Views: 896

Comment

You need to be a member of PORTFOLIOS*NET to add comments!

Join PORTFOLIOS*NET

© 2009-2024   PORTFOLIOS*NET by CreativeMOVE.   Powered by

Badges  |  Report an Issue  |  Terms of Service