เรื่องเล่าจากฮิกาซีน

 


“เฮ้ย สนใจทำหนังสือมั๊ย?” ประโยคคำถามง่ายๆที่ทำให้คน 4 คนมารวมตัวกัน 4 คนที่ว่านั้นก็คือ ท่านโอ๊ต น้าแวะ ชนพ และธวัชชัย คิดอ่าน ด้วยความสนใจและใฝ่ในการทำหนังสือ เมื่อมีคนเสนอมา พวกเขาก็เลยสนองตอบ จนในที่สุด ก็ทำให้แมกกาซีนอารมณ์กวนๆฉบับหนึ่งถือกำเนิดขึ้นมา และแมกกาซีนนั้นมีชื่อว่า “ฮิฮิ แมกกาซีน”

บ่ายอ่อนๆ ของวันพุธที่ 18 กรกฎาคม 2555 ผมกับพี่ชัยได้ออกเดินทางจากหอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานครเพื่อไปยังสถานที่แห่งหนึ่งที่น่าค้นหา ที่ต้องค้นหาเพราะมันหายากเหลือเกินครับ แต่ก็ไม่เกินความสามารถของพวกเรา ในเวลาต่อมา ผมกับพี่ชัยก็เดินมาจนถึงอาคารจอดรถแห่งหนึ่ง เป็นสถานที่ที่ผมไม่คิดว่าจะมีสำนักงานนิตยสารซ่อนอยู่ในนั้น แต่เท่าที่ได้ยินจากเจ้าหน้าที่แถวๆนั้นมา พวกเขาบอกว่า ที่นี่แหละ มีแน่

และด้วยความมั่นใจกึ่งหนึ่ง ที่เป็นกึ่งหนึ่งก็เพราะยังไม่ค่อยจะแน่ใจว่าสถานที่แห่งนั้นมันจะมีอยู่ แต่ด้วยคำบอกกล่าวของพี่ยามรักษาความปลอดภัยอีกคนที่อยู่ในบริเวณนั้นที่ทำให้พวกผมเดินทางกันต่อไป “เดินไปทางนั้นแหละครับ เลี้ยวขวาเลี้ยวซ้าย เดี๋ยวก็เจอ พอเห็นหน้ากากที่อยู่หน้าออฟฟิศเดี๋ยวก็รู้เอง” 

และในที่สุดผมก็เจอครับ บารัค โอบาม่า เอ้ย! ไม่ใช่ครับ บริษัท ฮิฮิห้าห้า หรือแหล่งกำเนิดฮิกาซีนในปัจจุบัน ที่มีตุ๊กตาสวมหน้ากากโอบาม่าตั้งอยู่หน้าออฟฟิศที่พวกเรามาที่นี่ก็ไม่ได้มีเหตุผลอื่นใดเลยครับนอกจากจะมาพูดคุยกับ ฮิกาซีน! นะครับ นิตยสารราย 2 เดือนที่มาพร้อมกับลีลากวนๆชวนสะกิดต่อมฮา พวกผมไปถึงที่นั่นก็ได้รับการต้อนรับอย่างอบอุ่นครับ ด้วย 2 พนักงานประจำบริษัท คนแรกคือ พี่โอ๊ต และ พี่เต้ย นะครับ

พี่โอ๊ต หรือท่านโอ๊ตนะครับ ก็เป็นหนึ่งในผู้ก่อตั้งฮิกาซีน ส่วนพี่เต้ยก็… เขาบอกว่าเขาเป็น GB เจนเนอรัล เบ๊ หรือ ขี้ข้าทั่วไป แต่ก็ทำทั้งงานเขียนในเล่ม รวมถึงถ่ายวีดีโอ ตัดต่อวีดีโอด้วยครับ จริงๆแล้วพนักงานของฮิกาซีนมีเยอะกว่านี้ครับ แต่พอดีว่าช่วงที่พวกเราไปเยี่ยมนั้นเป็นช่วงที่ปิดต้นฉบับไปแล้ว ทุกคนก็เลยออกไปพักผ่อนกัน ก็เลยมีคนเฝ้าออฟฟิศอยู่แค่ 2 คน… อ่ะ แต่ก็ไม่เป็นไร จะ 2 คน หรือหลายคนก็ไม่ใช่ปัญหา ผมกับพี่ชัยก็เลยจัดแจงเตรียมข้าวของ ตั้งกล้อง ติดไมค์ และเริ่มต้นพูดคุยกับทางฮิกาซีนในทันที… แต่อยากจะบอกว่า กล้องที่ตั้งไว้มันใช้การไม่ได้นะครับ ก็ตั้งไปเฉยๆอย่างงั้นแหละครับ ก็ต้องขออภัยพี่ๆด้วยที่อุตส่าห์เก๊กหล่อกัน แต่ดันไม่ได้ออกวิดิโอ


ประวัติศาสตร์ฮิกาซีน

“จุดเริ่มต้นของฮิกาซีนมันมาจากหลายๆที่ฮะ” ประโยคเริ่มต้นของพี่โอ๊ต ขณะที่กำลังจะบอกเล่าประวัติศาสตร์ของฺกาซีนให้ผมฟัง เป็นเรื่องราวที่เต็มไปด้วยเหตุการณ์น่าสนใจมากมาย…

จากจุดเริ่มต้นของเด็กที่จบจากคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย แต่ดันไม่ได้ทำงานสายสถาปัตยฯ กลับไปทำงานในวงการโทรทัศน์แทน ไปเขียนบท ไปทำงานเกี่ยวกับละครเวที รับจ๊อบนู่นนี่นั่น จนอยู่มาวันหนึ่ง พี่โอ๊ตก็ได้ไปทำงานกับพี่โน๊ต อุดม แต้พานิช ไปช่วยทำเดี่ยวไมโครโฟน ช่วยทำหนังสืออะดม และในเวลานั้น ทีมงานในอนาคตของฮิกาซีนหลายๆคนก็ได้มารวมตัวกัน ไม่ว่าจะเป็น น้าแวะ ชนพ (2 คนนี้พี่โอ๊ตรู้จักมาตั้งแต่สมัยเรียนที่จุฬาฯ) เอ วัตร และธวัชชัย คิดอ่าน ส่วนทางฝั่งน้าแวะเอง ก็ได้ไปทำงานกับทีมงานสาระแน ได้ไปรู้จักกับดีเจพล่ากุ้ง ซึ่งในปัจจุบัน ดีเจพล่ากุ้งก็มาเป็นส่วนหนึ่งของฮิกาซีน หลังจากที่ได้รู้จักกัน ทุกคนก็แยกย้ายกันไปทำงานของตัวเองกันสักพัก

อยู่มาวันหนึ่ง ก็มีคนเข้ามาถามว่า “เฮ้ย สนใจทำหนังสือมั๊ย?” ในเวลานั้นก็มีพี่โอ๊ต ชนพ น้าแวะ และธวัชชัย 4 คนนี้ก็เข้ามาคุยกัน พี่โอ๊ตเล่าให้ฟังว่า “ผมก็บอกว่า ผมอยากทำมานานแล้ว เหมือนหนังสือเรือนไทยที่เคยทำสมัยเรียนสถาปัตยฯ จากนั้นก็มาคิดชื่อหนังสือ จะใช้ชื่ออะไรก็มานั่งคุยกัน… ฮิมั๊ย? ฮิ ฮิมันดูแบบว่า ไม่ต้องฮา คือ เราไม่อยากออกตัวว่าเราตลกอ่ะ คือมันแค่ฮิอ่ะ เราก็เลยใช้ฮิกัน” จากนั้น ทางทีมงานก็เลยดำเนินการทำหนังสือกัน ไปนำเสนอคอนเซ็ปต์ของหนังสือให้กับต้นสังกัด พอเขาชอบปั๊บ ก็เลยได้ทำ ฮิใหญ่ หรือ ฮิฮิ แมกกาซีน เล่ม 1-15…

แม้ว่าผลตอบรับจะดี แต่ก็มีปัญหาเข้ามา นั่นคือ เรื่องของราคานิตยสาร ราคาในความเป็นจริงของฮิฮิ แมกกาซีนนั้นควรจะอยู่ที่ประมาณ 90 บาท แต่ด้วยความต้องการอะไรบางอย่างส่วนตัว จึงทำให้เหตุการณ์บางอย่างเกิดขึ้นมา “ปกติมันน่าจะขายราคาประมาณเก้าสิบกว่าบาท แต่เราดันไปแบบ เอาฮาไง ชื่อฮิฮิ เราก็ให้ราคา 55 ซึ่งเจ้าของเค้าไม่ฮากับเราด้วย” และยังคงมีอีกหนึ่งปัญหาที่ตามมา นั่นคือ โฆษณาไม่เข้า ไม่มีสปอนเซอร์ “ที่โฆษณาไม่เข้าเนี่ย ทุกวันนี้เราก็ยังวิเคราะห์ไม่ได้ว่ามันเพราะอะไร เพราะถ้าดูยอดขาย ยอดขายมันก็โอเคเลย แต่มันก็มีสาเหตุนึงที่เราต้องโทษตัวเองว่า ในบางคอลัมน์มันมีโฆษณาที่เราเอาไปล้ออ่ะ ยาหอมตราห้าดีเจบ้าง เมล็ดฟักทองตราปืนบ้าง น้ำยาล้างจารย์จัญไลต์… ก็แบบ เอาผลิตภัณฑ์คนอื่นมาล้ออ่ะฮะ” พี่โอ๊ตเล่าให้ฟัง พร้อมๆกับเสียงของพี่เต้ยที่บอกมาว่า “มันก็สมควรฮะ” และในที่สุด ฮิฮิ แมกกาซีนก็เลยต้องหยุดยาว

แม้ว่าจะต้องหยุดยาว หรือบางทีก็อาจบอกได้ว่า ฮิฮิ แมกกาซีนต้องปิดตัวลงอย่างสงบ แต่ก็มีคนหลายคนที่อยากให้ความ “ฮิ” มันยังคงมีอยู่ต่อไป พี่โอ๊ตเล่าว่า “เล่ม 15 พอเราเลิกทำปุ๊บ ทุกคนที่เคยติดตามเราเค้าก็เสียดาย และเพราะว่ามันมีกระแสเข้ามาเยอะมาก เราก็เลย อ่ะ ทิ้งทวนละกัน ก็เลยทำ สภาวอรส์ ออกมาเป็นฮิกาซีนเล่มแรก” ที่มาของฮิกาซีน สภาวอรส์ นี้ก็มาจากพี่โอ๊ตกับน้าแวะครับ มันสืบเนื่องมาจากการที่มีต้นฉบับฮิฮิ แมกกาซีนเล่ม 16 เหลืออยู่ พี่โอ๊ตกับน้าแวะก็เลยมานั่งคุยกันว่า เอามารวมเล่มเป็นพ็อกเก็ตบุ๊คดีมั๊ย? และจากการที่มันมีกระแสของผู้อ่านเข้ามามาก ก็เลยทำให้พี่โอ๊ตกับน้าแวะผลิตฮิกาซีนเล่มแรก “สภาวอรส์” ออกมาให้แฟนๆได้อ่านกัน

หลังจากที่ผลิตสภาวอรส์ออกไปแล้ว พี่โอ๊ตเองก็ไม่ได้คิดที่จะทำฮิกาซีนต่อ แต่พอเวลาผ่านไป 8 เดือน ยอดขายของสภาวอรส์นั้นอยู่ในระดับที่น่าพอใจ น้าแวะก็เลยชวนพี่โอ๊ตทำฮิกาซีนเล่ม 2 กันต่อ ซึ่งเป็นเล่มที่มีชื่อว่า “บารัคซอย 9” และในเวลาต่อมา คน 4 คน พี่โอ๊ต น้าแวะ พล่ากุ้ง และวัตร ก็ได้มาลงหุ้นกันทำฮิกาซีนกัน พี่โอ๊ตเล่าเสริมว่า “เล่มแรกกับเล่มที่สองห่างกันประมาณ 8 เดือน เล่มที่สองกับเล่มที่สามห่างกันประมาณ 6 เดือน พอทำเล่มที่สาม ปกแพนด้า ไวรัสสายพันธุ์ใหม่ มันก็เริ่มชัดเจนว่า เออ เฮ้ย เหมือนกับว่าเราจะต้องมาทำจริงๆจังๆแล้วล่ะ” หลังจากนั้น ฮิกาซีนเล่มอื่นๆก็ทยอยออกตามมา รวมถึงทีมงานคนอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นพี่เอ ชนพ หรือพี่เต้ย ก็มารวมตัวกัน และทำฮิกาซีนกันต่อไป “ทุกวันนี้มันก็เลยเป็นอย่างงี้ฮะ ก็ทำออกมาทุกๆราย 2 เดือน” พี่โอ๊ตกล่าวปิดท้าย

 
นิยามของ “ฮิกาซีน”

ฮิกาซีน… ต้องบอกว่า ฮิฮิ แมกกาซีน เพราะเล่มแรกที่ผมอ่านก็คือ ฮิฮิ แมกกาซีน ฉบับมีนาคร ครับ… ตอนแรกที่ผมอ่าน ผมก็ไม่รู้ว่ามันเป็นนิตยสารเกี่ยวกับอะไรนะ บอกไม่ถูกอ่ะ แต่ผมรู้สึกว่า เออ มันฮา และมันก็แตกต่างจากนิตยสารอื่นๆที่ผมเคยอ่านในสมัยนั้น มันมีอะไรบางอย่างที่ทำให้ผมรู้สึกว่า “เฮ้ย คิดได้ไงวะ?” แต่ทางฮิกาซีนเองบอกว่าเขาไม่ได้เน้นฮาครับ ไม่ได้เน้นฮา แล้วเค้าเน้นอะไร?…

จากที่ได้ฟังมา พวกเขาเน้นความกวนครับ แต่ความกวนที่เขานิยามไว้มันมี 2 แบบ คือ กวนแบบหาเรื่อง กับกวนแบบกัดๆ แล้วความกวนแบบกัดๆนี่แหละ มันก็อาจจะแฝงความตลกไว้บ้างในบางครั้ง และที่มาของความกวนนั้น มันก็มาจากสไตล์ส่วนตัวของพวกเขาเลยครับ แต่จะเป็นสไตล์ไหนเหรอ พี่โอ๊ต เชิญครับ “ถ้าให้พูดจริงๆ ฮิกาซีนมันเป็นแนว LOOSER ฮะ ลูซเซอร์บ้าบิ่น คือ พวกผมเป็นพวกแอนตี้ฮีโร่ฮะ คือ จะชื่นชมคนห่วย ไม่ศรัทธาคนหล่อ (หัวเราะ) ไม่เทิดทูนกับคนที่แบบ เจ๋งอ่ะ… ไม่ชอบ คือ ขวางโลกอ่ะ พูดง่ายๆ… จริงๆ เราก็ไม่ได้รังเกียจอะไรเค้านะ แต่ว่าเรา เราอยากกวนCENSORเค้าอ่ะ อยากกวนชาวบ้าน ก็แบบแอนตี้นิดๆ แต่ก็ไม่ได้อะไรมากมาย คือ แซวอ่ะ เออ คล้ายๆอย่างนั้นแหละ”

 

ตะลุยงานแบบ “ฮิ”

ทางฮิกาซีนเล่าให้ผมฟังว่า ฮิกาซีนแต่ละเล่มนั้น ทีมงานทุกคนก็จะช่วยกันคิดงานออกมาครับ ก็มีทั้งคอลัมน์ที่มีอยู่ประจำและไม่ประจำ คอลัมน์ไหนที่คิดออกก็ใส่ลงไป อันไหนที่คิดไม่ออกก็ไม่ต้องใส่ลงไป เน้นการถอดเนื้อหาเข้าออกได้แบบฟรีสไตล์ ไม่จำเป็นต้องกำหนดว่าเล่มไหนต้องมีเนื้อหาอะไรบ้าง แต่การทำงานแบบนี้มันก็จะมีปัญหาในการวางดัมมี่ หรือ ตัวอย่างหนังสือที่จะถูกนำมาวางเลย์เอ้าท์หรือกำหนดเนื้อหาของแต่ละหน้าว่า หน้าไหนต้องมีเนื้อหายังไง มีจำนวนหน้าเท่าไหร่ เรียงหน้ากันยังไง ฯลฯ เพราะหนังสือเล่มอื่นเขาจะมีดัมมี่ที่ชัดเจน เช่น หน้าไหนต้องเป็นคอลัมน์อะไร แต่ของฮิกาซีนไม่ใช่แบบนั้น


นอกจากความฟรีสไตล์แล้ว เอกลักษณ์อีกอย่างของฮิกาซีนก็คือ การผลิตงานที่อิงกับกระแสครับ ดังเช่นที่เราจะเห็นได้ในช่วงแรกๆของฮิกาซีน ไม่ว่าจะเป็นเล่มสภาวอรส์ ที่ผลิตออกมาตอนเลือกตั้ง ดิสอิสฮิ ที่ผลิตออกมาหลังจากไมเคิลเสียชีวิต เซ็นทรัลเวิลด์คัพ ที่ผลิตออกมาในช่วงฟุตบอลโลกและเหตุการณ์ที่เซ็นทรัลเวิลด์ หรือไม่ก็จะเชื่อมโยงไม่กับกระแสสังคมอื่นๆ เช่น น้องหม่องปาเครื่องบิน แพนด้า โอบาม่า ไอแผด จ่ายิ้ม หรือลัดสภาแลนด์ แต่ในช่วงหลังๆมา ทางทีมงานเริ่มผลิตงานที่อิงกับกระแสน้อยลง เพื่อให้หนังสือเหล่านั้นอยู่บนแผงหนังสือได้นานขึ้น เช่น คนอวดฮิ ที่พูดถึงผี บร๊ะเจ้าช่วย ที่พูดถึงเรื่องโลกแตก ฉบับน้องเนย ที่พูดถึงเรื่องความรัก หรือเล่มล่าสุด หวยกินเรา เรากินหวย ที่มาเล่าเรื่องราวของหวยที่อยู่คู่กับคนไทยมานาน

จากที่ได้เล่ามาเกี่ยวกับเอกลักษณ์ของฮิกาซีน ไม่ว่าจะเป็นความกวน ความฟรีสไตล์ การอิงกระแส หรือไม่อิงกระแส แต่สิ่งที่สำคัญที่สุดในการทำฮิกาซีนกลับไม่ใช่สิ่งเหล่านั้นครับ สิ่งที่สำคัญที่สุดในการผลิตฮิกาซีนออกมาก็คือ ความรับผิดชอบ “ถ้าพวกผมไม่รับผิดชอบกันนะ ต่อให้เก่งแค่ไหนก็ตาม งานมันก็จะไม่เสร็จ และมันก็จะไม่มีหนังสือออก… ทุกงาน ผมว่ามันต้องรับผิดชอบครับ รับผิดชอบไว้ก่อน” เป็นอีกคำพูดที่น่าประทับใจของพี่โอ๊ต


ฮิออฟฟิศ

นอกจากจะพบเจอกับหน้ากากโอบาม่าที่ผมได้เล่าไว้ในตอนต้น บรรยากาศต่างๆในห้องทำงานของชาวฮิกาซีนนั้นน่าอยู่มากครับ และแฝงไว้ด้วยสิ่งต่างๆที่น่าสนใจอีกมากมาย ไม่ว่าจะเป็นมุมนั่งเล่นที่พบเจอได้หลังประตู โต๊ะรับแขกแนวๆพร้อมกับโซฟา ภาพประกอบต่างๆที่มาจากปกของฮิกาซีน รวมถึงภาพที่มาจากฝีมือของพี่โน้ตและสินเจริญบราเธอรส์ และอุปกรณ์ช่วยสลายความเครียดของพวกเขาครับ เครื่องเพลย์สเตชั่น 2 ที่มาพร้อมกับแผ่นวินนิ่ง อุปกรณ์ชิ้นนี้สำคัญมาก เพราะพวกเขามักจะต้องมาใช้บริการในยามที่สมองตัน “บางวันก็ตันตั้งแต่บ่ายๆละ (หัวเราะ)” พี่เต้ยเสริม “และช่วงนี้มันก็ตันบ่อยด้วยฮะ (หัวเราะ)” พี่โอ๊ตเสริมอีก

นอกจากความกวนที่เห็นได้จากในหนังสือแล้ว ความฟรีสไตล์ การทำงานที่เน้นให้ทุกคนสบายและไม่เครียดนั้น ก็เป็นอีกเอกลักษณ์ของฮิกาซีน “ออฟฟิศเนี้ย มันมีกฎเกณฑ์แบบกว้างๆ จนดูเหมือนว่าไม่มีกฎเกณฑ์ คือ ผมไม่ได้บังคับว่า เฮ้ย คุณต้องมาตอกบัตรนะเว่ย หรืออาจจะไม่ต้องมาเช้ามาก ก่อนเที่ยงก็พอ หรือถ้าวันไหนมีธุระอะไรก็โทรบอกก่อน อย่างเช่นการไปรับจ๊อบนอก ถ้าเราปิดเล่มแล้ว อยากไปก็ไป เพราะมันไม่ต้องทำอะไร แต่ถ้ายังไม่ปิดเล่ม แล้วดันจะออกไปรับจ๊อบนอก แบบนี้มันก็ไม่ได้ คือ เราอาจดูขี้เกียจ เราอาจดูไร้ระบบ แต่เราก็มีความรับผิดชอบ แค่นั้นเอง” พี่โอ๊ตกล่าว

เมื่อพูดถึงเรื่องกฎเกณฑ์ในการทำงาน ผมก็เลยขอถามเรื่องราวของพนักงานบ้างครับ ก็ถามไปว่า ถ้าต้องรับพนักงาน ทางฮิกาซีนจะพิจารณาอะไรก่อน?… จากคำให้การที่ผมได้รับฟังมา สิ่งแรกที่พี่โอ๊ตตอบมาก็คือ ต้องเป็นคนที่คุยเป็นภาษาเดียวกันครับ ต้องอยู่ด้วยกันแล้วมีความสุข เข้ามาแล้วต้องทำให้บรรยากาศในการทำงานมันดีขึ้น ส่วนในเรื่องของความสามารถนั้น พี่โอ๊ตบอกว่า “บางที ผมอาจจะเลือกคนที่เก่งปานกลาง เงินเดือนไม่ต้องสูงมาก แต่อยากได้คนที่เค้ารู้สึกว่าเป็นเจ้าของฮิกาซีน คนที่มีใจกับผลิตภัณฑ์ของเรา” และอีกหนึ่งคุณสมบัติสำคัญก็คือ ความรับผิดชอบครับ “ความรับผิดชอบด้วยอันนึงฮะ รับผิดชอบต้องมาก่อน เรื่องเก่งหรือไม่เก่งไว้ค่อยมาดูกันทีหลัง คือ ถ้าเก่ง แต่ไม่รับผิดชอบก็ไม่เอา แต่ถ้ารับผิดชอบแล้วไม่เก่ง ก็ต้องมาดูกันอีกทีว่า ไม่เก่งแล้วยังจะทำตัวเก่งอีกรึเปล่า ไม่งั้น งานมันก็จะเละไปกันใหญ่ อะไรประมาณนี้ฮะ”


ช่วงฮิชี้แนะ

ก่อนที่จะได้ไปสัมภาษณ์ฮิกาซีน ผมก็อ่านข้อมูลหลายๆอย่างเกี่ยวกับพวกเขามาก่อนครับ อ่านไปอ่านมาจนรู้สึกว่า เฮ้ย มันมีอยู่ 2 คำถามที่ผมต้องถามอ่ะ ผมว่า เราน่าจะได้คำตอบดีๆ และแปลกๆด้วยนะ ออกมาจากพวกเขา คำถามที่ว่าคือ ข้อแรก ฮิกาซีนมีความคิดเห็นยังไงเกี่ยวกับสังคมไทยในปัจจุบันครับ? “ถ้ามองในเรื่องสังคมออนไลน์” พี่เต้ยตอบก่อน “ผมว่าคนเดี๋ยวนี้เขาดูภาพภาพเดียว แล้วก็ตัดสิน วิจารณ์กันเร็วมาก โดยที่ไม่คิดว่ามันมีเหตุการณ์อะไรก่อนอะไรหลัง หรือแรงจูงใจอะไรรึเปล่า พอเห็นภาพแล้วก็วิจารณ์เลย ด่า เอาสะใจ เอามัน คนอื่นก็ เฮ้ย คุณด่า ผมตามด้วย ก็เฮโลกันเข้าไป มันขาดการวิเคราะห์ฮะ” จากนั้นพี่โอ๊ตก็เสริมขึ้นมา “สังคมเรามันก็มีทั้งดีและไม่ดีครับ จริงๆนะ พอเราไปเจอเรื่องที่ไม่ดี เราก็หดหู่ พอเราไปเจอเรื่องดีๆ เราก็รู้สึกดี แต่สำหรับสุขภาพจิตของคนทุกวันนี้ ผมว่ามันดร็อปลงไปเยอะแหละ เหมือนที่เต้ยบอก พอเจอรูปอะไร ทุกคนก็จะด่า ชอบฟังการด่ากัน มันก็เลยหดหู่ ก็ ผมว่า สุดท้ายเราก็ปล่อยไปตามกระแสของมันแหละฮะ แต่ก็อย่าไปเครียดกับมันมาก แค่นั้นแหละ เจอเรื่องที่น่าหงุดหงิด เราก็หงุดหงิดบ้าง แต่พอเจอเรื่องที่น่าชื่นชม เราก็ชื่นชม”

คำถามข้อที่ 2 คือ ถ้ามีคนให้งบฮิกาซีนมา 1 ก้อน แล้วบอกฮิกาซีนว่า “อยากให้ฮิกาซีนทำอะไรก็ได้ จะเป็นการทำอีเว้นท์ หนังสือ หนังสั้น หรืออะไรก็ได้ เพื่อส่งเสริมสังคมทั่วประเทศ!”  ฮิกาซีนจะทำอะไร?… พี่โอ๊ตตอบมาว่า “เป็นคำถามที่ยากมากฮะ ไม่เคยคิดอะไรแบบนี้มาก่อน” แต่สักพัก หลังจากที่คุยเรื่องอื่นๆ ถามเรื่องอื่นๆ สัพเพเหระกันไป อยู่ดีๆพี่โอ๊ตก็นึกคำตอบขึ้นมาได้ “นี่ไง! เราจะไปอยู่นี่ไง เดือนสิงหา เราจะไปช่วยสังคมฮะ โดยมีพล่ากุ้งเป็นแกนนำ” แล้วพี่เต้ยก็เสริมต่อ “เราจะไปจัดกิจกรรมที่โรงเรียนแห่งหนึ่งในอยุธยาฮะ เป็นโรงเรียนที่มีนักเรียนแค่ 30-40 คนเอง คือ ดีเจพล่ากุ้งเค้าเคยผ่านโรงเรียนนี้มา แล้วก็อยากไปช่วยเด็กๆ เด็กนักเรียนที่นี่ไม่เคยเล่นกีฬาสีเลย ที่นี่ไม่เคยมีกีฬาสี ก็ สิงหานี้เราก็จะไปจัดกีฬาสีให้กับเด็กๆกันครับ”

พอระลึกชาติขึ้นมาได้บางส่วน คราวนี้พี่โอ๊ตก็เลยยิงยาวเลยครับ เกี่ยวกับกิจกรรมที่อยากทำเพื่อส่งเสริมสังคม สิ่งที่พี่โอ๊ตอยากทำเพื่อส่งเสริมสังคมไทยมากที่สุดคือ ยกระดับการศึกษาครับ พี่โอ๊ตบอกว่า ปัญหาต่างๆที่มันเกิดขึ้นทุกวันนี้ มันมีสาเหตุมาจากการที่คนมีความรู้ไม่เท่ากัน สิ่งที่ควรทำคือการหาวิธีที่ทำให้เด็กที่อยู่ต่างจังหวัดไกลๆเขาได้เปิดโลกทัศน์ มีตัวอย่างหนึ่งที่พี่โอ๊ตเล่าให้ฟัง ตัวอย่างนี้เกิดขึ้นที่ร้านก๋วยเตี๋ยวของพี่โอ๊ตเอง (ชื่อร้าน สำราญทอง อยู่สามย่านซอย 50 ครับ) พี่โอ๊ตบอกว่า คนงานที่ร้านของเขามาจากต่างจังหวัดที่ไกลมากๆ พอพวกเขาไปเจอสยาม ไปเจอมาบุญครอง เจอสิ่งที่พวกเราเห็นกันจนชินตา แต่สำหรับพวกเขา สิ่งที่มันธรรมดาสำหรับพวกเราคือที่สุดในชีวิตของพวกเขาแล้ว “คือ พยายามกระจายการศึกษา” พี่โอ๊ตกล่าว และเสริมต่ออีกว่า “การศึกษาที่บอกมันไม่ใช่แค่ในตำราเท่านั้น แต่มันต้องเป็นความรู้รอบตัว เราต้องไปสร้างเครือข่ายอินเตอร์เน็ต สร้างอาคารเรียน ถ้าเป็นเรื่องการศึกษา ผมว่าดีที่สุดฮะ เค้าจะได้แยกแยะได้ว่า อะไรดี อะไรไม่ดี”

จากนั้น ผมก็ถามไปถึงสิ่งที่ฮิกาซีนอยากจะฝากไปถึงเด็กรุ่นใหม่ คำตอบของเขาก็น่าสนใจมากครับ… คือ กับการทำ UNDOMAG ที่ผ่านๆมา เวลาไปถามแขกรับเชิญคนอื่นๆเกี่ยวกับสิ่งที่จะฝากไปถึงเด็กๆรุ่นใหม่ พวกเขาก็จะตอบมาเป็นข้อแนะนำต่างๆ หลากหลายรูปแบบ ส่วนทางฝั่งฮิกาซีนเอง ก็ตอบมาได้น่าประทับใจมากเลยครับ พี่โอ๊ตตอบมาเน้นๆเลยว่า “สังคมนี้ ผมว่าเค้าฝากกันไปเยอะแล้วล่ะ เด็กมันรับฝากกันเยอะเกินไปแล้ว! ไม่ต้องไปฝากอะไรมันแล้ว!! แค่ให้มันทำตัวดีๆก็พอแล้ว!!!… เฮ้ย จริงๆนะ เด็กมันรับเยอะนะ มันรู้แล้วล่ะว่าต้องทำยังไง คราวนี้มันก็อยู่ที่ว่า เด็กมันจะทำหรือไม่ทำเท่านั้นแหละ ผมว่าไม่ต้องไปฝากอะไรมันแล้ว เห็นด้วยมั๊ยอ้ะ?”

ฝากแฟนฮิ 


คำถามสุดท้ายครับ มีอะไรจะฝากถึงแฟนๆฮิกาซีนบ้าง?… หลังจากที่ได้ยินคำถาม พี่โอ๊ตก็ตอบมาด้วยความจริงใจเลยครับว่า “โอ้ย! ไม่มีอะไรฝากแล้ว! ฝากอะไรกันเยอะแยะ! (หัวเราะ) ก็ขอบคุณนะครับที่อุตส่าห์เชื่อใจซื้อหนังสือของเรา ถึงแม้บางทีมันจะมีข้อผิดพลาดบ้าง ก็ต้องเข้าใจว่า ความผิดพลาดมันคือเสน่ห์ของความเป็นมนุษย์ หากมนุษย์ไม่ผิดพลาดเลยเนี่ย มันก็จะไร้ซึ่งเสน่ห์ พวกเราเสน่ห์เยอะ ก็ นั่นแหละฮะ ขอโทษที่ทำผิดพลาดไปบ้าง แต่… เรารักนาย” และพี่เต้ยตามมาปิดท้าย “เฮ้ย เรารักด้วย สวัสดีครับ”


ป.ล. ประทับใจฮิ… ส่วนท้ายนี้ก็ไม่ได้มีอะไรมากมายครับ แค่อยากจะลงข้อความตอนหนึ่งที่ผมหาที่ลงในบทความด้านบนไม่ได้ (หัวเราะ) แต่มันมีความสำคัญมาก เพราะหลังจากที่ได้ยินคำตอบหนึ่งจากพี่โอ๊ตและพี่เต้ยแล้ว ผมว่า คำตอบของพี่เขามันโดนใจ ทั้งใจผมและใจพี่ชัยเลยนะ เพราะ กับการที่เราทำ undomag กันมา เราก็ได้รับสิ่งเหล่านี้มาเหมือนกัน

คำถามที่ผมถามฮิกาซีนไปก็คือ คิดว่าสิ่งที่ดีที่สุดในการทำฮิกาซีนคืออะไรครับ? และคำตอบก็คือ “ผมว่า มันทำให้เราได้รู้จักคนเยอะขึ้น” (คำตอบจากพี่โอ๊ต) และ “ของผมเอง ที่ได้มากที่สุดก็ ความสนุกอ่ะฮะ และได้ทำงานกับคนที่เหมือนๆกัน” (คำตอบจากพี่เต้ย)…

หลังจากที่สัมภาษณ์กันเสร็จแล้ว พี่ชัยก็หันมาบอกผมเลยครับว่า “เออ มันจริงนะ” เพราะฉะนั้น ไม่ต้องสงสัยเลยครับว่า ทำไม หลังจากที่ได้สัมภาษณ์กลุ่มคนที่ทำงานนิตยสารเหมือนกัน แล้วพี่ชัยก็ไปโพสต์ลงในเฟซบุ๊คว่า “UNDO Magazine ฉบับหน้า เป็นเล่มที่พี่โคตรอินสุดๆ เพราะเป็นเรื่องราวของคนทำ Magazine สัมภาษณ์ไปก็ประทับใจทุกอย่างที่ได้คุยกัน เหมือนคนคุยถูกคอ ทัศนคติ ความคิดเดียวกัน” เรารู้สึกอย่างนั้นจริงๆครับ… ขอบคุณทุกคนที่พวกเราได้ไปสัมภาษณ์ ทั้งในเล่มนี้และเล่มก่อนๆ และขอบคุณผู้อ่านทุกท่านด้วยครับ ขอบคุณทุกคนเลย ขอบคุณมากครับ จบแล้ว


UNDO Magazine issue 16 – The Making of Magazine
URL - www.undomag.com
FB - www.facebook.com/undomagazine
Issuu - UNDO Magazine

Views: 1141

Comment

You need to be a member of PORTFOLIOS*NET to add comments!

Join PORTFOLIOS*NET

© 2009-2024   PORTFOLIOS*NET by CreativeMOVE.   Powered by

Badges  |  Report an Issue  |  Terms of Service