DESIGN THAT MATTERS

แปลจาก TED Talks หมวด Inspiring ตอน Design for People, not Awards

บรรยายโดย Timothy Prestero ที่ TEDxBoston เดือนสิงหาคม ปี 2555

Timothy Prestero (ผู้ก่อตั้งและ CEO ของ Design That Matters องค์กรไม่แสวงหาผลกำไรที่ออกแบบผลิตภัณฑ์ต่างๆ ช่วยเหลือประเทศที่ยากจน) เป็นคนคนหนึ่งที่ชื่นชอบ concept car…

แต่ด้วยความชื่นชอบนั้น มันก็ทำให้เขาเกิดความสงสัยขึ้นมาว่า “ทำไมรถที่มีอยู่ในปัจจุบัน มันถึงห่างไกลจาก concept car เสียเหลือเกิน... อะไรคือปัญหาที่อยู่ระหว่างสตูดิโอออกแบบกับโรงงานผลิตรถยนต์?”...

การค้นหาคำตอบเหล่านั้น Timothy ได้ยกตัวอย่างการออกแบบผลิตภัณฑ์เพื่อช่วยเหลือเด็กแรกเกิดมาเป็นกรณีศึกษาครับ เป็นกรณีศึกษาที่มีชื่อว่า Design for Outcomes

Timothy เล่าให้ฟังว่า ทุกๆปี จะมีเด็กแรกเกิดประมาณ 4 ล้านคนตายก่อนที่จะมีอายุครบ 1 ปี หรือในบางกรณีก็ 1 เดือน แต่... ครึ่งหนึ่งของเด็กเหล่านี้ หรือประมาณ 1.8 ล้านคนจะมีชีวิตอยู่ได้ถ้าพวกเขาได้เข้าไปอยู่ในตู้อบเด็กทารก (Infant Incubator) นานประมาณ 3 วัน หรือ 1 อาทิตย์หลังคลอด และนั่น ก็ทำให้เขาเกิดแรงบันดาลใจที่จะออกแบบ Incubator เพื่อช่วยเหลือเด็ก “ออกแบบตู้อบเด็กทารก... ไม่ใช่ออกแบบจรวดอวกาศสักหน่อย มาเริ่มกันเลยเถอะ!”

การออกแบบในครั้งนี้ Timothy ใช้กลยุทธ์การออกแบบแบบ Human-Center โดยศึกษาว่าผู้คนต้องการอะไรจากผลิตภัณฑ์ชิ้นนี้ และเขาเองก็ต้องการที่จะออกแบบสิ่งนี้เพื่อสร้างแรงบันดาลใจให้กับผู้ผลิตและผู้ใช้ เขาอยากให้ผู้ผลิตและผู้ใช้ยอมรับงานชิ้นนี้และใช้มัน

มีการใช้กระดาษ Post-it เป็นพันๆใบ และมีงานต้นแบบอีกหลายชิ้นที่ถูกสร้างขึ้นมาในการออกแบบครั้งนี้ จนในที่สุด ผลิตภัณฑ์ของเขาก็ออกมา NeoNurture Incubator

ทว่า... ผลของการออกแบบงานชิ้นนี้ไม่ได้เป็นไปตามที่คาดไว้ แม้ว่างานชิ้นนี้จะได้รับรางวัลมามากมายหลายหลากก็ตาม แต่เด็กที่ได้ใช้ผลิตภัณฑ์ชิ้นนี้จริงๆ มีอยู่แค่คนเดียว นั่นก็คือเด็กที่ต้องลงอยู่ไปอยู่ใน NeoNurture เพื่อเป็นนายแบบให้ถ่ายรูปลงนิตยสาร TIME... “นั่นไม่ใช่สิ่งที่ผมต้องการ” Timothy กล่าว สิ่งที่เขาต้องการคือ “ผลิตภัณฑ์ที่จะทำให้โลกใบนี้ดีขึ้นกว่าเดิม”

จากนั้น เขาก็มาคิดว่า “ออกแบบเพื่อสร้างแรงบันดาลใจอย่างเดียวคงไม่พอ มันยังไม่มีประสิทธิภาพ มันต้องมีอะไรมากกว่านี้… เราไม่ได้ต้องการแค่ความสวยงาม แต่เราต้องการสิ่งที่จะทำให้โลกนี้ดีขึ้นกว่าเดิม ดังนั้น สิ่งที่ต้องทำก็คือ ออกแบบเพื่อผลลัพธ์” และหลังจากที่คิดได้เช่นนั้น Timothy ก็ต้องให้ความสนใจกับหลายสิ่งหลายอย่างที่เกี่ยวข้องกับการออกแบบเพื่อผลลัพธ์ โดยแบ่งออกมาเป็นหัวข้อหลักๆ ได้ 3 ข้อ คือ “ออกแบบเพื่อผลิตและแพร่กระจายผลิตภัณฑ์ ออกแบบเพื่อการใช้งานจริง และออกแบบเพื่อรูปลักษณ์”

ออกแบบเพื่อผลิตและแพร่กระจายผลิตภัณฑ์

จุดเริ่มต้นของการออกแบบนี้ มันมาจากคำถามที่ว่า “ใครคือลูกค้าของเรา?”

จากการลงไปสำรวจในประเทศที่เป็นกลุ่มเป้าหมายในแถบเอเชีย เช่น บังคลาเทศ Timothy พบว่า หน่วยงานที่ต้องการผลิตภัณฑ์ช่วยเหลือเหล่านี้ พวกเขาไม่ได้จัดหาอุปกรณ์ต่างๆมาเอง แต่พวกเขาได้รับจากรัฐบาลหรือผู้บริจาค และรัฐบาลหรือผู้บริจาคนั้นก็หาผลิตภัณฑ์เหล่านี้มาจากที่ใกล้ๆตัวที่พวกเขาพอจะหาได้

จากนั้น Timothy ก็เริ่มกระบวนการออกแบบเพื่อผลิตและแพร่กระจายผลิตภัณฑ์โดยการมองหาผู้ผลิตในภูมิภาคนั้น และเขาก็พบ MTTS ซึ่งเป็นองค์กรผลิตอุปกรณ์สำหรับเด็กแรกเกิดในเวียดนาม และเขาก็ได้ร่วมมือกับ East Meets West ซึ่งเป็นองค์กรจากสหรัฐอเมริกาที่คอยช่วยเหลือทางด้านเทคโนโลยีให้กับโรงพยาบาลต่างๆในภูมิภาคนี้

การทำงานเริ่มต้นขึ้นจากคำถามว่า “จะทำอะไรดี?” จนในที่สุด ทางทีมงานก็ได้ข้อสรุปกันว่าจะแก้ปัญหาภาวะตัวเหลืองในเด็กแรกเกิด (ดีซ่าน หรือ jaundice) ซึ่งเป็นอีกปัญหาสำคัญที่ทำให้เด็กแรกเกิดพิการหรือเสียชีวิตได้

การรักษาภาวะตัวเหลืองในเด็กแรกเกิด แม้จะมีวิธีการรักษาที่มีชื่อว่า “Exchange Transfusion” แต่วิธีการนี้มีราคาสูง และค่อนข้างเป็นอันตราย ทางทีมงานจึงหามาหาอีกวิธีหนึ่ง “การรักษาด้วยแสง หรือ phototherapy” โดยมีหลักการง่ายๆ ว่า ต้องฉายแสงสีฟ้าให้ครอบคลุมตัวเด็กมากที่สุดเท่าที่จะทำได้

การออกแบบเพื่อผลิตและแพร่กระจายผลิตภัณฑ์ยังไม่จบนะครับ แต่ต้องขอหยุดพักสักครู่ เพราะยังมีอีก 2 กระบวนการที่จะมาช่วยให้การออกแบบนี้เสร็จสมบูรณ์... ขั้นตอนต่อไปของการออกแบบเพื่อผลลัพธ์คือ การออกแบบเพื่อการใช้งานจริง

 

ออกแบบเพื่อการใช้งานจริง

หลังจากที่ตัดสินใจกันแล้วว่าจะผลิตเครื่อง phototherapy ทางทีมงานก็ได้ออกไปสำรวจการใช้งานจริงของผลิตภัณฑ์นี้ที่มีอยู่ในปัจจุบัน เพื่อนำมาเป็นข้อมูลในการออกแบบ

เครื่อง phototherapy ที่มีอยู่ในปัจจุบันมีลักษณะคล้ายๆโคมไฟนีออน ฉายแสงสีฟ้าครอบลงมาบนตัวเด็ก ตามทฤษฎี เครื่อง phototherapy 1 เครื่องจะใช้ได้กับเด็กแรกเพียง 1 คน เพื่อให้เครื่องทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ แต่ในสถานการณ์จริงๆ ผู้ป่วยจำนวนมากมายในภูมิภาคนี้จึงทำให้เครื่อง phototherapy 1 เครื่องต้องรองรับเด็กทารกมากกว่า 1 คน จึงทำให้เด็กบางคนไม่สามารถรับประสิทธิภาพของแสงได้อย่างเต็มที่

นอกจากการใช้งานผิดขนาดแล้ว ความเป็นห่วงของแม่ก็กลายเป็นอีกปัญหาหนึ่งที่ทำให้เครื่อง phototherapy ทำงานได้ไม่มีประสิทธิภาพ ปกติ เด็กแรกเกิดที่รับการรักษาผ่านเครื่อง phototherapy นั้นจะต้องไม่เสื้อผ้า หรือต้องไม่ให้มีอะไรมาปกคลุมเพื่อให้ได้รับแสงอย่างเต็มที่ แต่ว่า คงจะไม่มีแม่คนไหนที่มาเห็นลูกของตนเองนอนอยู่ในเครื่องประหลาด ไม่มีอะไรป้องกัน ไม่มีแม้แต่เสื้อผ้า แล้วไม่เกิดอาการเป็นห่วงขึ้น ด้วยความเป็นห่วง แม่ของเด็กจึงหาผ้าห่มมาคลุมตัวเด็กไว้ และนั่นทำให้เด็กไม่สามารถรับแสงได้อย่างเต็มที่

2 ปัญหานี้ เป็นสิ่งที่ทำให้ทีมงานต้องกลับมาคิด Timothy บอกว่า “แม้การกระทำของเจ้าหน้าที่และแม่เด็กจะดูโง่ในสายตาของผู้ผลิตอุปกรณ์ก็ตาม แต่พวกเราต้องไม่คิดแบบนั้น พวกเราต้องคิดต่าง ต้องคิดมากกว่าสิ่งที่เราเห็นและเป็นอยู่” จากการเรียนรู้มา Timothy บอกว่า “ไม่มีผู้ใช้โง่ๆ มีแต่ผลิตภัณฑ์โง่ๆ ต่างหาก เราต้องคิดว่าผู้คนจะใช้ผลิตภัณฑ์นี้ยังไง เราต้องออกแบบเพื่อการใช้งานจริง”

 

ออกแบบเพื่อรูปลักษณ์

แม้ว่าอุปกรณ์จะมีประสิทธิภาพดีและราคาถูกมากแค่ไหน แต่ถ้ามันมีรูปลักษณ์ที่ “ไม่น่าใช้เอาเสียเลย” ล่ะก็ คงไม่มีใครอยากใช้มันแน่

จากการที่ผู้คน รวมถึงแพทย์และพยาบาลได้เคยดูรายการโทรทัศน์เกี่ยวกับการแพทย์ และเข้าใจว่า “อุปกรณ์การแพทย์มันต้องเป็นแบบนี้ มันต้องเป็นแบบที่ฉันเคยให้ในทีวีนี่แหละ” ความคิดแบบนี้ แม้อาจจะไม่ค่อยดีนัก แต่มันเป็นความจริงครับ ผู้คนไม่ได้ต้องการประสิทธิภาพ แต่พวกเขาต้องการความสวยงาม ดังนั้น การออกแบบเพื่อผลลัพธ์จะขาดอีกกระบวนการหนึ่งไปไม่ได้ นั่นคือ ออกแบบเพื่อรูปลักษณ์ เพื่อทำให้ผลิตภัณฑ์ดูน่าเชื่อถือ เพื่อให้ผู้คนเห็นแล้วยอมรับ และใช้มัน

 

ออกแบบเพื่อผลิตและแพร่กระจายผลิตภัณฑ์ (อีกรอบ)

หลังจากที่ทีมงานออกไปสำรวจความต้องการเกี่ยวกับการใช้งานจริงและความสวยงามของผลิตภัณฑ์มาแล้ว พวกเขาก็กลับมาคุยกันต่อถึงการผลิตจริงครับ โดยมีเป้าหมายว่า 1. มันต้องเป็นศิลป์ชั้นยอด 2. มันต้องใช้ได้จริง และ 3. มันต้องสามารถนำไปผลิตได้จริงโดยผู้ผลิตและวัตถุดิบในภูมิภาคนั้น

หลังจากที่รวม 3 การออกแบบให้มาเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันแล้ว Timothy ก็ได้ผลิตภัณฑ์ชิ้นนี้ออกมาครับ Firefly Phototherapy Device

เมื่อเห็น Firefly Phototherapy คุณจะรู้ได้ทันทีว่า

1. อุปกรณ์ชิ้นนี้ออกแบบมาเพื่อให้ใส่เด็กลงไปได้แค่คนเดียว ถ้าจะใส่เด็กลงไปอีก 1 คน นั่นหมายถึงคุณต้องวางเด็กทับซ้อนกันลงไป การออกแบบแบบนี้ Timothy บอกว่า “เป็นการออกแบบเพื่อให้ใช้งานผิดได้ยาก เป็นการกำหนดให้ผู้ใช้ใช้งานอุปกรณ์นี้ได้อย่างถูกต้อง”

2. อุปกรณ์ชิ้นนี้มีไฟส่องทั้งจากด้านบนและด้านล่างของตัวเด็ก แม้ว่าแม่จะนำผ้าคลุมมาห่มตัวเด็ก แต่เด็กก็ยังคงได้รับประสิทธิภาพจากแสงที่อยู่ด้านล่างอยู่ดี และ

3. อุปกรณ์ชินนี้มีการระบายความร้อนอย่างดีเพื่อไม่ให้มดเข้ามาทำรัง และอุดช่องต่างๆ ไว้อย่างดีเพื่อไม่ให้แมลงสาบเข้ามาอยู่อาศัย

“นี่เป็นบทเรียน” Timothy กล่าว “ถ้าผมต้องการที่จะสร้างอะไรบางอย่างที่สามารถเปลี่ยนโลกได้ ผมไม่มีทางแก้ตัวถ้าผมทำอะไรผิดพลาด ดังนั้น ผมต้องใส่ใจกับการผลิตและแพร่กระจายผลิตภัณฑ์ ใส่ใจกับผู้คนที่จะใช้พวกมัน ผมต้องคิดต่าง ผมต้องยอมรับว่าไม่มีผู้ใช้โง่ๆ มีแต่ผลิตภัณฑ์โง่ๆ และที่สำคัญ ผมต้องถามตัวเองว่า เราจะออกแบบไปเพื่อโลกที่เราต้องการ? เราจะออกแบบไปเพื่อโลกที่เรามีอยู่? เราจะออกแบบไปเพื่อโลกที่กำลังวิ่งเข้ามาหาเรา แม้ว่าจะเราพร้อมหรือไม่พร้อมก็ตาม?... หลังจากที่ผมได้เข้ามาอยู่ในวงการออกแบบผลิตภัณฑ์ ผมก็ได้เรียนรู้ว่า ถ้าเราอยากจะสร้างความเปลี่ยนแปลงให้กับโลกนี้ เราต้อง...ออกแบบผลลัพธ์ และนั่นคือ การออกแบบที่ได้ผล

“Design that matters.

แปลและเรียบเรียง โดย พัทธพล บัวล้อมใบ

Views: 280

Comment

You need to be a member of PORTFOLIOS*NET to add comments!

Join PORTFOLIOS*NET

© 2009-2024   PORTFOLIOS*NET by CreativeMOVE.   Powered by

Badges  |  Report an Issue  |  Terms of Service