วรนันทน์ ชัชวาลทิพากร : ช่างภาพมือ 1 ของโลก!


บรรดาผู้ที่ติดตามข่าวการประกาศรายชื่อผู้ที่ได้รับเลือกให้เป็นศิลปินแห่งชาติ ปี 2552 คงเกิดคำถามทำนองดังกล่าวในใจ เมื่อชื่อ วรนันทน์ ชัชวาลทิพากร ได้รับการเชิดชูเกียรติให้เป็นศิลปินแห่งชาติ สาขาทัศนศิลป์ (ภาพถ่าย) ซึ่งเป็นสาขาที่มีผู้เคยได้รับเกียรตินี้มาก่อนเพียง 4 ท่าน เปรียบได้ว่าน้อยกว่าน้อยเมื่อเทียบกับสาขาอื่นๆ ที่มีผู้เดินเข้ารับตำแหน่งทุกปีหรือเกือบทุกปีตั้งแต่เริ่มมีการให้ค่าแก่ผู้เป็นศิลปินตั้งแต่พ.ศ.2528

แต่ไม่นานหลังแสงแฟลชและดวงไฟสาดจับ ภาพความสงสัยในตัววรนันทน์เริ่มปรากฏชัด

วรนันทน์เกิดในครอบครัวคนจีนฐานะปานกลาง จากเหตุการณ์ไฟไหม้บ้านตอนอายุสิบห้า ทำให้ชีวิตเขาต้องหันหลังให้กับตำราในห้องสี่เหลี่ยมออกดิ้นรนเรียนรู้โลกกว้างผ่านการทำงาน อาชีพเซลส์ขายเสื้อผ้าที่ต้องวิ่งหาลูกค้าตามต่างจังหวัด ทำให้เขาได้รู้จักการเดินทาง

สุดเหนือ สุดใต้ วรนันทน์ได้ไปมาหมด ภูเขา หาดทราย ป่าไม้ ทะเลหมอก ความงามในธรรมชาติที่ได้เห็น ยั่วเย้าให้เขาออกท่องเที่ยวและอยากเก็บภาพไว้ในแผ่นฟิล์ม

“สมัยแรกตอนซื้อกล้องใหม่ๆ เราก็ถ่ายสไลด์ ถ่ายฟิล์มสี แล้วก็เอามาให้เพื่อนๆ ดู แต่ตอนนั้นยังถ่ายสะเปะสะปะ จนกระทั่งช่วงปลายปี 23 ผมเผอิญไปเจอประกาศในหนังสือพิมพ์บอกว่า ที่เทคนิคกรุงเทพ (มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลกรุงเทพ) มีเปิดอบรมการถ่ายภาพให้กับประชาชน เรียนเฉพาะวันเสาร์-อาทิตย์ ผมก็ไปสมัคร”

เหมือนปลาได้น้ำ วรนันทน์ได้เรียนรู้เรื่องการถ่ายภาพมากมายที่เขาไม่เคยรู้ ซ้ำยิ่งรู้ยิ่งหลงเสน่ห์ ไม่นานหลังจากนั้นเมื่อเขารู้ว่าสมาคมถ่ายภาพแห่งประเทศไทยฯ ตั้งอยู่รั้วเดียวกันกับเทคนิคกรุงเทพฯ วรนันทน์ไม่รอช้าขอเข้าสมัครเป็นสมาชิก และเริ่มส่งผลงานเข้าร่วมกิจกรรมประกวดถ่ายภาพของสมาคมฯ เป็นประจำทุกเดือน แรกๆ มีแพ้บ้างชนะบ้าง นั่นคือเรื่องปกติ แต่พอนานไปๆ เริ่มชนะถี่ขึ้นๆ รางวัลจากทุกสมาคมถ่ายภาพในประเทศไทย วรนันทน์กวาดนิ่มๆ

“สมัยนั้นถ้ามีชื่อคนนี้ลงประกวดรายการไหน ให้รู้ไว้เลย อย่าส่งดีกว่า” หัวหน้าช่างภาพ mars พูดถึงวรนันทน์ในยุคที่ฟิล์มเฟื่องฟูว่าในวงการช่างภาพสายประกวดต่างรู้มือของเขาดี

พ.ศ.2527 วรนันทน์ถอยออกมาจากเวทีการประกวดในประเทศไทยเพื่อเด็กรุ่นใหม่ได้แจ้งเกิด พร้อมกระชับกล้องในมือถือเข้าสู่เวทีประกวดระดับโลก เอเชีย ยุโรป อเมริกา หนึ่งร้อยกว่าเวทีต่อปีที่วรนันทน์ส่งเข้าประกวด เพียงแค่ 3 ปีต่อมา---2530 ชื่อของเขาก็ติดอันดับท็อปเท็นของโลกในประเภทภาพท่องเที่ยว และติดต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน โดยสามารถคว้าอันดับที่ 1 มากถึง 17 ครั้ง กวาดรางวัลไป 1,000 กว่ารางวัลจากทั้งในและนอกประเทศ และสอบเกียรตินิยมด้านการถ่ายภาพได้กว่า 50 แห่งทั่วโลก


อะไรคือสิ่งที่ทำให้เขามาไกลถึงขนาดนี้ ความรู้คอร์สสั้นๆ ที่ได้รับจากการอบรม? วรนันทน์ส่ายหัว นั่นแค่พื้นฐาน แต่สิ่งสำคัญกว่านั้นคือ ขยัน ฝึกฝน อดทน และจดจำ

“เทคนิคต่างๆ เรียนรู้จากประสบการณ์เอาครับ คือถ่ายรูปทุกครั้งจะต้องบันทึกรายละเอียด เช่น ความเร็วชัตเตอร์ รูรับแสง สภาพแสง คราวหลังไปถ่ายจะได้แก้ไข และจะได้จำอยู่ในสมอง-ไม่ลืม

“การที่ได้เห็นภาพเยอะก็สำคัญ ถ้าคุณมองแต่ในประเทศ คุณจะไม่ได้เห็นว่าทั่วโลกเขาถ่ายแนวไหนหรือไปกันถึงไหนแล้ว ปีๆ หนึ่งผมได้แค็ตตาล็อกร้อยกว่าเล่ม” วรนันทน์หมายถึงหนังสือรวมภาพถ่ายที่ได้จากการสมัครส่งภาพเข้าประกวดในเวทีต่างๆ “ผมก็จะได้เห็นแนวทาง ไอเดีย มุมกล้อง แล้วนำมาดัดแปลงหรือมาแก้ไขเป็นมุมที่เราชอบ” แม้ส่งประกวดไม่ได้รางวัล แต่แค่ได้ดูภาพจากแค็ตตาล็อกก็คุ้มแล้ว วรนันทน์พูดไว้ตอนหนึ่งระหว่างสนทนา

จากประสบการณ์ท่องเที่ยวไปถ่ายรูปตามที่ต่างๆ โดยเฉพาะในประเทศไทยที่เขาบอกว่าน่าจะไปเหยียบมาแล้วทุกจังหวัด และฟิล์มเป็นหมื่นๆ ม้วนที่เคยถ่าย ทำให้วรนันทน์รู้จักเหลี่ยมมุมของแสงในแต่ละแห่งพอๆ กับนกรู้จักฟ้า

“แต่ละจุดเรารู้หมดว่าควรจะไปตอนไหน ต้องรู้บรรยากาศ รู้มุม คือลักษณะการถ่ายของผมจะเป็นแนวแสงธรรมชาติ ใช้แฟลชน้อยมาก ใช้ขาตั้งอย่างเดียว มันทำให้เราต้องเรียนรู้ว่าแสงจะมาจากด้านไหน และควรถ่ายอย่างไร”

ตลอดหลายสิบปีที่สายตามองผ่านเลนส์และนิ้วชี้ประทับที่ชัตเตอร์ วรนันทน์เห็นหลายสิ่งดีๆ ในบ้านเมืองเราที่ล้มหายตายจาก

“ลักษณะภูมิทัศน์บ้านเราเปลี่ยนไปเยอะ เพราะความเจริญผ่านเข้ามา อย่างเกาะพีพี สมัยก่อนขึ้นไปถ่ายบนภูเขา มองไปเห็นแต่ต้นมะพร้าว ตอนนี้มีบังกะโลเยอะไปหมด

“ตามวัดวาอารามก็เปลี่ยน บางวัดไปแล้วภาพวัดฝาผนังเก่าๆ เจอพวกผู้รับเหมาที่ทำแบบสุกเอาเผากินก็มีการทาทับไปเลย หรือไม่ก็มีปิดทองพระพุทธรูปใหม่ เจียใหม่ หน้าตาก็เปลี่ยน คือสิ่งที่คนโบราณเขาทำมาสุดยอดแล้วเราก็มาเปลี่ยนแปลง ผมรู้สึกว่าส่วนใหญ่คนไม่รู้ว่าทำไมต้องรักษาความเก่าบ้าง” น้ำเสียงของเขามีแววตัดพ้อ

ทุกอย่างล้วนเป็นอนิจจัง วรนันทน์ที่ปัจจุบันอายุ 57 เข้าใจดี เห็นได้จากการไม่ยึดติดกับการถ่ายฟิล์มในยุคที่มีการเปลี่ยนผ่านไปสู่ดิจิตอล “อะไรจะเปลี่ยนก็ต้องเปลี่ยน เราต้องเรียนรู้ตามให้ทัน” แต่ถึงอย่างนั้นก็เถอะ ถ้าเป็นเรื่องประวัติศาสตร์แล้ว เขาคิดว่าอย่างน้อยคนรุ่นลูกรุ่นหลานเราก็ควรจะได้เห็นบ้าง

“ผมคิดว่าผมจะเก็บประวัติศาสตร์ของบ้านเราไว้ คือสิ่งที่ค่อยๆ เลือนหายไปน่ะ อย่างเช่นสิ่งของเครื่องใช้ โบราณสถาน วิถีชีวิต อะไรต่างๆ เนี่ย เหมือนอย่างผมทำหนังสือพระพุทธรูปคู่บ้านคู่เมืองเล่มนี้” เขาหยิบหนังสือที่ภายในบรรจุภาพและข้อมูลประวัติศาสตร์ของพระพุทธรูปตามวัดต่างๆ ในประเทศไทยให้ดู

“ถ้าหากเราไม่เก็บบันทึกไว้ มันจะไม่มีโอกาสให้คนรุ่นต่อมาอีกห้าสิบปี อีกร้อยปี รู้ว่าตอนนั้นประวัติศาสตร์ชาติไทยมันเป็นยังไง...” วรนันทน์หยุดเว้นจังหวะ ก่อนจะส่งผ่านปณิธานที่เขายึดมั่นจะทำไปจนตราบสิ้นลมหายใจสู่ช่างภาพรุ่นต่อไป “อยากเชิญชวนให้นักถ่ายภาพ นอกจากเรามีความสุขที่ได้ถ่ายภาพ อยากจะให้ช่วยเก็บประวัติศาสตร์ชาติไทยไว้ไม่ให้เลือนหายไป”

คุณมองวงการช่างภาพในปัจจุบันอย่างไร? ---เชื่อว่าหลายคนคงอยากฟังคำตอบของคำถามนี้จากเขา

“ผมคิดว่าบ้านเราช่างภาพดีๆ เก่งๆ เยอะ แต่ไม่รู้วิธีนำเสนอในการโปรโมตตัวเอง หรือไม่ก็ไม่มีงบในการแสดงภาพ ขาดผู้สนับสนุน บางคนก็ต้องใช้ทุนตัวเอง ยิ่งไปขอแสดงภาพกับหน่วยงานราชการถ้าไม่มีเส้นสายนี่ยากมาก ทำให้ไม่มีโอกาสได้เผยแพร่งานดีๆ” วรนันทน์แนะนำว่าทุกปีหน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้องควรจะตั้งงบสนับสนุนศิลปิน ให้ศิลปินนำงานมาเสนอ โดยมีกรรมการคอยตัดสิน ถ้างานดี ก็จัดแสดงงานพร้อมทำสูจิบัตรและประชาสัมพันธ์ให้

อืม... ความคิดเข้าท่า ว่าแต่ตั้งแต่ได้เป็นศิลปินแห่งชาติ หน่วยงานรัฐเคยมาขอคำปรึกษาคุณบ้างไหม?
“ตอนยังไม่ได้ก็ไม่มีใครฟัง แต่พอเราได้เขาก็ไม่กล้ามาให้เราแนะนำ เพราะกลัวเราด่า” หลังคำตอบ วรนันทน์หัวเราะหึๆ

หมายเหตุ - ชมผลงานของศิลปินแห่งชาติท่านนี้ได้ที่ www.hobby555.com 


โดย: วชิรวิชญ์ กิติชาติพรพัฒน์ 
ภาพ: สุวิทย์ กิตติเธียร 
ที่มา: นิตยสาร Mars 

Views: 10205

Reply to This

Replies to This Discussion

ชื่นชม..จิงๆ..เพื่อนเคยอ่าน

ตอนนี้การเป็นไอดอลในใจผมไปแล้ว..

ปลื้มแทนคนไทยทั้งชาติ คนไทยเก่งจิงๆ..
อ. เก่งจิงๆ

อาจาารย์ชชวารเคยเชิญมาเป็นวิทยากร ชอบมาก!!
ชอบ มากคับ คนไทย เจ๋งที่สุด
สุดยอด เลยค่ะ ><"
เค้าวัดจากอะไร ถึงเป็นมือหนึ่งของโลก ครับ :)
หร๊อยยยยอย่างแรงส์..
ผมว่าอาจารย์เขามีความพยายามมากๆ ครับ แรกๆ ก็คงจะมีคนไม่ชอบ ไม่เข้าใจในงานของอาจารย์ แต่ท่านก็ยังที่จะทำและเดินตามฝันที่ตนเองชอบ ทำงานในแบบที่ตนเองถนัด จนวันนึ่งภาพที่อาจารย์ทำก็มีคนเข้าใจมากขึ้น มากขึ้น แล้วก็เป็นที่ยอมรับของคนอีกหลายๆคน ชื่นชมในตัวท่านมากครับ
nice portrait shot..
ผมเคยขึ้น ฮ.ถ่ายงานงานนึงกับพี่เค้าสองคน นอกจากเก่งแล้วยังนิสัยดีด้วยครับ.

RSS

© 2009-2024   PORTFOLIOS*NET by CreativeMOVE.   Powered by

Badges  |  Report an Issue  |  Terms of Service