เรื่อง : ต่อพงษ์
โดย ASTVผู้จัดการออนไลน์ 27 ธันวาคม 2552

หนึ่งในสิ่งที่ต้องยกย่องของเกาหลีก็คือ วิสัยทัศน์ของรัฐบาลเกาหลีในยุค 80 ที่มองว่าสินค้าทางวัฒนธรรมจะเป็นสินค้าที่ทำเงินมหาศาล
การสร้างภาพลักษณ์ฉาบหน้านั่นแหล่ะที่ทำให้พวกเขาประสบความสำเร็จอย่าง แท้จริง
การลงทุนสร้างคนบันเทิงขึ้นมาเอง ทั้งส่งคนไปเรียน ให้ทุนในการสร้างหนังชนิดที่เรียกว่า สร้างตั้งแต่หนังชิงรางวัลยันหนังติดเรต เพื่อให้เกิดบุคลากรที่มีประสิทธิภาพที่จะสร้างสินค้าทางวัฒนธรรมออกมาขาย สู้กับญี่ปุ่น ทั้งออกกฏหมายให้บริษัทยักษ์ที่อยู่ต่างประเทศต้องสนับสนุนหรือเอาคนของตัว เองเป็นพรีเซนเตอร์
จากประเทศที่ทีวีมีแต่ช่องทหารจีไอ บทเพลงเชยๆ หน้าตาคนก็โคตรเชย สินค้าก็ดูจะเชยสุดๆ (แต่ถ้าเป็นสินค้าก็อปปี้ก็โอเคนะครับ ดูดีมีเกรด) กลายมาเป็นแบบนี้ไปได้ ใครที่ทันยุคนั้นคงจำแบรนด์สินค้าไฟฟ้าเชยๆ อย่าง ลักกี้ โกลด์สตาร์ (ทีมที่ปิยะพงษ์ ผิวอ่อนเคยไปเตะให้ตอนโน้น) ซึ่งปัจจุบันกลายมาเป็น แอลจี ที่ดูดีดูน่าใช้ขึ้นมาในยุคนี้
ซึ่งเรื่องนี้ผมว่าญี่ปุ่นเองก็คงสะอึกและจำไว้เป็นบทเรียนอีกนาน เพราะ ในภาคธุรกิจเอกชนของญี่ปุ่นนั้นเข้มแข็งมาก แต่ในภาครัฐนั้นญี่ปุ่นก็ห่วยแตกสุดๆ เหมือนกัน การไม่เคยลงไปดูแลหรือวางยุทธศาสตร์แบบที่เกาหลีทำจึงเป็นช่องทางให้เกาหลี โผล่ออกมาจากเงาทะมึนของญี่ปุ่นได้ในที่สุด
แต่นั่นคือเรื่องภาพลักษณ์เท่านั้น แต่ถ้าคุณภาพในเรื่องของเพลงนั้น...เอาว่าดูโดยโครงสร้างจังหวะจะโคนนะครับ เพลงเกาหลีเหมือนเพลงจากยุค ‘อาร์เอสที่เป็นป็อปลูกกวาด’ หรือ ‘แกรมมี่รุ่งเรือง’ เลย จะมีข้อแตกต่างอยู่แค่สองอย่างคือ
1.เขาร้องหรือแร็พเป็นภาษาเกาหลี 2. เขาเค้นพลังเซ็กส์อันล้นปรี่ออกมาจนทะเล็ดทุกครั้งที่ขยับเอว
นั่งดูรายการ Ingikayo ทุกสัปดาห์ก็จะเห็นความพยายามตรงนี้ของพวกเขาและพวกเธอกันไม่ขาดสาย แต่ในเรื่องดนตรีต้องบอกว่าซ้ำซากมาก ซึ่งเหมาะมากสำหรับประเทศที่เสพเพลงด้วยสายตาไม่ใช่เสพเพลงด้วยหูครับ...
พูดก็พูดเถอะที่ดังๆ อยู่ตอนนี้นั้นภาคดนตรีของเกาหลีล้าหลังกว่าพี่ไทยอยู่ด้วยล่ะจ๊ะ!!
ไม่ต้องไปเทียบกับญี่ปุ่นที่มักจะมีของใหม่ๆ ออกมาอวดโลกในทุกๆ แนว คีทาโร่ในแนวนิวเอจ เซจิ โอซาว่า ในโลกของดนตรีคลาสสิก ซาดาโอะ วาตานาเบ้ เดอะ แสควร์และคาซิโอเปีย ในแนวฟิวชั่นแจ๊ซ ลิซ่า โอโนะ ในแนวโฟล์กบอสซา ขณะที่ร็อกญี่ปุ่นก็ไม่สนจะออกมาข้างนอก ผมเคยสัมภาษณ์ผู้จัดการของเกลย์และ X Japan เมื่อปี 2000 เขาบอกเลยว่า พวกเขาไม่สนโกอินเตอร์เพราะในประเทศมียอดขายที่ดีมากอยู่แล้ว ก็เหมือนระบบโทรศัพท์ของญี่ปุ่นที่ประหลาดผิดชาวบ้านเขานั่นแหล่ะ
ญี่ปุ่นยังเป็นที่มั่นสุดท้ายของวงเมตัลและเทพกีตาร์ร็อกของอเมริกาในยุคที่ พวกเขาพ่ายต่อดนตรีแนวอัลเทอร์เนทีฟในยุค 90 อีกด้วย ศิลปินอเมริกาจำนวนมาก อาทิ ยูทู มาไรห์ แครี่ เลดี้ กาก้า Flo Rida แบล็คอายพี โอเอซิส ฯลฯ ต้องพาเหรดขึ้นเวทีรายการ Music Station เพื่อโปรโมตเพลงและหวังยอดขายจากชาวญี่ปุ่น...เมื่อเป็นแบบนี้แล้วคงไม่ต้อง เทียบอีกว่าญี่ปุ่นหรือเกาหลีที่เจ๋งกว่ากันในเรื่องดนตรี
เรื่องตลกก็คือ วัยรุ่นบ้านเราตอนนี้ มักจะยกย่องเกาหลีและเหยียดหยามไทยด้วยกัน ทั้งๆ ที่ความจริงแล้วศิลปินเกาหลีที่หลายคนชื่นชอบนั้น 30 เปอร์เซนต์ของพวกเขาก็ต้องมีส่วนแบ่งให้ไทยอยู่ ยกตัวอย่างเช่นแกรมมี่ที่เป็นเจ้าของหุ้นของ SM ซึ่งมีทั้ง ดงบังชิกิ ซูเปอร์จูเนียร์ หรือ เกิร์ลเจเนเรชั่นอยู่ มีอยู่ตั้ง 30 เปอร์เซนต์นะครับ
หรือเวลาที่คุณมองหน้าซูเปอร์จูเนียร์แล้วบอกว่าพวกเขาน่ารัก...แล้วโอ้ปป้า พวกนั้นทำน่ารักตอบมา คุณรู้หรือไม่ว่าวัยรุ่นเกาหลีเหล่านี้ เคยมาดูและมาฝึกวิธีการเต้ยสาวๆ จากพี่เบิร์ดของเรานี่แหล่ะ
พูดถึงตรงนี้ใครก็ตามของแกรมมี่ที่ไปซื้อหุ้นของบริษัทเพลงเกาหลีเมื่อหลาย ปีก่อนหน้านี้ก็ต้องปรบมือให้เขานะครับ เพราะหมอนี่ทำให้สิ่งที่แกรมมี่ถึงจุดที่ไม่เคยถึงเสียที นั้นคือ การทำให้แฟนเพลงมีความจงรักภักดีต่อศิลปินของค่าย...แม้จะเป็นศิลปินเกาหลี และไม่ใช่ศิลปินไทยก็ตาม ผมเองไม่ได้ปลื้มกับแกรมมี่ แต่ถ้าพูดเรื่องจริงก็ต้องยกย่องเขาเหมือนกันว่าพวกเขาแน่มาก
ตรงนี้มันก็สะท้อนไปถึงศิลปินไทยเหมือนกันนะครับ มัวแต่ขี้เกียจไม่เอาจริงเอาจังไม่รักดี ระวังเกาหลีมายึดแผงหมดนา (เพราะข้อแตกต่างของศิลปินไทยกับเกาหลีก็คือความเหยาะแหยะและระเบียบการซ้อม พวกเกาหลีนี่บ้าพลัง ซ้อมไม่ดีโดนตบกระบาล นั่นทำให้พวกเขาเต้นเก่งสุดๆ) ที่สำคัญค่ายเขาไม่สนหรอกว่าจะต้องขายแต่ศิลปินไทย เขาทุ่มซื้อเกาหลีแล้วมาขายไทยอีกทีก็ได้...แถมได้เงินมากกว่าด้วย
มันมีคำถามว่า ถ้าเผื่อเซ็กส์จากแดนกิมจิอันล้นปรี่จากสาวๆ และหนุ่มๆ เหล่านี้ทำให้คนดูเกิดอาการชาชินแล้ว เฉพาะภาคดนตรีที่เหลือจะทำให้เราเกิดความตื่นเต้นต่อได้หรือไม่?
ผมมั่นใจว่าไม่ได้แน่ เพราะในความเป็นจริงภาคดนตรีของวงเหล่านี้นั้นเชยมากนะครับ อารมณ์อยากจะหวนอดีตมันก็คงมีบ้าง แต่ระยะยาวคงไม่ใช่ แต่ระยะนี้ต้องยกให้เขาไป เพราะ เกาหลีบุกทุกสื่อพร้อมๆ กัน ทั้งละคร ทั้งสินค้า การโฆษณา มิวสิควิดิโอ ความสำเร็จก็บังเกิดขึ้น
ที่สำเร็จที่สุดก็คือ การทำให้กลุ่มเป้าหมายของเขานั้นเชื่อว่า สินค้าจากเกาหลีคือสิ่งที่ดีที่สุด...ก่อให้เกิดความจงรักภักดีจนได้...แต่ ความภักดีเหล่านั้นต้องย้ำนะครับว่า ไม่ได้เกิดจากตัวดนตรีหรือเพลงแน่นอน นั่นทำให้พวกเขาเป็นตัวปลอมในเส้นทางนี้ แต่เป็นตัวจริงในการสร้างภาพลักษณ์อย่างที่สุด
พูดง่ายๆเรื่องเพลงอาจจะอยู่ไม่ยาว แต่เรื่องทำมาหากินในรูปแบบอื่นๆยาวแน่ๆ
เพราะพวกเขามีต้นทุนที่ดีที่สุดคือ การทำให้แฟนๆ มีความจงรักภักดีอย่างที่สุด และจะนำมาสู่การทำมาหากินทุกรูปแบบไม่ใช่เฉพาะขายเพลงอย่างเดียว...แต่ขาย โชว์ ขายการจับมือ ขายมีทแอนด์กรี๊ด ซึ่งเป็นรูปแบบใหม่มากๆ ของการทำมาหากิน(เมื่อก่อน Meet And Greet จะฟรีหรือถูกคัดเลือกจากค่ายโดยไม่ต้องจ่าย)...หรือรูปแบบของการทำเพลงหนึ่ง เพลงแล้วผลัดกันร้องกันทั้งค่ายเดี๋ยวชายหมู่ร้อง เดี๋ยวหญิงหมู่ร้อง นั่นก็เป็นรูปแบบใหม่ที่ไม่เคยเจอมาก่อน
ที่สำคัญต่อให้ทั้งหญิงทั้งชายคนละวงเต้นท่าเดียวกัน คนที่จงรักก็กรี๊ดให้อยู่ดีเสียด้วยสิ
ทำไงได้ละครับก็คนมันรักไปแล้วนี่นา!!
Tags:
-
▶ Reply to This