บทสัมภาษณ์ล่าสุด "ที่รัก" หนังชิงรางวัลเทศกาลหนังรอตเตอร์ดาม 2011

 

หลังการเดินทางอันยาวไกล วันนี้ “ที่รัก” กำลังอยู่ในสายประกวด Tiger Awards Competition ของ International Film Festival Rotterdam 2011 โดยต้องแข่งขันกับหนังอีก 13 เรื่องในสายเดียวกัน และจะ ยังคงเดินหน้าต่อไปสู่ Deauville Asian Film Festival ที่ฝรั่งเศสในเดือนมีนาคม ตามมาติดๆ ด้วยการฉายโชว์ที่ Hong Kong International Film Festival ผมได้แต่หวังว่าพวกเขาจะกลับบ้านมาพร้อมกับข่าวดี
 
สำหรับผม “ที่รัก” นับเป็นก้าวแรกที่น่าสนใจบนเส้นทางที่กานต์บอกว่ามันเหนื่อย มันไม่สวยนัก แต่เขามีความสุขที่ได้เดินบนทางนี้ และคงต้องติดตามให้กำลังใจกันต่อไปสำหรับ “อรุณกาล” ก้าวที่สองแห่งแรงบันดาลอันเรียบง่ายจริงใจของผู้ชายชื่อ ศิวโรจน์ คงสกุล

 


 

ETERNITY: แด่พ่อแม่ที่รัก

จากงานผู้ช่วยช่างภาพในบริษัทโฆษณาที่ทำให้เขาได้จับกล้องวีดีโอเป็นครั้งแรก ก่อเกิดเป็นแรงบันดาลใจให้ได้เริ่มทำหนังสั้น และเดินอยู่บนเส้นทางนี้เรื่อยมา แม้จะมีบางช่วงเวลาที่ความมั่นคงในชีวิตเรียกร้องให้เขาออกไปแสวงหาประสบการณ์ใหม่ๆ กับหน้าที่ผู้ช่วยผู้กำกับของ Film Factory โปรดักชั่นเฮาส์โฆษณาชื่อดัง แต่ที่สุดแล้วเขาก็เลือกกลับมายังเส้นทางเดิมของเขา ด้วยเหตุผลง่ายๆว่า “มีความสุขมากกว่ากับมิตรภาพของเพื่อนๆ พี่น้องในวงการหนังอิสระ กับการโยนของใส่ท้ายรถกระบะแล้วออกไปถ่ายหนังเล่นกัน” สุดท้ายเขาก็เชื่อในสัญชาตญาณของตัวเอง หลังจากนั้นศิวโรจน์หรือที่เพื่อนๆเรียกกันว่า กานต์ ค่อยๆเก็บสั่งสมประสบการณ์จากการกำกับหนังสั้นของตัวเอง เป็นผู้ช่วยผู้กำกับให้กับหนังสั้นและหนังอิสระอีกมากมาย จนชื่อเสียงของเขาเริ่มเป็นที่รู้จักในวงกว้างจากเครดิตผู้กำกับหนังสั้นมือรางวัลจาก “เหมือนเคย” และ “เสียงเงียบ” แล้วโอกาสที่รอคอยก็มาถึง

เมื่อคิดย้อนกลับไป หากในวันนั้นกานต์ไม่เชื่อในการตัดสินใจของตน หากเขาเลือกที่จะดำเนินชีวิตบนเส้นทางอันมั่นคงต่อไป ในวันนี้เราอาจได้ผู้กำกับโฆษณามือดีเพิ่มขึ้นมาอีกหนึ่งคน แต่เราคงต้องเสียดายที่ไม่มีโอกาสได้เห็น “ที่รัก” ถือกำเนิดขึ้นในโลกของหนังไทย
 
วันนี้ในวัยสามสิบเอ็ดปีของกานต์ เขาได้ปล่อย “ที่รัก” หนังยาวเรื่องแรกที่เฝ้าทะนุถนอมมาเป็นเวลานานออกมาให้ผู้ชมได้พิสูจน์ฝีมือของเขา ด้วยแรงบันดาลใจอันเรียบง่ายใกล้ตัว เขาเลือกที่จะถ่ายทอดความรักของพ่อและแม่ของตนลงบนแผ่นฟิล์ม  “ที่รัก” เป็นหนังซึ่งโดดเด่นด้วยเอกลักษณ์เฉพาะตัว มันเป็นเรื่องเล่าที่ไร้กาลเวลา มันกล้าหาญด้วยท่าทีอันซื่อตรงจริงใจ บางคนถึงกับกล่าวชื่นชมว่ามันเป็นหนังที่จริงใจที่สุดเท่าที่เคยดูมา และเมื่อมันมีโอกาสได้ผ่านสายตาของสองปรมาจารย์โหวเสี่ยวเซี่ยน และอับบาส เคียรอสตามี่ในเทศกาลหนังปูซาน ทั้งสองก็เอ่ยปากว่าชอบหนังของเขา หากกล่าวโดยรวบรัด ผมคิดว่า “ที่รัก” คึอจดหมายถึงพ่อและแม่ บันทึกด้วยลายมือของลูกชายคนหนึ่ง ด้วยความคิดถึงและความรัก
 

 
“ที่รัก” เริ่มต้นขึ้นเมื่อไหร่
ศิวโรจน์ : ตั้งแต่เริ่มทำหนังสั้น ก็อยากทำที่รักเลย คิดมานานมากแล้ว เกือบสิบปี ได้คุยกับพี่ๆเพื่อนๆมาเรื่อยๆ มันเหมือนพรีโพรไปในตัวโดยไม่ตั้งใจ พอถึงจุดนึงที่พี่ทองดีเดินมาสะกิดว่าทำเองได้แล้ว คือเค้าเชื่อว่าจะนำกองถ่ายไปได้แล้วไม่ล่ม ก็เริ่มเขียนบท เริ่มจาก “ที่รัก” นี่แหละ แต่พี่ๆบอกว่ามันดูเป็นส่วนตัวไป เลยลองเปลี่ยน ลองเขียนเรื่องอื่นดู มันก็ล่มไปเรื่องสองเรื่อง ค่อนข้างดูไม่มีใจจะเขียน(หัวเราะ) เลยกลับมาที่ “ที่รัก” ผมบอกเค้าว่า ถ้าจะให้ผมทำแล้ว ผมพร้อมจะทำอันนี้ที่สุด ถ้าเป็นอันอื่นผมอาจจะไม่เชื่อมัน คืออาจจะเอาตัวรอดไปได้เวลาลงสนามมันเป็นเรื่องของเทคนิค แต่ถ้าจะเอาใจ ให้ผมเชื่อกับมันทั้งเรื่องก็ต้องเรื่องนี้
 
โชคดีที่เค้าเชื่อ เลยได้ทำ พอส่งขอทุนแล้วมันเป็นความโชคดี หลายๆ ครั้ง ตอนแรกเราได้ทุนดิจิตอลโปรดักชั่นจากฮูเบิร์ตบาลส์ของร็อตเตอร์ดามมา ได้มาเกือบล้าน ผมว่า
มันเยอะ ผมถ่ายได้แน่นอน คือเราเริ่มมาตั้งแต่หนังสั้น ทุนเป็นหลักพัน พอได้ทุนมาก็ดีใจมาก อะไรที่มาย้ำว่าเราจะได้ทำ ทุกขั้นตอนมันมีความสุขมาก นอกจากในแง่ความเป็นจริงที่ว่าเราสามารถทำได้แล้ว มันเป็นกำลังใจให้เราด้วย
 
“ที่รัก” ได้ทุนจากปูซาน กับไทยเข้มแข็งด้วย
สองอันนี้ได้หลังจากถ่ายทำเสร็จแล้ว
 
ต้องเตรียมอะไรไปบ้างในการขอทุนแต่ละที่  แต่ละทุนยากง่ายต่างกันมั้ย
ของฮูเบิร์ตบาลส์ส่งเป็นสคริปต์กับไดเร็คเตอร์เสตทเม้นต์ไป แล้วก็มีคีย์วิชวล ผมพาแม่ไปเดินเล่นที่ลพบุรีแล้วถ่ายเป็นวีดีโอไม่กี่นาทีส่งประกอบไป ของปูซานต้องตัดหนังเกือบสมบูรณ์เป็นฉบับตัดต่อคร่าว ๆ ส่งไป แล้วเค้าถึงจะเลือกว่าอยากให้เรื่องไหนเป็นฟิล์ม ส่วนของไทยเข้มแข็งนี่หลุดรอบแรก ไปได้รอบสองส่งไปในนามของป็อปพิคเจอร์ส
           
ถ้ามองผลลัพธ์แล้วมันเหมือนง่ายนะ จริงๆ มันโชคดีมากกว่ากับ “ที่รัก” ที่มันขอได้ แต่ในโลกของหนังนอกกระแสมันไม่ง่ายขนาดนั้นหรอก มันเป็นครั้งต่อครั้งจริงๆ ไม่ได้มีอะไรมาล็อคไว้ให้ว่าเราจะมีทุนมาให้ถ่ายหนังได้ตลอด เพราะคนส่งเยอะมาก แล้วมันก็ต้องมีวันที่เราไม่ได้ มันต้องมีแน่ๆ อย่างปูซานที่ขอนี่มันก็สำหรับคนทำหนังเรื่องแรกเรื่องที่สอง ถ้าเกินกว่านั้นเค้าก็ไม่ให้
 
กานต์ ศิวโรจณ์
กานต์ - ศิวโรจน์ คงสกุล
 
ถ้าอย่างนั้นได้เตรียมอะไรไว้สำหรับอนาคต  เรื่องที่สามที่สี่รึเปล่า
เรื่องที่สองเตรียมไว้บ้าง โชคดีที่ผมมีโปรดิวเซอร์เก่ง แต่เรื่องที่สามที่สี่นี่ยังมองยากๆ อยู่ ยังเป็นอาการลุ้นไปเรื่อยๆ อยู่
 
ทำไมถึงเลือก “ที่รัก” เป็นเรื่องแรก  มันมีเหตุผลมั้ย
ตรงๆ ก็คือ ผมไม่ได้คอนเน็กต์กับพ่อมากนัก พ่อเสียตอนม.2 ผมยังไม่ใช่ผู้ใหญ่ ความทรงจำมันคือ เค้าดูแลเราแบบพ่อที่ดูแลลูก แต่ไม่ใช่พูดคุยกันแบบผู้ใหญ่ระหว่างพ่อกับลูกชาย หรือโอบกอดกัน (หัวเราะ) มันไม่ได้ทำ อย่างที่เค้าว่าเป็นลูกชายต้องบวชเรียนทดแทนให้เค้าเห็นว่าเราเป็นผู้ใหญ่  ก็ลองดูว่าภาพยนตร์มันจะสื่อสารอะไรกันกลับไปได้มั้ย จะเรียกว่าตอบแทนบุญคุณก็ได้ ถ้าพูดง่ายๆ ไม่รู้ว่าจะได้ผลมั้ยแต่อยากทำ  มันคือหัวใจเลยแหละ
           
อย่างตอนผมทำ “มื้อค่ำ” (หนังสั้น) ก็เป็นเรื่องของแม่นั่งกินข้าวคุยกับลูก ผมชอบอะไรอย่างนี้ ชอบเรื่องใกล้ตัว เรื่อง “ที่รัก” ก็รวมเข้าไปหมดเลย เราได้เห็นเค้าตั้งแต่วัยสาว เห็นความรักของพ่อแม่  เราได้ทำบางอย่างกลับไปให้พ่อ แล้วในใจเราเองมันก็ได้คลี่คลายบางอย่าง ไม่รู้เรียกว่าอะไรเหมือนกัน
 
ทราบมาว่าสคริปต์ “ที่รัก” เริ่มมาจากเรื่องย่อที่คุณแม่เขียน
คือพออยากจะเขียนก็ให้แม่นำทาง  แม่ก็เขียนมาเป็นช็อตโน้ตว่าแกไปไหน ไปทำอะไรกับพ่อมาบ้าง เหมือนเป็นรีเสิร์ชมากกว่า
 
ช็อตโน้ตของคุณแม่ต่างจากสคริปต์จริงมากมั้ย
แกนยังอยู่  แต่มันมีผมเข้าไปแชร์ด้วย มันไม่ได้จริงทั้งหมดหรอก เป็นการแชร์กันของอดีตกับปัจจุบัน หนังมันจะไม่มียุค เป็นความสวยงามของอดีต ของเรื่องเล่ามากกว่า
 
ทำไมถึงเลือกเพลง “ที่รัก” (ชรินทร์ นันทนาคร) มาเป็นชื่อเรื่อง
เป็นเพลงที่พ่อชอบ  พ่อผมก็ฟังเพลงยุคนั้นแหละ แกชอบหลายคน แต่ชรินทร์นี่เป็นเพลงที่แกเปิดบ่อยสุดแล้ว เวลาเปิดทีก็จะเปิดดังๆ เผื่อเพื่อนบ้านไปสองสามบ้าน(หัวเราะ)
 
ทีมนักแสดงเล่นกันดูเป็นธรรมชาติมาก เลือกมายังไง
เราต้องเชื่อว่าเค้าเป็นตัวละครได้ก่อน อย่างอุ้ม (วัลลภ รุ่งกำจัด อาร์ตไดเร็กเตอร์/รับบทวิทย์-พ่อในวัยหนุ่ม) นี่เป็นเพื่อนกัน ผมก็รู้สึกว่ามันมีส่วนคล้ายพ่อของผม มีคนให้เลือกเยอะนะ แต่สุดท้ายก็เลือกอุ้ม น้ำฝน(น้ำฝน อุดมเลิศลักษณ์ รับบท ก้อย-แม่ในวัยสาว) จะตามมาทีหลัง ผมเลือกอุ้มยืนไว้ก่อน แล้วใครที่มีเคมีเข้ากันกับอุ้มได้ดีผมก็เลือกคนนั้น อย่างตัวแม่ในวัยกลางคนนี่เป็นภรรยาของคุณคงเดช  ผมเลือกพี่มด (พัสตราภรณ์ จาตุรันต์รัศมี) จากลุค ผมว่าแกดูสวยเศร้าๆ มีความคล้ายแม่อยู่ แล้วเค้ามีลูกน่าจะเข้าใจบทได้ดี ส่วนพ่อที่เป็นวิญญาณ (ประภาส อำนวย) ก็เป็นพ่อของน้องทีมงาน เจอกันมานานตั้งแต่ทำหนังสั้นที่เชียงใหม่ รู้สึกว่าบุคลิกแกเหมาะที่จะเอามาเล่นหนัง ก็คิดๆ ไว้จนมาลงตัวที่เรื่องนี้ คือถ้ามองย้อนกลับไป มันเหมือนผมมีจิ๊กซอว์ต่างๆที่ทำไว้รอประกอบอยู่นานแล้ว เพียงแต่ทำไปโดยไม่รู้ตัวน่ะ
 
มีสองตัวละครที่ผมชอบเป็นพิเศษ คือตัวคุณกานต์ในวัยรุ่น กับป้าขี้เมา ช่วยเล่าให้ฟังบ้าง
ตัวผมในวัยรุ่นมาจากการแคส คือเด็กๆ ผมไม่ค่อยเรียบร้อยมาก น้องยุ่น (นาราภัทร ปทุมาภา) ก็ใกล้นะ  แล้วเค้าดูมีเสน่ห์เวลาอยู่บนจอ  ส่วนป้าขี้เมานั่นไม่ได้แคส คือผมมั่นใจว่าคาแร็กเตอร์แบบนี้มีอยู่จริง ผมก็บอกทีมงานว่าไม่ต้องแคส  เดี๋ยวเราไปหาเอาในพื้นที่ โชคดีที่เจอ ป้าไร (อุไร เครือแก้ว รับบทอาแหวน) แกเป็นแม่ค้าขายข้าวอยู่หน้าโรงแรมที่ผมพัก พอไปชวนแกๆ ก็งงว่าแกจะเล่นได้เหรอ แต่แกก็มาเล่นให้ แล้วเล่นดีด้วย บางเรื่องที่แกเล่าในหนังนั่นเป็นเรื่องจริงนะ
 
ยากมั้ยกับการกำกับนักแสดงใหม่
มันมีบทเป็นทางอยู่แล้ว ผมว่าเค้าเข้าใจ ปล่อยให้เค้าเล่นไปตามธรรมชาติจะได้ผ่อนคลาย ผมไม่ได้ลงไปขยี้ว่าใครทำอะไรผิดหรือกำกับอะไรมากนัก อาจจะมีก็เป็นพวกรายละเอียดเล็กๆ น้อยๆ ที่ผมอยากได้ เป็นการคุยกันมากกว่าว่าผมคิดยังไงเชื่อยังไง ไม่ใช่ทฤษฎีการกำกับอะไร ทำเป็นภาพๆ ไปแล้วก็เชื่อกับมัน ผมชอบความง่าย ดูธรรมดา บางทีมันเหมือนเป็นสัญชาตญาณมากกว่า
 
กานต์ดูจะผูกพันกับลพบุรีมาก เล่าเกี่ยวกับโลเคชั่นบางลี่ ท่าวุ้งให้ฟังบ้าง
ผมเกิดกรุงเทพ แต่ใช้ชีวิตครึ่งๆ สลับกันระหว่างกรุงเทพกับลพบุรี พ่อผมเป็นคนที่นั่น พ่อชอบกลับบ้านเหมือนในหนังนั่นแหละ พอกลับทีก็เอาผมไปไว้กับปู่ย่าทีละนานๆ เลยผูกพันกับที่นั่น ผมไม่ได้ชอบกรุงเทพมากนัก ชอบลพบุรีมากกว่า พ่อมีที่อยู่ที่นั่น คือที่ๆ เห็นในหนังที่วิทย์พาก้อยไปดูนั่นแหละ
 
ได้ไปฉายให้ชาวบ้านที่ลพบุรีดูรึยัง
ยังเลยครับแต่อยากไปมาก คุยกัยทางป็อปไว้แล้วว่าจะไปฉายกางแปลงกัน อยากไปมากกว่าเทศกาลอีก เทศกาลมันเป็นเส้นทาง แต่กางแปลงกับกิจกรรมที่นั่นน่าจะเยี่ยมเลย ได้ฉายในที่จริงอีกที ด้านหลังเป็นทุ่งนา
 
คุณแม่ดูแล้วใช่มั้ย ท่านชอบมั้ย
ดูแล้ว แกก็เขินๆ  มันมีเลิฟซีนด้วย แกก็ถามว่าต้องมีขนาดนี้เลยเหรอ คือไม่ได้ถึงขนาดจับเข่าคุยกันหรอก (หัวเราะเขิน) แต่คิดว่าแกก็คงปลื้มแหละ ว่าเรื่องแบบนี้มันมาเป็นหนังยาวได้จริงๆ ได้ฉายในโรง ไม่ใช่ผมเอาดีวีดีหนังสั้นมาเปิดให้แกดู
 
 
แล้วตัวกานต์เองพอใจกับ “ที่รัก” มั้ย
พอใจครับ ผมชอบมากเลยครับ คือเขียนบทมันไม่ได้เห็นเป็นภาพ ตอนนี้ผมสบายใจกับหนังเรื่องนี้มากครับ มันเป็นกำลังใจกลับมา
 
เกือบสิบปีกว่าจะได้ทำนี่ ไม่ท้อบ้างเหรอ
ผมไม่ได้หวังอะไรเยอะๆ อยู่แล้ว เราก็ใช้ชีวิตไป ตอนไม่ได้ทำผมก็ไปช่วยคนโน้นคนนี้ มันก็มีหนังไทยเกิดขึ้นอีกเหมือนกัน แต่หวังอยู่ลึกๆ นะว่าจะมีจังหวะของเรา ถึงบอกว่าโชคดีไงที่ได้ทำมันจริงๆ
 
ทำหนังนี่สนุกมั้ย
สนุกครับ หน้ากองสนุกดี แต่ก็มีความเหนื่อย มีการแก้ปัญหา มันไม่ได้ง่ายนักที่จะเรียกมันเป็นอาชีพร้อยเปอร์เซ็นต์ รู้สึกว่าเส้นทางนี้มันมีความโดดเดี่ยวของมันอยู่ ต้องลุ้นฝ่าฟันกันไป ไม่ได้ง่ายมากไม่ได้สวยมาก
 
กานต์ชอบผู้กำกับคนไหนบ้าง
ชอบอับบาส (เคียรอสตามี่) ชอบจางอี้โหมว แต่ผมดูหนังไม่เยอะมากหรอก ดูพื้นๆ ทั่วๆไปที่มันหาได้  ไม่ได้ล้วงดูหนังหาดูยาก
 
ได้ข่าวว่าตอนไปปูซาน อับบาส กับ โหวเสี่ยวเซี่ยน ชอบหนังของกานต์
ผมไม่ได้คุยหรอก เค้าคุยกับพี่จุ๊ก (อาทิตย์ อัสสรัตน์) เห็นแกว่าเค้าชอบกันนะ
 
ดีใจมั้ย
ดีใจสิครับ จริงๆ แค่ได้เจอก็ดีใจแล้ว สองคนนั้นเค้าระดับไหนแล้ว ของผมแค่เข้าไปขอถ่ายรูปเหมือนเป็นแฟนคลับ เป็นเด็กมองผู้ใหญ่มากกว่า
 
แล้วผู้กำกับไทยล่ะ ชอบใครบ้าง
พี่เจ้ย (อภิชาติพงศ์ วีระเศรษฐกุล) นี่ชอบแน่ๆ พี่จุ๊กด้วย ถ้ารุ่นเก่าหน่อยก็คุณเชิด ทรงศรี บางทีเราติดตากับภาพหนังไทยเก่าๆ มันเป็นภาพที่จำได้มากกว่าหนังไทยยุคนี้ด้วยซ้ำ
 
กานต์คิดยังไงกับหนังไทยยุคนี้
ผมว่ามันหลากหลายดีนะ แต่ต้องลดจำนวนการตีหัวเข้าบ้านลง ทำแบบเชื่อในสิ่งที่ทำ ทำด้วยความชอบจริงๆ ใส่ใจกับมันเพิ่มเข้าไปอีกหน่อย เหมือนยุคเก่ามันจะมีหนังที่ดูตั้งใจกับมันจริงๆ เยอะกว่า ไม่รู้เพราะอะไร ทุกวันนี้ดูหนังเรื่องนึงร้อยสี่สิบ ร้อยแปดสิบบาท มันควรถามตัวเองด้วยว่าคนดูเค้าได้อะไรกลับไป เหมือนดูลายผ้าหรือภาพเขียนแล้วเราเห็นรายละเอียดความใส่ใจตอนทำ แล้วเราก็กลับบ้านมายิ้ม น่าจะต้องเสริมตรงนั้น สู้กับมันนิดนึงเพื่อไม่ให้มันออกมาดูลวกๆ ถ้ามีตรงนั้นผมว่าภาพรวมมันคงดีขึ้นทั้งหมดเลย ในความหลากหลายที่มีอยู่เนี่ย
 
เห็นพูดถึงเรื่องได้อะไร ตัวกานต์เองคิดว่าคนดูจะได้อะไรจาก “ที่รัก”
ตอบแทนคนดูยากนะ แต่รู้สึกว่าเค้าน่าจะสัมผัสได้...เห็นอะไรข้างในว่าพวกเราทำอะไรกับตัวหนัง ไม่รู้เรียกว่าความซื่อสัตย์รึเปล่า
 
แล้วการทำ “ที่รัก” ให้อะไรกับกานต์บ้าง
(คิดนาน) ได้เยอะมากนะ ส่วนตัวแล้วมันมีความสุขใจอยู่ข้างในมากๆ เลย พูดออกมาไม่ถูกเลย ฉายในไทยก็สุขใจที่มีคนมานั่งดูกับเรา (หนังเปิดตัวในไทยไปแล้วที่เวิลด์ฟิล์มเฟสติวัล แต่ยังไม่มีกำหนดฉายรอบปกติ) ในส่วนของพ่อแม่ซึ่งผมไม่ค่อยได้ทำอะไรให้เค้า ก็ได้รู้สึกว่าเราได้ทำอะไรกลับไปให้เค้าสักครั้งหนึ่ง อีกเรื่องคือได้ประสบการณ์ มันบอกผมว่าบางครั้งสัญชาตญาณก็เป็นสิ่งดี ไม่จำเป็นต้องเอาทฤษฎีการตลาดอะไรมาจับมันก็ได้ มันกลับมาสอนผมเหมือนเป็นตำราเล่มหนึ่ง ว่าเฮ้ย! มันมีตำราเล่มนี้อีกเล่มอยู่นะนอกจากเล่มอื่นๆ ที่เราเคยอ่าน
 
ต่อจาก “ที่รัก” จะทำเรื่องอะไร
เป็นเรื่องเกี่ยวกับทหารสองคน เล่าเรื่องความเข้มแข็งของคนในอาชีพนี้ คนนึงคือคุณตาผม แกปลดเกษียณมาใช้ชีวิตในความสงบ ทำสวนส้ม เลี้ยงเป็ด อีกคนเป็นคุณพ่อแฟนผมที่เพิ่งเสียไปตอนถ่ายทำไฮโซ ท่านผูกคอตายในกรมทหาร แต่มันไม่ใช่หนังการเมืองนะ เป็นหนังชีวิตนี่แหละ ชื่อ “อรุณกาล” เป็นชื่อสวนส้มของตาผมที่แกทำจนบั้นปลายชีวิต
 
อยากฝากอะไรถึงคนดู “ที่รัก” มั้ย
ก็อยากให้ดูกันครับ มันสวยแบบซื่อๆ ตามธรรมชาติของมัน เหมือนไปพักผ่อนกันแป๊บนึงน่ะครับ
 

  
ETERNITY: คู่รักใน “ที่รัก”
 
น้ำฝน อุดมเลิศลักษณ์ (น้ำฝน)
 
วัลลภ รุ่งกำจัด (อุ้ม)
 
ทั้งคู่ไม่เคยแสดงภาพยนตร์มาก่อน ไม่เคยผ่านชั้นเรียนการแสดงใดๆ ครั้งแรกกับการรับบทพระนางใน “ที่รัก” จึงเป็นเรื่องหนักพอควรสำหรับ น้ำฝน และ อุ้ม แต่ทั้งสองคนก็ทำหน้าที่ของตนได้อย่างน่าพอใจ ผมมีโอกาสได้พูดคุยสั้นๆ กับทั้งคู่ ซึ่งดูจะยังเขินๆ กับบทบาทใหม่ของตัวเองอยู่ น้ำฝนเป็นสาวกรุงเทพ เพิ่งเรียนจบจากคณะจิตรกรรม มหาวิทยาลัยศิลปากร ปัจจุบันทำงานเป็นกราฟิกดีไซเนอร์ การมารับบทก้อยใน “ที่รัก” นั้นจะเรียกว่าโชคบันดาลหรือเพื่อนบันดาลก็เรียกได้ เพราะเพื่อนเธอส่งรูปของเธอไปให้ทีมงานป็อป พิคเจอร์สโดยมิได้บอกกล่าว ผลคือเธอได้รับการคัดเลือก บทนางเอกจำเป็นของน้ำฝนจึงเริ่มต้นขึ้นโดยมิทันได้ตั้งตัว ส่วน อุ้ม นั้นต่างออกไป อุ้มเป็นหนึ่งในทีมงานป็อปพิคเจอร์ส เป็นเพื่อนของกานต์ สองสหายคุยกันเรื่องนี้มาตั้งแต่หนังยังไม่เป็นรูปร่างจนเข้าใจในบทในทางของหนังเป็นอย่างดี อุ้มเป็นชาวกรุงเทพแต่ไปเติบโตที่นครนายกและย้ายกลับกรุงเทพในช่วงมัธยมต้น ด้วยความเป็นลูกผสมระหว่างลูกกรุงกับลูกทุ่งคล้ายกับตัวละครวิทย์นี่เองที่ทำให้อุ้มเป็นมือวางในบทนี้มานานแล้ว นอกจากบทพระเอกแล้วเขายังทำหน้าที่อาร์ตไดเร็กเตอร์ให้กับ “ที่รัก” อีกด้วย
           
ช่วยเล่าเกี่ยวกับก้อย-วิทย์ให้ฟังหน่อย
น้ำฝน   : ก้อยจะเป็นหมวยกรุงเทพ เงียบ นิ่ง พูดน้อย ไม่แสดงออกมากนัก เพิ่งไปเที่ยวบ้านแฟนครั้งแรกก็จะดูแปลกแยกหน่อย
อุ้ม       : ตัววิทย์นี่จะผ่านการเล่ามาจากกานต์กับแม่ของกานต์ เพราะพ่อกานต์ท่านเสียนานแล้ว มันเลยเหมือนการร่วมกันสร้างคาแร็กเตอร์ขึ้นใหม่มากกว่า ผมมองว่าวิทย์เป็นคนแสดงออกไม่ตรงกับข้างใน เพราะในบางครั้ง เหมือนบางทีเค้าอาจรู้สึกอะไรข้างในแต่แสดงออกมาเป็นตลกกลบเกลื่อนไป จะยังมีความขี้เล่นอยู่ตามประสาเด็กหนุ่มต่างจังหวัด
  
ยากมั้ยกับครั้งแรก
น้ำฝน   : ยากค่ะ โดยเฉพาะลองเทค เราไม่มีพื้นฐานมาก่อนด้วย บางทียังสงสารผู้กำกับเลย ยังข้องใจอยู่ว่าทำไมเค้าเลือกเรามา (หัวเราะ)
อุ้ม       : การแสดงมันเป็นเรื่องยากมาก โชคดีที่กานต์เปิดโอกาสให้ลองเล่นดูก่อน ถ้าอันไหนตรงกับเค้าๆ ก็เอา อันไหนเยอะน้อยเค้าก็บอก
 
แล้วสนุกมั้ย
น้ำฝน   : ก็เป็นประสบการณ์ที่ดีคะ
อุ้ม       : การแสดงมันเป็นศิลปะอย่างนึง แต่เราเพิ่งเจอครั้งแรกก็ยังไม่ค่อยลงตัว เคยอยู่แต่ในฐานะคนดู เคยแต่วิจารณ์คนอื่น พอมาแสดงเองก็ยังหาไม่ค่อยเจอนะ ดีที่อันนี้บทมันใกล้ตัวเองด้วยก็เลยสนุก ถ้าไม่ใช่คงยากกว่านี้
น้ำฝน   : พี่อุ้มเค้าจะรู้เยอะกว่า ปกติจะให้พี่อุ้มเป็นตัวนำอารมณ์ตลอด
 
เห็นตัวเองในหนังแล้วรู้สึกยังไง
น้ำฝน   : ไม่ค่อยชอบตัวเองในหนัง รู้สึกว่ายังทำได้ไม่ดี ปกติฝนจะเป็นคนนิ่งมาก โดนบอกเกือบทุกฉากให้ยิ้ม ถ้ากลับไปได้อยากแก้ทุกฉากเลยค่ะ
อุ้ม       : ไม่ชอบเหมือนกันครับ ไม่ชอบเห็นตัวเองบนจอใหญ่ๆ ไม่ชอบเสียงกับการแสดงของตัวเองด้วย
 
แบบนี้ถ้ามีโอกาสจะเล่นอีกมั้ย
น้ำฝน   : คงไม่มีโอกาสแล้วล่ะค่ะ (หัวเราะ)
อุ้ม       : ก็ถ้ายังมีโอกาสแล้วบทน่าสนใจ ก็คงสนใจครับ
 
เลิฟซีนในหนังน่ารักนะ มันแปลกดี
อุ้ม       : ยากมากเลยครับ มันยากกว่าเลิฟซีนทั่วไปที่มันเร็วๆ อีก มันมีการแสดงออกถึงการต่อสู้กับบรรทัดฐานของคนสมัยนั้นอยู่ด้วย
 
หนังดูจะให้ความสำคัญกับโลเคชั่นมาก มันเป็นที่ในชีวิตจริงของกานต์หรือเปล่า
อุ้ม       : มันซ้อนกันระหว่างของจริงกับของเซ็ตครับ แม้กระทั่งตัวละครบางตัวก็เป็นญาติจริงๆ แต่เค้าอาจจะไม่ได้มารับบทเป็นตัวเอง คือหนังมันไม่ได้เดินเรื่องด้วยความเป็นจริง มันเหมือนเรื่องเล่าผสมกับภาพถ่ายมากกว่า ในหนังเราจะเห็นรูปพ่อกานต์อยู่เรื่อยๆ มันจะซ้อนๆกัน ไม่ได้จริงทั้งหมด เป็นความตั้งใจของผู้กำกับกับทีมงานครับ
 
รู้สึกยังไงกับตัวหนังที่ออกมา
น้ำฝน   : สวยดีค่ะเหมือนดูภาพนิ่ง เหมือนดูชีวิตจริง
อุ้ม       : สวยแล้วก็เศร้าครับ ผมเศร้าเวลาเห็นก้อยตอนโตขึ้นมา รู้สึกว่าผู้หญิงเป็นเพศที่เข้มแข็งกว่าผู้ชาย ผมประทับใจกับความแข็งแกร่งของผู้หญิงในยามที่ผู้ชายจากไป
 
คิดว่า “ที่รัก” ดูยากมั้ย
น้ำฝน   : ไม่ยากเลยค่ะ จริงๆแล้วมันดูง่ายมากด้วยซ้ำ
อุ้ม       : ผมว่ามันดูง่าย มีบรรยากาศไทยๆ ไม่มีอะไรยากเลยครับ
 
ใครที่คิดว่าหนังอินดี้ดูยาก อยากให้ลองดูกันนะครับ น้ำฝนกับอุ้ม “คู่รักในจอ” ฝากไว้ก่อนจากลา
หวังว่าจะได้เห็นผลงานของทั้งสองอีกครับ



โดย: ทินพัฒน์ บัญญัติปิยพจน์ 
สนธยา ทรัพย์เย็น และทีมงานฟิล์มไวรัส 
ตีพิมพ์ในเว็บไซต์: onopen.com-โอเพ่นออนไลน์ / 03  กุมภาพันธ์ 2554

Views: 627

Reply to This

Replies to This Discussion

เยี่ยมครับ

RSS

© 2009-2024   PORTFOLIOS*NET by CreativeMOVE.   Powered by

Badges  |  Report an Issue  |  Terms of Service