คนติด NET

“จะทำอย่างไรให้หัวใจหลุดพ้นจากวังวนของโลก  Online”

 

 

 

 

 

คืนวันหนึ่ง หลังจากตัดสินใจพับปิด notebook เพราะคิดอะไรขึ้นมาได้ เดินไปล้างหน้า บิดขี้เกียจ แล้วกลับมานั่งที่โต๊ะเหมือนเดิม หยิบสมุด ปากกา ขึ้นมาเขียนบันทึกเล่น ว่าไปความรู้สึกสงบแบบนี้ หายไปจากชีวิตมาหลายปี หลังจากที่มีคอมพิวเตอร์เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในชีวิตประจำวัน พลันทำให้นั่งคิดนึกทบทวนย้อนหลังไป ทำไมทุกครั้ง การนั่งดู ฟัง อ่าน พิมพ์และสื่อสารด้วยคอมพิวเตอร์และอินเตอร์เนต เราไม่เคยรู้สึกปรอดโปร่ง โล่ง สงบ เหมือนอย่างเวลาที่ได้เขียนหนังสือด้วยมือของเราเองแบบนี้เลย 

 

บางที Computer อาจมีส่วนปิดกั้นการทำงานของสมองก็ได้ นึกทบทวนคราวใด ได้คำตอบเหมือนเดิม ว่าทั้งความคิด และจินตนาการของเราดูเหมือนจะถูกบั่นทอนลงไปในทุกขณะที่ใช้คอมพิวเตอร์ อย่างไม่รู้ตัว “แต่ละนาทีตรงหน้าคอมฯ ค่อยๆ บั่นทอนความสุข ความอิ่มเอมใจของชีวิตแบบที่เคยมีในอดีต ให้ค่อยๆ ลางเลือนไป โดยไม่รู้ตัว”

 

การตัดสินใจพับ notebook เก็บและถอดปลั๊กในวันนี้ ช่างมีความหมาย... คิด คิดไป บางครั้งก็อยากให้โลกนี้ไม่มีคอมพิวเตอร์และอินเตอร์เนตไปซะเลย บางทีก็อยากรู้ว่าถ้าโลกของเราไม่มีอินเตอร์เนต ความคิด และจินตนาการของเรา จะกว้างขึ้นหรือจะแคบลงกันแน่? คอมพิวเตอร์ช่วยให้เราติดต่อสื่อสารกันได้สะดวก รวดเร็ว และ “ง่าย” ง่ายดายจนเราลืมคุณค่าที่แท้จริงของการติดต่อสื่อสารและทำให้ “การติดต่อสื่อสารระหว่างกันกลายเป็นสิ่งที่มนุษย์กระทำกันอย่างฉาบฉวย ผิวเผิน และพร่ำเพรื่อ”

 

 เมื่อสัก 10 -15 ปีก่อน ครั้งที่อุปกรณ์การสื่อสารยังไม่สะดวกสบาย หรือกระทำกันได้ง่ายดายเช่นนี้ การได้ติดต่อสื่อสารกันแต่ละครั้งเป็นเรื่องที่ “อิ่มใจ” กว่านี้มาก ทั้งข้อความ ใจความ และเนื้อหาล้วนแต่เต็มเปี่ยมด้วยความรู้สึก และความใส่ใจ เพราะกว่าที่คนเราจะติดต่อหากันได้นั้น “ใช้เวลา” และไม่ได้ง่ายดายหรือรวดเร็วดังเช่นปัจจุบัน ดังนั้น คนสมัยก่อนจึงมีเวลา มีความคิดที่ละเมียดละไม ด้วยจิตใจที่ห่างไกลความวุ่นวายจาก “สิ่งกระทบ” หรือสิ่งรบกวนจิตใจ และ คงยากที่จะอธิบายให้คนรุ่นคุณพ่อคุณแม่เราเข้าใจได้ว่า อารมณ์ และ ความคิด ที่วุ่นวายของ “คนติดเนต” เป็นเช่นไร ด้วยความที่เป็นเรื่องห่างไกลจากประสบการณ์ที่ผู้ใหญ่เคยได้ผ่านมา

 

ผู้ใหญ่โดยมากยังไม่เคยอาบน้ำร้อนบ่อนี้มาก่อน...

 พูดถึงประสบการณ์ทางโลกทั่วไปเราอาจใช้การเรียนรู้จากประสบการณ์ของผู้ใหญ่ที่เคยผ่านมาได้ แต่หากพูดถึงประสบการณ์ในโลกออนไลน์ การอ้างหรือใช้เหตุผลว่าผู้ใหญ่อาบน้ำร้อนมาก่อนเห็นจะใช้ไม่ได้ซะทีเดียว เพราะดูเหมือน “น้ำร้อนบ่อนี้เป็นบ่อที่ผู้ใหญ่โดยมากยังไม่เคยอาบมาก่อน” ส่วนที่เคยได้อาบ ก็เพิ่งจะได้มาอาบพร้อมกันกับลูกกับหลานนี่เอง ซึ่งดูเหมือนว่าน้ำร้อนบ่อนี้คงจะบ่อที่ร้อนกว่าน้ำร้อนในอดีตที่เคยมีมา คงเป็นไปได้ว่าบ่อน้ำร้อนสมัยนี้เกิดขึ้นมาเมื่อโลกใกล้แตกเต็มทีแล้วก็เป็นได้

 

 

 

อย่างไรก็ดี น้ำร้อนบ่อนี้กลายมาเป็นน้ำอุณหภูมิที่มนุษย์รุ่นใหม่ๆ คุ้นชิน ด้วยความที่เมื่อเกิดมาก็อาบน้ำอุหภูมินี้กันเป็นปกติซะแล้ว เช่นนี้มนุษย์ยุคใหม่จึงไม่อาจจินตนาการหรือเข้าใจได้ว่าเวลาได้อาบน้ำเย็นแบบคนสมัยก่อนนั้น เย็นชุ่มฉ่ำชื่นใจอย่างไร ซึ่ง สำหรับเด็กยุคใหม่ ดูเหมือนจะห่างไกลเกินไปที่จะอธิบาย หรือหาโอกาสสัมผัส เข้าถึงความสุขสงบละเมียดละไม ที่มีีอยู่ในความ low tech

 

 

 

 

เด็กสมัยนี้สื่อสารกันตลอดเวลา...

 เด็กรุ่นใหม่ๆ และคนทั่วไปในสมัยนี้ สื่อสารกันตลอดเวลา แต่กลับไม่มีเวลาสื่อสารอะไรกับตัวเองเลยแม้แต่น้อย แต่มันกลับกลายเป็นความคุ้นชิน กับสิ่งไม่ปกติในชีวิต ที่มนุษย์เราต้องพยายามสื่อสารเพื่อบอกผู้อื่น หรือคนไกลตัวให้รับรู้ว่า กูกำลังทำอะไร กูคิดอะไร กูอยู่ที่ไหน แต่สำหรับคนใกล้ตัวกลับไม่ใส่ใจและไม่ได้รับรู้อะไรเลย และไม่มีโอกาสและเวลาที่จะได้ใช้ร่วมกันตามปกติธรรมชาติที่ควรจะเป็น กลายเป็นเช่นนั้นไป และเกือบทุกคนมักจะรู้สึก (ไปเอง) ว่าจะต้องพยายาม online อยู่ตลอดเวลา ราวกับว่าเป็นสัญลักษณ์แทนค่าความมีชีวิตอยู่ไปแล้ว!

 

 

 

ในขณะที่เรา Online แต่ละครั้ง มีการ รับ-ส่ง ข้อมูล เข้า-ออก ผ่านทางประสาทสัมผัสทั้งทาง ตา หู การพิมพ์สัมผัส มีการรับรู้แลกเปลี่ยนข้อมูลในสมองจำนวนมหาศาลในชั่วเวลาไม่กี่นาที สำหรับคนบางคนแม้เพียงชั่วเวลาไม่ถึงหนึ่งนาทีก็ยังสามารถ รับ-ส่ง ข้อมูลได้จำนวนมากแล้วด้วยซ้ำ ซึ่งโดยธรรมชาติ มนุษย์ไม่สามารถทำทั้งดูและฟังได้ดีในเวลาเดียวกัน กระบวนการดูและฟังจะเกิดขึ้นสลับกันไปมาในเวลาอันรวดเร็วโดยเราไม่รู้สึก (นอกจากเราจะตั้งใจสังเกตให้ดี ในบางครั้งอาจสังเกตและเข้าใจกระบวนการนี้ได้) ลักษณะการทำงานของสมองเช่นนี้ ทำให้สมองต้องทำงานมากอย่างรวดเร็ว ไม่ได้หยุกพัก ไม่ได้หยุดคิด และไม่มีเวลาไตร่ตรองอะไรมากนัก หากแต่สมองต้องมุ่งเข้าหาข้อมูลต่อไปข้างหน้าเรื่อยๆ อย่างไม่เหลือเวลาให้พักหรือได้หยุดนิ่งเพื่อคิดทบทวนใดๆ และทั้งหมดกลายเป็นความเคยชินที่ค่อยๆ ฝังลงไปในจิตใต้สำนึก จนแทบถึงขั้นกลายเป็นสัญชาตญาณ อันที่จริงสัญชาตญาณมีไว้เพื่อความอยู่รอด แต่สำหรับคนสมัยนี้ หลายคนก็รู้สึกว่า การไม่มีอุปกรณ์สื่อสารแทบจะทำให้ชีวิตอยู่ไม่รอดเลยก็มี ส่วนใหญ่คนที่มีความรู้สึกเช่นนี้ “ไม่รู้ตัว” และหลงผิด คิดว่า เครื่อมือสื่อสารทั้งหลายเป็นสิ่งจำเป็นที่สุดสำหรับชีวิต

 

 

เอาเวลาที่ไหนไปคิด...

การที่เราดูและฟังสิ่งต่างๆ จากทาง website คราวละหลายๆ window ย่อมทำให้เราต้องแบ่งแยกประสาทในการรับรู้ทั้ง 2 ส่วน คือ ทาง “ตา” และทาง “หู” ให้รับข้อมูลจำนวนมาก ส่งผลให้ประสาทแต่ละส่วนต้องทำงานในเวลาที่ “จำกัด” ขึ้น แต่กลับมีประสิทธิภาพลดลง นอกจากนี้การทำงานกับคอมพิวเตอร์แค่เพียงการใช้ปลายนิ้วคลิกสลับ window ระหว่าง webpage นับสิบผสมการสลับกลับมาทำงานบนโปรแกรมต่างๆ ไปพร้อมกันในเสี้ยวนาที กระบวนการเหล่านี้เกิดอย่างรวดเร็วเหมือนเป็นไป โดยอัติโนมัติ สำหรับผู้ใช้คอมฯ ทั่วไปจึงแทบไม่มีเวลาที่จะคิด ทบทวน และไตร่ตรอง ข้อมูลต่างๆ ที่ผ่านตาผ่านหูของเราไปเลย เป็นผลให้ประโยชน์ที่ได้จากข้อมูลที่ได้ไม่มากมาอย่างที่คิดและเคยเข้าใจ

 

ยกตัวอย่างให้นึกตามเล่นๆ สำหรับหลายคนเวลาเปิดคอมฯ ขึ้นมา มือก็พาไป  Sign in เข้าหน้า Facebook ก่อนเลย แล้วก็ไป twitter บ้าง เช็ค e-mail บ้าง เป็นไปโดยอัติโนมัติไม่มีติดขัด พวกเราโดยมากก็มักจะเปิด webpage พวกนี้ไว้ ควบคู่ไปกับการทำงานเกือบตลอดทั้งวัน พอเลิกงานระหว่างทางกลับบ้านก็ยัง online ได้อีก ผ่านทางมือถือ smart phone บ้าง notebook บ้าง ipod บ้าง ipad บ้าง ว่ากันไป เท่านั้นยังไม่พอ พอกลับถึงบ้าน ออนไลน์ได้ต่อทันที เรียกว่ารวมๆ แล้วแทบจะ 24 ชั่วโมงเลยกระมัง

 

เราไม่ปฏิเสธว่าการใช้ internet นั้น นอกจากจะเป็นไปเพื่อการติดต่อสื่อสารแล้ว ยังมีประโยชน์มากสำหรับการทำงาน เช่นการค้นคว้า หาข้อมูล การส่งต่อข้อมูลต่างๆ ซึ่ง internet นั้นช่วยลดต้นทุนได้มาก อาทิ ช่วยให้ประหยัดน้ำมัน ประหยัดเวลา ประหยัดค่าโทรศัพท์ ประหยัดกระดาษ ฯลฯ เป็นต้น แต่บางครั้ง การมี internet ก็ทำให้คนทำงานขวนขวายลดลง คือหวังแต่จะพึ่งพาข้อมูลและตัวช่วยจากอินเตอร์เนตและทำงานเท่าที่คอมฯ หรือ อินเตอร์เนตจะทำได้ ในจุดนี้จึงเป็นโทษเช่นกัน

 

บางทีที่ไฟดับ...

“คนติดเนต” แอบรู้สึกโล่งใจโดยไม่รู้ตัวเวลาไฟดับ เพราะนั่นเป็น “ช่วงเวลาพิเศษ” ที่คนติดเนตทั้งหลายจะได้ปล่อยมือจาก mouse ไปหยิบจับอะไรอย่างอื่นบ้าง ความรู้สึกหมดห่วงและความกังวลเกิดขึ้นเมื่อรู้แน่ว่า “เปิด computer ไม่ได้” คิดไปช่างเป็นช่วงเวลาที่มีความหมายสำหรับคนติดเนตยิ่งนัก แต่สำหรับ คนติดเนตอีกหลายคน “ทำใจไม่ได้”  กระวนกระวาย ด้วยรู้สึกราวกับว่าตัวตนของตนที่กำลังมีชีวิตอยู่บน Social Network ดับหายไปด้วยเหมือนกระแสไฟฟ้า! และเมื่อไรที่กระแสไฟกลับมา สามารถเปิดคอมฯ ได้ สารพัดสิ่งเยอะแยะมากมากก็พร้อมใจกันกลับมาด้วย ทั้งสังคม online งานต่างๆ ที่ต้องประสานติดต่อ ข้อมูลต่างๆ ที่ต้องค้นคว้าหามาใช้ เพลงที่จะฟัง หนังที่จะดู รูปภาพ และไฟล์ต่างๆ ที่จะ download ฯลฯ ประดังประเดเข้ามาในความคิดได้อย่างฉับพลัน ดูดเราเข้าไปติดพันแบบไม่ต้องหันหน้า หรือละสายสาไปมองอย่างอื่นหรือหน้าผู้ใด นอกไปจากหน้าจอคอมฯ พร้อมด้วยความรู้สึกราวกับว่ามันเป็น “หน้าที่”  ที่เราจะต้องนั่งอยู่ตรงนั้น เพื่อใช้ computer และ internet ให้คุ้ม ให้เต็มที่ มากที่สุด เยอะที่สุด นานที่สุด เท่าที่จะทำได้ในแต่ละวัน

 

 

 

เฮ้อ

 

สิ่งที่ควรประหลาดใจ...

สำหรับหลายคนที่ต้องทำงานอยู่กับคอมฯ จำนวนชั่วโมงที่นั่งอยู่หน้าคอมฯ นั้นน่าตกใจ! หลายคนใช้เวลาอยู่หน้าคอมฯ ไม่ต่ำกว่าวันละ 10-15 ชั่วโมง หรือมากกว่านั้น เรียกง่ายๆ คือ เป็นเวลาเกือบทั้งหมดของวันในช่วงที่เราตื่นนอน ก็ว่าได้ และยิ่งแล้วสำหรับคนที่ติดเนตหนักๆ แม้แต่เวลานอนก็ยังเปิดคอม online ทิ้งไว้ด้วยซ้ำ! สิ่งที่สมควรประหลาดใจ แต่มักไม่มีใครประหลาดใจ คือ การที่คนเรา  online วันละไม่ต่ำกว่า 10 -15 ชั่วโมงนี้ กลายเป็นวิถีของคนยุคใหม่ ที่แม้ในความจริงแล้วเป็นสิ่ง “ผิดปกติ” และ “ไม่เป็นธรรมชาติ” ได้กลับกลายเป็นสิ่งที่คนยุคใหม่ทั่วไป “จัดให้เป็น” เรื่องปกติสำหรับชีวิตไปแล้ว และถ้าเป็นเช่นนั้นแล้ว คนเราเอาเวลาที่ไหนไปใส่ใจดูแลคนรักและครอบครัว ตลอดจนสิ่งสำคัญอื่นๆ ในชีวิตอย่างตัวเราและจิตใจของเราเอง? หลายคนที่ใช้ internet วันละนานๆ กลายเป็นคนที่มีแต่ความอ้างว้างตกค้างอยู่ในใจตลอดเวลา คนติดเนตหลายคนโหยหา พยายามไล่ล่า และเรียกร้องความสนใจในสังคมของโลก online สุดท้ายผลที่ได้ คือ ความอ้างว้างนั้น กลับเพิ่มทวีคูณ

 

 

 

ความสุขหายไปไหน...

ความสุขหายไปไหนในโลก internet โลกที่คนได้ติดต่อสื่อสารแสดงความเป็นตัวตนแบบที่ตนต้องการให้คนอื่นเห็นอย่างอิสระเสรี วันนี้หลายคนเริ่มมีคำถามแบบนี้ลอยผ่านเข้ามาในความคิด นี่อาจเป็นคำถามที่กำลังจะผ่านเข้ามาบ่อยขึ้นเรื่อยๆ จนกว่าเราจะเหนื่อย และเร่ิ่ม “หยุด” เพื่อที่จะหาคำตอบอย่างจริงจัง หากเรายังไม่หยุดคิด และจริงจังกับการหาคำตอบนี้ แถมยังพักผ่อนผิดวิธีด้วยการกลับเข้าสู่โลกอินเตอร์เนตอีก เราก็จะไม่มีทางได้ลุดพ้นจากวังวนของความเหนื่อยแบบมึนตึ้บทึบในสมองแบบนี้ไปได้ ยิ่งสำหรับคนสมัยนี้ด้วยแล้ว หากถามว่าเวลาพักผ่อนหรือเวลาว่างทำอะไรกัน คำตอบที่มักได้กลับมานั้นเห็นจะไม่พ้นการเล่นอินเตอร์เนต หารู้ไม่ว่าบางทีการใช้เวลาว่างแบบนี้ในส่วนของจิตใจเรานั้นอาจไม่ได้พักผ่อนเลย

 

ใจไม่ได้พัก...

เวลาที่เราใช้ internet เราใช้ประสาทสัมผัส ทั้งตาดู หูฟัง อ่านข้อมูลต่างๆ สารพัดอย่างรวดเร็ว และโดยมากเป็นไปแบบฉาบฉวย ในมุมหนึ่งอาจดูเหมือน่าเพลิดเพลิน แต่อีกมุมหนึ่งนอกจากจะไม่เพลินแล้วยังทำให้ตัวเราไม่ได้พักผ่อนอย่างแท้จริงด้วย โดยเฉพาะสำหรับหลายคนการที่ต้องพยายามแสดงตัวตนอยู่บนโลก online หรือเครือข่าย social network พร้อมกับผลักดันส่งเสริมตนเองให้มีตัวตนเป็นที่สนใจ ได้รับการตอบรับ และยอมรับอยู่บนโลก online นั้น กลายเป็นสิ่งที่เหนื่อยยิ่งกว่า

 

สัจธรรม...

สุดท้ายสัจธรรมที่ทุกคนล้วนหนีไม่พ้น หรือผลแห่งกรรม(การกระทำ) ก็คือ ตราบใดที่เรายึดมั่นถือมั่นในตัวตน ดิ้นรนไขว้คว้าให้มี “ตัวกู” ไม่ว่าจะในโลกจริง โลก online หรือโลกไหนๆ นั่นหมายถึงภาระอันหนักอย่างหนึ่งของจิตใจที่จะนำพาเราไปสู่ “ความทุกข์” ที่ต้องแบกติดตามตัวไปเช่นกัน คนที่ยึดติดถือมั่นในตัวกู จึงมักจะต้องเหนื่อยด้วยเหตุนี้ในที่สุด

 

หลุดจากบ่วง...

วันใดที่เราได้หลุดพ้นจาก “NET” หรือ internet ซึ่งเปรียบเหมือน “ตาข่าย” หรือ “บ่วง” ที่เราถูกยึดติดอยู่นี้ ความเบาสบายและความสงบจึงจะกลับมาสู่จิตใจ จงให้เวลาไตร่ตรองเพื่อปรับเปลี่ยนวิถีชีวิต และความคิดของเราสักครั้ง เพื่อให้เราได้กลับมาใช้วิถีชีวิต “ปกติอย่างแท้จริง” ตามธรรมชาติ

 

“Think to Change”

Think to change ---> Things to change

 

Refreshing...

สิ่งง่ายๆ ที่เราทำได้ในช่วงวัน เพื่อทำให้กายและใจกลับมา fit & firm เหมือนใหม่อีกครั้ง *สูตรเฉพาะสำหรับคนหน้าคอมฯ

 

STEP 1: Good Morning! เช้าวันใหม่สดใสกว่าเดิม...

ทุกวันในเวลาเช้า เมื่อตื่นนอนให้เลือกที่จะเดินไปห้องครัวดื่มน้ำเปล่าสัก 1-2 แก้ว แล้วออกไปนั่งเล่น เดินเล่นในสวน ทำกิจกรรมที่ได้เคลื่อนไหวร่างกายเบาๆ อย่างการกวาดเศษใบไม้ รดน้ำต้นไม้ อาจทำไปพร้อมๆ กับการฟังเทศ ฟังธรรมยามเช้า เพื่อรับสิ่งดีๆ และทำให้เรามีโอกาสได้ตรวจเช็คความคิด คำพูด และการการทำของตนเองทั้งที่ผ่านมา และ ณ ขณะปัจจุบัน พร้อมกับการตั้งสติรับวันใหม่อย่างดีเยี่ยม จากนั้นให้เวลารับประทานอาหารเช้ากับครอบครัว ก่อนที่จะอาบน้ำและเริ่มทำงานด้วยสมองที่ปรอดโปร่ง แทนการรีบร้อนลุกขึ้นจากเตรียงมาเปิด computer - online - check e-mail อย่างสลึมสลือ และมึนตึบทึบไปทั้งหัวเหมือนเดิม

 

STEP 2: Have a nice day! ลองมองหาบรรยากาศใหม่ๆ สำหรับการนั่งทำงาน

ช่วงเวลากลางวัน หากไม่จะเป็นต้องนั่งทำงานอยู่ในห้องให้ลองย้ายไปนั่งทำงานในสวนแทนจะดีมาก หากจำเป็นต้องใช้คอมฯ ถ้ามี notebook, ipad, labtop ควรนำมาใช้ให้สม function จงนำ smart com เหล่านั้นลุกไปนั่งในสวนแทนซะเลย เพราะการได้อยู่ใกล้ชิดธรรมชาติจะช่วยลดความตึงเครียดและกดดัน เหมาะเหม็งมากมายสำหรับใครที่ต้องใช้ความคิดสร้างสรรค์ - อีกสิ่งที่ work สำหรับงานที่ต้องใช้ความคิดและสมาธิอย่างงาน creative และ planning ต่างๆ คือ การเริ่มต้น sketch idea ด้วยมือลงบนกระดาษให้เห็นภาพรวมความคิดแบบกว้างๆ ก่อน เพื่อลดระยะเวลาที่เราต้องใช้สายตาในการจ้องมองคอมฯ ลงไป หลังจากสรุปความคิดได้เป็นโครงใหญ่ๆ จึงค่อยจัดการในรายละเอียดปลีกย่อยซึ่งเป็นโจทย์ที่ง่ายกว่า และสามารถคิดไปพิมพ์ไปเพื่อประหยัดเวลา แบบนี้ช่วยให้เราจบงานได้เร็วและดีต่อสุขภาพมากกว่าเยอะ

 

STEP 3: Good Evening ชื่นชมความงามของแสงสุดท้ายในทุกวัน

อย่างน้อยๆ 1-2 ชั่วโมงก่อนพระอาทิตย์ตก ขอให้เราได้หยุดชม “แสงสุดท้ายของวัน” กันสักห้วงเวลาหนึ่ง การได้สูดอากาศ รับสายลมยามเย็น แทนการดูโทรทัศน์หรือนั่งอยู่หน้าคอมฯ เป็นยาอายุวัฒนะที่ดี กรณีมีงานเร่งจริงๆ ที่จะทำให้เราต้องใช้คอมฯ หากมี notebook, ipad ก็ควรจะยกมานั่งทำนอกบ้าน พร้อมๆ กับการอำลาอทิตย์ลับขอบฟ้าซะด้วยเลย

 

เข้าหาธรรมชาติ...

การผ่อนคลายที่ดี คือ การเข้าหาธรรมชาติ อย่างการทำกิจกรรมง่ายๆ เช่น การปลูกต้นไม้ รดน้ำต้นไม้ ตัดแต่งกิ่ง เล่นกับสัตว์เลี้ยง และอยู่กับครอบครัว จะเป็นการดีมากหากเราไม่มัวแต่ใช้เวลานั่งจ้องจอสี่เหลี่ยม อยู่ในห้องสี่เหลี่ยม ที่ทึบตัน สำหรับคนที่อยู่กับ computer มากๆ การได้อยู่กับธรรมชาติมากขึ้น จะช่วยทำให้ความคิดกลับมาลื่นไหลได้ดังสายน้ำ เติมความกระจ่างและความสว่างใสในอารมณ์เหมือนแสงอาทิตย์ และช่วยปรับจิตใจให้ผ่อนคลายเบาสบายเหมือนสายลม “เหล่านี้คือสิ่งที่ธรรมชาติบันดาลและมอบให้ สำหรับผู้ที่หมั่นเข้าหาและสัมผัสกับธรรมชาติอย่างสม่ำเสมอ”

 

วิถีแห่งความธรรมดา... 

การเป็นอยู่อย่างธรรมดาและได้ใกล้ชิดธรรมชาติ เป็นเครื่องบำบัดและผ่อนคลายที่ดี ที่เรานำมาเป็นที่พึ่งได้ทุกเมื่อ เพื่อทำให้เราสดชื่น สดใส และสดใหม่ในความคิดอยู่เสมอ ต่างกับความทึบตันของผนังห้อง ตึกรามบ้านช่องที่ปิดกั้นเราจากธรรมชาติ สมองที่จดจ้องอยู่กับกรอบสี่เหลี่ยมนั้น บั่นทอนพลังทางความคิดและจินตนาการสร้างสรรค์ของเราลงไปอย่างไม่น่าเชื่อ และไม่รู้ตัว

 

โลก internet... 

แม้โลก internet จะพาเราโลดแล่นไปในจักรวาลแห่งข้อมูลอันมากมายมหาศาลเกินกว่าจะจินตนาการ แต่การไม่เหลือห้วงเวลาให้เราได้ตกตะกอนความคิดที่ได้จากข้อมูลทั้งหลายเหล่านั้น ทำให้สิ่งที่เรารับมากลายเป็นประหนึ่ง “สารแขวนลอย” ที่ลอยรกอยู่ในสมองและอารมณ์ของเรา ดังนั้น เราจึงต้องการช่วงเวลาพัก และปล่อยให้มันได้ตกตะกอนลงมาบ้าง คัดกรองของเสียออกบ้าง จึงจะเป็นหนทางที่ช่วย Refresh ตัวเราได้ ไม่ใช่การเทสารแขวนลอยใส่เพิ่มเข้าไปมากขึ้น มากขึ้น จนสมองเราเต็มและตัน จนไม่สามารถทำงานได้อีกต่อไป

 

 


 

 

 

Views: 217

Comment

You need to be a member of PORTFOLIOS*NET to add comments!

Join PORTFOLIOS*NET

© 2009-2024   PORTFOLIOS*NET by CreativeMOVE.   Powered by

Badges  |  Report an Issue  |  Terms of Service