จับตาดนตรีอินดี้ในบาหลี : บทบาทใหม่ที่ไม่ใช่แค่เมืองท่องเที่ยว

bali-indie1

ไม่นานมานี้เราได้ติดตามเพื่อนนักดนตรีคนหนึ่งที่ได้รับการชักชวนให้ไปแสดงคอนเสิร์ต ณ ผับแห่งหนึ่งในบาหลี ชื่อว่า Suicide Glam (ซึ่งเป็นทั้งผับและร้านเสื้อผ้าแนวร็อคแอนด์โรล) เลยได้จับพลัดจับผลูมานั่งคุยกับ รูดอล์ฟ เดทู (Rudolf Dethu) “ตัวพ่อแห่งดนตรีอินดี้” เจ้าของร้าน Suicide Glam ที่ว่านี้ ชายคนนี้คือ หัวเรี่ยวหัวแรงผู้ผลักดันและวางรากฐานดนตรีอินดี้ในท้องถิ่น เขาพยายามบอกกับโลกว่า นอกจากอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวแล้ว “เพลงอินดี้” นี่แหละ คือความเคลื่อนไหวใหม่ๆ ของบาหลีในวันนี้


ดนตรีอินดี้ในบาหลี
เดทูเล่าว่า แม้จะมีการเคลื่อนไหวมานานร่วม 10 ปีแล้ว แต่วงการดนตรีอินดี้ในบาหลีและในอินโดนีเซียเอง ก็ยังถือว่าอยู่ในช่วงเริ่มต้น มีน้อยวงนักที่ได้เติบโตไปสู่ระดับนานาชาติ (หนึ่งในนั้นคือ วง Superman is Dead วงอินดี้พังก์ร็อคที่ประสบความสำเร็จและได้รับการยอมรับในระดับนานาชาติ สามารถขายอัลบั้มและไปทัวร์คอนเสิร์ตได้ทั้งในอินโดนีเซียและในต่างประเทศ)


ช่วงยุค 90s ถือเป็นช่วงที่ดนตรีอินดี้กำลังเติบโตในทุกๆ มุมของโลก ที่อินโดนิเซียก็เช่นกัน ราวปี 1998 เดทูเป็นผู้จัดการวง Superman is Dead ซึ่งไม่ได้อยู่ในกระแสหลัก พวกเขาเริ่มต้นทำงานเองทุกอย่าง จนเริ่มมีชื่อเสียงโด่งดังในอัลบัมที่สอง เป็นการจุดประกายทำให้ “อินดี้ซีน” (Indie scene) ในบาหลีเริ่มตื่นตัว โดยตอนนั้นเดทูได้ทำเว็บไซต์รายการวิทยุดนตรีทางเลือก ไปพร้อมๆ กับการเป็นผู้จัดการวงและพยายามผลักดันให้ศิลปินบาหลีก้าวสู่ระดับสากล


อุตสาหกรรมดนตรีในอินโดนีเซียนั้น ไม่ว่าจะเป็นดนตรีกระแสหลักหรือดนตรีอินดี้ ล้วนมีศูนย์กลางอยู่ที่กรุงจาการ์ต้า แต่นอกจากนั้นก็พอมีการเรียกขานเมืองที่โด่งดังเฉพาะด้านบ้างเหมือนกัน เช่น สุราบายาเป็นเมืองแห่งร็อค บันดุงเป็นเมืองแห่งอินดี้ (รองจากจาการ์ต้า) ส่วนบาหลีแม้มาทีหลัง แต่ตอนนี้ก็เริ่มอยู่ในแผนที่ดนตรีของร็อคและอินดี้แล้วเช่นกัน เดทูบอกว่านี่เป็นโอกาสที่ดีมากๆ สำหรับพวกเขา เพราะผู้คนเริ่มหันมามองว่าพวกเขากำลังทำอะไรอยู่ อีกอย่างบาหลีเป็นเมืองน่าอยู่ วงต่างๆ ก็อยากมาโชว์ที่บาหลีกันทั้งนั้น ทำให้วงการอินดี้ที่บาหลีโตขึ้นๆ แต่สิ่งที่ยังขาดอยู่คือความหลากหลาย เพราะเด็กๆ ส่วนมากอยากจะเล่นแต่พังก์ร็อคอย่างเดียว

 

bali-indie2


บาหลีพังก์ร็อค
เดทูคิดว่า ความสำเร็จของวง Superman is Dead เป็นเหตุหนึ่งที่ทำให้ผู้คนในบาหลีหันมาสนใจเล่นดนตรีกันมากขึ้น โดยเฉพาะดนตรีในแนว “พังก์ร็อค”


“เด็กวัยรุ่นที่เล่นดนตรีส่วนมากจะจับแนวพังก์ร็อคแทบทั้งสิ้น แล้วก็ตั้งวงพังก์ร็อคของตัวเองขึ้นมา ถ้าไปดูคอนเสิร์ตของวงบาหลี 99% ในผับ เชื่อได้ว่าจะเป็นวงพังก์ร็อค...”


ทั้งเดทูและเราเห็นพ้องกันว่า น่าจะเป็นเพราะเด็กๆ เห็นตัวอย่างความสำเร็จของวง Superman is Dead จึงอยากเดินตามรอยรุ่นพี่บ้าง อย่างไรก็ดี มีนักท่องเที่ยวต่างชาติคนหนึ่งที่แสดงความเห็นแตกต่างจากเรา เขาว่า “ความเป็นพังก์ร็อคนั้นน่าจะอยู่ในสายเลือดของคนบาหลี เห็นได้จากงานศิลปะของบาหลีที่ล้วนมีรสชาติเข้มข้นเฉพาะตัว โดยเฉพาะงานประติมากรรมที่ดูงดงามแต่แฝงความดุดัน จึงไม่น่าแปลกใจเลยที่เมื่อบาหลีแสดงออกเป็นดนตรีแนวสากลแล้ว ...มันก็จะกลายเป็นพังก์ร็อค”


กระตุ้นการเติบโตด้วยพื้นที่การแสดงออก
สำหรับสิ่งที่เดทูและเพื่อนๆ ทำที่นี่คือ การพยายามกระตุ้นความเคลื่อนไหวของดนตรีอินดี้ โดยเปิดเวทีให้กับศิลปินรุ่นใหม่ได้แสดงฝีมือ เพื่อนของเขาคนหนึ่งคือมือกลองของวง Superman is Dead มีพังก์ร็อคคลับชื่อ Twice Bar แต่ละสัปดาห์ก็จะมีอีเวนท์ให้วงรุ่นใหม่ๆ (ส่วนมากเป็นวงพังก์ร็อค) ได้มาแสดงฝีมือกัน โดย Twice Bar ไม่คิดค่าเข้าชม จึงมีผู้ชมไม่น้อยในแต่ละคืน (โดยลูกค้าส่วนมากจะเป็นกลุ่มวัยรุ่น) ทำให้คลับแห่งนี้กลายเป็นเวทีสำคัญที่ใครๆ ก็อยากมาโชว์


อย่างไรก็ตาม เพื่อผลักดันความหลากหลายของการแสดงดนตรี เดทูกับหุ้นส่วนจึงได้เปิดผับ Suicide Glam ขึ้น โดยเจาะกลุ่มผู้ชมที่เป็นผู้ใหญ่ (ที่สนใจดนตรีในแนวที่กว้างขวางขึ้น) โดยวงที่คัดเลือกมาแสดงก็จะไม่ใช่แนวพังก์ร็อค แต่เป็นดนตรีแนวทดลองอื่นๆ Suicide Glam จัดคอนเสิร์ตอย่างน้อยเดือนละครั้ง โดยมีทั้งวงของบาหลีเอง วงจากจาการ์ต้า และวงจากต่างประเทศมาเล่นกัน ส่วนผู้มาชมนั้นจะเป็นคนบาหลีและนักท่องเที่ยวครึ่งต่อครึ่ง


นอกจากนั้น เดทูยังมีรายการวิทยุออนไลน์ของตัวเอง (www.musikator.com) เริ่มต้นจากการนำเสนอวงอินดี้ในบาหลี แล้วขยายไปเป็นวงอินดี้ของทั่วอินโดนีเซีย เขาพยายามจะทำให้มิวสิคไดเร็คทอรี่ในเว็บไซต์นี้เป็นเหมือนเป็นสมุดหน้าเหลือง และวิกิพีเดียทางดนตรีของอินโดนิเซีย ที่ผู้คนสามารถเข้ามาค้นหาศิลปิน และเลือกติดตามฟังเพลงที่พวกเขาชื่นชอบได้ (หลายๆ ครั้งที่นี่ยังเป็นแหล่งข้อมูลให้กับนิตยสารดนตรีในอินโดนีเซียด้วย) เดทูคิดว่า นี่คืออีกเส้นทางหนึ่งที่จะช่วยสนับสนุนศิลปินและวงการดนตรีในบาหลีให้ก้าวหน้าขึ้นได้


ปูทางสู่เศรษฐกิจสร้างสรรค์
เดทูเล่าให้เราฟังต่อไปว่า “ดนตรีอินดี้ถือเป็นหมากหนึ่งในการผลักดันให้บาหลีเป็นเมืองแห่งความคิดสร้างสรรค์” เขามีกลุ่มเพื่อนที่มีความเห็นไปในทางเดียวกันว่า “เศรษฐกิจสร้างสรรค์จำเป็นต่อบาหลี” ปัจจุบันมีศิลปินและนักออกแบบในหลายสาขาที่รวมตัวกันเป็นเครือข่ายที่เข้มแข็ง ทุกคนต่างพยายามทำงานในมุมของตน (แต่ก็สนับสนุนซึ่งกันและกัน) เพื่อสร้างสรรค์คุณค่าใหม่ๆ ให้กับบาหลี นอกเหนือไปจากการท่องเที่ยว


เป็นเวลาหลายทศวรรษแล้วที่เศรษฐกิจของบาหลีอิงอยู่กับอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวเป็นหลัก ด้วยพื้นที่ทางภูมิศาสตร์อันสวยงามและทรัพยากรธรรมชาติที่มีอยู่อย่างเหลือเฟือ คนบาหลีสามารถสร้างรายได้ต่อเนื่องจากปัจจัยพื้นฐานเหล่านั้นมาโดยตลอด อย่างไรก็ตาม พวกเขาเพิ่งจะได้ตระหนักว่าอุตสาหกรรมท่องเที่ยวนี้เป็นอุตสาหกรรมที่อ่อนไหวที่สุด จากเหตุการณ์ลอบวางระเบิดเมื่อหลายปีก่อน ทำให้ผู้คนบาหลีกว่า 90% ที่เคยพึ่งพาการท่องเที่ยวแทบอยู่ไม่รอด พอครั้นจะลืมตาอ้าปากได้ ก็มาโดนระเบิดซ้ำสอง ซึ่งแม้จะไม่ได้ก่อความเสียหายทางกายภาพ แต่ก็ทำเอานักท่องเที่ยวหยุดแพ็คกระเป๋าเดินทางไปเลย นั่นก็คือ “การระบาดของไข้หวัดนก ...ต่อเนื่องมาถึงไข้หวัด 2009” นั่นเอง


bali-indie3


เดทูและเครือข่ายของผู้สนใจในเศรษฐกิจสร้างสรรค์ต่างพยายามผลักดันและนำเสนอโครงการต่างๆ ไปยังนายกเทศมนตรีและเทศบาลเมือง ซึ่งในช่วงแรกทางเทศบาลก็มองว่า สิ่งที่พวกเขาพยายามทำนั้นเป็นแค่เพียงส่วนหนึ่งของการท่องเที่ยว แต่พอเวลาผ่านไป ผู้คนก็เริ่มมีความเข้าใจมากขึ้นว่า เศรษฐกิจสร้างสรรค์นั้นแตกต่างออกไป และไม่ใช่แค่การท่องเที่ยว


เดทูแสดงทรรศนะว่า เมืองบาหลีนั้นมีอัตลักษณ์พิเศษต่างๆ มากมาย ซึ่งหากชาวเมืองเข้าใจดีแล้ว ก็จะสามารถหยิบยกมาใช้สร้างมูลค่าได้ (แน่นอนว่า การท่องเที่ยวก็สามารถพ่วงเข้ามาได้อยู่แล้ว) เมื่อเทศบาลเมืองเริ่มเห็นพ้อง ก็เริ่มให้การสนับสนุนโครงการต่างๆ และเชื้อเชิญเครือข่ายเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในการประชุมเพื่อพัฒนาเมืองในบางวาระด้วย


ในด้านของธุรกิจดนตรีนั้น เดทูบอกว่า จากที่ไม่เคยได้รับความสนใจเลย ปัจจุบันเทศบาลก็ให้การสนับสนุนด้านงบประมาณเพื่อเชิญศิลปินจากที่ต่างๆ มาแสดงคอนเสิร์ต ซึ่งก็ได้รับการตอบรับเป็นอย่างดี แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น เดทูก็มองว่า การผลักดันเรื่องเศรษฐกิจสร้างสรรค์ในบาหลีนั้น ยังอยู่ในช่วงเริ่มต้นมากๆ มีผู้คนที่รับรู้และเข้าใจในวงจำกัด สิ่งที่พวกเขาทำได้ในตอนนี้ คือ การพยายามทำงานไปเรื่อยๆ ให้ดีที่สุด-มากที่สุด เพื่อสร้างตัวอย่างความสำเร็จไว้ให้คนรุ่นใหม่ในอนาคต


เกี่ยวกับรูดอล์ฟ เดทู
รูดอล์ฟ เดทู ถือเป็นหัวหอกสำคัญผู้สร้างความเคลื่อนไหวให้กับดนตรีอินดี้ในบาหลี หลังจากที่เขาลาออกจากงานบนเรือสำราญ เขาก็เริ่มทำเว็บไซต์สถานีวิทยุออนไลน์ และด้วยความสนใจในดนตรี ประกอบกับทักษะในการเจรจาและการชักจูง วง Superman is dead จึงติดต่อเขาให้เป็นพิธีกรในงานคอนเสิร์ต รวมทั้งให้ทำแผนประชาสัมพันธ์ให้ด้วย คอนเสิร์ตครั้งนั้นของพวกเขาประสบความสำเร็จอย่างสูง มีผู้ชมแน่นขนัด ทางวงจึงขอให้ รูดอล์ฟ เดทู รับตำแหน่งผู้จัดการวงด้วยเลยในเวลาต่อมา


ขณะที่ทำงานให้กับวง Superman is dead รูดอล์ฟ เดทู ยังเป็นคอลัมนิสต์ให้กับนิตยสารดนตรีหลายฉบับ งานเขียนของเขาชักชวนให้ผู้คนเริ่มเข้ามาสนใจดนตรีในบาหลี และด้วยความที่เขาชอบเริ่มต้นทำงานทุกอย่างด้วยตัวเอง ทำให้เขาเป็นคนมีข้อมูลลึก รวมทั้งมีคอนเน็กชั่นในวงการต่างๆ มากมาย ซึ่งนั่นก็เป็นส่วนผสมหลักของการเป็นนักเคลื่อนไหวตัวฉกาจในวันนี้นั่นเอง


เรื่อง: อศิรา พานาราม 
ที่มา: TCDCCONNECT.COM

ลิงค์ที่เกี่ยวข้อง
http://
www.musikator.com
http://decool.wordpress.com/2007/11/18/about-superman-is-dead/
http://www.suicideglam.net/


เครดิตภาพ
http://www.flickr.com/photos/musikator/3281689501/in/set-72157613825887759/
http://www.musikator.com/gallery/

Views: 489

Comment

You need to be a member of PORTFOLIOS*NET to add comments!

Join PORTFOLIOS*NET

Comment by Sittichai Jittatad on January 27, 2010 at 10:22am
งานปล่อยแสง 5 ก็จะช่วยวงการดนตรี โดยเฉพาะอินดี้ในบ้านเรา คึกคักขึ้นมาบ้างไม่มากก็น้่อย

© 2009-2024   PORTFOLIOS*NET by CreativeMOVE.   Powered by

Badges  |  Report an Issue  |  Terms of Service