การทำปฺฏิทินตั้งโต๊ะขนาดเล็ก

“การทำปฺฏิทินตั้งโต๊ะขนาดเล็ก” ก่อนหน้านี้เราเคยเปิดเบรคการทำปฏิทินตั้งโต๊ะประกอบบล็อคไว้นานแล้ว แต่ในช่วงหลังได้เข้ามาแก้ไขบล็อคใหม่ ทำให้เผลอลบทิ้งไปทั้งหมด ปี 2551 กำลังจะผ่านพ้นไป และปี 2552 กำลังจะมาถึงในอีก 2 เดือนข้างหน้านี้ เทศกาลปีใหม่กำลังจะเกิดขึ้น ฤกษ์ดีในการรื้อฟื้นปฏิทินมาถึงแล้ว เพื่อเป็นแนวทางให้เพื่อน ๆ นำไปทำปฏิทินส่วนตัวที่มีขนาดเล็กได้ด้วยฝีมือตัวเอง เนื้อหาและภาพประกอบในเวอร์ชั่นใหม่ ชัดเจนกว่าเดิม และสามารถแก้ไขปัญหาการหลุดของแผ่นปฏิทินได้แล้ว ลองทำกันดูนะคะ

“บทความเบื้องต้น” นำร่องเรื่องปฏิทินกันนิดหนึ่ง คือช่วงหลังในการทำปฏิทินของเราจะนำไปอัดแล็ป ไม่ได้ใช้วิธีพิมพ์ผ่าน Printer ด้วยตัวเองอีก และปฏิทินของเราจะมีขนาดเล็ก ไม่ใช่ขนาดมาตราฐานทั่วไป เราจะใช้วิธีสร้างไฟล์ภาพบนโปรแกรมโฟโต้ชอป จากนั้นนำไปอัดที่ขนาด 6"*4" แต่เนื่องจากมันต้องถูกนำมาเคลือบแผ่นพลาสติคอีกชั้นหนึ่ง ซึ่งแผ่นเคลือบพลาสติกที่เหมาะสมที่สุดคือ ขนาด 11*15.4 ซม. หากเทียบเป็นนิ้วจะเกิน 6"*4" ด้านละนิดหน่อย ถ้านำภาพที่อัดแล็ปขนาดจัมโบ้ (6*4) มาใส่ในแผ่นเคลือบนี้ ความกว้างของแผ่นเคลือบจะเหลือขอบกำลังดี แต่ความยาวของแผ่นเคลือบจะพอดีเกินไป ดังนั้นวิธีแก้ไขคือทำต้นฉบับของไฟล์ให้เหลือพื้นที่ทางด้านขวาประมาณ 8 มม. (เกือบ 1 ซม.) จากภาพขนาด 6"*4" ที่อัดมาจากแล็ป จะออกมาตามภาพที่เห็นรวมพื้นที่สีแดงทางด้านขวามือด้วย เมื่อนำไปวางบนแผ่นเคลือบขนาดข้างต้น (สีเทาอ่อนแทนแผ่นเคลือบ) จะเห็นว่าด้านบนและด้านล่างจะเหลือพอให้เป็นขอบกำลังดี แต่ความยาวของภาพยาวพอดีเกินไปกับความยาวของแผ่นเคลือบ ไม่เหลือขอบทางด้านซ้ายและขวาเลย จีงมีการเทสีแดงลงไปบนไฟล์ภาพ เพื่อให้เห็นเด่นชัด รอการตัดออกหลังการอัดแล็ป จากนั้นจะนำไปใส่แผ่นเคลือบได้พอดี ได้พื้นที่ของขอบแผ่นเคลือบเหมาะสมทั้ง 4 ด้าน โดยที่ไม่ต้องตัดแผ่นเคลือบเลย ลดความยุ่งยากลงไปได้ หากใครไม่ต้องการเคลือบแผ่นปฏิทินก้อผ่านตรงนี้ไปได้ ไม่มีอะไรต้องคิดมากนะคะ



กรณีที่ใครมีเครื่องอิงค์เจ็ต สามารถพิมพ์ขนาดภาพตามที่ต้องการได้ ไม่ต้องออกไป Test Lab ยิ่งถ้าแล็ปอยู่ไกลบ้านจะยุ่งยากและเสียเวลา ปัจจุบันมีกระดาษที่กันน้ำได้ และเนื้อของกระดาษมีการอัดลวดลายให้เลือกมากมาย ควรใช้ที่ความหนาประมาณ 240 แกรม กระดาษบางชนิดจะพิมพ์ได้ทั้งหน้า-หลัง ขายเป็นแพ็คเล็ก จุแพ็คละ 10 แผ่น เป็นกระดาษขนาด A4 การพิมพ์เองที่ให้หน้าหลังให้ตรงกันเป๊ะ ๆ เป็นเรื่องยุ่งยากสำหรับเรา และกระดาษที่พิมพ์ได้ทั้ง 2 หน้า มีรูปแบบให้เลือกน้อยกว่ากระดาษหน้าเดียว ดังนั้นเมื่อก่อนเราจึงเลือกใช้กระดาษแบบหน้าเดียว แล้วนำประกบให้เป็นหน้าหลังด้วยกาวแท่ง เมื่อคำนวนต้นทุนแล้วพบว่าราคาอัดแล็ปแถวบ้านเราคือ 4.-บาท ราคาไม่ได้แพงกว่าการที่มาซื้อกระดาษมาพิมพ์จากเครื่อง InkJet เอง และกระดาษที่ขนาด A4 จะนำมาพิมพ์ปฏิทินในขนาดที่เราต้องการได้ 2 แผ่น เอาเป็นว่าด้วยหลายเหตุผล เช่น ยุ่งยากน้อยกว่า ราคาถูกกว่า คุณภาพดีกว่า ความคมชัดและความคงทนดีกว่ามาก การอัดแล็ปจึงเป็นทางเลือกในปัจจุบัน มาสนุกสนานกับเมนู "ปฏิบัติการทำปฏิทิน" กันเลยนะคะ





“วัตถุดิบ” มาดูวัตถุดิบที่ใช้ในการทำปฏิทินทั้งหมดก่อนว่าจะต้องเตรียมอะไรกันบ้าง สิ่งที่จะต้องเตรียมมีรายละเอียดตามหัวข้อดังต่อไปนี้:-

1. แผ่นปฏิทิน อัดแล็ปที่ขนาด 6*4 (จัมโบ้) ราคาอัดจากร้านประจำคือ 4.-บาท ตรงนี้เราจะไม่มีวิธีการทำให้ดู เนื่องจากมีความยุ่งยาก ไม่สามารถจบได้ภายในเบรคเดียว แต่มีข้อแนะนำอยู่ในช่วงบทความเบื้องต้นและช่วงท้ายของเบรคนี้ เพื่อน ๆ ต้องหาวิธีทำกันเอง จะโดยวิธีไหนเลือกตามความถนัด คำว่า "อัดแล็ป" คือการนำไปอัดภาพที่ร้านถ่ายภาพทั่วไปนะคะ

2. แผ่นเคลือบพลาสติก เราใช้ยี่ห้อ Super Lamifilm “Sanko” ขนาด 110*154 มม. (11*15.4 ซม.) หนา 125 ไมคอน โดยความหนาที่ 125 ไมคอน จะเป็นความหนาที่ใช้ได้กับเครื่องเคลือบทุกรุ่น บรรจุกล่องละ 100 แผ่น ราคากล่องละ 230.-บาท โดยเฉลี่ยตกราคาแผ่นละ 2.50 บาท เราซื้อที่แมคโครออฟฟิต หากใครไม่ได้ทำบ่อย สามารถนำแผ่นปฏิทินไปที่ร้านเคลือบ เขาจะมีบริการแผ่นเคลือบด้วย โดยเราไม่ต้องซื้อแผ่นเคลือบยกกล่อง แต่มีข้อสังเกตุในการการคเลือบที่จะทำให้คุณภาพของการเคลือบออกมาดี ติดตามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ใน "ขั้นตอนการเคลือบ"

3. กระดาษชานอ้อยความหนาที่ 1.20 มม. (490 แกรม) จะเป็นแผ่นขนาด 22”*30” ซม. ราคาแผ่นละ 34.-บาท ในจำนวน 1 แผ่น ถ้าตัดไม่ผิดเลย สามารถนำมาประกอบเป็นชุดปฏิทินขนาดของเราได้ 8 ชุด หาซื้อได้ตามร้านเครื่องเขียนทั่วไป ความหนาที่ระบุไว้มีความเหมาะสมกับขนาดปฏิทินของเรา ควรตรวจสอบด้วยว่าเครื่องเจาะรูจะสามารถเจาะได้หรือไม่ บางคนอาจมีเครื่องเจาะอันเล็ก ๆ จะเจาะไม่ได้ และมันต้องถูกเคลือบด้วยกระดาษอีกชั้นหนึ่ง ดังนั้นความหนาจะมากขึ้น กระดาษชานอ้อยนี้มีไว้สำหรับทำฐานปฏิทิน

4. กระดาษสติกเกอร์ ซื้อได้ตามแผนกเครื่องเขียนทั่วไป ราคาแผ่นละ 29.-บาท ถ้าตัดไม่ผิดเลยใน 1 แผ่น จะสามารถนำมาทำเป็นปฏิทินที่ขนาดของเราได้ 3 ชุด การที่เราใช้กระดาษสติกเกอร์ คือจะไม่ยุ่งยากในการติดกาว เพราะจะเอาไปหุ้มฐานปฏิทินที่ทำจากกระดาษชานอ้อยอีกทีหนึ่ง หากใครไม่ต้องการใช้กระดาษสติ๊กเกอร์ เนื่องจากสีที่ใช้อาจมีให้เลือกแบบจำกัด และมีความมันอยู่ในเนื้อของกระดาษ หลายคนอาจไม่ชอบ (เราก้อไม่ชอบ แต่ยังหาทางเลือกอื่นที่ดีกว่านี้ไม่ได้) หากไม่ใช้กระดาษสติ๊กเกอร์ เพื่อน ๆ สามารถใช้กระดาษสีโปสเตอร์ชนิดบางแทนได้ มันจะง่ายในการใช้ปากกากำหนดตำแหน่งที่จะวางฐานปฏิทิน แต่กระดาษสติ๊กเกอร์ใช้ปากกากำหนดตำแหน่งวางฐานปฏิทินไม่ได้ เพราะมีกาวติดอยู่ในเนื้อของกระดาษ รายละเอียดดูเพิ่มเติมได้ใน "ขั้นตอนการทำฐานปฏิทิน"

5. กาวสำหรับติดแผ่นปฏิทิน คือภาพที่เราอัดแล็ปมาจะมีหน้าเดียว ต้องเอาแผ่นปฏิทิน 2 อัน มาประกบกันให้เป็นหน้าหลังเหมือนปฏิทินทั่วไป ที่ใช้ง่ายและสะดวกคือกาวแท่ง มีเนื้อสีขาว สุขใจกว่าใช้สีม่วงนะคะ

6. กาวสำหรับทำฐานปฏิทิน ถ้าใช้กระดาษสติ๊กเกอร์ ไม่จำเป็นต้องใช้กาวในส่วนนี้ แต่ถ้าใช้กระดาษโปสเตอร์ต้องมีกาวอีกชนิดหนึ่ง เข้าใจว่ากาวแท่งจะเอาไม่อยู่ เพราะฐานปฏิทินต้องเป็นส่วนที่แข็งแรง น้องสาวเราบอกว่าจะให้เรียบเนียนต้องเป็นกาวสเปย์ แต่ถ้าคนใช้ไม่เป็นอาจยุ่งยาก เสียแล้วเสียเลย แก้ไขไม่ได้ สำหรับเราไม่ถนัดการใช้กาวสเปรย์ เพราะต้องใช้พื้นที่มากในการพ่น จึงหันไปใช้กระดาษสติ๊กเกอร์แทน คือกระดาษทั้งสองชนิดมีข้อดีและข้อเสียแตกต่างกัน ใครถนัดแบบไหนให้ใช้แบบนั้น

7. ตุ้มหูโลหะ ปกติเราใช้ห่วงโลหะ เส้นผ่าศูนย์กลาง 1 ซม. ด้วยขนาดปฏิทินของเราไม่สามารถใช้ห่วงเล็กหรือใหญ่กว่านี้ได้ แต่การใช้ห่วงโลหะแบบเดิมจะมีปัญหาคือแผ่นปฏิทินมักจะหลุดออกมาง่ายมาก ต้องรู้จังหวะการเปิดจึงจะทำให้หลุดยากขึ้น เมื่อหลุดแล้วแม้ว่าสามารถใส่เข้าไปได้ง่าย แต่มันทำให้เสียอารมณ์พอสมควร ทั้งห่วงโลหะและตุ้มหูขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 1 ซม. หาซื้อค่อนข้างยาก จริง ๆ แล้วตุ้มหูลักษณะนี้ตรงตามคอนเซ็บต์ของเรา เคยเห็นมันวางขายอยู่ในห้างฯ ราคาคู่ละหลักร้อยบาทขึ้นไป และปฏิทิน 1 ชุด ต้องใช้ตุ้มหู 6 อัน คือจำนวน 3 คู่ ก้อปาเข้าไปหลายร้อยบาท เราจึงต้องทนใช้ห่วงโลหะมาตลอด เพราะยังหาอะไรแทนไม่ได้ หากเพื่อน ๆ รู้จักกับโรงพิมพ์ นำไปให้เขาเจาะแล้วร้อยห่วงมาตราฐานแบบที่เราเคยเห็นปฏิทินตั้งโต๊ะทั่วไป ได้ แน่นหนา ไม่หลุด สวยงาม หรือนำไปเจาะร้อยห่วงแบบกระดูกงู เหมือนการทำรูปเล่มเอกสาร มีร้านรับทำอยู่ทั่วไป แน่นหนา ไม่หลุดง่าย แต่เราว่าดูไม่สวยเลย สำหรับเราทั้งสองวิธีนี้ไม่ใช่คอนเซ็บต์ จึงไม่เคยใช้บริการนะคะ เมื่อไม่นานที่ผ่านมา น้องผู้หิวโหยเอาของกระจุกกระจิกมาขาย หนึ่งในนั้นคือตุ้มหูมีสเปคตรงที่เราต้องการทุกอย่าง และราคาถูกกว่าชนิดที่เราเจอในห้างฯ เยอะมาก



ภาพ B. ตุ้มหูที่ได้มาจากน้องผู้หิวโหย มีเส้นผ่าศูนย์กลางเท่ากับห่วงโลหะอันเดิมคือ 1 ซม. ด้วยดีไซน์ของตุ้มหูมันจะไม่มีรอยต่อที่ห่างกันเหมือนห่วงโลหะแบบเดิมที่เคย ใช้อยู่ ดังนั้นมันจะทำให้แผ่นปฏิทินเราไม่หลุดอีกต่อไป น้องผู้หิวโหยมีมาขาย 2 สี คือ “สีเงิน” และ “สีแฟนตาซี” สำหรับสีเงินคู่ละ 20.-บาท สีแฟนตาซีคู่ละ 40.-บาท เราบ้าเลือดเหมามาหมด 60 คู่ เธอลดราคาให้เยอะเหมือนกัน เข้าใจว่าแหล่งซื้อคงมาจากสำเพ็ง เราเคยไปเดินครึ่งวันเพื่อหาห่วงโลหะแบบเดิม ไม่เจอเลยมีแต่เล็กกว่าหรือใหญ่กว่า ครั้งนั้นเราดูตุ้มหูเป้าหมายที่ไม่ได้ทำด้วยเงิน แต่ก้อไม่เจอ คือคนไม่ชำนาญและไม่รู้จุดขายนี่จะลำบาก ค่าแท็กซี่ไปกลับอีก 400 กว่าบาท ไม่ได้อะไรกลับมาเลย เอาเป็นว่าเราไม่ซีเรียสในราคาที่ซื้อจากน้องผู้หิวโหย และคำว่า “ตุ้มหู” ดูกิ๊บเก๋กว่าคำว่า “ห่วงโลหะ” นะคะ



ภาพ A. รูปห่วงแบบเดิม ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 1 ซม. มีสองสีคือสีเงินและสีทอง เวลาซื้อต้องระวัง เพราะขนาดไล่เลี่ยกันมาก เราซื้อผิดมาหลายครั้ง เพราะแยกไม่ออกได้ด้วยสายตา หลายคนอาจสงสัยทำไมแผ่นปฏิทินหลุดง่าย คือการบีบให้ห่วงมันชนกันสุดแล้วก้อไม่สามารถแก้ปัญหาได้ เป็นเพราะกระดาษเคลือบมีความบางมากเกินไป หาซื้อห่วงโลหะชนิดนี้ได้ตามแผนกขายไหม หรือร้านขายอุปกรณ์ประดิษฐ์ชิ้นงานต่าง ๆ ค่อนข้างหาซื้อยาก โดยเฉพาะที่ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 1 ซม. ส่วนใหญ่จะมีเล็กกว่าหรือใหญ่กว่า ราคาที่เคยซื้อต่ำสุดห่วงละ 1.-บาท สูงสุดที่เคยซื้อคือห่วงละ 2.-บาท ปัจจุบันเราไม่ใช้ห่วงโลหะชนิดนี้แล้ว

“อุปกรณ์เสริม” เป็นเครื่องมือทั่วไปที่เราแยกหัวข้อมาจากวัตถุดิบ มีรายละเอียดดังต่อไปนี้

1. มีดคัตเตอร์ ซื้อใบมีดมาสำรองด้วย พยายามตัดใบทิ้งบ่อย ๆ ไม่ต้องกลัวเปลือง เพราะความคมของมีดจะทำให้ชิ้นงานเรียบเนียน

2. ไม้บรรทัด แผ่นรองตัด และปากกาหรือดินสอสำหรับมาร์คตำแหน่ง

3. เครื่องเจาะกระดาษ ควรเป็นแบบอันใหญ่หน่อย มีที่กั้นกระดาษด้วยจะยิ่งดี ทั้งนี้เพื่อความแม่นยำในการเจาะ หากเป็นอันเล็กต้องดูด้วยว่ามันจะเจาะกระดาษชานอ้อยที่ต้องห่อกระดาษทับ อีกรอบหนึ่งได้หรือเปล่า ของเราซื้อเป็นของตัวเอง จำไม่ได้ว่าตอนที่ซื้อราคาเท่าไหร่ เพราะนานหลายปีแล้ว

4. เครื่องเคลือบ เราใช้ขนาดเล็ก ราคาพันกว่าบาท มันสามารถใช้เคลือบแผ่นเคลือบขนาดที่เราใช้คือ กว้าง 11*15.4 ซม. ได้พอดี ใครไม่มีเครื่องเคลือบ สามารถนำไปให้ร้านรับเคลือบได้ แต่มีข้อควรรู้บางประการ ดูรายละเอียดเพิ่มเติมต่อไปในหัวข้อ "การเคลือบปฏิทิน"



“ขั้นตอนที่ 1 ปฏิบัติการทำแผ่นปฏิทิน” ต้องทำแผ่นปฺฏิทินให้เรียบร้อยก่อน ให้เลือกวิธีตามสะดวกที่แต่ละคนทำได้ ส่วนของเราได้ทำไฟล์ทั้งหมดเรียบร้อยแล้ว มีจำนวนปฏิทิน 12 ไฟล์ ปกหน้าและปกหลังอีก 2 ไฟล์ รวมเป็น 14 ไฟล์ โดยใช้สัดส่วนที่ 3:2 ซึ่งเป็นสัดส่วนเดียวกับที่การพิมพ์แล็ปในขนาด 6”*4” เอาตัวอย่างไฟล์ที่ทำไว้มาให้เห็น 4 ไฟล์ โดยข้างขวาของแต่ละไฟล์เว้นว่างไว้ประมาณ 8 มม. ซึ่งเป็นส่วนที่เทสีแดงลงไปให้เห็นเด่นชัดในการกำหนดเป็นส่วนที่จะต้องตัด ออก เพื่อให้เหลือขนาดของภาพพอดีกับการนำไปใส่ในแผ่นเคลือบ นี่คือตัวอย่างไฟล์ที่เปิดดูในจอคอมพิวเตอร์




จากนั้นนำไฟล์ทั้งหมดไปอัดแล็ปออกมาเรียบร้อยแล้วที่ขนาด 6"*4" ในแต่ละภาพจะมีขอบสีแดงที่เราเทสีไว้ติดมาด้วยเหมือนไฟล์ต้นฉบับที่ทำไว้ทุก ประการ พื้นที่สีแดงที่กว้างประมาณ 8 มม. เราจะต้องตัดออกในขั้นต่อไปนะคะ




เราทำการตัดพื้นที่สีแดงทางด้านขวามือออกไปด้วยคัตเตอร์แล้ว ทำให้ภาพเหลือสั้นลง เมื่อนำไปใส่ในแผ่นเคลือบจะได้พอดี เหลือขอบที่เท่า ๆ กันทั้ง 4 ด้าน เวลาตัดก้อใจเย็น ๆ งานจะได้ออกมาเนียน เราจะต้องมาเช็คงานที่ตัดแล้วอีกครั้งในตอนต่อไป




ปฏิทินโดยทั่วไปจะมีด้านหน้าและด้านหลัง แต่เราอัดแล็ปออกมาเป็นหน้าเดียว ดังนั้นนำแผ่นปฏิทินที่ตัดมาจับเป็นคู่ ๆ เพื่อติดกาวให้กลายเป็นว่า 1 แผ่น มีทั้งด้านหน้าและด้านหลัง ทีนี้ปฏิทินของเราจะมีปกหน้าและปกหลังด้วย เราจะนำแผ่นปกหน้ามาคู่กับเดือนที่ 1 (มค.) และเดือน 2 คู่กับเดือน 3 ไล่เป็นคู่ ๆ ไปจนถึงคู่สุดท้ายคือเดือน 12 (ธค.) จะต้องคู่กับปกหลัง เมื่อเสร็จแล้วจะได้แผ่นปฏิทินจำนวน 7 คู่ (14 ภาพ)

จากภาพนี้แสดงให้เป็นคู่แรกคือปกหน้าคู่กับเดือน 1 (มค.) ภาพที่เกิดก่อนคือปกอยู่ด้านหน้า ภาพที่เกิดต่อมาคือเดือน 1 จะอยู่ด้านหลัง ตั้งภาพตามปกติทั้งสองด้าน



อีกตัวอย่างหนึ่งเป็นคู่ที่ 6 ซึ่งจะเป็นเดือนที่ 10 (ตค.) คู่กับเดือนที่ 11 (พย.) จำไว้ว่าต้องเรียงเหตุการณ์ตามลำดับเป็นคู่ ๆ ไว้ก่อน แต่ละคู่ให้ดูว่าเหตุการณ์ใดที่มาก่อนให้อยู่ด้านหน้า ส่วนเหตุการณ์ต่อไปจะอยู่ด้านหลัง จากนั้นตรวจสอบทุกคู่ก่อนทากาวว่าเมื่อนำมาประกบกันแล้ว หากไม่เท่ากันเป๊ะ ๆ ซะทีเดียว ซึ่งเกิดจากการที่มือไม่เที่ยงในตอนตัด ถ้าพบว่าคู่ไหนมีปัญหาต้องทำการตกแต่งขอบภาพให้ดีที่สุดเท่าที่จะทำได้



จากนั้นเริ่มทากาวประกบให้ติดกัน เวลารีดให้สนิท ควรใช้ผ้าหรือกระดาษทับไว้ที่ด้านบนของภาพก่อน ภาพจากปฏิทินจะได้ไม่เป็นรอยหรือคราบนิ้วมือ ระวังกาวเลอะด้วย ถ้ากาวเลอะขึ้นมาบนภาพจะทำความสะอาดยากมาก สุดท้ายจะเป็นรอยด่างประทับอยู่บนภาพไปตลอดชีวิต และการทากาวควรปาดให้เกือบทั่วภาพ อย่าทาเฉพาะตรงมุมและตรงกลาง การละเลงกาวลงไปอย่าให้เป็นก้อน ไม่งั้นมันจะบวมได้ เมื่อติดกาวครบทุกคู่แล้วนำมาตรวจสอบทีละคู่อีกครั้ง ว่าแต่ละคู่มีรอยคลาดเคลื่อนระหว่างแผ่นหน้ากับแผ่นหลังหรือไม่ ถ้าพบว่ามีต้องตัดแต่งขอบให้เรียบร้อยอีกครั้ง จากนั้นนำทุกคู่ที่ทากาวจนแห้งแล้วมาซ้อนรวมกันทั้งหมด จะพบว่าทุกคู่ไม่เท่ากันเป๊ะ ๆ แต่ไม่ต้องซีเรียส เพราะมันจะถูกจับไปไว้ในแผ่นเคลือบที่มีขนาดเท่ากันอีกทีหนึ่ง แต่ถ้าพบว่าคู่ไหนมันแหว่งมากไป ให้พิจารณาว่ารับได้หรือไม่ ถ้ารับไม่ได้ต้องทำชิ้นงานใหม่ขึ้นมาชดเชย



“ขั้นตอนที่ 2 ปฏิบัติการเคลือบแผ่นปฏิทิน” เมื่อแน่ใจว่ากาวแห้งและประกบคู่กันสนิทดีแล้ว นำแผ่นปฏิทินที่เป็นคู่ ๆ มาใส่แผ่นเคลือบ จัดตำแหน่งให้ได้ตรงกลางทุกแผ่น และเรียงให้ถูกต้อง ถ้าไม่มีเครื่องเคลือบนำไปให้ที่ร้านเคลือบได้ หรือสามารถใช้บริการแผ่นเคลือบจากร้านเคลือบได้ แต่เราจะหลีกเลี่ยงการใช้บริการจากร้านเคลือบ เพราะถ้าเขาไม่มีแผ่นเคลือบขนาดที่เราต้องการ เขาจะใช้แผ่นเคลือบที่ใหญ่กว่านี้ อาจใส่ปฏิทินได้ 2 คู่ ทำให้เราต้องกลับมาตัดออกทั้ง 4 ด้าน ตรงนี้ยุ่งยาก เพราะแผ่นเคลือบตัดยากกว่าการตัดกระดาษ หรือถ้าเขามีแผ่นเคลือบขนาดที่เราต้องการ เขาอาจมีความใส่ใจในรายละเอียดบางอย่าง อาจทำชิ้นงานในแผ่นเคลือบเป๋ไปบ้าง ทำให้คุณภาพงานออกมาไม่สวยเท่าที่ควร ดังนั้นเราจึงเลือกทำเองทั้งหมด ซื้อแผ่นเคลือบเอง และเคลือบเอง จากประสบการณ์พบว่าเครื่องเคลือบบางอันอาจมีปัญหาในการเคลือบมากน้อยต่างกัน เช่น เกิดรอยครูดของเครื่องเคลือบ ภาพที่มีแบ็คกราวน์สีดำจะมองเห็นชัดเจนกว่าภาพที่มีแบ็คกราวน์เป็นสีขาว วิธีแก้ไขคือใช้กระดาษพิมพ์งานตามปกติมาพับครึ่ง แล้วห่อแผ่นเคลือบไว้ทั้งหมด จากนั้นค่อยใส่เข้าไปในเครื่องเคลือบ คือแผ่นเคลือบจะถูกหุ้มด้วยกระดาษทั้งด้านหน้าและด้านหลัง แต่ต้องใช้เวลาเคลือบหลาย ๆ ครั้งเพื่อความเรียบเนียน ตรงนี้สามารถแก้ปัญหาลดรอยครูดของเครื่องเคลือบให้ลดลงได้ และการนำไปเคลือบที่ร้านอาจเกิดปัญหาฟองอากาศแบบไม่สามารถแก้ไขได้ สาเหตุเป็นที่เครื่องเคลือบไม่ดี ดังนั้นต้องทำแผ่นทดลองติดไปด้วยอย่างน้อย 2 แผ่น ถ้าพบว่าร้านนี้ไม่เวิร์คให้เปลี่ยนร้านทันที การเคลือบที่ดีจะต้องไม่มีฟองอากาศ ไม่มีร่องรอยการครูดมากเกินไป (เกิดได้ในทุกเครื่อง อยู่ที่เป็นมากหรือน้อย) และต้องเรียบเนียนในระดับที่ยอมรับได้นะคะ


แผ่นสีเทาเปรียบเทียบว่าคือแผ่นเคลือบ ขนาด 11*15.4 ซม. เมื่อนำแผ่นปฏิทินไปวางบนแผ่นแคลือบจะวางได้พอดี เหลือขอบภาพทั้ง 4 ด้านเท่า ๆ กัน ไม่ต้องมานั่งตัดให้ยุ่งยากอีก เวลาใส่เข้าเครื่องเคลือบจะต้องสอดทางด้านซ้ายเข้าไปก่อน เพราะมันจะมีรอยเคลือบติดมาแล้ว (สังเกตรอยเคลือบที่ติดมาจะเป็นสีเทาเข้มนิดหนึ่งทางด้านซ้ายมือนะคะ)




ดูเหมือนว่าขั้นตอนการเคลือบไม่น่าจะมีอะไรยุ่งยาก แต่ไม่ใช่เรื่องง่ายสำหรับเราเลยที่จะเคลือบออกมาให้ถูกใจ และมันไม่ง่ายเหมือนที่เราเคลือบบัตรประชาชน หรือเคลือบบัตรอื่น ๆ ซึ่งการดูของแต่ละคนอาจไม่เหมือนกัน เราไปทดลองเคลือบที่ร้าน 3 แห่ง โดยทางร้านเคลือบให้ แต่พบว่าร้านแรกต้องเอาทิ้งไป เกิดฟองอากาศ เคลือบซ้ำ ๆ ก้อไม่หาย เพราะเครื่องเคลือบไม่ดี ส่วนร้านที่สองพอใช้ได้ แต่เขาเคลือบให้เราแค่ 2 ครั้ง จะให้เนียนต้องเคลือบมากกว่านั้น แต่เขาไม่ทำให้และบอกว่ามันใช้ได้แล้ว มาถึงร้านสุดท้าย (แมคโครออฟฟิต) เราบอกว่าขอเคลือบเอง เพราะมันต้องเคลือบซ้ำซากหลายครั้ง ยินจะจ่ายค่าบริการให้ตามปกติ เขาคิดค่าบริการแผ่นละ 5.-บาท (เอาแผ่นเคลือบไปเอง) เราใช้เวลานานมาก สอดเข้าแล้วสอดเข้าอีก 6-7 ครั้ง บางแผ่นอาจมากกว่านั้น พบว่าได้ผลการเคลือบที่ถูกใจ และการห่อด้วยกระดาษอีกชั้นก่อนส่งเข้าเครื่องเคลือบเป็นเรื่องสำคัญนะคะ นอกจากนี้เรายังทดลองใช้แผ่นสติ๊กเกอร์ใสแทนแผ่นเคลือบ ผลที่ได้คือเราพอใจวิธีการเคลือบมากกว่า และการทำไม่ง่ายเหมือนที่คิด เพียงแต่เมื่อใช้แผ่นเคลือบต้องดูแลรักษาเป็น เพื่อที่จะให้มันคงสภาพที่ดีในระยะยาว เช่น เวลาจับอย่าไปจับที่ตัวภาพ แต่ให้จับที่ขอบแผ่นเคลือบแล้วพลิกไปทีละหน้า เพราะแผ่นเคลือบจะเลอะรอยนิ้วมือง่าย หากเลอะต้องเช็ดด้วยผ้านุ่ม ไม่งั้นจะเกิดรอยเป็นเส้นขนแมว ในขณะที่เคลือบเสร็จแล้ว ก่อนที่จะนำมาประกอบเป็นชุดปฏิทิน ต้องระวังการขูดขีดจากสิ่งที่อยู่รอบ ๆ ตัวด้วย และการเคลือบที่ได้คุณภาพดีเท่านั้นจึงจะทำให้ชิ้นงานออกมาดูดี



“ขั้นตอนที่ 3 ปฏิบัติการทำฐานปฏิทิน” เมื่อได้ปฏิทินที่เคลือบเรียบร้อยแล้ว จึงค่อยมาทำฐานปฏิทิน หลักทั่วไปในการทำปฏิทินเข้าใจว่าตัวฐานจะมีขนาดเท่ากันแผ่นปฏิทินเป๊ะ แต่ของเราจะไม่ทำแบบนั้น เพราะที่โรงงานเขาตัดด้วยเครื่องมันจะเป๊ะมาก ของเราทำด้วยมือมีปัญหาเสียฐานหลายครั้ง และฐานที่เราทำจะไม่ได้ฉาก 100% เหมือนที่โรงงานทำ ดังนั้นอาจทำให้แผ่นปฏิทินเอียงตัวเล็กน้อยแล้วหลุดเฟรมออกนอกฐานปฏิทินไป ซึ่งไม่มากมาย แค่นิดเดียว แต่ดูแล้วเครียด รับไม่ได้กับปัญหาตรงนี้ ต้องเสียเวลาทำฐานขึ้นมาใหม่ เราก้อเลยแก้ไขทำฐานปฏิทินให้มีกว้างกว่าแผ่นปฏิทินเล็กน้อย คือถ้ามีปัญหาเอียงนิดหน่อย แผ่นปฏิทินก้อจะใม่เอียงหลุดออกจากฐานปฏิทิน ส่วนที่ความสูงเราจะให้สูงมากกว่าแผ่นปฏิทินที่เคลือบแล้วอีกเช่นเดียวกัน เพราะเวลาร้อยห่วงแล้วแผ่นปฏิทินมันจะห้อยลงมาต่ำกว่าปากฐาน


มาดูแผ่นปฏิทินที่เคลือบแล้วจะยาว 15.4 ซม. หรือเท่ากับความยาวของแผ่นเคลือบนั่นเอง แต่เราจะทำฐานปฏิทินให้ยาว 16 ซม. ดังนั้นเราต้องวัดกระดาษชานอ้อยที่ 16 ซม. ส่วนความสูงของแผ่นปฏิทินที่เคลือบแล้วจะสูง 11 ซม. หรือเท่ากับความยาวของแผ่นเคลือบนั่นเอง แต่เราจะทำฐานปฏิทินให้สูง 12 ซม. และทำแผ่นเล็กสำหรับเป็นก้นปฏิทินอีก 2 แผ่น โดยใช้ความยาวเท่ากันคือ 16 ซม. แต่มีความสูง 3 ซม. ขีดเส้นมาร์คไว้เลยแล้วตัดออกมาจะได้แผ่นฐานปฏิทินจำนวน 4 แผ่น (ตามภาพคือหมายเลข 1, 2, 3, 4)




เราตัดกระดาษชานอ้อยเพื่อเป็นฐานปฏิทินออกมาทั้ง 4 แผ่นแล้ว จากนั้นนำมาเรียงตามลำดับตามภาพข้างล่างนี้ โดยเว้นระยะให้มีความห่างระหว่างแผ่นประมาณ 2 มม. ตำแหน่งที่เว้นไว้เพื่อให้มันพับได้ ถ้าเว้นน้อยไปมันจะขี่กันไม่สวยงาม ถ้ามากเกินไปจะทำให้หลวม ๆ ไม่สวยอีกเช่นเดียวกัน ลองเอาไปวางบนพื้นผิวที่เรียบก่อน ซ้อมวางให้แม่น ๆ เพราะเราต้องนำไปวางบนกระดาษสติ๊กเกอร์ในรูปแบบนี้ กระดาษสติ๊กเกอร์มีกาวในตัว วางแล้วติดแน่นทันที จากนั้นทดลองเอาแผ่นปฏิทินที่เคลือบแล้ววางบนแผ่นที่ 1 หรือแผ่นที่ 4 จะต้องวางได้ เหลือขอบด้านซ้ายขวาอย่างละนิด ส่วนพื้นที่ด้านล่างจะเหลือมากกว่า ส่วนวงกลมสีแดงทั้ง 4 ตำแหน่งนั้น จะเป็นขอบเขตมวลรวมของกระดาษชานอ้อยที่เป็นฐานปฏิทินทั้งหมด ให้นำขนาดมวลรวมนี้ไปตัดกระดาษสติ๊กเกอร์ที่มีความใหญ่กว่าประมาณ 1" เป็นอย่างน้อย จำนวน 1 แผ่น ที่ต้องให้ใหญ่กว่า เพราะจะต้องพับขอบกลับเข้ามา ซึ่งจะเป็นเข้าสู่ขั้นตอนต่อไปใน "ปฏิบัติการห่อฐานปฏิทิน"





“ขั้นตอนที่ 4 ปฏิบัติการการห่อฐานปฏิทิน” กระดาษที่เราจะใช้ห่อฐานปฏิทินคือกระดาษสติ๊กเกอร์ ตัดให้ได้ขนาดตามหัวข้อด้านบน แล้วลอกออก นำไปวางบนพื้นผิวเรียบ โดยหงายหน้าที่มีกาวขึ้น เราจะย่อยออกเป็น 3 ขั้นตอนตามภาพ โดยสมมุติให้กระดาษสติ๊กเกอร์มีสีน้ำตาลอมเขียว (ถ้าดูในจอ CRT จะได้สีน้ำตาลอมเขียว แต่ถ้าดูบนจอ LCD บางเครื่องจะเห็นเป็นสีเทา) ส่วนสีขาวคือแผ่นกระดาษชานอ้อย


A. หยิบกระดาษชานอ้อยแต่ละแผ่นที่จัดเรียงไว้ตามหัวข้อข้างบน มาเรียงลงในกระดาษสติ๊กเกอร์ทั้ง 4 แผ่น ตามที่ได้ซ้อมไว้ โดยเว้นระยะให้ห่างกัน 2 มม. แล้วตัดมุมทั้ง 4 มุม ให้เป็นช่องสี่เหลี่ยมตามภาพ เมื่อพับเข้ามาจะทำให้มุมทั้งสี่ของฐานปฏิทินไม่หนาจนเกินไป

B. พับขอบส่วนเกินของกระดาษสติ๊กเกอร์เข้ามาบนกระดาษชานอ้อยทั้ง 4 ด้าน ออกมาได้ตามภาพ B ฐานปฏิทินของเราใกล้จะสำเร็จแล้ว

C. ตัดกระดาษสติ๊กเกอร์ให้มีขนาดเล็กกว่าแผ่นแรก ปิดทับลงไปที่ด้านบนของกระดาษชานอ้อย จะมองไม่เห็นกระดาษชานอ้อยแล้ว มันถูกหุ้มไปด้วยกระดาษสติ๊กเกอร์เรียบร้อยแล้ว ฐานปฏิทินของเราสำเร็จแล้วนะคะ




ตอนนี้เราจะนำฐานปฏิทินที่สำเร็จจากขั้นตอนข้างบนมาทดลองพับให้เป็นฐานสาม เหลี่ยม ต้องได้ฉากตามภาพประกอบข้างล่างนี้ ส่วนที่เว้นห่างไว้ 2 มม. จะเป็นส่วนที่ทำให้เราพับได้ทั้งหมด ซึ่งจะมีจุดที่พับได้ 3 ตำแหน่ง จากนั้นลองนำแผ่นปฏิทินที่เคลือบแล้วมาวางตรงกลาง จะพบว่าเหลือขอบด้านข้างซ้ายขวานิดหนึ่ง รวมทั้งด้านล่างด้วย ต่อไปจะเข้าสู่ปฏิบัติการเจาะรูกันแล้ว จากภาพเราทดลองกะตำแหน่งที่จะต้องเจาะรูทะลุไปถึงฐานของแผ่นหลังแบบคร่าว ๆ ให้เห็นก่อนที่จะเข้าสู่ "ปฏิบัติการเจาะรู"





“ขั้นตอนที่ 5 ปฏิบัติการเจาะปฏิทิน” มาถึงขั้นนี้เราจะมีชิ้นงานที่เสร็จเรียบร้อยแล้ว 2 ชนิด ซึ่งชนิดแรกคือแผ่นปฏิทินเป็นคู่ผ่านการเคลือบจำนวน 7 แผ่น และชนิดที่สองคือฐานปฏิทินที่ห่อกระดาษสติ๊กเกอร์จำนวน 1 แผ่น ชื้นงานทั้งสองชนิดพร้อมที่จะเตรียมถูกเจาะแล้ว แต่เนื่องจากการเจาะรูด้วยเครื่องเจาะรูนั้นมันต้องมีการประยุกต์ให้รูที่ ได้เหมาะสมกับชิ้นงาน เจาะเข้าไปสุดแนวเหมือนการเจาะกระดาษทั่วไปไม่ได้นะคะ ทีนี้มาดูภาพการเจาะรูแบบที่เราเจาะกันปกติ จะพบว่ารูอยู่ลึกจากขอบกระดาษ 6 มม. (ภาพประกอบซ้ายมือ) ซึ่งมันลึกเกินไป ห่วงโลหะไม่สามารถคล้องได้ ซึ่งระยะห่างของรูจะต้องอยู่ลึกจากขอบกระดาษแค่ 2 มม. (ภาพประกอบทางด้านขวามือ) จึงจะเหมาะสมกับการเจาะปฏิทินของเรา




การที่จะเจาะให้รูได้ในตำแหน่งที่ต้องการ โดยห่างจากขอบของปฏิทินเพียง 2 มม. ดูเหมือนว่าจะเป็นเรื่องยุ่งยาก เพราะเครื่องเจาะเขาจะมีแนวมาตราฐานมาให้ สำหรับเราจะเจาะทีละแผ่น ไม่ได้เจาะปฏิทินหลายแผ่นรวมกันในครั้งเดียว เพราะแผ่นเคลือบมันลื่น อาจเลื่อนได้ ทำให้รูเจาะคลาดเคลื่อนในบางแผ่น ทีนี้การสอดกระดาษเข้าเครื่องเจาะให้เป๊ะทุกแผ่น โดยไม่ได้อาศัยแนวมาตราฐานของเครื่องเจาะจะลำบากมาก ดังนั้นเราจะมากำหนดแนวใส่กระดาษบนเครื่องเจาะใหม่ เพื่อให้การเจาะง่ายขึ้นและแม่นยำทุกแผ่น จากภาพประกอบที่ด้านล่างจะอธิบายย่อยเป็น 2 หัวข้อนะคะ

ภาพ A. ทดสอบการเจาะแบบปกติเหมือนการเจาะกระดาษทั่วไปก่อน เราสอดซอง Sony เข้าไปจนสุดแนวของเครื่องเจาะ นั่นคือการเจาะกระดาษแบบมาตราฐานสากล



ภาพ B. เมื่อมองตามภาพจะพบว่า แนวที่กระดาษที่สอดไปตามปกติของภาพ A. จะอยู่สูงกว่า ทำให้ได้รูที่เจาะอยู่ลึกกว่า แต่แนวกระดาษสีน้ำเงินที่มีขอบขาวจะอยู่ต่ำกว่า เราจะต้องสอดแผ่นปฏิทินเข้าไปให้สุดที่แนวสีขาวตามที่ลูกศรสีแดงชี้ไว้เท่า นั้น ซึ่งอยู่ต่ำกว่าแนวตามมาตราฐานของเครื่องเจาะ จะทำให้รูที่เจาะได้อยู่ต่ำการการเจาะแบบมาตราฐาน ซึ่งแนวสีขาวนี้เราทำขึ้นมาเองติดขึ้นกับฐานที่เจาะกระดาษ มาดูในขั้นต่อไปว่าเราวางแนวสีขาวนี้ได้ยังไงนะคะ



จากภาพข้างบนจะเห็นชัดขึ้นว่ามีกระดาษสีน้ำเงินขอบขาวแปะไว้ และยังมีกระดาษสีเขียว-ขาว ติดไว้ที่ด้านบน แถมลูกศรสีเหลืองที่ด้านบนสุดอีกด้วย ภาพต่อไปจะะอธิบายถึงรายละเอียดทั้งหมดตามลำดับดังนี้

ภาพ A. เราตัดกระดาษสีน้ำเงินขอบขาว แล้วไปวางไว้บนฐานเจาะ บล็อคด้วยสก็อตเทปใส แน่นดีไม่มีหลุด เวลาสอดแผ่นปฏิทินเข้าไปจะให้หยุดที่ขอบสีขาวบนสุด ทำให้ได้รูห่างจากขอบปฏิทินประมาณ 2 มม. แต่ก่อนที่จะกำหนดแนวเราจะทดลองใช้กระดาษแข็งหน่อยทดลองหลาย ๆ ครั้ง พอคิดว่าแม่นใช้ปากกาขีดตำแหน่งลงบนฐานของเครื่องเจาะ แล้วใช้กระดาษสีน้ำเงินขอบขาววางให้ได้ตำแหน่งที่ขีดไว้ คือถ้าไม่ใช้แบบนี้มันมองรอยปากกาที่ขีดอยู่บนฐานเครื่องเจาะค่อนข้างยาก อาจทำให้เกิดความแม่นไม่ดีพอ จากนั้นเอาสก็อตเทปใสบล็อคไว้ แล้วทดสอบการเจาะรูจากกระดาษอื่น ๆ หลาย ๆ ครั้ง เมื่อพบว่ามันแม่นยำแล้วค่อยทำการเจาะจริง จะทำให้การเจาะปฎิทินง่ายและสนุกขึ้น



ภาพ B. จะเห็นกระดาษสีเขียวคาดขาวอีกแผ่นหนึ่งถูกปิดไว้ที่ฐานด้านบน ใช้สก็อตเทปใสบล็อคไว้อีกเช่นเดียวกัน คือเมื่อเราสอดกระดาษเข้าไปไม่สุด ทำให้มองเห็นตำแหน่งตรงกลางของเครื่องที่กำหนดไว้ยากมาก เพราะตำแหน่งมันจะอยู่สูงขึ้น เนื่องมาจากเราสอดกระดาษเข้าไปต่ำ ดังนั้นเราจะใช้เส้นแบ่งสีระหว่างสีเขียวกับสีขาวเป็นแนวกึ่งกลางแทนแนวกึ่ง กลางของเครื่องนะคะ ส่วนสามเหลี่ยมสีเหลืองมันคือตำแหน่งตรงกลางเดิมตามมาตราฐานของเครื่องเจาะ แต่จากภาพมันมองเห็นไม่ชัด เพราะเครื่องเจาะทำมาเป็นสามเหลี่ยมสีดำ ถ่ายออกมาให้ชัดเจนยาก เราเลยทำทับสามเหลี่ยมอันเดิม โดยทำให้เห็นมองชัดเจนขึ้นเท่านั้นเองว่าตำแหน่งเดิมที่กำหนดจุดกึ่งกลางของ เครื่องเจาะมันอยู่ตรงไหนนะคะ



เมื่อกำหนดแนวมาตราฐานใหม่ในการสอดกระดาษ และจุดกึ่งกลางบนเครื่องเจาะเรียบร้อยแล้ว ให้นำแผ่นปฏิทินมาวัดจุดกึ่งกลาง แล้วมาร์คด้วยปากกาหรือเมจิกที่ขอบด้านบนของแผ่นเคลือบ แล้วไล่เจาะไปทีละแผ่น หากมีคานกั้นแนวกระดาษจะดีมาก จากนั้นนำฐานปฏิทินมากำหนดจุดกึ่งกลาง ต่อด้วยการเจาะเหมือนการเจาะปฎิทิน มาดูการเจาะฐานปฏิทินกันนิดหนึ่ง ลองนำฐานปฏิทินมาวางในรูปแบบนี้ก่อน วัดกึ่งกลางแล้วมาร์คตำแหน่งไว้ทั้งแผ่นที่ 1 และแผ่นที่ 2 เราจะต้องเจาะรูฐานปฏิทิน 2 ครั้ง คือแผ่นบนและแผ่นล่าง ให้สอดแผ่นที่ 1 เข้าไปในเครื่องเจาะตามลูกศรเลย จากนั้นให้สอดแผ่นที่ 2 เข้าไปในเครื่องเจาะตามลักษณะของภาพแบบนี้ อย่าไปกลับด้านนะคะ ตรงนี้เราอธิบายไม่ค่อยถูก คือเราเคยเจาะแผ่นแรกแล้ว มาถึงแผ่นที่สองเราดันไปพลิกกลับด้าน ทำให้เกิดปัญหาความคลาดเคลื่อนของรูเจาะ ต้องระวังกันนิดหนึ่งนะคะ





“ขั้นตอนที่ 6 ปฏิบัติการใส่ตุ้มหูให้ปฏิทิน" ต้องขอข้ามภาพประกอบส่วนนี้อย่างละเอียดออกไป เพราะพื้นที่รับข้อความเต็มพิกัดแล้ว เอาตุ้มหูมาง้างออกจำนวน 6 อัน แล้วนำปฏิทินทั้งหมดมาจัดเรียงลำดับก่อนหลัง โดยซ้อนเป็นตั้งไว้ จากนั้นนำฐานปฏิทินมาพับครึ่งให้มันแบนไปเลย ไม่ต้องกลัวมันจะหัก เพราะมีรอยพับที่เกิดจากการเว้นกระดาษชานอ้อยให้ห่างกัน 2 มม. แล้วยกกองแผ่นปฏิทินที่เรียงไว้แล้วมาซ้อนที่ด้านบนของฐานปฏิทิน เอาตุ้มหูอันแรกร้อยเข้าไปที่รูทางด้านซ้ายก่อน จากนั้นปิดห่วงตุ้มหู ตามด้วยการย้ายไปใส่ตุ้มหูให้กับรูที่ข้างขวาอีก 1 อัน พอได้สองข้าง ๆ ละ 1 อันแล้ว ให้ย้อนกลับไปใส่ตุ้มหูที่รูทางด้านซ้ายมืออีก 2 อัน และกลับมาใส่ตุ้มหูที่รูด้านขวาอีก 2 อัน ปฏิทินของเราถูกใส่ตุ้มหูไปแล้วข้างละ 3 อัน เป็นอันจบปฏิบัติการทำปฏิทินในรูปแบบของเราเรียบร้อยแล้วนะคะ


จากใช้วัสดุตามของเราทั้งหมดในทุกขั้นตอน มันสามารถรองรับแผ่นปฏิทินที่เคลือบแล้วได้ประมาณ 9-10 แผ่น สำหรับเรามักจะใช้แผ่นปฏิทิน 9 แผ่น (18 ภาพ) เพราะจะมีข้อความเพิ่มเติมจากส่วนปกอีก แต่ตามตัวอย่างข้างบนเรากำหนดไว้ 7 แผ่น (14 ภาพ) หากนำไปประยุกต์กับชิ้นงานอื่นที่มีจำนวนแผ่นมากกว่านี้ พร้อมกับมีการเคลือบด้วย จะทำให้เกิดความหนาและมีน้ำหนักมากขึ้น ฐานปฏิทินที่เปรียบเหมือนฐานรากของอาคารจะรองรับไม่ไหว และตุ้มหูที่เส้นผ่าศูนย์กลาง 1ซม. อาจคล้องได้ไม่ชนรอบ หากจำนวนแผ่นที่นำมาห้อยบนฐานมีมาก แต่ไม่ได้เคลือบพลาสติกก้ออาจไม่มีปัญหาอะไร คือถ้าจะมีการประยุกต์ใช้ ต้องคำนวนให้ฐานรากมีความเหมาะสมกับชิ้นงานด้วย เช่น อาจต้องเพิ่มความหนาของกระดานชานอ้อยเป็น 1.60 มม. เป็นต้น




“เบื้องหลังการทำปฏิทิน” พูดถึงเบื้องหลังของการทำปฏิทินกันนิดหนึ่งก่อนที่จะปิดเบรคนี้ เผื่อจะเป็นไอเดียสำหรับให้เพื่อน ๆ ได้นำไปต่อยอดชิ้นงานกันได้บ้างเล็กน้อยถึงปานกลาง คิดไว้เสมอว่าความตั้งใจและความพยายามเท่านั้นที่จะทำให้คนเราประสบความ สำเร็จได้ ปีนี้อาจดูดีไม่มากนัก แต่ปีหน้าจะดูดีมากขึ้น เพราะจะมีการพัฒนาและความชำนาญตามประสบการณ์ที่ทำ เราหันไปมองปฏิทินที่อยู่ในตู้ของแม่ จำนวน 6 ชุด (6 ปีต่อเนื่อง) หลังแม่เสียชีวิตต้นปี 2548 เราไม่ได้ทำอีกเลย เคยทำเพื่อนำมาประกอบงานบ้างเป็นกรณีเฉพาะกิจ แต่ไม่มีการแจกหรือเอาไว้ใช้เองเหมือนเคย อดขำไม่ได้เมื่อเห็นปฏิทินในตู้ทั้ง 6 ชุด ปีแรกทำได้ห่วยสุด แต่มันดูดีขึ้นมาเรื่อย ๆ และปีนี้ไม่ต้องเจอกับปัญหาแผ่นปฏิทินหลุดอีก แต่คอนเซ็บต์หลักยังคงเหมือนเดิม เพียงแต่รูปแบบและวิธีการทำจะมีการพัฒนาให้ได้คุณภาพดีขึ้น สะดวกในการทำมากขึ้น





"วันอาทิตย์ที่ไม่ใช่สีแดง" สังเกตุเห็นหรือเปล่าว่าปฏิทินของเราจะใช้วันอาทิตย์เป็นสีม่วงแทนสีแดง ปกติที่ผ่านมาเราใช้สีแดงตามมาตราฐานของการทำปฏิทิน แต่เนื่องจากสีแดงมันมีปัญหาเวลาที่ไปอัดแล็ป อาจเป็นเพราะอักษรตัวเล็ก เราพยายาม Test มาหลายครั้งแล้ว โดยเลือกสีแดงไล่เฉดไปเรื่อย ๆ แต่ผลของแล็ปออกมาเหมือนเดิม ปฏิทินชุดนี้รีบทำออกมาก่อน ยังไม่ใช่ชุดที่จะทำใช้จริง เพื่อรีบนำมาประกอบบล็อคให้เพื่อน ๆ ได้มีเวลาตั้งหลักทำก่อนที่จะถึงเทศกาลปีใหม่ จึงมีการ Test สีแดงเป็นสีม่วง เพื่อให้ผลอัดแล็ปดูสว่างขึ้น เสียงโหวตกันว่าเอาสีม่วงละกัน ผลการอัดแล็ปพบว่าได้ผลดีกว่าสีแดง แต่ของจริงที่เราจะใช้ยังไม่รู้ว่าจะใช้สีอะไรค่ะ





"วันที่ถูกอุปโลกขึ้น" ส่วนที่จะพูดต่อไปเพื่อน ๆ คงมองไม่เห็น เพราะภาพประกอบทั้งหมดมีขนาดเล็ก ดังนั้นภาพประกอบข้างล่างนี้เราคัดมาให้ดูนำร่อง 3 เดือน คือปฏิทินของเราแทบจะไม่มีวันดีเลย มีแต่วันบ้า ๆ บอ ๆ คนแรกที่จะได้รับในแต่ละปีคือแม่เราเอง เวลาเอาไปให้แม่ จะต้องเปิดอ่านให้ฟังก่อนว่าปีนี้มีวันอะไรบ้างในแต่ละเดือน แม่จะขำแบบเอาเป็นเอาตาย บางปีแม่จะให้แนวคิดที่เราจะต้องจำไว้มาใส่ในปีถัดไป เช่น มีอยู่ปีหนึ่งแม่บอกเราว่าถูกโกงแชร์ ปีต่อไปใส่วันถูกโกงให้แม่ด้วย ถ้าวันไหนแม่รำคาญพ่อมาก ๆ แม่จะบอกเราว่าปีถัดไปให้ใส่ "วันแยกทาง" ฯลฯ ประมาณนี้นะคะ





"ฉากหลังดำ" เราทำไว้หลายเวอร์ชั่น พบว่าเวอร์ชั่นฉากหลังดำถูกโฉลกกับเรามากที่สุด แม้ว่าสีดำจะเป็นสีที่มีปัญหาที่สุดในการเคลือบก้อตาม และอาจทำให้อ่านตัวอักษรยากขึ้น เพราะปฏิทินขนาดเล็ก ตัวอักษรต้องใช้สัดส่วนที่เล็กตามไปด้วย เราสร้างแทมเพรตเป็นสีดำที่สัดส่วน 3:2 พร้อมแบ่งพื้นที่ทางด้านขวาส่วนหนึ่งให้เป็นสีแดง สำหรับการตัดออกให้เหมาะสมกับแผ่นเคลือบ จากนั้นสร้างเป็นข้อความของตัวอักษรทั้งหมด ที่เกี่ยวกับวันที่ เดือน ปี และวันที่อุปโลกขึ้น และข้อความอื่น ๆ สามารถเข้าไปแก้ไขเปลี่ยนแปลงตัวอักษรได้ทุกปีและทุกส่วน เพราะทำเป็น Layer จากนั้น Save As เป็นเดือนถัดไป แล้วแก้ไขเฉพาะวันที่และดือน ทำส่วนนี้ไว้ให้ครบทั้ง 12 เดือนก่อน ซึ่งจะ Save ไฟล์ไว้ให้เป็นสกุล .pds เมื่อทำครบ 12 เดือน (12 ไฟล์) จึงค้นหาภาพเป้าหมาย เรียงลำดับภาพไว้ว่าเดือนอะไรใช้ภาพอะไร จากนั้นทำการดึงภาพไปใส่ไว้ในปฏิทินที่สร้างไว้แต่ละเดือน ในปฏิทินหนึ่งเดือน อาจใช้ภาพแค่ภาพเดียว หรือมากกว่า 1 ภาพ ขึ้นอยู่กับความต้องการและความเหมาะสม และอาจต้องใช้วิธีการสไลด์ภาพให้ขอบภาพมีความสมู๊ดมาร่วมด้วย และส่วนใหญ่จะเลือกฉากทึบ ๆ เป็นหลัก เพราะจะทำให้ชิ้นงานดูกลมกลืน บางเดือนเราใช้หลายภาพ บางเดือนใช้แค่ภาพเดียว บางเดือนมีการรีทัชมั่วไปหมดตามที่อยากได้ สรุปก้อคือใช้ความมั่วเป็นหลัก เพื่อความชัดเจนเราจะยกตัวอย่างมาให้ดู 3 เดือน ว่าในแต่ละเดือนใช้ภาพอะไรมาใช้ในเดือนนั้นบ้าง


ปฏิทินที่ออกมา โดยใช้ภาพภาพดอกไม้แนวนอน 3 ภาพ



ปฏิทินที่ออกมา โดยใช้ภาพภาพดอกไม้แนวนอน 1 ภาพ



ปฏิทินที่ออกมา โดยใช้ภาพภาพดอกไม้แนวตั้ง 1 ภาพ



ปฎิทินที่ออกมา โดยใช้ภาพภาพดอกไม้แนวตั้ง 1 ภาพ





"ฟอนต์ (Font)" มาเรื่องฟอนต์กันบ้าง ถ้าเป็นภาษาไทยที่อยู่ในตระกูลลายมือทั้งหลาย ค้นได้จากที่ www.f0nt.com เมื่อ เข้าไปแล้วให้เลือกหัวข้อที่อยู่ด้านบนของเว็บไซด์ใน "ดาวโหลดฟอนต์" มีหลายคนทำไว้ให้พวกเราได้ดาวโหลดมาใช้กันอย่างจุใจ ในเว็บไซด์เขาจะบอกวิธีการติดตั้งไว้อย่างละเอียดแล้วนะคะ







"แนวโน้มปฏิทิน" หลังจากแม่เราเสียชีวิตไปในต้นปี 2548 เราและคุณพี่ชายได้ช่วยกันขยายพื้นที่สีเขียวภายในบ้าน เพิ่มต้นไม้ให้กับบ้านหลายชนิด รวมถึงที่หอพักด้วย ปัจจุบันเราและคุณพี่ชายประสบโรคร้ายคือ "กล้วยลึซึ่ม" ทำให้ได้ภาพดอกไม้ที่ปลูกไว้พอสมควร ที่ผ่านมาเรายังไม่เคยทำปฏิทินชุดที่เป็นดอกไม้เลย ดังนั้นคอนเซ็บต์ปฏิทินของปีนี้จะเป็นภาพดอกไม้ที่ผ่านการเลี้ยงเองทั้งหมด ขณะนี้กำลังอยู่ในระหว่างการเช็คเรทติ้งว่าดอกไม้ภาพไหนจะถูกอัญเชิญมา ประดับไว้ในปฏิทินประจำปี 2552 นะคะ







"โปรโมชั่นพิเศษ" เบรคถัดไปหัวข้อ "การทำการ์ดไว้ใช้เอง" ด้วยรูปแบบง่าย ๆ ไม่ซับซ้อน โดยเราจะหลีกเลี่ยงโปรแกรมกราฟฟิคให้มากที่สุด เพราะดูเหมือนว่าคนส่วนใหญ่จะไม่ถนัดใช้ ติดตามได้ในโหมด “พิกัดประดิดประดอย...หัวข้อการทำการ์ดไว้ใช้เอง” หากสนใจติดตามได้ในเร็ว ๆ นี้นะคะ

จากเว็บ http://www.bloggang.com/mainblog.php?id=spicy&month=05-11-2008&...

Views: 1665

Comment

You need to be a member of PORTFOLIOS*NET to add comments!

Join PORTFOLIOS*NET

© 2009-2024   PORTFOLIOS*NET by CreativeMOVE.   Powered by

Badges  |  Report an Issue  |  Terms of Service