สงครามข่าวหรือละครน้ำเน่าเรื่องใหม่

นิตยสาร Positioning ฉบับ มิถุนายน 2552 มีรายงานใหญ่ประจำฉบับเรื่อง News War: Episode II หรือ สงครามข่าวครั้งที่ 2 สรุปใจความชนิดเปิดอ่านผ่านๆ ได้พอว่า รายการข่าวกำลังได้รับความนิยมสูง สถานีระดับเจ้าพ่อเจ้าแม่ทั้งช่อง 3 และ 7 ต่างทุ่มทุนสร้างรายการข่าวของตนให้ดึงดูดใจผู้ชมได้มากที่สุด โดยมีช่องอื่นๆ เป็นคู่แข่งประเภทไม้ประดับ

นอกจากนั้นแล้ว สงครามข่าวยังทำให้เกิดการปรับปรุงรายการข่าวให้สดใหม่ขึ้น และมันยังทำให้เกิดการซื้อตัวผู้ประกาศข่าวกันขนานใหญ่ จนมีผู้ประกาศข่าวกลุ่มหนึ่งถูกเรียกว่า เดอะ สตาร์ ส่วนประเด็นสุดท้ายที่แกะออกมาได้จากในรายงานชิ้นดังกล่าวก็คือ รายการประเภทเล่าข่าวกำลังลดความนิยม ส่วนรายการข่าวเชิงเรียลลิตี้อย่าง ข่าว 3 มิติ หรือ เจาะเกาะติด แจ้งเกิดได้อย่างน่าติดตาม

เมื่อถามว่า News War: Episode II บอกอะไรกับเราบ้าง เรื่องแรกที่ผมคิดถึงก็คือ ทำไมรายการข่าวถึงได้รับความนิยมในยุคนี้ แล้วทำไมแชมป์ดั้งเดิมอย่างละครหลังข่าวถึงถูกเขย่าบัลลังก์จนง่อนแง่น? จะด้วยอคติหรือมันเป็นประเด็นที่อยู่ในใจมานานก็แล้วแต่ คำตอบของคำถามข้างต้นมันค่อยๆ โผล่ขึ้นมาทีละช้าๆ เป็นลักษณะคำถามในคำตอบที่ว่า เป็นไปได้ไหมที่ผู้ชมเบื่อความซ้ำซากของละครน้ำเน่าเดิมๆ จึงหันมาเสพละครน้ำเน่าโฉมใหม่ซึ่ง… (คุณชาลอตกับคุณประวิทย์ และอีกหลายท่านคงไม่เห็นด้วยว่า) มาในรูปของ ‘รายการข่าว’

เหตุไฉนผมเรียกรายการข่าวยุคนี้ว่าละครน้ำเน่าโฉมใหม่ ทั้งที่เห็นกันชัดเจนว่าแต่ละสถานีต่างทุ่มกำลังเงินไปมากมาย เพื่อให้ได้ทั้งเทคโนโลยีและบุคลากรชั้นยอดมาร่วมกันผลิตงาน

ประเด็นแรก เรามาดูกันก่อนว่าละครน้ำเน่าคืออะไร สำหรับผม มันคือรายการโทรทัศน์ที่ถูกใจผู้ชมในวงกว้าง โดยเฉพาะกลุ่มแม่บ้าน คนทำงานและวัยรุ่น โดยเฉพาะอย่างยิ่งแม่บ้าน คนทำงานและวัยรุ่น…ในต่างจังหวัด ซึ่งมองในมุมนี้จะเห็นได้ว่ารายการข่าวได้รับการปรุงแต่งให้เข้าถึงผู้ชม กลุ่มดังกล่าวได้ง่ายขึ้นกว่าเดิมมาก ฉากและแสงสีในห้องส่งสวยงามน่ามอง (ราวกับคฤหาสน์หลังโตที่มีให้เห็นเสมอในละครน้ำเน่า) ผู้ประกาศข่าวหนุ่มสาวก็คัดเลือกมาแล้วว่าหน้าตาดีมีแรงดึงดูด พูดว่าแทบไม่ต่างจากพระเอกนางเอกละครก็คงไม่เกินไป (และน่าเศร้าไม่น้อยเมื่อพูดได้อีกว่า หมดยุคสมัยสำหรับผู้ประกาศข่าวรุ่นคุณน้าคุณอาไปแล้ว)

อีกคุณสมบัติของละครน้ำเน่าก็คือ ดูง่าย สะเทือนใจ เร้าอารมณ์ คุณสมบัติต่างๆ เหล่านี้ล้วนมีอยู่ในรายการข่าวยุคปัจจุบันทั้งสิ้น ตัวอย่างเรื่องดูง่าย จะเห็นได้จากรายการเล่าข่าวต่างๆ รวมถึงรายการประเภทเก็บตกกับสะเก็ดข่าวนั่นด้วย ความสะเทือนใจและเร้าอารมณ์ก็คงนึกออกได้ไม่ยาก ทำไมช้างตายสักตัวคนทั้งประเทศต้องน้ำตาไหล หมีแพนด้าคลอดลูกกลายเป็นปรากฎการณ์ยิ่งใหญ่ระดับชาติ และทุกคนคงยังไม่ลืมเรื่องราวการตามหาพ่อชาวญี่ปุ่นของเด็กชายคนหนึ่งที่ต้องลุ้นกันระทึกวันต่อวันคืนต่อคืน อ่านถึงจุดนี้คุณคงพอฉุกคิดกันได้บ้างว่ารายการข่าวสมัยนี้ไม่ใช่เพียงการนำเสนอข้อเท็จจริงเท่านั้น มันต้องมีการปูเรื่อง ดำเนินเรื่อง จุดไคลแม็กซ์ และตอนจบ…ยิ่งแฮปปี้เอนดิ้งได้ยิ่งดี

ประเด็นต่อมาคือละครน้ำเน่าให้อะไรกับผู้ชมบ้าง คำตอบของผมคือ มันให้อารมณ์กับความรู้สึก แต่ไม่มีสาระ รายการข่าวส่วนใหญ่ตั้งแต่ภาคเช้า กลางวัน เย็น ค่ำ จนถึงก่อนนอนมักเป็นเช่นนั้น พังกำไลตายแล้ว หมีแพนด้าที่สวนสัตว์เชียงใหม่คลอดลูกตัวแรกแล้ว และเด็กชายเคอิโงะตามหาพ่อชาวญี่ปุ่นเจอแล้ว ข่าวส่วนใหญ่ที่นำมาเสนอคงเขียนเนื้อหาได้จบภายใน 1-3 บรรทัด แต่ทว่าทำไมอารมณ์กับความรู้สึกของเราที่เป็นผู้ชมถึงได้มีมากมายกว่านั้นหลายเท่า และไม่ใช่เป็นเพียงแค่ข่าว 3 เรื่องนี้เท่านั้น หากมองให้ดีคุณจะเห็นรูปแบบของการนำเสนอข่าวซ้ำๆ ซึ่งเปลี่ยนไปเพียงบุคคล เวลา สถานที่ไปในแต่ละวัน เฉกเช่นเดียวกับพล็อตเรื่องละครน้ำเน่าเมื่อยุคก่อน ตอนนี้ และอีกหลายสิบเรื่องข้างหน้าที่ผู้ชมรู้เช่นเห็นชาติกันหมดแล้วว่าเป็นเช่นไร แต่ก็จะขอรอดูนักแสดงหน้าใหม่ สถานที่ถ่ายทำใหม่ๆ คำโฆษณาใหม่ๆ และอะไรต่อมิอะไรใหม่ๆ ที่จะถูกนำมายัดรวมไว้ในพล็อตน้ำเน่าเก่าๆ กันต่อไป

ประเด็นสุดท้ายที่ขอนำมาเป็นตัวอย่างเปรียบเทียบระหว่างละครน้ำเน่า กับรายการข่าวสมัยนี้ว่ามีความคล้ายคลึงกันก็คือ เรื่องการเมือง คืออย่างนี้ครับ เราคงนึกพอออกว่าแต่ก่อนนี้ชาวบ้านร้านตลาดซึ่งเป็นกลุ่มลูกค้าหลักของละครน้ำเน่าสนใจข่าวการเมืองน้อยมาก ซึ่งนั่นเป็นเพราะพวกเขารู้สึกว่าเรื่องการการเมืองมันน้ำเน่ามาก (ผมว่ามันเป็นเหตุผลที่ขัดแย้งได้แปลกดีนะ) แต่ในขณะที่ละครน้ำเน่ายังย่ำอยู่กับที่ หรืออาจก้าวไปข้างหน้าด้วยความเร็วของเต่าสามขา เรื่องการเมืองกลับทุ่มทุนสร้างอย่างมโหฬารอย่างที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนในประวัติศาสตร์ สิ่งที่ผู้ชมได้เห็นผ่านจอโทรทัศน์ก็คือ มีรถถังออกมาวิ่งทั่วเมืองหลวง มีแก๊สน้ำตาระดมยิงหูดับตับไหม้ มีการเผารถเมล์เป็นร้อยคัน และยังมีตัวประกอบนับแสนรายออกมาชุมนุมบนท้องถนน ด้านนักแสดงนำก็มีหลากหลายทั้งใหม่และเก่า เรามีดาราหน้าเหลี่ยม หน้าหล่อ หน้าดำ หน้าจืด และอีกมากมายที่เสนอหน้าออกมาฟาดฟันบทบาทกันเลือดหยด ทุกองค์ประกอบในเรื่องการเมืองที่ว่ามาทั้งหมดนี้ถูกดึงดูดมารวมกันอยู่ใน พล็อตหลักน้ำเน่าดั้งเดิมที่เขียนไว้ตั้งแต่พ.ศ. 2475 ที่ว่า “กูจะเป็นนายกฯ” และพล็อตรองก็คือ “กูไม่เป็นฝ่ายค้าน” ซึ่งเรื่องการเมืองอันเข้มข้นปนน้ำเน่านี้ 1. ผู้ชมให้ความสนใจจำนวนมาก เพราะมันสร้างจากเรื่องจริง ถึงจะน้ำเน่ามันก็น้ำเน่าจริงๆ ไม่ได้สร้างจากบทประพันธ์ของใคร 2. กลายเป็นวัตถุดิบชิ้นดีให้สำนักข่าวและสถานีโทรทัศน์ทุกช่องนำมาใช้หากินได้ตั้งแต่เช้ามืดยันถึงเช้ามืดของอีกวัน

มาถึงตรงนี้ซึ่งใกล้ถึงบรรทัดสุดท้ายเต็มทีแล้ว ผมขอเรียนว่าบทความชิ้นนี้ไม่ได้ตำหนิติใครเป็นพิเศษ เพียงแต่อยากสะกิดนิดหน่อยว่ากระแส News War ที่กำลังเกิดขึ้น และมีการทุ่มเม็ดเงินลงไปให้กับอุปกรณ์ เทคโนโลยี และบุคลากรข่าวที่มีคุณภาพเป็นจำนวนมากนี้ มันคงไม่ได้สะท้อนมาจากความกระตือรือร้นในการเสพข่าวสารเชิงคุณภาพเต็มร้อยเปอร์เซ็นต์ของผู้ชมรายการข่าวในบ้านเราหรอกกระมัง ใครที่แอบคิดว่าคนไทยกำลังสนใจข่าวมากขึ้นและกำลังจะฉลาดขึ้น ตรรกะนี้ก็คงยังเอามาใช้ได้ไม่เต็มที่นัก ตราบใดที่แก่นแกนใจกลางของคำว่า ‘ข่าว’ ของผู้นำเสนอและผู้เสพข่าวนั้นยังฉาบหนาไปด้วยรสนิยมการชมรายการโทรทัศน์เพื่อความบันเทิงอย่างเดิมๆ

พิมพ์ครั้งแรกเมื่อ วันที่ 2 สิงหาคม พ.ศ. 2552, นิตยสารแหนม

Views: 96

Comment

You need to be a member of PORTFOLIOS*NET to add comments!

Join PORTFOLIOS*NET

Comment by Poonjira Lim on August 5, 2009 at 10:24pm
News war:Episode .. อ่านแล้วสะเทือนใจลุงป้าน้าอาในวงการพอควร นะคะ.. เอ้ย..ใครจะเป็น เจได..ดาร์ธ เวเดอร์ ..
โยดา..อนาคิน
ก็ว่าว่ากันไปนะคะ...หากมองบวก ทุกหน้าที่การงาน มันเป็นยุคเป็นสมัยไปมีขึ้นมีลง เฉกเช่นนี้นะคะเป็นธรรมดา เน้าะ
หากเข้าใจทำใจ ก็คิดว่า ชิวๆ นะคะ
ขอบคุณที่นำเสนอความคิดหลากหลาย ต่างมุมมอง เป็นสิ่งทีดีทั้งนั้นค่ะ.
Comment by Cosa on August 4, 2009 at 11:09pm
ขอบคุณสำหรับบทความดี ๆ ครับ ^^

© 2009-2024   PORTFOLIOS*NET by CreativeMOVE.   Powered by

Badges  |  Report an Issue  |  Terms of Service