ประกวดหนังสั้น หัวข้อ “ยุติความรุนแรงต่อเด็ก” (หมดเขต: 30/10/2014)

โครงการประกวดหนังสั้น 120 วินาที รณรงค์ให้คนไทย “ยุติความรุนแรงต่อเด็ก”

จากสถิติการทำงานช่วยเหลือและคุ้มครองเด็ก ของมูลนิธิศูนย์พิทักษ์สิทธิเด็ก ปี 2552- 2556 พบว่า มีเด็กถูกล่วงเกินทางเพศ 644 ราย ถูกทำร้ายร่างกาย 158 ราย ถูกเลี้ยงดูโดยมิชอบ 194 ราย และจากสถิติในปี 2550 ของศูนย์พึ่งได้ให้การช่วยเหลือเด็กและสตรีที่ถูกกระทำรุนแรงรวม 19,067 ราย เฉลี่ยวันละ 52 ราย แต่ในปี 2556 สถิติบริการเพิ่มขึ้นเป็น 31,866 ราย หรือเฉลี่ยวันละ 87 ราย หรือกล่าวได้ว่าถูกทำร้าย 1 คนในทุกๆ 15 นาที ชั่วโมงละเกือบ 4 คน ในจำนวนนี้ร้อยละ 60 เป็นเด็ก และเมื่อทำการวิเคราะห์ในกลุ่มเด็ก พบว่า เกือบ 9 ใน 10 ของเด็กที่ถูกกระทำรุนแรงทั้งหมดเป็นเด็กหญิง พบมากที่สุดในกลุ่มอายุ 10-15 ปี คิดเป็นร้อยละ 46 รองลงมาคืออายุ 15-18 ปี ร้อยละ 40 และพบอายุต่ำกว่า 5 ขวบ ร้อยละ 5 หรือจำนวน 1,000 ราย

จากสถิติดังกล่าวสะท้อนให้เห็นถึงว่า “เด็ก” มักตกเป็นเหยื่อของการใช้ความรุนแรง ซึ่งการกระทำรุนแรงต่อเด็กหรือการกระทำทารุณกรรมเด็ก ถือเป็นเหตุการณ์สะเทือนขวัญที่ก่อให้เกิดความเครียด (Traumatic stress) ซึ่งมีผลต่อพัฒนาการ โดยเฉพาะพัฒนาการของบุคลิกภาพ ซึ่งผลลัพธ์ของความเครียดและความเสียหายต่อสุขภาพกาย-สติปัญญา และสุขภาพจิต จากการถูกทำร้ายรวมทั้งการถูกเลี้ยงดูที่ไม่เหมาะสมอย่างรุนแรง เช่น ความเจ็บปวดทุกข์ใจ (Trauma) ภาวะซึมเศร้า (Depression) ความเครียด (Stress) อารมณ์ผิดปกติแปรปรวน (Mood Disorder) มองคุณค่าในตัวเองต่ำ (Low Self-esteem) ขาดรัก (Inadequacy) ทำให้เด็กไม่สามารถแสดงความรู้สึกออกมาเป็นการกระทำได้อย่างสมวัย ไม่สามารถควบคุมอารมณ์โดยเฉพาะความก้าวร้าวรุนแรงได้ ไม่สามารถปรับตัวกับผู้อื่นได้ ไม่เคารพกฎกติกา ไม่สามารถฟัง พูด อ่าน หรือเขียนได้ตามวัย เป็นต้น ซึ่งพฤติกรรมและปัญหาเหล่านี้ส่งผลให้เด็กไม่สามารถอยู่ร่วมกับผู้อื่นในสังคมได้อย่างปกติสุข

ผลกระทบความรุนแรงเกิดต่อทั้งร่างกายและจิตใจของผู้ถูกกระทำและคนที่อยู่รอบข้าง เช่น เด็กที่ถูกทุบตีทำร้ายหรือได้เห็นความรุนแรงเสมอๆ จะฝังใจเรื่องความรุนแรง เด็กจะเข้าใจผิดว่าปัญหาแก้ไขได้ด้วยความรุนแรง นอกจากนี้การอยู่ในภาวะแวดล้อมที่มีความรุนแรงเด็กจะซึมซับเลียนแบบพฤติกรรมรุนแรง เด็กจะกระทำความรุนแรงต่อเพื่อน และเมื่อเติบโตเป็นผู้ใหญ่ก็จะกระทำความรุนแรงต่อครอบครัวตนเอง ต่อสัตว์เลี้ยงของตนเอง ฉะนั้นจะเห็นได้ว่า ความรุนแรงถ่ายทอดจากพ่อแม่ ลูก หลาน เหลนต่อไป ถ้าเราปล่อยให้ความรุนแรงเกิดขึ้น ไม่ว่าจะมากหรือน้อย ความรุนแรงก็อยู่ในสังคมตลอดไป

มูลนิธิศูนย์พิทักษ์สิทธิเด็ก ซึ่งทำงานเกี่ยวข้องกับการยุติความรุนแรงต่อเด็กในทุกรูปแบบมาเป็นระยะเวลากว่า 30 ปี เช่น การทำร้ายร่างกาย การทำร้ายทางด้านอารมณ์ จิตใจ การล่วงละเมิดทางเพศ การปล่อยปละละเลย ตลอดไปจนถึงการแสวงผลประโยชน์จากเด็ก ได้ตระหนักต่อสภาพปัญหาความรุนแรงที่เกิดขึ้นกับเด็กในปัจจุบัน จึงจัดทำโครงการหนังสั้น 120 วินาที รณรงค์ให้คนไทย “ยุติความรุนแรงต่อเด็ก” ขึ้น เพื่อรณรงค์ให้ผู้ใหญ่ลดพฤติกรรมการใช้ความรุนแรงต่อเด็กในทุกรูปแบบ ทั้งในระดับครอบครัว โรงเรียน และชุมชน ในขณะเดียวกันเพื่อสร้างให้เด็กและผู้ใหญ่ไม่มีค่านิยมในการใช้ความรุนแรง พร้อมทั้งสร้างให้ทุกภาคส่วนของสังคมเกิดความตระหนักและเข้ามามีส่วนร่วมในการยุติความรุนแรงต่อเด็ก โดยเปิดพื้นที่ให้ประชาชนทั่วไปได้ร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการเสนอแนวทางและหรือทางออกในการป้องกันปัญหาการใช้ความรุนแรงต่อเด็ก รวมถึงการดูแลและปฏิบัติต่อเด็กอย่างสร้างสรรค์ ผ่านคลิปวีดีโอหรือหนังสั้น ลด ละ เลิก ความรุนแรงต่อเด็ก ความยาว 120 วินาที

วัตถุประสงค์ของโครงการ
1. เพื่อรณรงค์ให้สังคมตระหนักต่อปัญหาการใช้ความรุนแรงต่อเด็ก
2. เพื่อเปิดพื้นที่ให้ประชาชนได้มีส่วนร่วมในการรณรงค์
กลุ่มเป้าหมาย
นักเรียน นักศึกษา และประชาชนทั่วไป อายุตั้งแต่ 15 ปีขึ้นไป

รายละเอียดการประกวด
1. หัวข้อการประกวด
“ยุติความรุนแรงต่อเด็ก”

2. คุณสมบัติผู้เข้าประกวด
นักเรียน นักศึกษา นิสิตนักศึกษา ประชาชนทั่วไป ตั้งแต่อายุ 15 ปีขึ้นไป

3. วิธีการสมัคร
ดาวน์โหลดใบสมัครได้ที่เว็บไซต์มูลนิธิ www.thaichildrights.org กรอกรายละเอียดให้ครบถ้วน พร้อมแนบสำเนาบัตรประจำตัวนักเรียน นิสิตนักศึกษา หรือ บัตรประชาชน

4. การสมัคร และวิธีส่งผลงาน
สิ่งที่ต้องส่ง
a) ใบสมัคร
b) แนวคิด เค้าโครงเรื่องย่อหนังสั้น ความยาวไม่เกิน 1 หน้ากระดาษ A4
c) สำเนาบัตรประจำตัวนักเรียน นิสิตนักศึกษา หรือ บัตรประชาชน
d) ประวัติส่วนตัวโดยย่อ

วิธีการส่งผลงาน
a) ส่งผลงานประกอบด้วยใบสมัครสำเนาบัตรประจำตัวนักเรียน นิสิต นักศึกษา หรือ บัตรประชาชนและ ประวัติส่วนตัวโดยย่อ
b) ผู้ส่งผลงาน ทำผลงานหนังสั้นใน รูปแบบ DVD ฉบับเต็ม ส่งด้วยตนเองหรือทางไปรษณีย์ มาที่ มูลนิธิศูนย์พิทักษ์สิทธิเด็ก เลขที่ 979 ซอยจรัญสนิทวงศ์12 ถนนจรัญสนิทวงศ์ แขวงวัดท่าพระ เขตบางกอกใหญ่ กรุงเทพฯ 10600
c) หรือสามารถอัพโหลดผลงานหนังสั้นบน Youtube และแชร์ไฟล์ไปที่ Facebook ของมูลนิธิฯ https://www.facebook.com/cpcr.cpcr และ http://www.thaichildrights.org หรือทางอีเมล์ cpcr.cpcr@gmail.com

5. เงื่อนไขการผลิตงาน
1. ผลิตหนังสั้นในหัวข้อ “ยุติความรุนแรงต่อเด็ก” โดยเนื้อหาเป็นการนำเสนอให้เห็นถึงวิธีการดูแลและปฏิบัติต่อเด็กอย่างสร้างสรรค์ไม่ใช้ความรุนแรง ซึ่งความรุนแรงต่อเด็ก ครอบคลุมทั้งทางกาย ทางวาจา ทางจิตใจ ทางเพศ ฯลฯ รวมทั้งความรุนแรงต่อเด็กที่เกิดขึ้นในครอบครัว ในโรงเรียน และในชุมชน โดยหนังสั้นดังกล่าวสามารถจุดประกายและหรือเป็นแรงบันดาลใจให้กับผู้ชมได้นำไปปรับประยุกต์ใช้ในการดูแลเด็กได้
2. ความยาวในการนำเสนอไม่เกิน 120 วินาที
3. ผู้เข้าประกวดสามารถตั้งชื่อเรื่องตามความเหมาะสม และต้องสอดคล้องกับหัวข้อ (Theme) และเนื้อหา
4. การผลิตหนังสั้น ของทีมผู้ส่งเข้าประกวด ต้องเป็นผู้เตรียมอุปกรณ์และดำเนินการผลิตเองทั้งหมด
5. ผลงานหนังสั้นจะต้องใส่ LOGO ของผู้จัดทำ ในตอนท้ายเรื่อง (ห้ามใช้ภาพ อุปกรณ์ประกอบฉาก หรือเพลงที่มีลิขสิทธิ์)
6. การส่งผลงาน ให้จัดส่งในรูปแบบ DVD มาตรฐาน ที่สามารถเปิดรับชมจากเครื่องเล่น DVD ทั่วไปได้ จำนวน 3 แผ่น
7. ไม่จำกัดทีมผู้ร่วมงาน เดี่ยวหรือกลุ่มกี่คนก็ได้ไม่จำกัดจำนวน (เน้นความสมบูรณ์แบบมากที่สุด)
8. ผลงานทุกผลงานที่ส่งเข้าประกวดถือเป็นลิขสิทธิ์ของโครงการฯ
9. ผู้ส่งผลงานเข้าประกวดเป็นผู้รับผิดชอบต่อลิขสิทธิ์ของข้อมูล ได้แก่ เนื้อหา ภาพ เสียง คลิป วิดีโอ ซอฟต์แวร์ หรืออื่นใดที่ใช้ในการผลิตผลงาน โดยต้องไม่ละเมิดกฎหมายว่าด้วยลิขสิทธิ์ และทรัพย์สินทางปัญญา และมีการอ้างอิงถึงแหล่งที่มาอย่างชัดเจน
10. ไม่อนุญาตให้นำผลงานที่ได้รับรางวัลจากการประกวดในเวทีอื่นๆ หรือผลงานที่เคยนำไปเผยแพร่ต่อสาธารณะชนในรูปแบบสื่อการสอน CD / DVD / เว็บไซต์ / สื่อวิทยุ / สื่อโทรทัศน์ เข้าร่วมประกวดอีก หากคณะกรรมการสืบทราบ จะถูกตัดสิทธิ์จากรางวัลทันทีหรือเรียกคืน
11. ผลการตัดสินของคณะกรรมการถือเป็นที่สิ้นสุด
12. ผู้เป็นคณะกรรมการ และผู้มีส่วนร่วมในโครงการ ไม่มีสิทธิ์ในการส่งผลการเข้าประกวด และรับรางวัล

6. ขั้นตอนการประกวด
a) เปิดรับผลงานตั้งแต่ 15 กันยายน 2557 เป็นต้นไป
b) ปิดรับผลงาน วันที่ 30 ตุลาคม 2557
c) ประกาศผลพร้อมรับรางวัล ในงาน 25ปีCRC ยุติความรุนแรงต่อเด็ก วันที่ 20 พฤศจิกายน 2557 บริเวณสวนปาล์ม สวนลุมพินีวัน กรุงเทพฯ **

7. การตัดสินผลงาน
a) ความสมบูรณ์ของภาพยนตร์
b) แก่นเรื่อง บทภาพยนตร์ ความสมบูรณ์สอดคล้องของเนื้อหาตามบทภาพยนตร์
c) ประโยชน์ต่อผู้ชม
d) ระบบเสียง ระบบภาพ มีความสัมพันธ์ เสียงชัดเจน
e) การตัดสินของคณะกรรมการถือเป็นที่สิ้นสุดผลงานของทีมได้รับการคัดเลือกจะมีการนำผลงานมาเผยแพร่ในวันประกาศผลและมอบรางวัล

8. การประกาศผล
ประกาศผลผ่านทาง Facebook และเว็บไซต์ พร้อมทั้งมอบรางวัลในงาน 25ปีCRC ยุติความรุนแรงต่อเด็ก วันที่ 20 พฤศจิกายน 2557 บริเวณสวนปาล์ม สวนลุมพินีวัน กรุงเทพฯ **

9. รางวัล
แบ่งเป็นทั้งหมด 6 รางวัล
รางวัลที่ 1 เงินรางวัล 20,000 บาท พร้อมใบประกาศ
รางวัลที่ 2 เงินรางวัล 10,000 บาท พร้อมใบประกาศ
รางวัลที่ 3 เงินรางวัล 5,000 บาท พร้อมใบประกาศ
รางวัลชมเชย จำนวน 3 รางวัล รางวัลละ 3,000 บาท

10. การเผยแพร่ผลงาน
หนังสั้นที่ชนะการประกวด จะมีการนำไปใช้เป็นสื่อรณรงค์ภายใต้โครงการรณรงค์ยุติความรุนแรงต่อเด็ก โดยเผยแพร่ให้กับครอบครัว โรงเรียน ชุมชน และผลงานที่ส่งเข้าประกวดทุกเรื่อง จะถูกนำเสนอผ่านช่องทางออนไลน์ของมูลนิธิฯ ได้แก่
o http://www.thaichildrights.org
o https://www.facebook.com/cpcr.cpcr
o Youtube Channel : cpcrfunds

ติดตามความเคลื่อนไหวของโครงการได้ที่
http://www.thaichildrights.org
http://www.facebook.com/cpcr.cpcr

การติดต่อ
นางดารารัตน์ เพียรกิจ หัวหน้าฝ่ายสื่อสารองค์กร
โทร.089 033 0820 , 02 412 0738 ต่อ 104
Email: cpcr.cpcr@gmail.com , dararat08@gmail.com

ที่อยู่ในการติดต่อ : มูลนิธิศูนย์พิทักษ์สิทธิเด็ก
เลขที่ 979 ถ.จรัลสนิทวงศ์ 12 แขวงวัดท่าพระ
เขตบางกอกใหญ่ กรุงเทพฯ 10900

Views: 503

© 2009-2024   PORTFOLIOS*NET by CreativeMOVE.   Powered by

Badges  |  Report an Issue  |  Terms of Service