ประกวดออกแบบตราสัญลักษณ์ "2nd National Youth Design Awards" (15/08/2561)

การประกวดออกแบบระดับเยาวชนแห่งชาติ ครั้งที่ 2
(2nd National Youth Design Awards)

1. หลักการและเหตุผล
สมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (Association of South East Asian Nations) หรืออาเซียน (ASEAN) ถือกำเนิดขึ้นในประเทศไทยตามปฏิญญากรุงเทพฯ (Bangkok Declaration) เมื่อวันที่ 8 สิงหาคม 2510 ปัจจุบันมีสมาชิกทั้งหมด 10 ประเทศ ประกอบด้วยบรูไนดารุสซาลาม ราชอาณาจักรกัมพูชา สาธารณรัฐอินโดนีเซีย สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว มาเลเซีย สาธารณรัฐแห่งสหภาพ เมียนมา สาธารณรัฐฟิลิปปินส์ สาธารณรัฐสิงคโปร์ ราชอาณาจักรไทย และสาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม
ต่อมาเมื่อปี 2558 อาเซียนได้จัดตั้งประชาคมอาเซียน (ASEAN Community) อย่างเป็นทางการประกอบด้วยประชาคมการเมืองและความมั่นคง ประชาคมเศรษฐกิจ และประชาคมสังคมและวัฒนธรรมและได้มีการจัดทำ “วิสัยทัศน์ประชาคมอาเซียน ค.ศ. 2025 มุ่งหน้าไปด้วยกัน” เป็นเป้าหมายการดำเนินงานของอาเซียน ในการที่จะเป็นองค์กรที่ยึดมั่นในกฎกติกา ทำเพื่อประโยชน์ของประชาชน และมีประชาชนเป็นศูนย์กลาง

ในปี 2562 ประเทศไทยจะดำรงตำแหน่งประธานอาเซียนต่อจากสิงคโปร์ ตามระบบหมุนเวียนการเป็นประธานของประเทศสมาชิกตามลำดับตัวอักษรชื่อประเทศภาษาอังกฤษ ในฐานะประธานอาเซียนไทยจะต้องเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมสุดยอดอาเซียนครั้งที่ 34 และครั้งที่ 35 และการประชุมที่เกี่ยวข้อง รวมถึงการประชุมระดับรัฐมนตรี ระดับเจ้าหน้าที่อาวุโส และคณะทำงานต่าง ๆ ภายใต้ประชาคมการเมืองและความมั่นคง ประชาคมเศรษฐกิจ และประชาคมสังคมและวัฒนธรรม รวมกว่า 100 การประชุมตลอดปี 2562 โดยจะมีผู้นำประเทศ รัฐมนตรี เจ้าหน้าที่อาวุโสจากประเทศสมาชิกและประเทศคู่เจรจา รวมทั้งผู้แทนจากภาคเอกชน ภาคประชาสังคม รัฐสภา และสื่อมวลชนจำนวนมาก เดินทางมาเข้าร่วมและติดตามการประชุมที่ประเทศไทย

ในการนี้ ประเทศผู้ดำรงตำแหน่งประธานอาเซียนจะกำหนดตราสัญลักษณ์ (Logo) ที่สะท้อนแนวคิด หลัก (theme) ที่สื่อถึงเป้าหมายสำคัญที่ต้องการผลักดันในช่วงการดำรงตำแหน่งประธาน และเพื่อให้ประชาชนไทยได้มีส่วนร่วมในวาระอันเป็นพิเศษนี้ กรมอาเซียน กระทรวงการต่างประเทศ คณะมัณฑนศิลป์ มหาวิทยาลัยศิลปากร คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย คณะศิลปะและการออกแบบ มหาวิทยาลัยรังสิต และคณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏบ้านสมเด็จเจ้าพระยา จึงได้มีความร่วมมือจัดทำโครงการ การประกวดออกแบบตราสัญลักษณ์ (Logo) สำหรับการเป็นประธานอาเซียนของไทยขึ้น ภายใต้โครงการการประกวดออกแบบระดับเยาวชนแห่งชาติ ครั้งที่ 2 (2nd National Youth Design Competition) เพื่อนำตราสัญลักษณ์ไปใช้ในการจัดประชุมในทุกระดับ และสื่อประชาสัมพันธ์เผยแพร่การรับรู้เกี่ยวกับการจัดประชุมและกิจกรรมต่างๆ ต่อสาธารณชนทั้งในประเทศไทยและต่างประเทศ ในช่วงการดำรงตำแหน่งประธานอาเซียนของไทยในปี พ.ศ. 2562 นี้

2. วัตถุประสงค์
2.1 เพื่อจัดประกวดออกแบบตราสัญลักษณ์สำหรับการเป็นประธานอาเซียนของไทยในปี 2562
2.2 เพื่อเปิดโอกาสให้เยาวชนไทยได้ใช้ความรู้ความสามารถในการออกแบบและความคิดสร้างสรรค์ นำเสนอสู่สาธารณะ และมีส่วนร่วมในการเป็นประธานอาเซียนของไทย
2.3 เพื่อสร้างเครือข่ายความร่วมมือทางวิชาการระหว่างมหาวิทยาลัย/สถาบันการศึกษา วงการวิชาการ วงการวิชาชีพ และองค์กรเอกชนที่เกี่ยวข้องกับวงการศิลปะและการออกแบบ

3. ผู้มีสิทธิ์ส่งผลงานเข้าร่วมประกวด
นักเรียน นิสิต นักศึกษา และเยาวชนไทยอายุไม่เกิน 25 ปี (ผู้ที่เกิดไม่เกินวันที่ 15 สิงหาคม 2536) โดยสมัครเป็นแบบเดี่ยว หรือแบบทีมก็ได้

4. กระบวนการการประกวด
4.1 รอบคัดเลือก ผู้สมัครส่งผลงานเข้าประกวดภายในวันที่ 15 สิงหาคม 2561 โดยคณะกรรมการ จะคัดเลือกผลงานที่มีคุณภาพจำนวน 10 ผลงาน เพื่อเข้าสู่การพิจารณาในรอบรองชนะเลิศต่อไป
4.2 ผู้ที่ผ่านเข้ารอบคัดเลือก เข้าร่วมสัมมนาเชิงปฏิบัติการ ณ กระทรวงการต่างประเทศ เพื่อพัฒนาผลงานสู่รอบรองชนะเลิศในวันที่ 31 สิงหาคม 2561
4.3 รอบรองชนะเลิศ ผู้ที่ผ่านเข้ารอบคัดเลือกส่งผลงานที่ปรับแก้ไขแล้ว ภายในวันที่ 14 กันยายน 2561 โดยคณะกรรมการจะคัดเลือกผลงานที่มีคุณภาพจำนวน 5 ผลงาน เพื่อเข้าสู่การพิจารณาในรอบชิงชนะเลิศต่อไป
4.4 รอบชิงชนะเลิศ กระทรวงการต่างประเทศ นำเสนอผลงานที่ได้รับการคัดเลือก 5 ผลงาน ต่อนายกรัฐมนตรีในฐานะประธานคณะกรรมการระดับชาติเพื่อเตรียมการจัดการประชุมสุดยอดอาเซียนฯ พิจารณาคัดเลือกผลงานที่สมควรใช้เป็นตราสัญลักษณ์การของเป็นประธานอาเซียนของไทย
4.5 กระทรวงการต่างประเทศแจ้งให้ผู้ที่ได้รับรางวัลชนะเลิศทราบและปรับปรุงตราสัญลักษณ์ตามข้อคิดเห็นของประธานคณะกรรมการระดับชาติฯ
4.6 ผู้ที่ได้รับรางวัลชนะเลิศส่งมอบตราสัญลักษณ์การเป็นประธานอาเซียนที่ปรับปรุงแล้วให้กระทรวงการต่างประเทศ

5. โจทย์การประกวด
5.1 ให้ผู้เข้าประกวดออกแบบตราสัญลักษณ์สำหรับการเป็นประธานอาเซียนของไทยในปี 2562 ภายใต้แนวคิด “Partnership for Sustainability” โดยการเป็นประธานอาเซียนของไทยในปี 2562 มุ่งเน้นการผลักดันความร่วมมือเพื่อเสริมสร้างความเข้มแข็งของประชาคมอาเซียน ในฐานะที่อาเซียนเป็นเสาสำคัญเสาหนึ่ง (cornerstone) ของนโยบายการต่างประเทศของไทย โดยกระชับความร่วมมือระหว่างประเทศสมาชิกอาเซียนเพื่อ “ขับเคลื่อนอาเซียนให้ก้าวไปข้างหน้าด้วยกัน สร้างประชาคมอาเซียนที่มีประชาชนเป็นศูนย์กลางและไม่ทอดทิ้งใครไว้ข้างหลัง โดยให้ความสำคัญกับการพัฒนาที่ยั่งยืน การส่งเสริมความเชื่อมโยง และการมองไป สู่อนาคต”
ทั้งนี้ ประเด็นสำคัญที่ไทยจะผลักดันใน ๓ เสาหลักของประชาคม ได้แก่ (๑) ประชาคมการเมืองและความมั่นคงอาเซียน ส่งเสริมการบริหารจัดการชายแดนให้เป็นระบบ เพื่อสร้างเกราะป้องกันภูมิภาคจากภัยคุกคามในรูปแบบใหม่ เช่น อาชญากรรมข้ามชาติ การรักษาแกนกลางของอาเซียนในโครงสร้างสถาปัตยกรรมของภูมิภาคอินโด-แปซิฟิก ภายใต้สถานการณ์ในภูมิภาคและโลกที่เปลี่ยนแปลงไป (๒) ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน เน้นการผลักดันให้การรวมตัวทางเศรษฐกิจและการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของอาเซียนเป็นไปอย่างยั่งยืนบนพื้นฐานที่ประเทศสมาชิกได้รับประโยชน์ร่วมกัน โดยคำนึงถึงทิศทางการค้าในอนาคต และ (๓) ประชาคมสังคมและวัฒนธรรมอาเซียน เน้นการส่งเสริมการเชื่อมโยงระหว่างกันของคนในประชาคม ผลักดันให้ประชาชนมีความกินดีอยู่ดี และส่งเสริมความมั่นคงของมนุษย์
5.2 ให้ผู้เข้าประกวดส่งผลงานออกแบบตราสัญลักษณ์ เป็นตราสัญลักษณ์แบบ Combinationmark ซึ่งมีองค์ประกอบ ดังนี้
5.2.1 ภาพสัญลักษณ์ (Symbol) ซึ่งมีตราสัญลักษณ์อาเซียน (ASEAN) เป็นส่วนหนึ่งในองค์ประกอบ
5.2.2 ตัวอักษรข้อความ “ASEAN Thailand 2019”
5.2.3 ตัวอักษรข้อความ “Partnership for Sustainability”

6. การส่งผลงานรอบคัดเลือก
6.1 ให้ผู้เข้าประกวดส่งผลงานเป็นเพลทนำเสนอผลงานขนาด A3 (29.7x42 ซ.ม.) แนวตั้งเท่านั้น จำนวนไม่เกิน 2 เพลท ไม่ต้องติดการ์ด หรือหากต้องการติดให้เพลทมีความแข็งแรง ให้ติดเท่าขนาดเพลท ไม่ต้องมีขอบ เพื่อให้การจัดการพิจารณาตัดสินมีความสะดวกและเรียบร้อย
6.2 การนำเสนอตราสัญลักษณ์ในเพลทนำเสนอ ให้มีรายละอียดดังนี้
6.2.1 ที่มาของความคิด (idea) โดยสังเขป เช่น การใช้ภาพสัญลักษณ์ การใช้สี การใช้รูปแบบตัวอักษร
6.2.2 ตราสัญลักษณ์แบบสีเดียว (One Color)
6.2.3 ตราสัญลักษณ์แบบสี (Full Color)

6.2.4 รูปแบบการนำตราสัญลักษณ์ไปใช้ในสื่อต่าง ๆ เพื่อพิจารณาความเหมาะสมในการ ใช้งาน ดังนี้
1) ปากกา
2) นามบัตร กระดาษจดหมาย และซองจดหมาย
3) ของที่ระลึกต่าง ๆ เช่น เสื้อ หมวก ร่ม
6.3 ส่งเพลทผลงานพร้อมใบสมัคร และสำเนาบัตรประชาชนด้วยตนเองหรือทางไปรษณีย์ที่ คณะมัณฑนศิลป์ มหาวิทยาลัยศิลปากร วิทยาเขตพระราชวังสนามจันทร์ อาคารศิลป์ พีระศรี 3 เลขที่ 6 ถนนราชมรรคาใน อำเภอเมือง จังหวัดนครปฐม 73000 ภายในวันที่ 15 สิงหาคม 2561 (นับจากวันที่ประทับตราไปรษณีย์)
6.4 ดาวน์โหลดตราสัญลักษณ์ ASEAN ใบสมัคร และสอบถามข้อมูลได้ที่ Facebook Page: NYD

7. เกณฑ์การตัดสิน
7.1 สะท้อนแนวคิดหลักของการเป็นประธานอาเซียนของไทยในปี 2562
7.2 สะท้อนอัตลักษณ์ความเป็นไทยที่มีความร่วมสมัยแบบสากล
7.3 มีความคิดสร้างสรรค์
7.4 มีความสวยงามตามหลักการออกแบบ
7.5 มีความเหมาะสมในการนำไปใช้งาน

8. รางวัลจากกระทรวงการต่างประเทศ
8.1 รางวัลชนะเลิศ จำนวน 1 รางวัล รางวัลละ 100,000.- บาท
8.2 รางวัลรองชนะเลิศ จำนวน 4 รางวัล รางวัลละ 30,000.- บาท
8.3 รางวัลชมเชย จำนวน 5 รางวัล รางวัลละ 10,000.- บาท

9. เงื่อนไขการประกวด
9.1 ผู้เข้าประกวดส่งผลงานเข้าร่วมประกวดได้เพียง 1 ผลงานเท่านั้นในทุกรอบของการประกวด
9.2 ผลงานที่ส่งเข้าประกวด จะต้องไม่เป็นผลงานที่เคยส่งเข้าประกวดและได้รับรางวัลที่ใดมาก่อน
9.3 ผลงานที่ส่งเข้าประกวด จะต้องไม่เป็นการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาของผู้อื่นโดยเด็ดขาด
9.4 ผลงานที่ได้รับการคัดเลือกและได้รับรางวัลทั้งหมด ถือเป็นลิขสิทธิ์ของกรมอาเซียน กระทรวงการต่างประเทศ โดยกรมอาเซียน กระทรวงการต่างประเทศ สามารถใช้สิทธิ์ในการปรับแก้ไขผลงานเพื่อประโยชน์ในการใช้งานจริงได้
9.5 ห้ามมิให้ผู้เข้าประกวดเผยแพร่ผลงานที่ได้รับการคัดเลือกในทุกรอบการของการประกวดต่อสาธารณะ ก่อนได้รับการอนุญาตเป็นลายลักษณ์อักษรจากคณะกรรมการประกวด มิฉะนั้นจะถูกตัดสิทธิ์จากการประกวด

รายละเอียดและใบสมัคร

download logo ASEAN ได้ที่นี่

Views: 299

© 2009-2024   PORTFOLIOS*NET by CreativeMOVE.   Powered by

Badges  |  Report an Issue  |  Terms of Service