ปั้นราชบุรีให้เป็นเมืองศิลปะร่วมสมัย


ปั้นดินเป็นงานศิลปะจนโด่งดัง ล่าสุด วศินบุรี สุพานิชวรภาชน์ กำลังง่วนกับการปั้นราชบุรีเป็นเป็นเมืองศิลปะร่วมสมัย 

โดยชิมลางด้วยการเปิดตัวหอศิลป์ร่วมสมัยแห่งแรกของราชบุรีในนาม 
เถ้า ฮง ไถ่ ดีคุ้น (Tao Hong Tai dKunst) เพื่ออุทิศให้เป็นสถานที่ที่ให้การศึกษาและความรู้ทางด้านศิลปะแก่ชุมชน 



ฝันวันวานกับบ้านเก่า 


สมัยที่ยังเป็นนักศึกษาปริญญาโทจาก Universitaet Gesamthochschule เมือง Kassel สหพันธรัฐเยอรมนี วศินบุรี เคยเป็นอาสาสมัครให้กับงาน Documenta (งานแสดงศิลปะสมัยใหม่และศิลปะร่วมสมัยที่สำคัญที่สุดงานหนึ่งของโลก จัดขึ้นทุก 5 ปีที่เมืองคัสเซิล ประเทศเยอรมนี) เขาเฝ้ามองผู้คนที่หลั่งไหลเข้ามาชมนิทรรศการกันอย่างมากมาย ในใจคิดแต่ว่า 'บ้านเราไม่มีวัฒนธรรมการเข้าพิพิธภัณฑ์' ถ้าเรามีโอกาสเริ่มต้นสร้างจากจุดเล็กๆ ก็คงเป็นเรื่องที่ดี 

"พอเรียนจบกลับบ้าน ผมก็เดินตระเวนถ่ายรูปไปทั่ว เดินทุกวันแล้วก็มาเจอ เรือนไม้ 2 ชั้น หลังคาทรงปั้นหยาตรงหัวมุมถนนวรเดช ตัดกับถนนสฤษดิ์เดช สภาพเดิมตอนที่เจอเป็นบ้านร้างๆ หลังหนึ่งชาวบ้านเช่าอยู่เดือนละ 300 บาทผมเคยขอเข้าไปดูห้องข้างบนเจ้าของไม่ให้ขึ้น วันหนึ่งก็ได้ข่าวว่า ติดจำนองขายไปแล้ว ยังบอกเพื่อนเลยว่าถ่ายรูปเก็บไว้เถอะ อีกหน่อยถูกรื้อแน่นอน ผ่านไปอาทิตย์สองอาทิตย์ ผมเห็นพ่อคุยกับลูกพี่ลูกน้องผมว่า บ้านที่หลุดจำนองมาแล้วให้ไปประมูลจัดการเรียบร้อยแล้วนะ ซึ่งก็คือบ้านหลังนี้ พ่อก็ไม่รู้ว่าผมชอบ ผมก็ไม่รู้ว่าพ่อชอบ ผมเลยไปขอมาทำหอศิลป์ " 

วศินบุรี เล่าว่า "จุดเริ่มจริงๆ คือ ตอนที่ผมจะกลับจากเยอรมันผมเริ่มของานศิลปะจากเพื่อนๆ 25 คน เพราะก่อนหน้านั้นไปคุยกับพิพิธภัณฑ์แห่งหนึ่งที่เพิ่งบูรณะ ผมบอกว่าอยากจะขอพื้นที่ส่วนหนึ่งมาจัดแสดงคอลเลคชั่นจากยุโรปได้มั้ย เขาก็โอเค ผมก็เริ่มของานจากศิลปิน ใส่ตู้คอนเทนเนอร์มาพร้อมกับของๆผม พอมาถึงเขาบอกว่าทำเป็นออฟฟิศไปแล้ว ชั้นล่างทำเป็นพิพิธภัณฑ์พื้นบ้านทำให้คนราชบุรี กาญจนบุรีมาดู ผมก็คิดในใจว่า งานของเราเป็นงานยุโรป ช่วงแรกคนอาจเข้ามาดูน้อย เช่น นักศึกษาศิลปะ ต่อไปเราจัดเวิร์คชอปเพื่อดึงดูดคนให้มาสนใจศิลปะ ทำให้เมืองราชบุรีเป็นเมืองอาร์ตได้ เมื่อโปรเจคนี้ล้มเหลว ผมก็เลยต้องนำงานของศิลปินทั้งหมดมอบให้หอศิลปแห่งชาติ ถนนเจ้าฟ้า ไปทั้งหมด" 

ในระหว่างนั้นก็กลับมาทำงานในตำแหน่งผู้อำนวยการฝ่ายออกแบบและพัฒนา ผลิตภัณฑ์โรงงานเครื่องเคลือบดินเผา เถ้าฮงไถ่ ของครอบครัว เป็นอาจารย์พิเศษภาควิชาเครื่องปั้นดินเผา คณะมัณฑนศิลป์ มหาวิทยาลัยศิลปากร และคณะวิทยาลัยเทคโนโลยีอุตสาหกรรม ภาควิชาศิลปอุตสาหกรรม สาขาวิชาออกแบบเซรามิกส์ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้า พระนครเหนือ 




ไม่บูรณะแต่ให้ชีวิตใหม่ 

ในระหว่างนั้นบ้านเก่าก็ดำเนินการซ่อมแซมเพื่อให้เป็นหอศิลป์ร่วมสมัย 

"ครั้งแรกพ่อต้องการแค่บูรณะสร้างเป็นปูนแบบสมัยรัชกาลที่ 5 แต่ผมบอกว่าไม่ต้องการให้บูรณะเพราะมันแค่ยืดอายุ แต่ผมต้องการให้ชีวิตใหม่ ผมต้องการเก่ากับใหม่มาผสมผสานกัน ผมไปคุยกับสถาปนิก คุณชาตรี ลดาลลิตสกุล ซึ่งเป็นคนราชบุรี เขาบอกว่าเห็นบ้านหลังนี้มาตั้งแต่เด็กๆ ผมบอกว่า อยากทำแกลลอรี ที่พักของศิลปิน อีกหน่อยศิลปินมาพำนักในเมืองราชบุรี เราก็ซัพพอร์ตให้แต่เขาต้องมอบงานศิลปะชิ้นหนึ่งให้เมือง 

ฝันต่อไปว่าถ้าอีกสามสี่ปีเมืองราชบุรีอาร์ตมันเวิร์ค เราอาจมีรางวัลราชบุรีอาร์ตอวอร์ดขึ้นมา ไม่ได้ให้เฉพาะศิลปินไทยเราตั้งเป้าไว้สูงเลย สมมติตั้งรางวัลล้านหนึ่ง อีกหน่อยเราจ้างคิวเรเตอร์เก่งๆ มาคัดเลือกศิลปิน ต่อไปราชบุรีจะมีคอลเลคชั่น มีงานสะสมเหมือนเมืองนอก ที่แต่ละเมืองมีผลงานศิลปะเป็นของตัวเอง " วศินบุรี เล่าถึงฝันของเขา 
ช่วงที่งานชุบชีวิตบ้านเก่าใกล้แล้วเสร็จ เพื่อนบ้านต่างให้ความสนใจและขอเข้าเยี่ยมชม ทำให้เจ้าของใหม่ได้รับทราบถึงประวัติของบ้านที่มีความผูกพันทางใจของผู้คนหลายรุ่น 

" หลายๆ คน บอกว่าเคยมาวิ่งเล่นที่นี่สมัยเด็กๆ น้าอู๊ดข้างบ้านบอกว่าเมื่อก่อนเคยมาเช่าอยู่ห้องชั้นบนเป็นเรือนหอของเขา มีลุงคนหนึ่งอายุ 66 ปี เป็นคนแรกในประเทศไทยที่ชื่อ ฟ้าใส เขาบอกว่าจำได้ว่าค่าสร้างสมัยนั้น 70 บาท วันที่ 4 กุมภาพันธ์ ที่ผ่านมาซึ่งเป็นวันเปิดหอศิลป์ชาวบ้านก็มาร่วมงานแล้วก็เข้าชมกันคับคั่ง" 

หอศิลป์ร่วมสมัย Tao HongTai d Kunst , คำว่า D Kunst (ดี คุ้น) เป็นคำย่อจากภาษาเยอรมัน die Kunst แปลว่า “ศิลปะ” แบ่งพื้นที่ใช้สอยออกเป็น 3 ส่วนใหญ่ๆ ด้วยกัน คือ ส่วนจัดแสดงนิทรรศการศิลปะ ที่พักของศิลปิน และร้านกาแฟเล็กๆ ที่เสิร์ฟกาแฟในถ้วยเซรามิกแฮนด์เมดสไตล์เถ้าฮงไถ่ ขนมเค้กโฮมเมดจากคนที่มีใจรักในเบเกอรี รวมไปถึงอาหารจานเดียวที่มีเมนูไม่มาก เพราะต้องการให้เป็นมุมพักผ่อนสบายๆ ของผู้มาเยือน รวมทั้งคนที่อยากมานั่งพักผ่อนในบรรยากาศชิลด์ ชิลด์ 

" เรียกว่ามาซื้อถ้วยเซรามิกแถมกาแฟ เราก็มีมุมเล็กๆ ขายของที่ระลึก เช่น งานเซรามิก เสื้อยืด กระเป๋า ให้ด้วย" เจ้าของแกลลอรีตอบยิ้มๆ 



เดินหน้านำศิลปะเข้าสู่ชุมชน 

หลังจากให้ชีวิตใหม่กับบ้านเก่า ดูเหมือนว่าจะเป็นสิ่งดึงดูดสายตาคนในชุมชนได้ไม่น้อยเลยทีเดียว สังเกตได้จากมีผู้คนต่างเข้ามาขอชม ถ่ายรูป และนั่งจิบชา กาแฟ จนแทบไม่มีที่นั่งว่างเลย 

"เราหวังว่าแกลลอรีแห่งนี้ จะเป็นพื้นที่เล็กๆ ที่หนึ่งที่จะสามารถประชาสัมพันธ์ และเผยแพร่ความรู้เกี่ยวกับงานศิลปะร่วมสมัยให้กับคนไทย และคนในชุมชนให้มีโอกาสได้รับรู้ สัมผัสกับงานศิลปะร่วมสมัย และหันมาสนใจงานศิลปะร่วมสมัยเพิ่มมากขึ้น อีกทั้งยังพยายามสนับสนุน และผลักดันศิลปิน นักเรียน นักศึกษา และผู้ที่สนใจงานศิลปะร่วมสมัยให้ผลิต และสร้างสรรค์งานดีๆ ให้แก่คนไทยได้ดูกันต่อไป ซึ่งในท้ายที่สุด สิ่งเหล่านี้อาจกลายเป็นความยั่งยืนของศิลปะร่วมสมัยในชุมชนต่อไป" ผู้ก่อตั้งหอศิลป์ร่วมสมัยกล่าว 

สำหรับผู้ที่สนใจอยากจะเดินทางไปเยี่ยมชม ในเดือนมิถุนายนนี้จัดแสดงนิทรรศการศิลปะ 2 นิทรรศการด้วยกัน คือ Domestic Ware โดย พิม สุทธิคำ และ เด็กฝึกหัตถ์ 2 หอศิลป์ตั้งอยู่ในอ.เมือง ราชบุรี ติดกับพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ราชบุรี เปิดอังคาร - อาทิตย์ 10.00 -19.00 น. โทร. 081-880-3600 



ก่อนมาเป็นหอศิลป์ 
หอศิลป์ร่วมสมัย Tao Hong Tai d Kunst เกิดจากการปรับปรุงอาคารเดิม ซึ่งเป็นเรือนไม้ 2 ชั้น มีใต้ถุนโล่ง และมีเรือนเล็ก 2 หลัง คือเรือนครัว และเรือนเก็บของ หลังคาทรงปั้นหยา มุขด้านหน้าเป็นหลังคาจั่ว ประดับซุ้มจั่วด้วยลวดลายไม้ฉลุ ลายพันธุ์พฤกษา หน้าต่างเป็นบานเกล็ดไม้ ด้านบนเป็นช่องแสง อาคารหลังนี้ตั้งอยู่บริเวณหัวมุมถนนวรเดช ตัดกับถนนสฤษดิ์เดช จากเอกสารโฉนดที่ดิน พบว่าพื้นที่นี้ได้รับการออกโฉนดในสมัยรัชกาลที่ 5 แต่สันนิษฐานว่า อาคารหลังนี้น่าจะถูกสร้างขึ้นในปลายสมัยรัชกาลที่ 5 โดยผู้ครอบครองเดิม คือ ทนายแช่ม สัมพันธารักษ์ ใช้งบประมาณค่าแรงในการก่อสร้างเป็นจำนวน 70 บาท 

อาจารย์ น. ณ ปากน้ำ ศิลปินแห่งชาติได้กล่าวไว้ในหนังสือ “แบบแผนบ้านเรือนในสยาม” ระบุว่า รูปแบบทางสถาปัตยกรรมของอาคารหลังนี้ได้รับอิทธิพลจากบ้านยุคกลางของยุโรปผสมกับเรือนพื้นถิ่นแบบบังกะโลของเอเชีย 
ในช่วงระยะเวลาที่ผ่านมา อาคารหลังนี้ได้ถูกดัดแปลงเป็นสำนักงานทนายความ คลินิกแพทย์ บริษัทท่ารถเมล์ และต่อมาถูกทิ้งร้างไว้นานหลายปี จนมีสภาพทรุดโทรม แต่ยังคงรักษาลักษณะทางสถาปัตยกรรมที่มีคุณค่าเอาไว้ได้ 
ต่อมาในปี พ.ศ. 2546 บิดาของ วศินบุรี สุพานิชวรภาชน์เจ้าของโรงงานโอ่งมังกร เถ้า ฮง ไถ่ จังหวัดราชบุรี ได้ซื้ออาคารนี้จากเจ้าของเดิม เพื่อใช้ทำเป็นหอศิลป์ร่วมสมัยแห่งแรกของจังหวัดราชบุรี 

โดยจะใช้เป็นสถานที่สำหรับให้ความรู้ทางด้านศิลปะแก่ชุมชน และเป็นที่แสดงงานของศิลปินไทยและต่างชาติ โดยสถาปนิก และทีมผู้ออกแบบทำการศึกษารายละเอียดในการบูรณะและปรับเปลี่ยนพื้นที่ใช้สอยของอาคารเดิมให้เป็น “หอศิลป์ร่วมสมัย Tao Hong Tai d Kunst” 


 

 


โดย: ปิ่นอนงค์ ปานชื่น 
ที่มา: bangkokbiznews.com / 21 มิถุนายน 2554

Views: 217

Reply to This

© 2009-2024   PORTFOLIOS*NET by CreativeMOVE.   Powered by

Badges  |  Report an Issue  |  Terms of Service