UNVEILED : ศิลปะจากโลกตะวันออกกลาง

Shadi Ghadirian งานชุด Untitled from the Ghajar Series 
---------------------------------- 

นิทรรศการ 'UNVEILED' พร้อมที่จะปลดผ้าคลุมหน้า ให้เปิดเผยถึงเสรีภาพในใจของชาวตะวันออกกลาง 

Unveiled: New Art From the Middle East ชื่อนิทรรศการศิลปะจากโลกตะวันออกกลางจัดขึ้นที่ The Saatchi Gallery แกลลอรีที่สนับสนุนศิลปินแนวร่วมสมัยรุ่นใหม่ที่ยังไม่เคยแสดงงานมาก่อนในอังกฤษ โดยมีผู้ชมมากถึงกว่า 6 แสนคนต่อปี ศิลปินเริ่มต้นที่ยังไม่เป็นที่รู้จักในแวดวงศิลปะจากทั่วโลก หลังจากได้มาแสดงงานที่นี่ ก็จะกลายเป็นที่รู้จักอย่างกว้างขวางขึ้นทั้งในแง่การตลาดและชื่อเสียงจาก ทั้งพิพิธภัณฑ์ศิลปะทั่วโลกและแกลลอรีทั่วไป และด้วยพื้นที่กว่า 70,000 ตารางฟุต ของตึก Duke of York ย่าน Chelsea ซึ่งเป็นย่านสุดหรูของลอนดอน ก็ทำให้แกลลอรีนี้ยิ่งเป็นที่น่าสนใจ 


งานนี้เป็นผลงานของศิลปินชาวตะวันออกกลางจาก ไคโร อิรัก เบรุต จอร์แดน ฯ ซึ่งเรามักจะไม่ค่อยได้เห็นศิลปินกลุ่มนี้เท่าไหร่ในแวดวงศิลปะ แต่จะเห็นความเคลื่อนไหวจากประเทศเหล่านี้ผ่านสื่อในแง่ของความรุนแรงจากสงครามแบ่งแยกดินแดงและการก่อการร้ายในรูปแบบต่างๆ นับเป็นการดีที่จะได้ชมงานศิลปะจากประเทศที่มีความขัดแย้งอย่างรุนแรงในเรื่องของศาสนา การเมือง เพศ และวัฒนธรรมของกลุ่มประเทศเหล่านี้ ดังตัวอย่างศิลปินที่ยกมาให้ชมเป็นตัวอย่างเพื่อให้มองเห็นแนวทางของศิลปะในโลกที่เข้าถึงได้ยากว่ามีรูปแบบของงานศิลปะเป็นเช่นไร 


ศิลปินหญิงชาวอิหร่าน Shadi Ghadirian กับงานชุด 'Untitled from the Like Everyday Series' ประกอบไปด้วยภาพถ่ายจำนวนเจ็ดภาพ โดยใช้อุปกรณ์ที่พบเห็นในชีวิตประจำวันในการใช้งานของแม่บ้านหญิงในโลกตะวันออกกลางเป็นสื่อในงานของเธอ โดยที่สิ่งของเหล่านี้ดูเป็นเอกลักษณ์ของผู้หญิงในภาพรวมสำหรับผู้ชาย ซึ่งเปรียบว่าผู้หญิงเหล่านี้ก็เป็นเพียงแค่ทาสรับใช้ของสังคมพวกผู้ชายได้แค่นั้น ไม่มีวันก้าวข้ามไปทำงานนอกบ้านเฉกเช่นกับสามี ต้องหมกตัวเป็นแม่บ้านไปวันๆ 


กับอีกผลงานในชุด 'Untitled from the Ghajar Series' ประกอบด้วยภาพถ่ายสามภาพ โดยเธอใช้สิ่งของที่ตกยุคเป็นตัวเปรียบเทียบสังคมของหญิงชาวอิหร่าน ที่ผู้คนยังใช้วิทยุ โทรศัพท์ เครื่องดูดฝุ่นแบบโบราณ การโพสท์ท่าที่เหมือนทันสมัยเป็นการเย้ยหยันและแดกดันความล้าหลังของสังคมที่มีการกดขี่และผู้หญิงที่ถูกกดไว้ ไม่ให้รับรู้ความเจริญของโลกใบนี้อีกด้วย 


ต่อมางานของศิลปินหญิงเช่นเดียวกัน Kader Attia ซึ่งทำงานและอาศัยอยู่ที่ฝรั่งเศส กับผลงานศิลปะจัดวางที่แสดงเต็มทั้งห้องแสดงที่ชื่อว่า 'Ghost' โดยเป็นการจัดวางในรูปแบบของกลุ่มผู้หญิงชาวมุสลิมขณะกำลังสวดมนต์ ตัวชิ้นงานทำจากแผ่นดีบุกรูปคนกำลังนั่งสวดมนต์แต่ด้านในกลวง ซึ่งศิลปินต้องการใช้วัสดุที่เหลือทิ้งทุกวัน โดยที่รูปร่างของผู้หญิงเหล่านี้ดูเหมือนตัวเอเลี่ยนในอนาคตที่ผ่านการสังเคราะห์ของความหดหู่และความตาย การคำนับเป็นเพียงการล่อลวงเหมือนเป็นหลุมพรางในพิธีกรรมจากศาสนาสู่มนุษยชาติและไปจนถึงการบริโภคนิยม 


งานชิ้นนี้ปลุกความมุ่งมั่นของผู้คนในเงื่อนไขของความอ่อนแอและสภาพความหมดหวัง จากการใช้วัสดุที่เสื่อมสภาพได้ง่ายก็เป็นการเข้าใจในการเปลี่ยนแปลงของประวัติศาสตร์และของโลกใบนี้ ผ่านประสบการณ์ของกาลเวลานั่นเอง ผู้คนที่เข้ามาชมห้องนี้ได้เพียงแค่เดินไปรอบๆงาน เหมือนอยู่ในส่วนหนึ่งของพิธีกรรมความหดหู่และความตาย เพราะใบหน้านั้นว่างเปล่าแต่เป็นสีดำที่เกิดจากเงาของหุ่นนั้นแทน ผู้ชมเหมือนเป็นผู้เฝ้ามองความตายผ่านห้วงลึกที่ไม่มีแม้แต่รูปลักษณ์ที่ปรากฏ เป็นเพียงสัจธรรมของความมืดมิดของวัตถุที่รอการเสื่อมสลายเท่านั้น 


 
ศิลปินชาวอิรัก Halim Al-Karim ในผลงาน Hidden Victims 
----------------------------------


ศิลปินชาวอิรัก Halim Al-Karim มาพร้อมผลงาน 'Hidden Victims' เป็นงานภาพถ่ายท่าทางของผู้หญิงชาวมุสลิมกลุ่มหนึ่ง เกี่ยวกับความเชื่อว่าพระผู้เป็นเจ้าเป็นหนึ่งเดียวและความล้าสมัยของประเพณี โดยเฉพาะกลุ่มชนเมโสโปเตเมีย ในช่วงปี 6000-4000 BC.สัญลักษณ์ของชนกลุ่มนี้มักปรากฏในงานของเขา โดยที่ภาพถ่ายของผู้หญิงมักได้รับแรงบันดาลใจจากพิธีกรรมที่จะยกระดับเด็กผู้หญิงให้กลายเป็นหญิงที่สง่างาม 


กับอีกงาน 'Hidden Doll' ซึ่งเป็นภาพถ่ายผ่านใต้ผ้าไหมสีขาวที่รัดแน่นหลายชั้น ปกปิดหน้าตาของหญิงสาวในภาพ เปรียบเสมือนการมีฉากกั้น อุปสรรคระหว่างผู้ชมกับภาพที่มองเข้าไปทำให้เกิดความรู้สึกเกี่ยวกับที่ว่าง ขอบเขตของงาน ระหว่างความเป็นอยู่จริงและความเหมาะสม และความแปลกประหลาดที่มีเงื่อนงำ นอกจากนี้ยังมีภาพของซัดดัม ฮุดเซนในภาพที่เปรียบเหมือนผู้นำกับปิศาจร้ายว่าใครคือตัวจริง จัดแสดงให้ชมอีกด้วย 


 
Marwan Rechmaoui กับงาน Beirut Caoutchouc 2004 - 2008 
-------------------------------------


สุดท้ายกับ Marwan Rechmaoui เขาทำงานเกี่ยวกับการพัฒนาของสังคมเมือง และประวัติศาสตร์ของชุมชน กับงานชิ้นแรก 'Beirut Caoutchouc 2004 - 2008' ซึ่งคำว่า 'Caoutchouc' แปลว่า 'ยางพารา' โดยที่งานของศิลปินเปรียบเสมือนเป็นแผนที่เมืองเบรุต เมืองหลวงประเทศเลบานอน ซึ่งในแผนที่จะมีถนนสายเล็กๆ บ้านเมืองชุมชนต่างๆ ในแผนที่นั้น เขาต้องการจะถามถึงสาเหตุและผลของวัฒนธรรมที่มีความแตกต่างกันของเมืองที่มีปัญหาความขัดแย้งอย่างมากแห่งหนึ่งของโลก ตลอดจนการอยู่ร่วมกันของผู้ที่อาศัยบนแผนที่เดียวกันในงานศิลปะชิ้นนี้ว่า มีการอยู่ร่วมกันบนความขัดแย้งได้อย่างไร นั่นคือปัญหาที่ยังคงรอการแก้ไขที่ศิลปินอย่ากจะถามผ่านผลงานนั่นเอง 


โลกศิลปะของชาวตะวันออกกลาง โลกที่เต็มไปด้วยความขัดแย้งอย่างรุนแรงทั้งในเรื่องการเมือง เศรษฐกิจ ศาสนา และในเรื่องเพศ ศิลปินได้เปิดเผยตัวตนที่แท้จริงในอีกโลกใบหนึ่งที่เราไม่ค่อยจะได้พบเห็นมากนักกับงานศิลปะแบบนี้ ในโลกของความเป็นจริงอาจจะมีความโหดร้าย หดหู่ตามภาพข่าวทางโทรทัศน์มากกว่าที่เห็นในงานศิลปะ ซึ่งศิลปินเป็นได้เพียงผู้สังเกตการณ์ที่สะท้อนภาพเหล่านั้นเผยแพร่สู่สายตาผู้คนจากทั่วโลก งานของพวกเขาเปรียบเสมือนเป็นกระบอกเสียงที่สำคัญให้กับประชาชนในดินแดนที่ ต้องการความสงบและเสรีภาพ นี่คือความยิ่งใหญ่ของศิลปะที่สวยงามและมีพลังแห่งอิสรภาพที่แฝงตัวอยู่ 


นิทรรศการ 'UNVEILED' พร้อมที่จะปลดผ้าคลุมหน้า ให้เปิดเผยถึงเสรีภาพในใจของชาวตะวันออกกลางเฉกเช่น ผู้คนจากทุกประเทศที่ต้องการสันติภาพ อิสรภาพ และความเท่าเทียมของความเป็นมนุษย์ ไม่ว่าจะเป็นประเทศใดๆในโลกใบนี้ก็ตาม 



โดย: ประพัฒน์ จิวะรังสรรค์ 
ที่มา: กรุงเทพธุรกิจ / 21 มีนาคม 2554

Views: 593

Reply to This

© 2009-2024   PORTFOLIOS*NET by CreativeMOVE.   Powered by

Badges  |  Report an Issue  |  Terms of Service