Traces ศิลปะจัดวาง ตามรอยหนัง เอมอส กิไต

ศิลปิน ผู้กำกับ และนักแสดงดังจากอิสราเอล เอมอส กิไต กำลังจัดแสดงงานศิลปะจัดวาง (Installation) ชื่อว่า Traces ของเขาอยู่ที่หอศิลป์ปาเลส์ เดอ โตเกียว จนถึงวันที่ 10 เม.ย. ศกนี้ 

ศิลปิน ผู้กำกับ และนักแสดงดังจากอิสราเอล เอมอส กิไต กำลังจัดแสดงงานศิลปะจัดวาง (Installation) ชื่อว่า Traces ของเขาอยู่ที่หอศิลป์ปาเลส์ เดอ โตเกียว จนถึงวันที่ 10 เม.ย. ศกนี้ 

ศิลปะจัดวางของ เอมอส เล่นกับแสงเงาของภาพประกอบเสียง โดยออดิโอวิชวลส่วนหนึ่งมาจากหนังที่เขากำกับ ซึ่งโดยภาพรวมแล้วเนื้อหาสะท้อนความรุนแรงในทุกรูปแบบ ที่ได้รับผลกระทบมาจากการเหยียดเชื้อชาติ และการรุกรานจากประเทศเพื่อนบ้าน 

ก่อนหน้านี้ ในหนังของเขาส่วนใหญ่ก็มักจะมีเนื้อหาบอกเล่ามุมมองของตัวเขาเองที่ได้ผลกระทบมาจากความไม่สงบในประเทศอิสราเอล ที่เกิดมาจากการไม่ลงรอยกับนานาชาติรอบข้าง 

บรรยากาศในหนังของ เอมอส ส่วนใหญ่จะเป็นไปในโทนหม่นมัว ลึกลับ ดำมืด แบบที่เราคุ้นเคยดีในหนังสไตล์ “ฟิล์มนัวร์” เช่นเดียวกับบรรยากาศในนิทรรศการศิลปะจัดวาง Traces ของเขา ณ ปาเลส์ เดอ โตเกียว ณ เวลานี้ ที่กลายสภาพจากตึกขาวๆ ใสๆ กลายเป็นดินแดนแห่งความมืดมน 

หลังจากที่ผลงานศิลปะของ เอมอส เคยจัดแสดงที่นี่เป็นแห่งแรกเมื่อราว 30 ปีก่อน กระทั่งปัจจุบันเขาเป็นที่รู้จักกันดีในระดับนานาชาติ ในฐานะที่เป็นผู้กำกับผู้ยิ่งใหญ่รายหนึ่ง ในการถ่ายทอดเรื่องราวสะท้อนความทรงจำของยิวจากสงครามโลกครั้งที่ 2 



ผู้ที่มาชมศิลปะจัดวาง Traces เท่ากับจะได้เดินทางย้อนเวลาไปกับเหตุการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นในอดีต ทั้งจะได้รับรู้ในประสบการณ์ร่วมอันสุดแสนจะสะเทือนใจพร้อมไปกับภาพและเสียง ภายใต้แสงเงาแห่งความหม่นมัว จากหนังทั้งหมด 14 เรื่องของ เอมอส กิไต 

ก่อนหน้านี้ ศิลปะจัดวาง Traces เปิดแสดงเป็นเวอร์ชันแรกไปที่เทศกาลศิลปะเมืองบอร์กโดซ์ โดยจัดที่บริเวณอาคารร้าง ที่สองฟากฝั่งของกำแพงเต็มไปด้วยความปรักหักพัง ซึ่งช่างดูคล้ายกับการย้อนไปเห็นเหตุการณ์ในอดีตจริงๆ เมื่อบ้านเรือนของชาวยิวถูกเผาทำลายในสงครามโลกครั้งที่ 2 พร้อมๆ ไปกับการได้ยินเสียงจากหนัง คลิปเสียงสมัย เบนิโต มุสโสลินี กำลังหาเสียงเลือกตั้ง ภาพหนุ่มสาวชาวยิวกำลังเต้นรำก่อนที่พายุจะก่อตัว เรื่อยไปจนถึงภาพเคลื่อนไหวที่ไร้เสียงของบรรดาชาวยิวที่ถูกส่งขึ้นรถไฟไปยังเอาชวิตซ์ ฯลฯ 

การจัดแสดงที่ชั้นใต้ดิน นอกจากสมบทบาทกับบรรยากาศหม่นมัวแล้ว ทางด้านของเสียงสะท้อน (เอคโค) ก็ยังเสริมบรรยากาศ และเป็นส่วนหนึ่งที่สำคัญในนิทรรศการอีกต่างหาก 

โซฟี กาลเย จากหอศิลป์ปาเลส์ เดอ โตเกียว ติดต่อ เอมอส กิไต ไปในเดือน ต.ค. ปีที่ผ่านมา บอกว่า เขาสามารถจะมาจัดนิทรรศการศิลปะจัดวางได้ที่ชั้นใต้ดินของอาคารหอศิลป์ ซึ่งสร้างมาตั้งแต่ปี ค.ศ. 1934 ออกแบบโดยสถาปนิกคนดัง ฌองโคลด ดงเดล อองเดร อูแบร์กต์ โปล ฟียาร์ด และมาร์เซล ดาสตูก สำหรับการจัดนิทรรศการโดยเฉพาะ 

บริเวณด้านหน้าของอาคารที่เรียกว่า “วัง” (ปาเลส์) ประกอบด้วยวงเวียน 2 แห่ง ที่เชื่อมต่อกันด้วยมุขทางเดินแบบมีหลังคาด้านหน้า โดยสามารถเดินลงไปยังห้องใต้ดินได้ตามทางเดียวกับแปลนทางเดินน้ำ 

ระหว่างสงครามโลกครั้งที่ 2 ชั้นใต้ดินที่กำลังเป็นสถานที่จัดแสดงนิทรรศการศิลปะจัดวางแห่งนี้ ใช้เป็นที่เก็บสมบัติที่ทางการยึดมาจากชาวยิวในปารีส (โดนนาซีเข้าควบคุม) นับจากทศวรรษที่ 1950 หลังสิ้นสุดสงครามโลกครั้งนั้น ปาเลส์ เดอ โตเกียว ก็ได้กลับมาเป็นหอศิลป์แห่งสำคัญในการจัดแสดงนิทรรศการศิลปะร่วมสมัยต่างๆ มากมาย 

เอมอส กิไต ศึกษามาทางสถาปัตยกรรม ตามรอยบิดาสถาปนิกของเขา ผู้เป็นหนึ่งในกลุ่มศิลปะ เบาเฮาส์ (Bauhaus) ของเยอรมนี ก่อนที่อนาคตด้านการศึกษาของเขาจะดับวูบลง เนื่องจากเกิดสงครามคิปปูร์ (ระหว่างอิสราเอลกับประเทศอาหรับ) ในปี 1973 

เขาเริ่มสร้างหนังด้วยฟิล์ม 8 มม. หลังจากนั้นก็กลายเป็นอาชีพหลักไปโดยเลิกไม่ได้ จากการถ่ายภาพวิวทิวทัศน์บนเฮลิคอปเตอร์ เรื่องราวที่ปรากฏบนหนังของเขา ถ่ายทอดประวัติศาสตร์ของตะวันออกกลาง รวมทั้งเรื่องราวชีวิตของตัวเขาเอง การอพยพลี้ภัย ดินแดนในฝันอย่างยูโทเปีย บันทึกความทรงจำ ความหวังสิ้นหวัง หนังของเขาสะท้อนให้เห็นภาพแห่งอดีตและปัจจุบัน รวมทั้งมีบทบาทในโลกศิลปะ 

 

 

 

 

 

 

 




โดย: อฐิณป ลภณวุษ 
ที่มา: posttoday.com / 09 กุมภาพันธ์ 2554

Views: 23

Reply to This

© 2009-2024   PORTFOLIOS*NET by CreativeMOVE.   Powered by

Badges  |  Report an Issue  |  Terms of Service