หนังช่างคิด "The Class" พื้นที่วิวาทะ ถกเถียง-ตรวจสอบ เพื่อความจริง

 
ไม่ว่าจะเป็นด้วยเหตุผลว่า “ไทยนี้รักสงบ” หรือเพราะ “รักกันไว้เถิด เราเกิดร่วมแดนไทย” ไปจนถึง “อย่าได้เป็นศิษย์คิดล้างครู” ฯลฯ 

การถกเถียง วิวาทะด้วยความเคารพในเหตุผล การวิพากษ์วิจารณ์บนข้อเท็จจริงเปรียบเทียบอ้างอิงจากความรู้ แง่มุมมทางวิชาการ หรือการตรวจสอบ ตัดสินอย่างเป็นกลาง เป็นธรรม จึงดูจะเป็นของแสลงสำหรับสังคมไทย 

มีหลายปรากฎการณ์บ่งชี้สภาพความเป็นจริงดังที่กล่าวมานั้น เช่น วิวาทะในมาตรา 112, แนวทางการปรองดองอย่างยุติธรรมและให้ความเคารพทุกฝ่าย... ไปจนถึงกรณีการตั้งกรรมการตรวจสอบสื่อ 

เมื่อไม่นิยมที่จะทะเลาะกันด้วยเหตุผล ถึงที่สุดแล้ว มักไม่มี วิวาทะหรือการถกเถียงอย่างมีคุณภาพ ซึ่งก็ไม่ทำให้เห็นมิติ แง่มุมที่หลากหลาย ไม่เกิดปัญญาที่จะสรุป พิเคราะห์แต่ละเรื่องแต่ละเหตุการณ์อย่างถ่องแท้ 

ยกประเด็นซับซ้อนดังกล่าวมาชวนคุยทั้งๆ ที่รู้ว่ามันไม่น่าจะมีข้อสรุป ซึ่งก็เหมือนกับภาพยนตร์ที่จะชวนมาพูดคุยขบคิดกันในวันนี้ ก็อย่าหวังว่าดูแล้วจะเกิดพุทธปัญญาแบบสำเร็จรูป 

ขอแนะนำ The Class ภาพยนตร์ (กึ่งสารคดี?) เจ้าของรางวัลภาพยนตร์ยอดเยี่ยม ปาล์มทองคำ จากเทศกาลหนังเมืองคานส์ ปี 2008 แถมเป็นตัวแทนจากฝรั่งเศสเข้าชิงภาพยนตร์ภาษาต่างประเทศยอดเยี่ยมเป็น 5 เรื่องรอบสุดท้ายของออสการ์ในปีเดียวกันด้วย(แพ้ Departure ไปจิ๊ดนึง) 

อย่าเพิ่งทำหน้าเหมือนกินยาขม (เมื่อพูดถึงหนังรางวัลจากคานส์) เพราะนี่คือภาพยนตร์ที่สนุกเข้มข้น แถมได้รับเสียงชื่นชม แนะนำต่อจากนักวิจารณ์มากที่สุดในเทศกาลคานส์ปีนั้นเลยทีเดียว (ยืนยันว่า สนุก/ดูง่ายกว่า The White Ribbon “ลุงบุญมี” หรือ Tree of Life มากมาย) 

และก็อย่าเพิ่งคาดหวังว่าหนังแนวครู-นักเรียนเรื่องนี้ ดูจบแล้วจะอิ่มเอม ซาบซึ้งไปกับความทุ่มเทของคุณครู หรือ 

พลังใจของลูกศิษย์ เหมือนที่เคยมีประสบการณ์กันใน Dead Poets Society หรือ Mr.Holland’s Opus 




เสน่ห์ของ The Class ที่โดนใจผมอย่างแรงก็คือ 

1.มิติด้านกว้างที่ประเด็นต่างๆ ของหนังสะท้อนปมที่ชอบถกเถียงกันทั้งความถูกผิด-ชอบชัง, การศึกษากับความหมายของการเรียนรู้ ไปจนถึงปมปัญหาความแปลกแยกแตกต่าง ทั้งเรื่องผิวสี ชาติพันธุ์ สถานะทางสังคม ไปจนถึงความแปลกภายภายในตัวตนของปัจเจกเอง 

2. มิติด้านลึกที่หนังตั้งคำถามหลายๆประเด็นให้เราคิด หรือบางครั้งหวนกลับมาคิดได้อย่างจริงจัง โดยเฉพาะถ้าดูไปคิดตามมาว่า เออถ้าเป็นเรา เราจะทำอย่างไร จะตัดสินใจอย่างไร 

3. สไตล์การเล่าเรื่องที่แทบจะเป็นเหมือนสารคดี มีแต่บทพูดตอบโต้ รวมทั้งการวางกล้องให้เหมือนเรากำลังร่วมนั่งพิจารณาอยู่ในเหตุการณ์นั้นห่างๆ แต่ก็ไม่ได้โน้มน้าวให้อินไปด้วยกับใคร หรือเอาใจช่วยคนใดคนหนึ่ง 

เนื้อเรื่องโดยย่อก็ ครูหนุ่ม ฟรองซัวส์ มาแร็ง สอนวรรณคดีภาษาฝรั่งเศสอยู่ในชั้นเรียนแห่งหนึ่งในปารีส ที่ซึ่งเขาต้องเผชิญกับความยากลำบากในการควบคุมแต่ละชั่วโมงเรียนให้เป็นไปอย่างราบรื่น ซึ่งกลายเป็นเรื่องยากแสนสาหัสเนื่องเพราะ เด็กวัยรุ่นประมาณ 14-15 ขวบภายในชั้นล้วนเข้าขั้น “เด็กแสบ” ที่มีครบทุกรูปแบบ แม้จะมี “เด็กเรียน” ที่ดูจะเข้าถึงสิ่งที่เขาพยายามสอนบ้าง แต่นั่นก็แค่ส่วนน้อย 




จากซีนแรกๆ ที่เราได้เห็นความแตกต่างของเด็กในชั้นเรียน มีทั้งหัวดื้อ, ก้าวร้าว, เกเรโชว์ออฟ, เจ้าเล่ห์/เขี้ยวลากดิน แบ่งกลุ่ม สุมหัวกัน แยกฝ่ายเขม่นกัน ทะเลาะด่าทอกันเองแล้วก็ลามไปถึงครู ฯลฯ 

หลังจากนั้นหนังก็ค่อยๆ พาเราสำรวจเข้าไปยังสายสัมพันธ์และความขัดแย้งที่จับคู่กันนัวเนียไปหมด ไม่ว่าจะเป็นคู่ นักเรียนผิวขาว-นักเรียนผิวสี, นักเรียนผิวสีด้วยกันเอง, นักเรียน-ครู, ครู-ครู, ครู-ผู้ปกครอง 

ท่ามกลางไดอะล็อกยิงรัวอยู่ตลอดเวลา สีหน้า-อารมณ์ ของตัวละครที่เล่นได้เหมือนเป็นสารคดีชีวิตจริง บีบให้ผู้ชมอึดอัด หายใจติดขัดได้ตลอด แต่ก็เมามันไปกับการตอบโต้ ทะเลาะ ขึ้นเสียงกันด้วยเหตุผล คำพูด และข้อมูลที่เกิดขึ้นตลอดเวลา 

ผ่านไปครึ่งเรื่อง หนังดูเหมือนจะพาให้เราเห็นแนวโน้มหรือพัฒนาการที่ดีขึ้น เด็กในชั้นเรียน เปิดใจให้ความร่วมมือมากขึ้น แต่ก็ยังมีคำถามชวนอึ้งประเภท “ เรียนวรรณกรรมไปทำซากอะไร...” ซึ่งครูฟรองซัวส์ มาแร็ง ก็ไปไม่ค่อยเป็นเหมือนกัน แม้จะพยายามฉุดดึงเอาศักยภาพ ความเป็นตัวของตัวเองในเด็กแต่ละคนออกมา เพื่อที่จะได้เกิดความเคารพต่อตัวเอง แทนที่จะคิดแบบเดิมว่า เรามันก็แค่สวะ เรียนไปก็เท่านั้น ปล่อยไหลเลยตามเลยไปดีกว่า 

ยิ่งเวลาผ่านไป ได้รู้จักตัวละครมากขึ้น เห็นปูมหลัง และปมขัดแย้งมากขึ้น ความท้าทายสำหรับครูฟรองซัวส์ มาแร็ง ก็ยิ่งเพิ่มขึ้น เมื่อเขาเรียกร้องความเคารพต่อข้อตกลงภายในชั้นเรียนมากขึ้น แต่เด็กพวกนั้นก็เชื่อฟังตายละ การโต้เถียงจึงค่อยๆ ยกระดับจนระเบิดเป็นความรุนแรงภายในห้องเรียน 

นำมาซึ่งการตั้งคณะกรรมการพิจารณาสอบสวนข้อเท็จจริง และกระบวนการดังกล่าวก็เต็มไปด้วยแง่คิดที่น่าสนใจ 




หนังบอกใบ้เลาๆว่า คณะกรรมการอันประกอบด้วย ครู เป็นส่วนใหญ่นั้น มีความโน้มเอียง (มีธง?) ในใจแล้วว่าจะจัดการปัญหาอย่างไร (มีแนว หรือแพทเทิร์นในอดีตเป็นไกด์ไลน์อยู่แล้ว!!) แต่ในระหว่างทางของการพิสูจน์ข้อเท็จจริง เปิดโอกาสให้ครูรายงานชี้แจงประเด็นปัญหา (รวมถึงกล่าวโทษ) เปิดเวทีให้เด็กได้เข้ามาแก้ต่าง (พร้อมกับผู้ปกครอง) ขณะที่พยานแวดล้อมอันมีเด็กในชั้นเรียนด้วยกันเป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่น่าจับตา 

และแทนที่จะมีเฉพาะเด็กนักเรียนเป็นเป้า หรือตกเป็นฝ่ายถูกกระทำ ถูกตรวจสอบ/วิพากษ์ แต่ฝ่ายเดียว ครูฟรองซัวส์ มาแร็ง ก็โดนด้วยมิใช่น้อย 

แค่คำถามแรกที่ว่า เป็นคู่กรณีแท้ๆ แต่ทำไมมาเป็นกรรมการร่วมสอบฯ ก็สะอึก อึกอักกันแล้ว 

ยังมีคำถามท้าทายลึกลงไปอีกว่า ในเมื่อเขาก็ปรารถนาดีต่อเด็กทุกคน ไม่อยากเห็นคำตัดสินขั้นรุนแรงนั่นคือ ไล่เด็กออกจากโรงเรียน ซึ่งนั่นแทบจะเป็นการฆ่าทั้งเป็นสำหรับอนาคตคนคนหนึ่ง เช่นนั้นแล้ว เขาจะบิดเบือนข้อเท็จจริงด้วยการเขียนรายงานเหตุการณ์/กล่าวโทษ ออกมาในอีกเวอร์ชั่นหนึ่งด้วยหรือไม่ 

(ยังมีประเด็นการปกป้องตัวเอง การเอาตัวรอดเมื่อ ครูฟรองซัวส์ มาแร็ง โดยข้อกล่าวหา ใช้ถ้อยคำที่รุนแรง ดูถูกเหยียดหยามนักเรียน แทรกเข้ามาให้ปวดสมองเพิ่มอีกต่างหาก) 

ขมวดปมมาซะขนาดนี้แล้ว ผู้กำกับภาพยนตร์ โลรองต์ กองเตต์ กลับเลือกฉากจบแบบหักมุม ชนิดคนดูหงายหลังแล้วก็ยิ้มแห้งๆกันเป็นแถว 

นั่นคือจบแบบไม่มีข้อสรุป ไม่มีปาฏิหาริย์ ไม่มีความชัดเจนให้เสียด้วยซ้ำว่า ใครถูก ใครผิด ใครดีมากกว่า ใครเลวน้อยกว่า 

เออนะ เข้าใจรักษาระยะห่างตั้งแต่ต้นจนจบ แต่ให้ตายเถอะ ดูแล้วจุก ส่วนประมวลผลในสมองทำงานหนักต่อเนื่องไปอีกหลายวันเลยทีเดียว 

อย่างน้อยกับสถานการณ์ในวันนี้ ผมยังคิดว่า นี่คือกระบวนการหรือวิธีการเปิดพื้นที่เพื่อการวิวาทะ ที่เข้าท่ากว่าการสวมบทบาท “คนดี” กางตำราขึ้นมาสอนสั่งให้ “เด็กๆ” เชื่อฟัง อย่าได้โต้แย้ง เขาว่าผิดก็ก้มหน้ารับๆ ไปเสีย 

ความถูกต้อง เป็นธรรม เป็นกลาง นั้นต้องอยู่ในบริบทที่ “เขา” กำหนดเท่านั้น 

เฮ้อ ย้ำอีกทีว่า ถ้าไม่ยอมเปิดพื้นที่วิวาทะกันด้วยเหตุผล ด้วยข้อมูล ตลอดจนเคารพกันด้วยเนื้อหาความจริง 

อย่าได้พึงหวังสังคมที่สงบเรียบร้อย รักสันติ ปรองดองอะไรนั่น ... มันไม่จริงแล้วละครับ 





โดย: OLDBOY บางคูวัด  
ที่มา: matichon.co.th / 25 สิงหาคม 2554

Views: 101

Reply to This

© 2009-2024   PORTFOLIOS*NET by CreativeMOVE.   Powered by

Badges  |  Report an Issue  |  Terms of Service