เอกสิทธิ์ เข้มงวด “โอริกามิสต์ (origamist)” คนไทยคนแรก

 
ครั้งหนึ่งในชีวิตวัยเด็กถึงวัยรุ่น แทบทุกคนคงเคยพับกระดาษเป็นรูปต่างๆ ครั้นเมื่อเราเริ่มเติบใหญ่ เกือบทุกคนกลับทิ้งกิจกรรมนี้ไว้ในอดีต เหมือนกับที่เราเลิกเป่ากบ โดดยาง เล่นว่าว เพราะคนส่วนใหญ่ไม่เชื่อว่า การพับกระดาษจะทำให้ชีวิตดีขึ้นหรือจะหาเลี้ยงชีพได้อย่างไร แต่หนุ่มคนนี้พูดอย่างเต็มปากว่า เขาคือ “นักพับกระดาษอาชีพ” เต็มตัว 

“ซาดาโกะ! เธอจำตำนานนกกระเรียนพันตัวไม่ได้หรือ เมื่อเธอพับนกกระเรียนครบหนึ่งพันตัว เธอจะขอพรให้หายจากโรคร้ายนี้ได้ ฉันจะสอนเธอเองนะ” 

เรื่องเล่าของ “ซาดาโกะ” เด็กหญิงชาวญี่ปุ่นเหยื่อกัมมันตภาพรังสีจากการถูกถล่มด้วยปรมาณูที่เมืองฮิโรชิมาที่ต้องมาป่วยด้วยโรคลูคีเมีย ถูกผูกกับตำนานของชาวญี่ปุ่นที่เชื่อกันว่า นกกระเรียนเป็นสัตว์วิเศษที่มีอายุยืนยาวถึงหนึ่งพันปี หากใครพับนกกระเรียนถึงหนึ่งพันตัวจะได้รับพรให้สุขภาพแข็งแรงและหายจากความเจ็บป่วย แต่เธอพับได้เพียง 644 ตัว ก็มาเสียชีวิตไปด้วยวัยเพียง 12 ปี 

เรื่องเด็กหญิงคนนี้ถูกถ่ายทอดผ่านหนังสือ ภาพยนตร์ การ์ตูน ละครเวที และละครโทรทัศน์ กระจายไปในหลายประเทศ ไม่เพียงแต่เรื่องเล่า แบบพับนกกะเรียนและคำเรียก การพับกระดาษในภาษาญี่ปุ่นที่ว่า “โอริกามิ (Origami)” ก็ถูกส่งออกไปทั่วโลกพร้อมกัน 

ภายในอาคารศูนย์ญี่ปุ่นศึกษา สถาบันเอเชียตะวันออกศึกษา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต ระหว่างวันที่ 22-25 สิงหาคม ที่ผ่านมา หนาแน่นด้วยเยาวชนนานาชาติหลายร้อยคนที่กำลังคร่ำเคร่งอยู่กับกิจกรรมพับกระดาษ ซึ่งเป็น 1 ใน 10 กิจกรรมที่ค่ายวิทยาศาสตร์ จัดขึ้นในงาน “เทศกาลวิทยาศาสตร์เยาวชนเอเปค ครั้งที่ 4” 

มือน้อยๆ ที่ค่อยๆ บรรจงกรีดพับจับไปจับมาจนกระดาษสีหนึ่งแผ่นกลายเป็น ดอกกุหลาบกลีบบาน บ้างก็ซ้อนกระดาษสีแดงกับสีเขียวพับไปพับมาจนออกมาเป็น สตรอเบอรี่ เด็กผู้ชายหลายคนสนุกกับการพับกระดาษเป็นชิ้นส่วนเพื่อประกอบเป็นลูกบอล เด็กจีนบางคนภูมิใจที่ได้อวดแพนด้ากระดาษที่ตนพับเอง ฯลฯ 

 
บรรยากาศในห้องเรียนพับกระดาษเต็มไปด้วยเด็กน้อยจากหลากหลายประเทศที่ให้ความสนใจกับการพับกระดาษ 
------------------ 

 
เหตุที่การพับกระดาษถูกบรรจุอยู่ในกิจกรรมค่ายเยาวชนฯ ครั้งนี้ เพราะการพับกระดาษเป็นศาสตร์ที่ส่งเสริมให้เกิดกระบวนการคิด 
------------------------ 

 
-------------------------- 

 
นอกจากมีความสุขกับการพับกระดาษ เอกสิทธิ์ยังมีความสุขอย่างมากที่ได้เป็นวิทยากรเผยแพร่สิ่งที่ตนรักให้ผู้อื่นได้ลองสัมผัสและหลงรักด้วย โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับกลุ่มเด็กและเยาวชน ตลอดจนผู้ด้อยโอกาสทางสังคม 
---------------------



นอกจากผลงานที่ใช้เป็นตัวอย่างให้นักเรียนตัวน้อยเห็นบนโต๊ะของวิทยากร ยังมีผลงานการพับกระดาษขั้นเทพที่นำมาเพื่อสร้างแรงบันดาลใจให้กับเยาวชนเหล่านี้ ทั้งไดโนเสาร์หลายชนิด เจ้าสาวสีไวโอลิน มังกรไฟในเทพนิยาย รวมถึงนกกระยาง แมงป่อง และกบที่ดูเหมือนมีชีวิตและขยับได้จริง ผลงานเหล่านี้ดูสวยงามและเสมือน จริงราวกับสร้างมาด้วยเวทมนตร์ จนไม่อยากเชื่อว่าพับมาจากกระดาษเพียงแผ่นเดียว 

“ผมรู้สึกเหมือนมีเวทมนตร์ทุกครั้งที่มีกระดาษอยู่ในมือ มันเหมือนเราปลุกชีวิตให้กระดาษเป็นอะไรก็ได้” 

เอกสิทธิ์ เข้มงวด เป็น 1 ใน 3 วิทยากรสอนพับกระดาษในเทศกาลวิทยาศาสตร์ เยาวชนเอเปค ด้วยวัยไม่ถึง 30 ปี เขาถือเป็นวิทยากรที่อายุน้อยที่สุด แต่แก่กล้าด้วยประสบการณ์การพับกระดาษมานานกว่า 25 ปี 

“แค่กระดาษแผ่นเดียว กับหนึ่งสมองและสองมือ สามารถสร้างสิ่งมหัศจรรย์ได้หลากหลาย ด้วยราคาที่ถูกมาก” เอกสิทธิ์กล่าวถึงเสน่ห์ของโอริกามิ 

เขาเติบโตมากับวัฒนธรรมญี่ปุ่น เพราะแม่ของเขาเป็นเจ้าหน้าที่ศูนย์วัฒนธรรมญี่ปุ่น (ปัจจุบันมีตำแหน่งหัวหน้าฝ่ายกิจกรรมของมูลนิธิญี่ปุ่น) โดยวัฒนธรรมอย่างหนึ่งที่เธอถ่ายทอดสู่ลูก คือ “โอริกามิ” เพราะเหตุที่บ้านยากจน วัยเด็กของเขาจึงไม่มีของเล่น ให้เลือกมากนัก แม่เขาใช้กระดาษมาเล่นกับเขา สอนเขาพับเป็นของเล่นด้วยตัวเอง โดยเริ่มจากแบบพับง่ายๆ เช่น นก บอลเป่าลม กบกระโดด หน้าสุนัข หน้าแมว ฯลฯ 

ด้วยความชอบไดโนเสาร์ เอกสิทธิ์มักขอให้แม่สอนพับไดโนเสาร์ แต่เพราะยุคนั้น แบบพับของญี่ปุ่นยังไม่พัฒนา ผู้เป็นแม่สอนไม่ได้ เขาจึงต้องบิดพับดัดแปลงด้วยตัวเอง ไปเรื่อย 

วันหนึ่งในห้องเรียนชั้นประถม (ราว ป.3-ป.4) ครูศิลปะสั่งให้ทุกคนพับกระดาษ มาส่ง เพื่อนทุกคนหากไม่พับนกก็พับกบส่ง และได้คะแนนกลับไป 8 หรือ 9 คะแนน ส่วนเอกสิทธิ์พับไดโนเสาร์ส่งด้วยความมั่นใจว่าเพื่อนและครูจะต้องฮือฮา ปรากฏว่าครูให้ 6 คะแนน พร้อมกับตั้งคำถามว่า “พับอะไรมา ทำไมไม่พับนกหรือกบเหมือนคนอื่น” 

จุดนี้ทำให้เอกสิทธิ์ศึกษาการพับกระดาษอย่างจริงจัง ประกอบกับญี่ปุ่นเริ่มมีแบบพับที่หลากหลาย เขาเข้าไปค้นแบบพับใหม่ๆ จากหนังสือญี่ปุ่นในที่ทำงานของแม่อยู่บ่อยครั้ง มัธยมต้น เขาเริ่มพับม้าเปกาซัสด้วยกระดาษแผ่นเดียวได้ จากนั้นก็เริ่มพับนกต่อกันเป็นสายด้วยกระดาษแผ่นเดียว ซึ่งถือเป็นเทคนิคใหม่สำหรับเมืองไทยยุคนั้น ผลงานชิ้นนี้ทำให้ได้เขาลงหนังสือพิมพ์ในคอลัมน์ Student Junior 

เริ่มต้นจากแค่อยากพับไดโนเสาร์ให้ทุกคนดูออก เขาศึกษาเทคนิคการพับกระดาษ ขั้นสูงจากแบบพับระดับโลก จนเชี่ยวชาญชนิดที่ว่าเนรมิตกระดาษได้ดั่งใจนึก ยิ่งพับมากขึ้น เขาก็ยิ่งรู้สึกดำดิ่งสู่ความสุขลึกขึ้น จนครั้งหนึ่งเขาเคยฝันจะเป็น “นักพับกระดาษอาชีพ” หรือ “โอริกามิสต์” และได้บอกเล่าความเพ้อฝันนี้กับพ่อ 

“พ่อถามว่า นักพับกระดาษคืออะไร พับถุงกล้วยแขก เร็วหรือ แล้วจะมีรายได้จากไหน จะหากินยังไง จะอยู่รอดในสังคมได้ไหม ฯลฯ สุดท้ายคุณพ่ออยากให้ทำอาชีพอะไรที่จับต้องได้หน่อย” 

เพราะเริ่มเชื่อพ่อว่า อาชีพนักพับกระดาษอาจจะไม่เกิดขึ้นในเมืองไทยเลยก็ได้ เอกสิทธิ์กลับเข้าสู่วิถีแห่งชีวิตจริง ของนักเรียน ม.ปลาย ด้วยการตั้งใจอ่านหนังสือเพื่อเอ็นทรานซ์ หวังเข้ามหาวิทยาลัยที่ดี เพื่อที่จะได้มีงานที่ดีทำ 

หลังสอบติดคณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี จุฬา ลงกรณ์มหาวิทยาลัย เขาใช้ชีวิตเยี่ยงนิสิตทั่วไป ต่างจากหนุ่มอื่นบ้างก็ตรงแทนที่จะแกะโน้ตดนตรีมาดีดกีตาร์จีบสาว เขาแกะรอยแบบพับแล้วพับกระดาษมาเป็นของกำนัลเอาใจสาว ส่วนอีกความต่างคือ เขามักเข้าอบรมปฏิบัติธรรมอยู่บ่อยครั้ง 

จบปริญญาตรี ภาควิชาการจัดการธุรกิจระหว่างประเทศ ด้วยดีกรีบัณฑิตเกียรตินิยม อันดับหนึ่งเหรียญทอง บริษัทยักษ์ใหญ่หลายแห่งจึงแห่กันมายื่นข้อเสนอให้เขาไปทำงานด้วย แต่เพราะมีความคิดปฏิเสธหลักการทางธุรกิจที่เน้น “กำไรสูงสุด” อยู่ในส่วนลึก เขาให้โอกาสตัวเองทำงานกับบริษัทยักษ์ใหญ่ของโลกอย่าง “ซีเมนส์” เพียงแค่ 2 ปีเพื่อกลับมาทบทวนจุดยืนในชีวิตอีกครั้ง 

ขณะเป็นนักบัญชีอยู่ที่ซีเมนส์ เผอิญเกิดแรงกระเพื่อมครั้งใหญ่ในกลุ่มคนรักโอริกามิเมืองไทยขึ้นมาคือ การมีบทความเรื่องการพับกระดาษลงหนังสือพิมพ์ และการเกิดขึ้นของบล็อกคนรักโอริกามิ โดย ดร.บัญชา ธนบุญสมบัติ นักวิชาการสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) หนึ่งในฟันเฟืองของวงการโอริกามิบ้านเรา 

เอกสิทธิ์เป็นขาประจำที่บล็อก ดร.บัญชา มักเข้าไปหาเพื่อนคุยแลกเปลี่ยนความคิดและแบบพับใหม่ๆ จนพบกับคนรักโอริกามิเข้ากระดูกอย่างกัลยานี รุ่งวรรธนะ, ชวิศ วีรวัฒโยธิน และพุฒิไชย เลิศกุลทานนท์ หลังพูดคุยด้วย “ภาษาโอริกามิ” ถูกคอ เขาจึงชักชวนกันเปิดเว็บไซต์ “ชมรมนักพับกระดาษไทย” ในเดือนพฤศจิกายน 2551 

วัตถุประสงค์หลักของชมรมคือ เพื่อให้ความรู้ทั่วไปเกี่ยวกับ โอริกามิ พร้อมกับแจกแบบพับใหม่ๆ ให้คนรักการพับกระดาษได้ โหลดไปใช้ฟรี และยังใช้เป็นพื้นที่ในการแลกเปลี่ยนความรู้และเทคนิคใหม่ๆ ระหว่าง กูรูกับมือใหม่หัดพับ 

“เพราะสะท้อนใจว่า ตอนเด็กๆ พวกเราต้องพับกันอย่างโดดเดี่ยวมานาน ไม่รู้จะไปตามหาเพื่อนที่สนใจเหมือนกันได้ที่ไหน สมัยก่อนเสิร์ชหาข้อมูลในเมืองไทยก็แทบไม่มี พอมาเป็นชมรมแบบนี้ ก็ทำให้เราได้เจอคนเก่งๆ ได้เปิดหูเปิดตา ไม่เป็นกบในกะลา เหมือนเมื่อก่อน ผมว่าผมเก่งขึ้นเพราะชมรม” เอกสิทธิ์ระบาย 

อีกจุดประสงค์สำคัญก็เพื่อสื่อสารกับสังคมว่า โอริกามิไม่ใช่ เรื่องไร้สาระ แต่เป็นของเล่นที่ให้ประโยชน์ทั้งในแง่ของการฝึกสมาธิ ฝึกความอดทน ฝึกแก้ปัญหา และฝึกความจำ การพับกระดาษยังให้ความรู้แจ้งในทาง คณิตศาสตร์ตั้งแต่ขั้นพื้นฐานจนถึงขั้นสูง ที่สำคัญ การพับกระดาษถือเป็นส่วนผสมที่ลงตัวระหว่างตรรกะและจินตนาการ 

“ศาสตร์และศิลป์ของการพับกระดาษ คือการเชื่อมโยงแขนงวิชาทั้งฟากของจินตนาการ และเหตุผลเข้าด้วยกัน เพราะหากจะพับสัตว์แต่ไม่สามารถจินตนาการลักษณะของสัตว์นั้น ก็ไม่สามารถพับออกมาได้ ขณะเดียวกันถ้าไม่มีการทดลองวัดขนาด ความสมมาตรของมุม ชิ้นงานที่ออกมาก็ขาดความสมดุลและสวยงามดังที่จินตนาการไว้” จากบทความของ ดร.บัญชา 

 

 
เสน่ห์ของการพับกระดาษคือทำให้ผู้พับดำดิ่งสู่ห้วงความสุข อยู่กับตัวเองและเป็นสื่อให้เกิดสมาธิได้ง่ายๆ ขณะเดียวกันก็เป็นสื่อที่ทำให้เกิดการมีปฏิสัมพันธ์ และสร้างมิตรภาพกับคนแปลกหน้าได้ง่ายๆ ด้วยเช่นกัน 
--------------------------------- 


 
แบบพับจำนวนมากบนโลกใบนี้ใช้สัญลักษณ์สากลที่ถูกคิดค้นโดยนักพับกระดาษชาวญี่ปุ่น ซึ่งถือเป็นกลไกสำคัญที่ทำให้ศาสตร์ "โอริกามิ" แพร่หลายอย่างกว้างขวาง 
-------------------------------




ทั้งนี้ ต่างประเทศศึกษาองค์ความรู้จากโอริกามิกันอย่างจริงจัง ทั้งในเชิงคณิตศาสตร์ และวิศวกรรมกลศาสตร์ บางประเทศสอนให้เด็กพับกระดาษเพื่อถอดสมการพหุนาม อธิบาย ตรีโกณมิติ และหาค่ารากที่สองของจำนวนจริง ฯลฯ ขณะเดียวกันหลักของโอริกามิยังถูกนำไปประยุกต์ใช้ในหลากสาขาอาชีพ เช่น การพับถุงลมนิรภัยในรถยนต์ เป็นต้นแบบการพับแผงเซลล์แสงอาทิตย์ของดาวเทียมในอวกาศ และเป็นต้นแบบของบอลลูนขยายหลอดเลือดหัวใจที่ใช้ในการแพทย์ แม้แต่ในวงการแฟชั่นก็ยังใช้การจับจีบรอยพับรูปต่างๆ ไปออกแบบเสื้อผ้า เป็นต้น 

รัฐบาลหลายประเทศสนับสนุนให้เกิดการพัฒนาแวดวงโอริกามิในประเทศตน เพื่อความก้าวหน้าในการคิดค้นนวัตกรรมด้านต่างๆ แต่เมืองไทย โอริกามิกลับถูกมองเป็นเพียงศิลปะพับนกและกิจกรรมสำหรับเด็ก 

“โอริกามิคือเครื่องมือที่ฝึกกระบวน การคิดได้ดีกว่าตัวต่อเลโก้เสียอีก เพราะสำหรับเลโก้ เมื่อไรที่คุณต้องการฝึกความคิดที่ซับซ้อนขึ้น คุณก็ต้องใช้ตัวต่อมากขึ้น แต่สำหรับโอริกามิ กระดาษแผ่นเดียว คุณแค่ใส่ความคิดมากขึ้น ทุ่มเทมากขึ้น อดทนมากขึ้น ก็กลายเป็นผลงานที่ซับซ้อนขึ้นได้” 

ด้วยกระดาษเพียงแผ่นเดียว พับได้ตั้งแต่นกกระเรียนตัวเดียว นกเรียงตัวเป็นสายยาว หมู่บ้านนกที่มีลูกบ้านนับสิบ หรือพับไดโนเสาร์และสารพัดสัตว์ พับเป็นมังกรไฟในเทพนิยายหรือเป็นคาแรกเตอร์ในเรื่อง Wizard of OZ ไปจนถึงพับฉากปลาหมึกยักษ์โจมตีเรือเหมือนในหนัง Pirate of the Caribbean ก็ยังได้ (ที่กล่าวมาทั้งหมดนี้เคยมีคนพับออกมาแล้วทั้งสิ้นและบางอย่างก็มีแบบพับให้ไปฝึกพับแล้วด้วย) 

จากที่ตั้งเป้าสมาชิกไว้เพียง 30 คน ครบเดือนแรกยอดทะลุเป้าไปกว่าสองเท่า ปีแรก มีสมาชิก 3,000 คน ถึงวันนี้มีสมาชิกกว่า 8,000 คน โดยส่วนใหญ่เป็นวัยรุ่นที่มาสมัครสมาชิกเพื่อความสนุก ความเท่ และเพื่อจีบสาว รองลงมาคือกลุ่มครอบครัว ซึ่งพ่อแม่รุ่นใหม่หลายคนเริ่มเข้าใจแล้วว่า โอริกามิเป็นของเล่นที่พัฒนาความคิดและจินตนาการให้ลูกได้ ที่สำคัญคือมีราคาถูกและหาได้รอบตัว 

ในฐานะประธานชมรมนักพับกระดาษไทย เอกสิทธิ์พยายามประชาสัมพันธ์ชมรมฯ ด้วยการขอหน่วยงานรัฐไปตั้งโต๊ะสอนพับกระดาษแก่บุคคลทั่วไปตามงานต่างๆ พอถูกพบเห็นบ่อยเข้า บวกกับ ความอลังการของผลงานที่นำไปโชว์ ชมรมฯ จึงเริ่มเป็นที่สนใจของสื่อมวลชน เพียงไม่นานก็เป็นที่รู้จักกว้างขวางขึ้น 

ขณะเดียวกันก็เริ่มมีบริษัทเอกชน โรงเรียน และผู้จัดอีเวนต์ ติดต่อให้เขาไปเป็นวิทยากร พับกระดาษโชว์ และสร้างงานประกอบโฆษณาทางสื่อสิ่งพิมพ์และโทรทัศน์ โดยหนึ่งผลงานที่ถูกพูดถึงมาก ณ ขณะนั้น ได้แก่ “เป็ดกระดาษ” ในโฆษณากระดาษ “ไอเดีย กรีน” 

ครบกำหนด 2 ปีที่ขีดเส้นให้ตัวเองกับการเป็นมนุษย์เงินเดือน เอกสิทธิ์รู้สึกว่าเส้นทางนี้ไม่ใช่สิ่งที่เขาต้องการ เขายอมทิ้งเงินเดือนก้อนโตและตำแหน่งผู้เชี่ยวชาญโปรแกรมบัญชีที่ซีเมนส์อย่างง่ายดาย เพื่อมุ่งหน้าสู่อาชีพ “โอริกามิสต์” อย่างเต็มตัว 

“เอาเป็นว่ายังไม่มีใครหาเลี้ยงชีพด้วยการพับกระดาษล้วนๆ เหมือนผม” เอกสิทธิ์เชื่อว่า เขาเป็นนักพับกระดาษอาชีพคนไทยคนแรก และน่าจะยังเป็นคนเดียวในประเทศไทย ณ วันนี้ 

แหล่งที่มารายได้ของเอกสิทธิ์ประกอบด้วย รายได้จากการเป็นวิทยากรตามค่ายเด็กและเยาวชน ตามโรงเรียน ตามบริษัทห้างร้าน และหน่วยงานต่างๆ, รายได้จากงานพับกระดาษประกอบโฆษณาล่าสุดคือ โฆษณา “พับเพนกวินเป็นปลาวาฬ” ในเครื่องดื่มแบรนด์เด็ก, รายได้จากการขายผลงานโดยผลิตตามออร์เดอร์ ซึ่งส่วนใหญ่มาจากต่างประเทศและรายได้จากการเขียนหนังสือ โดยเล่มแรกเขียนร่วมกับ ดร.บัญชา แต่แว่วว่าจะมีงานเขียนของตัวเองในเร็วๆ นี้ 

แม้จะไม่มีรายได้ประจำแน่นอน แต่เอกสิทธิ์มั่นใจว่า ที่ผ่านมา ต่ำสุดของรายได้ในแต่ละเดือนยังถือว่าเป็นรายได้ที่เลี้ยงตัวเองได้สบาย หากไม่นับค่าเขียนหนังสือและขายผลงาน อัตรารายได้เฉลี่ยต่อวัน (6 ชั่วโมง) อยู่ที่ 3-5 พันบาท แต่บางงานอาจได้สูงถึงหลักหมื่น ขณะที่งานวิทยากรในค่ายเด็กและเยาวชน ให้เท่าไรเขาก็ยินดีมา 

“แค่มีงานอย่างน้อยสัปดาห์ละ 1 วันก็พออยู่ได้แล้ว เพราะปรัชญาการใช้ชีวิตของผมคือไม่ต้องรวยมาก อยู่แบบพอเพียง ทำในสิ่งที่เราตกหลุมรักทุกวันดีกว่า” เอกสิทธิ์สรุป 

แม้คนรักโอริกามิจะเป็นเพียงกลุ่มเฉพาะ แต่จากประสบการณ์ในการตามเก็บเทคนิค จากแบบพับระดับโลกอยู่เสมอ เอกสิทธิ์ได้เห็นว่า หลายประเทศต่างก็มีชมรมนักพับกระดาษ โดยชุมชนที่ใหญ่ที่สุดเป็นของอเมริกา ซึ่งคนที่นั่นจริงจังกับเรื่องนี้ขนาดที่ต้องจัดการประชุมว่าด้วยเรื่องโอริกามิกันทุกปี และจัดแข่งขันประกวดโอริกามิกันทุกเดือน 

นอกจากญี่ปุ่นที่ถือเป็นต้นตำรับและสุดยอดของแบบพับชั้นเซียน ยังมีอีกหลายประเทศที่พัฒนาและคิดค้นแบบพับขั้นเทพขึ้นมาได้เอง โดยหนึ่งในนั้นคือ เวียดนาม ที่สามารถพัฒนาแบบพับโดยใส่เอกลักษณ์ของประเทศออกสู่สายตาชาวโลกได้อย่างไม่น้อย หน้าญี่ปุ่น ขณะที่เมืองไทยยังไม่เคยมีแบบพับซับซ้อนที่คนไทยคิดเองจนไม่กี่ปีมานี้ 

 

 

 

 

 

 

 

 

ผลงานการพับกระดาษของเอกสิทธิ์ หลายตัวดูซับซ้อน สวยงาม เหมือนจริง จนยากที่จะเชื่อว่ามาจากการพับกระดาษ...จากกระดาษเพียงแผ่นเดียวนอกจากจะประยุกต์เป็นของเล่น ยังกลายเป็นของประดับบ้าน ของขวัญ ของชำร่วย สร้างรายได้ได้ด้วย 
-----------------------------------------------



หลังจากสั่งสมความรู้และเทคนิคการพับผ่านการทำตามแบบพับของคนชาติอื่นมาโดยตลอด ในที่สุดเขาก็พัฒนาแบบพับที่มีเอกลักษณ์ความเป็นไทยออกมาได้สำเร็จถึง 3 แบบ ได้แก่ แบบพับพระพิฆเนศ แบบพับหนุมาน และแบบพับช้างเอราวัณ (ช้าง 3 เศียร) นอกจากเพื่อประกาศให้ชุมชนโอริกามิทั่วโลกได้รู้ว่า “คนไทยก็ทำได้” อีกเหตุผลก็เพื่อกระตุ้นให้คนไทยลุกขึ้นมาคิดและกล้าที่จะสร้างแบบพับของตัวเองขึ้นมา 

“ในระดับโลก เขาไม่พับตามคนอื่นกันแล้ว เขาต้องคิดเอง ดีไซน์เอง ผมหวังว่าเด็กรุ่นใหม่จะมีความคิดสร้างสรรค์ก้าวกระโดดไปจากรุ่นผม” นี่เป็นหนึ่งในความฝันสูงสุด ในฐานะประธานชมรมนักพับกระดาษไทย 

นอกจากนี้ เขายังฝันอยากเห็นคนไทยที่รักโอริกามิช่วยกันนำการพับกระดาษ ไปสร้างประโยชน์แก่สังคม เช่น สอนเด็กด้อยโอกาสผลิตของเล่นจากกระดาษแทนที่ จะไปแจกของเล่น เป็นต้น 

ในฐานะโอริกามิสต์ไทย เขาฝันที่จะใช้การพับกระดาษเป็นพื้นฐานในการบูรณาการความสนใจและองค์ความรู้ให้กับเด็กไทย เพื่อให้เด็กไทยพัฒนากระบวน การคิดได้ทัดเทียมนานาชาติ 

สำหรับเอกสิทธิ์ โอริกามิไม่เพียงให้อาชีพ แต่ยังทำให้เขาค้นพบว่า ความสุขที่แท้จริงไม่ได้มาจากเสียงหัวเราะเสมอไป ความสงบที่เกิดจากการดำดิ่งทำสิ่งที่ตนรักเป็นอีกความสุขที่หาได้ง่ายๆ ยิ่งเมื่อมีสมาธิอยู่กับการพับกระดาษมากขึ้น ก็ยิ่งทำให้เขาเกิดพุทธิปัญญาทั้งทางธรรมและทางโลก 

ถ้าเริ่มต้นจากการพับเบี้ยวในขั้นตอนแรก ขั้นตอนหลังก็เบี้ยวไปด้วยผลงานที่ได้ก็ย่อมไม่สวยงาม นี่คือหลักของกฎแห่งกรรม หรือปัญหาไม่ได้มีไว้ให้หนี และความผิดพลาดก็ไม่ใช่เรื่องที่ควรปฏิเสธ เหมือนกับการพับกระดาษผิด หากเราลองคลี่ที่ผิดออกมาดู ก็จะได้เรียนรู้ความผิดพลาดจากรอยที่ผิด และรอยตำหนินี้จะทำหน้าที่เตือนไม่ให้ทำผิดซ้ำรอยเดิม 

แต่หากเราคลี่ผลงานที่พับสำเร็จออกมาดู เราจะเห็นรอยพับยุบยับเต็มไปหมด บางรอยพับนูน บางรอยพับเว้า แต่ละรอยชี้กันไปคนละทิศคนละทาง แต่ทุกรอยพับล้วนตั้งอยู่ในจังหวะจะโคนที่พอดีกัน และต่างก็ทำหน้าที่ของมันเพื่อขึ้นรูปเป็นโครงสร้างให้แผ่นกระดาษเปลี่ยนเป็นรูปร่างต่างๆ ตามที่ควรจะเป็น ในสังคมก็เช่นกัน ทุกคนมีหน้าที่และต้องทำหน้าที่ของตัวเองให้ดี และต้องยอมรับอีกฝ่ายที่ต่างจากเรา จึงจะรวมกันเป็น “ชาติ” ได้ 

หมดสามชั่วโมงในวิชาโอริกามิสำหรับเยาวชนเอเปคเหล่านี้ ปฏิกิริยาแรกของเด็กน้อยที่ได้เห็นกระดาษที่ตนพับกลายเป็นรูปร่างต่างๆ ตามที่หวังคือ รอยยิ้ม และความภาคภูมิใจ แต่มีอีกสิ่งที่พวกเขาได้ติดมือกลับไปด้วย ก็คือมิตรภาพระหว่างเพื่อนต่างชาติที่เกิดขึ้นขณะช่วยกันพับกระดาษ โดยที่ความต่างทางภาษาหรือการวางฟอร์มที่เคยเป็นกำแพงกั้นถูกทำลายไปชั่วขณะ หรืออาจจะเป็นชั่วนิรันดร์สำหรับ เพื่อนใหม่บางคนที่ได้เจอที่ห้องเรียนพับกระดาษแห่งนี้ 

แม้ว่าสุดท้ายแล้ว โอริกามิไม่อาจเปลี่ยนชะตาชีวิตของเด็กหญิงซาดาโกะผู้เคราะห์ร้าย แต่ก็ทำให้เธอเป็นที่รู้จักไปทั่วโลก ขณะที่การพับเครื่องร่อนกระดาษทำให้เด็กชาย “หม่อง ทองดี” ดังชั่วข้ามคืน หลังคว้ารางวัลชนะเลิศการแข่งขันเครื่อง ร่อนพับกระดาษที่ญี่ปุ่นในปี 2552 แต่ก็ยังไม่ทำให้ความฝันในเรื่องสัญชาติของหนูน้อยเป็นจริง 

แต่สำหรับเอกสิทธิ์ ความฝันเรื่องอาชีพของเขากำลังเป็นจริง และชีวิตของเขาก็ดูเหมือนจะดีขึ้น ทั้งหมดนี้ หนุ่มนักพับยอมรับว่า เกิดจากกระดาษแผ่นเดียวที่แม่สอนโดยแท้! 

โดย: สุภัทธา สุขชู 
ที่มา: ผู้จัดการ 360 องศา / กันยายน 2554 

Views: 806

Reply to This

© 2009-2024   PORTFOLIOS*NET by CreativeMOVE.   Powered by

Badges  |  Report an Issue  |  Terms of Service