Thai Designer’s Dream ปภพ ว่องพาณิชย์





ชายที่ถือเก้าอี้ในภาพชื่อ ปภพ ว่องพาณิชย์ ส่วนเก้าอี้ที่เขาถืออยู่นั้นชื่อ ‘เก้าอี้ 1974’ เขาเป็นผู้ออกแบบเอง และพาผลงานชิ้นดังกล่าวไปคว้ารางวัลด้าน Commercial จากเวทีแสดงผลงานออกแบบเฟอร์นิเจอร์ระดับนานาชาติ The Edge Design Competition ในงาน The Annual Australian International Furniture Fair 2010 ณ เมืองซิดนีย์ ประเทศออสเตรเลียและยังพ่วงรางวัลการออกแบบเฟอร์นิเจอร์ประเภท Concept จากผลงาน‘โต๊ะ Paris’ อีกด้วย

ไปทำความรู้จักเขากันสักหน่อย หลังจากที่ปภพเรียนจบทางด้านการออกแบบภายในจากสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง ถึงเขาจะมีดีกรีทางด้านการออกแบบภายใน แต่วันหนึ่งเขากลับพบว่าการออกแบบผลิตภัณฑ์เป็นเรื่องที่เขาสนใจเช่นกัน หลังจากเรียนจบเขาก็ชวนพรรคพวกเพื่อนฝูงมาทำผลิตภัณฑ์จากเซรามิก โดยไม่ได้คิดว่าจะขายได้หรือไม่ เขาคิดเพียงแค่ว่า ‘อยากทำ’ ทำเพื่อการเรียนรู้แม้จะต้องเสียเงินไปจำนวนไม่น้อย แต่ปภพมองว่าการลงทุนก็เหมือนลงคอร์สเรียนในวิชาที่สนใจ และได้เรียนรู้สิ่งต่างๆ ไปพร้อมกัน

แม้จะไม่ประสบความสำเร็จในการทำธุรกิจผลิตภัณฑ์เซรามิก แต่เพราะเขามีพื้นฐานการออกแบบผลิตภัณฑ์หลายประเภทเป็นทุนเดิม ประจวบกับที่บริษัท มีนิสทรี ออฟ สเปซ จำกัด (ภายใต้แบรนด์ anyroom) ได้วางแผนผลิตเฟอร์นิเจอร์ตกแต่งบ้านเองทั้งประเภทเซรามิกและประเภทอื่นๆ ปภพจึงได้รับโอกาสจากดวงฤทธิ์ บุนนาค ให้ก้าวเข้ามาในฐานะดีไซเนอร์เต็มตัวครั้งแรกเมื่อปีพ.ศ.2548

“แม้แรกๆ ผลงานการออกแบบไม่ค่อยเป็นชิ้นเป็นอันเท่าไหร่ แต่ก็ได้เรียนรู้งานจากคุณดวงฤทธิ์เยอะมาก เขาไม่เคยมานั่งบอก แต่ปล่อยให้เราได้เรียนรู้สิ่งต่างๆ ด้วยตัวเองและคอยชี้แนะเรา

“การทำงานตรงนี้ทำให้ผมมีความสุข ที่ได้ทำแล้วก็ได้ปรับเปลี่ยนกระบวนความคิดของเราอยู่เรื่อยๆ จนมีโอกาสได้นำผลงานไปเวทีประกวดที่ประเทศเยอรมัน ที่นั่นเขาซัพพอร์ตดีไซเนอร์ที่เพิ่งเรียนจบแล้วอยากนำเสนอผลงานของตัวเอง ถ้าเป็นงานที่น่าสนใจผู้จัดจะออกทั้งค่าเครื่องบินและค่าที่พักให้ แล้วผมก็มีโอกาสได้ไป

“การไปเยอรมัน ทำให้ผมได้เรียนรู้หลายอย่าง ได้ประสบการณ์ที่ดี ได้เห็นว่าดีไซเนอร์ในโลกเขาทำอะไรกันอยู่ ได้รู้ว่าเขาคิดอะไรไปไกลกว่าคนไทยเราเยอะมาก ไม่ใช่เพียงแค่การออกแบบแต่เป็นการให้ความสำคัญในเรื่องของวัตถุดิบด้วย งานบางชิ้นของชาวเยอรมันทำให้ผมอึ้ง มันเจ๋งมากมันยากทั้งในเรื่องของโปรดักชั่นและวัตถุดิบที่เลือกใช้ ซึ่งผมไม่เคยมีกระบวนการคิดแบบนี้เลย

“งานที่ไปอาจจะไม่ใช่งานออกแบบที่ดีมาก แต่งานมันมีคาแร็กเตอร์เหมือนงานดีไซน์ของผม ก็ออกแนวเรียบง่าย เรียบที่สุดเท่าที่จะทำได้ แต่เวลาอยู่ในบ้านแล้วมันสวย ซึ่งผมกำลังศึกษางานดีไซน์ของ Jasper Morrisonและ Naoto Fukasawa เขาเคยแสดงงานด้วยกันแล้วผมชอบ มันเป็นแรงผลักที่สำคัญ”

จนเมื่อต้นปีที่ผ่านมา ปภพพาผลงานการออกแบบ ‘เก้าอี้ 1974’ และ‘โต๊ะ Paris’ ไปสู่เวทีการประกวด The Edge Design Competition ที่ประเทศออสเตรเลีย และเขาก็ได้ 2 รางวัลใหญ่ติดไม้ติดมือกลับมา

“ไหนๆ กองประกวดก็เลือกผลงานผมเข้ารอบมาแล้ว ผมก็หวังว่าน่าจะได้รางวัลกลับมาจากเวทีนี้บ้าง เพราะค่าใช้จ่ายในการเดินทาง ที่พักอาหารการกิน ผมออกเองทั้งหมด ไม่มีภาครัฐมาช่วยสนับสนุนเลย แต่โชคดีที่ผลการประกวดในครั้งนี้เหนือความคาดหมาย

“นึกย้อนกลับไป ถ้าไม่ได้เรียนรู้จากอุปสรรคในช่วงแรกของการทำงานเราก็คงไม่มีชีวิตแบบนี้ ทุกสิ่งมันเป็นผลที่ส่งต่อจากความพยายามแทบทั้งนั้น และเป็นความพยายามที่ไม่สูญเปล่าเลย เหมือนที่ดวงฤทธิ์ บุนนาคเคยบอกว่าเด็กสมัยนี้ไม่ค่อยอดทนนัก (อมยิ้ม) ไม่รู้ว่าผมติดอยู่ในเด็กกลุ่มนั้นที่คุณดวงฤทธิ์พูดหรือไม่ แต่ยืนยันได้ว่าผมพยายามพัฒนางานดีไซน์ของตัวเองอยู่เสมอ รวมทั้งการหาช่องทางในเวทีโลกด้วย”

มาจนถึงจุดนี้ได้เรานึกสงสัยว่าในภาครัฐเขาให้การสนับสนุนดีไซเนอร์ไทยในการส่งผลงานเข้าประกวดมากน้อยอย่างไร“ดูพี่เจ้ย (อภิชาติพงศ์ วีระเศรษฐกุล) ที่ได้รับรางวัลปาล์มทองคำจากเมืองคานส์สิ ผมรู้สึกว่าแกพยายาม ผมว่าตรงนี้มันเป็นเรื่องแปลก ที่คนไทยเองกลับให้ความสนใจใครสักคนหลังจากที่เขาประสบความสำเร็จจากข้างนอกมาก่อน

“ดีไซเนอร์หรือคนทำหนังเป็นเหมือนกัน ยกตัวอย่างประเทศญี่ปุ่น ภาครัฐเขาส่งเสริมให้คนในประเทศเขาก่อน แล้วค่อยคัดดีไซเนอร์หัวกะทิไปสู้กับชาติอื่น คุณต้องเอาหัวหน้าเราไปแข่งกับหัวหน้าของชาติอื่นสิ ไม่ใช่ใครอยากจะไปก็ไปอย่างบ้านเรา แล้วพอกลับมาเขาเป็นที่ยอมรับในระดับโลกคุณถึงค่อยมายกย่องเขา”

ในอนาคตปภพมองว่าการเป็นดีไซเนอร์ที่ดีนั้น ต้องไม่ใช่แค่การทำงานแล้วเป็นที่ยอมรับเพียงชิ้น 2 ชิ้น แต่ต้องสามารถทำงานที่ดีได้ตลอดชีวิตการทำงาน หากดูจากดีไซเนอร์ฝรั่งเขาเลี้ยงชีพได้ยาว รัฐบาลไม่ต้องช่วยเลย

“ผมว่าประสบการณ์การทำงานมันมีคุณค่านะ มันไม่ใช่การแข่งขันโอลิมปิกที่ได้เหรียญทองแล้วจบ แต่วงการการออกแบบมันต้องทำเรื่อยๆและดีมากขึ้นด้วยเช่นกัน งานมันถึงจะคงที่ ลูกค้าจะแฮปปี้ ดีไซเนอร์เลี้ยงตัวเองได้ และเป็นแบบอย่างให้ดีไซเนอร์รุ่นต่อไปด้วย”หลังจากอ่านบทสัมภาษณ์นี้จบ หวังว่าแรงขับเคลื่อนทั้งหมดจะส่งต่อไปยังบุคคลที่มีส่วนเกี่ยวข้อง และช่วยให้เส้นทางดีไซเนอร์ไทยในเวทีโลกไม่ใช่แค่ความฝันลมๆ แล้งๆ


หมายเหตุ: อภิชาติพงศ์ วีระเศรษฐกุล ได้รับรางวัลปาล์มทองคำจากภาพยนตร์เรื่องลุงบุญมีระลึกชาติ ในเทศกาลภาพยนตร์นานาชาติที่เมืองคานส์ ประเทศฝรั่งเศส ประจำปีพ.ศ.2553


เรื่อง: เพ็ญนภา อุตตะมัง
ภาพ: อนุชิต นิ่มตลุง
ที่มา: mars magazine

Views: 479

Reply to This

© 2009-2024   PORTFOLIOS*NET by CreativeMOVE.   Powered by

Badges  |  Report an Issue  |  Terms of Service