มหัศจรรย์แห่ง“เปลือกหอย”: พิพิธภัณฑ์หอยทากของไทย (Snail Museum of Thailand)

 
เยือน “พิพิธภัณฑ์หอยทากของไทย” ชมหอยจิ๋วแต่แจ๋วสำคัญต่อมนุษย์ และระบบนิเวศ ละลานตาหลาก “รูปร่าง-เปลือก-สีสัน” วิจิตรงามตามธรรมชาติบรรจงสร้าง 

พิพิธภัณฑ์หอยทากของไทย (snail museum of Thailand) ตั้งอยู่ ณ ตึกชีววิทยา 1 คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เปิดให้เข้าชมครั้งแรก เมื่อวันที่ 13 ธันวาคม พ.ศ.2546 เนื่องในโอกาสการจัดงานครบรอบ 80 ปี ชีววิทยาจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ภายในจัดแสดงนิทรรศการเปลือกหอย และหอยทากที่พบในประเทศไทย แบ่งกลุ่มตามชนิด มีรูปร่าง และสีสันแปลก ๆ ทั้งเล็ก-ใหญ่วางเรียงรายละลานตา 

ที่โดดเด่น คือ หอยมรกต ซึ่ง สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานนามภาษาไทย พบโดยนักวิจัยของหน่วยปฏิบัติการซิสเทมาติกส์ของสัตว์ ภายใต้การนำของ ศาสตราจารย์ ดร.สมศักดิ์ ปัญหา ที่เกาะตาชัย ทะเลอันดามัน เขตจังหวัดพังงา เมื่อปี พ.ศ.2542 

ทั้งนี้ ศ.ดร.สมศักดิ์ ตั้งชื่อว่า Amphidromus classiarius จัดเป็นหอยทากต้นไม้ (tree snails) สกุล Amphidromus อาศัยอยู่บนต้นไม้ตลอดชีวิต มีสีเขียวเหลือง เปลือกสูง 3-4 เซนติเมตร มีลักษณะเวียนซ้าย ส่วนกว้างที่สุดประมาณ 2 เซนติเมตร สถานภาพค่อนข้างเสี่ยงต่อการสูญพันธุ์ เรียกได้ว่าเป็น Endangered species 

 



ดร.จิรศักดิ์ สุจริต อาจารย์ภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย อธิบายถึง หอยชนิดอื่น ๆ ที่ไม่ควรพลาดชม เช่น หอยทากจิ๋วปากแตร (Pupillid Microsnails) ว่า มีขนาดเล็กมาก จนต้องชมผ่านแว่นขยายจึงจะเห็นลักษณะที่ชัดเจน เนื่องจากเปลือกสูง 1-2 มิลลิเมตร ดูเหมือนเศษผง แต่รูปร่างงดงามมาก โดยปล้องสุดท้ายยื่นออกจากเปลือก และปลายปากเปลือกบานออกเหมือนปากแตร อาศัยอยู่บนผาเขาหินปูนที่มีเชื้อรา หรือไลเคนเกาะอยู่ ซึ่งเป็นอาหารของหอย 

“ชนิดต่อมา เป็น หอยทากจิ๋วเขาวงกต Gyliotrachela khaowongkot ค้นพบโดย ศ.ดร.สมศักดิ์ ปัญหา และคณะ ระหว่างทำการวิจัยเรื่องวิวัฒนาการของสิ่งมีชีวิตบนเขาหินปูน เมื่อปี พ.ศ.2544 พบที่ผนังเขาหินปูน บริเวณวัดเขาวงกต อำเภอบ้านหมี่ จังหวัดลพบุรี โดยได้ตั้งชื่อให้กับสถานที่ คือ เขาวงกต (ในชื่อวิทยาศาสตร์) ลักษณะหอยมีความสูงประมาณ 2 มิลลิเมตร เปลือกเวียนขวา ปากเปลือกยกทำมุม 90 องศา และบานออก ส่วนอาหารนั้น จะกินสาหร่ายที่เกาะตามหินชื้น มีฟันปากเปลือก เชื่อว่าใช้ป้องกันแมลง หรือหนอน ที่จะเข้าไปทำลายตัวหอย” 

สำหรับหอยที่ค่อนข้างมีสีสันสดใส เห็นจะเป็นหอยทากบกสกุล Amphidromus Alber, 1850 เรียกได้หลายชื่อตั้งแต่หอยต้นไม้ หอยนกขมิ้น และ หอยช็อกโกแลต 

นอกจากนี้ ยังมีเปลือก และหอยทากประเภทอื่น ๆ อีกมาก ล้วนหาดูไม่ได้ง่าย ๆ แต่มีอยู่ที่นี่ ให้ผู้สนใจได้เข้ามาศึกษาสิ่งมหัศจรรย์ของธรรมชาติที่น่าค้นหา และยังเป็นแหล่งความรู้สะท้อนชีวิต “หอยทาก”. 

พิพิธภัณฑ์หอยทากของไทย ที่กล่าวมานี้ เปิดให้เข้าชมระหว่างเวลา 09.00-16.00 น.ทุกวัน เว้นวันหยุดราชการ โปรดโทรสอบถามก่อนเดินทาง 0-2218-5266. 

 



 
ที่มา: dailynews.co.th / 30 สิงหาคม 2554

Views: 464

Reply to This

© 2009-2024   PORTFOLIOS*NET by CreativeMOVE.   Powered by

Badges  |  Report an Issue  |  Terms of Service