Rising of WRITER : อีกครั้ง...และอีกครั้งหนึ่งที่เจอกัน

หลังจากที่หายไปจากบรรณพิภพ กว่า 13 ปีเต็ม วันนี้ WRITER กลับมาอีกครั้งด้วยความตั้งใจของสามนักเขียนหนุ่ม บินหลา, นรา และวรพจน์ 

เมื่อวันที่ 7 ก.ค.ที่ผ่านมา 'ร้านหนังสือเดินทาง' ย่านผ่านฟ้าดูคับแคบไปถนัดตา เมื่อบรรดาสื่อมวลชนและเหล่าเพื่อนพ้องวงการนักเขียนมารับขวัญและแสดงความยินดีกับการคลอดอย่างเป็นทางการของนิตยสาร WRITER อย่างอบอุ่น 

สามบรรณาธิการหนุ่มเปิดเผยความเป็นมาของ "ลูก" ที่กำลังนอนอยู่บนโต๊ะดูปลาตะเพียนสานอย่างเพลิดเพลิน - ในความรู้สึก WRITER ไม่ต่างจากลูกของพวกเขา 

ความแตกต่างจาก WRITER รุ่นก่อนของบรรณาธิการ ขจรฤทธิ์ รักษา และ กนกพงศ์ สงสมพันธุ์ ซึ่งหายไปจากแผงหนังสือบ้านเราตั้งแต่ กรกฎาคม ปี 2541 วรพจน์ พันธุ์พงศ์ เปรียบเทียบให้เข้าใจชัดเจนว่าเสมือนการทำไข่เจียว องค์ประกอบหลักๆ คงไม่ต่างกันมี ไข่ กระทะ น้ำมัน แต่สุดท้ายไข่เจียวที่สำเร็จออกมาย่อมไม่เหมือนกันเพราะรายละเอียดต่างๆ มากมาย คนทำหนังสือรุ่นหนึ่งย่อมต่างจากรุ่นหนึ่งอย่างแน่นอน 

ส่วน นรา - พรชัย วิริยะประภานนท์ เล่าเสริมว่า "เราก็เอา WRITER เก่า ๆ มาดูว่า จุดเด่นจุดแข็งอยู่ตรงไหน บางอันที่มันแข็งแรงอยู่แล้วเราก็ปรับเอามาใช้ เรามองว่าโดยความเปลี่ยนแปลงของยุคสมัยก็ควรจะมีอะไรใหม่ๆ คือจะบอกว่ามันคงไม่เปลี่ยนไปโดยสิ้นเชิง แต่มันอาจจะเปลี่ยนหน้าตาจากเดิม มันก็เป็นเรื่องของเวลา" 

แม้ยังไม่เปิดดูเนื้อในแค่เห็นรายชื่อนักเขียนประจำก็รู้ว่าน่าอ่านเพียงใด เพราะนักเขียนแต่ละคน นักอ่านบ้านเราคุ้นเคยเป็นอย่างดี ไม่ว่าจะเป็น ชาติ กอบจิตติ, ประภาส ชลศรานนท์, แดนอรัญ แสงทอง, ศุ บุญเลี้ยง,โตมร ศุขปรีชา, ปราบดา หยุ่น และนักเขียนฝีมือดีอีกหลายคน 

Tune in ที่ ทูนอิน 

นับแต่การจากไปของ พญาอินทรี 'รงค์ วงษ์สวรรค์ ที่วงการวรรณกรรมไทยเคารพเชิดชู ครั้งนั้น..นักเขียนหนุ่มทั้งสามก็มีโอกาสได้ทำงานร่วมกัน บินหลา สันกาลาคีรี ในฐานะบรรณาธิการหนังสืองานพระทานเพลิงศพ ได้ นรา - พรชัย วิริยะประภานนท์ และวรพจน์ พันธุ์พงศ์ มาช่วยงาน เมื่อเสร็จภารกิจและต้องกลับกรุงเทพฯ ระยะทางและเวลาบนรถจึงเป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้ WRITER ได้กลับมาสู่ผู้อ่านอีกครั้ง 

"ผมสามคนเจอกันตอนคุณ 'รงค์ วงษ์สวรรค์เสีย เราก็ไปงานศพ ก็เจอกันที่นั่นที่เชียงใหม่ แล้วก็ติดรถกลับกรุงเทพด้วยกัน ต้อ (บินหลา) เขารับภาระเป็น บก. ทำหนังสืองานพระราชทานเพลิงศพ ตอนที่เขาทำหนังสือเล่มนี้ ผมกับวรพจน์ก็เข้าไปช่วย ก็พบว่ามันเป็นการทำงานที่น่าประทับใจมาก คือสนุกมาก 

เราแต่ละคนไม่เหมือนกัน พอมาทำงานด้วยกันเขามีบางอย่างที่เราไม่มี มันทำแล้วก็เหมือนได้เรียนรู้กัน ต้อเขามีไอเดียเรื่อง WRITER ทั้งแง่ชวนคนอื่นมาทำ ท้ายที่สุดไม่มีใครทำ เขาก็เลยตัดสินใจทำเอง ก็ชวนกันมาทำ" นรา เล่าถึงการคุยกันครั้งนั้น 

การทำนิตยสารสักเล่มไม่ใช่เรื่องง่าย และใช่ว่าตอนแรกทั้งสามจะเห็นพ้องต้องกันเสียทุกเรื่อง แต่เมื่อพิจารณาด้วยเหตุผลแล้ว สุดท้ายข้อจำกัดต่าง ๆ ก็เป็นสิ่งที่ต้องฝ่าข้ามไป เพื่อให้นิตยสารเล่มนี้ได้มีโอกาสกลับมาอีกครั้ง 

"...มันไม่เหมาะหรอกที่จะมาทำ ถ้าโดยเหตุผลในความเป็นจริง เมื่อเขาอยากมีและเราเป็นเพื่อนเป็นพี่เป็นน้อง ก็คือว่าเห็นความตั้งใจเขาแล้ว อย่างที่พูด มันต้องช่วย คือเราจริง ๆ อยู่ฝ่ายค้านมาตลอด ไม่อยากให้ทำเลย 

ทุกคนมีงานอยู่แล้ว เอ็นจอยดีกับงานของตัวเองที่ทำอยู่ เต็มเวลาด้วย กำลังสบายน่ะ มีความสุขกับงานของตัวเอง นั่นข้อที่ 1 ข้อที่ 2 การทำธุรกิจแม็กกาซีนมันบิดเบี้ยว ต้นทุนมันสองร้อยแต่มันขายได้ร้อยเดียวอย่างนี้ คือโครงสร้างมันผิดจากพอคเก็ตบุ๊ค ต้นทุนมา 50 บาทขาย 80 บาท มัน logic แต่แมกกาซีนไม่ใช่อย่างนั้น ต้องมีโฆษณา แต่ในกลุ่มไม่มีใครถนัดเรื่องโฆษณาสักคน เรามีประสบการณ์มาจากการทำ 'open' เพราะฉะนั้นในความเห็นเราทำยังไงก็เจ๊ง แมกกาซีนน่ะ ถ้าเราไม่มีองค์ประกอบทีมงานของเราที่ทำธุรกิจอย่างจริงจัง อย่างเต็มตัว พวกเรามีแต่นักเขียน แต่เอ้า เราก็พูดไปอะไรไป อธิบายทุกสิ่งทุกอย่าง ฟังเหตุผลข้อดีข้อเสีย 

คือเราทำหนังสือมาทั้งชีวิตอยู่แล้ว ทำ 'GM' ทำ 'open' มา ก็ได้รับคำตอบว่า หนังสือทุกเล่มคือการเกิดของมนุษย์ เราเกิดมาเพื่อตายอยู่แล้ว ฉะนั้นเรื่องความตายไม่ใช่เรื่องที่น่ากังวล แต่เรามาคิดกันว่าในช่วงเวลาที่มีชีวิตอยู่เราจะทำมันยังไงให้มีคุณค่ามากที่สุด โอเคเราไม่ได้ทำหนังสือเพื่อที่จะตาย เราอยากให้มันนานเท่าที่จะอยู่ได้นั่นแหละ เพียงแต่ไม่ต้องไปแคร์มันมากเรื่องความตาย ก็นี่แหละ พยายามหารูปแบบ วิธีการว่าทำยังไง" วรพจน์ เล่าที่มาก่อนล่มหัวจมท้ายครั้งนี้ 

"มึงเอาไป !" น้ำใจที่ไหลมา 

ย้อนไป 2 ปีที่แล้ว บินหลา เดินทางไปหา ขจรฤทธิ์ รักษา บรรณาธิการและผู้ก่อตั้งนิตยสาร WRITER ที่บ้าน ถามว่าจะเป็นอะไรไหมหากเขาจะเอานิตยสารในตำนานหัวนี้กลับมาทำใหม่ ซึ่งก็ได้รับการยินยอมด้วยดี 

"มึงเอาไป !" คือประโยคสั้น ๆ ที่ สุจิตต์ วงษ์เทศ กล่าวขณะยื่นภาพวาดสีน้ำมัน สุนทรภู่ นั่งลอยเรือปากคลองบางกอกน้อยฝีมือ อุกฤษณ์ ทองระอา ช่างวาดประจำ WRITER ในยุคแรกให้วรพจน์ เพื่อนำไปขายสมทบทุน เหมือนกับทุกคนในวงการที่เอาใจช่วยและล้วนอยากเห็น WRITER กลับมาอีกครั้ง ทั้งช่วยด้วยกำลังทรัพย์ และกำลังกาย เหมือนจะบอกสามบรรณาธิการเป็นเสียงเดียวกันว่า "มึงเอาไป !" 

"ก็ 100 เปอร์เซ็นต์เลยนะ ยินดี อยากเห็น อยากช่วย เชิญใครทำอะไรก็ได้รับการช่วยเหลือได้รับการร่วมมือที่ดีมาก ทุกคนอยากเห็นมันน่ะครับ แล้วเขาก็รู้ว่ามันยาก ทำยังไงก็ไม่รวยหรอก มันชัดเจนเราไม่ได้เอาธุรกิจเป็นตัวตั้ง มีประโยชน์ เราทำอะไรที่มีประโยชน์มันก็ดี" หนึ่ง - วรพจน์ เล่าความประทับใจ เช่นเดียวกับ บินหลา ที่ได้พบกับน้ำมิตรจากเพื่อนในวงการที่ยินดีมาร่วมเขียนคอลัมน์ 

"เราคุยด้วยตัวเอง ใช้เวลาประมาณปี ในการพูดคุยในการถาม ว่ายินดีที่จะมาช่วยกันทำไหม ทุกคนยินดี จริง ๆ แล้ว หลายท่านนะครับ เราสามารถพูดได้เลยว่าถ้าไม่ใช่เรื่องของน้ำใจ ไม่มีทาง" 

บินหลาเชื่อมั่นว่านิตยสารเล่มนี้จะต้องอยู่ได้ แม้การทำนิตยสารต้องอาศัยทุนจำนวนมาก งานนี้ WRITER ได้รับการช่วยเหลือจากหลายฝ่าย ส่วนหนึ่งก็คือ มูลนิธิวานิช จรุงกิจอนันต์ ที่กำลังอยู่ในระหว่างการจัดตั้ง ส่วนที่สองคือหน่วยงานของกระทรวงวัฒนธรรม สำนักงานวัฒนธรรมร่วมสมัย และจากการเปิดรับสมัครสมาชิกล่วงหน้ากว่า 3 เดือนในวันที่ 2 เมษายนที่งานสัปดาห์หนังสือฯ ได้รับการต้อนรับจากนักอ่านเป็นอย่างดี มีผู้อ่านไว้วางใจกว่า 200 คน ทำให้ได้เงินจากค่าสมาชิกราว 2 แสนบาทมาช่วยสมทบอีกแรง คำนวณประมาณไว้ว่าใน 2 ปีใช้เงินทุนประมาณ 3 ล้านบาท บริหารหมุนเวียนให้ดีคิดว่าอยู่ได้ในความเป็นจริง "ตอนนี้เรามีอยู่ประมาณ 1 ล้านบาทแล้ว" ต้อ - บินหลา เปิดเผยสั้นๆ แล้วเว้นเงียบไป 

"ผมคิดว่าทุกคนที่นั่งอยู่ที่นี่จะช่วยจ่ายส่วนที่เหลือ" ตบเท่านั้นเสียงหัวเราะก็ดังคับร้าน 

โลกนักอ่าน - บ้านนักเขียน -โรงเรียนนักฝัน 

คำขวัญของ WRITER บ่งบอกแนวทางและความชัดเจนที่จะทำเพื่อคน 3 กลุ่ม "โลกนักอ่าน บ้านนักเขียน โรงเรียนนักฝัน" ซึ่งคำขวัญนี้จะเตือนตัวนิตยสารเองเสมอ และเพื่อให้ผู้อ่านได้เข้าใจ ตระหนักถึงสิ่งที่ "นักเขียน" ต้องการสื่อสาร 

"หนังสือแนวนี้มันจำเป็น มันเป็นตัวเชื่อมที่จะพาผู้อ่านไปสู่วรรณกรรม วรรณกรรมบางอย่างมันต้องอธิบาย ต้องมีสัมภาษณ์นักเขียน มีบทวิจารณ์ ถ้าคนเดินไปร้านหนังสือเลยมันห่างไกลกันเกิน ไม่มีตัวเชื่อม แต่ถ้ามีแมกกาซีนนี้มันเป็นตัวเชื่อมที่ดีมาก ๆ ถ้าในสังคมมีหนังสืออย่างนี้ได้มันเป็นข้อดี แล้วตอนนี้มันไม่มี ก็เป็นโอกาสที่ดี" วรพจน์ แสดงความเห็น 

นอกจากการเป็นตัวเชื่อมระหว่างนักอ่านและนักเขียน การวิพากษ์วิจารณ์ก็เป็นสิ่งจำเป็นต่อวงการศิลปะ ไม่เว้นแม้กระทั่งวงการวรรณกรรม วรพจน์คิดว่า เมืองไทยยังมีปัญหาเยอะเพราะผ่านมาการวิพากษ์วิจารณ์น้อย และชอบทำในที่ลับ เป็นการนินทาในวงเหล้า ยังขาดการสนับสนุนการวิจารณ์อย่างเปิดเผย แบบนำข้อมูลมาคุยกัน ถกเถียงกัน ซึ่งหากทำเรื่องวิพากษ์วิจารณ์ได้แข็งแรงก็จะนำไปสู่การสร้างงานที่ดี และ WRITER จะมาเป็นศูนย์กลางข้อมูลข่าวสาร การวิพากษ์วิจารณ์เพื่อยกระดับงานเขียน บินหลาให้รายละเอียดในจุดนี้ว่า 

"ยกตัวอย่างเรื่องสั้นเรื่องหนึ่งใน WRITER เราลงเรื่องสั้น พร้อมกับบทวิจารณ์เรื่องสั้น หนึ่งก็คือผู้อ่านได้อ่านเรื่องสั้นแล้วเกิดคำวิจารณ์ของตัวเองขึ้นมาก่อน สองผู้อ่านจะได้อ่านคำวิจารณ์ของนักวิจารณ์ซึ่งลงตีพิมพ์พร้อมกันเลยไม่ต้องไปรอเล่มหน้า แล้วผู้อ่านก็จะสามารถวิจารณ์บทวิจารณ์นั้นได้อีกทีหนึ่งในใจของผู้อ่านเองว่าเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วยกับคำวิจารณ์นั้น เรื่องพวกนี้ผมคิดว่าจะทำให้โลกของการวิพากษ์วิจารณ์มีการแตกประเด็นขึ้นมา เหมือน reaction ที่เกิดขึ้นโดยฉับพลัน ไม่ต้องรอเดือนหน้า" 

"โลกศิลปะมันมีนิดเดียว หัวใจของมันก็คือ การวิพากษ์วิจารณ์ ศิลปะขาดการวิพากษ์วิจารณ์ไม่ได้ เพราะว่ามันจะไม่เติบโต เมื่อมีพื้นที่ให้เกิดการวิพากษ์วิจารณ์ มีพื้นที่ให้รับรู้ ผมคิดว่าใครๆ ก็อยากให้มี" บินหลามั่นใจเช่นนั้น 

สำหรับคนที่ฝันอยากเป็นนักเขียน ต่อไป WRITER จะเป็นอีกเวทีที่เปิดโอกาสให้ผ่าน "ตลาดนัดต้นฉบับ" บรรยากาศเหมือนสภากาแฟที่เป็นแหล่งชุมนุมของคนวรรณกรรมจะมานั่งจิบกาแฟ และดูต้นฉบับใหม่ๆ ซึ่งตอนนี้อยู่ระหว่างการหาสถานที่เหมาะๆ ทำให้เป็นรูปธรรม 

"อย่างที่บอกที่นี่คือโรงเรียนนักฝัน เพราะฉะนั้นนักอ่านก็มีสิทธิ์ที่จะเรียนแล้วก็สามารถส่งการบ้าน หรือจะแลกเปลี่ยนความเห็น เราเตรียมพื้นที่ไว้ตีพิมพ์งานเขียนของนักเขียนหน้าใหม่ที่ส่งมา" 

และสำหรับนักอ่านมีส่วนที่พิเศษที่จะแนะนำหนังสือ ซึ่ง บินหลา บอกว่าจะไม่เหมือนกับเล่มอื่นๆ แน่นอน เพราะจะเป็นหนังสือที่กองบรรณาธิการอ่าน คัดสรรด้วยตัวเองอย่างดี จริงอยู่ว่าส่วนหนึ่งเป็นหนังสือที่ได้รับการยอมรับจากผู้อ่าน มียอดขายดี แต่อีกส่วนที่สำคัญคือหนังสือดีที่วัดจากรสนิยม คุณค่าที่ได้จากการอ่านเป็นสำคัญ และเขายังให้ทรรศนะเกี่ยวกับร้านหนังสือบ้านเราไว้อย่างน่าสนใจ 

"ผมไม่เชื่อว่าอ่านหนังสือแล้วดี ผมปฏิเสธ เหมือนใครบอกว่ากินข้าวแล้วดี กินยาแล้วดี ข้าวอะไร ยาอะไร ยาหรือยาพิษก็ไม่รู้ กินข้าวขาหมูก็ไม่ดี หนังสือก็เหมือนกัน หลายปีมาแล้วที่ผมพบว่าร้านหนังสือหลายร้านมีขยะมากกว่าหนังสือ ซึ่งผมว่าเป็นปัญหาของไทย" 

2 ปีสร้าง 2 ปีส่ง 

โครงการที่จะทำต่อไปของสามบรรณาธิการคือการทำเว็บไซต์ WRITER MAGAZINE ภาคภาษาอังกฤษเพื่อให้งานของนักเขียนไทยจะไปสู่สายตานักอ่านทั่วโลก พร้อมทั้งไม่หยุดที่จะพัฒนา ปรับปรุงเปลี่ยนแปลง ยินดีรับฟังคำวิจารณ์ ติชม จากนักอ่านทุกคน เพื่อให้ WRITER เป็นนิตยสารที่ลงตัวที่สุด 

และเมื่อครบระยะเวลา 2 ปี พวกเขาก็จะส่งต่อไปให้บรรณาธิการคนใหม่มารับช่วงต่อ ! 

"วันหนึ่งยังไงก็ต้องกลับไปเขียนหนังสือ อาจจะเป็นว่า 2 ปีอาจจะพอลงหลักปักฐาน พอจะสร้างอะไรได้ แค่ 6 เดือน 3 เดือนก็คงน้อยไป ถ้า 5 ปีก็ไม่เอาล่ะ อยากไปเขียนหนังสือ คือปีแรกพอครบปีแล้วตั้งใจไว้ว่าจะประกาศรับ บก. คนใหม่เลย อยากมาคุย อยากมาลองดูแนวทางถ้าเกิดใครที่จะทำต่อพร้อมที่จะส่งให้เลย" และ วรพจน์ เองบอกว่าอาจจะไม่ได้นั่งเป็นบรรณาธิการถึง 2 ปี แต่ไม่ได้หนีไปไหน ยังอยู่ใกล้ ๆ คอยเป็นพี่เลี้ยงให้ความช่วยเหลือ หากมีเวลาโอกาสเหมาะก็จะมาช่วยสัมภาษณ์ "ตัวเราเป็นสื่อมวลชน เป็นนักสัมภาษณ์ เราก็รู้สึกว่าที่ผ่านมาเราทำงานสัมภาษณ์ให้อุตสาหกรรมอื่นมาเยอะแล้ว ไปทำข่าวธุรกิจ ข่าวการตลาด ทำเรื่องภาพยนตร์ ทำเรื่องเพลง เรื่องศิลปะ ครั้งนี้มันก็เป็นอีกครั้งหนึ่ง ได้ไหมล่ะ ทำเพื่อบ้านของเรา เพื่อสังคมการอ่านการเขียนของเรา" 

ในฐานะบรรณาธิการทุกคนเต็มที่กับครั้งนี้แม้จะเป็นระยะเวลาเพียง 2 ปี นราเชื่อว่าในฉบับเดือนต่อๆ ไปจะดีขึ้น สำหรับทุกคน การทำงานครั้งนี้เหมือนได้เข้าโรงเรียน และติวเข้มตัวเองไปในตัว 

"แต่ละคนอย่างบินหลา วรพจน์ หรือผม ลึกๆ เราเป็นคนเขียนหนังสือมากกว่าเป็นคนทำหนังสือ แต่ละคนก็มีฝันส่วนตัวว่าอยากจะเขียนอะไร ฉะนั้นการทำหนังสือระยะยาวต่อเนื่องตลอดไป มันไม่ใช่ความฝัน มันเป็นแค่ฝันหนึ่ง เราก็กะจะทำกันช่วงเวลาหนึ่ง 

ถึงเวลาจริงๆ แล้วแต่ละคนก็ต้องไปเขียนเรื่องของตัวเอง การที่มาทำเล่มหนึ่งร่วมกันในระยะยาวก็ถือว่าเป็น "โอกาสทอง" ว่าอย่างนั้นเถอะ 2 ปีกำลังพอดี แล้วก็เชื่อว่าระหว่าง 2 ปีคงได้เรียนรู้สิ่งที่เป็นประโยชน์กับการแยกไปทำงานของแต่ละคน" 

นั่นหมายความว่าหากไม่มีใครเข้ามารับช่วง WRITER ก็จะหายไปอีกครั้ง ? 

"ก็เป็นไปได้ อยู่ที่ว่าเราทำงานให้มันมีพลัง มีค่าพอที่จะให้คนหนุ่มสาวมาจับรับไม้ต่อหรือเปล่า แต่เราเชื่อว่า กรุงศรีอยุธยาไม่สิ้นคนดี หรอกครับ" นั่นคือสิ่งที่ วรพจน์ เชื่อ 
และเชื่อว่าคนอ่าน-คนเขียน บ้านเราทุกท่านก็คงหวังและเชื่อเช่นกัน...ขอให้โชคดี (อีกครั้ง) 



โดย: วีรภัทร บุญมา
ที่มา: bangkokbiznews.com / 17 กรกฎาคม 2554
Related Posts Plugin for WordPress, Blogger...

Views: 150

Reply to This

© 2009-2024   PORTFOLIOS*NET by CreativeMOVE.   Powered by

Badges  |  Report an Issue  |  Terms of Service