ชีวิต & ร้านทางเลือก "กิติยา โสภณพนิช": เรื่องราวเจ้าของร้านประตูสีฟ้า กับทางเลือกที่แตกต่างในสังคม

เรื่องราวเจ้าของร้านประตูสีฟ้า กับทางเลือกที่แตกต่างในสังคม 

ความน่ารักของร้านหนังสือทางเลือก "ประตูสีฟ้า" ทำให้สถานที่แห่งนี้ ถูกใช้เป็นสถานที่ถ่ายหนัง ละคร มิวสิควีดิโอ และนิตยสารหลายฉบับนำเสนอเรื่องราวของร้านเล็กๆ แห่งนี้ 

ที่นี่มีกิจกรรมทางเลือกมากมาย ทั้งศิลปะ ละคร หนังสั้น กิจกรรมรักโลก รักธรรมชาติ รักเพื่อนมนุษย์ ทั้งหมดเป็นสิ่งที่ กิติยา โสภณพนิช เจ้าของร้านสรรหามาเป็นทางเลือกที่ต่างจากกิจกรรมกระแสหลัก 

แม้เธอจะรับช่วงกิจกรรมต่อจากผู้ริเริ่มร้านหนังสือทางเลือกแห่งนี้ แต่เธอจริงจังกับการบริหารร้านเล็กๆ ทำสิ่งที่เธอคิดฝันให้เป็นประโยชน์ต่อสังคม 

นอกจากนี้เธอยังรับช่วงต่อจากคุณแม่คือ คุณหญิงกัลยา โสภณพนิช เป็นผู้จัดการและกรรมการ มูลนิธิสถาบันราชพฤกษ์ 

ที่ผ่านมา เธอเลือกเรียนสิ่งที่ชอบ และทำสิ่งที่ใช่ แต่สิ่งที่'ใช่' และ'ชอบ' อาจสวนทางกับความเป็นจริง... 
กิติยา เริ่มต้นง่ายๆ ว่า “ถ้าทำร้านหนังสืออย่างเดียว ร้านนี้ไปไม่รอด ตอนนั้นถ้าเราไม่รับช่วงต่อ ร้านนี้อาจกลายเป็นร้านเหล้า เราเสียดายร้านแบบนี้...” 

เธอสานต่อเจตนารมณ์ของผู้ก่อตั้งร้านหนังสือประตูสีฟ้า เพื่อเป็นพื้นที่ทางเลือกในสังคม 
"เป็นความสุขส่วนตัวที่อยากให้มีร้านแบบนี้ในสังคม" กิติยา เล่า ก่อนหน้านี้ เธอเคยเป็นครูสอนหนังสือที่โรงเรียนรุ่งอรุณ และโรงเรียนทอสี เรียนจบปริญญาตรีด้านศิลปศาสตร์ เอกภาษาจีนและศิลปะ ที่อเมริกา และปริญญาโทด้านการศึกษาที่อังกฤษ 

ลองตามอ่านการเดินทางของความคิดและชีวิตของคนที่พยายามจะหาทางเลือกอื่นๆ ที่ต่างจากสิ่งที่คนทั่วไปทำและเชื่อ... 


ต้องถามก่อนว่า ร้านหนังสือทางเลือกแบบนี้มีอะไรน่าสนใจ ? 

อาจเป็นความฝันของคนรุ่นใหม่ อยากมีร้านของตัวเอง และชอบร้านนี้อยู่แล้ว ประกอบกับเป็นคนชอบอ่านหนังสือ เคยแวะมาร้านนี้บ่อยๆ กระทั่งเจ้าของร้านอยากขายกิจการ เพราะไม่มีคนดูแล ร้านจึงค่อยๆ ซบเซา เมื่อเรามาดูแลก็เริ่มคึกคัก ตอนแรกไม่คิดว่าจะอยู่ได้และมีกำไร กว่าจะคืนทุนคงกว่าสิบปี 



เป็นร้านทางเลือกที่มีกิจกรรมหลากหลาย ? 

เมื่อก่อนมีแค่กิจกรรมเปิดตัวหนังสือ อ่านบทกวี เมื่อเรามาดูแล ก็เอาความชอบส่วนตัวมาใส่ มีละครแสดงในร้าน ฉายหนังสั้น เวิร์คชอปสมุดทำมือ คนที่สอนเรื่องนี้อยากหาเงินช่วยเหลือคนในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ เราก็อนุญาต กิจกรรมมูลนิธิสถาบันราชพฤกษ์ ก็ใช้ร้านนี้แหละ และมีกิจกรรมการกุศลที่มาฝากวางกล่องบริจาค มีหนังสือมือสองของพี่สาวที่ขายแล้วนำเงินเข้ามูลนิธิฯ จนมีคนสนใจ อยากฝากขายหนังสือมือสอง ก็เลยคิดว่า จะทำโครงการขายหนังสือมือสองฟื้นป่าในเดือนพฤศจิกายนนี้ จะชวนร้านแถวนี้ปูเสื่อขายหนังสือมือสอง 

ทำอย่างไรให้ร้านทางเลือกแบบนี้อยู่รอด 

คนยังต้องการร้านแบบนี้ เพราะสังคมทุกวันนี้ไม่มีทางเลือก ก่อนเราจะมาดูแล ร้านนี้ก็ทำดีอยู่แล้วและลงตัว เวลาอยากทำกิจกรรมอะไร ก็ทำได้ทันที ไม่ต้องคิดมาก คนที่อยากทำร้านแบบนี้ หลายคนกลัวว่าจะอยู่ไม่ได้ จริงๆ แล้วอยู่ได้ แต่ขายหนังสืออย่างเดียวไม่ได้ ต้องผนวกหลายๆ อย่างไว้ด้วยกัน นอกจากขายหนังสือ ที่นี่ยังขายอาหารไทยโบราณ แม่ครัวมีฝีมือทำอาหารอร่อย คนก็ติด แม้กระทั่งไอศกรีมนมถั่วเหลือง ก็ลองทำ คิดเล่นๆ กับเพื่อน ปรากฏว่า คนญี่ปุ่นมากิน แล้วชอบ จึงขายหน้าร้านและทำส่งด้วย 


สนใจเรื่องการศึกษาทางเลือกเป็นทุนเดิม จึงพยายามสร้างทางเลือกให้คนอื่นๆ ด้วย? 

ที่สนใจเพราะครอบครัว คุณแม่ทำงานด้านสังคมเกี่ยวกับต้นไม้ให้มูลนิธิสถาบันราชพฤกษ์ ตอนเด็กๆ เวลาแม่ไปต่างจังหวัด ก็พาเราไปด้วย สมัยวัยรุ่นพยายามหาทางเลือก เพราะไม่ชอบระบบการศึกษาในโลกนี้ มันตีกรอบคนมากไป เรียนไปเพื่อสอบแค่นั้นหรือ การศึกษาน่าจะเปิดกว้างมากกว่านี้ และเป็นคนที่ชอบศิลปะ 


คิดอย่างนั้นตั้งแต่เรียนมัธยมหรือ ? 

ชอบตั้งคำถาม ถ้าเราไม่พอใจกับสิ่งที่เผชิญ ชีวิตก็น่าจะมีทางออก จึงอ่านหนังสือเพื่อหาคำตอบ ตอนไปเรียนมัธยมที่อังกฤษ ตอนนั้นคุณแม่ให้หนังสือธรรมะไปอ่าน และได้อ่านหนังสือซัมเมอร์ฮิลล์ ก็ได้เรียนรู้ว่า คนเรามีทางเลือกอื่นๆ อีก ตอนอยู่ที่อังกฤษย้ายโรงเรียนบ่อยมากประมาณ 3 แห่ง ตอนนั้นคิดว่าการศึกษาน่าจะตอบโจทย์เราได้มากกว่านี้ เลยบีบบังคับให้คุณพ่อคุณแม่ศึกษาไปด้วยกันกับเรา 

ได้ซึมซับอะไรจากพ่อและแม่บ้าง? 
จริงๆ แล้วพ่อแม่ไม่ได้สอนอะไรมาก แต่ทำให้ดู อยากเรียนอะไร พ่อก็ให้เรียน ไม่กดดันเหมือนครอบครัวอื่นๆ ลูกๆ ก็เลยสนใจอยากทำงานเพื่อสังคมมากกว่าธุรกิจ เพื่อนๆ พ่อ เคยถามพ่อว่า ทำไมลูกๆ ไม่เรียนด้านธุรกิจ คุณพ่อบอกไปว่า ตอนลูกเล็กๆ ลืมล้างสมอง พี่สาวเราก็ชอบด้านขีดๆ เขียนๆ เรียนด้านครีเอทีฟ พี่สาวคนรองเรียนสถาปัตย์ ทำงานช่วยเหลืออุทกภัยองค์กรข้ามประเทศ และตอนนี้ไปช่วยน้ำท่วมที่ปากีสถาน 


การเรียนในระบบไม่สามารถตอบโจทย์ให้คุณได้ ? 

สิ่งที่เรียนไม่เพียงพอสำหรับเรา ไม่ใช่ว่าไม่พอในเรื่องความยาก แต่การเรียนแบบนั้นไม่มีคุณค่ากับชีวิต ยกตัวอย่างการเรียนภูมิศาสตร์ระดับมัธยมในอังกฤษ แม้ที่นั่นจะสอนให้เด็กอธิบายและคิดเป็น แต่ไม่พอ จำได้ว่า ข้อสอบเคยให้อธิบายถึงระบบการทำนาในเมืองร้อน ก็สงสัยว่า ทำไมต้องเรียนแบบท่องจำเพื่อสอบด้วย 


จนได้มาเรียนโรงเรียนทางเลือกในช่วงมัธยมปลาย มีวิชาทางเลือกที่ไม่มีในโรงเรียนปกติ ทั้งด้านจิตวิทยา ปรัชญา และอื่นๆ อาจเป็นช่วงวัยค้นหาคำตอบ จึงคิดว่า ถ้าจบมัธยมปลายจะไม่เรียนต่อมหาวิทยาลัย อยากไปทำงานแล้วล่ะ จนมีอาจารย์ท่านหนึ่งบอกว่า ถ้าอยากจะแก้ไขระบบการศึกษา ก็ต้องเข้าใจระบบและอยู่กับมันจนถึงที่สุด ถ้าเราผ่านเรื่องเหล่านั้น เมื่อถึงเวลาเราจะเปลี่ยนระบบอย่างไร ก็เป็นอีกเรื่อง กระทั่งมาเรียนปริญญาตรีด้านศิลปศาสตร์ เอกภาษาจีนและศิลปะที่อเมริกา การเรียนที่นั่นแม้จะไม่ได้ทักษะวิชาการ เพราะเรียนหลายอย่าง แต่ฝึกฝนให้เรามีทักษะการทำงาน ช่วงปีที่สี่ได้เรียนศิลปะ รู้สึกสนุกกับการเรียนรู้ และรู้สึกว่า การศึกษาน่าจะเป็นอย่างนั้น 


จนเป็นครูโรงเรียนทางเลือก ? 

ตอนมาเป็นครูสอนภาษาจีนและศิลปะที่โรงเรียนรุ่งอรุณ ทำให้เราได้รู้จักตัวเองมากขึ้น ตอนนั้นได้พบว่า เรากลัวมากกับสิ่งที่เราไม่รู้ มีหลายเรื่องที่เราไม่รู้และไม่เข้าใจในเรื่องการศึกษา เราก็ค่อยๆ เรียนรู้ เพราะความกลัวทำให้เราสอนอยู่ที่นั่นแค่เทอมเดียว 


ที่นั่นทำให้คุณได้รู้จักตัวเองมากขึ้น ? 

ที่นั่นมีปรัชญาว่า ต้องรู้จักตัวเองก่อน งานก็เกี่ยวข้องกับการจัดการคน การจัดการใจ ต้องมาก่อนวิชาการ ตอนนั้นเราคาดหวังสูง เพราะชีวิตที่ผ่านมาเป็นคนเรียนเก่ง จึงกลัวความผิดพลาด ที่นั่นสอนให้เรียนผิดเรียนถูก แต่ตอนนั้นเราอาจจะตัวตนสูง เข้มงวดกับตัวเองมากไป ถ้าเรากล้าที่จะถามหรือเปิดใจมากกว่านี้ ก็น่าจะไปได้ดี แต่ตอนนั้นเราไม่กล้าที่จะยอมรับความไม่รู้หรือความผิดพลาด 


จนได้มาเรียนรู้การศึกษาแนวพุทธในโรงเรียนทอสี ? 

ได้เรียนรู้ความเป็นไทยและการเข้าสังคม ตอนนั้นเพิ่งเรียนจบจากต่างประเทศ ค่อนข้างเป็นตัวของตัวเอง ที่นั่นสอนให้อยู่ร่วมกันแบบสังคมชาวพุทธ ทำให้รู้จักความนอบน้อมมากขึ้น ตอนนั้นมีความสุขและสนุกในการสอนเด็ก ที่นี่เปิดโอกาสให้เราทดลอง ได้ทำสิ่งที่อยากทำ 



สิ่งที่พยายามค้นหาตั้งแต่วัยรุ่น ค้นพบไหม 

เป็นเรื่องของช่วงวัย พอมาเรียนปริญญาโทด้านการพัฒนาการศึกษาที่อเมริกา ก็ได้ค้นพบความเป็นจริงของโลก เพราะเรียนเกี่ยวกับปัญหาของโลกและระบบสังคมโลก การเรียนตรงนั้นเหมือนเปิดโลก ได้มุมมองใหม่ๆ จากเพื่อนๆ ที่หลากหลาย มีเพื่อนมุสลิมเยอะ จนได้กลับมาทำงานวิจัยด้านการศึกษาแนวพุทธที่โรงเรียนรุ่งอรุณ ซึ่งเรายังเหมือนนักวิชาการคือ อ่านเยอะ เรียนเยอะ ปฏิบัติน้อย แต่เชื่อว่า นี่คือ แนวทางที่ใช่ จนได้มาเรียนจิตตปัญญาที่มหาวิทยาลัยมหิดลรุ่นแรก ก็ยิ่งได้พัฒนาความหลากหลายในการพัฒนาจิต ทั้งเรื่องศาสนาและธรรมชาติ 
ชีวิตคนเราจะสุดโต่งอยู่ในโลกตัวเองอย่างเดียวไม่ได้ เราต้องทำงานในระบบ ต้องประสานเรื่องการปลูกป่าให้มูลนิธิสถาบันราชพฤกษ์ ทำงานมานานกว่า 4-5 ปี ช่วงแรกๆ ก็ไม่อยากทำ คงเป็นอาการเด็กเรียนเมืองนอก อยากมีชีวิตของตัวเอง ตอนนั้นก็คิดว่า เป็นงานของแม่ ไม่อยากอยู่ใต้เงาพ่อแม่ ทำไปหลายปีก็ยังรู้สึกแบบนั้น จนมีครอบครัว ความคิดก็ค่อยๆ เปลี่ยน และสามีบอกว่า "ไหนๆ พ่อแม่เราก็เริ่มต้นมาแล้ว ทำไมเราไม่ทำต่อ เพราะเป็นพื้นที่ที่เราน่าจะทำอะไรได้มากกว่าที่คิด" กระทั่งกิจกรรมปลูกป่าถาวรเฉลิมพระเกียรติหกหมื่นไร่ เราก็มาสานต่อให้จบ จากนั้นเราก็เริ่มนำกิจกรรมเกี่ยวกับเด็กเข้าไปในโครงการต่างๆ 


จากปลูกป่า ก็เพิ่มกิจกรรมเรื่องเด็กๆ ให้มูลนิธิ ? 

ตอนที่คุณแม่ทำเรื่องปลูกป่าเมื่อ 25 ปี คุณแม่ขอเงินคุณพ่อหนึ่งแสนบาทเพื่อก่อตั้งมูลนิธิฯ แล้วทำจนเติบโต มาถึงรุ่นเราก็คิดกิจกรรมเพื่อตอบโจทย์คนรุ่นใหม่ ตอบโจทย์เรื่องธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ตอนนี้รับขยะมารีไซเคิลขาย แล้วนำรายได้มาปลูกป่า ตอนนี้กิจกรรมในมูลนิธิฯ ไม่ใช่เรื่องปลูกป่าอย่างเดียว มีเรื่องวิถีชีวิต ทำปุ๋ยชีวภาพ ปลูกผัก ใช้วัสดุรีไซเคิลมาแปรรูป 


นอกจากนี้เราได้เห็นการเปลี่ยนแปลงของเด็กที่มาเข้าค่าย วันแรกๆ เด็กไม่กล้าพูด ไม่รู้เรื่องสิ่งแวดล้อม ไม่รู้วิธีวิเคราะห์ปัญหา เมื่อให้กลับไปฝึกฝนแล้วกลับมาเข้าค่ายอีก ได้เห็นการเปลี่ยนแปลง แม้ผลจะไม่เต็มร้อย แต่เห็นการเปลี่ยนแปลง 


อยากสร้างทางเลือกในสังคมอย่างไร 

อยากทำเรื่องการศึกษา เชื่อว่าสังคมต้องการเรื่องนี้ อยากให้การศึกษาทางเลือกเป็นทางหลัก ยังเชื่อว่าทำได้ ตอนนี้การศึกษาทางเลือกถูกมองว่าเป็นการศึกษาสำหรับคนรวย คนมีเงิน 



โดย: เพ็ญลักษณ์ ภักดีเจริญ 
ที่มา: กรุงเทพธุรกิจ /  29 กันยายน 2554 

Views: 3352

Reply to This

© 2009-2024   PORTFOLIOS*NET by CreativeMOVE.   Powered by

Badges  |  Report an Issue  |  Terms of Service