กรณีศึกษาของ Iridium: เมื่อแจ๊สคลับต้องปรับตัว

ดิ เออริเดียม บนบรอดเวย์ แอเวอนู ตัดกับถนนสาย 51 ในแมนฮัตตัน 
----------------------------------------------------- 


วันนี้ เออริเดียม คือที่รวมของสุดยอดนักกีตาร์ทุกสไตล์ 

นับเป็นเวลาหลายปีทีเดียวที่ "ดิ เออริเดียม" มิได้เป็นเพียงบ้านของ เลส พอล นักบุกเบิกกีตาร์ไฟฟ้าเท่านั้น แต่ที่นี่ยังมีภาพลักษณ์เป็นหนึ่งในแจ๊สคลับระดับแนวหน้าของนิวยอร์ก ที่ซึ่งคุณจะได้พบกับยอดฝีมืออย่าง แมคคอย ไทเนอร์ อดีตมือเปียโนในวงของ จอห์น โคลเทรน หรือ ชาร์ลี เฮเดน อดีตมือเบสในวงของ ออร์เน็ตต์ โคลแมน เป็นต้น 

แต่วันนี้ หลายสิ่งหลายอย่างเปลี่ยนแปลงไป นับตั้งแต่ เลส พอล เสียชีวิตลงในเดือนสิงหาคม ปี 2009 เออริเดียม กลายมาเป็นที่ชุมนุมของนักกีตาร์ระดับเอตตะทัคคะ ซึ่งไม่จำกัดเฉพาะแนวแจ๊สเท่านั้น แต่ยังรวมสุดยอดมือกีตาร์ทุกๆ แนวเข้าไว้ด้วยกัน 

เดือนตุลาคมที่ผ่านมา ที่นี่มีการแสดงของมือกีตาร์แจ๊สสุดฉมัง สแตนลีย์ จอห์นแดน ร่วมกับมือแซ็ก ริชี โคล ตามมาด้วย มือกีตาร์ร็อค อดีตสมาชิกวงเดอะ ดอร์ส อย่าง ร็อบบี ไครเจอร์ , เอเดรียน บีลูว์ แห่ง คิง คริมสัน หรือแม้กระทั่ง มาร์แชล เครนชอว์ เจ้าของเพลงฮิต “Someday, Someway.” 

ไม่บ่อยครั้งนักที่เราจะพบสถานที่แจ๊สคลับในมหานครนิวยอร์ก ที่มีนักดนตรีแนวอื่นมาร่วมใช้เวทีด้วย เช่นในเดือนพฤศจิกายน รายการแสดงเริ่มด้วย อาร์ทูโร แซนโดวัล มือทรัมเป็ตละตินที่สุดแสนร้อนแรง แต่ในช่วงถัดจากนั้นไม่กี่วันก็มาถึงร็อคเกอร์รุ่นตำนาน อย่าง อัลเบิร์ต และ โจ บูชาร์ด แห่งวง บลู ออยสเตอร์ คัลท์ ขณะที่มีนักดนตรีร็อครุ่นเยาว์ เดวอน ออลแมน และวงดนตรี ฮันนีไทรบ์ ของเขามาสร้างสีสันด้วย 

คอนเสิร์ตยุคหลังของ ลอส พอล แสดงที่นี่ 
-----------------------------


"คุณจะทำอย่างไร เมื่อต้องสูญเสีย เลส พอล ไป " รอน สเตอร์น เจ้าของ ดิ เออริเดียม เอ่ยให้ฟัง "คุณจะเลิกทำธุรกิจนี้เหรอ ? คุณจะปรับตัวกับการเปลี่ยนแปลงอย่างไร" 

ดูเหมือน รอน จะมีคำตอบอยู่แล้วในใจ เขายังยึดกุมความเป็นอัครสถานของ "กีตาร์" ไว้ แต่ปรับให้มีความเป็นร็อคและบลูส์มากขึ้น ซึ่งคนกลุ่มนี้จะได้มีประสบการณ์เชื่อมโยงไปยังดนตรีใหม่ๆ ทั้ง แจ๊ส และ แจ๊ส-ร็อค ในเวลาต่อมา 

"ผมอยากจะโยกพวกเขาไปฟังแจ๊ส และย้ายพวกเขามาฟังร็อค" รอน บอกและเสริมว่า "และในความเป็นจริง การมีดนตรีร็อคบรรเลงที่นี่เป็นเรื่องดีสำหรับแจ๊สด้วยซ้ำ เพราะผมนำผู้คนซึ่งปกติไม่เคยแวะมาเหยียบที่นี่หรอก" 

สถานการณ์ปัจจุบันไม่ใช่เรื่องง่ายของการดำเนินธุรกิจแจ๊สคลับ ขณะที่กลุ่มคนฟังก็ลดลงทุกที จังหวะก้าวครั้งนี้ของ "เออริเดียม" เป็นไปในทิศทางเดียวกันกับที่ค่ายเพลงชื่อดัง ทั้ง "เวิร์ฟ" และ "บลูโน้ต" ปรับตัวมาแล้วในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา เพื่อรักษาความสามารถในการทำกำไรเอาไว้โดยเพิ่มสัดส่วนของศิลปินป๊อปมากขึ้น 

ทิศทางของ เออริเดียม จึงเริ่มจากการนำนักกีตาร์แนวอื่นๆ และศิลปินป๊อปมาบรรจุไว้ในโปรแกรมการแสดงในแต่ละเดือน และทวีความชัดเจนขึ้นตั้งแต่ช่วงฤดูร้อนที่ผ่านมา นอกจากนี้ยังมีการปรับพื้นที่ในคลับให้กลายสภาพเป็น "สตูดิโอบันทึกเสียง" ด้วยการลงทุนด้านอุปกรณ์ทั้งหลาย พร้อมๆ กับวางแผนที่จะทำค่ายเพลงที่มีผลงานบันทึกการแสดงสดไปในเวลาเดียวกัน ทั้งในรูปของซีดีและดีวีดี โดยเปิดให้ลูกค้าสั่งซื้อแผ่นจากการแสดงสดที่ตนเองเพิ่งชมไปสดๆ ร้อนๆ 

วันนี้ เออริเดียม แปลงสภาพไปแล้ว จากแจ๊สคลับ มาเป็นพื้นที่ของคนชอบกีตาร์ ระหว่างทางเดิน นอกจากกีตาร์รุ่นต่างๆ ที่วางประดับแล้ว ยังมีลายเซ็นต์ของยอดศิลปินอย่าง เอริค แคลปตัน , เจฟฟ์ เบ็ค, ทอม เพ็ตตี และ สตีฟ มิลเลอร์ รวมอยู่ด้วย 

แน่นอนงานนี้ต้องมีคนไม่เห็นด้วย โดยเฉพาะคอแจ๊สแท้ๆ (purist) แต่ลูกค้าประจำอย่าง เนลสัน ออนอฟร์ เห็นว่า ในช่วงที่เป็นแจ๊สนั้นมีคนดูอยู่ครึ่งเดียว แต่ที่นี่ดำเนินธุรกิจ ดังนั้นก็จำเป็นต้องทำให้คนเต็ม ส่วนคนฟังอย่าง เกร็กจ์ เดลเลอร์ ก็มองไม่เห็นความต่าง หากจะมีเพลงคันทรีบลูส์บรรเลง เพราะดนตรีทุกแนวล้วนเชื่อมโยงกันทั้งนั้น 

"(แฟนเพลง)แจ๊สอนุรักษ์นิยมเสมอ" เจ้าของร้านบอก "คุณมีผู้คนบางประเภท ที่คอยบอกว่า นี่คือแจ๊ส นั่นไม่ใช่แจ๊ส คุณสร้างกำแพง แล้วทายสิว่าเกิดอะไรขึ้น ไม่มีคนดูเพิ่มเลยไง" 

นอกจากการปรับเพิ่มแนวดนตรีแล้ว ที่นี่ยังมีการทดลองผสมผสานระหว่างดนตรีหลากรูปแบบ เช่นการบรรเลงของวง ลู พอลโล ในค่ำคืนหนึ่ง พวกเขาเริ่มต้นด้วยการบรรเลงเพลงสแตนดาร์ด แต่เมื่อ จอห์น โอทส์ หนึ่งในสมาชิกวง "ฮอลล์ แอนด์ โอทส์" แวะเวียนเข้ามา โอทส์ เล่นพิคกิงสไตล์บลูส์ จากนั้นพวกเขาก็คลี่คลายไปสู่เพลงรูปแบบอื่นๆ เช่น ไลท์นิง ฮ็อพกินส์, จิมมี โรเจอร์ส, เคอร์ทิส เมย์ฟิลด์ พอตกดึก ผู้ชมก็ได้เห็น สตีฟ มิลเลอร์ มือกีตาร์ชื่อดังลงมาร่วมแจมกับวง ซึ่งให้ประสบการณ์ที่สุดยอด 

"สิ่งที่เราทำ ไม่ใช่แจ๊สแท้ๆ แต่มันมีอะไรแตกต่างอย่างนั้นหรือ มันก็ยังเป็นดนตรีดีๆ เช่นกัน" นักกีตาร์พอลโล สะท้อนมุมมองถึงความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น. 


เรียบเรียงจากข้อเขียนของ เจมส์ ซี. แมคคินลีย์ จูเนียร์ ในนิวยอร์กไทม์ส 
โดย: อนันต์ ลือประดิษฐ์  / 21 พฤศจิกายน 2554
ที่มา: ผู้จัดการ 

Views: 560

Reply to This

© 2009-2024   PORTFOLIOS*NET by CreativeMOVE.   Powered by

Badges  |  Report an Issue  |  Terms of Service