เขียนด้วยมือ วาดด้วยเท้ากับ Helen Frankenthaler

 


Helen Frankenthaler เป็นศิลปินหญิงชาวอเมริกันที่มีชื่อเสียงมากที่สุดคนหนึ่ง แม้เวลาจะผ่านไปนานกว่า 60 ปีนับแต่เธอได้นำผลงานออกแสดงเป็นครั้งแรก แต่ภาพวาดทุกภาพของเธอไม่ว่าใหม่หรือเก่าก็เป็นที่สนใจอย่างมากในหมู่ของบรรดาผู้นิยมศิลปะ ทั้งๆที่คนส่วนใหญ่ดูภาพวาดของ Helen Frankenthaler แล้วไม่รู้ว่าเป็นภาพอะไร 



Helen Frankenthaler เกิดเมื่อวันที่ 12 ธันวาคม ค.ศ.1928 ที่กรุง New York และใช้ชีวิตตลอดทั้งชีวิตจนกระทั่งปัจจุบันอยู่ที่กรุง New York เพียงแห่งเดียว Helen Frankenthaler ได้ชื่อว่าเป็นศิลปินในแนวทาง Abstract Expressionism รุ่นบุกเบิกที่มีชื่อเสียงมาก ภาพที่เธอวาดส่วนใหญ่เกิดจากอารมณ์ที่แปรปรวน เป็นภาพที่ไม่มีรูปทรงไม่ได้เกิดจากของจริงแต่เป็นสิ่งที่เกิดจากการสร้างขึ้นมาด้วยความรู้สึกนึกคิดของตัวเอง ดังนั้น จึงมีน้อยคนนักที่จะเข้าถึงภาพวาดของ Helen Frankenthaler 

 




วิธีในการวาดภาพของ Helen Frankenthaler นับว่าแปลกไปจากศิลปินคนอื่นๆ เธอชอบวาดภาพที่มีขนาดใหญ่ เธอจะนำเอาผ้าใบหรือกระดาษที่เธอจะใช้วาดมาวางราบลงบนพื้น แล้วเทสีน้ำมันที่ผ่านการผสมมาแล้วลงบนผ้าใบหรือกระดาษ ปล่อยให้สีไหลไปบนผ้าใบหรือกระดาษ ในบางครั้ง Helen Frankenthaler ก็จะยกด้านหนึ่งด้านใดของผ้าใบหรือกระดาษเพื่อให้สีไหลไปในทางที่เธอต้องการ 

นอกจากนี้แล้วในบางภาพวาด เธอใช้มือละเลงสีหรือไม่ก็สวมรองเท้าใส่อยู่กับบ้านที่มีพื้นนุ่มๆเดินละเลงสีไปบนภาพวาด ไม่ก็ลากเทัาไปมาเพื่อให้เกิดเป็นภาพวาดที่ต้องการ เมื่อสีแห้ง Helen Frankenthaler ก็จะเขียนลายเส้นที่เธอต้องการทับไปบนภาพวาดอีกชั้นหนึ่ง 



ชีวิตส่วนตัวของ Helen Frankenthaler นั้น เธอมาจากครอบครัวผู้ดีเชื้อสายยิว มีบิดาเป็นผู้พิพากษาศาลสูงของกรุงNew York เข้าเรียนหนังสือครั้งแรกที่โรงเรียนเอกชนชื่อ Dallon School โดยเรียนศิลปะกับครูชาว Mexican ชื่อ Rufino Tamayo หลังจากที่จบการศึกษาในปี ค.ศ.1945 เธอก็ไปเรียนต่อที่ Bennington College ใน Vermont และได้เรียนศิลปะกับ Paul Flee จนจบการศึกษาในปี ค.ศ.1949 จากนั้น เธอได้ไปเรียนศิลปะส่วนตัวกับ Hans Hofmann ที่ Provincetown มลรัฐ Massachusetts อยู่ 1 ปีจึงกลับ มาใช้ชีวิตเป็นศิลปินเต็มตัว อยู่ที่ กรุง New York บ้านเกิด 

ในปี ค.ศ.1958 Helen Frankenthaler แต่งงานกับศิลปินชื่อ Robert Motherwell อยู่กันได้ 13 ปีก็หย่าขาดจากกันในปี ค.ศ.1971 



ชีวิตการเป็นศิลปินของ Helen Frankenthaler เริ่มต้นในปี ค.ศ.1950 โดยเธอเข้าร่วมกับกลุ่มศิลปินอเมริกันหัวก้าวหน้าในกรุง New York ในปีต่อมา เธอแสดงผลงานเดี่ยวของตัวเองเป็นครั้งแรก 

จากนั้นในปี ค.ศ.1952 Helen Frankenthaler มีชื่อเสียงขึ้นมาจากภาพเขียนขนาดกว้าง 3 เมตรและสูง 2 เมตรของเธอที่ชื่อ Mountain and Sea ซึ่งวาดด้วยเทคนิคพิเศษที่เธอคิดขึ้นมาเอง เริ่มจากสีที่เธอใช้ในการวาดภาพเป็นสีน้ำมันที่ถูกทำให้เจือจางด้วยการผสมสีน้ำเข้าไป เธอนำสีมาเทลงบนผ้าใบชนิดหนาหยาบ ผ้าจะดูดสีที่เจือจางซึมผ่านลงไปในเนื้อผ้าดูเป็นคราบรอยเปื้อนภาพ 

Mountain and Sea นี้เกิดจากความทรงจำของ Helen Frankenthaler ที่ได้จากการไปเที่ยว Nova Scotia ใน Canada ช่วงปี ค.ศ.1950 แม้ว่าภาพนี้จะเป็นภาพทิวทัศน์ซึ่งตามปกติควรเป็นสีเขียว แต่ Helen Frankenthaler กลับใช้สีที่มาจากจินตนาการของตัวเองคือ ใช้สีแดง ส้ม น้ำตาล ฟ้า ภาพดังกล่าวได้รับการตอบรับ อย่างดีจากวงการศิลปะ ถือกันว่าเป็นภาพแรกๆทื่เรียกว่า Abstract Expressionism ภาพนี้ทำให้เธอกลายเป็นศิลปินชื่อดังทันที 



ปี ค.ศ.1960 Helen Frankenthaler แสดงผลงานเดี่ยวครั้งใหญ่ที่ Jewish Museum ในกรุง New York เธอกลายเป็นศิลปินที่มีชื่อเสียงทั้งในและนอกประเทศ ต่อมาในปี ค.ศ.1969 Helen Frankenthaler ก็ได้มีโอกาสนำภาพวาดของเธอไปแสดงที่ Whitney Museum พิพิธภัณฑ์ที่มีชื่อเสียงที่สุดแห่งหนึ่งของกรุง New York 



เกียรติประวัติส่วนตัวมีมากมาย Helen Frankenthaler แสดงผลงานเป็นร้อยครั้งทั้งในและนอกประเทศ เป็นผู้บรรยายศิลปะในมหาวิทยาลัยชั้นนำหลายแห่ง เช่น Harvard,Yale,Princeton ได้รับรางวัลมากมาย รางวัลสำคัญที่ได้รับในปี ค.ศ.1999 คือรางวัล Jerusalem ได้รับจาก The Friends of Israel′s National Academy of Arts and Design นอกจากนี้ Helen Frankenthaler ยังได้รับปริญญาเอกกิตติมศักดิ์สาขาวิจิตรศิลป์จาก Smith Collage ในปี ค.ศ.1973 อีกด้วย 


ปัจจุบัน Helen Frankenthaler อายุ 83 ปี ใช้ชีวิตอยู่อย่างสงบในกรุง New York และยังคงวาดภาพอยู่อย่างต่อเนื่อง 

 
 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 





โดย: อายตนะ 
ที่มา: prachachat.net / 25 กรกฎาคม 2554

Views: 1119

Reply to This

Replies to This Discussion

her make a beauttiful World..

RSS

© 2009-2024   PORTFOLIOS*NET by CreativeMOVE.   Powered by

Badges  |  Report an Issue  |  Terms of Service