เปลื้องผ้า Femme Fatale โดย: นันทขว้าง สิรสุนทร



หนังเรื่อง Colombiana 
----------------------
 

"หญิงร้าย" ในโลกเซลลูลอยด์กลับมาตีตื้นในตลาดหนังอีกครั้ง หลังจากปล่อยให้พ่อมดน้อยกับแวมไพร์หนุ่มวิ่งนำไปอยู่หลายช่วงตัว 

ระหว่างที่ใครต่อใครค่อยๆ คลายความตื่นเต้นเรื่อง “พ่อมด” (Harry Potter) และบรรดา “แวมไพร์” (สายพันธุ์ Twilight) นั้น สำนักข่าว Bloomberg ซึ่งเป็นเจ้าของนิตยสารรายสัปดาห์ด้วย ได้ทำการวิเคราะห์กันว่า “ซอมบี้” กำลังเป็นตัวละครที่ถูกนำมาขายในอนาคต ถัดจากคาแรคเตอร์ที่ตอนนี้กำลังกลับมาอินเทรนด์อีกครั้งอย่าง Femme Fatale 

กล่าวโดยย่นย่อ ความหมายของคำๆ นี้ก็คือ ตัวละครเพศหญิงที่สวย เซ็กซี่ มีเสน่ห์รุนแรง(ในการยั่วยวน)ทางเพศต่อผู้ชาย และมักจะเป็นตัวละครที่มีสีสันในหนังหลายตระกูลนับจากอดีตเป็นต้นมา 

ส่วนเมื่อใช้เรือนร่างหรืออะไรที่อยู่ในร่างกายจัดการผู้ชายแล้ว เธอจะถูกจับหรือลอยนวลไปจากกฎหมายนั้น ไม่ใช่สาระสำคัญในโลกภาพยนตร์

หากนึกไม่ออก ให้ลองคิดถึง ชารอน สโตน ใน Basic Instinct หรือถ้าใกล้ตัวอีกนิด ก็คือ เรยา ในละครทีวียอดฮิตอย่าง “มงกุฎดอกส้ม” 

 
ชารอน สโตน ใน Basic Instinct 
-------------------------


และหลังจากนิตยสาร Asia News ลงข่าวว่า แม็คกี้ คิว นักแสดงสาวเอเชียสามารถแจ้งเกิดในฮอลลีวู้ดได้ด้วยบทมากมายของ femme fatale นั้น ตอนนี้หนังหลายเรื่องก็พยายามจะคิดพล็อตที่มีหญิงร้าย เซ็กซี่ เป็นคาแรคเตอร์หลัก นี่ยังไม่นับการกลับมาทำใหม่ของ Cruel Intentions วรรณกรรมคลาสสิคจากฝรั่งเศส ที่โดดเด่นด้วยตัวละครแบบนี้ 


ทำไมหญิงร้าย มีเสน่ห์ยั่วยวนทางเพศถึงกลายมาฮิตอีกครั้ง ? 

“ถ้าโดยพื้นฐานของคน ตัวละครแบบนี้ เอื้อให้คนดูชอบง่ายอยู่แล้ว” ศิริชัย เอื้อทรัพย์ อดีตศึกษาคณะวารสารศาสตร์ จากรั้วเหลืองแดง ทำงานเป็นผู้กำกับสารคดีให้กับช่อง True ซึ่งเดินออกมาจากการดูหนัง Colombiana ที่ตัวเอกใช้แนวทางของ femme fatale บอกกับ “จุดประกาย” 


“ผมว่า หนังมันก็ต้องการคนดูแบบนี้มาเป็นสีสัน เขาอาจจะเบื่อหน่ายกับพวกซูเปอร์ฮีโร่ ที่ต้องไปหลบเปลี่ยนเสื้อผ้าเพื่อช่วยคน หรือถ้าผู้ใหญ่วัยทำงาน หลายๆ คนก็อาจจะไม่ชอบสายแฟนตาซีพวกพ่อมดหรือแดรกคูล่านะ เพราะว่ามันไกลตัว พ้นวัยไป การหันมาพิจารณาเพศตรงข้ามที่มีเสน่ห์ดึงดูดทางเพศ มันสนุกกว่า” 


ศิริชัย บอกว่า เขาเรียนภาพยนตร์มา จึงคุ้นเคยแบบเบ้าของคาแรคเตอร์แบบนี้ และเอาเข้าจริงๆ เธอเหล่านี้เป็นตัวละครที่คลาสสิค 


“ผมว่าหนังยุคใหม่ที่ให้ความสำคัญกับพวกหญิงร้ายหรือ femma fatale นั้น ส่วนหนึ่งได้รับอิทธิพลมาจากความสำเร็จของบท เอลซ่า (ริต้า เฮย์เวิร์ธ) ใน The Lady from Shanghai, ลานา สมิท (ลาน่า เทอร์เนอร์) ใน The Postman always rings twice ในยุค 40’s มาจนถึงตัวที่เราอาจจะบอกได้ว่า ประสบความสำเร็จมากในการเป็นหญิงร้ายยุคใหม่ นั่นคือบทของ แคทเธอรีน แทรมเมล (ชารอน สโตน) ใน Basic Instinct ต้นยุค 90’s” 

 
ริต้า เฮย์เวิร์ธ ใน The Lady from Shanghai 
------------------------------------

“ใครว่าสังคมไทยไม่ชอบ ผมขอเถียงว่าลึกๆ ว่า เรามีแง่มุมของ เรยา ในมงกุฎดอกส้มอยู่มากบ้างน้อยบ้างนะ เพราะผมก็เชื่อว่า ไม่ว่า เรยา จะถูกใครก่นด่าแค่ไหน ถ้าให้เลือกมีโอกาสเป็นสักครั้ง บางคนก็อาจจะหยิบฉวยไว้ก็ได้” ศิริชัย ทิ้งคำพูดพร้อมคำถามท้าทาย 


นิมิต ลักษมีพงศ์ ดีเจชื่อดังนักดูหนังของ 102.5 ทั้งยังเป็นผู้บรรยายในการถ่ายทอดสดรางวัล “ออสการ์” เป็นอีกคนหนึ่งที่ดูหนังเข้มข้นตลอดเวลา ก่อนเข้าไปดู colombiana ที่มีตัวเอกเป็นเพศหญิงในแนวทางเดียวกับ นิกิต้า เขาให้สัมภาษณ์ว่า femme fatale มีทั้งมีเสน่ห์และขาดเสน่ห์ 


“ถ้าพูดถึงความยั่วยวน ความเซ็กซี่เพียงอย่างเดียว สำหรับผมตัวละครแบบนี้จะไม่มีเสน่ห์ แต่ถ้าสวย เซ็กซี่ แถมยังมีสมอง คือคิดอะไรเป็น และสามารถที่จะเอาสิ่งนี้ของตัวเองไปทำอะไรบางอย่างได้ ผมว่าคาแรคเตอร์แบบนี้จะน่ากลัวกว่า และขณะเดียวกันก็มีอะไรมากกว่าการแค่ยั่วยวนเพศตรงข้าม” 


นิมิตคิดว่า สำหรับ femme fatale ที่มีเสน่ห์ มีมิติที่ลึกไปกว่าการใช้เซ็กส์ในการจัดการ จะต้องมี "สมอง" เพราะจะทำให้หนังมีอะไรขึ้นมาทันที ยกตัวอย่าง อเล็กซ์ ฟอร์เรสต์ ที่แสดงโดย เกลน โคลส ในภาพยนตร์เรื่อง Fatal attraction (1987) 


"บทของ เกลน โคลส ทั้งสนุกทั้งเขย่าขวัญ เป็นอะไรที่ thriller มาก บางครั้ง ผมดูแล้ว ผมไม่รู้ว่า เกลน โคลส คิดอะไรกับ ไมเคิล ดักลาส ไอ้ตรงนี้แหละสนุก เพราะความที่เราไม่รู้ว่า เธอคิดอะไร พอเราไม่รู้มันก็สนุก และลองเทียบกับผู้หญิงที่เราไม่รู้ว่าเธอคิดอะไรนอกจากเซ็กส์ มันเป็น femme fatale ที่ไม่สนุก มันไร้คุณค่า” 

 
เกลน โคลส จาก Dangerous Liaisons 
----------------------------------------


หญิงร้าย (ไม่)ชายก็รัก 


บางอย่างแม้ไร้คุณค่า แต่คนดูละครทีวีหรือภาพยนตร์ กลับเชื่อว่า มันจะยังมีชีวิตอยู่ ด้วยถูกจริตกับสังคมไทย แง่มุมนี้ แสดงว่า เราจะได้เห็นหญิงร้ายไปอีกนานหรือ ? 


”ทำไมยังมีชีวิตในหนังอยู่ ?” มโนธรรม เทียมเทียบรัตน์ นักวิจารณ์หนังอิสระ ทวนคำถาม ก่อนครุ่นคิด 


“ผมว่ามันเกิดจากความหวาดกลัวทางสังคม เกิดจากความรู้สึกไม่มั่นคงทางวัฒนธรรม ของผู้คนที่ครอบงำโดยเพศชายมาเป็นเวลามาช้านาน และมาถึงตอนนี้ เสรีภาพของสองเพศมันมีความเท่าเทียมกันแล้ว พอเป็นแบบนั้น อะไรที่เคยเหลื่อมล้ำระหว่างชายหญิง มันก็เกิดการผันแปรขึ้น หรือพูดง่ายๆ ก็คือ การมีอยู่ของ femme fatale ในมุมหนึ่งนั้น ก็คือการท้าทายอำนาจของฝ่ายชาย โดยเรื่องเพศของฝ่ายหญิงในมุมหนึ่ง 


ยกตัวอย่างถ้าจะเอาเรื่องการเมืองในสังคมไทยมาเปรียบเทียบเพื่อให้เห็นภาพนั้น เราจะเห็นว่าสังคมไทยกำลังได้รับผลกระทบระยะนี้ก็เพราะเราได้มีนายกรัฐมนตรีเป็นผู้หญิงคนแรกกันแล้ว จากตรงนี้ เราจะเห็นว่าในเวลาชั่วข้ามคืน พอเรามีผู้นำเป็นเพศหญิงคนแรก มันก็มีอิมแพคจากส่วนต่างๆ ว่าด้วยเรื่องเพศหญิงกับเพศชาย ก็เพราะว่าผู้นำเป็นเพศหญิง และจะไปท้าทายอำนาจฝ่ายค้านที่เป็นเพศชาย ไม่ว่าใครก็ตาม” 


เขาบอกว่า ผู้นำของประเทศคนปัจจุบัน มีครบทุกอย่างของ femme fatale เว้นแต่เรื่องทางเพศ 


“เพราะ femme fatale นั้น ความหมายจริงๆ ของมัน ไม่จำเป็นต้องมีเรื่องเซ็กส์เสมอไปนะ แต่ที่คนจดจำเพราะว่าหนังมากมายหลายเรื่อง ไปตีกรอบ ไปสร้างแบบให้คิดไปเองว่า ตัวละครแบบนี้จะต้องมีเซ็กส์ ทั้งที่จริงๆ นั้น ความสวยเป็นสิ่งที่จำเป็นก่อนสำหรับตัวละครแบบนี้” 


มโนธรรมคิดว่า femme fatale ในหนังกับในสังคมไทย หรือจะใช้คำว่าในโลกของความเป็นจริง น่าจะตัดสินได้ยากขึ้น 


"แต่ก่อนขาวเป็นขาว ดำเป็นดำ แต่ตอนนี้บริบทของสังคมเปลี่ยนไป ผู้หญิงแบบนี้ จะมีลักษณะของ “สีเทา” ซึ่งจะต่างไปจาก femma fatale ในโลกภาพยนตร์ยุคก่อน ที่จะมีความร้ายชัดมาก (เน้นเสียง)” 

 
The Postman always rings twice 
-----------------------------------



ด้าน นพมาส แววหงส์ อาจารย์ประจำคณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และคอลัมน์นิสต์ในมติชนสุดสัปดาห์ เห็นว่า ตัวละครพวกหญิงร้าย แบบ femme fatale มีอยู่หลายคน 


แต่หญิงร้ายในดวงใจของเขาคือ Marquise Isabelle de Merteuil ที่รับบทโดย เกลน โคลส จากหนังเรื่อง Dangerous Liaisons (1988) ซึ่งถูกนำไปทำเป็นภาพยนตร์เรื่อง Cruel Intentions ในภายหลัง และถูกทำให้กลายเป็นตัวร้ายมากขึ้นไปอีก 


“ในหนัง Cruel Intentions ปี 1999 ตัวละครที่รับบทร้ายแบบเดียวกับ เกลน โคลส ก็จะเล่นบทนี้ด้วยการเป็นหญิงร้าย และเธอร้ายแบบสะใจตัวเอง โดยไม่มีอะไรมาทำร้ายเธอเลยนะ และเธอรู้ด้วยว่าตัวเองร้าย แต่หลีกเลี่ยงไม่ได้ เพราะอยากจะร้าย ซึ่งถือว่าเลวร้ายมากเลยนะ เพราะเธอไม่ได้ร้ายแบบมีอะไรมากระทบตัวเอง แต่เธอร้ายเพราะเห็นคนอื่นดีไม่ได้ เห็นคนอื่นดีแล้ว หมั่นไส้ 


ที่มันสนุกก็คือ มันไม่มีผลประโยชน์อะไรในแบบ femme fatale ยุคก่อน ไม่ได้แย่งผู้ชาย ไม่ได้มีผลประโยชน์ตรงนั้น แต่เพราะยัยนี่ดี ฉันจะต้องแกล้งมัน ต้องทำให้มันย่อยยับพินาศไป หนังเรื่องนี้เป็นวรรณกรรมมาก่อน และตัวละครแบบนี้มันฮิตขนาดทำมากี่ภาคแล้วกับ Cruel Intentions เพราะมันคือเรื่องเดียวกันกับ Dangerous Liaisons นี่เอง” 


นพมาส บอกว่าตัวละครแบบนี้ มีความสะดุดตามาก 


“เพราะว่าเวลามันร้าย มันถึงใจคนดู และคนดูก็ชอบ อย่างบ้านเราก็เคยมีข่าวว่า เวลาคนเล่นบทพวกนี้ไปเดินตลาดแล้ว แม่ค้าไม่ขายของให้ จัดเป็นตัวละครที่มีสีสัน และแน่นอนว่า femme fatale จะดำรงอยู่ต่อไป แต่ส่วนตัวไม่ได้เอาใจช่วยตัวละครประเภทนี้ เพียงแต่เรามองว่า มันร้าย ร้ายจนทนอยู่ไม่ได้ เป็นตัวละครที่น่าเกลียดมาก (ลากเสียง) ก็คิดดูสิว่า มันไม่มีอะไร แค่เบื่อจนไม่รู้จะทำอะไรอีกในชีวิตประจำวัน เลยต้องหันมาร้าย เป็นคาแรคเตอร์ที่จับได้ในหนังแบบนี้” 


 
สาวน้อยโลลิต้า 
-----------------


ดีเจที่ดูชอบหนังแปลกๆ อย่าง นิมิต เสริมว่า ในอนาคต ตัวละครแบบนี้จะไม่ตายจากไปไหน 


“มันมีมาทุกยุคทุกสมัย ล่าสุดผมดูหนังเรื่อง trust มันก็มีตัวละครแบบนี้ มันอาจจะไม่ใช่ femme fatale โดยสมบูรณ์แบบ แต่เราก็จะเห็นตัวละครแบบนี้ทุกยุค ยังไงเขาก็มาอยู่ในสังคมทุกสังคมของเรา แม้แต่ละครทีวีตบตีกัน เราก็จะเห็นอยู่ตลอดเวลา 


บางคนอาจจะคิดว่าคาแรคเตอร์แบบหญิงร้ายยั่วสวาทนั้น เป็นคนที่โง่ แต่จริงๆ แล้ว ถ้าผมเป็นนักแสดงผู้หญิง ผมจะรับเล่นบทแบบนี้ เพราะถ้าเขียนบทออกมาดีๆ ไม่ทำให้มันตื้นเขิน ผมว่า femme fatale คือตัวละครที่มีความลึกซึ้งมาก และมีเสน่ห์ด้วย” 


ขณะที่บางคน ตั้งคำถามว่า femma fatale ของเอเชียกับตะวันตก อาจต่างกันตรงที่ การไม่จำเป็นต้องมีเซ็กส์กับเหยื่อ ! 


“แน่นอน ไม่จำเป็น เพราะเธออาจะแค่ยั่ว“ มโนธรรม ขยายความบทของ femme fatale 


ความหมายของ femme fatale ในมุมมองของมโนธรรม คือ ผู้หญิงสวย เรือนร่างดี มีเสน่ห์ยั่วยวนทางเพศ และไม่จำเป็นต้องหลอกล่อผู้ชายมาฆาตกรรมเพื่อตัวเอง 


"ผมว่าเธอไม่ได้ต้องการขนาดนั้น เพราะถ้า femme fatale หรือบทหญิงร้ายที่มีเสน่ห์ทางเพศ จะต้องบังคับให้ผู้ชายมาทำร้ายกันนั้น ตัวละครอย่างวันทองหรือมโนราห์ ก็ต้องจัดอยู่ในหมวดนี้ด้วย" 


มโนธรรม เสริมต่อว่า คนดูหรือสังคมทั่วไป มักจะเห็นตัวละครแบบนี้อยู่ในหนังตระกูล(genre) ที่เรียกว่า ฟิล์มนัวร์ (filmnoir) ซึ่งมักสะท้อนให้เห็นแต่ภาพหญิงร้ายชายเลว 


"ผมว่ามันดีแล้ว เพราะถ้าหญิงร้ายอย่างเดียวและชายไม่เลว ก็จะมีคนที่ลุกขึ้นมาแอนตี้ว่า ทำไมผู้หญิงเลวและผู้ชายดี ฉะนั้น มันจึงเหมาะสมกัน สมดุลกัน ส่วนการดำรงอยู่ของ femme fatale นั้น มันน่าจะสนใจว่าเธอแข็งแรงขึ้นนะ เพราะว่าท่ามกลางการดำรงอยู่มาช้านานของความเป็น sexuality ของเพศชาย มาถึงตอนนี้ มันได้เกิดการเปลี่ยนแปลงแล้ว เพราะตัวละครแบบนี้” 


จึงนำมาสู่ข้อสงสัยถัดไปว่า การมีอยู่ของตัวละครแบบนี้ในสังคมนั้น มีการเอาใจช่วยอยู่อย่างอ้อมๆ จากผู้หญิงในลักษณะของฮีโร่หรือไอดอลไหม เช่น เรยา ใน “มงกุฎดอกส้ม” 


“สำหรับผม ผมคิดว่ามีและใช่ เพราะไม่ว่าจะเป็นผู้หญิงหรือผู้ชาย เราล้วนต้องการไอดอล ต้องการแบบอย่าง แม้แต่ผู้ชายเอง ก็ยังชื่นชมคนอย่าง อินเดียน่า โจนส์ ต้องการฮีโร่ของตัวเอง แต่ในโลกของผู้หญิง เธอไม่ได้ต้องการไอดอล ที่ดูเป็นแฟนตาซีขนาดนั้น จริงๆ พวกเธอต้องการแบบอย่างที่จับต้องได้ สัมผัสได้ถึงความเป็นมนุษย์ ไม่ใช่ยอดมนุษย์ เราจึงเห็นแบบหนึ่งของผู้หญิง ไปโผล่อยู่หน้าจอ อย่างเช่น Sex and the City แต่นี่ไม่ใช่ femme fatale โดยทิศทางนะ แต่เธอก็เป็นที่ยอมรับของมวลชนได้” 


และขณะที่ “จุดประกาย” ฉบับนี้กำลังอยู่ในมือผู้อ่าน ค่ายหนังบางแห่งกำลังจะทำ femme fatale ในแพคเกจจิ้งใหม่ โดยให้ตัวเอกเป็น "เลสเบี้ยน" ซึ่งครั้งหนึ่งเคยทำไปแล้วกับหนังเรื่อง Bound 

ส่วนจะร้อนใส่ชายจริง หรือหญิงแท้แค่ไหน 
ต้องติดตาม อย่างใจเย็น 



โดย: นันทขว้าง สิรสุนทร 
ที่มา: bangkokbiznews.com / 2 กันยายน 2554

Views: 1034

Reply to This

© 2009-2024   PORTFOLIOS*NET by CreativeMOVE.   Powered by

Badges  |  Report an Issue  |  Terms of Service