Emil Nolde จิตรกรที่ฮิตเลอร์เกลียด


Emil Nolde เป็นจิตรกรชาวเยอรมัน ผลงานของเขาถูกจัดอยู่ในประเภท expressionism คือเป็นผลงานที่ใช้สีอย่างมีชีวิตชีวา แสดงออกถึงอารมณ์แท้จริงของผู้วาดโดยไม่คำนึงถึงสัดส่วนหรือความเป็นจริงของสิ่งที่วาดมากนัก Emil Nolde เป็นจิตรกรที่มีชื่อเสียงคนหนึ่งของศตวรรษที่ 20 เขาวาดทั้งสีน้ำและสีน้ำมัน ลักษณะเด่นของภาพวาดของเขาคือใช้สีที่ชัดเจน คมเข้ม ชอบใช้สีแดงเข้มและเหลืองทองเป็นพิเศษ 



Emil Nolde หรือในชื่อเดิมคือ Emil Hanson เกิดเมื่อวันที่ 7 สิงหาคม ค.ศ.1867 ในฟาร์มชนบทแห่งหนึ่งใกล้กับหมู่บ้านเล็กๆชื่อ Nolde ในประเทศ Denmark เขาเติบโตมาในฟาร์ม เป็นลูกชาวนาขนานแท้ มีพี่น้อง 4 คน Emil Nolde ชอบวาดภาพมาตั้งแต่เด็ก ในช่วงระหว่างปี ค.ศ.1884-1888 เขาไปฝึกหัดเป็นช่างไม้ในโรงงานผลิตเครื่องเรือนและในขณะเดียวกันก็วาดภาพไปด้วย 


ต่อมาในปี ค.ศ.1888 Emil Nolde มีโอกาสได้เดินทางไปยังเมืองMunich เพื่อชมงานศิลปะ นับเป็นการเปิดหูเปิดตาครั้งแรกของเขากับโลกศิลปะและเป็นแรงบันดาลใจให้ Emil Nolde เข้าโรงเรียนศิลปะที่เมือง Karlsruhe ประเทศเยอรมนีในปี ค.ศ.1889 โดยในตอนกลางวัน Emil Nolde ทำงานในโรงงานผลิตเฟอร์นิเจอร์ พอตอนเย็นก็ไปเรียนศิลปะ 


อย่างไรก็ดี ในปี ค.ศ.1891เมื่อ Emil Nolde เห็นประกาศรับสมัครครูสอนวาดภาพที่โรงเรียนสำหรับเด็กแห่งหนึ่งใน Switzerland เขาก็สนใจไปสมัครและในที่สุดก็ได้ทำงานเป็นครูสอนวาดภาพอยู่ที่นั่นในช่วงระหว่างปี ค.ศ.1892-1898 จากนั้นจึงขอลาออกเพื่อไปเรียนศิลปะขั้นสูงและเพื่อเป็นศิลปินอิสระ 



ในปี ค.ศ.1898 Emil Nolde ซึ่งขณะนั้นมีอายุได้ 31 ปีต้องการเข้าเรียนศิลปะแต่ก็ถูก Munich Academy of Fine Arts ปฏิเสธเนื่องจากมีอายุมากเกินไป เขาจึงหันไปเรียนวาดภาพเพิ่มเติมกับครูพิเศษตัวต่อตัว ต่อมาในปี ค.ศ. 1899 Emil Nolde เดินทางไปอยู่ที่กรุง Paris เป็นเวลา 9 เดือนเพื่อเที่ยวชมภาพวาดตามพิพิธภัณฑ์ต่างๆ ในช่วงเวลาดังกล่าว ภาพวาดแบบ impressionism กำลังเป็นที่นิยมอย่างมาก 



Emil Nolde ย้ายไปอยู่ที่เมือง Copenhagen ประเทศ Denmark ในปี ค.ศ.1900 เขามีโอกาสพบกับ AdaVilstrup นักแสดงชาติเดียวกับเขา ต่อมาในปี ค.ศ.1902 ทั้งคู่ก็ได้แต่งงานกัน Emil Nolde เปลี่ยนนามสกุลใหม่โดยใช้สถานที่เกิดคือเมือง Nolde มาเป็นนามสกุล 


หลังแต่งงาน Emil Nolde กับภรรยาก็ได้ย้ายไปอยู่ที่กรุง Berlin ยึดอาชีพศิลปิน เขาวาดภาพจำนวนมากและก็ได้รับความสนใจจากผู้คนจำนวนมากเนื่องจากภาพวาดของเขามีสีสันสดใสแตกต่างจากภาพวาดของศิลปินอื่นๆในขณะนั้น ในช่วงปี ค.ศ.1906-1907 Emil Nolde มีโอกาสเข้าร่วมกลุ่มกับศิลปินเยอรมันหลายกลุ่ม นอกจากนี้แล้ว Emil Nolde ยังมีโอกาสได้แสดงภาพวาดของเขาร่วมกับ Kadinsky ในปี ค.ศ.1912 อีกด้วย 



หลังสงครามโลกครั้งที่ 1 ในปี ค.ศ.1920 Emil Nolde ออกมาแสดงตัวให้การสนับสนุนการดำเนินงานของพรรคNazi อย่างออกนอกหน้า เขาไม่ชอบศิลปินยิว เขาพยายามแสดงให้เห็นว่า expressionism เป็นศิลปะของเยอรมันแต่ไม่ว่าจะอย่างไรก็ตาม Hitler ก็ไม่ชอบงานของเขาและเรียกผลงานของ Emil Nolde ว่า degenerate art ไม่นานผลงานจำนวน 1052 ชิ้นของ Emil Nolde ก็ได้ถูกยกออกไปจากพิพิธภัณฑ์ มากกว่าผลงานของศิลปินคนอื่นๆ เนื่องจาก Hitler เห็นว่าภาพวาดของเขาน่าเกลียดและไม่มีความเป็น "อารยัน" เอาเสียเลย นอกจากนี้ Emil Nolde ก็ยังถูกสั่งห้ามวาดภาพไปจนถึงปี ค.ศ.1941 อีกด้วย 



ในปี ค.ศ.1928 Emil Nolde กับภรรยาซึ่งสุขภาพไม่แข็งแรง ได้ตัดสินใจย้ายภูมิลำเนาไปอยู่ที่เมือง Seebull ประเทศเยอรมนี ในช่วงระหว่างปี ค.ศ.1939-1945 แม้จะถูกสั่งห้ามวาดภาพ แต่ Emil Nolde ก็ได้แอบวาดภาพสีน้ำขนาดเล็กซ่อนเอาไว้เป็นจำนวนมาก เขาเรียกผลงานชุดนี้ว่า unpainted paintings ซึ่งมีจำนวนมากกว่า 1300 ชิ้น 



หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ภรรยาของ Emil Nolde ซึ่งมีสุขภาพไม่ดีมาเป็นเวลานานก็ได้เสียชีวิตลงในปี ค.ศ.1946 ในปี ค.ศ.1947 Emil Nolde ได้รับการยกย่องให้เป็นศิลปินผู้ยิ่งใหญ่ของเยอรมนีและมีการจัดแสดงผลงานเนื่องในโอกาสอายุครบ 80 ปีของเขาที่เมือง Kiel และ Lubeck 



Emil Nolde แต่งงานใหม่อีกครั้งหนึ่งเมื่อมีอายุได้ 81 ปีกับลูกสาวของเพื่อนซึ่งมีอายุเพียง 28 ปี ต่อมาในปี ค.ศ.1952 เขาได้รับเหรียญ German Order of Merit อันเป็นอิสสริยาภรณ์ชั้นสูงที่สุดที่สามารถให้แก่เอกชนได้ 




แม้จะมีอายุมาก แต่ Emil Nolde ก็ยังวาดภาพต่อไปเรื่อยๆ เขาวาดภาพด้วยสีน้ำมันภาพสุดท้ายในปี ค.ศ.1951 และสีน้ำภาพสุดท้ายในปี ค.ศ.1955 Emil Noldeเสียชีวิตในเดือนเมษายน ค.ศ.1956 เมื่ออายุได้ 88 ปีที่บ้านของเขาในเมือง Seebull ประเทศเยอรมนี 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

โดย: อายตนะ 
ที่มา: matichon.co.th / 18 กรกฎาคม 2554

Views: 639

Reply to This

© 2009-2024   PORTFOLIOS*NET by CreativeMOVE.   Powered by

Badges  |  Report an Issue  |  Terms of Service