Bodh Gaya พุทธคยา พุทธภูมิแห่งเอเซีย


สภาพพุทธคยาในปัจจุบัน พื้นที่อยู่ต่ำกว่าพื้นปกติ เหมือนตั้งอยู่ในหลุมขนาดใหญ่ เนื่องจากผ่านระยะเวลากว่า 2,000 ปี ดินและตะกอนจากแม่น้ำได้ทับถมจนพื้นที่บริเวณนี้สูงขึ้นกว่าในสมัยพุทธกาลหลายเมตร ถ้าคะเนด้วยสายตาต่ำราว 5 – 10 เมตร ทำให้ผู้ไปนมัสการพุทธสถานแห่งนี้ต้องเดินลงบันไดหลายสิบขั้น เพื่อถึงระดับฐานที่ตั้งพุทธสถานโบราณ 
-------------------------------- 


ในจำนวนมรดกโลกทางวัฒนธรรม 23 แห่งของอินเดีย วัดมหาโพธิ พุทธคยา (Bodh Gaya, Mahabodhi Temple) พุทธสังเวชนียสถาน 1 ใน 4 แห่งมีความสำคัญที่สุดของชาวพุทธแสวงบุญทั่วโลก เนื่องจากเป็นที่ตั้งของสถานที่ตรัสรู้ขององค์สัมมาสัมพุทธเจ้า 

พุทธคยา อยู่ในอำเภอคยา รัฐพิหาร ตั้งอยู่ด้านตะวันตกของแม่น้ำเนรัญชรา (ห่างจากฝั่งแม่น้ำราว 350 เมตร จากข้อมูลเอกสารแจกกล่าวถึงที่นี่ในอดีตตำบลที่ตั้งพุทธคยามีชื่อว่า อุรุเวลาเสนานิคม ต่อมาเพี้ยนเป็น อุเรล) แลเห็นองค์เจดีย์สี่เหลี่ยมสูงใหญ่โดดเด่นได้ไกลเมื่อข้ามสะพานเนรัญชราเป็นช่วงที่แม่น้ำสายนี้แห้งขอด (16 ม.ค.2554) เมื่อเข้าพุทธสังเวชนียสถานแห่งนี้ก็คร่าคร่ำไปด้วยผู้แสวงบุญนานาชาติ นักท่องเที่ยว ส่วนคนอินเดียนั้นขายของหลากหลายและจำนวนหนึ่งขอทานบุญอันเป็นปกติของวิถีสังคมชั้นวรรณะอินเดีย 

ความสูงขององค์เจดีย์ใหญ่ 51 เมตร ฐานวัดโดยรอบ 121.29 เมตร ล้อมรอบด้วยโบราณวัตถุ โบราณสถานสำคัญ เช่น ต้นพระศรีมหาโพธิ์ พระแท่นวัชรอาสน์ (ที่ประทับตรัสรู้) และอนิมิสสเจดีย์ เป็นต้น ปัจจุบันบริเวณพุทธศาสนสถานอยู่ในความดูแลของคณะกรรมการบริหารร่วมระหว่างพุทธ– ฮินดู 

ร่องรอย พุทธคยาในสมัยพุทธกาล นักประวัติศาสตร์โบราณคดีกล่าวถึง อยู่ในดินแดนที่เรียกกันว่าชมพูทวีป ตั้งอยู่ในหมู่บ้านนิคมชื่อว่าอุรุเวลาในแคว้นมคธ และจากสภาพของพุทธคยาในอดีตกาลอาจจะพิจารณาได้จากพุทธพจน์ในพระไตรปิฏก ที่พระพุทธองค์ทรงตรัสกับโพธิราชกุมาร และเมื่อได้ตรัสรู้แล้วก็ได้ประทับอยู่ ณ พุทธคยา เพื่อเสวยวิมุตติสุข (ความสุขอันเกิดจากความหลุดพ้น) อยู่ 7 สัปดาห์ซึ่งก็เกิดเรื่องราวต่างๆ มากมาย ณ โพธิมณฑลแห่งนี้ (อ่านข้อมูลเพิ่มเติม พุทธคยา วิกิพีเดีย - สยามรฏฺฐเตปิฏกํ ปาลี.โพธิราชกุมารสุตฺตํ ราชวคฺค ม. ม. 13/448/491) อย่างไรก็ดีหลังจากการตรัสรู้และเสวยวิมุตติสุขแล้วไม่ปรากฏหลักฐานว่าพระพุทธองค์ได้เสด็จมา ณ ที่แห่งนี้แต่อย่างใด 

กระนั้นก็ตาม มีกล่าวถึงในอรรถกถา เมื่อคราวพระอานนท์ได้มาที่พุทธคยา เพื่อนำเมล็ดพันธ์ต้นพระศรีมหาโพธิ์ที่เจ้าชายสิทธัตถะตรัสรู้กลับไปปลูก ณ วัดพระเชตวัน เมืองสาวัตถี ตามความต้องการของอนาถบิณฑิกเศรษฐีซึ่งปรารถนาให้มีสิ่งเตือนใจเมื่อพระพุทธเจ้าเสด็จไปประทับที่อื่น ต่อมาต้นโพธิ์ต้นที่อยู่ ณ วัดพระเชตวันจึงได้ชื่อว่าอานันทโพธิ์ และยังคงยืนต้นมาจนถึงปัจจุบัน 

พุทธคยาหลังพุทธปรินิพพาน ตามเอกสารแจกและข้อมูลวิกิพีเดียกล่าวถึงบริเวณกลุ่มพุทธสถานพุทธคยา อันเป็นอนุสรณียสถานระลึกถึงการตรัสรู้ของพระพุทธองค์นั้น เริ่มสร้างขึ้นตั้งแต่สมัยพระเจ้าอโศกมหาราช และสร้างต่อเติมเรื่อยมาโดยกษัตริย์ผู้นับถือพุทธในอินเดีย จนกระทั่งเมื่อกองทัพมุสลิมบุกเข้ามาโจมตีอินเดีย พุทธคยาจึงถูกปล่อยให้รกร้างไม่มีผู้คอยเฝ้าดูแล 

สำหรับต้นพระศรีมหาโพธิ์ตรัสรู้ ต้นแรกเป็นสหชาติกับพระพุทธเจ้า (เกิดในวันเดียวกับวันที่เจ้าชายสิทธัตถะประสูติ) มีอายุมาได้ 352 ปี จนถึงสมัยพระเจ้าอโศกฯ จึงถูกทำลายโดยพระชายาของพระเจ้าอโศกฯ เพราะความอิจฉาที่พระเจ้าอโศกฯ รักและหวงแหนต้นพระศรีมหาโพธิ์ต้นนี้จนไม่สนใจพระนาง 

ต้นพระศรีมหาโพธิ์ต้นที่สอง ปลูกโดยพระเจ้าอโศกฯ จากหน่อพระศรีมหาโพธิ์ต้นเดิม และมีอายุยืนมาราว 871-891 ปี จนถูกทำลายในประมาณปี พ.ศ. 1143 – 1163 ด้วยน้ำมือของกษัตริย์ฮินดูแห่งเบงกอล นามว่า ศศางกา เหตุทรงอิจฉาพระพุทธศาสนาที่มีความรุ่งเรืองมาก จึงแอบนำกองทัพเข้ามาทำลายต้นโพธิ์ต้นนี้ 

ต้นพระศรีมหาโพธิ์ต้นที่สาม ปลูกโดยพระเจ้าปูรณวรมา กษัตริย์องค์สุดท้ายแห่งราชวงศ์เมารยะ และต้นที่สามนี้มีอายุยืนมากว่า 1,258 – 1,278 ปี จึงล้มลงในสมัยที่อินเดียเป็นอาณานิคมของอังกฤษ 

และต้นพระศรีมหาโพธิ์ต้นที่สี่ ที่ยังคงยืนต้นแตกใบกิ่งก้านสาขามาจนถึงปัจจุบัน ปลูกโดยนายพลเซอร์ อเล็กซานเดอร์ คันนิ่งแฮม เมื่อ พ.ศ. 2423 

สำหรับความเป็นไปของ องค์พระมหาโพธิเจดีย์ พระเจ้าหุวิชกะ (Huvishka) มีพระราชศรัทธาสร้างมหาเจดีย์ถวายเป็นพุทธบูชา ในปี พ.ศ. 694 เพื่อเป็นสถานที่สักการะสำหรับพุทธบริษัท โดยได้สร้างเป็นพระเจดีย์รูปทรงสี่เหลี่ยมทรงรีสวยงามติดกับพระแท่นวัชรอาสน์ทางทิศตะวันออก มี 2 ชั้น โดยชั้นล่างเป็นสถานที่กราบนมัสการและชั้นบนเป็นห้องเจริญภาวนา 

ลักษณะของพระมหาโพธิเจดีย์ มีเอกลักษณ์เฉพาะและตั้งตระหง่านเป็นสัญลักษณ์ของมหาโพธิมณฑลมากว่า 2,000 ปี ในบางช่วงพระราชาแห่งแคว้นต่างๆ ได้เข้ามาทำนุบำรุงอยู่เสมอ และได้รับการบูชารักษาจากชาวพุทธมาตลอด แต่มาขาดตอนไปเมื่อช่วง 1,000 กว่าปีที่ผ่านมา เนื่องจากแผ่นดินอินเดียแถบนี้ถูกคุกคามจากสงครามและการเสื่อมถอยของพระพุทธศาสนา พุทธคยาจึงถูกปล่อยทิ้งร้างและถูกชาวฮินดูเข้าครอบครอง (โคเสนฆมัณฑิคีร์ พ.ศ. 2133) รวมทั้งแปลงมหาโพธิเจดีย์เป็นเทวสถาน (ที่มาข้อมูลเดียวกัน) 



สภาพอันเสื่อมโทรมของพุทธคยา อาจพิจารณาได้จากบทความของท่านเซอร์ เอดวินด์ อาโนลด์ (Sir Edwin Arnold) ผู้เรียบเรียงหนังสือพุทธประวัติภาษาอังกฤษที่มีชื่อเสียงโด่งดัง และกล่าวกันว่า เป็นพุทธประวัติฉบับภาษาอังกฤษที่มีความไพเราะ และน่าเลื่อมใสมาก คือ ประทีปแห่งเอเชีย (The Light of Asia ตีพิมพ์ครั้งแรกในลอนดอน กรกฎาฯ พ.ศ. 2422 ในรูปแบบของโคลงประพันธ์ ปัจจุบันถูกแปลหลายภาษา และเป็นหนังสือที่เป็นที่กล่าวถึงมากในตะวันตก) เมื่อได้เดินทางไปที่พุทธคยา ได้พบกับความน่าเศร้าสลดใจหลายประการ ท่านเซอร์ได้เขียนบทความ “ตะวันตกและวันออก โอกาสแจ่มจรัส โอกาสแห่งความรุ่งโรจน์” (EAST and West ; A Splendid Opportunit) หาอ่านได้ใน “พุทธคยา” วิกิพีเดีย 

ในปี พ.ศ. 2417 พระเจ้ามินดง กษัตริย์แห่งพม่าได้ส่งคณะทูตมายังอินเดียเพื่อขอบูรณปฏิสังขรณ์พระวิหารและจัดการบางประการเพื่อดูแลรักษาพุทธสถานแห่งนี้ เมื่อได้รับความยินยอมจากพวกมหันต์และรัฐบาล อินเดีย จึงได้เริ่มทำการบูรณะ ทางรัฐบาลอินเดียได้ส่งนายพล เซอร์ อเล็กซานเดอร์ คันนิ่งแฮม กับ ด.ร.ราเชนทรลาละ มิตระ เข้าเป็นผู้ดูแลกำกับการบูรณะ หลังจากนั้นคณะผู้แทนจากพม่าจำเป็นต้องเดินทางกลับ ทางรัฐบาลอินเดียจึงรับงานบูรณะ ทั้งหมดมาทำแทนและเสร็จสมบูรณ์ ในปี พ.ศ. 2427 

จนในปี พ.ศ. 2500 รัฐบาลอินเดียโดยการนำของ ฯพณฯ เยาวหรลาล เนรูห์ นายกรัฐมนตรี ได้เฉลิมฉลองพุทธชยันตี (วิสาขบูชา) โดยเชิญชวนประเทศที่นับถือพระพุทธศาสนาทั่วโลกมาสร้างวัดไว้ในดินแดนต้นพุทธอุบัติภูมิ ซึ่งประเทศไทยโดยจอมพล แปลก พิบูลสงคราม ได้ตอบรับและดำเนินการสร้างวัดไทยเป็นชาติแรกปี พ.ศ. 2500 และประเทศชาวพุทธอื่นๆ ญี่ปุ่น พม่า เกาหลี จีน ศรีลังกา ธิเบต ฯลฯ ได้ดำเนินการสร้างวัดต่อมาตามลำดับ และรัฐบาลอินเดียได้มีส่วนสำคัญในการบูรณะพุทธคยาอย่างต่อเนื่องจนมีสภาพดังที่เห็นในปัจจุบัน 



สภาพพุทธคยาในปัจจุบัน พื้นที่อยู่ต่ำกว่าพื้นปกติ เหมือนตั้งอยู่ในหลุมขนาดใหญ่ เนื่องจากผ่านระยะเวลากว่า 2,000 ปี ดินและตะกอนจากแม่น้ำได้ทับถมจนพื้นที่บริเวณนี้สูงขึ้นกว่าในสมัยพุทธกาลหลายเมตร ถ้าคะเนด้วยสายตาต่ำราว 5 – 10 เมตร ทำให้ผู้ไปนมัสการพุทธสถานแห่งนี้ต้องเดินลงบันไดหลายสิบขั้น เพื่อถึงระดับฐานที่ตั้งพุทธสถานโบราณ 

ถาวรวัตถุที่สำคัญๆ ที่ชาวพุทธนิยมไปสักการะคือ พระมหาโพธิเจดีย์ ภายในประดิษฐานพระพุทธเมตตา (พระพุทธรูปที่รอดจากการถูกทำลายจากพระเจ้าศศางกา) พระแท่นวัชรอาสน์ (จำลองขึ้นทับพระแท่นเดิม) ประดิษฐานอยู่ภายใต้ต้นพระศรีมหาโพธิ์ เป็นหลักฐานยืนยันว่าพระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ตรัสรู้ ณ จุดนี้ 

พุทธคยา ได้รับการขึ้นทะเบียนมรดกโลกทางวัฒนธรรมของยูเนสโก ในปีพ.ศ. 2545 จากชาวพุทธทั่วโลกได้ร่วมเสนอผ่านตัวแทนองค์กรดูแลพุทธคยา เพื่อเสนอต่อศูนย์มรดกโลกเข้าที่ประชุมคณะกรรมการมรดกโลกจึงได้พิจารณาให้พุทธคยาเป็นมรดกโลก ด้วยผ่านข้อกำหนดและหลักเกณฑ์ในการพิจารณาคุณค่าถึง 5 ข้อ 1 ในนั้นคือ 

เป็นสิ่งที่ยืนยันถึงหลักฐานของวัฒนธรรมหรืออารยธรรมที่ปรากฏให้เห็นอยู่ในปัจจุบัน




ที่มา: เนติ โชติช่วงนิธิ 
โดย: สยามรัฐ / 02 กุมภาพันธ์ 2554

 

Views: 57

Reply to This

© 2009-2024   PORTFOLIOS*NET by CreativeMOVE.   Powered by

Badges  |  Report an Issue  |  Terms of Service