สฤณี อาชวานันทกุล ตัวแทนบล็อกเกอร์ไทยในเวที Blogger Tour 2011

ในโลกที่อินเทอร์เน็ตเฟื่องฟูจนถึงขีดสุด สิ่งที่น่าสนใจก็คือ คนส่วนหนึ่งในโลกของเรามีพื้นที่การเขียนที่เปลี่ยนไป บัดนี้ ปากกากับกระดาษถูกลดความสำคัญลง เพราะการพิมพ์ข้อความลงไปหน้าจอคอมพิวเตอร� ทั้งสะดวกและรวดเร็วในการสื่อสารกับพลเมืองเน็ตทั่วโลก

ใครถนัดการสื่อสารในรูปแบบไหน ก็พิมพ์สารที่ต้องการ จะสื่อลงไปในเวทีนั้น ใครชอบเฟซบุ๊ก ทวิตเตอร์ อีเมล์ เมสเซนเจอร์ และอีกมากมาย ก็จัดหนักกันไปตามใจชอบ

การเขียนบันทึกในรูปแบบบล็อก (Blog) หรือเว็บล็อก (Weblog) ก็เป็นอีกทางเลือกหนึ่งในการสื่อสารในโลก ไร้พรมแดนแห่งนี้

ความสำคัญของคนเขียนบล็อก หรือที่เรียกกันว่า บล็อกเกอร์ สำคัญในระดับที่ว่า รัฐบาลเยอรมนีสนใจการทำงานของบล็อกเกอร์ในทั่วโลก จนจัดให้มีโครงการ "Blogger Tour 2011" เพื่อเชิญเหล่าบล็อกเกอร์มาร่วมสนทนากันที่เยอรมนีในช่วงเดือนเมษายนที่ผ่าน มา

ทางฝั่งเมืองไทย รัฐบาลเยอรมนีได้เชิญ สฤณี อาชวานันทกุล เข้ามาร่วมเวทีนี้ด้วย

บทบาทของสฤณี นอกจากจะเป็นบล็อกเกอร์ที่เขียนในเรื่องที่น่าสนใจอันหลากหลาย เธอยังเป็นทั้งนักเขียนอิสระ นักวิชาการอิสระ อาจารย์พิเศษ และบรรณาธิการเว็บไซต์โอเพ่น ออนไลน์

ต้องยอมรับว่า เธอมีพลังล้นเหลือในการเขียนจริง ๆ งานของเธอมีทั้งงานแปลไปจนถึงงานบทความ หนังสือผลงานล่าสุดก็อย่างเช่น พลังกลุ่มไร้สังกัด ผู้หญิงกลิ้งโลก และการเงินปฏิวัติ

สฤณีเล่าถึงที่มาที่ไปในการได้รับเชิญไปโครงการ "Blogger Tour 2011" ว่า

"ได้รับการติดต่อจากมูลนิธิไฮน์ริค เบิลล์ เขาให้ทุนกับเครือข่ายพลเมืองเน็ตปีล่าสุด เขาเห็นเราเขียนบล็อกเกี่ยวกับการเมืองอย�างสม่ำเสมอมา 5-6 ป แล�วมีคนติดตามอ�าน อยู�เรื่อย ๆ จึงติดต่อมาว่า สนใจจะไปงานบล็อกเกอร์ทัวร์กับรัฐบาลเยอรมนีไหม ? ตอนแรกก็คิดง่าย ๆ ว่า น่าสนใจ ไม่เคยไปเยอรมนีมาก่อน เสร็จแล้ว เขาเลยจัดการเสนอชื่อไปทางรัฐบาลเยอรมนี แล้วเราได้เห็นโปรแกรม ก็รู้สึกสนใจ เพราะไม่เคยเห็นโปรแกรมแบบนี้ งานนี้ เขาจะพาไปคุยกับสื่อสาธารณะ คุยกับบล็อกเกอร์ที่ทำกิจกรรมในเยอรมนี...

...ในงานมีบล็อกเกอร์มาร่วม 14 คน จาก 13 ประเทศ เพราะมีตัวแทนจากประเทศอินโดนีเซียอยู่ 2 คน เกณฑ์ของการเลือกคนเข้าร่วม เราเดาว่า มาจากประเทศกำลังพัฒนาที่อินเทอร์เน็ตมีบทบาทสูงมาก โดยเฉพาะการเคลื่อนไหวภาคประชาชน เพราะประเทศที่พัฒนาแล้ว แม้จะใช้อินเทอร์เน็ตมากเหมือนกัน แต่ก็มีกลไกอื่นที่ใช้ได้ผลมากกว่า ส่วนใหญ่ประเทศที่ได้รับเลือกจะเป็นประเทศตะวันออกกลาง ยุโรปตะวันออก และอดีตสหภาพโซเวียตซึ่งมันมีความไร้เสถียรภาพมาเยอะเลย อย่างเช่น อาเซอร์ไบจาน คาซัคสถาน เป็นต้น"

สฤณีเล่าว่า ในโครงการนี้มีประเด็นที่น่าสนใจเต็มไปหมด หนึ่งในนั้นคือ

"มีหลายประเด็นที่น่าสนใจ ข้อดีของเวทีแบบนี้คือ พวกเราอยู่ในอินเทอร์เน็ตกันหมด แล้วจะเห็นว่า มาจาก 13 ประเทศที่แตกต่างกัน แต่ก็มีจุดร่วมกันสูงมาก จุดหนึ่งก็คือ ความเชื่อที่ว่า บล็อกเกอร์มีส่วนที่จะสร้างการเปลี่ยนแปลงได้ สามารถที่จะสื่อสารกับประชาชนด้วยกันเองและแลกเปลี่ยนข้อมูลกัน และคอยตรวจสอบรัฐบาล ในแง่นี้เหมือนกับสื่อ แต่ว่าเราเป็นอิสระ แน่นอนว่าไม่มีผลประโยชน์ทางธุรกิจ ถ้ามี คนคนนั้นจะหมดความน่าเชื่อถือ อีกประเด็นที่น่าสนใจคือ พอมีบทบาทได้แล้ว คุณภาพจะเกิดจากอะไร ก็ถกเถียงกัน มีความคิดเห็นหลากหลายมาก...

...อย่างเช่น สังเกตว่าในเยอรมนี ภาพของความเป็นบล็อกเกอร์จะมีลักษณะเฉพาะ ยกตัวอย่างเช่น บล็อกของ ดร.โรบิน เมเยอร์-ลุกต์ ที่เขาทำบล็อกการเมืองชั้นนำของเยอรมนีชื่อว่า CARTA เขาเชี่ยวชาญทางด้านอินเทอร์เน็ตและรัฐศาสตร์ด้วย แม้ว่าการสื่อสารจะเป็นรูปแบบบล็อก แต่บล็อกของแกเป็นสื่อออนไลน์แล้ว ทีมที่ร่วมงานด้วยล้วนแล้วแต่เป็นมืออาชีพ ทั้ง ผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมาย ด้านอินเทอร์เน็ต เลยเกิดการถกเถียงว่า บล็อกเกอร์ในเยอรมนีคือใคร ? เพราะพวกเรารู้สึกว่า บล็อกเกอร์คือใครก็ได้ เขียนเรื่องหมาแมวก็ได้ แต่ที่เยอรมนีรู้สึกว่า เขาจะให้เกียรติบล็อกเกอร์เหมือนเป็นนักข่าวอิสระ"

มองย้อนกลับมาที่บล็อกเกอร์สัญชาติไทยกันบ้าง...

"ที่บ้านเรา ข้อจำกัดของบล็อกเกอร์ก็คือ สังคมในบ้านเราแตกแยก เป็นกลุ่มใครกลุ่มมันอย่างชัดเจน จึงเป็นเรื่องยากมากที่จะเขียนเรื่องเกี่ยวกับการเมือง ประเด็นสาธารณะที่ต้องพาดพิงการเมืองอยู่ดี ในทางที่ไม่ทำให้ถูกมองว่าคุณเป็นพวกของใคร เรามีประเด็นที่พูดไม่ได้ และมีความคลุมเครือว่า อะไรพูดได้บ้าง อะไรพูดไม่ได้บ้าง คล้ายกับอินโดนีเซีย เรื่องที่เกี่ยวกับศาสนาค่อนข้างจะซีเรียสมาก...

...แต่ที่น่าสนใจก็คือ ในเมืองไทยเริ่มมีบล็อกเกอร์ที่เขียนเรื่องใดเรื่องหนึ่งโดยเฉพาะ หรือบางคนสามารถหารายได้จากการเขียนบล็อกได้ อย่างเช่น คนที่เขียนบล็อกรีวิวอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์"

ส่วนเรื่อง ทิศทางของบล็อก เมื่อเทียบกับสื่ออื่นอย่างเฟซบุ๊ก ทวิตเตอร์ สฤณีบอกว่า

"คือตอนนี้ไม่มีความแตกต่างกันแล้ว เห็นด้วยกับ ดร.โรบินตรงที่บอกว่า บล็อกไม่ใช่สิ่งที่อยู่โดด ๆ อีกแล้ว หมายความว่า เมื่อก่อนไม่มีโซเชียลมีเดีย เขียนบล็อกก็จบ แต่ตอนนี้ คนส่วนใหญ่มีเฟซบุ๊ก มีทวิตเตอร์ด้วย เพราะฉะนั้นก็มีคำใหม่ ๆ อย่างคำว่า ไมโครบล็อกกิ้ง (Microbloging) ก็เป็นเซนส์ของการเขียนสั้น ๆ ผ่านทวิตเตอร์จึงเกิดขึ้น และก็มีหลายคนไปเขียนบล็อกในหน้าเฟซบุ๊ก เพราะว่าตรงกลุ่มเป้าหมาย หมายถึงว่า ถ้าคนในเฟซบุ๊กคุยกับเพื่อนของเขาที่สนใจคล้ายกัน เพื่อน ๆ ก็เห็น กดไลก์ได้ หรือเข้ามาคอมเมนต์ก็ได้ ส่วนบล็อกมีความเป็นสาธารณะมากกว่า คือตอนนี้เราทุกคนอยู่ในโลกเดียวกันหมดแล้ว"

การที่มีบล็อกเกอร์ผุดขึ้นมามากมายในสังคมไทยและสังคมโลก เธอบอกว่า ไม่ได้มีผลให้คุณภาพบล็อกเกอร์ลดลง ด้วยเหตุผลง่าย ๆ คือ

"ถ้าบล็อกเกอร์ไม่มีความรับผิดชอบ ไม่โปร่งใส ทำอะไรเพื่อผลประโยชน์ เมื่อไหร่ที่มีคนรู้ ชื่อเสียงจะเสียทันที"



โดย: ณัฐกร เวียงอินทร์
ที่มา: prachachat.net / 07 พฤษภาคม 2554

Views: 45

Reply to This

© 2009-2024   PORTFOLIOS*NET by CreativeMOVE.   Powered by

Badges  |  Report an Issue  |  Terms of Service