ฉีกกฎศิลปะ: ฤกษ์ฤทธิ์ ตีระวานิช เสิร์ฟแกงมัสมั่น Art42 Basel ระดับโลก


 
นับเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ของวงการแกลเลอรี่ในบ้านเรา เมื่อ 100 ต้นสนแกลเลอรี่ ได้รับเชิญสู่เวทีศิลปะระดับนานาชาติ พร้อมกับศิลปินร่วมสมัยระดับสากล ฤกษ์ฤทธิ์ ตีระวานิช เข้าร่วมแสดงงาน Art Basel เก่าแก่และมีชื่อเสียงระดับโลก ที่นิทรรศการเพิ่งจบลงไปเมื่อกลางเดือนมิถุนายน 

เป็นความภาคภูมิใจของ 100 ต้นสนแกลเลอรี่ และประเทศไทย เป็นประเทศเดียวจากภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ในปีนี้ที่ได้รับเชิญเข้าร่วมกับอีก 300 แกลเลอรี่ชั้นนำจากอเมริกาเหนือ อเมริกาใต้ ยุโรป เอเชีย และแอฟริกา มีศิลปินกว่า 2,500 คนเข้าร่วมแสดงศิลปะ Art42 Basel เมืองบาเซล ประเทศสวิสเซอร์แลนด์ ซึ่งนิทรรศการเดี่ยวของ ฤกษ์ฤทธิ์ ตีระวานิช ใช้ชื่อ Untitled 2011 ( who's afraid of …), 2011 ภายใต้กรอบแนวคิดเชิงสังคมที่ว่าด้วยการอยู่ร่วมกัน บนความแตกต่างทางความคิดและความเชื่อ 

ฤกษ์ฤทธิ์ ตีระวานิช ศิลปินร่วมสมัยวัย 50 ปี (เกิด Buenos Aires พ.ศ. 2504) ใช้ชีวิตส่วนใหญ่ในต่างประเทศ เหมือนการเดินทางตลอดเวลา จึงทำให้เขามีความสามารถในการสร้างปฏิสัมพันธ์ระหว่างวัฒนธรรมได้อย่างดีเยี่ยมทั้งไทย เอธิโอเปีย และแคนาดา เขาจบการศึกษาทางด้านศิลปะที่ Chicago และ New York ปัจจุบันเขาใช้ชีวิตส่วนใหญ่อยู่ในกรุง Berlin, New York และมีบ้านอยู่ที่จังหวัดเชียงใหม่ 

ฤกษ์ฤทธิ์ ศิลปินร่วมสมัยผู้มีชื่อเสียงระดับโลก เป็นหนึ่งในแกนนำคนสำคัญของศิลปะแขนงใหม่ที่เรียกว่า “สุนทรียศาสตร์เกี่ยวเนื่อง” (Relational Aesthetics) ตามทฤษฎีทางศิลปะของ Nicholas Bourriaud ที่เพิ่งได้บัญญัติไว้เมื่อเจ็ดกว่าปีที่ผ่านมา (คือ ศิลปินทำงานในลักษณะมาตั้งแต่แรกเริ่มช่วงยุค 1990’s แต่เพิ่งจะมีนิยามหรือคำจำกัดความตามทฤษฎีศิลปะ โดยนักวิจารณ์ศิลปะชาวฝรั่งเศส Nicholas Bourriaud ) 

ผลงานของฤกษ์ฤทธิ์ ที่กลายมาเป็นลายเซ็น (หรือฉลาก) ประจำตัวของเขา ก็คืองานการทำอาหารในพิพิธภัณฑ์ หอศิลป์ และภาพวาดลายเส้นทางการชุมนุม โดยลักษณะเด่นของผลงานฤกษ์ฤทธิ์คือ เป็นนิทรรศการเชิงความคิด ที่สร้างขึ้นมาสำหรับช่วงระยะเวลาหนึ่ง และมีการสร้างปฏิสัมพันธ์ระหว่างคนดู 

"ปฏิบัติการผัดไทย" หนึ่งในรูปแบบการจัดแสดงอุปกรณ์ในการทำอาหารในห้องนิทรรศการแสดงเดี่ยวของเขาที่นิวยอร์ค ในปี 2533 ซึ่งทำให้ชาวต่างชาติเกิดความรู้สึกพิศวง (exotic) และยกย่องในความประหลาดอัศจรรย์นั้น และทำให้ชื่อของเขา โกอินเตอร์ ในโลกศิลปะรวมสมัย 

ผัดไทยนี้ จึงเป็นการปฏิวัติวงการศิลปะร่วมสมัย และการฉีกกฎโลกศิลปะสากล ที่เชื่อมโยงไปยัง ความเป็นการเมืองในงานของฤกษ์ฤทธิ์ก็คือ การเปิดพื้นที่ของพิพิธภัณฑ์และหอศิลป์ให้ถูกนิยาม/จัดวางใหม่ การทำอาหารในพิพิธภัณฑ์และหอศิลป์จึงเกิดภาวะการเมือง ปฏิบัติการที่ไม่มีใครคิดว่าจะเกิดขึ้นในสถานที่ที่มีกฎระเบียบมากมาย รวมไปถึงกรอบทางสุนทรียศาสตร์ที่กำหนดข้อควรทำและข้อห้ามในหอศิลปะพิพิธภัณฑ์ 

งานที่เป็นเชิงแนวคิดของเขา จึงถือเป็นการขบถ ในแง่ของของการฉีกกฎความเป็นธรรมเนียม และวิถีปฏิบัติในพื้นที่ของพิพิธภัณฑ์และหอศิลป์ และขณะเดียวกันก็เป็นการฉีกกรอบแนวคิดทางสุนทรียศาสตร์แบบเดิมๆ ที่ปล่อยให้ผู้ชมงานศิลปะเลือกเสพสุนทรียะ ได้จากการเป็นผู้ดูและชมเท่านั้นหรือ 

ขณะที่ภาพวาดลายเส้นการชุมนุม (demonstration drawing) ที่ศิลปินได้แสดงงานแบบนี้ใน ลอสแอลเจลิสเมื่อปี 2545 และโดยส่วนตัวศิลปินมีความสนใจในประเด็นของความเป็นกลุ่ม (collective) คือการที่คนจำนวนหนึ่งมารวมตัวกัน เพื่อสร้างพลัง หรือ ส่งเสียงต่ออะไรบางอย่าง ศิลปินเริ่มทำงานและเริ่มสะสมภาพวาดเส้นเหล่านั้นเป็นเวลาสิบกว่าปี 

การแสดงผลงาน Untitled 2011, (Who’s Afraid of…), 2011 งาน Art42Basel เป็นการนำงานสองลายเซ็นประจำตัวของเขาไปนำเสนอ 



ในบริบทแรกคือ การทำอาหาร แกงมัสมั่น ซึ่งเชื่อกันว่ามีต้นกำเนิดจากแถบเปอร์เซีย ฤกษ์ฤทธิ์ปรุงอาหารและเชื้อเชิญผู้มาดูงานศิลปะร่วมทานแกงมัสมั่นของเขา ก็เพื่อหนึ่งในการสร้างสุนทรียศาสตร์ของการรับรู้ความงามของศิลปะ ศิลปินพยายามสร้างให้เกิดการรับรู้ในทุกผัสสะของมนุษย์ โดยผ่านประสบการณ์ สัมผัส, กิน, ดื่ม, ได้กลิ่น และการแวะเข้ามาชมและอยู่ในแวดล้อมในชิ้นงานศิลปะ จึงทำให้เปลี่ยนสถานะของผู้ชมจากการเป็นเพียงผู้ชม มาเป็นผู้แสดง ร่วมเสพอาหาร/ศิลปะ 

ขณะที่ ภาพวาดลายเส้น การชุมนุม (demonstration drawing) เป็นบริบทของการประท้วงใน อียิปต์ไปจนถึงลิเบีย ผู้ดูชมสามารถมีส่วนร่วมในการวาดภาพบนผนังได้ ที่เรียกว่า “Relational Art” คืองานศิลปะของเขาเป็นเรื่องที่เกี่ยวกับความสัมพันธ์ระหว่าง “ศิลปะ” และ “คนที่มาดูงานศิลปะ” ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นตัวงานที่ร่วมจัดแสดงอยู่ด้วยกันที่เรียก “สุนทรียศาสตร์เกี่ยวเนื่อง” หรือ “Relational Art“ ไม่ได้เน้นความสำคัญของตัวศิลปิน 

ซึ่งก็คือการมีอยู่ของศิลปิน แต่ไม่ได้ให้ความเป็นจุดสนใจหรือเป็นเป้า แต่ช่วงเวลา หรือ Moment ที่ทุกสิ่งทุกอย่างเกี่ยวข้องสัมพันธ์กันและกำลังดำเนินไปเป็นสิ่งที่สำคัญ การปฏิสัมพันธ์กัน การเสพรสชาติอาหารที่กินอยู่ เพราะอาหารก็คือการใช้ชีวิตในทุกๆ วัน คือความเป็นชีวิตประจำวัน การแสดงศิลปะการจัดวาง การทำอาหาร เป็นการเชิญชวนให้เห็นถึงคนเราอยู่ร่วมกัน ทำอะไรร่วมกัน ความเป็นไปในประจำวัน 

และการเชื้อเชิญให้ผู้ชมได้มีส่วนร่วมในการวาดภาพลายเส้นบนผนัง ซึ่งงานวาดภาพลายเส้นการชุมนุมนั้นมันเกิดขึ้นบนกระดาษ แต่ทว่างานนี้ได้ถูกนำเสนอให้วาดบนผนังกำแพงของห้องศิลปะ ซึ่งเป็นที่ศิลปินได้เคยแสดงงานในลักษณะครั้งแรกไว้ที่ 100 ต้นสนแกลเลอรี่ เมื่อสิงหาคมปี 2553 และนำมาสู่การนำเสนอโปรเจ็คท์ในลักษณะเดียวกันนี้ในงานแสดงศิลปะที่ใหญ่ที่สุดในโลกอย่าง Art42Basel และคณะกรรมการก็พิจารณารับผลงานนิทรรศการนี้ ไปแสดงในเซ็กชั่น Art Feature เป็น เว็กชั่น 1 ใน 5 ส่วนสำคัญของงาน

Art feature เป็นส่วนที่เป็นงานนำเสนอผลงานโดยผ่านการคัดสรรจากแกลเลอรี่ ซึ่งคณะกรรมการไม่เพียงแต่พิจารณาแค่ชื่อศิลปิน หรือ ความน่าสนใจของผลงานที่คัดสรรไป แต่ ยังต้องพิจารณาถึงประวัติของแกลเลอรี่นั้นๆ ด้วยเช่นกัน 

ความน่าสนใจของการไปแสดงงานศิลปะของไทยในเวทีศิลปะร่วมสมัยของโลก จึงไม่ใช่เพียงแค่ ศิลปะไทยไปถึงเวทีโลกแล้ว แต่ยังหมายถึง การที่ประเทศไทยมีระบบการจัดการศิลปะที่ทัดเทียมพอๆ กับหอศิลป์ในเวทีนานาชาติอีกด้วย 

พูดอย่างให้เข้าใจกันง่ายก็คือ ศิลปินไทยร่วมสมัยชื่อดังในเวทโลก และเป็นแกนนำคนสำคัญของศิลปะแขนงใหม่ที่เรียกว่า “สุนทรียศาสตร์เกี่ยวเนื่อง” (Relational Aesthetics) กับ โปรเจ็คท์งานที่เป็นงานเชิงความคิดและขบถต่อกฎปฏิบัติของธรรมเนียมสากล และ ชื่อของ 100 ต้นสนแกลเลอรี่ที่เคยได้รับการยกย่องให้ติดอันดับ 1 ใน 50 แกลเลอรี่เกิดใหม่ที่น่าจับตามองของโลก 

นั่นแหละ ที่เรียกว่าประเทศไทยมาถึงแล้วจริงๆ 

 

 

 

โดย: สุดาวดี วรรณกิจ
ภาพ: 100 Tonson Gallery and Prateep S. 
ที่มา: สยามรัฐ

Views: 1115

Reply to This

© 2009-2024   PORTFOLIOS*NET by CreativeMOVE.   Powered by

Badges  |  Report an Issue  |  Terms of Service