ทวนเข็มนาฬิกาไปตีตั๋วดูหนังวรรณกรรมคลาสสิกที่ติดโผ 100 หนังยอดเยี่ยมตลอดกาล เรื่องราวว่าด้วยความยุติธรรม ที่ใช้ "สีผิว" มาเป็นตัวพิพากษา 
คำพูดคลาสสิคจากหนังสือที่ว่า... 


“จะยิงนกอะไรก็ยิงไปเถิด แต่อย่าไปยิง Mockingbird เพราะมันเป็นนกที่ชอบร้องเพลง และพ้นจากนั้น ก็ไม่ได้สร้างความรำคาญอะไรให้กับใคร” นั้น ดูเหมือนจะฝังลึกในจิตใจของแฟนพันธุ์แท้ของวรรณกรรมและหนัง To Kill a Mockingbird 

โดยเฉพาะอย่างยิ่ง กับภาพยนตร์ซึ่งเดินทางไกลมาจนครบรอบ 50 ปี และเกิดกิจกรรมของแฟนๆ “นกม๊อคกิ้ง” ของ ฮาร์เปอร์ ลี จะมีการจัดงานครบรอบกันมาเรื่อยๆ ซึ่งถ้าไม่มีอะไรผิดพลาด ก็จะมีการจัดงานของนักวิจารณ์ในบ้านเราปลายปีนี้ 

แต่การจัดงานจะมีขึ้นที่ไหน อาจไม่มีความหมายอะไรซ่อนเร้นถ้าหากการพยายามจะกระพือปีกหนีของนกม็อคกิ้งอย่าง ทอม โรบินสัน ไม่จบลงด้วยการถูกยิงอย่างโหดเหี้ยม(จากข้างหลัง) 


หนังเรื่องนี้ทำมาจากวรรณกรรมคลาสสิค และออกฉายเมื่อ 50 ปีที่แล้ว โดยนำเสนอเรื่องราวเกี่ยวกับชายผิวสีต้อยต่ำคนหนึ่ง ชื่อ ทอม โรบินสัน ที่ถูกปรักปรำว่า เขาเข้าในบ้านของหญิงสาว(ที่ท่าทางวิปริต) และพยายามจะลวนลามเธอ 

หลายคนอาจเชื่อเช่นนั้นด้วยบริบทของสังคมที่คนผิวขาวเป็นผู้กุมอำนาจ แต่สำหรับทนายความอย่าง แอตติคัส ฟินส์ (เกรเกอรี่ เป็ค) เขารู้สึกว่ามันมีเรื่องผิดปรกติมากกว่านั้น และเมื่อ ทอม ให้การปฏิเสธอย่างสิ้นเชิง แอตติคัส ก็กระโดดเข้าไปในเกมนี้ ก่อนที่ทุกอย่างจะจบลงด้วยอำนาจมืด ทอม ถูกตัดสินว่าผิด ต้องโทษรุนแรง และเมื่อเขาคิดจะหนีระหว่างทาง เจ้าหน้าที่ก็จัดการสังหาร ทอม อย่างโหดเหี้ยม 

“หนังเรื่องนี้มันคลาสสิคมาก มีแฟนๆ ในบ้านเราเยอะนะ และมันมีแง่มุมเยอะแยะให้เรามอง” สกุล บุณยทัต อาจารย์จากคณะอักษรศาสตร์ ม.ศิลปากร และนักวิจารณ์วรรณกรรม-ภาพยนตร์ ที่ได้รับการยอมรับในบ้านเรา เปิดหัวถึง To Kill a Mockingbird 

“อย่างแรกคือ ไม่ว่าจะเป็นหนังสือหรือภาพยนตร์ สิ่งหนึ่งที่มันบอกกับเราก็คือ ภาวะซับซ้อนที่ซ่อนอยู่ในหัวใจมนุษย์ เรามักคิดหรือพูดกันว่า สิ่งที่มันน่ากลัวคือ อำนาจหรืออาวุธ แต่แท้จริงแล้ว สิ่งที่น่ากลัวที่สุดก็คือ หัวใจของคนเรานี่เอง หัวใจที่เต็มไปด้วยด้านมืด เพราะแค่ใครมีหัวใจแบบนี้ มันก็สามารถฆาตกรรมคนได้แล้ว” 


เจ้าของรางวัลนักวิจารณ์ยอดเยี่ยมกองทุนหม่อมหลวงบุญเหลือฯ ในอดีต อธิบายว่า กรณีของ ทอม ซึ่งเป็นคนผิวดำในสังคมชาวใต้ของอเมริกันที่อยู่ในยุคสมัยนั้น ก็คือ “เหยื่อ” อย่างหนึ่งจากหัวใจคนที่ทำร้ายกัน 

“ทอม นี่เป็น underdog ของจริง ไม่มีอะไรจะต่อสู้เลย เขาอยู่ท่ามกลางวงล้อมของมนุษย์ที่จะฆ่าจะแกงเขา แต่ในขณะที่ไม่มีใคร และไม่น่าจะมีใคร โลกก็ยังมีตัวละครอย่าง แอตติคัส ฟินส์ ทนายความผิวขาว ที่เลือกจะยืนหยัดว่าความ ปกป้องนกตัวเล็กๆ อย่าง ทอม” 

“หนังอย่าง To Kill a Mockingbird นั้น ดูแล้วกระทบใจคนรุ่นผมอย่างรุนแรง เหมือนที่ครั้งหนึ่งในเวลานั้น จะก่อนหน้าหรือคล้อยหลัง ผมได้ดูงานอย่าง The Mission หรือ Driving Miss Daisy รวมไปถึง Heart of Darkness ซึ่งหนังเหล่านี้ มันพาใจเราไปถึงแง่มุมที่มนุษย์ได้เข้าถึงข้างในกันด้วยภาษาของมนุษย์ แต่ขณะเดียวกัน ก็มีมนุษย์อีกจำพวกหนึ่ง ที่ใช้ภาษาของอำนาจ ภาษาของชนชั้น ที่สามารถทำร้ายกันได้” เขาบอกว่า ไม่รู้สึกแปลกใจที่เวลาผ่านไปครึ่งศตวรรษแล้ว To Kill a Mockingbird จะยังคงได้รับการยกย่องถึงอยู่ตลอดเวลา 


“การที่ to kill a mockingbird ได้รับการยอมรับมายาวนานถึง 50 ปีนั้น มันมีเหตุผลหลายๆ อย่างนะ” สุชาติ สวัสดิ์ศรี เจ้าของนามปากกา “สิงห์ สนามหลวง” ให้สัมภาษณ์กับ “จุดประกาย” 

“แต่อย่างหนึ่งที่ผมรู้สึกก็คือ นี่คืองานในยุคแรกๆ ในปลายทศวรรษที่ 50 ต่อต้นยุค 60ที่นักเขียนผิวขาว เขียนถึงชะตากรรมของคนผิวดำ และมันอยู่ในช่วงคาบเกี่ยว ก่อนที่จะถึงช่วงที่มีการเรียกร้องสิทธิของผิวสี ฉะนั้น เนื้อหาแบบนี้ในตอนนั้น มันกระทบใจคนหมู่มาก หรืออาจเรียกว่าโดนใจคนในสังคมจำนวนหนึ่งที่มีความห่วงใยในชีวิตของคน และในความถูกต้อง” 

เจ้าของฉายานาม “เอนไซโคลพีเดียวรรณกรรม” มือวางอันดับ 1 ของบ้านเรา อธิบายว่า บางคนอาจจะคิดว่าหนังแบบนี้ อาจจะแค่ชนะใจคนดูหรือนักอ่านที่เป็นผิวสี แต่จริงๆ แล้วไม่ใช่ 

“ในความเป็นจริง ยังมีคนผิวขาวที่เชื่อมั่นไปกับการกระทำของตัวละครอย่าง แอตติคัส ฟินส์ คือผมรู้สึกว่าเรื่องอย่าง To Kill a Mockingbird มันกระทบใจคนได้หมด ทั้งผิวขาวผิวดำ และในตอนนั้นที่หนังออกฉาย คนอเมริกันในยุค 50-60’s เขาก็ยังรู้สึกว่า มันมีอะไรร่วมกันได้ในเชิงอุดมการณ์ 

สิงห์ สนามหลวง อธิบายว่า แต่ไม่ใช่ ฮาร์เปอร์ ลี คนเดียว ที่อยู่ในกลุ่มนักเขียนที่เขียนหนังสือเกี่ยวกับเรื่องของผิวสี 

“ก่อนหน้าเขาก็ยังมีอีกหลายคน ที่เคยมีงานลักษณะนี้ วิลเลียม ฟอล์คเนอร์ ก็ใช่ หรือ แฟรงค์ โอคอนเนอร์ ก็เป็นส่วนหนึ่งด้วย นี่ยังไม่นับพวก southern writer ที่ส่วนหนึ่งมักเขียนงานในลักษณะนี้” 

คนที่ตามอ่านหนังสือหรือดูหนังเรื่องนี้มายาวนาน คงจะทราบว่า To Kill a Mockingbird เป็น case study ที่นักศึกษาวิชากฎหมายในอเมริกา จะต้องดูและอ่าน เพราะในทางสังคมนั้น ตัวละครอย่าง แอตติคัต ถูกยกให้เป็นแม่แบบในการผดุงความยุติธรรม 

“เราต้องเข้าใจก่อนว่า ทนายความหรือนักกฎหมายในอเมริกานี่ เป็นอาชีพที่มีสถานะทางสังคม” สิงห์ สนามหลวง บรรณาธิการของ “ช่อการะเกด” ที่เคยโด่งดัง บอกกับจุดประกาย 

“เพราะว่าเนื้อในของอาชีพนักกฎหมายในอเมริกานั้น มันเป็นภาพสะท้อนถึงการแสดงออกในการต่อสู้เพื่อความถูกต้อง เพื่อความยุติธรรม คนที่เข้ามาทำอาชีพนี้ จึงเหมือนตัวแทนของสังคมด้วย มีอารมณ์ความรู้สึกของการต้องทำอะไรบางอย่างในเชิงความยุติธรรมจากอาชีพตัวเอง 

สิ่งที่น่าเสียดายบ้างก็คือ ในภาคของวรรณกรรมนั้น ถ้าคนรุ่นใหม่ต้องการจะอ่านหนังสือแบบนี้ ตอนนี้เขาอาจจะไม่รู้ว่าไปซื้อที่ไหน มันไม่เหมือนสมัยก่อนที่พวกเราจะรู้ว่า ถ้าต้องหาหนังสือคลาสสิคเก่าๆ นั้น พยายามสักนิดหนึ่ง เดี๋ยวก็จะเจอ แต่ผมก็สนับสนุนนะ ให้มีการนำเอาวรรณกรรมคลาสสิคที่มีคุณค่ามาแปลเป็นไทยมากๆ เพราะจะมีประโยชน์ต่อคนอ่านในบ้านเรา" 

 
ฉากพิจารณาคดี ฉากสำคัญของภาพยนตร์ 
...................................... 

 
แอตติคัส ฟินส์ แสดงโดยเกรกเกอรี่ เป็ค 
------------------------------ 

 
ฮาร์เปอร์ ลี ผู้แต่ง 
-------------------------------



คนผิดที่บริสุทธิ์ 

มโนธรรม เทียมเทียบรัตน์ คณะกรรมการตัดสินภาพยนตร์ของ “คมชัดลึก อวอร์ดส์” เสริมว่า เขาเคยดู To Kill a Mockingbird เมื่อหลายปีก่อนที่สถาบันสอนภาษาเอ.ยู.เอ 


“ความคลาสสิคและยิ่งใหญ่ของหนังเรื่องนี้มีหลายอย่างนะ แต่มุมหนึ่งที่พอนึกก็จะโผล่มาอย่างแรกเลยก็คือ แม้แต่บทสมทบเล็กๆ ที่มีออกมาไม่กี่นาทีของ โรเบิร์ต ดูวัลล์ มันก็ยังถูกจดจำและได้รับการยกย่องในฐานะของนักแสดง ซึ่งหนังเรื่องนี้ มีความโดดเด่นทั้งตัวเอกและตัวรอง คือเล่นได้ดีหมด และผมอยากจะบอกว่า เมื่อมีการจัด 100 หนังยอดเยี่ยมครั้งใด หนังเรื่องนี้ติดโผเข้ามาตลอดเวลา ไม่ว่าจะมีหนังใหม่เป็นตัวเลือกเพิ่มขึ้นแค่ไหน แต่คนหนึ่งที่ชอบหนังเรื่องนี้มากก็คือ คุณ สุทธากร สันติธวัช” 


นักวิจารณ์รุ่นใหญ่ชื่อหลังสุด ที่ มโนธรรม อ้างถึงนั้น เคยพูดถึง To Kill a Mockingbird อย่างน่าสนใจและเข้มข้นว่า ท่ามกลางชะตากรรมของ ทอม นั้น สิ่งที่ แอตติคัส ฟินส์ ทำสำเร็จก็คือ เขาแสดงให้เห็นว่า ไม่ว่าคำตัดสินจะออกมาอย่างไร แต่ ทอม คือ “ผู้บริสุทธิ์” 

“เมื่อ To Kill a Mockingbird ออกฉายในช่วงปี 1961-62 คนผิวดำบางส่วนวิจารณ์ว่า บทของ ทอม นั้น ออกจะอ่อนแอ และยอมจำนนนเกินไป เพียงแต่ส่วนใหญ่ก็ยอมรับกันว่า ถึงกฏหมายคนผิวดำในภาคใต้ จะไม่ได้เป็นทาส สภาพทั่วๆ ไปในยุค 30 ก็ไม่ได้แตกต่างจากทาสในยุคก่อนสงครามการเมืองมากนัก” 

ขณะที่ สกุล บุณยทัต เสริมอีกมุมอย่างน่าสนใจว่า อันที่จริง ไม่ใช่แค่คนทำอาชีพทนายความที่ต้องดูเรื่องนี้เพื่อกระตุ้นบทบาทตัวเองในเชิงจิตสำนึก 

“ผมว่าอาชีพไหนๆ ก็ต้องดู จะครูหรือหมอ นักข่าวหรือสื่อมวลชนก็ควรจะดู และถ้าเราจะลงลึกไปอีก บางทีบทของพวกถือครองอำนาจในหนัง ที่พร้อมจะลงโทษตัดสินใครในหนังเรื่องนี้ ก็อาจเชื่อมโยงกันได้กับศาสนาในยุคกลาง ที่กุมอำนาจและสร้างสัญญะเอาไว้ จนมนุษย์พวกหนึ่ง ถูกกระทำไม่ต่างอะไรจากสัตว์ ในแง่นี้ ทอม โรบินสัน ก็คือสัตว์ตัวหนึ่งนั่นเอง” 

สิงห์ สนามหลวง กับ สกุล บุณยทัต เชื่อว่า เพราะการยืนหยัดที่จะปกป้องและต่อสู้ของ ทนายความอย่าง แอตติคัส ฟินส์ นี่เอง ทำให้หนัง To Kill a Mockingbird กระทบใจคนดูและนักอ่าน เพราะมันมีนัยถึงอุดมคติบางอย่าง 

“และผมก็เชื่อว่า ในโลกยุคนี้ ยังมีทนายความดีๆ แบบ แอตติคัส ที่อาจจะเป็นตัวแทนชุมชน หรือคนชั้นล่าง ที่พยายามจะต่อสู้กับความอยุติธรรมบางอย่างในสังคม คนอย่าง แอตติคัส ฟินส์ ยังมีอยู่นะ ผมเชื่ออย่างนั้น” 

To Kill a Mockingbird เป็นนวนิยายรางวัลพูลิตเซอร์แต่งโดย ฮาร์เปอร์ ลี ถูกทำเป็นภาพยนตร์ และกลายเป็นหนึ่งในนิยายอเมริกันสมัยใหม่ระดับคลาสสิก โดยเนื้อหามีพื้นฐานมาจากการสังเกตครอบครัวและเพื่อนบ้านของผู้เขียน และเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นใกล้ๆ เมืองเกิดใน พ.ศ. 2479 เมื่อเธออายุได้ 10 ปี 

หนังสือและภาพยนตร์เป็นที่รู้จักด้วยเนื้อหาที่เต็มไปด้วยความอบอุ่นและอารมณ์ขัน แม้ว่าเป็นเรื่องเกี่ยวกับปัญหาสังคมเช่นการข่มขืนและการแบ่งแยกสีผิว แอตติคัส ฟินช์ ตัวเอกซึ่งเป็นบิดาของผู้บรรยายในเรื่อง ได้กลายเป็น “ต้นแบบ” ของทนายความผู้ยึดมั่นในสิ่งที่ถูกต้อง และเป็น “ต้นแบบทางคุณธรรม” ของผู้อ่านมากมาย 

“ผู้ใหญ่บางคนบอกเด็กๆ ว่าอย่าไปยิงนกม็อคกิ้ง แต่เอาเข้าจริงๆ แล้ว ผู้ใหญ่ที่พูดแบบนั้น ก็ยิงมันเสียเอง ” สุทธากร เขียนไว้ในหนังสือประวัติศาสตร์หนังอเมริกันคลาสสิค 


 

 
บางตอนในหนัง 
-------------------



โดย: นันทขว้าง สิรสุนทร
ที่มา: bangkokbiznews.com / 19 สิงหาคม 2554

Views: 311

Reply to This

© 2009-2024   PORTFOLIOS*NET by CreativeMOVE.   Powered by

Badges  |  Report an Issue  |  Terms of Service