เปลือย 'นิวัติ กองเพียร' กรณี '๑oo นู้ดหญิงในแนวนอน'

 

เมื่อศิลปินหนุ่มรุ่นใหม่ เปลือย 'นิวัติ กองเพียร' กรณี '๑oo นู้ดหญิงในแนวนอน' 

ในโอกาสที่ 'เกจินู้ด' อย่าง 'นิวัติ กองเพียร' รวบรวมบทความของตัวเองเกี่ยวกับภาพเขียนนู้ด จากฝีมือของศิลปินทั้งระดับโลกและระดับชาติ จากหนังสือพิมพ์มติชนรายวัน กลายมาเป็นหนังสือ '๑๐๐ นู้ดผู้หญิงในแนวนอน' ย่อมบอกได้ดีถึงสถานภาพของการเป็นผู้รู้ลึกซึ้งในเรื่องนี้ 


และนี่คือบทสัมภาษณ์ที่กล่าวถึงที่มาที่ไปของ เกจิ ผู้ซึ่งไม่ได้เชี่ยวชาญเฉพาะเรื่องภาพถ่ายนู้ด ที่สร้างชื่อให้แก่ตัวเองเท่านั้น แต่หมายรวมถึง 'งานจิตรกรรม' ที่ถือว่าอยู่บนหอคอยของความเป็นศิลปะอันสูงส่ง ซึ่งได้รับการยอมรับมาอย่างช้านานอีกด้วย 


บทสัมภาษณ์ชิ้นนี้ ครึ่งแรก วุฒิกร คงคา ทำการสัมภาษณ์ผ่าน Facebook ของ นิวัติ กองเพียร ซึ่งถ้อยคำภาษาบางส่วนอาจจะเป็นคำที่ใช้ในการโพสต์บนหน้ากระดาน Facebook ส่วนครึ่งหลังผมสัมภาษณ์เพิ่มเติม เพื่อนำมาตีพิมพ์เฉพาะใน 'จุดประกายวรรณกรรม' ฉบับนี้ เพื่อให้ผู้อ่านใช้ดุลยพินิจเอาเองว่าระหว่าง 'ศิลปะ' กับ 'อนาจาร' ที่มักจะถกเถียงกันในสังคมไทยทุกปี จนกลายเป็นวาระแห่งชาติไปแล้วนั้น แท้จริงมันคืออะไรกันแน่? 

เชิญเปลือยและปลดเปลื้องทางความคิดกันได้ ณ บัดนี้ 



(1) 

@วุฒิกร คงคา>>>หลังจากหยุดเขียนวิจารณ์ภาพถ่ายนู้ดในมติชนสุดสัปดาห์ พี่ได้ทำอะไรบ้างและตอนนี้ทำอะไรอยู่ครับ 

นิวัติ กองเพียร<ตอนนี้มีความสุขกับการได้เลือกทำงานในสิ่งที่ตัวเองชอบ และเปลี่ยนการเขียนจากหน้ากระดาษเป็นหน้าจอ เรียกว่า e-magazine ซึ่งเป็นอีกรูปแบบหนึ่งชื่อ "สนุกนึกกับนิวัติ กองเพียร" เขียนอะไรก็ได้ที่อยากเขียน และมีคนอ่านเป็นแสนคนที่เข้ามาร่วมสนุกด้วย ทั้งคำถามและความเห็น นับเป็นการสื่อสารกับแฟนคนอ่านที่ติดตามงานเขียนของเราได้อย่างวิเศษ 

นอกจากนี้ยังไปเป็นบรรณาธิการ นิตยสารเพลงดนตรี วารสารเกี่ยวกับเรื่องดนตรีทุกชนิด ส่วนเรื่องทำหนังสือเพราะเป็นอาชีพที่ถนัดมาแต่อ้อนแต่ออก ทำหนังสืออยู่ไม่นาน ท่านคณบดีวิทยาลัยดุริยางคศิลป์ ดร.สุกรี เจริญสุข เชิญให้ไปสอนวิชาสุนทรียศาสตร์ นั่นก็ยิ่งทำให้ชีวิตมีความหมายมากขึ้น และสนุกมากขึ้น ในขณะเดียวกันงานเพื่อสังคมที่ตัวเองชอบก็ยังทำอยู่ แต่ก็เลือกนะครับ เช่น ยังเป็นผู้จัดการมูลนิธินกเงือกอยู่ เป็นที่ปรึกษาให้แก่องค์การมหาชน หอภาพยนตร์แห่งชาติ เป็นกรรมการลูกโลกสีเขียวของ ปตท.ก็เท่านี้กระมังครับ 

@วุฒิกร คงคา>>> งานหลายๆ อย่างดูจะห่างหายจากภาพนู้ดที่ชอบ ที่ใกล้ๆ ก็พอจะมีแต่ e-magazine สำหรับ "๑๐๐ นู้ดผู้หญิงในแนวนอน" ที่เป็นเหมือนการรวบรวมบทความจากมติชนรายวันเล่มนี้ มีความคิดอยากจะรวบรวมนานแล้วหรือครับ 


นิวัติ กองเพียร<เปล่าเลย ไม่เคยคิดจะรวบรวมเพราะกำลังสนุกอยู่กับคนอ่านอีแมกกาซีนของเรา สักพักเดียวเท่านั้น ผู้อ่านก็เข้ามาเรียกร้องกันมากมาย ขอให้รวบรวมงานเก่าๆ มาพิมพ์เป็นเล่ม ทนรบเร้าไม่ได้ ก็ต้องนั่งลงเตรียมต้นฉบับเตรียมรูป ซึ่งงานเก่าน่าจะมีประมาณห้า-หกเล่มได้ ที่ยังไม่ได้รวบรวม ที่เลือก "๑๐๐ นู้ดผู้หญิงในแนวนอน" ก่อน เพราะเอามาอ่านใหม่แล้ว มันน่าจะช่วยคนอ่านของเราให้รู้จักศิลปะที่เรียกว่า "นู้ด" ได้ 

@วุฒิกร คงคา>>>เท่าที่รู้มา ๑๐๐ นู้ดผู้หญิงในแนวนอน นี้คือภาพวาดนู้ดของศิลปินต่างๆ ที่พี่เขียนถึงใช่ไหมครับ แล้วทำไมพี่จึงคิดว่า ๑๐๐ นู้ด ที่รวบรวมเล่มนี้ เหมาะที่จะช่วยคนอ่านให้รู้จักศิลปะที่เรียกว่านู้ดได้ ในภาพถ่ายนู้ดที่พี่เขียนอยู่ประจำบอกความเป็นศิลปะไม่เพียงพอเหรอครับ 


นิวัติ กองเพียร <ที่ผมเขียนส่วนใหญ่ไม่ใช่เรื่องนู้ดครับ เป็นอีโรติกเสียมากกว่า เป็นความปรารถนาในทางกามารมณ์ที่เกิดขึ้นจากการได้เห็นรูปถ่ายของนางแบบ แต่ ๑๐๐ นู้ดผู้หญิงในแนวนอน เป็นงานจิตรกรรมที่เขียนนู้ดโดยตรงเป็นการเฉพาะ และผมเลือกศิลปินที่ยิ่งใหญ่ของโลกมา...ถึง 79 คน และศิลปินไทยที่ยิ่งใหญ่อีก 21 คน มี เด๋อ (ชื่อเล่นของผู้สัมภาษณ์) ด้วยคนหนึ่ง เขียนประวัติสั้น-สั้น และวิจารณ์รูปเขียนของทุกคนด้วยว่าสวยหรือสวยอย่างไร โดยเอาศิลปะเข้าไปจับอย่างเต็มที่ ไม่มีอารมณ์อื่น 

@วุฒิกร คงคา >>>>แสดงว่ามันมีเส้นแบ่งอยู่ใช่ไหมครับระหว่างอีโรติกจากภาพถ่ายกับความงามของรูปทรงที่สวยงามของผู้หญิงในรูปเขียน 


นิวัติ กองเพียร <แน่นอนเรื่องนี้แหละที่อยากทำความเข้าใจและขอความรู้จากเด๋อด้วยในฐานะครูศิลปะ เพราะเรามักเข้าใจว่า นู้ด อีโรติก หรืออื่นๆ เป็นอันเดียวกัน เราไม่แยกแยะ คือเราเห็นรูปอะไรที่นุ่งน้อยห่มน้อยหรือเปลือย เราเรียกว่า โป๊ หมดจึงอยากทำความรู้เรื่องนี้ให้ปรากฏ และต้องขอให้คนอื่นๆ ช่วยด้วย 

@วุฒิกร คงคา >>> เท่าที่ผมรู้นะครับ ภาพเขียนนู้ดในทางศิลปะนั้น จะเน้นความงามของเส้นโค้งเว้าในเชิงรูปทรง การโพสต์ท่าที่เน้นความงามของเรือนร่าง การใช้สีที่เน้นผิวพรรณซึ่งสวยงามอยู่ในบรรยากาศ เป็นความงามทาง Visual Element ล้วนๆ แต่ก็อาจจะมีประเด็นอยู่บ้าง เช่น ศิลปินเขียนใคร ต้องการสื่ออะไร ซึ่งไม่เกี่ยวกับกามารมณ์ และความงามลักษณะนี้ก็ปรากฏในภาพถ่ายที่มีเจตนาเดียวกันด้วย ส่วนอีโรติกนั้น เน้นไปในเรื่องของเพศมากกว่า หรือพี่ว่าไงครับ 


นิวัติ กองเพียร <ครับ เห็นด้วย และอยากให้คนทั่วไปเข้าใจเรื่องนี้ คือแยกกันออกอย่างที่สากลเขาแยกกัน เช่น นู้ด คืองานศิลปะ อีโรติก คืองานยั่วยุกามารมณ์ อีโรติกอาร์ต คือการยั่วยุกามารมณ์อย่างมีศิลปะ พอร์โน (porno) คือ ลามกอนาจาร ซึ่งเพียงแต่แยกเท่านี้ เรื่องเส้นแบ่งก็จะไม่มี คำถามก็จะมุ่งไปสิ่งที่อยากรู้ เราก็จะคุยกันได้สนุก เกิดปัญญา ไม่มีพวกมือถือสากปากถือศีล 

@วุฒิกร คงคา >>>แสดงว่าตอนนี้หลายครั้งสังคมบ้านเรายังแยกไม่ออก บางทีภาพที่จงใจจะขายเรื่องเพศมากๆ ก็อ้างศิลปะ หรือบางทีภาพที่เน้นความงดงามของรูปร่างกลับถูกมองว่าลามกใช่ไหมครับ 

นิวัติ กองเพียร<นี่คือปัญหาหนึ่งที่แก้ยาก และต้องใช้เวลา เพราะบ้านเราตอนนี้ใช้ผู้หญิงเป็นที่ตั้งทางกามารมณ์ และเอาเป็นวัตถุทางเพศ นำมาเป็นโฆษณาแล้ว มักจะอ้างว่าเป็นศิลปะ ทั้งที่เป็นภาพที่ยั่วยุกามารมณ์ทั้งสิ้น นิตยสารแม้เวลาถ่ายแฟชั่นก็ใช้อีโรติกมาเป็นเครื่องมือ ขายความสวยและความยั่วยวน เพราะความงาม แต่ความสามารถ มันขายไม่ได้ 

@วุฒิกร คงคา >>>ถ้าบ้านเรายังใช้ผู้หญิงเป็นเครื่องมือในทางการยั่วยุผ่านสื่อสารพัด คิดว่าใครมีส่วนทำให้เกิดขึ้น ระหว่างผู้ชายที่เฝ้ามองเพราะอยากดู หรือว่าผู้หญิงที่อยากดังก็เลยยอมถอดให้ผู้ชายดู 


นิวัติ กองเพียร <ผมว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องธรรมชาติของชายหญิงอยู่แล้ว สัญชาตญาณของผู้หญิงผู้ชายนั้น อยากอวดความเป็นตัวตนของตัวเองอยู่แล้ว ใครมีอะไรสวยมีอะไรงามก็ย่อมต้องเอามาอวด อวดเพื่อจะให้เกิดความกำหนัดยินดีในความงาม มันขึ้นอยู่กับว่าใครจะมีวิธีการอวดให้สวยงาม และน่าดูเพียงใด นั่นก็ย่อมขึ้นอยู่กับรสนิยมและพื้นฐานความรู้เรื่องความงาม และเข้าใจเรื่องที่เราเพิ่งคุยกันมา เช่น ใช้ศิลปะในการยั่วยุหรือเปล่า หรือไม่ใช้เลย หรือเพียงต้องการเสนอความงามแห่งเรือนกายที่มีเส้นสายและน้ำหนักที่งดงามเท่านั้น 

ทุกคนอยากดูอยากเห็นในสิ่งที่ปกปิดเสมอ ยิ่งอะไรที่เป็นความลับก็ยิ่งอยากรู้ สำหรับคำถามที่ว่าใครจะเป็นคนใช้ใครนั้น ผมว่าผู้ชายนั่นแหละที่ชอบดูและชอบใช้ผู้หญิงเป็นเพียงที่ตั้งแห่งกามารมณ์ เราลองมาดูรูปเขียนของศิลปินที่เขียนในหนังสือ ๑๐๐ นู้ดผู้หญิงในแนวนอนดูก็ได้สักรูป เป็นตัวอย่าง 

@วุฒิกร คงคา >>>ความลับที่ดึงดูดให้ค้นหา ความงามในความลี้ลับของความเป็นเพศหญิงมีจริงในภาพเขียนใช่ไหมครับ อยากให้พี่ลองยกตัวอย่างสักรูปหนึ่ง 


นิวัติ กองเพียร <ผมมีรูปมาอวดไว้สิบรูป (โพสต์ไว้ใน Facebook) เลือกรูปไหนก็ได้ มันมีแรงดึงดูดที่ต้องดูและสร้างแรงขับให้อย่างพิเศษ ที่แน่นอนมันสร้างความประทับใจให้กับเราในทันทีที่ดู มันทำให้เราเกิดจินตนาการ ไม่ว่าจะเป็นรูปของ โกย่า เวลา ซเควส โมดิเกลียนี่ หรือของ เฟื้อ หริพิทักษ์ ฯลฯ ความลี้ลับของเพศหญิงนั้นเป็นสิ่งที่น่าค้นหาเป็นที่สุด แถมยังเป็นเรื่องที่ต้องค้นหาไม่จบสิ้น ดูแล้วดูอีกดูสักกี่ร้อยหนก็ยังต้องค้นหาความลี้ลับ 

บางรูปมีความงามของเส้นโค้งของสะโพกที่เราไม่ได้เห็นจากของจริง บางครั้งก้นที่งดงามด้วยเนียนเนื้อ ก็ไม่อาจหาได้จากที่ไหน หน้าตาที่มีเรื่องราวซ่อนอยู่มากมาย ไหนจะในดวงตาสองข้าง หรือเรียวขางามที่เราเคยฝันถึง เมื่อมาพบเจอในจิตรกรรมของศิลปิน เราได้แต่ร้องอ๋อ และชื่นชมความงามนั้นด้วยความประทับใจ และมันมักจะมีอยู่ในรูปเขียนมากกว่ารูปคนจริงจากรูปถ่ายหรือในภาพยนตร์ 

@วุฒิกร คงคา >>>แล้วทำไมเรอนัวส์ถึงเห็นว่าสวยล่ะครับ ความงามทางสรีระมันมียุคของมันหรือเปล่า เช่น ยุคนี้ผู้หญิงต้องทำศัลยกรรม ทั้งจมูกเป็นสันกับหน้าอกตู้มๆ ถ้าเรอนัวร์มาเกิดยุคนี้ เขาจะเขียนผู้หญิงหน้าท้องเป็นลอนอยู่อีกไหม 


นิวัติ กองเพียร <ความสวยความงามนั้น มันเป็นยุคใครยุคมันแน่นอน เราไม่สามารถเห็นความงามในยุคของเรอนัวร์ได้ แต่เราเห็นความงามที่เรอนัวร์ถ่ายทอดออกมาได้ ทั้งความรู้สึก อารมณ์ สีสัน เส้นสาย การจัดองค์ประกอบ การวางท่าทางของนางแบบ 




(2) 

วุฒิกร คงคา >>> อยากให้พี่พูดถึงเกณฑ์การคัดเลือกรูปนู้ดทั้ง 100 รูปว่ามีวิธีคัดยังไงครับ เลือกตามความชอบหรือตามความหลากหลาย 


นิวัติ กองเพียร <ผมคัดจากความชอบส่วนใหญ่ และคิดถึงคนอ่านอีกส่วนหนึ่ง เช่น ผมชอบยุคอิมเพรสชั่นนิสท์ ซึ่งมี โมเนท์ เซซาน โกแกง โมดิเกลียนี่ ฯลฯ งานยุคนี้จึงมีมาก บางคนมากถึง 3 รูปก็มี ในขณะที่ยุคก่อนหน้านั้น เช่น คลาสสิก เรเนอซองส์ ก็เลือกมาเพียงอย่างละรูปเท่านั้น ผมคิดว่าผู้อ่านน่าจะเป็นเป้าหมายหลักมากกว่าที่จะตามใจผม แต่นิสัยไม่ดีของผมมันก็เอาชนะวิธีคิดอยู่ร่ำไป จึงตามใจตัวเองมาก 

@วุฒิกร คงคา >>>มีการผสมผสานในด้านเทคนิคการเขียนอย่างไรบ้าง ในการเขียนถึงสิ่งที่ตัวเองชื่นชอบ ซึ่งเป็นรสนิยมส่วนตัว กับการให้ความรู้กับคนอ่าน 


นิวัติ กองเพียร <เข้าทางเล็กน้อยที่จะโม้โอ้อวดตัวเอง เรื่องเทคนิคการเขียนนั้น ผมไม่เก่งเอาเลย เช่นว่าจะเริ่มต้นอย่างไร ลงท้ายแบบไหน รูปแบบจะเป็นอย่างไร ฯลฯ ไม่เป็นครับในทางเทคนิค แต่เขียนหนังสือแบบที่อยากเขียน เขียนเท่าที่รู้ เนื้อหานำ แล้วใช้ "สำนวน" มากกว่าเทคนิค สำนวนการเขียนของผมนั้นมาจากครูนักเขียนผู้ยิ่งใหญ่ชื่อ อุษณา เพลิงธรรม หรือชื่อจริงว่า ประมูล อุณหธูป ที่เขียนเรื่อง จันดารา อันเลื่องลืองดงามนั่นแหละ นอกนั้นผมก็ไปเอามาจากวรรณคดีไทยทั้งหลาย เพื่อนำคำสวยๆ งามๆ มาใช้ แต่พยายามเขียนสำนวนอย่างที่ อุษณา เพลิงธรรม เขียน เด็กรุ่นใหม่ก็คงไม่รู้จักกันแล้ว 

สำนวนผมมาจากท่านและวิธีก็มาจากท่าน คือ การบอกความในใจของเรากับผู้อ่านอย่างตรงไปตรงมา เราชอบใคร-ไม่ชอบใคร รูปไหนไม่-ชอบรูปไหนชอบ ก็เขียนไปตรงๆ ไม่ต้องอ้อมค้อมชักแม่น้ำมาทั้งห้าสาย สำนวนการเขียนของผมก็ไม่ได้ใหม่อะไร ที่ร้ายไปกว่านั้น ผมยังใช้อารมณ์ในการเขียนด้วย เพราะถ้าผมไม่มีอารมณ์ ไม่มีความรู้สึกต่อภาพถ่าย ภาพเขียนที่เห็น ผมก็คงเขียนออกมาไม่ได้ มันยั่วยุกามารมณ์ผมอย่างยิ่ง ก็ต้องเขียนออกไป หน้าอกหน้าใจเธองามปานนั้น ผมไม่รู้สึกอยากจะสัมผัสลูบโลม ก็กระไรอยู่นะ ก็เขียนออกไปตามที่รู้สึก 

@ วุฒิกร คงคา >>>การที่ภาพนู้ดเคยได้รับความนิยมในสมัยอาจารย์ศิลป์ พีระศรี อาจารย์เฟื้อ หริพิทักษ์ แต่สมัยนี้การเขียนนู้ดเป็นเพียงวิชาพื้นฐานของการเรียนการสอนปีต้นๆ ในมหาวิทยาลัยศิลปะ พี่คิดว่าน่าจะมีวิธีให้นักศึกษาศิลปะสนใจภาพนู้ดมากขึ้นอย่างไร 


นิวัติ กองเพียร <สมัยนั้นผมก็เกิดไม่ทันนะ แต่ได้อ่านบทความของอาจารย์ศิลป์ท่านเขียนถึงนู้ดเอาไว้หลายบทความและทำให้ผมเข้าใจคำว่า "นู้ด" มาตั้งแต่นั้น การเรียนการสอนสมัยก่อน มันไม่เหมือนเดี๋ยวนี้ เด๋อก็น่าจะรู้ มาถามผมทำไม เด็กสมัยนี้เขาไม่เรียนรากเหง้า เขาเรียนเป็นศิลปินเลย เขาไม่ต้องฝึกฝน แต่เขาใช้เทคโนโลยีเข้าช่วย 

ถามอย่างนี้ก็เหมือนให้ผมด่ากราดการเรียนการสอนสมัยนี้ ตอนนี้ผมก็เป็นครูสอนศิลปะกับเขาด้วย ผมยิ่งมองเห็นชัดว่าสมัยผมเรียนกับสมัยปัจจุบัน มันต่างกันลิบลับ ผมชอบสมัยผมแต่เอามาสอนสมัยนี้ไม่ได้ เด็กจะไม่เรียน ชวนเขาเข้าไปลึกๆ ถึงต้นตอความรู้ เขาก็เบื่อ ชวนให้เขาคิดเขาก็ขี้เกียจคิด ชวนให้เขาแสดงทัศนะว่าเขาคิดเขามีมุมมองอย่างไร เขากลับอยากรู้ว่าเราคิดอย่างไร เพื่อเขาจะได้จำเอาไปสอบ สอนเรื่องนู้ดเขาก็ไม่ชอบ เพราะเรื่องความงามมันไม่กระทบใจเขา แต่ถ้าสอนเรื่องอีโรติก เขาจะชอบเพราะมันยั่วยุให้เกิดอาการอยากรู้อยากเห็น และเกิดอาการปรารถนา เรื่องนี้ต้องว่ากันยาว 

@วุฒิกร คงคา >>>มีแผนอยากจะทำอะไรในอนาคตอันใกล้อีกครับ ที่อยากทำมากแต่ยังไม่ได้ทำ และฝันถึงอยากจะทำให้สำเร็จในชีวิตนี้ 

นิวัติ กองเพียร <อย่างนั้นเลยหรือ มันเยอะเหลือเกินนะเรื่องที่อยากทำโน่นอยากได้นี่ ตัณหาราคะก็เต็มตัวเต็มใจ ไม่เคยคิดจะเลิกรางานใดๆ คิดอยู่ทุกลมหายใจว่าอยากทำโน่นนี่เพื่อตัวเองจะได้มีความสุข แต่ถ้าถามว่าตายได้แล้วหรือยัง ตายได้แล้ว เพราะเท่าที่เป็นอยู่ได้ทำทุกอย่างที่อยากทำแล้ว ส่วนที่อยากได้โน่นนี่เป็นเรื่องในความฝันในอนาคต เพราะเท่าที่มองย้อนกลับไปในชีวิตตัวเราเอง ก็รู้สึกมีเรื่องเศร้าเสียใจมากพอแล้ว เรื่องดีใจสุขใจก็มากพอแล้ว ดีเลวก็มาไม่แพ้กัน จึงรู้สึกพอใจและเป็นสุข ตายไปก็จะมีคนสาปแช่งตามไป มีคนชื่นชมตามไป (บ้าง) จะให้เขารักเขาชอบไปหมดไม่น่าจะเป็นมนุษย์ 

ไม่อยากระบุงานที่อยากทำ เพราะเท่าที่ทำอยู่นี้ก็เกินกำลังตัวเองแล้ว ท้ายที่สุดคือ ความตาย อยากตายอย่างสงบไม่ตายด้วยโรคภัยไข้เจ็บ 

แต่ตายด้วยอายุขัย ไม่ต้องป่าวประกาศ เพียงแต่ช่วยเผาให้อย่าเหลือแม้แต่เถ้าถ่าน เอาไปทำปุ๋ยให้ต้นไม้หรือลอยลงแม่น้ำให้ปลากิน เป็นอันจบสิ้นตัวตน 0 

////////////////////////// 


ผศ.วุฒิกร คงคา เกิดเมื่อปี 2512 ที่นครราชสีมา เริ่มเรียนศิลปะที่เทคนิคโคราช ต่อด้วยปริญญาตรีและโท ที่คณะจิตรกรรม มหาวิทยาลัยศิลปากร เคยได้รับรางวัลเด่นๆ เช่น ชนะเลิศงานกสิกรไทย ยอดเยี่ยมของโตชิบา เหรียญทองจิตรกรรมบัวหลวง เหรียญเงินศิลปกรรมแห่งชาติ และอื่นๆ รวมทั้งทุนสร้างสรรค์ศิลป์ พีระศรี ปัจจุบันทำงานศิลปะและนำผลงานออกแสดงอย่างต่อเนื่อง อีกทั้งยังเป็นประธานสาขาศิลปกรรมที่คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง นอกจากนี้ยังเขียนบทความเกี่ยวกับศิลปะให้แก่หนังสือ Daybeds เป็นประจำอีกด้วย 

********************** 


โดย: วุฒิกร คงคา 
ที่มา: bangkokbiznews.com 
วันที่ 25 ตุลาคม 2553 

Views: 1153

Reply to This

© 2009-2024   PORTFOLIOS*NET by CreativeMOVE.   Powered by

Badges  |  Report an Issue  |  Terms of Service