ปฐมา หรุ่นรักวิทย์ สถาปนิกหญิง รางวัล ศิลปาธร ปี 53

 

ปรบมือแสดงความยินดีกับ 9 ศิลปินร่วมสมัย อายุระหว่าง 20 -50 ปีโดยประมาณ ซึ่งเป็นผู้มีความมานะสร้างสรรค์ผลงานมาอย่างต่อเนื่อง ที่ สำนักงานศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัย (สศร.) กระทรวงวัฒนธรรม คัดเลือกให้รับ รางวัลศิลปาธร ประจำปี 2553 

ได้แก่ 1.ชัยยุทธ โตสง่า หรือ ป๋อม บอยไทย สาขาดนตรี 2.เสน่ห์ สังข์สุข หรือ แดนอรัญ แสงทอง สาขาวรรณศิลป์ 3.อาทิตย์ อัสสรัตน์ สาขาภาพยนตร์ 4.ปฐมา หรุ่นรักวิทย์ สาขาสถาปัตยกรรม 5.นิกร แซ่ตั้ง สาขาศิลปะการแสดง 6.นาวิน ลาวัลย์ชัยกุล สาขาทัศนศิลป์ 7.วิฑูรย์ คุณาลังการ สาขามัณฑนศิลป์ 8.ประชา สุวีรานนท์ สาขาเรขศิลป์ และ 9.วศินบุรี สุพานิชวรภาชน์ สาขาออกแบบ 

เพื่อเป็นเกียรติและเป็นขวัญกำลังใจให้สร้างสรรค์ต่อไป เมื่อวันที่ 29 กรกฎาคม พ.ศ.2553 ที่ผ่านมา นายนิพิฏฐ์ อินทรสมบัติ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม ได้เป็นประธานมอบโล่ประกาศเกียรติคุณและเงินรางวัล 100,000 บาท แก่ศิลปินและตัวแทน ณ หอศิลป์สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พร้อมมอบเข็มกลัด “ศิลปาธร” ทำจากทองคำประดับอัญมณี เพชรและพลอยมรกต ซึ่ง น.ส.พิมพ์พินิจ กัลวทานนท์ ผู้ออกแบบ มีแนวความคิดในการออกแบบว่า 

...รูปทรงของเข็มมาจากสัญลักษณ์ของสำนักงานศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัย ซึ่งหมายถึงศิลปวัฒนธรรมในสาขาต่างๆ ทั้ง 9 สาขา และเมื่อนำสัญลักษณ์มาใช้ในแนวตั้งตรง ก็จะเปรียบเสมือนต้นไม้ที่กำลังเจริญเติบโตมาเป็นต้นไม้ที่สดชื่น แจ่มใส ผลิดอก งอกงาม เปรียบเหมือนผลงานของศิลปินที่มีความคิดสร้างสรรค์และมีพัฒนาการไปไม่มีที่สิ้นสุด.. 





อยากทราบว่าเหตุใดศิลปินทั้ง 9 สาขา ถึงมีผลงานเข้าตาคณะกรรมการตัดสินในปีนี้ มีหลักฐานมายืนยันอยู่ใน นิทรรศการ “รางวัลศิลปาธร ประจำปี 2553” ระหว่างวันที่ 29 กรกฎาคม - 30 สิงหาคม พ.ศ.2553 เวลา 10.00 -19.00 น. (ยกเว้นวันพุธและวันนักขัตฤกษ์) ณ หอศิลป์สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ถนนราชดำเนินกลาง สอบถาม โทร. 0 -2281-5360 -1 



ปฐมา หรุ่นรักวิทย์ ศิลปินศิลปาธร สาขาสถาปัตยกรรม หญิงสาวหนึ่งเดียวในจำนวนศิลปินทั้งหมดที่ได้รับรางวัลในปีนี้ ผู้เคยได้รับรางวัลสถาปนิกรุ่นใหม่ที่ผลงานเด่นของสมาคมสถาปนิกสยาม,รางวัลศิษย์เก่าดีเด่น มหาวิทยาลัยศิลปากร,รางวัล JAPAN HOUSING ASSOCIATION,รางวัลดีเด่นจากสมาคมมัณฑนากรแห่งประเทศไทย 

และผ่านการทำคุณประโยชน์เพื่อสังคมด้วยการมีส่วนร่วมในการวางแผนออกแบบพัฒนาชุมชนเมือง เช่น ชุมชนป้อมมหากาฬ,ชุมชนเก้าเส้ง,ชุมชนบ้านบ่อว้า, สร้างห้องสมุดชุมชนมีนบุรี และโครงการสนามเด็กเล่น กล่าวถึงความรู้สึกที่ได้รับรางวัลว่า 

“รู้สึกยินดีที่ได้รับ เพราะว่าทำงานมาก็นานพอสมควร เป็นสิบปี แล้วก็ช่วงแรกๆจะมีคนไม่ค่อยเข้าใจว่าเราทำอะไร เหมือนกับ เฮ้ย..เป็นสถาปนิกมาทำงานแบบนี้ได้เหรอ เราก็ยังยืนยันว่าอันนี้คืองานที่สถาปนิกทำได้ เป็นงานสถาปัตยกรรมไม่ใช่งานสังคมสงเคราะห์ เราใช้งานสถาปัตยกรรมเป็นตัวสื่อสารด้วย เป็นตัวสร้างกระบวนการให้เกิดการเรียนรู้ทั้งกับลูกค้าที่เป็นชาวบ้านเอง แล้วก็กับเราซึ่งเป็นสถาปนิกด้วย 

คืองานของดิฉันมันเป็นงานที่ทำบนขีดจำกัดของลูกค้า หมายถึงว่า ในทุกเรื่องเลย ไม่ว่าจะเป็นเศรษฐกิจ การเมือง สังคม ทุกสิ่งอย่าง เพราะฉะนั้นในเรื่องของขีดจำกัดที่เราเห็นกันอยู่ชัดๆคือเรื่องของการเงิน มันทำให้ต้องมองหา ต้องค้นหาสิ่งที่จะนำมาใช้ได้โดยที่ว่า ไม่ต้องเสียสตางค์ 

ไอ้สิ่งที่ทำโดยไม่ต้องเสียสตางค์มันคืออะไร ก็คือสิ่งที่มันมีอยู่แล้วในพื้นที่นั้นๆ ทั้งในเรื่องของข้าวของ สิ่งของ หรือเทคโนโลยี ทักษะอะไรที่เขาทำกันเป็นอยู่แล้ว ณ ตรงนั้น ไอ้ตัวนี้มันจะเป็นส่วนที่มีผลเยอะกับงานที่เราทำ ว่าทุกครั้งที่เราทำงานเราจะตั้งต้นที่ งบประมาณ 0 บาท ดังนั้นเมื่อ 0 บาท มันก็ต้องมองเยอะ” 

สิ่งที่เธอสถาปนิกรุ่นพี่คนนี้ อยากฝากถึงสถาปนิกรุ่นใหม่คือ... 

“ควรจะคิดอะไรใหม่ๆ ไม่ลอกคนอื่นมา เป็นตัวของตัวเอง แล้วก็ให้มั่นใจในสิ่งที่ตัวเองทำ แล้วถ้าคิดจะทำอะไรแล้วก็ควรจะมุ่งมั่นในสิ่งที่เราทำ จนให้สำเร็จ หลายครั้งที่พี่มองเด็กๆทำงาน ยังไม่ทันไรแล้วรู้สึกมันลำบาก ก็ไม่ทำแล้ว พองานมันไม่เสร็จ เราก็จะไม่รู้หรอกว่า ไอ้งานที่เราทำ มันมีค่ามากแค่ไหน มันก็เลยทำให้เราเสียโอกาสที่จะได้พัฒนาความคิดหรืองานของเราต่อไป 

หลายคนค่อนข้างใจร้อน ทำวันนี้ พรุ่งนี้ต้องเห็นผล ซึ่งหลายครั้ง โดยมากแล้ว มันเป็นไปไม่ได้ พอมันเป็นไปไม่ได้ ก็เสียดายโอกาส จริงๆเราพัฒนาได้มากกว่านั้นค่ะ” 

 






โดย ASTV ผู้จัดการออนไลน์

Views: 190

Reply to This

© 2009-2024   PORTFOLIOS*NET by CreativeMOVE.   Powered by

Badges  |  Report an Issue  |  Terms of Service