เจาะใจ 'คำ ผกา' ว่าด้วยเรื่องนู้ดจนถึงการเมือง และศาสนา

เจาะใจนักเขียนสาวร้อนแรงแห่งเชียงใหม่ 
"คำ ผกา" 
ว่าด้วยเรื่องนู้ดจนถึงการเมือง 

 

เจาะใจ "คำ ผกา" ว่าด้วยเรื่องประวัติศาสตร์, ชีวิตวัยเด็ก, หนังสือ, การเป็นนักเรียนญี่ปุ่น, ความเป็นไทย, อาหาร, นางแบบนู้ด จนถึงเรื่องการเมือง 

หลายคนคงรู้จักกับนักเขียนสาวร้อนแรงแห่งยุคอย่าง "คำ ผกา" หรือ "ฮิมิโตะ ณ เกียวโต" หรือในชื่อจริง "ลักขณา ปันวิชัย" ในฐานะนักเขียนที่ผลิตผลงานได้หลากหลายแนว นับตั้งแต่เรื่องวิพากษ์วิจารณ์สังคม-วัฒนธรรม-เพศสภาพ เรื่องความรัก เรื่อยไปจนถึงเรื่องอาหาร ต้นไม้ และการท่องเที่ยว รวมทั้งผลงานคอลัมน์วิพากษ์การเมืองที่สุดแสนจะดุเดือดใน "มติชนสุดสัปดาห์" 

คำ ผกา บอกว่าเธอต้องเขียนงานหลากหลายแนวเพราะต้องการเก็บ (หรือเป็นคอลัมนิสต์ประจำ) หนังสือทุกแนวในตลาด เนื่องจากตนเองเป็นคนที่ยังชีพทางเศรษฐกิจด้วยการเขียนคอลัมน์ตามหน้านิตยสาร ดังนั้น ถ้านิตยสารผู้หญิงไม่ให้เธอเขียนเรื่องการเมือง ทั้ง ๆ ที่โดยส่วนตัวมีความสนใจพื้นฐานในประเด็นเรื่องการเมืองและวัฒนธรรม เธอก็จำเป็นต้องประนีประนอมกับจุดยืนของนิตยสารเหล่านั้น อย่างไรก็ตาม นักเขียนสาวร้อนแรงยืนยันว่างานเขียนทุกแนวที่มีความหลากหลายนั้นล้วนมาจากฐานคิดชุดเดียวกันของเธอ 

เมื่อวันที่ 27 ธันวาคมที่ผ่านมา ในงาน "เชียงใหม่ เอ็มไอซีที สร้างคน สร้างชาติ" ที่หอประชุมมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ได้มีการเสวนาเจาะใจ "คำ ผกา" โดยสองพิธีกร "อรินธรณ์" (อธิกร ศรียาสวิน) และ "หนุ่มเมืองจันท์" (สรกล อดุลยานนท์) โดยการพูดคุยดังกล่าวก็สะท้อนให้เห็นถึงความสนใจอันหลากหลายบนฐานคิดที่แข็งแรงของนักเขียนสาวรายนี้ได้เป็นอย่างดี 



"ประวัติศาสตร์" 

ลักขณาจบการศึกษาระดับปริญญาตรีสาขาประวัติศาสตร์ จากคณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ โดยหนึ่งในอาจารย์คนสำคัญของเธอก็คือ "นิธิ เอียวศรีวงศ์" จากนั้นเธอมีโอกาสได้ไปศึกษาต่อในระดับปริญญาโทและเอก สาขาประวัติศาสตร์ไทย ที่มหาวิทยาลัยเกียวโต ประเทศญี่ปุ่น 

สำหรับคำ ผกา การเรียนประวัติศาสตร์ไม่ใช่การต้องมานั่งอ่านเรื่องราวเก่าแก่ในพงศาวดาร แต่เป็นการเรียนรู้ที่ทำให้เธอต้องตั้งคำถามกับสิ่งที่ตนเองเคยคิดว่ามันเป็นเรื่อง "จริง" มาโดยตลอด 

การเป็นนักศึกษาประวัติศาสตร์ทำให้เธอรู้ว่า "ประวัติศาสตร์" เป็น "เรื่องแต่ง" (fiction) ชนิดหนึ่ง การศึกษากระบวนการเขียนประวัติศาสตร์แต่ละสกุลในโลกใบนี้ หรือ การอยู่กับกระบวนการสร้างประวัติศาสตร์ จึงทำให้ลักขณาได้เรียนรู้ว่า "ประวัติศาสตร์" คือ การคัดกรองอดีตบางอย่างมาร้อยเรียงเป็นเรื่องราว ทว่าเรื่องราวดังกล่าวก็มิได้มีสถานะเป็นทั้งหมดของอดีตแต่อย่างใด 

การเรียนประวัติศาสตร์จึงถือเป็นรากฐานทางความคิดสำคัญและเป็นการเปิด "โลกใหม่" ให้แก่เด็กผู้หญิงคนหนึ่งที่ได้เติบโตมาเป็น "คำ ผกา" ในวันนี้ 


ชีวิตวัยเด็ก 

ลักขณาใช้ชีวิตวัยรุ่นที่บ้านสันคะยอม อ.แม่ริม จ.เชียงใหม่ 

เนื่องจากแม่แท้ ๆ ให้กำเนิดเธอตั้งแต่ยังเรียนไม่จบ แม่จึงฝากเธอให้ตา-ยายเลี้ยงดูแทน กระทั่งคำ ผกา เรียกตา-ยายว่า "พ่อ-แม่" เธอมีน้า 2 คนเป็นกะเทย มีลุงเป็นคนติดเหล้า ส่วนตาก็ดื่มเหล้าทุกวันและเวลาเมาก็จะใช้กำลังตบตีกับยายนิดหน่อยอยู่เสมอ อีกทั้งคนในบ้านยังพูดจาด้วยภาษามึง-กูกันตลอดเวลา 

เธออยู่ในบ้านที่มีกิจการขาย-เชือดหมู เธอจึงอยู่กับกระบวนการฆ่าหมูทุกวัน (จนสามารถรู้ได้ว่าเลือดส่วนไหนของหมูที่นำมาทำลาบได้อร่อยมาก) นอกจากนี้ ที่บ้านยังทำอิฐบล็อก เธอจึงได้เล่น คุย และย่างกระต่ายกับคนงานทำอิฐ ส่วนการที่ยายเปิดร้านขายเหล้า ก็ทำให้เธอได้รับฟังเรื่องราวหลากหลายจากผู้คนที่มากินเหล้าในร้าน 

ตามความเห็นของคำ ผกา ชีวิตในวัยเด็กที่แลดูไม่ปกติเช่นนี้ได้ส่งผลให้เธอมี "ความรุ่มรวยทางวัฒนธรรม" เป็นอย่างมาก 


ชีวิตในโรงเรียนคริสต์และโลกการอ่าน 

ลักขณาเข้าเรียนที่โรงเรียน "ดาราวิทยาลัย" โรงเรียนหญิงล้วนที่เป็นทั้งโรงเรียนคริสต์นิกายโปรเตสแตนท์ เป็นเพียวริแตน (ที่ยึดหลักความเคร่งครัดในหลักศีลธรรมจรรยาทางศาสนา) และคอนเซอร์เวทีฟ (อนุรักษ์นิยม) 

แม้อาจมีลูกคนจนและคนรวยอยู่รวมกันในโรงเรียนแห่งนี้ ตั้งแต่ภารโรง ชาวบ้าน จนถึงไฮโซ แต่คำ ผกา ก็เห็นว่าแนวความคิดแบบคริสเตียนของโรงเรียนกลับมีประโยชน์อย่างหนึ่ง คือ ส่งผลให้ไม่มีการแบ่งแยกชนชั้นระหว่างนักเรียน ด้วยหลักคิดที่ว่าทุกคนล้วนเป็นลูกของพระเจ้าเหมือนกันหมด 

เพราะตา-ยายผู้เลี้ยงดูมีฐานะยากจน คำ ผกา จึงไม่ได้เข้าถึงแหล่งบันเทิงอื่น ๆ นอกจากการอ่านหนังสือในห้องสมุด ณ แหล่งบันเทิงดังกล่าว เธอได้ทำความรู้จักกับนิตยสารหัวก้าวหน้าอย่าง "โลกหนังสือ" "ถนนหนังสือ" และ "ศิลปวัฒนธรรม" เธอได้อ่านนิยายของ "ชาติ กอบจิตติ" ที่ทำให้ลักขณาเริ่มตั้งคำถามถึงความไม่เป็นธรรมในสังคม เช่น เริ่มสงสัยว่าตกลงแล้วครอบครัวของตนเองเป็นคนจนหรือคนรวยกันแน่ 

จากนั้นเธอหันไปให้ความสนใจในผลงานของกลุ่มนักเขียนเพื่อชีวิตยุค 14 ตุลาคม 2516 และ 6 ตุลาคม 2519 เช่น งานของ "สิงห์สนามหลวง" (สุชาติ สวัสดิ์ศรี) และโลกการอ่านของเธอก็เปิดกว้างมากยิ่งขึ้นไปอีก เมื่อมาเป็นนักศึกษาประวัติศาสตร์ดังได้กล่าวไปแล้ว 

แต่ไม่ใช่แค่การอ่านหนังสือแนววรรณกรรมเพื่อชีวิตหรือหนังสือวิชาการเท่านั้น เพราะในอีกด้านหนึ่ง ลักขณาก็เป็นนักอ่านนิยายประโลมโลกย์/นิยายน้ำเน่าตัวยง ซึ่งปัจจัยดังกล่าวจะส่งผลต่องานเขียนของเธอในเวลาต่อมา 


ชีวิตนักเรียนญี่ปุ่น 

การไปเรียนต่อระดับปริญญาโทและปริญญาเอกที่ญี่ปุ่น ทำให้คำ ผกา ได้ไปยืนจากจุดยืนของคนอื่น แล้วลองหันกลับมามอง "ความเป็นไทย" ของตนเอง 


เธอได้อ่านข้อมูลจากงานศึกษาทางด้าน "ไทยศึกษา" จำนวนมาก ที่ตนเองไม่เคยรับรู้มาก่อนขณะอยู่ในเมืองไทย เช่น ตระกูลเจ้าสัวทั้งหลายในสังคมไทยไม่ได้ร่ำรวยขึ้นมาจากความประหยัดมัธยัสถ์หรือความวิริยะอุตสาหะในลักษณะ "กัดก้อนเกลือกิน" หรือ "เสื่อผืนหมอนใบ" เพียงเท่านั้น แต่พวกเขาร่ำรวยขึ้นมาจากการ "ฮั้ว" และการแต่งงานสานสายสัมพันธ์กับกลุ่มชนชั้นนำต่าง ๆ รวมทั้งช่วงเวลาของการเกิดสงครามโลกครั้งที่ 2 ก็มีส่วนเอื้อให้คนกลุ่มนี้มีความเจริญรุ่งเรืองขึ้นมา 

นอกจากนั้น สาวเชียงใหม่คนนี้ก็เริ่มมีความรู้สึกรักชาติน้อยลง แต่กลับตั้งคำถามต่อเรื่อง "ชาติ" อย่างลึกซึ้งยิ่งขึ้น 

เธอเริ่มสังเกตว่า แม้ญี่ปุ่นจะได้ชื่อว่าเป็นประเทศที่มีความเป็นชาตินิยมสูง แต่ทำไมคนของเขาจึงไม่ต้องเคารพธงชาติกันทุกวันแบบในเมืองไทย นำไปสู่การตั้งคำถามว่า "ชาติ" ของญี่ปุ่นกับไทยนั้นมีความแตกต่างกันอย่างไร? 

ลักขณาจึงหันมาให้ความสนใจต่อประเด็นเรื่องการสร้างอัตลักษณ์ "ความเป็นไทย" และศึกษาเปรียบเทียบการสร้างอัตลักษณ์ของไทยกับหลายประเทศ เช่น ญี่ปุ่น อินโดนีเซีย และตุรกี ตามประสบการณ์การมองโลกที่เปิดกว้างมากขึ้น 

อย่างไรก็ตาม เธอกลับเขียนวิทยานิพนธ์ระดับปริญญาเอกไม่เสร็จ โดยมีเรื่องอกหักบ้าผู้ชายเป็นปัจจัยสำคัญประการหนึ่ง 



เข้าสู่โลกนักเขียน 

เมื่อรู้ตัวว่าไม่สามารถเขียนวิทยานิพนธ์ระดับปริญญาเอกได้เสร็จแน่ ๆ ลักขณาจึงเริ่มหาช่องทางยังชีพให้แก่ตนเอง ซึ่งช่องทางดังกล่าวก็ได้แก่การมีอาชีพเป็นนักเขียน 

เริ่มด้วยการเขียนคอลัมน์ "จดหมายจากเกียวโต" ในนามปากกา "ฮิมิโตะ ณ เกียวโต" ในสยามรัฐสัปดาหวิจารณ์ยุคที่มี "รุ่งเรือง ปรีชากุล" เป็นบรรณาธิการ ซึ่งเป็นงานที่เขียนถึงวิถีชีวิตประจำวันอันเป็นเรื่องเล็ก ๆ ธรรมดาของผู้คนญี่ปุ่นที่เธอได้พบ โดยส่วนหนึ่งก็ถือเป็นการวิพากษ์งานเขียนเกี่ยวกับประเทศญี่ปุ่นในสังคมไทยที่ขับเน้นแต่เพียงประเด็นเรื่อง "ความคิขุอาโนเนะ" "หนังโป๊" "ความเพี้ยนวิปริต" หรือ "ความมีระเบียบวินัย" ของคนญี่ปุ่น 


งานเขียนชุดนั้นได้รับเสียงตอบรับเป็นอย่างดี 


งานเขียนชุดต่อมาคือ "กระทู้ดอกทอง" ภายใต้นามปากกา "คำ ผกา" ซึ่งนำโครงร่างและข้อมูลจากวิทยานิพนธ์ระดับปริญญาเอกที่ทำไม่เสร็จของเธอมาสานต่อเป็นงานเขียนที่ใช้ภาษาอ่านเข้าใจง่ายและสามารถเข้าถึงผู้คนในวงกว้าง 

วิทยานิพนธ์ระดับปริญญาเอกของลักขณาให้ความสนใจกับ 3 ประเด็นหลัก คือ "ความเป็นหญิงไทย" "การสร้างความเป็นไทย" และ "วรรณคดี (วรรณกรรม) ไทย" โดยคำถามสำคัญก็คือ "ชาติ" จะเกิดขึ้นไม่ได้ถ้าไม่มีการร่วมเพศ และการร่วมเพศระหว่างหญิงกับหญิงหรือชายกับชายก็ไม่ทำให้เกิด "ชาติ" ดังนั้น "ชาติ" จึงต้องการให้ชายและหญิงร่วมเพศกันเพื่อนำไปสู่การสร้างชาติ ในการนี้ จึงต้องมีการสร้างลักษณะของ "ชาย" และ "หญิง" ในรูปแบบที่ชาติต้องการขึ้นมา ขณะเดียวกัน นวนิยายไทยยุคใหม่ก็ถือกำเนิดขึ้นในทศวรรษ 2470 ที่เป็นยุคแห่งการสร้างชาติพอดี 

ประเด็นสำคัญใน "กระทู้ดอกทอง" จึงได้แก่ นวนิยายไทยยุคใหม่ได้สร้างภาพ "หญิง" ที่ดีและเลวออกมาอย่างไร เพื่อรองรับกับอุดมการณ์เรื่อง "ความเป็นหญิงไทย" และ "ความเป็นไทย" ที่ถูกประดิษฐ์ขึ้น 

ด้วยประเด็นวิพากษ์และการใช้ภาษาที่ดุเดือดรุนแรงในงานชุดกระทู้ดอกทองจึงส่งผลให้เริ่มมีกระแส "เกลียด" งานเขียนของ "คำ ผกา" แต่ยังชื่นชอบงานเขียนของ "ฮิมิโตะ ณ เกียวโต" อยู่ ซึ่งลักขณาบอกว่า นอกจากจะใช้นามปากกาคนละชื่อกันแล้ว เธอก็ยังใช้ชุดภาษาที่แตกต่างกันในการเขียนงานด้วยสองนามปากกาดังกล่าวอีกด้วย 

อย่างไรก็ตาม ลักขณาชอบทุกตัวตนของตนเอง ไม่ว่าจะเป็น "ฮิมิโตะ ณ เกียวโต" หรือ "คำ ผกา" เพราะทุกนามปากกาที่แตกต่างกันนั้นก็คือตัวตนของเธอทั้งหมด และเธอยังไม่ยอมให้คำนิยามว่าตัวตนที่แน่ชัดของ "คำ ผกา" คืออะไร เพราะเธอไม่ต้องการจะอยู่ในกรอบที่เป็นการขีดเส้นจำกัดตัวเอง 


ชีวิตแม่ครัว 

ด้วยความที่คลุกคลีกับเรื่องอาหารมาตั้งแต่เด็ก เธอจึงสนใจในเรื่องเหล่านี้ จนถึงขั้นเคยไปประกอบอาชีพเป็น "แม่ครัว" ในประเทศญี่ปุ่น เพราะอยากรวยมาแล้ว 

เรื่องเริ่มต้นขึ้นเมื่อเธอเคยทำอาหารไทยเลี้ยง "ปราโมทยา อนันตา ตูร์" นักประพันธ์ผู้ลือนามชาวอินโดนีเซีย จากนั้นสำนักพิมพ์แม่โขงจึงติดต่อให้เธอไปเขียนหนังสือคู่มือประกอบอาหารไทยเป็นภาษาญี่ปุ่นเพื่อวางจำหน่าย ซึ่งยอดขายก็เป็นไปด้วยดี 

จนลูกศิษย์ชาวญี่ปุ่นเพศชายวัยร่วมสี่สิบที่มาเรียนภาษาไทยกับเธอ ชักชวนให้คำ ผกาไปเป็น "เชฟ" ประจำร้านอาหารไทยชื่อ "ช้างน้อย" ที่เขาจะลงทุนก่อตั้งขึ้น 

คำ ผกา ใฝ่ฝันว่าตนเองจะได้ตกแต่งร้านอาหารเก๋ ๆ และเป็นเชฟใหญ่ที่คอยเดินทักทายลูกค้าซึ่งมาทานอาหารภายในร้าน 

แต่สุดท้ายเธอก็พบว่าอาชีพแม่ครัวนั้นเป็นงานที่เหนื่อยและทำให้ตัวเหม็นเป็นอย่างมาก อีกทั้งลูกศิษย์ที่กลายมาเป็นนายทุนร้านอาหารของเธอก็เป็นลูกคุณหนู ผู้ไม่เคยทำมาหากินมาตลอดชีวิต และต้องการเพียงวัตถุดิบชั้นดีมาประกอบอาหาร จึงส่งผลให้ร้านอาหารช้างน้อยไม่ประสบความสำเร็จถึงขั้นร่ำรวย แม้จะเคยมีชาวญี่ปุ่นมาเข้าคิวรอทานอาหารหน้าร้าน จนสามารถเก็บรายได้ถึง 3 แสนเยนต่อหนึ่งคืนก็ตาม 



นางแบบนู้ด 

นอกจากเคยเป็นแม่ครัวแล้ว คำ ผกา ยังเคยถ่ายนู้ดลงนิตยสารผู้ชายชื่อดังอย่าง "จีเอ็ม" ด้วยความรำคาญที่ว่ารัฐไทยชอบมายุ่มย่ามกับการจับปฏิทินโป๊หรือเรื่องนมหกอยู่ตลอดเวลา ส่วนเหล่านางแบบก็ได้แต่ร้องไห้เสียใจ แต่กลับไม่ยอมเถียง ปกป้องตัวเอง และอธิบายกลับไปยังรัฐว่า "แฟชั่น" คืออะไร ทั้งยังไม่ยอมรับกันว่าตัวเองถ่ายนู้ดเพื่อเงิน โดยไม่ต้องมาอ้างเหตุผลปลอดเชื้อที่แลดูดี เช่น ต้องการนำเงินค่าถ่ายนู้ดไปรักษาแม่ที่กำลังป่วย 

คำ ผกา บอกว่า การถ่ายนู้ดของเธอเป็นการเล่น/ตั้งคำถามกับสังคมว่า แต่ละส่วนของร่างกายอันเปลือยเปล่าที่ถูกฉายภาพออกไปสู่สาธารณะนั้น ถูกสร้างความหมายขึ้นมาอย่างไรบ้าง? (เช่น ความโป๊ในแต่ละยุคสมัยก็ถูกสร้างความหมายที่แตกต่างกันออกไป) 


คอลัมนิสต์สุดร้อนแรง (แดง สันคะยอม) แห่งมติชนสุดสัปดาห์ 


ล่าสุด คำ ผกา ได้เขียนงานลงในนิตยสารมติชนสุดสัปดาห์ ว่ากันว่างานเขียนของเธอถือเป็น "คอลัมน์การเมือง" ที่มีปฏิกิริยาทางจดหมายตอบกลับมาอย่างรุนแรงและเนืองแน่นมากที่สุด โดยเฉพาะอย่างยิ่งในคราวที่บทความชื่อ "หยุดให้ท้ายพันธมิตร" และ "นับแต่นี้ไปไม่เหมือนเดิม" ได้รับการเผยแพร่ออกไป 

จุดยืนในการเขียนคอลัมน์ให้มติชนสุดสัปดาห์ของเธอก็คือ การแสดงความไม่เห็นด้วยต่อรัฐประหาร 19 กันยายน 2549 และลักษณะสองมาตรฐานในสังคมไทยนับแต่นั้นเป็นต้นมา ด้วยความรู้สึกว่าทำไมจึงไม่มีใครเขียนบทความต่อต้านเรื่องดังกล่าวออกมาให้ "ซื่อ" "ง่าย" "ตรง" และมี"สามัญสำนึกแบบชาวบ้าน" มากที่สุด 

เธอเห็นว่าแม้เราจะเกลียดทักษิณมากเพียงใด แต่ก็ต้องรักษาระบอบประชาธิปไตยและการเลือกตั้งเอาไว้ แล้วค่อย ๆ เรียนรู้ถูกผิดกับมันไป อย่าไปตัดตอนมัน เพื่อรีบหาทางออกซึ่งสุดท้ายก็ไม่มีใครมองเห็น แต่ต้องพยายามถกเถียงกัน ด้วยความเชื่อที่ว่าความขัดแย้งและการถกเถียงจะทำให้ผู้คนในสังคมค่อย ๆ เติบโตขึ้น ไม่ใช่ไปแก้ปัญหาด้วยการปิดกั้นข้อมูลข่าวสารและห้ามมีการถกเถียง กระทั่งผู้คนในประเทศนี้กลายเป็นเด็กที่ง่อยเปลี้ยเสียขาต้องนั่งรถเข็นรออะไรบางอย่างมาโปรดเราไปตลอดชีวิต 

ด้วยความคิดเช่นนี้เอง ที่ทำให้มีนักวิชาการคนหนึ่งแซวว่าเธอเป็น "แดง สันคะยอม" 

สุดท้าย นักเขียนสาวชื่อดังแห่งยุคได้ฝากถึงพี่น้องประชาชนชาวไทยว่า อย่าสมยอมกับการปิดกั้นข้อมูลข่าวสารและการปิดกั้นเสรีภาพ รวมถึงการทำร้ายประชาชนอย่างไม่ชอบธรรม และถึงเวลาแล้วที่เราต้องขึ้นมาต่อสู้กันเสียที 


นี่เป็นคำกล่าวปิดท้ายสุดร้อนแรงของ "คำ ผกา" 

(โปรดติดตามอ่าน เรื่องตลกในบทเพลงของ "วิฑูรย์ ใจพรหม" จากการถ่ายทอดของ "คำ ผกา" ได้ในวันพรุ่งนี้) 

/////////////////////////////////////// 
ฟัง "คำ ผกา" เล่ามุขตลกจากบทเพลงของ 
"วิฑูรย์ ใจพรหม" บนโต๊ะอาหาร
 

 

หลังการเสวนาในงาน "เชียงใหม่ เอ็มไอซีที สร้างคน สร้างชาติ" เมื่อวันที่ 27 ธันวาคม "คำ ผกา" นักเขียนสาวร้อนแรงแห่งสันคะยอม พร้อมด้วยคนของสื่อสิ่งพิมพ์เครือมติชนซึ่งมาร่วมงาน ก็ได้ไปทานอาหารเหนือกันต่อที่ร้านอาหารแห่งหนึ่ง 

พอทานอาหารและพูดคุยกันไปได้สักพัก "อรินธรณ์" นักเขียนและพิธีกรที่เพิ่งเจาะใจคำ ผกา ไปเมื่อสักครู่ ซึ่งเคยมาศึกษาเล่าเรียนในระดับปริญญาตรีที่มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ก็เล่าให้ฟังว่าขณะขับรถมาถึงเชียงใหม่เที่ยวนี้ และได้เปิดสถานีวิทยุท้องถิ่นฟังไปด้วย เขาก็ได้ฟังเพลงพูดตลกคำเมืองที่มีเนื้อหาน่าสนใจมาก จนน่าจะถือเป็น "เพลงแร็พของเมืองเหนือ" หรือ "เพลิน พรมแดนแห่งเชียงใหม่" ได้เลยทีเดียว 

ต่อมาได้ทราบว่าคนร้องเพลงดังกล่าวชื่อ "วิฑูรย์ ใจพรหม" อรินธรณ์จึงถามคำ ผกา ว่ารู้จักนักร้องคนนี้หรือไม่? 

แล้วบรรยากาศการพูดคุยก็เข้าทางนักเขียนสาวเข้าอย่างจัง เพราะแท้จริงแล้ว เธอถือเป็น "แฟนพันธุ์แท้" คนหนึ่งของศิลปินเพลงตลกคำเมืองรายนี้ กระทั่งสามารถแปล/ถ่ายทอดเนื้อหาในเพลงของวิฑูรย์มาเล่าให้เพื่อนร่วมโต๊ะอาหารได้ฟังถึง 3-4 เรื่อง ซึ่งล้วนแล้วแต่เรียกเสียงหัวเราะเฮฮากันอย่างขนานใหญ่ทั้งสิ้น 

คำ ผกา เกริ่นว่าเพลงของวิฑูรย์นั้นจะมีช่วงร้องสลับกับช่วงพูด นอกจากนี้ยังมีเนื้อหาที่วิพากษ์วิจารณ์ผลงานของรัฐบาลส่วนกลางหรือพูดถึงมิติทางด้านสังคม-วัฒนธรรมได้อย่างคมคาย เช่น 



คนสวนลำไยกับศาลพระภูมิ 


วิฑูรย์มีผลงานเพลงที่วิจารณ์นโยบายทางด้านสินค้าเกษตรของรัฐบาลผ่านการเล่าเรื่องตลกขบขันเกี่ยวกับคนสวนลำไยที่ไปบนบานกับศาลพระภูมิเจ้าที่ ว่าถ้าลำไยขายดีจะเอา "หัวหมู" มาแก้บน แต่สุดท้ายเมื่อลำไยขายได้น้อย คนสวนลำไยที่ว่าก็เลยเอาแค่ "แคบหมู" มาไหว้เจ้าที่แทน แล้วบอกให้เจ้าที่รอไปก่อน ไว้ลำไยขายดีเมื่อไหร่ ถึงจะเอามาหัวหมูมาถวาย 


คนซื้อหวย 

เป็นเพลงที่เล่าเรื่องของชาวบ้านสองคนซึ่งไปซื้อหวยและรอคอยการประกาศผลรางวัลด้วยใจระทึกทั้งคู่ พวกเขาคุยกันว่า ถ้าแต่ละคนถูกหวยจะเอาเงินที่ได้ไปทำอะไรดี คนหนึ่งบอกจะซื้อที่ดิน ส่วนอีกคนคิดว่าจะซื้อวัวมาเลี้ยง ทำให้ทั้งสองคนเริ่มโต้เถียงกันอย่างดุเดือด เช่น ถ้าไม่มีที่ดินจะเลี้ยงวัวได้ยังไง สุดท้ายทั้งคู่ก็มีเรื่องต่อยตีกัน ทั้ง ๆ ที่พวกเขายังไม่ได้ถูกหวยแต่อย่างใด เนื่องจากหวยยังไม่ประกาศผลรางวัลนั่นเอง 

แตงโมใบละ 50 

เพลงนี้เล่าเรื่องของคนเชียงใหม่ที่ไปเที่ยวกรุงเทพฯ ในเมืองกรุงเขาได้พบป้ายขาย "แตงโมใบละ 50 บาท" ทำให้คนเชียงใหม่ถึงกับตกอกตกใจและโวยวายใหญ่โตถึงค่าครองชีพสุดแพงในเมืองหลวง ก็แค่ "ใบแตงโม" ยังใบละ 50 เลย แล้วถ้าซื้อ "ทั้งผล" มันจะราคาเท่าไหร่กันล่ะเนี่ย??? 

เมียฝรั่ง 

ชายหนุ่มชาวเหนือที่ไปทำงานต่างถิ่นกลับมาบอกแม่ที่บ้านว่า ตัวเองได้ "เมียฝรั่ง" จนแม่ดีใจยกใหญ่ที่จะได้สะใภ้เป็นฝรั่งผมทองจากตะวันตก แต่สุดท้ายเมื่อลูกชายพาเมียมาไหว้แม่ แม่ก็ต้องงงเง็งถึงขีดสุด เพราะ "เมียฝรั่ง" ของลูกชายดันมีหน้าตาออกไปทางสาวอุบลฯ แถบตะวันออกเฉียงเหนือ จนลูกต้องเฉลยว่า ก็เมียตัวเองคือสาวอีสานที่เคยเป็นเมียของฝรั่งมาก่อนไง ไม่ได้เป็นฝรั่งเองเสียหน่อย 

นักข่าวหนังสือพิมพ์ประชาชาติธุรกิจประจำจังหวัดเชียงใหม่ช่วยให้ความรู้สมทบว่า วิฑูรย์ ใจพรหมนั้นมีความสามารถอย่างยิ่งในการดัดเสียงเป็นชายหนุ่ม, เด็กเล็ก หรือ หญิงแก่ ฯลฯ เพื่อรองรับกับบทบาทของตัวละครที่มีมากมายแตกต่างกันไปในแต่ละบทเพลง เธอให้ความเห็นว่า ศิลปินเพลงป็อปร่วมสมัยที่เคยมาเรียนและผลิตผลงานเพลงช่วงเริ่มต้นในเชียงใหม่อย่าง "จุ๋ย จุ๋ยส์" ก็น่าจะได้รับอิทธิพลด้านการดัดเปลี่ยนเสียงให้มีความหลายหลากมาจากวิฑูรย์เช่นกัน 

ในค่ำคืนนั้น คำ ผกา รับหน้าที่เป็นผู้แปล/ถ่ายทอดเนื้อหาในบทเพลงของวิฑูรย์ ใจพรหม มาเรียกเสียงหัวเราะเฮฮาให้แก่ผู้ร่วมทานอาหารจากกรุงเทพฯ จนหลายคนตั้งข้อสังเกตเหมือนกันว่า ลำพังคนกทม.ที่ไม่คุ้นเคยกับภาษาคำเมืองอย่างพวกเรา ก็คงจะไม่สามารถเข้าใจในมุขของวิฑูรย์ได้มากนัก หรือจริง ๆ แล้ว เรากำลังขำขันอยู่กับลีลาการแปล/ถ่ายทอดของนักเขียนสาวแห่งสันคะยอมกันแน่? 

อย่างไรก็ตาม คำ ผกา ไม่ได้ทำตัวเป็นนักวิชาการที่พยายามวิเคราะห์ว่าบทเพลงของวิฑูรย์นั้นถือเป็นปฏิกิริยาจากผู้คนท้องถิ่นที่พยายามต่อต้าน/ท้าทายรัฐส่วนกลางหรือไม่อย่างไร แต่อย่างใด 

ท่ามกลางบรรยากาศของร้านอาหารที่มีสถานีวิทยุชุมชนคนเสื้อแดงเปิดทำการอยู่ 

Views: 377

Reply to This

© 2009-2024   PORTFOLIOS*NET by CreativeMOVE.   Powered by

Badges  |  Report an Issue  |  Terms of Service