ประชา สุวีรานนท์ "ศิลปาธร" กับบทกวีแห่งกราฟิก ดีไซน์


ศิลปาธร... 

ชื่อที่ดูไม่คุ้นหูนี้ คือรางวัลอันทรงเกียรติที่มีให้กับศิลปินร่วมสมัย ดีเด่น คำว่า ศิลปาธร มาจากคำว่า ศิลปะ+ธร (ธร แปลว่า ผู้รักษาไว้ 

ผู้ทรงไว้) 

รางวัลนี้เริ่มมีมาตั้งแต่ปี 2547 โดยทางสำนักงานศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัยได้มอบรางวัลนี้ให้แก่ศิลปินในสาขาต่าง ๆ ที่ทำงานด้านศิลปะมานานในระดับหนึ่ง 

ในปีนี้เป็นปีที่ 7 ของรางวัล "ศิลปาธร" เขามอบรางวัลให้กับศิลปินร่วมสมัยดีเด่นใน 9 สาขาด้วยกัน ได้แก่ ทัศนศิลป์ 

วรรณศิลป์ ดนตรี ศิลปะการแสดง ภาพยนตร์ สถาปัตยกรรม มัณฑนศิลป์ เรขศิลป์ และการออกแบบ 

ประชา สุวีรานนท์ คือหนึ่งในผู้รับรางวัลศิลปาธรครั้งนี้ ในสาขาที่มีชื่อแปลกหูว่า เรขศิลป์ แต่หากเรียกทับศัพท์ ต้องร้องอ๋อ เพราะนี่คือรางวัล กราฟิก ดีไซน์ นั่นเอง 

ในฐานะกราฟิก ดีไซเนอร์ หากจะพูดถึงงานทางด้านนี้ของประชา ต้องพูดถึง 

ตั้งแต่ทำหนังสือรุ่นในสมัยใส่กางเกงขาสั้นที่สวนกุหลาบ จนมาถึงสมัยที่เข้าเรียนในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ซึ่งฟูมฟัก "สไตล์" ของเขาผ่านการออกแบบและความคิดทางการเมืองไว้อย่างน่าสนใจ 

จนมาถึงวันนี้ ชายผู้จบจากโรงเรียนสอนดีไซน์จากนิวยอร์ก นามว่า Parsons School of Design ทำงานคร่ำหวอดในวงการกราฟิก ดีไซน์ มาหลายสิบปีแล้ว 

งานของเขามีตั้งแต่ งานวิจารณ์หนัง งานคอลัมนิสต์ที่ปัจจุบันเขียนคอลัมน์ "ดีไซน์ + คัลเจอร์" ลงในนิตยสารมติชนสุดสัปดาห์ แต่ที่เป็นงานในด้านการดีไซน์ ตอนนี้ประชาเป็นกราฟิก ดีไซเนอร์ ให้กับบริษัท แมทช์บ๊อกซ์ จำกัด และมีงานอิสระส่วนตัวคือ การออกแบบโปสเตอร์ ปกหนังสือหรือนิตยสาร ให้กับสื่อต่าง ๆ ซึ่งคมคายและเต็มไปด้วยนัยให้ชวนขบคิด อย่างเช่น หน้าปกของวารสาร "อ่าน" 

ความรู้สึกหลังจากที่ได้รับรางวัล "ศิลปาธร" ของประชา ก็คือ 

"ขอออกตัวก่อนว่า เขาให้รางวัลผมเพราะอะไร ผมไม่รู้จริง ๆ แต่ตัวรางวัลมีความสำคัญในแง่ว่า รางวัลนี้เป็นรางวัลที่เขาว่ากันว่า เป็นรางวัลศิลปินแห่งชาติรุ่นกลาง พูดง่าย ๆ ก็คือเป็นรางวัลที่เล็กกว่ารางวัลศิลปินแห่งชาติ สาขาเรขศิลป์ก็เป็นสาขาที่เล็กลงไปอีกชั้นหนึ่ง ถ้าถามว่ารู้สึกอย่างไร ก็รู้สึกภูมิใจที่มีคนรู้จักผลงานของเรา แต่ว่าในแง่วิชาชีพ การได้รับการยอมรับจริง ๆ ต้องถือว่าเป็นก้าวเล็ก ๆ" 

ทำไมถึงคิดว่า ศิลปะสาขาเรขศิลป์เป็นสาขาที่เล็กล่ะ ? 

"ที่ผมบอกว่าสาขานี้เล็ก ไม่ได้พูดถึงด้วยความน้อยเนื้อต่ำใจ ผมยอมรับว่าเป็นความจริง ถ้าเปรียบเทียบกับศิลปะหรือการดีไซน์ประเภทอื่น หรือวรรณกรรมก็ได้ สาขาอื่นอย่างสถาปัตยกรรม อินทีเรียร์ ดีไซน์ โดยเฉพาะโปรดักต์ ดีไซน์ ผมว่ากราฟฟิก ดีไซน์ หรือเรขศิลป์ ยังเล็กกว่า ความแตกต่างที่สำคัญก็คือว่า งาน 

สถาปัตยกรรม งานโปรดักต์ ดีไซน์ มันเป็นที่ยอมรับ เป็นผลงานของผู้สร้าง แม้ว่าจะมีนายทุน มีผู้ซัพพอร์ตทุนการสร้าง ก็ถือว่าผลงานอย่างตึก ใครเห็นต้องถามว่าใครออกแบบ โปรดักต์ดีไซน์วางอยู่บนชั้นแล้ว ใคร ๆ ก็รู้สึกว่านี่มันเป็นผลงานของปัจเจกบุคคล ของดีไซเนอร์ แม้ว่าจะตีตราประทับว่าผลิตจากโรงงานของใครก็ตาม ในขณะที่กราฟิกดีไซน์น้อยนักที่จะถามว่าใครทำ มันเป็นเรื่องของการสื่อสาร ตัวสารตัวเนื้อหามักจะสำคัญกว่ารูปแบบ เมื่อเป็นอย่างนั้น กราฟิกดีไซน์ก็เหมือนกับหลบหลังฉากได้ แล้วมักจะเป็นอย่างนั้น เพราะว่าเนื้อหาเป็นตัวนำ เป็นความจริงทั่วไปกับสาขาวิชานี้ ที่กราฟิกดีไซน์มีลักษณะเป็นเซอร์วิส เป็นงานบริการมากกว่างานดีไซน์" 

เซอร์วิสให้กับลูกค้าอย่างไร ? "โดย 

แบ็กกราวนด์ ผมยังเป็นกราฟิก ดีไซเนอร์ที่ทำงานในเชิงพาณิชย์อยู่ ผมไม่ปฏิเสธว่าในด้านหนึ่ง ผมต้องทำงานแบบว่ารับใช้ลูกค้า ซึ่งในที่นี้หมายถึงว่า นำสารของลูกค้ามาปรุงแต่ง พัฒนา ดัดแปลงให้มีรูปแบบที่น่าสนใจ น่าติดตาม แต่ในยุคนี้เป็นยุค Good Design is Good Responsibility (ดีไซน์ที่ดี คือดีไซน์ที่รับผิดชอบต่อสังคม) ซึ่งยังไม่รู้ว่าจะเป็นเทรนด์นานแค่ไหน ตอนนี้ทุกวิชาชีพเริ่มตั้งคำถามแล้วว่า เราจะรับใช้แต่ธุรกิจและตัวเองไม่ได้ เราต้องรับใช้สังคมด้วย งานของผมส่วนหนึ่งจึงเป็นงานที่ เกี่ยวกับสังคม อย่างที่แมทช์บ๊อกซ์ เราได้ทำงานกับ ปตท.ที่เขามีนโยบายในด้าน ซีเอสอาร์ สิ่งแวดล้อม รวมทั้งเอไอเอส" 

เอาเข้าจริง นอกจากประชาจะเน้นงานเชิงพาณิชย์กับบริษัทของเขาแล้ว อีกส่วนหนึ่งในงานกราฟิก ดีไซเนอร์ของเขา ที่เขาขอเรียกมันว่า งาน Independent Publishing ก็มีความน่าสนใจไม่แพ้กัน 

"ผมถือว่าในแง่แนวทางการทำงานส่วนตัว ผมก็ยังอยู่ในสกุลช่างของดีไซเนอร์ที่เอาเนื้อหานำ แมทช์บ๊อกซ์เองก็ถือเอาเรื่องนี้เป็นปรัชญาในการทำงาน (หัวเราะ) เราเชื่อว่าสไตล์การออกแบบมาจากความเข้าใจโจทย์ รวมทั้งตีโจทย์ให้ชัดขึ้น พลิกแพลงมากขึ้น โดยแนวทางนี้ถ้ามาทำงานดีไซน์ที่เป็นส่วนตัวสักหน่อย อย่างนิตยสาร อ่าน ฟ้าเดียวกัน มติชนสุดสัปดาห์ เป็นงานในลักษณะแบบที่ว่าเป็นงานอินดีเพนเดนต์ พับลิชชิ่ง" 

ครั้งหนึ่ง ประชาเคยเขียนบทความที่มีชื่อว่า "What We Talk About When We Talk About Graphic Design" เมื่อปี 1999 แล้วเขาพูดถึงความเป็น Visual Poetry หรือบทกวีทางด้านวิชวล ของกราฟิกดีไซน์ เลยอยากรู้ว่าบทกวีวิชวล ในความหมายของประชามีหน้าตาเป็นอย่างไร ? 

"ที่เขียนลงไปนั่นประชดนิดหนึ่งนะ (หัวเราะ) คืองานดีไซน์ หรือวิชวลที่ก้าวถึงขั้นบทกวี ถือว่าได้รับการยกย่องอย่างสูง ถือว่าเป็นศิลปะ ความหมายว่าจะก้าวเป็นบทกวีแบบงานศิลป์จิตรกรรม ก็เป็นคำป้อยอศิลปะที่ถ้าทำถึงขั้น เขาจะเรียกว่า บทกวี เป็นคำสรรเสริญ แม้กระทั่งการดีไซน์ตึก ก็อาจจะมองเห็นบทกวีในพื้นที่ได้ 

วิชวลอาร์ตที่เป็นกวี คงจะหมายถึง ส่วนประกอบทางด้านเส้น พื้นที่ รูปทรง สี ทำงานกันอย่างกลมกลืน หรือขัดแย้งกันอย่างน่าตื่นเต้น นี่ถือเป็นบทกวีอีกแบบหนึ่ง" 

ความงามอยู่ที่สายตาคนมอง สำหรับหลายคน งานของประชาคงถือเป็นบทกวีแห่งกราฟิกดีไซน์ อีกบทหนึ่งเช่นเดียวกัน 



โดย: ณัฐกร เวียงอินทร์ 

ภาพ: สมจิตร์ ใจชื่น  
ที่มา: ประชาชาติธุรกิจ

Views: 1168

Reply to This

© 2009-2024   PORTFOLIOS*NET by CreativeMOVE.   Powered by

Badges  |  Report an Issue  |  Terms of Service