กิน อยู่ อย่างมีศิลปะ ‘เปี๊ยก โปสเตอร์’


ห่างหายจากางการภาพยนตร์ไปนานเกือบ 20 ปี "สมบูรณ์สุข นิยมศิริ" หรือที่รู้จักกันดีในนาม "เปี๊ยก โปสเตอร์" อดีตผู้กำกับมือทอง หลังจากทิ้งชีวิตในเมืองไปนาน หันไปใช้ชีวิตแบบเรียบง่ายตามวิถีธรรมชาติที่บ้านอากาศดีๆ บนเขา อ.ปากช่อง จ.นครราชสีมา วันนี้เขากลับมารับบทลุงเทือง ชายชราอบอุ่นใจดี ในภาพยนตร์วัยรุ่นพันล้าน ซึ่งเป็นการแสดงหนังครั้งแรกในชีวิต สิ่งที่น่าแปลกใจอีกอย่างคือชายวัย 80 ปีคนนี้ เขายังดูแข็งแรง พูดจากระฉับกระเฉง มีบุคลิกที่ขี้เล่น และดูอบอุ่น 

เขาเริ่มหันดูแลตัวเองอย่างจริงจังตอนอายุ 60 ปี วางแผนชีวิตตัวเองให้ไปอยู่ในที่อากาศดีๆ ดูแลเรื่องอาหารการกิน ซึ่งเขาบอกกับเราว่าที่บ้านมีห้องสำหรับออกแบบอาหาร เพื่อดีไซน์อาหารแต่ละเมนูให้มีประโยชน์ และอร่อย ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอด้วยการตีเทนนิสทุกวัน วันละ และยังทำงานเขียนรูปที่ตนเองรัก นอกจากนั้นเวลาว่างยังไปปฏิบัติ และใช้ชีวิตตามหลักของพุทธศาสนา จึงไม่แปลกเลยที่จะมีหลายคนพูดเป็นเสียงเดียวกันว่า ‘เปี๊ยก โปสเตอร์’ เป็นผู้ชายที่อบอุ่น คุยด้วยแล้วมีความสุข มีกำลังใจ 

ผู้กำกับรุ่นเก๋ากับหนังยุคใหม่ 
เห็นชื่อเปี๊ยก โปสเตอร์ในรายชื่อนักแสดง เชื่อว่าหลายคนคงแปลกใจ และอดสงสัยไม่ได้ว่าอะไรเป็นเหตุให้อดีตผู้กำกับมือทองที่ไม่เคยผ่านงานแสดงมาก่อน และหันหลังให้กับวงการฯ มานาน ยอมใจอ่อนมารับเล่นหนังครั้งแรกในชีวิต 

“มันเป็นอะไรที่ท้าทายเราดีนะ มีผู้กำกับ (ย้ง-ทรงยศ สุขมากอนันต์) มากล้าจ้างให้เราเล่น เขาก็คงเห็นอะไรบางอย่างในตัวเรา เคยถามเขานะว่าทำไมถึงอยากให้เรามาเล่น เขาก็บอกว่าตอนที่ได้เจอได้คุยกับเราตอนรับรางวัลเกียรติยศ จากสมาคมผู้กำกับภาพยนตร์ไทย เขาบอกว่าได้คุยกับเราแล้วรู้สึกอบอุ่นนะ คุยแล้วมีกำลังใจ ซึ่งเหมาะกับตัวละครของเขา เป็นบทที่ต้องการกำลังใจ ทีนี้เขาก็เลยมาปรึกษาว่าเราจะรับเล่นหนังของเขาได้ไหม เราก็บอกว่าไม่มีปัญหา ลองดูแล้วกัน” 

สำหรับการแสดงครั้งแรก เรียกว่าผ่านไปได้อย่างฉลุย เพราะเขาคลุกคลีกับวงการหนังมานานเกือบครึ่งชีวิต “ตอนซ้อม เราก็แสดงไปตามความรู้สึก ตามความเข้าใจของเรา ถ้าผู้กำกับเห็นว่าใช้ได้ก็แปลว่าสื่อสารกันได้ ตอนเราเป็นผู้กำกับเราอยากจะเห็นภาพนั้น เราต้องพูดจาหว่านล้อมให้เขาเข้าใจในความรู้สึกอะไรต่างๆ ในจินตนาการของเรา แต่พอเรามาเป็นผู้แสดงมันเปลี่ยนไปกลายเป็นเราต้องแสดงภาพนั้นออกมา พอผู้กำกับบอกมาเราก็ต้องเรียบเรียงข้างในแล้วทำยังไงให้มันสามารถต่อเนื่องออกไป ให้ได้อารมณ์ แสดงให้ได้อย่างที่ผู้กำกับต้องการ เราก็ทำตามความเข้าใจของเราไปก่อน ถ้ามันยังไม่ถูกกับจินตนาการที่ผู้กำกับวางไว้เขาก็จะบอกเรา คือมันอาจจะตีควาหมายต่างกันนิดหน่อย เราก็เปลี่ยนได้ ก็เข้าใจ” 

ในอดีตเขาได้ชื่อว่าเป็นนักสร้างดาราหน้าใหม่ให้แก่วงการภาพยนตร์มาแล้วหลายต่อหลายคน เช่น ไพโรจน์ ใจสิงห์ จากเรื่อง ดวง, ตั้ม ไพโรจน์ สังวริบุตร และ โอ๋ ลลนา สุลาวัลย์ จากเรื่อง วัยอลวน 

“ตลอดมาเราก็เข้าใจนักแสดงดี เพราะว่าเราเอานักแสดงใหม่ๆ มาเล่นทั้งนั้น เราก็รู้ถึงความรู้สึกของนักแสดงใหม่ๆ นะ ที่เข้ามาตอนแรกมันก็ยังงงๆ อยู่ เหตุที่เราใช้นักแสดงหน้าใหม่ก็คงเหมือนกับคุณย้งนี่แหละ เราเลือกนักแสดงที่บุคลิกตัวจริงเหมือนกับบุคลิกของตัวละคร สมัยก่อนเราเลือกพระเอก นางเอกมา เราก็ไม่ใช่เอาใครก็ได้มาปั้นให้เป็นดารา แต่เราเลือกคนนั้นที่ธรรมชาติ ท่าทางของเขา มันคล้ายกับคนในจินตนาการของเรา ต้องให้ตรงกับตัวละครของเราสัก 70 เปอร์เซ็นต์ก่อนที่เหลือ เราก็ค่อยมาปรับแต่งเอา ประโยชน์จากนักแสดงใหม่คือหนึ่งเขาไม่มีคิวอื่น และสองคือตัวเขายังไม่มีคนรู้จัก เพราะฉะนั้นพอเขาแสดงหนังเรื่องนี้ ก็ทำให้คนเชื่อว่าเขาเป็นตัวละครตัวนั้นจริงๆ ถ้าสมมติว่าเอาดารามา คนก็รู้ว่า อ๋อ นี่ดาราคนนี้แสดง แล้วแสดงเป็นตัวนี้ แต่คนที่ไม่มีรู้จักว่าเป็นใครมาจากไหน พอดูแล้วเชื่อว่าเขาเป็นตัวละครตัวนั้นจริงๆ 

เรามาในฐานะผู้แสดง เราก็ต้องทำตัวไม่ให้เป็นภาระของผู้กำกับ เราต้องไม่แสดงความคิดเห็นที่มันแย้งกับผู้กำกับ เพราะว่าเขาก็เป็นผู้กำกับที่มีประสบการณ์ ทำหนังมา 4-5 เรื่องแล้ว เรียกว่าเขาก็ต้องมีกึ๋นแล้ว แต่มันก็อาจจะมีมุมมองที่ต่างจากเราบ้าง แต่เราก็ไม่ค่อยได้ติดตามการทำหนังในสมัยใหม่เท่าไหร่แล้ว การกำกับหนังแบบสมัยใหม่ กับรุ่นเราก็ไม่เหมือนกัน เพราะฉะนั้นเราต้องเป็นผู้ตาม ตามวิธีการของเรา 

แม้ว่าจะไม่ได้ติดตามวงการหนังมานานแล้ว พอมารับงานแสดงครั้งแรก เขาก็ยังมีไฟ ทำการบ้านอย่างดี หาหนังฝรั่งมาดู เพื่อหาความรู้เกี่ยวกับการทำหนังในยุคสมัยใหม่ 
“หนังสมัยนี้แตกต่างจากสมัยก่อนเยอะ สมัยก่อนถ่ายหนังด้วยฟิล์ม แต่สมัยนี้ถ่ายด้วยฮาร์ดดิสก์ การใช้ฟิล์มถ้าเสียไปแล้วมันก็เสียไปเลย มันก็แพง แต่ฮาร์ดดิสก์ถ่ายเสียก็ไม่เป็นไร มันก็ลบแล้วทำใหม่ได้ เพราะฉะนั้นสมัยนี้จึงถ่ายได้พิถีพิถันมากขึ้น สมัยก่อนเราถ่าย 3 เทคก็ถือว่าค่อนข้างใช้ฟิล์มเปลืองแล้ว ถ้าให้เรากลับมาทำงานในวงการกนัง เราก็ต้องตามเขา มันเป็นคนละยุคกันไปแล้ว ตอนที่มาเล่นหนัง เราเห็นวิธีการถ่ายทำ เราก็เลยเอาหนังฝรั่งมาดูว่ามันแตกต่างกันไหม เราก็มองว่าไม่แตกต่าง แต่นี่จะแตกต่างหน่อยตรงที่จะจัดแสงนวล เพราะว่าอุปกรณ์ไฟต่างๆ มันเอื้อให้ทำได้ แต่ว่าหนังฝรั่งจะจัดตาม story ของมัน ถ้ามันเป็นเรื่องหนัก คอนทราสต์ก็จะสูงหน่อย มีการดีไซน์ช็อต ตามลักษณะของหนังด้วย” 



งานศิลปะสไตล์เปี๊ยก โปสเตอร์ 
ผลงานของเขาไม่ว่าจะเป็นภาพยนตร์ หรืองานเขียนภาพ แต่ละชิ้นล้วนขึ้นชื่อว่าเป็นงานที่มีความโดดเด่น และแตกต่าง ทั้งเรื่องของวิธีคิด การนำเสนอ ตลอดจนเทคนิกการใช้สี ใช้แสง และอารมณ์ของภาพ 

“งานทำหนังกับงานเขียนรูปมันก็จะมีส่วนร่วมกันอยู่ ในการใช้สี ใช้ภาพ เหมือนเราจะเขียนภาพครอบครัวหนึ่งขึ้นมา เราต้องคุยกับเขาก่อนว่าเขาเป็นคนยังไง คือไม่ใช่เขียนให้แค่หน้าเหมือน ต้องเขียนให้รู้ว่านี่คือตัวเขา นี่คืออารมณ์ของเขาด้วย การทำหนังก็เหมือนกัน 

การที่เราเป็นนักเขียน เราก็สามารถเล่าเรื่องด้วยภาพได้ด้วย ความแตกต่างอาจจะเป็นที่เราตัดช็อตต่างๆ แล้วเราทำคาเมร่า มูฟเม้นต์ ให้มันหลากหลายและสอดคล้องกับการเล่าเรื่อง ทำให้ทุกช็อตมันน่าสนใจ ทุกเรื่องต้องทำ storyboard ก่อน เราเขียนรูปก่อนทุกๆ ช็อตเลย การเขียน drawing เป็น story board มันก็ทำให้เราได้เห็นภาพก่อนถ่ายเลย มันก็เลยง่ายเวลาถ่ายทำ ทำให้คนดู ทุกคนเข้าใจหมด รู้ว่าจะวางกล้องยังไง จะตั้งแสงตรงไหน จะแอบตัวกล้องได้ เพราะ story board มันบอกอยู่แล้ว มันก็สนุกกับการได้เล่นมุมกล้องที่มันจะสื่อในการเล่าเรื่องของเรา 

เราสามารถเล่นแร่แปรธาตุ เอาสีโปสเตอร์ที่เขาใช้เขียนหนังสือเนี่ย แต่มันมีความหนาของสี เราก็มีวิธี หนึ่งมันแห้งเร็ว เวลาเขียนรูปคนมันต้องแห้งช้ากว่านี้ เราก็คิดวิธี พอดีเราเป็นคนที่ชอบคิดอะไรออกวิทยาศาสตร์ ก็คิดว่าทำยังไงถึงจะเขียนเป็นเนื้อคนได้สีสวยๆ เราก็คิดว่าสีมันละลายในน้ำได้ วันหนึ่งเราเขียนข้างนอกแล้วฝนตก อากาศชื้น ปรากฏว่าภาพมันไม่แห้ง มันเกลี่ยได้ เราก็อ๋อ ต้องมีความชื้น เราก็ไปซื้อเครื่องแอร์บรัชมา เป็นละอองน้ำ พอเขียนทำท่าจะแห้ง มันก็ต่อไป เราก็เหยียบมอร์เตอร์ที่เท้า มันก็เป่าละอองน้ำ ฟู่ออกมา ซึ่งไม่มีใครรู้ เทคนิกนี้ และช่วงนั้นมีระบบการพิมพ์แบบออฟเซ็ตเข้ามา พิมพ์ได้สวย คนก็นิยมทำใบปิด เป็นยุกต์ที่มีนวัตกรรมนี้มาพอดี เราก็เลยได้งานมากหน่อย” 




ดีไซน์ชีวิต ออกแบบอาหาร 
หลังจากทำงานหนัก มาตลอดเกือบ 30 ปี ในวัย 60 ปี เขาตัดสินใจทิ้งทั้งงานในวงการภาพยนตร์ ขายบ้านที่กรุงเทพฯ และหันมาใช้ชีวิตช่วงบั้นปลายอยู่ที่บ้านภูตะวันรีสอร์ต อ.ปากช่อง จ.นครราชสีมา อย่างเรียบง่าย และมีความสุข 

“ทำหนังมา 3 เรื่องก็ตัดสินใจได้แล้วว่ามันไม่ใช่ชีวิตของเราหรอก ชีวิตของเราคือการเป็นนักเขียน แต่ว่าอาชีพผู้กำกับมันให้ค่าตอบแทนดี แล้วเราก็ต้องเลี้ยงลูก ก็เลยต้องทำไป แต่เราก็ต้องรับผิดชอบในสิ่งที่เราทำ คือทำให้ดีที่สุด พอถึงวันที่ลูกโตหมดแล้ว เราไม่มีภาระอะไรแล้ว เราก็เลยเลิกทำงานเป็นผู้กำกับ กลับมาทำงานที่ตัวเองรัก เขียนรูป มีสตูดิโออยู่ที่ต่างจังหวัด 
เราวางแผนเอาไว้แล้วว่าพอเราอายุ 60 ลูกๆ ก็เป็นฝั่งเป็นฝากันหมดแล้ว เราก็ไม่ต้องทำหนังแล้ว ซึ่งเป็นงานหนักเกินไปสำหรับวัยเรา เราก็คิอว่าวัย 60 เนี่ย เราต้องดูแลร่างกายเราแล้ว เราคิดว่าต้องดูแลตัวเองไม่ให้เจ็บป่วย เป็นภาระแก่ลูกๆ เพราะลูกๆ แต่งงานไป เขาก็ต้องไปสร้างเนื้อสร้างตัว เราก็เลือกสถานที่ หนึ่งเราชอบที่ๆ มันสงบ สองต้องอากาศดี อากาศเป็นส่วนหนึ่งของสุขภาพร่างกาย ปากช่องก็อยู่บนเขา เป็นโอโซนอันดับ 6 ของโลก เราก็ได้อากาศดีๆ แล้ว 

การกินอาหารก็สำคัญ you are what you eat คุณเป็นยังไงก็อยู่กับการกินของคุณด้วย เพราะฉะนั้นเราก็เลยศึกษาเรื่องเคมีต่างๆ ของร่างกาย ว่าอาหารประเภทไหนที่สอดคล้องกับความต้องการของร่างกาย อะไรที่เป็นตัวทำให้เราเป็นโรคภัยไข้เจ็บ อย่างผู้ชายก็มักเป็นต่อมลูกหมากโต แล้วเสียชีวิตด้วยเหตุนี้ประมาณครึ่งกว่า เราก็ต้องศึกษา ว่าต้องกินยังไง ต้องบริหารร่างกายยังไงถึงจะไม่เป็นโรคนี้ เราก็ทำตาม อายุมากกระดูจะเสื่อม เราก็ต้องดู 

ที่บ้านจะมีห้องออกแบบอาหาร เป็นมีห้องหนังสือ ที่มีหนังสือเกี่ยวกับสุขภาพวางเรียงรายเต็มชั้นหนังสือ มีโต๊ะเขียนแบบไว้จดรายการอาการที่จำเป็น และมีประโยชน์ต่องร่างกาย ที่สำคัญ แต่ละเมนูต้องอร่อย ในการทำอาหารแต่ละมื้อเราก็จะดูอาหารประเภทไหนที่เป็นประโยชน์ต่อร่างกาย ประเภทไหนที่เป็นโทษต่อร่างกาย แล้วก็จะมีความรู้เรื่องผักต่างๆ นอกนั้นก็จะมีตำราอาหาร เพราะเรากินหารให้ถูกกับหลักสุขภาพของเราแล้วมันต้องกินให้อร่อยด้วย ไม่ใช่ถูกสุขภาพอย่างเดียวแต่ไม่อร่อยเลย ก็ไม่ไหว 

แต่ละเมนูต้องมีแคลเซียม มีปลาเล็กปลาน้อย มะเขือเทศมีสารไลโปฟีน มันก็จะช่วยให้เราไม่เป็นต่อมลูกหมากโต เบต้าแคโรทีมก็เป็นแอนตี้ออกซิเดน ป้องกันมะเร็ง อาหารทอดซ้ำๆ อย่างกล้วยแขก ปาท่องโก๋ เราต้องอย่ากินบ่อย เพราะมันมีสารจากในน้ำมัน ถ้าความร้อนเกิน 180 องศา สารตัวข้างในจะเปลี่ยนรูปแบบใหม่เป็นสารที่อันตรายต่อร่างกาย” 
ทุกวันนี้เขายังรับงานเขียนรูปอยู่ ที่บ้านปากช่อง แต่หลายคนอาจจะไม่ค่อยรู้ “คนส่วนใหญ่ไม่ค่อยรู้หรอกว่าเรายังวาดรูป เพราะคิดว่าเราทำหนังมีชื่อเสียง มีเงินมากมาย จริงๆ เราทำหนังเรื่องหนึ่งเราได้ค่ากำกับ 2 แสน ค่าเขียนบท 50,000 ปีหนึ่งทำหนังเรื่องหนึ่ง เดือนหนึ่งจะเป็นเงินเท่าไหร่ ส่งเสียลูก 4 คน มันก็ไม่มีเหลือหรอก เราก็ยังรับงานวาดรูป เราถนัดวาดรูปเหมือน 
ที่บ้านจะมีสตูดิโอ บางทีเขานัดไปถ่ายรูปที่บ้านก็มี เราจะใช้กล้องถ่ายรูปก่อน แล้วเอามาเขียน เราจะดูแสง ดูอารมณ์ว่าเป็นอย่างไร ที่ต้องใช้วิธีนี้เพราะว่าการเอาคนมานั่งเฉยๆ ให้เขียนรูปเนี่ย นั่งแค่ 10 นาที บุคลิกก็ไม่มีใครอยู่ได้ ตอนเราถ่ายรูป เราก็คุยกับเขาไปด้วย เขาชอบกีฬา ก็จะออกท่าทาง ให้เราถ่าย เราจะดูคอมโพสิชั่นไว้ แล้วเอากล้องตั้งบนขาตั้งไว้ข้างหลัง แล้วต่อสายชัตเตอร์ไว้ในมือ ระหว่างที่คุยกับเขา เราก็กดชัตเตอร์ไปเรื่อยๆ แล้วเอามาเลือกเอา เดี๋ยวนี้ก็ใช้กล้องดิจิตอลแล้ว การที่ทำให้ภาพมีชีวิต อยู่ที่สีสัน แล้วเราจับอารมณ์ เราคุยกับเขา เวลาถ่าย บุคลิกเขาก็จะออกมา 
คนสมัยใหม่ก็อาจจะไม่ชอบรูปเรียบๆ เขาอย่างได้รูปหวือหวาหน่อย มีแอกชัน เหมือนน้อยก็ไม่เป็นไร แต่มันมีทีพู่กัน แต่ก็ยังมีคนที่ชอบงานแบบเรา เรีบกแนวเรียลริสติก เป็นภาพแนวเรียบๆ ละเอียดหน่อย เป็นภาพเหมือนจริง แล้วมีอารมณ์ เป็นภาพเหมือนที่ดูแล้วมีชีวิต แต่ไม่ใช่แบบโมเดิร์นอาร์ต” 



60 ดูแลตัวเองยังไม่สาย 
สำหรับคนเมืองที่มีข้ออ้างสารพัดว่าไม่มีออกกำลังกาย ลองมาดูการใช้ชีวิตของผู้ชายคนนี้แล้วจะรู้ว่า การดูแลตัวเองไม่มีคำว่าสายเกินไป ก่อนหน้านี้อาชีพผู้กำกับก็ทำให้เขาใช้ร่างกายอย่างเต็มที่ กิน นอน ไม่เป็นเวลา แต่เขาไม่เคยทำร้ายตัวเองด้วยการสูบบุหรี่หรือดื่มเหล้า นั่นจึงเป็นเหตุให้เขาไม่เคยมีโรคภัยไข้เจ็บร้ายแรง 
“ก่อนหน้านี้ก็ไม่เคยเป็นโรคอะไร เผอิญว่าเราเป็นคนไม่สูบบุหรี่ ไม่ดื่มเหล้า กินเหล้าก็รู้สึกไม่อร่อย สูบบุหรี่เรารู้ว่ามีอันตราย เพิ่งเริ่มมาดูแลจริงจังตอนอายุ 60 ช่วงก่อน 60 เราทำอะไรกับตัวเองไม่ค่อยได้หรอก เราทำหนังเนี่ยเหมือนเราเอาชีวิตให้มัน กินไม่เป็นเวลา นอนไม่เป็นเวลา บางวันได้นอนแค่2-3 ชั่วโมง ทั้งเขียนบท ทั้งกำกับ ทำสารพัด ไม่มีโอกาสที่จะดูแลร่างกายหรอก เพียงแต่เราไม่ทำร้ายตัวเองด้วยการสูบบุหรี่ ดื่มเหล้า พออายุ 60 เราก็รู้ว่าร่างกายเราจะไม่แข็งแรงเหมือนเก่าแล้ว จะใช้งานมันหนักนักไม่ได้ เราก็ต้องกลับมาดูแลร่างกาย อาหารดีแล้ว อากาศดีแล้ว เราก็ต้องออกกำลังกายด้วย” 

พอทราบเรื่องการออกกำลังกายของชายวัย 80 ปี ก็อดทึ่งไม่ได้ เพราะทุกวันเขาต้องเล่นเทนนิสวันละ 1-2 ชั่วโมง เป็นประจำ เรียกว่าถ้าเทียบกับคนวัยเดียวกัน เขาดูหนุ่ม และแข็งแรงกว่าเยอะทีเดียว 

“ทุกวันนี้ก็เล่นเทนนิสทุกวัน ช่วงเย็น วันละ1-2 ชั่วโมง คู่ตีของเราอายุแค่ 11 ขวบ แต่มีเหรียญคล้องคอเขาอยู่ เป็นแชมป์เยาวชน เราก็ตีกับพวกเด็กๆ ถ้าตีกับรุ่น 30-40 เราอัดสู้เขาไม่ได้ เขาอัดแรง เราก็ตีกับรุ่นเด้กหน่อย มันก็อัดแรง แต่เจ้าเล่ห์สู้เราไม่ได้ (หัวเราะ) คนอายุ 80 มีเราคนเดียว ยังมีคนมาถามว่าอาทำได้ยังไง อายุขนาดนี้แล้วยังมาตีเทนนิส เพราะคนอายุ 80 บางคนธรรมดาก็เดินไม่ไหวแล้ว” 



สุขภาพกายดีใจต้องดีด้วย 
นอกจากใช้เวลาว่างออกกำลังกาย ยังดูแลจิตใจตัวเองด้วการปฏิบัติธรรม จึงไม่แปลก ที่ใครได้คุยกับเขาจะรู้สึกถึงความเป็นผู้ใหญ่ ที่อบอุ่น แข็งแรง กระฉับกระเฉง 
“เวลาเขียนรูปสมัยก่อนต้องเปิดเพลงฟัง พออยู่ปากช่องก็มีวิทยุชุมชนเราก็ฟังพระเทศน์ แล้วก็ไปสะดุดกับพระองค์หนึ่ง ท่านชยสาโร อดีตเจ้าอาวาสวัดป่านานาชาติ เราก็ฟัง แล้วรู้สึกว่างอค์นี้ เป็นวิทยาศาสตร์นะ พอบอกว่าตัวเราประกอบด้วยขันธ์ 5 รูปร่างตัวตน อารมณ์ สัญญา ความคิด ความคิดฟุ้งซ่าน บางทีมันก็คิดเตือนเรา บางทีมันก็คิดยุยงเรา ตัวเราเป็นตัวรับสารต่างๆ ลืมตาก็เห็นภาพ หูก็ได้ยินเสียง ใครด่าเราก็โกรธ ตัวเวทนามาเลย สัญญาจำได้ก็บอกว่าเขาด่าเรานะ มีเรื่องแล้ว ถ้าเรารู้ทันมัน รู้ทันความคิดของเรา มันก็อยู่ 5 ตัวนี้หมุนเวียน ประกอบขึ้นมาเป็นตัวตนเรา เป็นรูปธรรม และนามธรรม 4 ตัว เราก็คิดว่าใช่เลย นามธรรมชนิดนี้ มีรัก โลภ โกรธ หลง พอองค์นี้เทศน์เราก็จะติดตาม ท่านเป็นพระนักเทศน์ นักเขียน เพราะสามารถเผยแพร่ได้มากกว่า 

สัปดาห์หนึ่งและสามของเดือน จะมีการปฏิบัติธรรมที่บ้านบึง แบบย่อๆ ตอนเช้าถึงบ่อยโมง ยิ่งเราได้ไปปฏิบัติ เราก็ยิ่งเข้าใจได้เร็ว ตอนเช้าก็สวดมนต์ ทำวัตรเช้า ฟังพระเทศน์ ท่านก็จะตอบปัญหาต่างๆ ส่วนใหญ่ก็เป็นปัญหาในชีวิตประจำวัน อย่างเราก็ไม่มีปัญหาชิวิตอะไร การไปนั่งสวดมนต์ มันเพลิน มันทำให้จิตใจสงบ การนั่งสมาธิก็คือการเอาชนะความฟุ้งซ่านของตัวเอง ถ้าเราฝึกบ่อยๆ 

เราก็นำหลักธรรมมาปรับใช้กับตัวเอง อย่างไตรลักษณ์ เกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไป เราก็คิดได้ว่าของมาอยู่กับเรามันเกิดขึ้นแล้ว แล้วมันก็อยู่กับเรา เราได้ใช้ไปสักพักแล้ว บทมันจะหายมันก็หายได้ ถ้ามันไม่หายมันก็อยู่กับเรา วันหนึ่งมันก็อาจจะหายไปได้ มันเป็นกฎของธรรมชาติ” 

หลักไตรลักษณ์ของเขาก็สามารถนำมาปรับใช้กับสถานการณ์วิกฤติน้ำท่วม ที่ทำเอาหลายคนวิตก นอนไม่หลับอยู่ในขณะนี้มาปรับใช้ได้อย่างดี น้ำท่วมเมื่อมันเกิดขึ้น แล้ว มันอยู่กับเรา วันหนึ่งมันก็จะหายไป ถ้าไม่ไปเครียดตามมัน พอมันหายไป ตัวเราก็เป็นปกติได้อย่างเก่า 

เวลาคุยกับใครแล้วเขารู้สึกว่าเรามีความสุข เป็นเพราะเราไม่มีอารมณ์ มีแต่ความปรารถนาดี คิดได้อย่างนี้เราก็ไม่ต้องไปปฏิบัติธรรมบ่อยๆ ทุกเช้าเราก็ทำอาหารสุขภาพไปดักรอท่านใส่บาตรทุกวัน” 

พอถามว่าจะเขียนรูปไปจนถึงอายุเท่าไหร่ เขาบอกว่าบั้นปลายชีวิตก็วางแผนเอาไว้แล้วว่าจะขายบ้านหลังใหญ่ แล้วปลูกบ้านหลังเล็กแทน ใช้ชีวิตอย่างเรียบง่าย ปฏิบัติธรรม และรอวันสุดท้ายของชีวิตอย่างสงบ 

“ถ้ามีคนจ้างเราก็จะเขียนรูปไปเรื่อยๆ แต่ก็รู้ว่าวันหนึ่งเราก็ต้องหมดสภาพ เราก็วางแผนชีวิตเอาไว้ต่อไป เหมือนตอนเราอายุ 60 เราก็ขายบ้านที่กรุงเทพฯ หมด แล้วมาใช้ชีวิตที่ปากช่อง ตอนนั้นเราก็คิดว่าเรายังทำงานเขียนรูปได้ ตอนนี้เราก็คิดว่าถ้าเราอายุ 85 เราคงต้องไปปลูกบ้านหลังใหม่อยู่ แค่ชั้นเดียว ห้องเล็กๆ อุปกรณ์ต่างๆ ที่เคยมีไม่ต้องเอาแล้ว แล้วเอาเงินจากการขายบ้าน ฝากแบงก์เป็นทุนกินของเรา กินอยู่ง่ายๆ ปลูกผักที่ทำกินได้ง่ายๆ วันนั้นก็ปฏิบัติ ทำจิตใจให้สงบ รอวันที่ตายอย่างสงบ” 

ข่าวโดยทีมข่าว M-Lite/ASTV สุดสัปดาห์ 
ภาพโดย อดิศร ฉาบสูงเนิน 
ขอบคุณสถานที่ถ่ายภาพ 
ร้าน Reflections ชั้น 4 Terminal 21

Views: 541

Reply to This

© 2009-2024   PORTFOLIOS*NET by CreativeMOVE.   Powered by

Badges  |  Report an Issue  |  Terms of Service