กากเมะ ความฝันของแอนิเมชันไทย

เปิดใจอีกกลุ่มคนทำงานแอนิเมชันในเมืองไทย ขั้นตอนการทำงาน-วิธีคิดงาน เสน่ห์การเล่าเรื่องด้วยแอนิเมชันในแบบฉบับกลุ่มของเขาที่ชื่อ 'กากเมะ' 

อุปกรณ์เทคโนโลยีสมัยใหม่ช่วยให้จินตนาการของมนุษย์ปรากฏเป็นภาพเสมือนจริงยิ่งขึ้นทุกที ในขณะเดียวกัน ภาพเคลื่อนไหวสองมิติ (2D animation) ก็ยังครองใจเด็กๆ รวมถึงผู้ใหญ่อีกหลายคนอยู่เสมอ สิ่งที่ทำให้งาน 'ภาพเคลื่อนไหวสองมิติ' ไม่เลือนหายไปกับกาลเวลา คือ เอกลักษณ์และคุณค่าของงานอันเป็นเสน่ห์ซึ่งเทคโนโลยีการสร้างภาพสมัยใหม่ไม่อาจทดแทนได้ 

ภาพเคลื่อนไหวสองมิติที่ทุกคนคุ้นเคยและต่างเคยสัมผัสมาในช่วงเวลาหนึ่งของชีวิตคือ 'การ์ตูน' หรือที่ในประเทศญี่ปุ่นซึ่งเป็นเจ้าของผลงานการออกแบบและสร้างการ์ตูนที่ได้รับการยอมรับมากที่สุดเรียกว่า 'อนิเมะ' หรือ 'แอนิเมชัน' นั่นเอง ในบ้านเรามีนักออกแบบที่ทำงานด้านนี้อยู่ไม่น้อย หนึ่งในนั้นคือทีมงาน กากเมะ สตูดิโอ (KARKME studio) 

กากเมะ (กาก-เมะ) เป็นการรวมตัวของคนทำงานในแวดวงแอนิเมชัน ประกอบด้วย เกื้อ-เกื้อกูล ชีวะพงษ์, ต้อง-เฉลิมวุฒิ ศรีสุข, บอม-ธิตินันท์ จันทร์แต่งผล และ ป่าน-ปัณยวีร์ พงศ์สินไทย 
"ก่อนหน้านี้ผมทำงานแอนิเมชัน ทำตัดต่อ ทำงานการ์ตูนเรื่องหนึ่งให้ช่องสามอยู่ บอมเหมือนกัน" เกื้อกูล เล่าถึงจุดเริ่มต้นของ 'กากเมะ' 

"ก่อนหน้านั้นผมทำอยู่บริษัทญี่ปุ่นกับต้อม แล้วก็ได้มาทำงานที่บริษัทเดียวกับเกื้อ แล้วมีเหตุที่บริษัทต้องปิดตัวไป ก็ออกมาเป็นคนว่างงาน พอดีเราอยากทำแอนิเมชันอยู่ ก็ลองมาชวนเกื้อดู เพราะว่าเกื้อเคยเอางานแอนิเมชันกากๆ ของเขาลงในยูทูบ แล้วเรารู้สึกว่าเรื่องมันน่าสนใจนะ อยากเอามาทำใหม่ให้สวยๆ ก็เริ่มคุยกันเรื่อยมา แต่สุดท้ายเราก็ไม่ได้ทำงานนั้น ไปทำอย่างอื่นแทน" ธิตินันท์ กล่าวเสริม 

"บอมเขาอยากเอางานนั้นมาทำให้สวยขึ้น แต่ผมบอกว่ามันอยู่อย่างนั้นมันโอเคแล้ว เราสื่ออะไรที่เราอยากจะสื่อ แล้วถึงเอามาทำใหม่มันก็เหมือนเดิม ก็ภาพสวยขึ้น ไม่เอาดีกว่า เลยบอกว่าเราน่าจะมาทำมิวสิควีดิโอของวง 'ภูมิจิต' เพราะว่าบอมเป็นมือเบสของวงภูมิจิตอยู่แล้วด้วย ถ้าเราทำก็เหมือนเอื้อให้บอมด้วยมันก็ดี เลยเป็นจุดเริ่มต้นที่กากเมะทำมิวสิควีดิโอเพลง 'ด้วยความเคารพ' ของวงภูมิจิต ปล่อยออกมาก็ทำให้คนตกใจอยู่สักพักหนึ่ง แต่เนื่องจากวงดนตรีไม่ได้ดังมาก เลยไม่ได้ขยายวงกว้างเท่าไร" 

ผลงานล่าสุดของ 'กากเมะ' ยังคงเป็นงานมิวสิควีดิโอ ซึ่งครั้งนี้พวกเขามีโอกาสทำมิวสิควีดีโอให้กับวง พาราด็อกซ์ (paradox) 

"บอมรู้จักกับพี่ต้า (อิทธิพงศ์ กฤดากร ณ อยุธยา - นักร้องนำ วงพาราด็อกซ์) อยู่แล้ว บอมเลยเอามิวสิควีดีโอเพลง 'ด้วยความเคารพ' ให้พี่ต้าดู เขาก็สนใจอยากได้มิวสิควีดีโอเพลง 'ปลายสายรุ้ง' ซึ่งเป็นเพลงใหม่ของเขาบ้าง ก็เลยตกลงว่าทำกัน" 

เกื้อกูล อธิบายขั้นตอนการทำงานให้ฟังว่า 

"เบื้องต้นเราต้องคุยกับเจ้าของงานคือพี่ต้าว่าอยากได้อะไร เขาให้เพลงมาฟัง บอกว่าอยากได้ประมาณนี้แต่ไม่มีเนื้อเรื่องให้เราตายตัว เช่นแบบว่าอยากได้เกี่ยวกับการรอคอย แล้วก็เหมือนนกที่บินไปเปลี่ยนฤดูกาลต้องไปแล้ว อะไรแบบนี้ เราก็ต้องมาตีความแล้วเขียนสตอรี่บอร์ด (Story Board) ไปให้เขาดูก่อน เขาโอเค แล้วเราก็เอาจากสตอรี่บอร์ดนั้นมากำหนดเวลา กำหนดมุมกล้อง แล้วก็มาตัดเป็น Animatic คือเอาสตอรี่บอร์ดหยาบๆ มาตัด เพื่อกำหนดเวลา แล้วก็มาดูว่าตรงไหนจะปรับ ถ้าทุกอย่างโอเคแล้ว ทางพี่ต้าโอเค เราถึงเริ่มเขียนกัน คือทำพรี-โปรดักชั่น (Pre-Production) ออกแบบคาแรคเตอร์ให้ชัวร์ ออกแบบสีของคาแรคเตอร์ อันนั้นคือขั้นตอนเบื้องต้น" 

ขั้นตอนนี้เองที่ทุกคนบอกว่าเป็นส่วนหนึ่งที่สนุกที่สุดในงาน 

"สนุกตอนเริ่มกับตอนจบครับ ตอนเริ่มโปรเจคจะแบบว่า อยากได้นั่นนี่ คิดนั่นคิดนี่ออก ก็สนุกดีตอนนั่งคิดกัน ออกแบบคาแรคเตอร์อะไรแบบนี้ ตอนกลางนี่เครียดเหมือนกับว่าเราอยู่กับมันนาน แทบจะอ้วกแล้ว อะไรอย่างนี้ พอจะจบเราก็เริ่มจะเห็นภาพรวมว่ามันใกล้จะเสร็จแล้วนะ" 

นอกจากการตอบโจทย์ของงาน 'กากเมะ' ยังมีสิ่งที่แฝงไว้ในผลงานอีกด้วย 

"จุดเด่นของเราค่อนข้างจะเป็นเรื่องแนวความคิดมากกว่า เรื่องภาพเราก็อยากให้ออกมาสวย แต่ว่าในงานของ 'กากเมะ' จะมีอะไรซ่อนอยู่ ถ้าคุณหยิบเอาไปได้ มันไม่ใช่งานที่ดูกลวงๆ ขายภาพอย่างเดียว อย่างในเพลง 'ด้วยความเคารพ' ถ้าตั้งใจดู จะรู้ว่าเราแอบใส่อะไรไปเยอะ แบบว่าไปคิดเองนะ ไม่ใช่งานแบบดูแล้วผ่านไปเลย มองฟ้าก็มองฟ้า ชี้นกเป็นนก มันจะมีอะไรให้คิดหน่อยแล้วแต่ใครจะตีความไป เราจะไม่สื่ออะไรตรงๆ มาก อยากให้คนดูแล้วได้อะไรไปบ้าง เหมือนที่ใส่ในมิวสิควีดิโอของพาราด็อกซ์ด้วย" 

การสร้างงานแอนิเมชันสำหรับเพลงที่มีความยาว 3-4 นาที ทีมงาน 'กากเมะ' บอกว่า ต้องใช้เวลานานนับเดือน 

"อย่างของพาราด็อกซ์เราใช้เวลาประมาณเกือบสามเดือน ถ้าเป็นทีมอื่นผมว่าเร็วกว่านี้ แต่ทีมผมคนน้อย หลักๆ ทำสามคน ตอนนี้ก็แบ่งจ่ายงานที่บางทีเรารับผิดชอบไม่ไหว" 

จุดเด่นของการเล่าเรื่องด้วยภาพแอนิเมชัน พวกเขาให้ความเห็นว่า 

"มันได้ภาพแบบหลายมิติครับ อยู่ที่ว่าเราจะทำให้มันเป็นอย่างไร คือมันสื่อสารจินตนาการได้เยอะกว่า อาจจะได้เปรียบที่พอเราคิดปุ๊บก็วาดออกมาเลย เวลาทำหนังเราคิดแล้วต้องไปหาโลเคชัน หานักแสดง อาจจะไม่ได้อย่างที่เราต้องการก็ได้ เราก็ต้องยอมว่า เออ...เอาแบบนี้ก็ได้ แต่การ์ตูนเรา เฮ้ย...ไม่ชอบ เราวาด เราแก้ จนกว่าเราจะชอบ เราไม่ชอบวาดเหมือนเราก็วาดเบี้ยวๆ ก็ได้" 

เสน่ห์ของภาพเคลื่อนไหวแบบสองมิติสำหรับทีมงานกากเมะ คือ 

"2D มันเป็นศิลปะ 3D ก็เป็นศิลปะเหมือนกัน มันเป็นศิลปะคนละแบบ แล้วแต่คนชอบ มันมีเสน่ห์ทั้งสองแบบ ถ้าเป็นเด็กรุ่นใหม่ๆ อาจชอบ 3D อย่าง Toy Story อันนี้ผมก็ชอบเหมือนกัน ผมว่ามันสวยคนละแบบ การที่เรานั่งดู 2D บางอย่างมันก็ถ่ายทอดมาได้ดีกว่า 3D แต่ 3D บางอย่างมันก็ได้เปรียบ ผมว่ามันควบคู่กันไป มันไม่ได้เหมือนกับต้องมาแข่งกันมาประชันกันว่าใครเจ๋งกว่า มันแข่งกันไม่ได้... 

บ้านเรา 2D ก็คือ 2D เพราะฉะนั้นคนที่ทำจะจริงใจกับมันมากกว่า เพราะเราไม่สามารถไปต่อยอดทำอย่างอื่นได้นะ เราทำเพราะว่าเราชอบที่จะทำ มันต้องคนอย่างนั้นถึงจะทำได้" 

แต่งานแอนิเมชันในประเทศญี่ปุ่นนั้นสามารถนำไป 'ต่อยอด' ได้มากมาย 

"ต่อยอดได้หลายอย่าง เป็นสื่อโฆษณาก็ได้ เดี๋ยวนี้ญี่ปุ่นก็เล่นการ์ตูนมาในงานโฆษณาเยอะแล้ว หรือจะเอาเป็นโมเดลอะไรก็ได้ เป็นสินค้า ขายได้หลายอย่าง เอาไปติดตามแบรนด์...พอญี่ปุ่นเขาคิดการ์ตูนมาเรื่องหนึ่ง เหมือนกับเขาปลูกต้นไม้มาต้นหนึ่ง เขาสามารถเก็บตั้งแต่รากยันผลมันเลย เหมือนกับการ์ตูนเรื่องหนึ่ง เอาคาแรคเตอร์ไปทำของเล่น มีเพลงขายเพลงได้อีก แล้วก็เอาไปลงเป็นตู้ปาจิงโกะ มันไปได้เยอะเลย เขาไม่ได้ขายการ์ตูนแค่ได้ฉายให้เด็กดูแล้วจบ แต่บ้านเรายังไม่ครบวงจรขนาดนั้น บ้านเราการ์ตูนก็คือการ์ตูน การ์ตูนก็คือสื่อที่ให้เด็กดู" 

สิ่งที่ทำให้การ์ตูนของญี่ปุ่นนำหน้าทุกประเทศ สมาชิกของ 'กากเมะ' ให้ความเห็นว่า 

"เขาตอบโจทย์ได้ทุกเพศทุกวัยนะครับ รองรับคนดูได้ทุกกลุ่มไม่ได้ให้แต่เด็กดู การ์ตูนเขาจะมีหลายแนวมากการ์ตูนของเขาคือหนังเลย มีทั้งโป๊ แอ็คชั่น ตลก มีครบเลย เป็นหนัง แต่ว่าถ่ายทอดมาในรูปแบบการ์ตูน เป็นจุดที่น่าจะเป็นจุดแข็งของเขาด้วย อีกอย่างเขาทำงานคุณภาพอยู่แล้ว การ์ตูนเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตเขาเหมือนคนจีนปั่นจักรยาน คนญี่ปุ่นก็ดูการ์ตูนเป็นวัฒนธรรม... 

แต่ประเทศเรามันเป็นวัฒนธรรมไม่ได้ อาจจะเป็นว่าเราเสพการ์ตูนบ้านเขาจนชิน พอมีผลงานที่ทำแล้วคุณภาพไม่ถึง คนซื้อก็เกิดคำถามว่าคุ้มที่จะซื้อหรือเปล่า คุ้มที่จะดูหรือเปล่า สมมติว่ามีแผ่นออกมาขายราคาเท่ากัน เรื่องหนึ่งเป็นการ์ตูนญี่ปุ่นอีกเรื่องเป็นการ์ตูนไทย ราคาเท่ากันเขาก็เลือกที่จะซื้อการ์ตูนญี่ปุ่นเพราะว่าคุณภาพมันเหนือกว่า... 

มานั่งคิดๆ ดู การ์ตูนไทยก็ไม่มีอะไรที่ไม่ใช่การ์ตูนเด็กด้วยนะ โตหน่อยก็เห็นเป็นการ์ตูนของพระพุทธเจ้า ซึ่งแล้วการ์ตูนวัยรุ่นยุคกลางมันอยู่ไหนวะ (หัวเราะ)" 

หากจะวัดคุณภาพของงานแอนิเมชัน แต่ละคนมีความเห็นที่แตกต่างกันออกไป 

"บางคนอาจจะวัดเรื่องภาพ แต่บางทีผมดูงานหลายคนแล้วผมชอบดูที่ 'เนื้อหา' มากกว่า เห็นงานที่สวยๆ แล้วไม่มีอะไรเลยมันก็เยอะ ขายภาพ อันนี้เป็นความคิดส่วนตัวผมนะ" เกื้อกูล บอก 

"ผมมองเรื่องมุมมอง ดูพวกคาแรคเตอร์ หรือมุมมองการเคลื่อนไหว เพราะหลักๆ เราเป็นคนเขียนงาน วางคอมโพสต์ น่าจะมองกันคนละอย่าง เกื้อเป็นคนเขียนสตอรี่บอร์ดด้วย เกื้อเลยจะใส่ใจเรื่องเนื้อหาในเรื่องมากกว่า อย่างผมเป็นคนเขียนงานเราก็จะไปมองในเรื่องการเคลื่อนไหว เทคนิคนั่นนี่อะไรแบบนี้ จะสังเกตตรงนั้นมากกว่า" ธิตินันท์ ให้ความเห็น 

ส่วน เฉลิมวุฒิ บอกว่า "มันเหมือนหนังครับ เราดูหนังเศร้าเราก็ต้องร้องไห้ ดูหนังสนุกเราก็ต้องหัวเราะ งานที่มีคุณภาพมันก็น่าจะทำให้คนมีอารมณ์ร่วมกับตรงนั้น" 
ก้าวต่อไปของ 'กากเมะ' พวกเขาบอกว่า 

"อยากรับงานสั้นๆ ไม่อยากรับงานเป็นโปรเจคยาว ถ้าเป็นสื่อโฆษณา เป็นมิวสิควีดิโอ อะไรสั้นๆ แบบการ์ตูนหลังข่าวก็น่าจะสนุกดี เราก็ไม่เบื่อกันด้วย สมมติตอนนี้เราคิดอย่างนี้ อาทิตย์หน้าความคิดที่เราเคยคิดว่าดีเราอาจจะอยากเปลี่ยนแล้ว ถ้าทำอะไรยาวๆ เราแก้ไม่ได้ทำสั้นๆ ดีกว่า ตั้งเป้าไว้ว่าปีหนึ่งถ้าเราทำงานดีๆ ได้สักสามสี่ชิ้นก็โอเคแล้ว เพราะงานหนึ่งก็ใช่ว่าจะทำหนึ่งเดือนเสร็จ...คนชอบดูการ์ตูนใช่ว่าลงมาทำการ์ตูนแล้วจะไหว มันเหมือนงานอุตสาหกรรม ต้องวาดเยอะมาก ถ้าอดทนไม่พอแล้วอยู่ไม่ไหว คนส่วนใหญ่ที่ทำไม่ดูการ์ตูนก็มีไม่ได้ทำเพราะใจรัก ทำเป็นอาชีพ ก็มีหลายแบบ คนที่ชอบดูการ์ตูนพอลองมาทำแล้วขอบายก็เยอะ ทำอย่างอื่นดีกว่า" 

ความฝันของพวกเขาไม่ใช่การผลักดันวงการ เพียงต้องการทำในสิ่งที่รักและนำเสนอผลงานในแบบของตัวเอง 

"อยากจะมีงานอีกสไตล์หนึ่งให้เลือกเสพ หรือไม่เสพก็ได้ แต่ว่าก็ยังมีแบบนี้ให้ดู ตอนนี้สไตล์กากเมะจริงๆ ยังไม่ได้ออกมา เพราะตอนทำเพลง 'ด้วยความเคารพ' เราต้องให้ออกสื่อได้ด้วย มันก็เลยยังไม่เต็มที่เท่าไร เพราะงานสไตล์กากเมะจริงๆ มันต้องแบบ...กาก...โรคจิต...(หัวเราะ) อะไรทำนองนั้น ให้มีแบบโหดมีซาดิสม์บ้าง คือเราอยากทำการ์ตูนที่ไม่ใช่การ์ตูนไทย ไม่ใช่การ์ตูนที่ต้องให้เด็กดู คือมีเรทคนดู ซึ่งบ้านเรายังไม่มี นั่นคือที่อยากทำดูแล้วคงขายอะไรไม่ได้ แต่ถ้าเราได้ทำแล้วก็เอาลงยูทูบได้เก็บไว้เป็นผลงานเรา" 

ปิดท้ายด้วยคำถามที่หลายคนอาจสงสัยคือที่มาและความหมายของชื่อ 'กากเมะ' ซึ่งเกื้อกูล เป็นผู้ให้คำตอบว่า 

"ผมคิดขึ้นมาเอง ผมเอาคำสองคำมารวมกัน แต่ก่อนผมใช้นามแฝงว่า 'หน้ากากแมว Cat Mask' แล้วก็ผมจะเรียกภาษาไทยว่า 'กากแมว' พอตอนจะมาทำกากเมะผมก็เอาคำสองคำมา คำว่า 'กาก' คือกาก 'เมะ' คือ อนิเมะ มารวมกันเป็น 'อนิเมะกากๆ ' เพราะว่าอยากได้แค่สองพยางค์ เห็นแบรนด์ดังๆ อย่างไนกี้ โซนี่ อะไรพวกนี้ เฮ้ย...สองพยางค์เท่ดี (หัวเราะ) และประเด็นหลักคือ ถ้าบอกว่าของเราเป็นกากอนิเมะแล้ว ถ้างานเราห่วย เขาก็ว่าเราไม่ได้ เพราะว่าเราบอกแล้ว แต่ถ้างานเราดี ก็รอดไป (หัวเราะ)" 

หมายเหตุ : ชมภาพผลงานมากกว่านี้ได้ที่ fan page เซ็คชั่น กรุงเทพวันอาทิตย์ คลิก facebook.com/sundaybkk

โดย: ปวิตร สุวรรณเกต 
ที่มา: bangkokbiznews.com  / 17 ตุลาคม 2554 

Views: 1451

Reply to This

© 2009-2024   PORTFOLIOS*NET by CreativeMOVE.   Powered by

Badges  |  Report an Issue  |  Terms of Service