ออกแบบ "ตึก" ป้องกันภัยร้าย

1 ทศวรรษหลังวินาศกรรม 11 ก.ย. 2544 หนึ่งในคำถามที่เกิดขึ้นคือ ตึกสูง 21,000 แห่งของสหรัฐ สามารถต้านทานการโจมตีเหมือนที่ตึกแฝดในนิวยอร์กเคยเจอจนกระทั่งพังครืนลงหรือไม่ 

...และผู้คนภายในอาคารเหล่านี้จะปลอดภัยหรือเปล่า? 

ตึกวิลลิสทาวเวอร์ในนครชิคาโก ก็เหมือนตึกสูงทั่วสหรัฐ ที่เปลี่ยนแปลงไปมากหลังจากกลุ่มหัวรุนแรงจี้เครื่องบินพุ่งเข้าชนอาคารเวิลด์เทรด ปัจจุบันอาคารที่สูงที่สุดในอเมริกาเหนือแห่งนี้มีเครื่องกั้นคอนกรีต เครื่องตรวจจับวัตถุ และกล้องวงจรปิดที่ติดตามทุกการเคลื่อนไหว ทั้งในและรอบๆ อาคาร 

อย่างไรก็ตาม ผู้เชี่ยวชาญมองว่ามาตรการเหล่านี้อาจสามารถป้องกันหายนะครั้งใหญ่ได้ไม่มากนัก และตึกหลายพันแห่งยังเปราะบางต่อการโจมตี เพราะต้นทุนของการปรับปรุงโครงสร้างที่มีอยู่นั้นสูงเกิน อีกทั้งเมืองและรัฐต่างๆ ยังล่าช้าในการปรับใช้กฎระเบียบใหม่ที่เข้มงวดมากขึ้นสำหรับการก่อสร้าง 

คณะกรรมการจัดวางกฎระเบียบระหว่างประเทศ (ไอซีซี) ได้แนะนำให้เปลี่ยนแปลงวิธีก่อสร้าง 40 อย่าง รวมถึงบันไดที่กว้างขึ้นเพื่อให้พนักงานดับเพลิงสามารถวิ่งสวนทางขึ้นไปปฏิบัติหน้าที่ได้ ขณะที่ผู้คนอพยพลงจากอาคาร 




สตีฟ แด๊กเกอร์ โฆษกไอซีซี กล่าวว่าเมืองต่างๆ สามารถนำการเปลี่ยนแปลงไปปรับใช้ตามที่เห็นสมควร อย่างนครชิคาโกที่ออกคำสั่ง กำหนดให้ตึกสูงมีแผนอพยพฉุกเฉิน ขณะที่ตึกสูงที่สุดต้องมอบแผนผังชั้นต่างๆ ให้พนักงานดับเพลิง เพื่อจะได้ทราบเค้าโครงของอาคาร เมื่อเข้าปฏิบัติหน้าที่ 

ผู้อาศัยและทำงานในตึกสูงของชิคาโกกล่าวว่าการซ้อมอพยพเป็นเรื่องที่ต้องทำเป็นประจำ ขณะที่เมื่อก่อนเหตุการณ์วินาศกรรม 11 กันยายนนั้น แทบไม่มีการซ้อม นอกจากนั้น การเข้าไปในตึกสูงยังเป็นเรื่องยากมากขึ้น อย่างกรณีของอาคารวิลลิสทาวเวอร์ที่ติดตั้งระบบรักษาความปลอดภัยแบบเดียวกับที่สนามบิน พร้อมประจำการเจ้าหน้าที่คอยตรวจค้นกระเป๋า 

เดวิด มิลเบิร์ก โฆษกบริษัทกฎหมายชิฟฟ์ฮาร์ดิน ซึ่งมีสำนักงานในตึกสูง 110 ชั้นแห่งนี้ กล่าวว่าทางอาคารได้ลดมาตรการรักษาความปลอดภัยดังกล่าวลง ด้วยการให้บัตรคีย์การ์ดแก่ผู้เช่าตึก ส่วนคนนอกต้องแสดงบัตรที่มีรูปติดด้วย รวมถึงต้องแจ้งชื่อแขกไว้ล่วงหน้ากับเจ้าหน้าที่ 

ไม่น่าประหลาดใจที่ตึกใหม่ๆ ที่กำลังก่อสร้าง มีหลายสิ่งที่อาคารเก่าๆ ไม่มี อย่างในนิวยอร์กที่ประตูทางลงบันไดต้องกว้างมากขึ้นและทำจากวัสดุแข็งแรงมากขึ้น ส่วนคานสำหรับลิฟต์ก็ต้องแข็งแกร่ง นอกจากนั้นตึกสูงยังต้องสร้างในแบบที่ป้องกันการพังครืนลงมาทีเดียว เหมือนที่เกิดกับเวิลด์เทรด แต่ทางเมืองไม่ได้แจกแจงวิธีการ ว่าต้องทำอย่างไร 




จอน ชมิดต์ วิศวกรรมโครงสร้าง กล่าวว่าความตื่นตัวในเรื่องนี้ทำให้วัสดุและมาตรการต่างๆ ที่เคยสงวนไว้สำหรับตึกของกองทัพและอาคารรัฐบาล ค่อยๆ ถูกนำมาใช้กับอาคารทั่วไป อย่างบันไดคอนกรีตที่แข็งแรง หรือกระจกลามิเนตแบบไม่แตกง่าย นอกจากนั้น ยังมีการให้ความสนใจกับวัสดุที่ทนไฟ 

...แต่ทั้งนี้ แม้ว่าโดยแนวคิดการก่อสร้างหรือปรับปรุงโครงสร้างตึก เพื่อป้องกันการก่อการร้าย จะเป็นเรื่องที่ควรให้ความสำคัญ กระนั้น "เงิน" ก็ยังเป็นปัจจัยหลักสำหรับหลายสิ่ง 

"ถ้ามีคนบอกว่าอยากป้องกันอาคารให้พ้นจากระเบิดแรงสูง แล้วคุณบอกว่าสามารถช่วยได้ ด้วยเงินค่าเหนื่อยสัก 10-20 ล้านดอลลาร์ คนเหล่านี้จะบอกว่า อืมม...ผมก็กลัวระเบิดนะ แต่ไม่ได้กลัวมากมายอะไร" เออร์วิน แคนเทอร์ วิศวกรโครงสร้าง ยกตัวอย่าง 

หนึ่งในการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ที่ผู้เชี่ยวชาญกล่าวว่ากำลังเกิดขึ้น คือการสร้างลิฟต์ที่สามารถใช้ยามเกิดไฟไหม้ ทั้งสำหรับผู้คนที่กำลังหนีไฟออกจากอาคาร และพนักงานดับเพลิงที่ใช้ลิฟต์ขึ้นไปปฏิบัติหน้าที่ 

ไม่ชัดเจนว่าผู้คนกว่า 2,700 ที่เสียชีวิตในตึกแฝดเวิลด์เทรด ตายก่อนลงมาถึงชั้นล่างสุดกี่คน การศึกษาชิ้นหนึ่งสรุปว่าคนจำนวนมากน่าจะรอดชีวิตหากสามารถใช้ลิฟต์ 




แฮร์รี ไวเซอร์ ทนายความบริษัทแคนเทอร์ฟิตเจอราลด์ เป็นคนหนึ่งที่โชคดีรอดชีวิตมาได้ในเช้าวันที่ 11 ก.ย. 2544 ด้วยการใช้ลิฟต์ลงจากชั้น 101 ไปยังชั้น 78 ในช่วงที่เครื่องบินพุ่งเข้าชนตึก จนไฟพวยพุ่งเฉียดศีรษะ คอ แขนและขาของเขา 

แม้ลิฟต์ทำงานขัดข้องและเปิดออกตอนอยู่สูงกว่าพื้นห้องประมาณ 1 ฟุต แต่ไวเซอร์ก็สามารถกระโดดลงมาและเดินลงบันไดไปพร้อมคนอื่นๆ 

ผู้เชี่ยวชาญชี้ว่าหากช่วงเกิดเหตุ มีคนทำงานอยู่เต็มอาคาร อาจต้องใช้เวลาเกือบ 4 ชั่วโมงในการอพยพผู้คน ริชาร์ด บูคาวสกี ที่ปรึกษาด้านการป้องกันไฟ กล่าวว่าเหตุการณ์ดังกล่าวทำให้สถาบันมาตรฐานและเทคโนโลยีแห่งชาติ ต้องไปปรึกษาผู้ผลิตลิฟต์เพื่อหาทางสร้างลิฟต์ที่ปลอดภัย 

หลังจากทำการศึกษาและหารือกันพักใหญ่ ก็ได้มีการเปลี่ยนแปลงกฎระเบียบสำหรับตึกสูงเมื่อปี 2552 ด้วยการกำหนดให้มีแหล่งพลังงานฉุกเฉินไว้สำหรับลิฟต์ ในกรณีที่ไฟดับ รวมถึงมีระบบฉีดน้ำ และรอบลิฟต์ต้องมีลอบบีที่ปิด เพื่อกันไฟและควันไฟ 

ส่วนกฎระเบียบสำหรับลิฟต์นั้นกำลังอยู่ระหว่างการหารือ และอาจได้ข้อยุติภายในปี 2556 โดยการเปลี่ยนแปลงสำคัญๆ อาจรวมถึงการจัดทำสัญลักษณ์ที่เข้าใจง่าย เพื่อแสดงว่าลิฟต์ตัวนั้นปลอดภัยสำหรับการใช้ลงจากอาคารหรือไม่ รวมถึงปรับปรุงระบบสื่อสารในลิฟต์ให้เป็นแบบสองทางและเชื่อมไปถึงสถานีดับเพลิง 




อีริกา คูลิโกวสกี นักสังคมวิทยาและวิศกรด้านการป้องกัน กล่าวว่าระบบอพยพในอนาคต ไม่ควรพึ่งพาสัญญานเตือนไฟไหม้เพียงอย่างเดียว แต่ควรมีการแจ้งข่าวฉุกเฉินว่ากำลังเกิดอะไรขึ้นและต้องทำอย่างไร 

อัย เซกิวาซา ผู้เชี่ยวชาญด้านไฟไหม้และภัยพิบัติแห่งสถาบันวิจัยแห่งชาติญี่ปุ่น กล่าวว่าการแตกตื่นมักไม่ใช่ปัญหายามเกิดเหตุฉุกเฉิน เพราะคนมักมีความต้องการที่จะประเมินสถานการณ์ต่ำเกินไป ทั้งที่รู้สึกว่าสิ่งผิดปกติกำลังเกิดขึ้น 

"เมื่อสัญญานเตือนดังขึ้น คนส่วนใหญ่มักคิดว่าเป็นความผิดพลาดทางเทคนิค และในเหตุไฟไหม้แทบทุกครั้ง ผู้เสียชีวิตจำนวนหนึ่งคือคนที่ไม่สนใจเสียงสัญญานเตือน" เซกิวาซาระบุ 



(เรียงเรียงจากเอพี เอเอฟพี) 
โดย: สุดา มั่งมีดี 
ที่มา: bangkokbiznews.com / 8 กันยายน 2554

Views: 106

Reply to This

© 2009-2024   PORTFOLIOS*NET by CreativeMOVE.   Powered by

Badges  |  Report an Issue  |  Terms of Service