สถาปัตยกรรมแห่งธรรม


เดิมนั้น พุทธศาสนิกชนศึกษาธรรมจารึกบนใบลาน แต่ปัจจุบันสิ่งก่อสร้างในวัดปัญญานันทาราม กำลังสั่งสอนปรัชญาธรรมให้ชาวพุทธ 

เดิมนั้น พุทธศาสนิกชนศึกษาธรรมจารึกบนใบลาน แต่ปัจจุบันสิ่งก่อสร้างรอบตัวเรา กำลังสั่งสอนปรัชญาธรรมโดยไม่รู้ตัว ยืนยันสมมติฐานดังกล่าวได้ด้วยอาคารอุโบสถ สิ่งก่อสร้างแนวใหม่ภายในวัดปัญญานันทาราม 

ย้อนกลับไปก่อนปี 2548 อาคารอุโบสถของวัดปัญญานันทาราม เป็นเพียงอุโบสถแบบธรรมชาติ คือ ใช้ต้นไม้แทนผนังและหลังคา มีน้ำเป็นเขตสีมา (รอบวัด) แต่เมื่อเผชิญกับปัญหาน้ำฝน พระพรหมมังคลาจารย์ (หลวงพ่อปัญญานันทภิกขุ) จึงปรารภสร้างอุโบสถให้ถูกต้องตามพุทธบัญญัติ 

อุโบสถ ขุมทรัพย์ทางปัญญา 

อุโบสถของวัดปัญญานันทาราม ไม่มีรูปลักษณ์ความเป็นอุโบสถอย่างวัดทั่วไป เพราะไม่มีช่อฟ้าใบระกา ไม่มีการฝังลูกนิมิต ปิดทององค์พระ หรือจุดเทียนธูปควันคลุ้ง อุโบสถของวัดแห่งนี้กลับสร้างขึ้นด้วยความคิดอุดมปัญญา เลือกที่จะประดับตกแต่ง และสื่อความหมายสัญลักษณ์บูชาธรรม ให้เรียนรู้สู่การดำเนินชีวิตที่สมบูรณ์ ประดุจ "ขุมทรัพย์ในอุโบสถ" 

พระปิยวัฒน์ ปิยาจาโร อธิบายว่า ตัวอาคารอุโบสถมุ่งเน้นพุทธสถาปัตย์ ออกแบบโดยสถาปนิกมืออาชีพ ผศ.ประชา แสงสายัณห์ อาจารย์ประจำภาควิชาคณะสถาปัตยกรรม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดยมีหลักคิดว่า ต้องการสื่อความหมายถึงความสำคัญของพระธรรม จึงดีไซน์รูปแบบอาคารอุโบสถให้เรียบง่าย ภายใต้กรอบแนวทาง 3 ป. ของพระปัญญานันทมุนี เจ้าอาวาส คือ "ประหยัด ประโยชน์ และประยุกต์เข้ากับยุคสมัย" 

เมื่อพุทธศาสนิกชนย่างก้าวเข้าสู่อาณาเขตภายในอุโบสถ ก็สามารถจะรับรสแห่งธรรมได้จากการตีความสัญญะทางธรรม หรือพุทธปรัชญาต่างๆ ได้ทันที

 

 

"เริ่มจากตัวอาคารที่สวยงาม แปลกตา สะดุดใจ เพราะความร่วมสมัยแล้ว ยังต้องทำความเข้าใจในปริศนาธรรมที่แฝงไว้ด้วย โดยอาคารทรงสี่เหลี่ยมสื่อความหมายถึงอริยสัจ 4 คือ ทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค ส่วนเส้นโค้งรอบวง เปรียบเป็นโลกใบนี้ที่เราต่างเกิดมาเพื่อเวียนว่ายตายเกิด และยังหมายถึงรัศมีการเผยแผ่พระพุทธศาสนาของพระพุทธเจ้าด้วย" 

พระปิยวัฒน์ เล่าต่อว่า ทุกส่วนของอาคารต้องสื่อความหมายได้ โดยมีรายละเอียดที่ปรากฏเพิ่มอีก อาทิเช่น เสา 10 ต้น แปลว่า บารมี 10 คือหลักธรรมที่ต้องนำมาปฏิบัติ เพื่อบรรลุจุดหมายอันสูงสุด ซึ่งพระพุทธเจ้าได้บำเพ็ญแล้วในทศชาติ ส่วนลายฉลุลักษณะดอกไม้รอบอุโบสถจะมีจำนวน 1,250 ดอก สื่อถึงพระสงฆ์เอหิภิกขุอุปสัมปทาทั้ง 1,250 รูปในสมัยพุทธกาล แสดงถึงสัญลักษณ์แห่งการตรัสรู้ 

ทรงจั่วที่ปรากฏในส่วนที่ยกสูงจากหลังคาอุโบสถ เสมือนเป็นรัตนบัลลังก์ สื่อความแทนอาสนะที่พระพุทธเจ้าประทับใต้ต้นศรีมหาโพธิ์ และยังเปรียบถึงความหลุดพ้นโดยว่างจากราคะ โทสะ โมหะ หมดความยึดมั่น คือ พิจารณาเห็นนามธรรมว่าทุกอย่างไม่มีตัวตน ส่วนข้างใต้นั้นยังติดตั้งภาพสัญลักษณ์การประสูติ คือ ดอกบัว 9 ดอกไว้ด้วย 

"ยังมีความเป็นอุโบสถอย่างสมบูรณ์ แต่ทุกอย่างต้องสอดคล้องกลมกลืนกัน ตัดสิ่งที่เป็นกิเลส เกินความจำเป็นออก แล้วใส่พระธรรมคำสอนลงไปในเนื้อของสิ่งปลูกสร้างนั้น สถาปัตยกรรมจะสอนเราได้ ก็ต่อเมื่อผู้ที่มาปฏิบัติธรรมสังเกต และครุ่นคิดตามจึงจะได้ปัญญากลับบ้านไป" พระปิยวัฒน์กล่าว 

สิ่งก่อสร้าง ความต่างสื่อสารได้ 

พระอาจารย์ เล่าต่อว่า สถาปัตยกรรมและประติมากรรมทุกแห่ง จะแฝงปริศนาธรรมอยู่เสมอ วัดอื่นๆ อาจมีการฝังลูกนิมิตก็เพื่อกำหนดเขตสีมา แต่เครื่องกำหนดตามพุทธบัญญัติ มีได้ตั้งแต่ ภูเขา แม่น้ำ ต้นไม้ หรือก้อนหิน ในส่วนของวัดปัญญานันทาราม นอกจากสระน้ำที่จะบอกเขตสีมาฝั่งหนึ่งแล้ว ยังปรากฏเครื่องกำหนดอื่นๆ คือ ต้นโพธิ์ทั้งสี่แสดงถึงสถานที่ตรัสรู้แรกของพระพุทธเจ้าและก้อนหินทั้ง 4 ก้อนด้วย 

รอบเขตอุโบสถยังมีกำแพงสูงเพียง 1 เมตร และรูปปั้นตุ๊กตาสัตว์ต่างอิริยาบถ เพื่อแสดงการอยู่ร่วมกันอย่างสันติสุขของสรรพชีวิตทั้งหลาย 

นอกจากอุโบสถแล้ว ยังมีลานหินโค้งซึ่งสร้างขึ้นเพื่อเป็นที่กระทำกิจ เปรียบเป็นศาลาการเปรียญให้สาธุชนมาทำบุญถวายภัตตาหาร เป็นที่ฟังเทศน์ฟังธรรม เน้นให้ทุกคนได้ใกล้ชิดธรรมชาติ ทั้งพื้นดิน ก้อนหิน ต้นไม้ใบหญ้า หวังให้หลุดจากความวุ่นวายของโลกวัตถุ แล้วมาซึมซับและเรียนรู้สัจธรรมของโลกที่แท้จริง คือ ทุกอย่างล้วนไม่เที่ยงแท้ มนุษย์จึงต้องอยู่อย่างสมถะ ปรานีต่อสรรพชีวิตบนโลก 

ฉะนั้น สิ่งก่อสร้างใหม่ จะต้องคงแนวคิดหลักของท่านเจ้าอาวาสเอาไว้เสมอ แต่อาจเปลี่ยนรายละเอียดเล็กๆ น้อยๆ เพื่อให้เป็นประโยชน์กับพุทธศาสนิกชนจริงๆ 

อย่างเรือนผู้ปฏิบัติธรรม เมื่อก่อนเป็นพื้นที่กว้างแบ่งเป็นห้องๆ เปรียบเหมือนเล้าหมู ไม่สะดวกสำหรับอุบาสิกา (ผู้ปฏิบัติหญิง) ต่อมาจึงเปลี่ยนเป็นบ้านหลังเล็กๆ คล้ายเล้าไก่ และตอนนี้กำลังจะเปลี่ยนเป็นอาคารธรรมะมาตา ที่มีพื้นที่ใหญ่ขึ้นรองรับจำนวนผู้ปฏิบัติธรรมที่มากขึ้น 

"ทุกวันนี้ สร้างอาคารขึ้นเพื่อให้เกิดความรู้สึกนิ่ง สงบเย็นและเป็นประโยชน์ เข้าไปแล้วในโบสถ์ ทุกสถานที่ศาลากลางน้ำ กุฏิหลังเล็กๆ ห้องอบรม จะไม่หวือหวา ไม่วุ่นวาย โลกภายนอกมีสิ่งปลูกสร้างมากมาย มีสีสัน ซึ่งอาจจะดูแล้วกระตุกความรู้สึก อยากเข้าไปตอบสนองมัน แต่ว่าที่นี่ก็อยากให้ตอบสนองในทางความรู้สึกทางพุทธะ คือ รู้ ตื่น เบิกบาน" พระปิยวัฒน์กล่าวส่งท้าย 


โดย: ชฎาพร นาวัลย์
ที่มา: bangkokbiznews.com / 23 กุมภาพันธ์ 2554

Views: 808

Reply to This

© 2009-2024   PORTFOLIOS*NET by CreativeMOVE.   Powered by

Badges  |  Report an Issue  |  Terms of Service