เซ็กซ์คุยกันได้ "ทราย-อินทิรา เจริญปุระ"


เห็นหน้าค่าตาเธอในฐานะนักแสดงแถวหน้าของไทยมาเป็นเวลายาวนานเกือบ 20 ปี 

โดยเฉพาะในบทบาทล่าสุด "เลอขิ่น" สตรีชาวเมืองคัง ในภาพยนตร์เรื่อง "ตำนานสมเด็จพระนเรศวรมหาราช" ตอน ประกาศอิสรภาพ ยุทธนาวี และศึกนันทบุเรง และคาดว่าปลายปีนี้เราจะเห็นเธออีกครั้งในตอนยุทธหัตถี ซึ่งเป็นภาคสุดท้ายของภาพยนตร์แห่งสยามประเทศเรื่องนี้ 

เอ่ยชื่อ *อินทิรา เจริญปุระ* หลายคนอาจเกิดความงุนงงว่าเจ้าของชื่อหวานหูนี้เป็นใคร แต่ถ้าบอกว่าก็คือ *ทราย เจริญปุระ* คงจะง่ายกว่าต่อการเป็นที่รู้จัก เพราะเธอฝากผลงานในวงการบันเทิงมากมาย ทั้งเล่นละคร แสดงภาพยนตร์ ร้องเพลง ถ่ายแบบ เป็นพิธีกร และเขียนหนังสือ (ความสามารถที่นักแสดงของไทยน้อยคนนักจะมี) 

สำหรับวงการบันเทิงแล้วถือว่าลงสนามทดสอบฝีมือ วัดความสามารถเกือบทุกสังเวียนที่อยู่หน้ากล้อง ยกเว้นสังเวียนหลังกล้อง ที่ทรายเพิ่งมีโอกาสได้ทดลองฝีมือ ในฐานะ "ผู้กำกับภาพยนตร์" 

หลังจากที่ *สุภาพ หริมเทพาธิป* บรรณาธิการบริหารนิตยสารไบโอสโคป หันมาสร้างภาพยนตร์ในฐานะโปรดิวเซอร์ ได้ชักชวนคนทำหนังรุ่นใหม่ที่มีความสามารถ มาร่วมรังสรรค์ภาพยนตร์ "รักจัดหนัก (LOVE, NOT YET)" ที่มีคำเตือนว่า "ภาพยนตร์เรื่องนี้ เด็กอายุต่ำกว่า 18 ปี ควรให้คำแนะนำผู้ปกครองขณะรับชม" มี 3 เรื่องราว 3 รสชาติให้ผู้ชมได้ลิ้มลอง คือ ไปเสม็ด เป็นแม่ เป็นเมีย และทอมแฮ้ง 

ทราย คือคนที่สุภาพเลือกมาเป็นหนึ่งในผู้กำกับ และเธอคือเจ้าของเรื่อง "ทอมแฮ้ง" 

"อินทิรา เจริญปุระ เป็นชื่อจริงตามบัตรประชาชน เกิดเมื่อ 23 ธันวาคม 2523 เป็นชาวกรุงเทพฯ โดยกำเนิด เป็นลูกสาวคนโตของ รุจน์ รณภพ นักแสดงและผู้กำกับภาพยนตร์ผู้ล่วงลับ กับสุภาภรณ์ เจริญปุระ เป็นพี่สาวคนโตของ ท็อฟฟี่-ภวัต เจริญปุระ น้องชาย และน้ำพราว-ภรณ์รวี เจริญปุระ น้องสาว" 

ศึกษาที่โรงเรียนเขมะสิริอนุสรณ์ ตั้งแต่ระดับประถมศึกษา-มัธยมศึกษา เมื่ออายุ 13 ปี ได้ก้าวเข้าสู่วงการบันเทิงจากการชักชวนของ *สุพล วิเชียรฉาย* ในบทบาทเด็กสาวแสนเรียบร้อยในละครเรื่อง "ล่า" ออกอากาศทางช่อง 5 เมื่อปี 2537 ตามมาด้วยละครอีกหลายเรื่อง อาทิ ทอง 9, หุบเขากินคน, เจ้าสัวน้อย, ศึกรบศึกรัก และบ้านสอยดาว ฯลฯ 

1 ปีหลังจากนั้นได้ออกอัลบั้มแรกกับแกรมมี่ ในชื่อ "นาฬิกาทราย" กระทั่งได้รางวัลศิลปินร็อกยอดเยี่ยมในปี 2548 จากอัลบั้มดี-ทราย 

นอกจากนี้ยังมีรางวัลที่การันตีฝีมือการแสดงของเธอ ทั้งนักแสดงนำหญิงยอดเยี่ยมจากเรื่องเฮี้ยน, รางวัลนักแสดงสมทบยอดเยี่ยมจากเรื่อง นาคปรก 4 เวที, รางวัลเทพทอง สาขาผู้ใช้ภาษาไทยดีเด่น และยังเข้ารอบ 50 เรื่องสั้นรางวัลช่อปาริชาติ ปี 2546 นอกจากนี้ยังเป็นนักเขียนประจำให้กับมติชนสุดสัปดาห์ ในชื่อคอลัมน์ "รักคนอ่าน" อีกด้วย 

การกำกับภาพยนตร์เรื่องแรกของทราย จะ "จัดหนัก" แค่ไหน? 

"เซ็กซ์" ที่เป็นประเด็นใหญ่ของเรื่องจะคุยกันได้จริงมั้ย? 

คำตอบอยู่ในบรรทัดถัดไป 

- "รักจัดหนัก" เป็นหนังวัยรุ่น? 

อยากให้ผู้ปกครองดูมากกว่า จะได้เลิกตกใจและปรับตัวถูกว่าวัยรุ่นเดี๋ยวนี้ไปถึงไหนกันแล้ว โลกเปลี่ยนไปแล้ว พ่อแม่จะห้ามลูกไม่ให้ไปเกาะเสม็ดเพราะกลัวเลยเถิดไม่ได้ เพราะเขาถ้าจะมีอะไรกันก็ไปใช้สถานที่อื่นก็ได้ ประเด็นสำคัญของเรื่องนี้คือการสอนลูกหรือการให้ลูกรู้จักป้องกันอย่างไรต่างหาก 

อย่างเก้า (จิรายุ ละอองมณี) ถือเป็นเด็กผู้ชายหน้าตาดี อาจเป็นภัยต่อหญิงรอบตัวหรือเป็นภัยต่อตัวเองก็ได้ (หัวเราะ) แต่แม่เขาสอนลูกเหมือนที่พ่อทรายสอนน้องว่าต้องให้เกียรติผู้หญิงและรู้จักป้องกันตัวเอง ก็ถูกแล้วที่แม่เขาสอนให้พกถุงยางติดตัว 

- ปัญหาจากในหนังทั้ง 3 เรื่อง? 

สาเหตุจากความเป็นมนุษย์ อะไรไม่เคยก็อยากลอง เด็กทุกคนในเรื่องก็คิดว่าตัวเองเป็นผู้ใหญ่ ดูแลตัวเองได้ ซึ่งเป็นธรรมดาของเด็กอายุ 18 ปี ตัวแสดงนำตอนที่กำกับมักคิดว่า "กูเป็นทอม ไม่มีใครทำอะไรหรอก" แต่เธอพลาด เลยคิดว่าดูแลกันไป แต่โลกมันไม่ได้มีแค่นั้น 

ปัญหาอยู่ที่ความไม่รู้ คิดว่าควบคุมได้ เพราะผู้ใหญ่ไม่พูดความจริงกับวัยรุ่นว่า ความสัมพันธ์เป็นอย่างไร หลังจากมีอะไรกันชีวิตจะเป็นอย่างไร ถ้าท้องแล้วจะหอบท้องโตไปเรียนทุกวันไม่ได้ ต้องอ้วกทุกวัน ชีวิตจะผิดปกติทันที มันยิ่งกว่าการเลี้ยงน้องอีกนะ ความจริงมันไม่ได้จบที่การมีเพศสัมพันธ์ ก่อนมีอะไรต้องเข้าใจตรงกันทั้งสองฝ่าย ว่าจะเป็นแฟน เป็นเซ็กซ์บัดดี้หรือหวังจะแต่งงานกัน 

บางคนบอกว่าเด็กไม่คิดไกลขนาดนั้น คิดอย่างนี้มันจึงเกิดปัญหา 

- ตัวละครที่เหมือนจะเป็นทอม? 

ตัวจริงน้องเขาไม่ใช่ทอม แต่เชื่อว่าผู้หญิงทุกคนมีมุมผู้ชายๆ อยู่ในตัว เพียงแต่ว่าจะใช้หรือไม่เท่านั้นเอง อย่างทรายก็มักมีคนคิดว่าเป็นทอมหรือเปล่า แต่ขอยืนยันว่า ไม่ใช่ 

- ที่บ้านคุยเรื่องเพศกันไหม? 

คุย ซึ่งส่วนใหญ่ลูกจะรู้ก่อนแม่บอก ก็รับผิดชอบตัวเองเท่าที่รู้ อะไรที่ไม่รู้ก็ถามได้ 

ที่บ้านมีลูกชายคนเดียว ทุกคนในบ้านก็เครียด ก็คุยกันว่าต้องดูแลกันยังไง ถ้าเป็นเกย์จะต้องแบ่งลิปสติกกับน้องชายไหม (หัวเราะ) ถ้ามีแฟนเป็นผู้หญิงจะต้องทำอย่างไร ทำไงดี 

ด้วยความที่เป็นพี่คนโต แถมมีนิสัยไม่ค่อยจะเป็นผู้หญิง น้องก็เถิดเทิงกันเต็มที่ ทรายสอนน้องๆ ต่อจากแม่อีกที ก็มีปัญหาว่าทรายจะไปคุยกับใคร แต่เราเป็นเด็กแก่แดดเพราะโตเร็วจึงคุยเรื่องนี้กับแม่ได้ เช่น ตอนเด็กๆ ถามแม่ว่ามีเราได้ไง บ้านอื่นอาจอธิบายแนววิชาการหนักๆ ไปเลย หรือบางบ้านอาจอธิบายว่าเอาลูกใส่ไว้ที่น่องพ่อ แต่แม่ทรายบอกว่า "พ่อแม่ต้องรักกันและต้องแต่งงานกันก่อน ถ้าไม่รักกันมีลูกออกมาไม่ได้" ท่านอธิบายเชิงความสัมพันธ์ ซึ่งมันก็ยุติธรรมดี ส่วนพ่อสอนว่าต้องให้เกียรติกัน ถามตัวเองบ่อยๆ ว่ารักเขาหรือเปล่า 

- อะไรหล่อหลอมให้ทรายเป็นอย่างทุกวันนี้? 

บ้าน ครอบครัว และหนังสือ บางเรื่องก็ประมวลเองจากการทำงานเร็ว ถ้าเป็นพ่อแม่คนอื่นอาจบอกว่าลูกเด็กไป ทรายทำงานเกิน 4 ทุ่มตั้งแต่อายุ 13 ไม่ได้ดูละครเพราะเรากำลังผลิตละคร มันเป็นโลกอีกแบบหนึ่ง 

ทรายว่าพ่อกับแม่ทรายเป็นคนที่เปรี้ยวมาก การเลี้ยงลูกเป็นการเสี่ยงอย่างหนึ่ง ท่านจึงเสี่ยงจับเรามาทางอ่านหนังสือเลย นั่งอ่านสนิมสร้อยกับแม่ อ่านคำพิพากษา ซึ่งอาจจะดีหรือไม่ดีก็ได้ทรายไม่รู้ ตอนเด็กๆ อาจดูคลุมเครือว่าจะเป็นคนอย่างไร แต่ก็โตมาเป็นคนอย่างนี้ 

จริงๆ แล้ว ถือว่าแม่ทรายใจถึงนะ พ่อก็ถือว่าอ่านขาด 

- คิดอย่างไรกับเรื่องศพเด็กที่วัดไผ่เงิน? 

คิดว่าทำไมทิ้งตรงนั้น สงสัยว่าขนส่งอย่างไร ไม่ได้ตกใจเรื่องศพเด็กเลยนะ อีกด้านก็คิดว่ามันไม่เน่าเหรอ เมื่อเจอเยอะขึ้นก็สงสัยว่าก่อนหน้านี้เอาไปเก็บไว้ตรงไหน ไม่ได้คิดว่ามีคนทำแท้ง หรือคิดในแง่โดนกักไว้เป็นวัตถุพยานแบบภาพยนตร์ฆาตรกรรม คิดมุมนั้นมากกว่า 

ทรายคิดไอเดียนี้เสนอพี่หมู (สุภาพ หริมเทพาธิป) ก่อนทำหนังรักจัดหนัก มีความเห็นมาตลอดว่าไม่มีใครอยากท้องเพื่อไปทำแท้ง มันไม่สนุกขนาดนั้น แต่เมื่อคนเขาไม่พร้อม เพราะสิ่งที่ตามมาจากการเก็บลูกไว้คืออาจต้องไปประกันตัวลูกเมื่อลูกโตขึ้นมาท่ามกลางปัญหาสังคมมากมาย หรือพ่อแม่ไม่พร้อมเลี้ยงดู เพราะมัวแต่หาเงินให้ลูกใช้ มันพูดยาก เลือกยุติการตั้งครรภ์ก็น่าจะเป็นทางเลือกของเขา 

ใครที่ไม่ทำแท้งเพราะกลัวบาป ทรายว่าประสาท เพราะมันไม่ควรทำไม่ว่าจะมีคำสอนเรื่องบาป-บุญหรือไม่ก็ตาม แต่ถ้าผู้หญิงที่ไม่พร้อมเลี้ยงลูก ถูกผู้ชายทิ้ง แล้วเอาออกจะเหมาว่าบาปไม่ได้ 

เมื่อพูดถึงประเด็นนี้ อาจเป็นเฟมินิสต์เกิน แต่ทรายไม่เฟมินิสต์เลย ชอบที่ผู้ชายเสียสละ ชอบที่ผู้ชายลุกให้นั่ง (หัวเราะ) แต่การยุติการตั้งครรภ์เป็นสิทธิตัดสินใจของแต่ละคน คนที่ห้าม เมื่อห้ามเสร็จแล้วก็จากไปไม่ได้ช่วยเลี้ยงเด็กที่ลืมตาดูโลกนี่ ถ้าเป็นผู้หญิงแข็งแรงดูแลตัวเองได้ก็ดีไป 

- มองการสอนเพศศึกษาในประเทศไทยอย่างไร? 

เป็นสุขศึกษามากกว่าเพศศึกษา ครูไม่สามารถคุยกับนักเรียนได้จริง สิ่งที่วัยรุ่นอยากรู้คือหนทางป้องกันตัวเอง หรือถ้าท้องต้องทำอย่างไร ซึ่งไม่มีการสอน ทั้งที่รู้หนทางที่นำไปสู่เพศสัมพันธ์ของวัยรุ่นคืออะไรก็ไม่สอน นี่อะไร มีแต่วิชาการ อสุจิมาเจอกับไข่ ปฏิสนธิ น่าปวดหัว สอนเรื่องที่เราเห็นๆ กันดีกว่า เด็กรู้ว่าท้องอย่างไร แต่ที่ไม่รู้คือวิธีป้องกันที่ถูกต้อง สอนไว้ก็ไม่เสียหาย 

มีหลายเรื่องที่เราต้องป้องกัน ทั้งยาเสพติด ทั้งรถซิ่ง แต่เรากลับติดอยู่ที่เรื่องเพศซึ่งปัจจัยอื่นจะนำพามาถึงจุดนี้ด้วยซ้ำ ถ้าเราตัดปัจจัยอื่นได้ ปัญหาเรื่องเพศก็ไม่เกิด อย่างเรื่อง "ทอมแฮ้ง" ที่ทรายกำกับ ปัญหาจะไม่เกิดหากแม่พูดกับลูกสาวที่มีลุคทอมๆ ว่ายังไงก็เป็นผู้หญิง แม้ไม่ชอบผู้ชายก็ต้องรู้จักระวัง แต่แม่ในเรื่องนี้บอกว่าต้องเป็นผู้หญิง แต่มันไม่เป็นจะให้ทำอย่างไร ต้องปรับวิธีสอน อย่าใช้สูตรเดียวกันหมด 

- ทัศนคติที่ว่าเรื่องเพศคุยกันไม่ได้ในบ้านเรา มีผลอย่างไร? 

เกิดปัญหา เรื่องเพศเป็นเรื่องที่ไม่ว่าใครจะรู้หรือไม่รู้ ถ้าอยากลองมันก็ไปลอง 

ทรายทำรายการดอกรักบานแฉ่ง เป็นเรื่องเพศที่ไม่ใช่สุขศึกษา เป็นรายการแบบสมมติว่าถ้าลูกสาวมีประจำเดือน พ่อจะสอนอย่างไร ปัญหามันเป็นแบบนี้มากกว่า พ่ออาจจะโบ้ยให้ลูกสาวไปคุยกับเพื่อน ถ้าเป็นแบบนี้ก็ไม่ต้องคุยเรื่องอื่นกับลูกแล้ว รอฟังแต่เรื่องที่อยากฟังแล้วกัน เรื่องพื้นฐานชีวิตคุณยังไม่คุยกับลูกเลย จริงๆ แล้วพ่อแม่อยากฟังเรื่องจริงหรือเปล่า 

การเลี้ยงลูกมันมีกฎเกณฑ์แต่ต้องยืดหยุ่น ปรับเข้าหากัน 

- หนังสือมีผลต่อชีวิตของเรามากแค่ไหน? 

มีผลรองจากพ่อแม่ เพราะหนังสือที่อ่านแรกๆ คือนิยายที่มีด้านสว่างน้อย รักแท้ไม่มีจริง เป็นนิยายที่มีความขัดแย้งของเรื่องแบบนี้ เพราะถ้าไม่มีความขัดแย้งเรื่องมันจะไม่เกิด ก็ไม่น่าสนใจ 

หนังสือทำให้ตกใจอะไรน้อยลง แล้วสนใจความจริงเร็วขึ้น ซึ่งคนเดี๋ยวนี้ขวัญอ่อนเจออะไรแล้วชอบตกใจ หนังสือเหมือนช่วยเทคคอร์สไปก่อน ตรงนี้มากกว่า ทำให้มีภูมิต้านทานดี บางเล่มก็เก่ามาก แต่อ่านแล้วก็รู้สึกว่าเปรี้ยวสุดๆ ทำให้เข้าใจโลกมากขึ้นว่าเด็กวันนี้ไปเที่ยวเสม็ดกัน หรืออายุน้อยๆ ก็มีลูกเป็นโขลงแล้ว ก็ไม่ได้ตกใจที่โลกทุกวันนี้มันเป็นแบบนี้ 

ทรายมีนิสัยประหลาดอย่างหนึ่ง คือ ถ้ามีหนังสือที่อยากซื้อจะยังไม่ซื้อ คิดเผื่อว่าวันหนึ่งเดินทางกะทันหันแล้วจะซื้อเล่มนี้แหละ ทุกวันนี้ก็มีหนังสือติดตัวตลอดเวลา ว่างเมื่อไหร่ก็เอามาอ่าน 

- ครอบครัวมีส่วนในการทำให้เราเป็นคนอ่านหนังสือไหม? 

มี แต่พ่อแม่ต้องอ่านก่อนเพื่อสร้างสิ่งแวดล้อมการอ่าน ทรายเป็นลูกคนโตจึงไม่มีเพื่อนเล่น พ่อก็อ่าน แม่ก็อ่าน เราก็อ่านด้วยแล้วกัน สนุกดี 

ถ้าพ่อแม่ไม่อ่านหนังสือ อาจจะไม่รู้ว่าเมื่อลูกโตขึ้นไปจะเป็นอะไรในอนาคต ตอนเด็กไปบ้านยาย ยายชอบถามว่าอ่านหนังสือเรียนหรือเปล่า ถ้าไม่ใช่ก็ช่วยทำงานดีกว่า เด็กเดี๋ยวนี้เรียนจนจะบ้า ไม่ให้ทำอย่างอื่นเลยหรือไง เรียนกันจนไม่ได้ตั้งตัวจบมาแบบงงๆ 

- ติดใจกับการกำกับหนังไหม 

สนุกดี รู้สึกแปลกที่ต้องนั่งดูจอมอนิเตอร์เฉยๆ ปกติเราถามคนอื่นเวลาเล่น แต่เมื่อเป็นผู้กำกับแล้วทุกคนจะถามเราก็แปลกไปอีกแบบ ยังดีที่แบ่งหน้าที่กับผู้กำกับอีกคนหนึ่ง ให้เขาดูเรื่องกล้องและการตัดต่อภาพ ส่วนทรายจะดูเรื่องการแสดงว่าอยากให้เล่นแบบไหน แต่เวลาอธิบายจะยาวมาก ติดจากภาษาหนังสือ ซึ่งบางทีติดประชด ต้องยกตัวอย่างเปรียบเทียบ ยังดีที่น้องเข้าใจ 

ถามว่าอยากจะทำหน้าที่นี้อีกมั้ย คงต้องขอดูก่อน ขอดูทีมงานที่ต้องเข้าใจกัน ทำงานด้วยแล้วสนุก บรรยากาศในกองถ่ายดี คืออาจไม่ต้องเก่งมาจากไหน 

แค่ทำงานเข้าใจกันแบบนี้พอแล้ว


 

 

โดย: กฤตยา เชื่อมวราศาสตร์

ที่มา: matichon.co.th / 28 สิงหาคม พ.ศ. 2554

Views: 1031

Reply to This

© 2009-2024   PORTFOLIOS*NET by CreativeMOVE.   Powered by

Badges  |  Report an Issue  |  Terms of Service