จีอืน ลี จากเกาหลีถึงเกาหลี

ในวันที่กระแสเกาหลีฟีเวอร์กำลังแพร่ระบาดอยู่ทั่วทุกหัวระแหง วรรณกรรมเกาหลีก็เป็นสิ่งหนึ่งที่หลั่งไหลเข้ามาสู่วัฒนธรรมการอ่านของไทยอย่างรวดเร็วและมากมาย แล้วที่เกาหลีล่ะ...แท้จริงแล้ววงการวรรณกรรมของเขาเป็นอย่างไร ? 


คงไม่มีใครพูดถึงบ้านตัวเองได้ลึกซึ้ง...ถ่องแท้...เท่ากับเจ้าของบ้านหรือคนเกาหลีตัวจริงได้ ดังนั้น จีอืน ลี (Lee, JiEun) สาวเกาหลีแท้ 100 เปอร์เซ็นต์ อดีตนักเรียนวิชาภาษาไทยจากมหาวิทยาลัยถึง 4 แห่งทั้งในเกาหลีและไทย ปัจจุบันเป็นอาจารย์สอนภาษาไทยในมหาวิทยาลัยชื่อดังของเกาหลี และอีกหนึ่งตำแหน่งของเธอ คือ นักแปลหนังสือฝีมือดี เธอจึงสามารถที่จะถ่ายทอดเรื่องราวเกี่ยวกับแวดวงวรรณกรรมและหนังสือเกาหลีได้เป็นอย่างดี 

0 จีอืน ลี สะพานภาษาแดนโสม 

หากเอ่ยชื่อ 'ยายตัวร้ายกับนายเจี๋ยมเจี้ยม : My Sassy Girl' คอหนังเกาหลีต้องร้อง "อ๋อ !" เป็นแน่ แต่ในอีกแง่มุมหนึ่ง ก่อนภาพยนตร์เรื่องนี้จะกลายเป็นหนังดังไปทั่วเอเชีย My Sassy Girl เคยเป็นนวนิยายยอดฮิตของเกาหลีเลยทีเดียว แม้ว่าจะเริ่มต้นจากการเขียนลงในอินเทอร์เน็ต กระทั่งมีนักอ่านติดตามอ่านจำนวนมหาศาล ในที่สุดก็ได้รับการตีพิมพ์ หลังจากนั้นไม่นาน ความโด่งดังของนวนิยายเรื่องนี้ก็ส่งกลิ่นหอมเชื้อชวนให้สำนักพิมพ์รายใหญ่ในไทยอย่าง เนชั่นบุ๊คส์ ซื้อลิขสิทธิ์ต้นฉบับเพื่อตีพิมพ์จำหน่าย โดยคว้าตัว จีอืน ลี มาเป็นคนแปล 

My Sassy Girl นับเป็นจุดเริ่มต้นบนเส้นทางนักแปลของจีอืน ลี ด้วยเหตุผลที่เธอบอกว่า "แปลแล้วสนุกมาก" แต่กว่าที่จีอืน ลี จะแปลหนังสือได้ เธอต้องเรียนรู้ภาษาไทยมากมาย ชนิดที่ว่ารู้ลึกรู้จริงมากกว่าคนไทยบางคนเสียอีก ซึ่งหากดูจากถ้อยคำภาษาไทยของเธอแล้ว แทบจะไม่ได้กลิ่นกิมจิในเนื้อความนั้นๆ เลย 

ความสนใจภาษาไทยของจีอืน ลี เกิดขึ้นอย่างไม่ตั้งใจ เพราะระบบการศึกษาที่ประเทศเกาหลี คล้ายตีกรอบให้เธอเลือกเรียนวิชาเอกภาษาไทย 

"ถ้าให้พูดตรงๆ อย่างไรก็ตามคนเกาหลีต้องเข้ามหาวิทยาลัยอยู่แล้ว พอจบมัธยม ใครๆ ก็เข้ามหาวิทยาลัยก่อน จะเลือกวิชาอะไรมันไม่ได้อยู่กับเรา มันอยู่กับคะแนน อยู่กับเกรดมากกว่า" 

เมื่อตกกระไดก็คงต้องพลอยโจน จีอืน ลี พิจารณาว่าภาษาต่างๆ มากมายที่มหาวิทยาลัยเปิดให้เลือกเรียน ดูจะซ้ำซากเกินไปสำหรับเธอ แต่แล้วภาษาไทยก็ผุดขึ้นในความคิดเพื่อเป็นตัวเลือกซึ่งมีมหาวิทยาลัยเพียงสองแห่งเท่านั้นที่เปิดสอน ได้แก่ มหาวิทยาลัยฮันกุก ภาษาและกิจการต่างประเทศ (Hankuk University of Foreign Studies) และ มหาวิทยาลัยพูซัน ภาษาและกิจการต่างประเทศ (BusanUniversity of Foreign Studies) 

"พอจบโทแล้ว รู้สึกว่าความสามารถการใช้ภาษาไทยยังไม่พอ เลยตัดสินใจว่าจะมาเรียนต่อ ตอนแรกมาติดต่อที่ธรรมศาสตร์ โชคดีที่เข้าได้ ก็เรียนปริญญาโทอีกรอบหนึ่ง เรียนภาษาศาสตร์ ภาษาไทย สี่ปีจบ ประมาณปี 2002 ก็รู้จักกับอาจารย์ที่ มศว ท่านแนะนำให้มาสอนใน มศว เขาต้องการอาจารย์เจ้าของภาษา" 

หลังจากเป็นอาจารย์ที่มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ เธอตัดสินใจเรียนต่อปริญญาเอกที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในสาขาวิชาเดียวกัน เมื่อเรียนจบแล้วก็กลับไปเป็นอาจารย์ที่มหาวิทยาลัยฮันกุกฯ ประเทศเกาหลี 

0 เกาหลีที่ (ไม่) คุ้นเคย 

แม้จะเทียวมาเทียวไประหว่างไทยกับเกาหลี ทว่าแต่ละย่างก้าวพัฒนาการของวงการวรรณกรรมแดนกิมจิยังคงอยู่ในสายตาของ จีอืน ลี อยู่เสมอ... 

ในความเชื่อของคนไทย เกาหลีคือประเทศหนึ่งที่มีวัฒนธรรมการอ่านอันแข็งแกร่ง และยาวนาน แต่แท้จริงแล้ว วัฒนธรรมการอ่านบ้านเขาอาจไม่ได้แข็งแรงอย่างที่เราๆ คิด หนำซ้ำอาจจะอ่อนแอเกินคาดก็เป็นได้ 

"สำหรับปีที่แล้ว คนเกาหลีทั่วไปอ่านหนังสือ คนละ 17-18 เล่มต่อปี แต่นี่เป็นแค่สำหรับประชากรที่อ่านหนังสือนะคะ สำหรับสถิติที่รวมคนที่ไม่อ่านหนังสือด้วยก็ประมาณคนละ 10-11 เล่มต่อปี" นักแปลสาวกล่าว 

เมื่อเดือนที่ผ่านมา จีอืน ลี มีโอกาสไปประชุมนักแปลแห่งเอเชียที่ประเทศเวียดนาม จากการประชุมครั้งนั้นเธอได้พบข้อเท็จจริงบางอย่างที่กำลังเกิดขึ้นกับวงการวรรณกรรมทุกประเทศทั่วโลก 

"เดือนที่แล้วไปประชุมนักแปลแห่งเอเชียที่เวียดนาม สนับสนุนโดยองค์กรการแปลวรรณคดีเกาหลี เป็นองค์กรรัฐบาลจัดร่วมกับมหาวิทยาลัยโฮจิมินห์ นักแปลจะมารวมตัวกันเพื่อคุยกันเรื่องวรรณคดี ว่าปัจจุบันเป็นอย่างไร ก็พบว่า วรรณคดีทั่วโลก ไม่เฉพาะที่เกาหลี อาจกำลังจะตาย ! ในอีก 10 ปี หรือ 20 ปี วรรณคดีคงไม่มีในทั่วโลก เพราะอะไร หนึ่ง สื่อ คนดูโทรทัศน์ดูอินเทอร์เน็ต มันพัฒนามากเกินไป คนไม่ชอบอ่านหนังสือ ไม่ชอบอ่านตัวอักษรแล้ว เราเรียกว่าวรรณคดี วรรณคดีบริสุทธิ์เกือบจะไม่มีแล้ว เพราะว่าถ้าอยากเขียนวรรณคดีบริสุทธิ์จริงๆ แต่ไม่มีใครอ่าน ไม่มีใครซื้อหนังสือวรรณคดีแท้ๆ แบบนี้ ก็เลยเลิกกันเลย ก็ต้องรอดก่อน 

หนังสือเขาขาดทุนมาก เพราะปัจจุบันนี้คนชอบอ่านบนหน้าจอหมดเลย ดูคอมพิวเตอร์อย่างเดียว อ่านหนังสือ อ่านตัวอักษรก็ผ่านคอมพิวเตอร์ เช่น อีบุ๊ค สำนักพิมพ์เขาบอกว่าขาดทุนมาก ยิ่งพูดถึงวรรณคดีหรือว่าวรรณกรรม ไม่มีใครอ่านเลย คนเขาไม่ชอบอ่านเรื่องซีเรียส ไม่ชอบเรื่องเครียด ชีวิตนี้มันยุ่งยากพอสมควรแล้ว ก็อยากสนุกสนานมากกว่า" 

เป็นที่รู้กันดีว่า เกาหลีถือเป็นประเทศที่พัฒนาด้านเศรษฐกิจลำดับต้นๆ ของเอเชีย ประชากรเกาหลีส่วนใหญ่ต้องเร่งรีบและจริงจังกับการทำงาน และสิ่งที่ตามพวกเขามาคือ ความเครียด ! 

จีอืน ลี เล่าว่าคนเกาหลีประมาณ 30 กว่าเปอร์เซ็นต์บอกว่าชอบอ่านหนังสือแนว common sense หนังสือทั่วๆ ไปที่ให้ความรู้ และที่สะท้อนอะไรบางอย่างในความคิดของคนเกาหลี คือ คนเกาหลีชอบอ่านหนังสือ How to โดยเฉพาะ 'ทำอย่างไรจึงรวย' 'ทำอย่างไรจึงประสบความสำเร็จ' 

ผลกระเทือนจากเทคโนโลยีต่อวงการวรรณกรรมทั่วโลก ค่อยๆ ปิดกั้นทางรอดลงทีละทาง ผู้ผลิตตลอดจนนักเขียนส่วนหนึ่งที่ต้านทานพละกำลังนี้ไม่ไหวจึงพากันส่งผลงานออกสู่ตลาดผ่านหน้าจอสี่เหลี่ยมบนอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์หลากชนิด 

"นักเขียนบางคนลองเอางานลงในอินเทอร์เน็ตอยู่ ก็ทำเป็นอีบุ๊คขายในอินเทอร์เน็ต แต่คนบางคนรวมถึงตัวเอง ก็ไม่ชอบอ่านหนังสือแบบนั้น ต้องเป็นหนังสือเล่มๆ แบบนี้ มันอยู่ในมือ เปิดได้ทีละแผ่น คอมพิวเตอร์มันไม่เหมือนเลย ความรู้สึกมันไม่เหมือนเลย ไม่ค่อยดี ไม่ค่อยชอบ จริงๆ แล้วก็มีอีบุ๊คดาวน์โหลดมาหลายเล่มอยู่ ก็สะดวกดีเหมือนกัน แต่ว่าเฉพาะฆ่าเวลาในร้านกาแฟเท่านั้น มันพกง่ายดี แต่หนังสือมีเสน่ห์มากกว่า" 

0 กิมจิถ้วยใหม่...ไม่ถูกใจแต่ขายดี 

ทุกวงการย่อมมีคลื่นลูกใหม่ วงการวรรณกรรมเกาหลีก็เช่นเดียวกัน นักเขียนรุ่นใหม่ๆ ทยอยกันเกิดขึ้นราวดอกเห็ด หากแต่พื้นที่ก่อเกิดของนักเขียนรุ่นใหม่นี้ กลายเป็นหน้าจอคอมพิวเตอร์เสียมากกว่า 

"นักเขียนมีหลายประเภท อย่างคนที่เอาลงอินเทอร์เน็ตแล้วโด่งดังขึ้นมีคนหนึ่ง หนังสือของนักเขียนคนนี้เผยแพร่ไปทั่วเอเชีย โดยเฉพาะที่เมืองไทย ก็เชิญนักเขียนคนนี้มาสัมภาษณ์ด้วย เธออายุยังน้อย เขาเขียนลงอินเทอร์เน็ตตั้งแต่เรียนมัธยม ใช้ภาษาวิบัติมาก ผิดเพี้ยน บิดเบือนไปเยอะเลย ใช้อีโมทิคอน ใช้อะไรก็ไม่รู้ เหมือนเป็นรหัสของเด็กหรือเปล่า แต่มันเผยแพร่ไปทั่วเกาหลีและเอเชียเลย ก็น่าเป็นห่วงเหมือนกันว่าในอนาคตภาษาจะกลายเป็นแบบนี้หรือเปล่า พอเขาโตขึ้นแล้วจะใช้ภาษาแบบนี้ มันไม่ใช่ภาษาเกาหลีแล้ว เขามีความสามารถด้านการเขียนจริงไหมก็ไม่แน่ใจ แต่พอดีว่าเขาดังแล้ว มหาวิทยาลัยแห่งหนึ่งก็รับนักเขียนคนนี้ไป พอจบก็ได้รับเชิญเป็นอาจารย์เลย อาจารย์สอนวรรณคดีเลย !? (หัวเราะ) คนเกาหลีหลายคนที่ใช้อินเทอร์เน็ตเขาโมโหมากว่า คนนี้มันห่วยนะ ใช้ภาษาห่วยมาก วิบัติมาก แต่กลับไปสอนเด็ก เป็นไปได้อย่างไร เขาไม่มีคุณวุฒิด้วย เขาไม่มีอะไรเลย แต่เพราะเขาชื่อดังแค่นั้น น่าเป็นห่วงจริงๆ" จีอืน ลี เล่าในฐานะรุ่นพี่ในวงการอย่างห่วงใย 

"ไม่ว่าไทยหรือเกาหลี ก็น่าเป็นห่วงเหมือนกัน แต่ไม่แน่ใจว่าต้องเป็นห่วงหรือเปล่า ตัดสินไม่ถูกว่ามันดีหรือไม่ดี มันอาจจะเป็นปรากฏการณ์อย่างหนึ่ง คาดเดาไม่ได้ในอนาคต อาจจะเปลี่ยนพฤติกรรมคนอ่าน ตอนเรียนภาษาศาสตร์ อาจารย์แบ่งเป็นสองประเภท อาจารย์ประเภทหนึ่งจบด้านภาษาไทย ย้ำว่าต้องอนุรักษ์ภาษาไทยที่สวยงาม แต่ว่าอาจารย์อีกกลุ่มหนึ่งที่ไม่ได้จบด้านภาษาไทยมาก่อน ก็บอกว่าเป็นแค่กระบวนการหนึ่ง ภาษามันมีชีวิต มันอาจจะกลายเป็นแบบหนึ่งหรือตายไปก็ได้ มุมมองอาจจะแบ่งเป็นสองแบบ" 

แม้ว่าคล้ายความผิดของนักเขียนรุ่นใหม่ไร้ซึ่งวุฒิภาวะ แต่มหาวิทยาลัยที่จ้องจับคนดังเพื่อหาผลประโยชน์ทางการพาณิชย์ต่างหากที่สมควรถูกต่อว่าต่อขาน 

"ที่เกาหลีมีปัญหาใหญ่ที่สุด คือ ทุกคนเรียนสูงมากเกินไป ชาวนาก็จบมหาวิทยาลัย คนเก็บขยะก็จบมหาวิทยาลัย ประชากร 80 เปอร์เซ็นต์ก็จบมหาวิทยาลัย เหมือนว่าการศึกษาสูงมากเกินไปแล้ว มหาวิทยาลัยเยอะเกินไป ประชากรเกาหลีรุ่นใหม่น้อยลง คนไม่มีลูกมากขึ้น มหาวิทยาลัยแต่ละแห่งจึงมีปัญหา เขาจึงใช้กลยุทธ์ ให้คนดังมาสอนที่นี่ เด็กๆ จะชอบมาเรียน บางทีก็เชิญดารามาสอน เขาไม่มีคุณวุฒิ ไม่มีความสามารถ ไม่ได้เรียนจบด้านนี้ก็เชิญมาสอน เด็กเขาเห็นว่าคนนี้เป็นดาราดังอยากไปเรียนกับเขา มหาวิทยาลัยใช้กลยุทธ์ด้านพาณิชย์มากกว่า" 

0 บันเทิง - วรรณกรรม เส้นขนานที่หากันเจอ 

เชื่อว่าในการรับรู้ของคนไทยเมื่อมองประเทศเกาหลี คงหนีไม่พ้นเรื่องบันเทิง ดารา ซีรีย์ ภาพยนตร์ ภายใต้ความบันเทิงนั้นมีหลายผลงานชื่อดัง ได้รับแรงบันดาลใจหรือถูกผลิตซ้ำในอีกรูปแบบจากวรรณกรรม และวรรณคดี 

จีอืน ลีเล่าว่า "ได้ยินมาว่าวงการละคร ภาพยนตร์ ช่วงนี้มีปัญหาใหญ่ที่สุดคือ ขาดเรื่อง ไม่มีอะไรสร้างสรรค์ใหม่ๆ เลยขอยืมใช้ มาจากหนังสือ คล้ายๆ การสลับกันไปมาเรื่อยๆ ไม่ใช่เฉพาะเป็นหนังสือมาก่อน เป็นบทละครก่อนก็มีนำมาขยายเป็นนวนิยาย ก็มี" 

ปัจจุบันงานเขียนที่เผยแพร่ในอินเทอร์เน็ตกำลังได้รับความนิยม และเป็นตัวเลือกลำดับแรกๆ สำหรับการดัดแปลงเป็นละคร หรือภาพยนตร์ เพราะถือได้ว่าผ่านบททดสอบแรกแล้วว่า มีคนนิยมชมชอบมากพอที่อาจจะดังได้ 

0 ตลกชวนอ่าน แบบอย่างที่น่าลอง 

มาถึงตรงนี้วงการวรรณกรรมเกาหลีดูจะคุ้นตาของคนไทยมากขึ้น แต่สิ่งที่กำลังเห็นยังไม่ใช่ทั้งหมดที่เป็นอยู่ เพราะในภาพจำของคนไทย คนเกาหลียังเป็นนักอ่านตัวยง 

นักแปลสาวอธิบายให้เห็นภาพวงการวรรณกรรมเกาหลีชัดขึ้นอีกว่า "ตอนที่ไปประชุม ได้ไปพูดถึงประเทศไทย เรื่องจำนวนคนอ่าน เก็บข้อมูลไปพอสมควร ก็ตกใจมาก เมื่อปี 2006 สถิติคนไทยอ่านหนังสือคนละ 6 บรรทัดต่อปี ปี 2008 คนละ 7 บรรทัดต่อปี และพอปี 2011 คนละ 1-2 เล่มต่อปี มันพัฒนาไปเยอะนะคะ แต่พอดูกับเวียดนาม เขาอ่าน 40-50 เล่ม สิงคโปร์ก็ 60 เล่ม ญี่ปุ่นก็ไม่น้อย ส่วนเกาหลีก็อย่างที่บอกไปว่า 17-18 เล่ม ถ้าเทียบดูกับประเทศไทยเกาหลีก็ยังมากกว่า แต่ถ้าเทียบกับในเอเชียก็ถือว่าอ่านน้อยลง" 

เมื่อเห็นตัวเลขสถิติการอ่าน หากเปรียบเทียบกับตัวเลขที่สมาคมผู้จัดพิมพ์และจำหน่ายหนังสือแห่งประเทศไทยอ้างอิงไว้เมื่อต้นปี คือ คนไทยอ่านหนังสือ 2-5 เล่มต่อปี เกาหลีดูจะมีชัยเหนือเราอยู่พอตัว หากยิ่งลงลึกแตกทีละประเด็น จะยิ่งเห็นความแตกต่างและอ่อนด้อยที่เรากำลังวิ่งตามเขาจนฝุ่นตลบ 

"ไม่อยากพูดถึงคุณภาพผู้เขียนนะคะ แต่ละประเทศอาจจะมีนักเขียนเฉพาะตัว แต่ถ้าพูดถึงคุณภาพหนังสือ เกาหลีดีกว่า อันนี้พูดได้อย่างมั่นใจเลย (หัวเราะ) ดีกว่าในเรื่องทั่วๆ ไป การออกแบบ การผลิต ราคาก็เทียบดูเกาหลีก็ถูกกว่า แต่คุณภาพดีกว่า ใช้กระดาษดีกว่า ทำสวยกว่า เนื้อหา เนื้อเรื่องของเกาหลี เขาอาจจะคิดหลากหลายมากกว่า เราอาจเลือกได้หลายอย่างกว่า 

ทว่าวัฒนธรรมการอ่านทั้งหมดทั้งมวลที่เกิดขึ้นในบรรณพิภพแดนโสมนั้นหาได้เกิดขึ้นเพียงชั่วข้ามคืน หรือมีมานานนมไม่ หากแต่วัฒนธรรมนี้เกิดขึ้นได้เพียง 15-20 ปีที่ผ่านมานี้เอง 

"คนเกาหลีไม่ค่อยอ่านหนังสือ รัฐบาลเป็นห่วง บริษัทเอกชนเป็นห่วง คนเกาหลีทั่วๆ ไปก็รู้ว่าเราอ่านน้อยเกินไป แต่ก็ไม่มีใครอ่านเลย แต่ในที่สุดก็มีดาราตลกจากสถานีโทรทัศน์แห่งหนึ่งทำรายการ ตลกสองคนที่ดังมากมาเป็นพิธีกร แต่ละอาทิตย์ให้เขาอ่านหนังสือ 2-3 เล่มเลย คนส่วนใหญ่มองว่าตลกไม่มีความรู้มาก แต่นี่ให้เขามาอ่านหนังสือ และให้ไปเดินถนน สุ่มจับใครก็ได้ถามว่าเคยอ่านหนังสือเล่มนี้ไหม ถามไปเรื่อยๆ ปรากฏตัวอยู่ทุกเมือง ทั่วประเทศ เราก็รู้สึกว่าคาดไม่ถึง เขาจะมาอยู่ที่นี่หรือเปล่า ถ้าเคยอ่าน เขาจะถามถึงเนื้อเรื่องว่ามีอะไรบ้าง ถ้าตอบถูกก็ให้รางวัล เขาจะแนะนำหนังสือสัปดาห์ละ 10 เล่ม มีหลายประเภท คนเกาหลีก็ชอบดูรายการนี้มาก ซื้อหนังสือมาอ่าน ช่วงนั้นเกิดกระแสการอ่านหนังสือมาก พอเจอเพื่อนก็ถามถึงเรื่องหนังสือ 

เป็นเหมือนจุดเริ่มต้นของวัฒนธรรมการอ่านหนังสือของคนเกาหลี ที่ค่อยๆ ซึมซับมาจนถึงปัจจุบัน เหมือนว่าถ้าไม่อ่านหนังสือ จะเข้ากับใครไม่ได้เลย 

ตัวอย่างนี้น่าจะเกิดขึ้นในประเทศไทย ต้องลองดู มันได้ผลดีจริงๆ" 

*** Lee, JiEun (จีอืน ลี) *** 
การศึกษา 
พ.ศ. 2553 ปริญญาเอก สาขาไทยศึกษา คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย 
พ.ศ. 2545 ปริญญาโท สาขาภาษาศาสตร์ คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ 
พ.ศ. 2539 ปริญญาโท สาขาภาษาศาสตร์ภาษาไทย มหาวิทยาลัยฮันกุก ภาษาและกิจการต่างประเทศ 
(HankukUniversity of Foreign Studies) 
พ.ศ. 2536 ปริญญาตรี สาขาภาษาไทย คณะภาษาตะวันออก มหาวิทยาลัยพูซัน ภาษาและกิจการ 
ต่างประเทศ (BusanUniversity of Foreign Studies) 
การทำงาน 
2010.3 : Interpreter for GyungjuCultural Expo 
2009.10 : Translator for ASEAN+3 Summit HuaHin, Thailand 
2009.7 : Interpreter for Prime Minister Aphisitand the President Lee MB’s courier 
2009.4 : Translator for ASEAN+3 Summit Pattaya, Thailand 
2007.11 : Interpreter for MOU between Seoul and Bangkok Municipal Assembly 
2004.6 ~ 2008.11 : Lecturer of Korean section at Thai National Kasetsat University, Bangkok 
2002.6 ~ 2006.10 : Full-time lecturer of Thai National Srinakharinwirot University, Bangkok 
2005.11 ~ 2006.10 : Lecturer of Korean at Ministry of Foreign Affairs, Thailand 
2006.6 ~ 2007.1 : Staff of Thai movie “Alone” 
2004.2 ~ 2004.4 : Staff of Director Penek’smovie, “Invisible Waves” 
2004.1 ~ 2007.7 : Correspondent of Korean Film Council 
2003.8 ~ 2004.2 : Staff of Director KwakKyung Taek’smovie “Typhoon” 
2003.7 : Interpreter & Coordinator for Korean Broadcasting System 
2003.9 : Interpreter for APEC Bangkok 
2002.11 : Interpreter for IT Exhibition by United Nations 
2001 ~ 2002 : Translator of drama script for Channel 5 
1999 ~ Present : Interpreter for Korean Embassy in Thailand, KOTRA(Korean Trading Association), 
and etc. 
ผลงานแปล 
2011. 9 เพื่อจักรพรรดิ 
2010. 8 หนังสือสำหรับเด็ก “โบ๊ะโบ๊ะ กบเขียว” “ตำนานทันคุน” “ไม่กินกิมจิหรอก” “คงจีพัทจี” 
2005. 8 ผู้ชายเขา ผู้หญิงเธอ (The Guy and the Girl) 
2002.10 ยายตัวร้ายกับนายเจี๋ยมเจี้ยม (My Sassy Girl) 




โดย: ปริญญา ชาวสมุน
ที่มา: bangkokbiznews.com / 14 สิงหาคม 2554

Views: 475

Reply to This

© 2009-2024   PORTFOLIOS*NET by CreativeMOVE.   Powered by

Badges  |  Report an Issue  |  Terms of Service