ธัญสก พันสิทธิวรกุล 'เขาหาว่าผมเป็นแบดบอย'


ผู้กำกับภาพยนตร์อิสระคนนี้ 'ธัญสก พันสิทธิวรกุล' หนังของเขาเกือบทุกเรื่อง แทบจะไม่เคยได้ฉายในโรงภาพยนตร์เมืองไทย 

แต่ได้ฉายในเทศกาลหนังมาแล้วเกือบทั่วโลก เขาเคยได้รางวัลศิลปาธรและรางวัลอื่นๆ อีกมากมาย นอกจากทำหนังอิสระ เขายังเป็นอาจารย์พิเศษที่มหาวิทยาลัยหัวเฉียว นักวิจารณ์ภาพยนตร์ในนิตยสาร และตอนนี้กำลังทำสารคดีเกี่ยวกับนิวเคลียร์ในประเทศญี่ปุ่น 


หนังของเขาส่วนใหญ่นำเสนอเรื่องเพศ แต่ไม่ใช่ประเด็นเรียกร้องสิทธิของคนรักเพศเดียวกัน เขาใช้เรื่องเพศเสียดสีและสื่อเรื่องสังคม การเมือง และสงคราม อาทิเรื่อง มัชฌิมโลก, ศาลาคนเศร้า (ได้รางวัลจากเทศกาลหนังปูซาน), สวรรค์สุดเอื้อม, บริเวณอยู่ภายใต้การกักกัน และผู้ก่อการร้าย เพิ่งฉายในหอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร เนื่องจากเป็นส่วนหนึ่งของ "นิทรรศการตรรกะสังสรรค์" ที่เขานำเสนอในสาขาภาพยนตร์ (ปี้) 


เขาเป็นคนแรกๆ ที่ก่อตั้งหนังนอกกระแสรุ่นใหม่ และหนังของเขาอยู่ในกลุ่มคนทำหนัง Unisex เป็นหนังต้องห้ามในเมืองไทย จึงมีทั้งคนเกลียดและชอบ บางเรื่องจึงต้องแอบฉายสำหรับแฟนหนังประจำของเขา 

คุณไม่ได้สนใจอยากเรียนในมหาวิทยาลัย แต่ก็เรียนจนจบ ? 


ผมไม่ได้มีความพยายามอยากเรียนตั้งแต่แรก เข้าเรียนที่ภาควิชาศิลปศึกษา คณะครุศาสตร์ จุฬาฯ เพราะมีแฟน ฝีมือศิลปะผมแย่มาก ตอนเรียนอยู่ปี 2 ผมตัดสินใจว่าจะเรียนปีเว้นปี ทำงานไปด้วย ผมเรียนจบภายใน 8 ปี ที่ผมไม่อยากเรียนเพราะรู้สึกว่า ระบบการศึกษาบ้านเราไม่เหมาะที่จะให้เรียนรู้อะไรเลย วิธีการสอบเข้าก็แค่ฝึกการจำ ผมสนใจเรื่องหนัง เพราะมีโอกาสดูหนังหลายเรื่องแล้วรู้สึกชอบ จึงไปลงวิชาเกี่ยวกับการวิเคราะห์วิจารณ์ภาพยนตร์ การสอนของอาจารย์ประวิทย์ แต่งอักษร เปิดโลกให้ผมมาก ไม่ใช่แค่ทฤษฎีที่น่าเบื่อ แต่ได้ใช้ความคิด นั่นเป็นแรงผลักดันให้ผมชอบภาพยนตร์ ตอนที่เรียนกับอาจารย์ชลิดา เอื้อบำรุงจิต จากมูลนิธิหนังไทย ซึ่งจัดประกวดหนังสั้นทุกปี ตอนนั้นเขาต้องการอาสาสมัคร ผมดูหนังเยอะและบ้าหนังมาก จึงสมัครเข้าร่วม 


เป็นช่วงจังหวะที่คลั่งไคล้หนัง ? 


คงเป็นช่วงเวลาการค้นเจอ เพราะผมผ่านช่วงเวลาการค้นหามาแล้ว ผมก็เลยคลั่งไคล้ กระตือรือร้น ทำทุกอย่างเพื่อการเรียนรู้ ผมรู้สึกว่า ภาพยนตร์เป็นอีกโลกหนึ่งที่อยากค้นหา 


เริ่มจากทำหนังสั้น ? 


ตอนนั้นเป็นอาสาสมัครก็แอบทำหนังสั้นส่ง ปรากฏว่าได้รับเลือก กรรมการตัดสินมี 5 คน มีพี่เจ้ย-อภิชาติพงษ์ วีระเศรษฐกุลคนเดียวที่ชอบหนังผม เขาให้กำลังใจ ตอนนั้นผมทำหนังเรื่อง Private Life “เรื่องส่วนตัว” ใช้กล้องตั้งเบาะหลังรถ ถ่ายผู้ชายสองคนขับรถจากพัทยาเข้ากรุงเทพฯ แล้วทะเลาะกัน เพื่อให้เห็นพฤติกรรมบางอย่าง หนังเรื่องนั้นได้รับเลือกให้ฉายในเทศกาลหนังที่อเมริกา โดยปกติวงจรคนทำหนังสั้นจะจบกระบวนการเมื่อทำหนังส่งอาจารย์แล้ว แต่ผมไม่ได้เริ่มจากทำงานส่งอาจารย์ในห้องเรียน ผมชอบทดลอง และแรกๆ ก็ไม่เป็นที่ยอมรับ ผมก็เลยทำหนังไปฉายในเทศกาลหนังทั่วโลก 


ส่วนใหญ่หนังของคุณนำเสนอเรื่องเกย์ ? 


เพราะผมเป็นเกย์ และในประเทศนี้ไม่ค่อยมีหนังเกย์ และคำว่าเกย์ในประเทศนี้เป็นได้แค่ตัวตลก ผมก็ทำเรื่องใกล้ตัวที่เราเข้าใจ 


เคยมีคนวิจารณ์หนังของคุณว่า หมกมุ่นเรื่องวัตถุทางเพศมากเกินไป ? 


ผมยอมรับ เพราะสังคมไทยไม่มีหนังเกี่ยวกับเรื่องเพศที่พูดอย่างตรงไปตรงมา ช่วงแรกของการทำหนัง ผมไม่สนใจเรื่องการเมืองเลย เพิ่งมาสนใจเมื่อไม่นาน แม้ผมจะทำหนังเรื่องเพศ แต่ก็สื่อเรื่องการเมืองได้ ผมต่อสู้กับกองเซ็นเซอร์มาตลอด ในประเทศนี้เหมือนยอมรับเรื่องเพศ แต่ขณะเดียวกันก็เหยียดสิ่งเหล่านี้ พยายามจะพูดว่า เรื่องเพศไม่ใช่เรื่องสกปรก ยกตัวอย่างหนังสั้นเรื่อง sigh “เมืองร้าง” ฉายในฮ่องกง แม้จะงานจัดที่สถานทูตไทยในฮ่องกง แต่เขาต้องการถอนการสนับสนุนโปรแกรมทั้งหมด ซึ่งหนังเรื่องนี้ไม่ได้โป๊ขนาดนั้น 


หนังของคุณมีฉากโป๊เกือบทุกเรื่องไหม 


คนที่ไม่ได้ดูหนังผม จะคิดว่าเป็นหนังโป๊ แต่ถ้าเทียบกับหนังโป๊ มันคนละเรื่อง หนังผมดูแล้วอาจจะหมดอารมณ์ทางเพศไปเลย ไม่มีฉากร่วมเพศ แต่แน่นอนว่ามีภาพอวัยวะเพศ แต่ดูแล้วไม่ได้รู้สึกแบบนั้น ผมต้องการเสียดสีบางอย่างกับระบบความคิดเรื่องเพศ หนังผมไม่เคยได้รับการสนับสนุนใดๆ จากประเทศนี้ จะฉายก็ไม่มีใครสนับสนุนให้ฉาย แต่ปรากฏว่าสามารถทำหนังต่อไปได้เรื่อยๆ 


เป็นหนังที่ไม่ค่อยได้ฉายในเมืองไทย ? 


มีฉายในโปรแกรมของโรงหนังบ้าง เป็นหนังเล็กๆ สั้นๆ ถ้าเป็นหนังยาวจะไม่ค่อยอนุญาตให้ฉาย แต่มีหนังเรื่องหนึ่ง“บริเวณนี้อยู่ภายใต้การกักกัน” เกือบได้ฉายในเทศกาลหนังนานาชาติ กระทั่งกองเซ็นเซอร์ให้เห็นเหตุผลว่า เรื่องนี้นำเสนอประเด็นการเมืองและมีฉากโป๊ ผมเล่าถึงเหตุการณ์ตากใบในจังหวัดนราธิวาส โดยเอาเรื่องเพศมาสื่อ หนังผมทุกเรื่องนำเสนอเรื่องเพศ ผมจะตั้งคำถามและไม่ชี้นำ ผมคิดว่า เรื่องเพศสะท้อนสังคมและการเมืองได้ เมื่อก่อนผมคิดว่าการเมืองเป็นเรื่องไกลตัว แต่ตอนนี้ใกล้ตัวมาก 


ทำไมหนังของคุณได้รับความสนใจ 


เมื่อปี ค.ศ.2004 หนังของผมได้รับรางวัลยอดเยี่ยมที่ไต้หวัน ทำเป็นสารคดีเรื่อง "สวรรค์สุดเอื้อม" (Happy Berry) ตอนนั้นแทบไม่มีคนทำหนังอินดี้เลย คนก็เลยสนใจ และทุกครั้งของการทำหนังจะมีรอบแอบฉาย แฟนหนังผมจะรู้และตามมาดู บางครั้งต้องจัดสองสามรอบ เพราะยิ่งหนังถูกปิด คนก็ยิ่งอยากรู้ แต่ผมเองก็เลือกที่จะปิดด้วย เพราะผมรู้ว่าสังคมเป็นแบบนี้ มันยากที่จะอธิบาย 


คุณเคยถูกวิจารณ์ว่าไม่สนใจเรื่องศิลปะ ในหนังมีแต่ฉากโป๊และเปลือย ? 


ผมสนใจเรื่องความรู้สึกมากกว่า บางเรื่องดูดิบ แต่สวยงามในแบบของผม อย่างศิลปินแวนโก๊ะตอนวาดรูป เขาไม่รู้หรอกว่า งานของเขาจะขายได้ร้อยล้าน แต่ตอนวาดรูปเขาได้ระบายความรู้สึกบนแผ่นเฟรม นี่คือ โลกของเขา ตอนที่เขามีชีวิตอยู่ งานของเขาขายไม่ได้ ผมชอบอารมณ์แบบนี้ ผมไม่ได้ทำเพื่อขาย แต่อยากบอกโลกว่า ณ เวลานั้น ผมรู้สึกกับสิ่งรอบข้างอย่างไร 


คุณอยากให้คนในสังคมเข้าใจคนกลุ่มนี้มากขึ้น? 


ผมว่า มันเชยมากเลย ถ้าจะทำหนังเพื่อที่จะบอกว่ามาเข้าใจเรื่องเกย์กันดีกว่า เราไม่ใช่ประเทศล้าหลังว่าเกย์คืออะไร ยากที่จะเปลี่ยนคนที่ชอบเหยียดเพศ เราแค่บอกว่านี่คือเรา เราโชว์สิ่งที่เรารู้สึกและประสบการณ์ของเรา 

เหมือนจะบอกว่า ไม่ต้องมาเข้าใจคนกลุ่มนี้ ? 

ช่วงเวลาหนึ่งผมคิดอย่างนั้น แต่ตอนนี้ไม่ใช่ เพราะสังคมเปลี่ยนไป ในช่วง 2 ปีนี้ผมอยากทำสิ่งที่แตกต่างจากที่เคยทำ จากเหตุการณ์ความวุ่นวายในเมืองไทย ผมได้ดูคลิปเต็มของผู้หญิงเสื้อแดงชุดหนึ่ง สื่อตัดต่อออกทีวีอีกแบบหนึ่ง โดยให้ร้ายคนอื่น เรื่องนี้ทำให้ผมคิดต่อว่า อะไรคือความจริง บางครั้งที่คนมองว่า พวกเขาเป็นผู้ก่อการร้าย เป็นโจร เป็นคนชั่ว มันอาจไม่ใช่ 


เคยได้ยินมาว่า คุณนำเงินรางวัลศิลปาธรที่เคยได้รับนำไปเป็นค่าจ้างนักแสดง ? 


ผมเอาเงินครึ่งหนึ่งไปทำหนังสั้นหลายเรื่อง อาทิ มัชฌิมโลก คนแสดงก็ไม่ได้เป็นเกย์ หนังเรื่องนี้ทำเพื่อต่อสู้ที่หนัง"แสงศตวรรษ" ไม่ผ่านกองเซ็นเซอร์ คนที่แสดงหนังผม ต้องสามารถเปลือยได้ แต่ผมไม่ได้บังคับว่าต้องเปลือยแบบหนังโป๊ นักแสดงหนังของผมต้องคุยกันรู้เรื่อง เข้าใจสิ่งที่เราทำ 


หนังเรื่องล่าสุดของคุณที่ฉายเป็นอย่างไรบ้าง 


เรื่อง ผู้ก่อการร้าย หนังเรื่องนี้เปิดตัวที่เทศกาลหนังในเบอร์ลิน และฉายมาสิบเทศกาล นำเสนอเรื่องความไม่สงบปีที่แล้ว เปิดฉากที่ชาวประมงหาปลา และฉากคนพม่าในสวนยาง เน้นไปที่ร่างกายของคน จากนั้นเล่าถึงผู้ชายโดนลวนลาม ซึ่งดูเหมือนไม่มีความสุข แต่มีความสุข ผมก็สะท้อนให้เห็นชีวิตผมที่ผ่านมา ผมอยู่ในโลกที่ไม่เคยคิดอะไรมาก ไม่เคยคิดว่า การเมืองเป็นเรื่องสำคัญ ผมก็คิดว่า มีความสุขแล้วกับชีวิตที่ผ่านมา แต่แล้ววันหนึ่งผมรู้สึก มันไม่ใช่ 
หนังของคุณค่อนข้างท้าทายเรื่องศีลธรรม ? 


ผมเคยฉายเรื่องผู้ก่อการร้ายที่หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร ตอนนั้นมีผู้หญิงคนหนึ่งพูดว่า "ไม่ได้รู้เรื่องการเมืองเลย เพราะไปนั่งสมาธิมา แต่หนังของผมอยู่ในระดับรุนแรง" เธอบอกอีกว่า "คนที่ทำเรื่องเลวร้าย เราพอจะให้อภัย แล้วลืมได้ไหม” ผมบอกว่า "สิ่งที่ผมทำ ต้องการทำให้จำมากกว่าลืม เพราะเราถูกทำให้ลืมมาตลอด" ผมคิดว่า บางคนพูดถึงธรรมะ แต่สิ่งที่เขาทำคือ ใช้คำหยาบคาย สำหรับผมแล้ว ใช่ว่าพระต้องมีศีลธรรมสูงส่ง เป็นเกย์ต้องถูกเหยียด เพราะในสังคมไทยมีพระที่ฆ่าคน พุทธศาสนาเป็นเรื่องดี แต่มีคนนำไปใช้ไม่ถูก อย่ามาอ้างศีลธรรมกับผม 


การอ้าง 'ศีลธรรม' แบบไหนที่คุณเห็นต่าง ? 


ช่วยใช้สติปัญญาในการคิดด้วย อย่าเชื่อทุกอย่างที่ถูกกล่อมเกลา ที่บอกว่า "ให้เชื่อ ให้ลืม ให้เดินสายกลาง ให้ปรองดอง" อยากให้มองย้อนกลับไปว่า ที่ผ่านมาสังคมเป็นอย่างนั้นจริงๆ ไหม ผมอยากให้ลองคิด แน่นอนว่า ศาสนานำมาปรับใช้กับทุกอย่าง แต่อย่าเอาศาสนามาอ้างความถูกต้อง อ้างความสูงส่ง 


ตอนนี้คุณกำลังทำหนังเรื่องอะไร 


สารคดีเกี่ยวกับนิวเคลียร์ ไปถ่ายทำที่ญี่ปุ่น ขณะที่ประเทศอื่นพยายามไม่ใช้พลังงานนิวเคลียร์ คนกลุ่มหนึ่งพูดว่า ทำเพื่อชาติ แต่กลับทำเพื่อผลประโยชน์ ไม่ค่อยมีคนออกมาบอกความจริงว่า พลังงานลมและแสงแดดผลิตไฟฟ้าได้มากกว่านิวเคลียร์ ไม่มีใครบอกว่า ยูเรเนียมราคาเท่าไหร่ ต้องเอามาจากไหน และมีผลเสียอย่างไร เรื่องนี้ผมทำเป็นสารคดีกึ่งหนังสั้น 10 ตอนๆ ละ 10 นาที ใช้เวลาหนึ่งปี ถ้าทำเสร็จจะลงยูทูบให้ชม ตอนนี้มีแค่ทุนเดินทาง กำลังหาทุนทำหนัง ส่วนหนังที่เตรียมจะทำคือ "เหนือธรรมชาติ" เล่าถึงโลกในอีก 100 ปีข้างหน้า ผมนำวิธีการแบบฟิคชั่นมาใช้ในหนัง ผมวางไว้ว่า ผู้คนจะฆ่ากันตายหมด และเราจะไม่สามารถอยู่บนโลก เพราะโลกได้หายนะไปแล้ว จิตวิญญาณจึงต้องไปอาศัยอยู่ในไซเบอร์ 


แสดงว่าหนังของคุณ ถ้าคนไม่ชอบ ก็เกลียดไปเลย ? 


หนังผมไม่ใช่หนังกลางๆ และไม่แปลกที่จะเกลียดหนังผม ผมไม่ได้ต้องการทำหนังเพื่อจะเปลี่ยนโลก อย่างหนังเรื่อง ผู้ก่อการร้ายจะมีขายที่อิตาลีและเยอรมัน ต้นปีหน้า ตอนผมไปฉายที่เยอรมัน ก็เป็นเรื่องธรรมดาเพราะพวกเขาผ่านเหตุการณ์การฆ่ายิวและเกย์ หลายประเทศมีการบันทึกไว้ว่า ประเทศของเขาผ่านเหตุการณ์อะไรมาบ้าง แต่คนไทยพยายามจะลืม หนังของผมผู้ชายแท้ๆ จะไม่ชอบ จะตกใจเมื่อเห็นเพศตัวเองบนจอ เพราะผู้ชายมีลักษณะของความเป็นใหญ่ พวกเขารู้สึกเหมือนถูกจับจ้องและถูกกระทำ 


ไม่ใช่หนังกลางๆ ก็เลยไม่ได้ฉายในเมืองไทย ? 


ผมรู้สึกว่า เดินสายกลางมาพอแล้วล่ะ ผมไม่ได้หมายความว่าความเชื่อพุทธศาสนาผิดนะ แต่ผมจะบอกว่า เลิกให้อภัย แล้วเลิกลืม แต่ขอให้จำ เราแทบจะไม่รู้เลยว่า เงินภาษีของเราเอาไปใช้อะไรบ้าง 


นั่นเป็นสำนึกที่มีต่อสังคม ? 


ผมมีสำนึกเรื่องสังคมมาตลอด แต่ที่ผ่านมาผมไม่ได้ต้องการแสดงออก ผมไม่อยากสร้างภาพว่า ผมเป็นคนดีสร้างหนังเพื่อโลกนี้ ประเทศนี้ ช่วงเวลาที่ผ่านมาผมยอมรับว่า สร้างภาพแบบหนึ่งคือ แบดบอย 


คุณอยากให้คนมองว่าตัวเองเป็นแบดบอย ? 


เมื่อคนมองอย่างนั้นไปแล้ว ในยุคหนึ่งผมอาจจะต่อต้านสังคม ช่วงหนึ่งมีคนมองว่า ผมทำหนังหมกมุ่นกับตัวเองมากไป ทำหนังเหมือนสำเร็จความใคร่ นั่นเป็นสิ่งที่คนมอง แต่ตอนนี้ผมอยากให้เห็นอีกด้าน มองที่งานของผม 



โดย: เพ็ญลักษณ์ ภักดีเจริญ
ที่มา: bangkokbiznews.com / 27 สิงหาคม 2554

Views: 673

Reply to This

© 2009-2024   PORTFOLIOS*NET by CreativeMOVE.   Powered by

Badges  |  Report an Issue  |  Terms of Service