ดุลย์พิชัย โกมลวานิช “ผมใช้แผ่นดินร่างรูป”

ชายคนนี้ไม่ได้ใส่ชุดดำ เพื่อบ่งบอกว่าตัวเองเป็นศิลปิน แต่การสวมใส่เสื้อผ้าฝ้ายสีดำทุกวันกว่า17ปี เพราะสะดวกในการคุมงานออกแบบก่อสร้างกลางทุ่ง 

เขาบอกว่า สีดำทำให้จิตใจไม่วอกแวกในการสร้างสรรค์งานศิลป์ที่อยู่ตรงหน้า 


ก่อนหน้านี้ อาจารย์ ดุลย์พิชัย โกมลวานิช ชอบที่จะใส่สูท ผูกเนกไท และใช้ของแบรนด์เนม แต่เมื่อค้นพบว่า นั่นเป็นแค่เปลือก เขาสลัดสูทมาใส่ชุดดำ แต่นั่นไม่ใช่สาระสำคัญ สิ่งสำคัญคือ ศิลปะที่เขาสร้างสรรค์ให้แผ่นดินนี้ 


บางคนบอกว่า เขาเป็นนักออกแบบและสถาปนิก บางคนก็เรียกว่า ดีไซเนอร์, นักประวัติศาสตร์กรุงเก่า, ศิลปินแนวศิลปะอยุธยา ฯลฯ 


ทั้งหมดก็คือ เขา เพราะเขาใช้ศิลปะหลากหลายแขนงที่เรียกว่า "ศิลปากร" โดยเชื่อมโยงให้เห็นความสำคัญของทุกสรรพสิ่งในโลกใบนี้ 


หากจะบอกเล่าถึงสิ่งที่อาจารย์ดุลย์พิชัยทำและสร้าง คงไม่อาจกล่าวได้หมด เขาเป็นผู้ก่อตั้งสถาบันอยุธยาศึกษาเพื่อการออกแบบ และพัฒนาเอกลักษณ์เมือง, ออกแบบสร้างสรรค์ "อยุธยาบุรีเทวี" แหล่งเรียนรู้ทั้งสถาปัตยกรรม ประวัติศาสตร์ ผสมผสานศิลปะหลายแขนง ซึ่งเคยเป็นสถานที่รับรองแขกระดับชาติ และสถานที่เรียนรู้ที่ใครเดินเข้ามาแล้วจะต้องหลงใหลในความเป็นไทย 


ตอนนี้เขากำลังคุมงานที่ได้ออกแบบให้สถานปฏิบัติธรรมยุวพุทธิกสมาคมกลางทุ่งนาที่อยุธยา และออกแบบตกแต่งให้สาวิกาสิกขาลัย เสถียรธรรมสถาน ฯลฯ 


ปัจจุบันเขาเป็นศิลปินอิสระที่มีงานจ่อคิวให้เลือกมากมาย และบ้านของเขาที่อยุธยาเป็นเสมือนอาศรมการศึกษาทางด้านศิลปวัฒนธรรมของชุมชน 

ทั้งๆ ที่ไม่ได้จบสถาปัตยกรรม แต่เป็นที่ยอมรับในเรื่องฝีมือการออกแบบ ? 


ทุกคนจะถามผมว่า ผมจบสถาปัตยกรรมหรือไม่ จบอินทีเรียหรือไม่ จบศิลปากรหรือไม่ จริงๆ สิ่งเหล่านั้นจำเป็นและโหยหา แต่เด็กบ้านนอกอย่างผมเลือกไม่ได้ รู้อย่างเดียวว่า สิ่งที่จะไต่ฐานของตัวเองได้คือ สายวิทยาลัยครู จนได้มาเรียนศิลปะที่มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ทำงานเป็นข้าราชการในตำแหน่งนักวิชาการช่างศิลป์ นั่นเป็นโอกาสทำให้ผมเห็นโลก ผมได้ทุนไปศึกษาดูงานเกือบทั่วโลกในเรื่องสื่อพิพิธภัณฑ์ นิทรรศการและศิลปะ แต่สุดท้ายผมหลงทางและอ้อมโลกอยู่นาน จนพบว่าศิลปะที่ยิ่งใหญ่อยู่ที่บ้านเกิดผม 


ผมได้มาทำงานออกแบบให้ศูนย์ศึกษาประวัติศาสตร์อยุธยา ได้ศึกษาข้อมูลอยุธยาระดับลึก ศึกษาตัวตนและบ้านเกิดตัวเอง มีโอกาสเดินเข้าไปตามห้วย หนอง คลอง บึง ได้เห็นวัวควาย เมื่อก่อนบ้านผมอยู่ใกล้วัด เวลาเห็นลิเก ผมปฏิเสธความบันเทิงรูปแบบนั้น จนผมอายุ 27 ปี ผมเริ่มมองความเป็นไทยอีกรูปแบบ 


เมื่อก่อนใช้ชีวิตอย่างไรคะ 


เมื่อก่อนผมแฟชั่นมาก หลงใหลกับสิ่งที่เป็นโมเดิร์นฟอร์ม เพราะผมเป็นดีไซเนอร์ที่อยู่ในพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์ มีครั้งหนึ่งในการจัดนิทรรศการวิทยาศาสตร์ ดีไซเนอร์ส่วนใหญ่พูดถึงพิพิธภัณฑ์การสื่อสารแบบตะวันตก แต่ผมมองว่า ต้องเชื่อมความเป็นตะวันตกและตะวันออก ขณะที่ตะวันตกมีวอชิงตัน เรามีพระราชวังจักรีมหาปราสาท เราต้องทำให้ภาพเหล่านี้เชื่อมกันให้ได้ ผมเคยทำตู้ไปรษณีย์ให้ออกมาเป็นศิลปะไทย จนมีคนบอกว่า ดุลย์พิชัยเป็นวิทยาศาสตร์ลายไทย 


นำศิลปะทุกแขนงมาใช้อย่างไร 


ณ เวลานี้คนโหยหาความเป็นไทย งานที่ผมทำ ไม่ใช่เขาเลือกผม ผมเลือกพวกเขา สิ่งที่ผมทำคือ นำศิลปะทั้งหมดมาใช้เหมือนศิลปากร ศิลปากรไม่ได้แปลว่าจิตรกรรม สถาปัตยกรรม ฯลฯ การฝึกให้เป็นศิลปากร ต้องฝึกทุกสาขาของศิลปะ ต้องรู้จักงานปั้น งานกลึง งานหล่อ งานแกะ งานวาด งานเขียน และงานดีไซน์ ผมเรียนศิลปะกับนักการศึกษา จึงไม่ได้คิดแบบคนทำงานศิลปะ แต่ผมคิดจากข้อมูลชีวิตสู่งานศิลปะ เมื่อผมมาทำงานพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์ ผมมีโอกาสได้เห็นกระบวนการคิดแบบวิทยาศาสตร์ ศิลปินต้องสร้างงานจากวิชาการ ถ้าเราไม่เข้าใจสาร เราจะคิดไม่ออกว่าจะสื่ออย่างไร เมื่อผมรู้จักโลกมากขึ้น ผมไม่สามารถรอตำแหน่งทางราชการ เพราะชีวิตมันสั้น ผมต้องสละเพื่อมาทำงานให้แผ่นดิน 


ทำไมผมถึงกำกับคนที่กำกับงานแสดงได้ ช่างฟ้อน ช่างรำ ผมจับมารวมตัวกัน เพราะผมคิดแบบศิลปากร ศิลปากรเป็นมหาวิทยาลัยที่ผมเคารพในปรัชญา ถ้าถามว่า ผมเป็นอะไร ผมเป็นศิลปากร ที่ผมต้องขับรถมาไกลจากกลางทุ่งอยุธยา หลังจากดูแลงานสร้างสถานปฏิบัติธรรมยุวพุทธิกสมาคม เพื่อให้สัมภาษณ์เพราะนี่คือการสอน เพื่อให้คนได้มีโอกาสเข้าใจว่า แนวทางนี้มีอยู่ ประเทศเราต้องการคนที่เข้าใจอะไรหลากหลาย 


แม้จะใช้ศิลปะหลากหลาย แต่อาจารย์บอกว่าทำอยู่เรื่องเดียวคือ เอกลักษณ์เมือง ? 


เรื่องหลักที่ผมทำ คือ เอกลักษณ์เมือง มีฐานอยู่สามส่วนคือ เรื่องแรกใช้ทรัพยากรของภูมิศาสตร์ที่มีลักษณะเฉพาะและถูกบ่มให้เป็นไทยฟอร์ม เราใช้ทรัพยากรที่ใกล้ตัวตั้งแต่ภูเขาจรดทะเล อันนี้เรียกว่าภูมิวัฒนธรรม เรื่องที่สองที่ใช้คือ นิเวศน์วัฒนธรรม เมื่อมนุษย์รู้ภูมิอย่างแรกแล้ว มนุษย์จะต้องรู้จักวิธีสร้างนิเวศน์ ไม่ว่าสังคมจะเปลี่ยนแปลงพัฒนาอย่างไร ต้องทำให้สอดคล้องกับสิ่งที่อยู่ตรงนั้น และเรื่องที่สาม คือ ชีวิตวัฒนธรรม ศิลปินบางคนพูดเรื่องเอกลักษณ์ โดยไม่พูดถึงภูมิปัญญา ผมว่าไม่ใช่ 


การสร้างศิลปะเพื่อเอกลักษณ์เมือง จะจำกัดแค่ความงามไม่ได้ ศิลปินส่วนใหญ่พร่ำเพ้อเรื่องความงาม แต่ไม่ได้ชี้ให้เห็นเรื่องชีวิตวัฒนธรรม ผมใช้ศิลปะเป็นตัวสะท้อนสิ่งที่มีอยู่จริงของภูมิวัฒนธรรม นิเวศน์วัฒนธรรม และชีวิตวัฒนธรรม ผมสร้างอยุธยาบุรีเทวี จ.พระนครศรีอยุธยา เพราะผมเกิดอยุธยา และผมไม่ได้เอาตัวเองเข้าไปอยู่ในประวัติศาสตร์ แต่ประวัติศาสตร์บันทึกไว้แล้วทั้งเรื่องทรัพยากร ชีวิตและภูมิศาสตร์ ถ้าจะเห็นตัวตนที่แท้จริงของผม ต้องเห็นสถาปัตยกรรมที่ผมสร้างแต่ละแห่ง ผมใช้เวลา 17 ปีทำงานศิลปะหลากหลาย อยุธยาบุรีเทวีเป็นสมบัติของผมและสาธารณะ ทุกคนสามารถเข้ามาดูได้ 


ตอนนั้นอาจารย์ใช้เวลาคิดนานไหม 


คิดตลอด 24 ชั่วโมง เพราะการสร้างอยุธยาบุรีเทวี ไม่ใช่งาน แต่เป็นชีวิต สิ่งต่างๆ ที่ออกแบบมา ถ้าไม่เข้าใจจะไม่มีวันอยู่ตรงนั้นได้ ผมมีเป้าหมายชัดเจน ตรงนั้นพื้นที่น้อยมากแต่ผมมีวิธีการใช้พื้นที่ สิ่งที่ผมทำ ไม่ว่าบ้านพักอาศัย ตลาดน้ำ พิพิธภัณฑ์ศิลปวัฒนธรรม ผมจะเชื่อมโยงวัฒนธรรมกับผู้คน 


ทำอย่างไรให้คนทั่วไปเข้าใจสิ่งที่อาจารย์พยายามทำ ? 


ผมอาจจะหยาบคายนิดหนึ่ง บ้านของคนสมัยนี้เป็นแค่ที่ซุกหัวนอน บางครั้งมีการอวดตัวใช้วัฒนธรรมตะวันตก ผมไม่ได้ปฏิเสธตะวันตก เพราะตะวันตกคือความหมายของโมเดิร์นเทคโนโลยี แต่ในขณะเดียวกันต้องคิดเรื่องภูมิวัฒนธรรมด้วย ถ้ามนุษย์มีความเข้าใจเรื่องนี้ ก็จะเข้าใจเรื่องความยั่งยืนของทรัพยากรหรือชีวิตที่มีคุณภาพ ศิลปะของผมทุกตัวแสดงออกเรื่องนั้น ยกตัวอย่าง อาคารสาวิกาสิกขาลัย เสถียรธรรมสถาน เมื่อสถาปนิกออกแบบโครงสร้างแล้ว อาคารยังไม่เสร็จ ผมจะสร้างงานอย่างไรเพื่อรับใช้งานประชุมนานาชาติศากยธิดาฯ 


จัดองค์ประกอบอย่างไรคะ 


ผมทำให้อาคารเปรียบเสมือนภูผา ภูเขา อาคารด้านบน...หัวเสาไม่เสร็จ ผมกึ่งปูนเป็นรูปเจดีย์ธรรม เพื่อให้เห็นว่าเสถียรธรรมสถานเป็นนาบุญ ขณะที่สังคมด้านนอกเป็นป่าคอนกรีต สถานที่แห่งนี้เมื่อมองจากระยะไกล ผมอยากให้เห็นว่า ที่นี่พึ่งพาได้ ต้องแสดงเอกลักษณ์ เทคโนโลยีคือซีเมนต์ เอาซีเมนต์ถ่ายเทเป็นรูปทรง คนที่มายืนอยู่ด้านบนอาคารที่เป็นเจดีย์ธรรม ใจต้องพร้อม ตอนนี้คนที่นั่นยังใช้พื้นที่ไม่เป็น มีคนเดียวที่ใช้พื้นที่เป็น คือ คุณยายของเด็กๆ (แม่ชีศันสนีย์) เสาเจดีย์เป็นสัญลักษณ์ของธรรม พื้นหญ้าที่ผมทำไว้ ไม่ว่าใครจะนั่งมุมไหน ก็เห็นคนอื่น และคนอื่นก็เห็นเรา มีสิ่งแวดล้อมทางธรรมชัดเจน มีความสัปปายะ 


ผมเอารูปทรงที่อยู่ในพุทธสถานมาใช้ หยิบแนวคิดมาจัดองค์ประกอบให้งดงาม ตอบคำถามในชีวิตได้ ถ้าศิลปินเข้าใจเรื่องพวกนี้ ก็จะทำให้เป็นรั้วธรรม เหมือนเราไปกุสินารา เพราะมีสิ่งแวดล้อมพิเศษ เหมือนเราเข้าอยุธยา เรามีร่องรอยให้เห็นว่าคนยุคนั้นปฏิบัติธรรม นี่คืองานที่ศิลปินรับใช้ศาสนา รับใช้สิ่งที่ทำให้คนเป็นคนดี 


เจ้าของสถานที่ต้องเข้าใจปรัชญาความคิดในงานศิลปะลึกซึ้งแค่ไหน ? 


ผมพยายามอดทนที่จะมีโอกาสได้ทำ ที่ผมอดทนเพราะกติกาของมนุษย์ มันมีกติกาที่ยากจะเข้าใจ แต่ทำอย่างไรให้เราได้ใช้ความรู้ความสามารถอธิบายสิ่งต่างๆ ว่าเราคิดอะไร เราต้องเป็นผู้ให้ก่อน ยกตัวอย่างการสร้างเอกลักษณ์เมือง เพราะอยุธยามีความสมบูรณ์ มีความพร้อมหลายอย่าง สมัยเด็กๆ ผมเคยล่องเรือตอนเช้าแสงอ่อนๆ ดอกบัว สายบัวสีม่วงๆ แย้มขาวนิดๆ หญ้าพลิ้วไหว และลมหนาวพัดผิวน้ำ เวลาโดนหน้าเหมือนสวรรค์ เพราะอยุธยาเคยเป็นยุคทองของสยาม 


ใช้ศิลปะเป็นสื่อเพื่อทำให้คนเข้าใจชีวิตอย่างไรคะ 


ทุกวันนี้ศิลปินส่วนใหญ่ใช้ความงามเป็นตัวหลอกล่อ ใช้สีและรูปทรงลวง ใช้อัตตาของศิลปินเป็นตัวลวง หรือไม่ก็ใช้ลายเซ็นเป็นตัวลวงว่ายิ่งใหญ่แล้ว เรื่องนี้อันตรายมาก เพราะความงามต้องการสาระ เหมือนภาพจิตรกรรมในอดีตอธิบายทั้งสาระและความงาม เพื่อให้คนจดจำประทับใจ ผมเป็นคนที่เชื่อมช่องว่างระหว่างประเพณีวัฒนธรรมและมนุษย์ โดยใช้ศิลปะเป็นตัวสื่อ 


ถ้าผมเป็นกวี แม้บทกวีผมจะงดงามเพียงใด ถ้าในบ้านไม่มีสิ่งแวดล้อมที่เอื้อ ไม่มีสิ่งต่างๆ ที่บทกวีนั้นมี จะมีประโยชน์อะไร ผมสร้างบ้านอาคารที่เป็นไทยฟอร์ม ใช้ฟอร์มสถาปัตยกรรมในวัดเชื่อมโยงกับเทคโนโลยี อย่างบ้านที่ผมทำ ตั้งโจทย์ว่า ทำอย่างไรให้คนข้างนอกเห็นคนข้างใน และคนข้างในเห็นคนข้างนอก 


ย้อนมาถึงเรื่องครอบครัว อาจารย์มีวิธีสอนลูกอย่างไรคะ 


ถ้าจะบอกว่าผมให้อิสระลูก คงเป็นไปไม่ได้ เพราะว่าเผ่าพันธุ์ เป็นกรรมที่เกิดเป็นลูกเรา ผมเป็นพ่อที่มีเป้าหมาย แม้ลูกจะไม่ฉลาดหรือเก่งเท่าผม แต่ลูกต้องมีความชาญฉลาดที่จะดำเนินชีวิตในโลกนี้อย่างเป็นประโยชน์ ผมบอกลูกๆ ว่า ลูกต้องหาหนทางเข้ามหาวิทยาลัยให้ได้สักแห่ง ยกตัวอย่างลูกสาวคนโตเรียนคณะมัณฑนศิลป์ มหาวิทยาลัยศิลปากร วิชาเอกเรียนด้านเครื่องปั้นดินเผา เพราะอยุธยามีงานดินเผาอีกแบบ 


ผมบอกลูกว่า ลูกต้องไปคลุกคลีข้างเตาเผา จนลูกผ่าเหล่าไปเรียนปริญญาโทด้านเครื่องปั้นดินเผา ผมก็บอกลูกว่า ความยิ่งยวดของเครื่องปั้นดินเผาไม่ใช่เรียนที่มหาวิทยาลัย ลูกต้องอยู่หน้าเตา อยู่กับคนปั้น ณ วันนี้ ผมคิดว่า ลูกต้องการคนกำกับ เพราะฉะนั้นนักออกแบบที่ดี ต้องรู้กระบวนการตรงนั้น ผมจึงบอกลูกว่า หยุดเรียนเถอะ พ่อให้เวลาลูกปีหนึ่งเรียนรู้แต่ไม่ต้องเรียนจบ 


แบบนี้บังคับลูกเกินไปไหม 


ไม่ได้บังคับ แต่ให้ไปทดลอง การคิดแบบนี้มีจุดประสงค์ ส่วนลูกชายคนเล็กวัย 12 ปี ไว้จุกตั้งแต่เกิดเรียนในโรงเรียนสาธิตฯ เดินไปโรงเรียนเพื่อนๆ ล้อผมก็หาวิธีการแก้ไขอยากให้เพื่อนๆ มองมุมบวก พาลูกไปถ่ายรูปขาวดำ บุคลิกแบบนั้น คนในห้องภาพขอทำเป็นแบบในหนังสือ จากนั้นผมตัดสินใจซื้อหนังสือที่ลูกถ่ายแบบให้เพื่อนๆ ลูกทุกคน เพื่อให้เขาภูมิใจกับตรงนี้ 


ตอนลูกอายุ 11 ปี ผมทำพิธีโกนจุกให้ เด็กไม่เคยออกจากบ้าน ผมให้ไปนอนที่วัดกับเจ้าอาวาส อธิบายให้ลูกฟังว่า ลูกผู้ชาย การบวชเป็นครั้งหนึ่งในชีวิต ในวันโกนจุกลูก ผมเชิญเพื่อน ครูและญาติๆ มาร่วมงาน ผมจัดเครื่องสดในการบวช เขียนบทกวีให้ลูก 


สิ่งต่างๆ เหล่านี้คือการสร้างเด็กรุ่นใหม่ ตอนนี้ผมสร้างนักรบสามคน ลูกน้องกว่าสิบคน รวมถึงช่างอีก 100 คน นี่เป็นสามระดับของการสร้างคน 





โดย: เพ็ญลักษณ์ ภักดีเจริญ
ที่มา: bangkokbiznews.com / 18 มิถุนายน 2554

Views: 1545

Reply to This

© 2009-2024   PORTFOLIOS*NET by CreativeMOVE.   Powered by

Badges  |  Report an Issue  |  Terms of Service