อโนชา สุวิชากรพงศ์ 'เรียลลิตี้' ของคนทำหนัง

ผู้หญิงร่างเล็กคนนี้ เป็นผู้กำกับภาพยนตร์อิสระ เป็นนักล่ารางวัลตัวยง เป็นรุ่นพี่ที่หลายคนอยากเดินตาม แต่สำหรับเธอ หนังยังยากอย่างคงเส้นคงวา

อโนชา สุวิชากรพงศ์ คนทำหนังอิสระที่เริ่มจากเส้นทางคนอยากทำหนัง จบการศึกษาสายงานออกแบบเครื่องประดับ ก่อนค้นพบตัวเอง กับการเรียนภาพยนตร์ที่มหาวิทยาลัยโคลัมเบียยูนิเวอร์ซิตี้ นิวยอร์ก จากนั้น ผลงานเรื่องหนังสั้น " Graceland" เป็นหนังสั้นไทยเรื่องแรกที่ได้เข้าร่วมสายประกวดหนังนักเรียนที่เมืองคานส์ และงานหนังยาวเรื่องแรก "เจ้านกกระจอก" ได้รับรางวัลจากเทศกาลหนังรอตเตอร์ดามเนเธอร์แลนด์ 


เธอเป็นหนึ่งในขบวนการหนังอิสระของเมืองไทย ที่สามารถสร้างตัวตน และสร้างโปรดักชั่นอิสระ ล่าสุดผลงานของเธอ Breakfast Lunch Dinner ที่เธอเป็นหนึ่งในสามของผู้กำกับหญิงเอเชีย ที่ร่วมกันทำหนังถ่ายทอดมุมมองชีวิต ผ่านวัฒนธรรมการกินในสามมื้อสามชาติ ที่เปิดฉายในโครงการ อินดี้ สปิริต ในโรงภาพยนตร์ช่วงสองสัปดาห์แรกของเดือนกรกฎาคม 

และผลงานชิ้นล่าสุด โปรดักชั่นในแนว "เรียลลิตี้ คนทำหนัง" รายการทีวีทางช่อง Mango TV ที่ติดตามเบื้องหลังและเก็บเรื่องราวจากห้องอบรมคนทำหนังแก่เยาวชนรุ่นใหม่ ซึ่งอโนชาและเพื่อนพ้องในบริษัท อีเลคทริค อีลส์ ได้จัดโครงการขึ้น 

อโนชา ได้นั่งสนทนากับ จุดประกาย ถึง เรียลลิตี้ ชีวิตของคนทำหนังอิสระ และเกร็ดเบื้องหลังงานเรียลลิตี้โชว์ ที่หยิบเอาอาชีพที่คนรุ่นใหม่ยุคปัจจุบันหันมาสนใจ และอยากเป็น "ผู้กำกับหนัง" ไม่น้อยหน้าอาชีพใด 


อยากให้เล่าถึงโปรเจคต์เรียลลิตี้ คนทำหนัง ที่เริ่มออนแอร์ช่วงปลายกรกฎาคมนี้ว่าเป็นอย่างไร 

จริงๆ มาจากการทำงานหนังอิสระแบบทุนต่ำของเรา ที่ขาดแคลนบุคคลากร และก็บางทีมีน้องฝึกงานมาทำแล้วเขาก็ไม่รู้ว่าจะไปไหนต่อ เราก็เลยชักชวนเพื่อนๆพี่ๆ คนทำหนังอินดี้อย่าง อาทิตย์ อัสสรัตน์ (ผู้กำกับ Wonderful Town) และ ลี ชาตะเมธีกุล(มือตัดต่อหนังอิสระ) รวมถึงเพื่อนๆอย่าง มะเดี่ยว-ชูเกียรติ ศักดิวีระกุล มาช่วยถ่ายทอดประสบการณ์จริงๆ ซึ่งมันจะต่างจากการเรียนให้ชั้นเรียนให้กับคนรุ่นใหม่ๆ ที่อยากทำหนัง 


โปรเจคต์นี้เคยทำมาก่อนแล้ว แต่เป็นเวอร์ชั่นออนไลน์ ทำไมจึงทำต่อออกทางเคเบิล 

ใช่ ซึ่งมันก็ได้กลุ่มคนดูไม่กว้างนะ และก็ยังเห็นว่าน่าจะทำอีก แต่คราวนี้ให้น้องๆ สมัครเข้ามาเป็นทีม ไม่ให้อบรมแบบเดี่ยวๆ แล้ว เพราะการทำหนังมันต้องทำเป็นทีม และให้ทางผู้สมัครกำหนดบทบาทในทีมโปรดักชั่นมาเลย ว่าใครจะกำกับ ใครเขียนบท ใครทำเสียง หรือตัดต่อ เพราะคราวก่อนเราเห็นแล้วว่า สมัครมาเดี่ยว พอเวลาให้ลงมือปฏิบัติจริงทะเลาะกันแหลกลาญ (เพราะทุกคนอยากเป็นผู้กำกับ) และพอดีกับทางช่อง แมงโก้ เขาสนใจเนื้อหารายการของเราด้วย ก็เลยได้โอกาสทำ 


ซึ่งก็ได้เห็นความตั้งใจของเด็กๆ และคิดว่าน่าจะช่วยสร้างคนใหม่ๆ ให้ทำหนังได้มากขึ้น รวมถึงได้คนมาช่วยงานหนังอิสระมากขึ้น(หัวเราะ) อย่าง ลี (ชาตะเมธีกุล) เขาก็บอกว่า ถือโอกาสนี้มองหาเด็กช่วยงานตัดต่อไปด้วย จะได้มีคนใหม่ๆ มาบ้าง เพราะทีมงานในส่วนต่างๆ ของการทำหนังอินดี้มันยังขาดแคลนอยู่ เราไม่ได้สอนเทคนิคทำหนังอย่างเดียว แต่เราสอนการทำหนังแบบอิสระจากประสบการณ์ของเราเองด้วย 


เวทีหนังนานาชาติเขาจะมี tag ว่า อโนชา เป็นผู้กำกับหญิงและเป็นของเอเชียด้วย อย่างในโปรเจคต์หนังสั้น Breakfast Lunch Dinner มันมีผลต่อการทำงานไหม 


ไม่มีเท่าไรนะคะ แต่มันก็ใช้เป็น จุดขาย ในการทำตลาดหนังได้ไงคะ อย่างเรื่องนี้ก็เป็น ผู้กำกับหญิงเอเชียรุ่นใหม่ 3 คน จาก 3 ประเทศมาทำเรื่องเดียวกัน พูดถึงวัฒนธรรมการกิน ซึ่งเป็นสิ่งที่แตกต่างในแต่ละประเทศอยู่แล้ว ตอน Lunch ที่เราทำพูดถึงช่วงพักกลางวันของนักเรียนมัธยม เราจะใช้เป็นกินก๋วยเตี๋ยว แทนที่จะกินข้าว ส่วนประเด็นการเป็นผู้กำกับหญิงเราไม่ได้สนใจมันเท่าไร อย่างหนัง "เจ้านกกระจอก" ตัวละครที่ดำเนินเรื่องเป็นผู้ชาย เป็นชีวิตของผู้ชายคนหนึ่ง มีคนคิดว่าเป็นผู้กำกับเกย์ทำแน่เลย (คณะกรรมการที่เทศกาลหนังร็อตเตอดาม เนเธอร์แลนด์ บอก) เขาบอกว่า ต้องเป็นเกย์ทำแน่เลย ถ่ายสรีระผู้ชาย(มีฉากเปลือย) ตัวเองเลยคิดว่า บางทีอาจจะเพราะเราจ้องมองผู้ชายแบบนั้น มันก็คือมุมมองจากผู้หญิงนั่นแหละ 



ในวงการหนังอิสระ ณ ตอนนี้ คุณยังต้องพิสูจน์ตัวเองอยู่หรือเปล่า หรือถือได้ว่าเป็นผู้กำกับที่ขึ้นทำเนียบแล้ว 

ยังรู้สึกว่าต้องพิสูจน์ตัวเองตลอดเวลา แต่ไม่ใช่พิสูจน์กับเวทีหรือเทศกาลหนัง แต่มองเรื่องงานของตัวเองนี่แหละ เพราะตัวเองเป็นคนมองงานตัวเองแล้วรู้สึกว่า เราน่าจะทำให้ได้ดีกว่านะ อย่างเวลาดู "เจ้านกกระจอก" แล้วเห็นข้อบกพร่อง เรื่องนี้ฉันจะไม่ทำแบบนี้แล้ว ซึ่งมันก็ driving force ที่ผลักให้เราอยากทำหนังต่อไปอยู่อีก คิดว่าตัวเองน่าจะทำได้ดีกว่านี้ 


เมื่อเราผ่านหนังเรื่องแรกคนรู้จักได้รางวัลมาบ้างแล้ว การหาทุนง่ายขึ้นไหม 

การทำงานหนังเรื่องที่สองมันยากมากเลย ไม่ได้ง่ายไปกว่าเรื่องแรก การหาทุนยังยาก เพราะมันขึ้นอยู่กับประเด็นที่เรานำเสนอเกี่ยวกับตัวหนัง มันไม่ใช่ประเด็นดึงดูดผู้ชม และนายทุนเขาก็ไม่ได้อยากจะลงทุนให้ง่ายนัก เพราะเขาก็ไม่เห็นว่ามันจะคืนทุนหรือให้กำไรเขาได้ไง 



ส่วนตัวมีแผนทำหนังเรื่องต่อไปหรือยัง 

ก็มีเรื่อง ดาวคะนอง และ The White Room ซึ่งอยากจะทำให้เสร็จ ไม่ได้แพลนอะไรยาวกว่านั้น เพราะการทำหนังแต่ละเรื่องมันนาน ถ้า The White Room เสร็จสิ้น ก็ยังบอกไม่ได้ว่าเราจะทำหนังต่อหรือเปล่า และโปรเจคต์ดาวคะนอง ตอนนี้อยากให้มันรอดก็ต้องใช้เวลาอีก 4-5 ปี กว่าจะเสร็จ ก็เลยไม่ได้มีแผนอะไรมากมายชัดเจน 



การทำหนังเป็นงานที่ใฝ่ฝันหรือเปล่า อโนชาทำหนังเพื่ออะไร 


ทำเพื่อบำบัดจิตตัวเอง(หัวเราะ) ตอนแรกเราไม่ได้เรียนด้านหนังมาโดยตรง พอดูหนังเยอะๆ แล้วอยากทำ มันมีจุดหนึ่งที่ตัวเองจิตหลุด(ลอย)ไปแล้ว พอเรียนรู้การทำหนังมันทำให้เรามีสมาธิจดจ่อกับอะไรบางอย่าง 



ทำไมไม่ทำงานเย็บผ้า หรือพับกระดาษเพื่อทำสมาธิ ทำไมทำงานใหญ่ขนาดนี้ 

ตอนแรกที่อยากทำ ไม่รู้และไม่คิดว่ามันจะยากขนาดนี้ (หัวเราะ) เพราะแรกๆเริ่มใช้กล้องก็เป็นกล้องวิดีโอถ่ายเองตัดต่อเอง ส่งงานไปสมัครเรียน มันดูง่ายไง และตอนทำเราก็มีสมาธิจดจ่ออย่างเต็มที่ และรู้สึกสนุกประมาณหนึ่ง ทำหนังแล้วรู้สึกเหมือนมันได้ให้อะไรกับเรา และพอไปเรียนภาพยนตร์(หลังจบปริญญาตรีสาขาอื่นมาแล้ว) ก็พบว่า ตัวเองขยันเรียนมาก ทั้งที่ตั้งแต่เด็กจนโต เราไม่ใช่นักเรียนดีเด่นเลย เรายอมที่จะนอนน้อย และทิ้งความสะดวกสบายในชีวิตประจำวัน ไปออกกองถ่าย เพื่อถ่ายหนัง ไปถ่ายตามต่างจังหวัดมันก็ลำบากนะ แต่เรากลับสนุก และยินดีที่จะเสียความสะดวกสบายไป 



มันบำบัดจิตเราได้จริงหรือเปล่า 

มันบำบัดได้ เพราะว่าตอนเราอายุน้อยกว่านี้เป็นคนประเภทที่สมัยนี้เขาใช้คำว่า "เวิ่นเว้อ" มาก พอลงมือทำหนังแล้วก็ทำให้ตัวเองเท้าติดพื้น (อยู่กับร่องรอย)มากขึ้น 


ตอนนี้รู้สึกว่าการทำหนังมันสะดุดหรือเปล่า 


อาจจะเพราะอายุมากขึ้น การทำงานอาจจะด้อยลง ไม่อึดเหมือนเมื่อก่อนแล้ว เช่น ถ้านอนไม่ถึง 7 ชั่วโมง งานที่ทำก็จะได้ไม่เต็มที่ มันจะกะพร่องกะแพร่ง อีก 5 ปีเราก็จะอายุ 40 แล้ว เราก็ยังไม่แน่ใจว่าจะยังทำยังงี้ต่อไปไหวหรือเปล่า เหมือนกัน 


ตอนนี้เป็นหนังเป็นงานอาชีพของเราแล้ว แต่มันมีปัจจัยอื่นๆ ที่มีผลให้การทำงานยากง่ายอย่างไร 

คิดอยู่เรื่อยๆ เหมือนกัน คนส่วนใหญ่นิยมปฏิบัติคือ หลังจากทำหนังเรื่องแรกสำเร็จ จากหนังทุนต่ำแล้ว เขาจะทำสเกลใหญ่ขึ้น แต่เรากลับไม่แน่ใจในจุดนั้น และอาจจะทำหนังสเกลเท่าเดิมหรืออาจจะเล็กลงกว่าเดิมด้วยซ้ำ ซึ่งเราก็กลับมาถามตัวเองว่าเราทำหนังไปเพื่ออะไรเหมือนกัน เพราะเราไม่เคยคาดหวังว่าเราจะทำหนังเพื่อทำเงิน หรือเพื่อเลี้ยงชีพ เราแค่อยากมีเงินทำหนังเรื่องต่อไป และการได้จะทำหนังให้มันได้กำไรคือต้องมีดารา เพราะดาราจะดึงคนจะมาดูหนังง่าย และทำสเกลใหญ่ขึ้น แต่ที่ไม่คิดอย่างนั้น ก็เพราะมันไม่ตอบโจทย์ตัวเอง 


เรายังหาคำตอบที่ชัดเจนให้ตัวเองไม่ได้ การทำหนังสเกลใหญ่เราก็อาจจะมีโอกาสได้ถ่ายหนังเป็นฟิล์มภาพยนตร์จริง เพราะมีทุนมากขึ้น แทนที่จะใช้กล้องดิจิทัลอย่างที่เคยทำมา แต่อาจจะสูญเสียอิสระในการตัดสินใจเกี่ยวกับหนังของเราไปบางส่วน นั่นอาจไม่ใช่สิ่งที่เราต้องการ ก็เลยเหลือแค่สองทางคือเล็กเท่าเดิมหรือเล็กมากกว่าเดิม โดยใช้กล้องดิจิทัล(ต้นทุนต่ำกว่าฟิล์ม) 



ในแง่การทำมาหากิน เคยคิดเทียบกับอาชีพอื่นๆ ของเพื่อนรุ่นเดียวกันไหม 

การทำงานแบบนี้ เราไม่ได้ใช้ตังค์เยอะ เพราะเรายุ่งกับงาน จนไม่ค่อยมีเวลาไปเที่ยวไหน เพื่อนบางคนอาจจะรู้สึกว่า เราได้เดินทางไปต่างประเทศบ่อยๆ (ตามเทศกาลหนัง) ซึ่งจริงๆ เราไปทำงาน แต่มันก็เหมือนได้กำไรชีวิตด้านการเดินทาง ได้ไปประเทศแปลกๆ อย่างเช่น มองโกเลีย แต่เพื่อนที่ทำงานประจำ เขาอาจจะมีวันหยุดแน่นอน ซึ่งเราไม่อยากเทียบ เพราะถึงแม้งานทำหนังจะได้เงินน้อย แต่เราก็ไช้ตังค์น้อย 


นอกจากคาดหวังส่วนตัวแล้ว ตอนนี้คาดหวังกับวงการหนังอิสระบ้านเราอย่างไร 


อยากให้มันกว้างขึ้น ตอนนี้เรารู้จักกันได้ช่วยเหลือกัน มันก็ดี แต่มันจะอยู่แค่กลุ่มเล็กๆ เราอยากให้คนรุ่นใหม่ๆ เข้ามา คิดว่ามันน่าจะดีกับทุกฝ่าย มีคนใหม่ๆ เข้ามา งานหนังที่ออกมาจะได้หลากหลายขึ้น การเอาหนังอิสระเข้าฉายโรง ปีหนึ่งฉายไม่กี่เรื่อง มันยังสร้างพื้นที่ไม่ชัดเจนพอ ที่มีฉายก็คนดูหนังน้อยด้วย มันก็มีหลายปัจจัย ไม่ได้โทษคนดูอย่างเดียว บางทีก็ต้องดูสไตล์หนังของเราเองด้วยว่า อาจจะไม่ได้เป็นแบบที่คนเขาอยากดูก็ได้ 


แต่เราเชื่อว่า ถ้ามีหนังอิสระได้เข้าโรงฉายเรื่อยๆ คนจะคุ้นเคยกับมันมากขึ้น วงการก็จะดีขึ้นด้วย 



.................. 




ประวัติของอโนชา 


อโนชา สุวิชากรพงศ์ เกิดเมื่อปี 2519 ที่จังหวัดชลบุรี สำเร็จการศึกษาในระดับปริญญาตรี (ออกแบบเครื่องประดับ) และปริญญาโท (ศิลปวัฒนธรรมศึกษา) ที่ประเทศอังกฤษก่อนที่จะเบนเข็มไปศึกษาภาพยนตร์อย่างจริงจังที่มหาวิทยาลัยโคลัมเบีย ประเทศสหรัฐอเมริกา ระหว่างที่ ศึกษาอยู่ที่นั่น อโนชาได้รับทุนการศึกษาจากสมาคมผู้สื่อข่าวต่างประเทศประจำฮอลลีวู้ด (Hollywood Foreign Press Association) อโนชากลับมาเมืองไทยพร้อมกับปริญญาโทสาขา ภาพยนตร์และหนังวิทยานิพนธ์เรื่อง “Graceland” ที่ได้รับการคัดเลือกเข้าประกวดที่เทศกาลหนัง นานาชาติเมืองคานส์เมื่อปี 2549 และได้รับการฉายที่เทศกาลต่างๆ ทั่วโลกมากกว่า 30 เทศกาล 

ในปี 2550 อโนชาก่อตั้งบริษัทอิเล็คทริคอีลฟิล์มเพื่อผลิตภาพยนตร์อิสระและสื่อเคลื่อนไหวต่างๆ ปัจจุบันอโนชามีโปรเจ็คท์ภาพยนตร์ขนาดยาวสองเรื่องที่กำลังอยู่ในช่วงพัฒนา โครงการแรกคือเรื่อง “ดาวคะนอง” (By the Time It Gets Dark) ซึ่งได้รับรางวัล Prince Claus Film Fund จากประเทศเนเธอร์แลนด์และทุนไทยเข้มแข็งจากกระทรวงวัฒนธรรม และเรื่อง “The White Room” ซึ่งได้รับรางวัล PanStar Cruise Award จาก Pusan Promotion Plan (PPP) เทศกาล ภาพยนตร์นานาชาติปูซาน ประเทศเกาหลีใต้ 


ผลงาน 

เขียนบท, กำกับ, และอำนวยการผลิต 


“เจ้านกกระจอก” (MUNDANE HISTORY) หนังยาว 82 นาที (ผลิตในปี 2552) ได้รับทุนสนับสนุนจาก Hubert Bals Fund เทศกาลภาพยนตร์นานาชาติร็อตเตอร์ดาม ประเทศเนเธอร์แลนด์และ Asian Cinema Fund เทศกาลภาพยนตร์นานาชาติปูซาน ประเทศเกาหลีใต้ "เจ้านกกระจอก" ได้รับการคัดเลือกเข้าฉายและประกวดในเทศกาลภาพยนตร์ ต่างประเทศมากกว่า 40 เทศกาล รวมถึงได้รับรางวัลสูงสุดคือรางวัลภาพยนตร์ยอดเยี่ยมจาก เทศกาลภาพยนตร์นานาชาติร็อตเตอร์ดาม ประเทศเนเธอร์แลนด์ เทศกาลภาพยนตร์นานาชาติ ทรานซิลวาเนียจากประเทศโรมาเนีย เทศกาลภาพยนตร์นานาชาติเอร่า นิว โฮไรซั่นส์จากประเทศ โปแลนด์ รางวัลผู้กำกับยอดเยี่ยมจากเทศกาลภาพยนตร์มุมไบ ประเทศอินเดีย รางวัล NETPAC Award จากเทศกาลภาพยนตร์ไทเปโกลเด้นฮอร์ส ประเทศไต้หวัน และรางวัล Intercultural Film Award จากเทศกาล Around the World in 14 Films: Berlin Independent Film Festival 


เขียนบทและกำกับ 

“Lunch” (ภาพยนตร์สั้น 27 นาที ผลิตในปี 2553) หนึ่งในภาพยนตร์สั้น 3 ตอนจบ “Breakfast, Lunch, Dinner” กำกับโดยผู้กำกับหญิงรุ่นใหม่ของเอเชีย (จีน, ไทย, สิงคโปร์) ผลิตโดย Wormwood Films (สิงคโปร์) ได้รับเลือกฉายที่เทศกาลภาพยนตร์นานาชาติร็อตเตอร์ดาม เทศกาลภาพยนตร์ อิสระนานาชาติบัวโนส ไอเรส ประเทศอาร์เจนติน่า และอื่นๆ อีกหลายเทศกาล 


"Graceland" (ภาพยนตร์สั้น 17 นาที ผลิตในปี 2549) ได้รับเลือกฉายที่เทศกาลภาพยนตร์ นานาชาติเมืองคานส์อย่างเป็นทางการ (Official Selection, Cinefondation) เทศกาลภาพยนตร์ นานาชาติซันแดนส์ เทศกาลภาพยนตร์นานาชาติร็อตเตอร์ดาม เทศกาลภาพยนตร์นานาชาติ ซิดนีย์ และอื่นๆ อีกมากกว่า 30 เทศกาล ได้รับรางวัลภาพยนตร์ยอดเยี่ยม (Best Film) จาก เทศกาลภาพยนตร์สั้นปูซาน ประเทศเกาหลีใต้ และรางวัลชมเชย (Diploma of Merit) จาก เทศกาลเทมเปเร่ ประเทศฟินแลนด์ 


"Jai" ใจ (ภาพยนตร์สั้น 14 นาที ผลิตในปี 2551) ได้รับเลือกฉายที่เทศกาลภาพยนตร์นานาชาติ ร็อตเตอร์ดาม เทศกาลภาพยนตร์สั้นฮัมบูร์ก ประเทศเยอรมนี ไดัรับรางวัลชนะเลิศ (Grand Prize) จากเทศกาลภาพยนตร์และวีดิโออิสระ ประเทศฮ่องกง และรางวัลชมเชย (Special Mention) จากเทศกาลภาพยนตร์สั้นนานาชาติโอเบอร์เฮาเซ่น ประเทศเยอรมนี 


ควบคุมการผลิต 

“เถียงนาน้อยคอยรัก” หนังสั้น กำกับโดย วิชชานนท์ สมอุ่มจารย์ ได้รับรางวัล Best Fiction จากเทศกาล Tampere Film Festival 2010 ประเทศฟินแลนด์ และได้รับการคัดเลือกเข้าฉาย และประกวดในเทศกาลภาพยนตร์ต่างประเทศอีกมากมาย 


“Play Name” หนังสั้นอเมริกันอินดี้ กำกับโดย Dave Snyder 

“รอลม” หนังวิทยานิพนธ์ กำกับโดย ตุลพบ แสนเจริญ 




โดย: ทศพร กลิ่นหอม 
ภาพ: สุกล เกิดในมงคล

ที่มา: bangkokbiznews.com / 26 กรกฎาคม 2554

Views: 705

Reply to This

© 2009-2024   PORTFOLIOS*NET by CreativeMOVE.   Powered by

Badges  |  Report an Issue  |  Terms of Service