เคธี คีล ซีอีโอแห่งโลกศิลปะ


จัดเป็นสุภาพสตรีหมายเลข 1 ของวงการศิลปะออสเตรเลียเมื่อเธอได้รับการแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งซีอีโอ Australian Council for the Arts อีกวาระหนึ่ง 

ในปี 2009 อันเนื่องจากผลงานการสร้างเสริมศิลปะจนเป็นที่ประจักษ์ 

ประเทศไทยกำลังดำเนินนโยบายเศรษฐกิจสร้างสรรค์แบบ “เป็ดง่อย” เพราะไม่รู้ทิศทางของการทำงาน มองไม่ทะลุแม้กระทั่งที่มาที่ไปในการสนับสนุนให้ศิลปินเข้มแข็ง และคนเสพศิลปะมีโอกาสเข้าถึงผลงานสร้างสรรค์ 


การสนทนากับ แคธี คีล (Kathy Keele) ซีอีโอ ของ Australian Council for the Arts ณ สำนักงานบนถนนอลิซาเบธ ย่านเซอร์รี ฮิลล์ส นครซิดนีย์ จึงเป็นการเปิดมุมมองใหม่ให้เราตระหนักถึงความจริงที่ว่า หากไม่มีแนวทางการบริหารจัดการศิลปะอย่างถูกต้องและเป็นมืออาชีพ เศรษฐกิจสร้างสรรค์ที่ว่าคงไม่มีวันเดินหน้าไปไหน 


ห้วงสุดท้ายของการพูดคุยกับ แคธี เธอยินดีรับปากพร้อมจะมาเป็นวิทยากรเพื่อร่วมสร้างเสริมวงการศิลปะบ้านเราให้เข้มแข็ง เพราะนั่นเป็นงานถนัดของเธอ 

โดยพื้นฐาน Australian Council for the Arts ทำหน้าที่อะไร 


เราเป็นหน่วยงานของรัฐบาล จัดตั้งในรูปแบบนิติบุคคล ได้รับเงินทุนจากรัฐบาล มีหน้าที่ให้ทุนแก่ศิลปินในการสร้างผลงานศิลปะ และสนับสนุนให้ผู้ชมได้เสพงานศิลป์ทั่วทั้งออสเตรเลีย 


เราทำงานโดยมีคณะกรรมการที่ทำงานกันอย่างแข็งขัน (Peer Review Panel) โดยแยกเป็นสาขาต่างๆ เช่น ดนตรี, ละคร, นาฏกรรม, วรรณกรรม และ ทัศนศิลป์ นอกจากนี้ยังมีทุนให้แก่ชุมชนที่เป็นลักษณะ partnership เพื่อให้ศิลปินในชุมชนได้มีความริเริ่ม และพัฒนา ฝึกฝนผลงานของตัวเอง 


นอกจากนี้ เรายังมี Major Performing Art Board ที่คอยช่วยเหลือและกำกับการให้ทุนแก่หน่วยงานหลักๆ ทั่วประเทศอีก 28 องค์กร เช่น วงซิมโฟนีออร์เคสตรา, โรงละครหลักๆ ซึ่งรายละเอียดต่างๆ นี้จะสามารถดูได้จากเว็บไซท์ 


ลักษณะการทำงานเป็นอย่างไร 


เราแบ่งการทำงานออกเป็น 3 ส่วน คือ Arts Funding คือการให้ทุนแก่ศิลปิน , Arts Organization คือการทำงานและเป็นที่มาของ Peer Review Panel หรือการบริหารแผนงานในเชิงธุรกิจ เรามีองค์กรต่างๆ ที่ให้ทุนอยู่ถึง 170 กว่าองค์กร อาจแยกเป็นการให้ทุนแบบหลายปี (Multi-year funding) หรือจะเป็นการพิจารณาใหม่ทุกๆ 3 ปี (three years reviewable) 


และในส่วนสุดท้าย Arts Development คือการพัฒนาผู้ชมและตลาดให้สอดคล้องไปกับแนวทางของศิลปิน ให้ผู้ชมสามารถเข้าถึง และเข้าใจผลงานของศิลปินได้ 


นอกจากนี้ ยังมีอีกกลุ่มพิเศษที่แยกออกมา คือ Aboriginal and Torres Strait Islander แม้จะแยกออกมาแต่ยังครอบคลุมทั้ง 3 ส่วนครบถ้วน เนื่องจากเป็นวัฒนธรรมของชนพื้นถิ่นงานศิลปะของพวกเขาจึงเน้นการเล่าเรื่อง การใช้ชีวิต วิถีความเป็นอยู่ ตัวตน ความเชื่อ ซึ่งเราได้เรียนรู้วิถีชีวิตของพวกเขาจากโครงการนี้เยอะมาก 


องค์กรเล็กๆ ของเราทำงานกันด้วยคนทำงานเพียง 120 คน กับจำนวนเงินทุน 200 ล้านเหรียญออสเตรเลียต่อปี โดยประมาณ 180 ล้านเหรียญเป็นเงินทุนที่แจก และประมาณ 15-16 ล้านเหรียญ เป็นค่าใช้จ่ายในการทำโครงการ และอีก 8-9 % เป็นค่าดำเนินการ ค่าจัดการต่าง ๆ 


รัฐบาลมีอิทธิพลต่อการทำงานหรือไม่ 


โดยปกติ รัฐบาลไม่มายุ่งเกี่ยวกับการจัดสรรเงินทุน เนื่องจากการตัดสินมอบทุนนั้นจะขึ้นกับบอร์ดที่พิจารณา ซึ่งมีผู้ชำนาญการต่างๆ เช่น ด้านดนตรี เรามีผู้ชำนาญการทางดนตรี หรือเป็นอาจารย์ เป็นคนตัดสิน พิจารณาจากความสามารถและจะให้ความเห็นต่างๆ เกี่ยวกับผู้สม้คร เราจึงมีที่มาที่ไปของการมอบทุนแก่บุคคลอย่างเหมาะสม และมีระบบตรวจสอบที่เข้มงวดมากในการพิจารณาการมอบทุน 


อย่างไรก็ดี รัฐบาลเองก็มีโครงการของตัวเอง ซึ่งรัฐมนตรีสามารถกำกับดูแลการมอบทุนในเรื่องต่างๆ ได้โดยตรง ไม่ว่าจะเป็นการเทรนนิ่ง หรืออื่นๆ ที่สามารถรองรับจุดประสงค์ใดๆ ทางการเมืองตามแต่ช่วงเวลานั้นๆ อย่างไรก็ดี งานหลักที่เราทำคือการมอบทุนแก่ผู้ที่มีผลงานทางศิลปะที่มีความโดดเด่นนั่่นเอง 


ในแง่นโยบายของรัฐบาล เราร่วมงานกับแต่ละรัฐ ในเรื่องวัฒนธรรมและศิลปะในออสเตรเลีย เรามีแลกเปลี่ยนข้อมูลในงานวิจัยต่างๆ เพราะเรามีการวิจัยที่เป็นเรื่องเป็นราว ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของมุมมอง มาตรฐาน หรือการแสดงออกทางศิลปะแบบใหม่ๆ การทำงานของเรา แต่ละบอร์ดจะมี Sector Plan กำหนดการทำงานของแต่ละบอร์ดว่าจะมุ่งทำอะไร ในส่วนใด แง่ไหน อย่างไร เช่น ถ้าเราไม่มีคนดู หรือมีปัญหาว่าจำนวนคนดูลดลง เราจะมุ่งไปที่การสร้างฐานคนดูให้เพิ่มขึ้น หรือการขาดคนคิดท่าเต้น อะไรประมาณนี้ ซึ่งนั่นทำให้เราสามารถมุ่งหรือชี้ประเด็นที่ควรพัฒนาไปยัง partner ต่างๆ ของเราได้ เพื่อเราจะได้เห็นภาพรวมไปในทิศทางเดียวกัน หรือถ้าเราขาดเงินทุนไปบ้าง เราก็อาจขอเพิ่มได้ เราทำได้อย่างนี้เพราะเรามีความสัมพันธ์ที่ดีต่อกันมาก 


เป้าหมายที่ต้องทำให้สำเร็จ ? 


เราให้ทุนแก่ศิลปิน ขึ้นอยู่กับจำนวนศิลปินที่ได้รับทุน เรามีองค์กรจำนวนหนึ่งที่เราให้เงินสนับสนุนอยู่ และมีศิลปินที่ได้รับการว่าจ้างจากองค์กรเหล่านี้อีกทีหนึ่ง หรือแม้กระทั่งการนำเงินสนับสนุนให้ผู้ชมได้เข้ามามีส่วนร่วมกับงานศิลปะเพิ่มขึ้น ซึ่งขณะนี้เราใช้เงินไปประมาณ 14 ล้านดอลลาร์ออสเตรเลีย นอกจากนี้เรายังเริ่มต้นโครงการอื่นๆ เช่นการที่รัฐบาลต้องการเพิ่มจำนวนศิลปะในชุมชนต่างๆ เราก็ทำโครงการเพื่อตอบสนอง รัฐบาลก็จะมอบเงินให้เรา และวัดผลจากงานนั้นๆ 


อีกตัวอย่างหนึ่ง คือโครงการ Artists in school เราทำงานร่วมกับรัฐต่างๆ เพื่อนำศิลปินเข้าไปสอนศิลปะให้เด็กๆ ตามโรงเรียน นั่นเป็นโครงการที่เราทำเพื่อตอบสนองความต้องการของรัฐบาล ทั้งที่หน้าที่หลักของเราคือ การใส่ใจดูแลศิลปินที่มีผลงานยอดเยี่ยม 


เรามีบอร์ดที่ทำหน้าที่ประมาณ 50-60 คน ที่เป็นสมาชิกของสมาคม เป็นคนที่เข้ามาตัดสินใบสมัคร และจะมีใบสมัคร 5000-6000 ใบต่อปีที่สมัครเข้ามา บางสาขาก็จะมีใบสมัครมาก บางสาขาก็น้อยตามจำนวนของศิลปินที่สนใจสาขานั้นๆ หรือขนาดของแต่ละสาขาวิชา 


เรามีการประชุม 4-5 ครั้งต่อปี และจะพิจารณาเฉพาะใบสมัครที่ครบถ้วนเท่านั้น และในกระบวนการพิจารณา อย่างสาขา visual art เราจะมีผู้ชำนาญการในหลากหลายสาขามาร่วมตัดสิน เช่น อาจเป็น จิตรกร ภัณฑารักษ์ นักวิชาการ อื่นๆ มาให้มุมมองของแต่ละคน และสรุปผลออกมา โดยเฉลี่ยเราจะมอบทุนให้ได้ประมาณ 20-30 % ตามจำนวนแต่ละสาขา ซึ่งไม่มากเลย คำถามคือแล้วจะเหลือคนที่โดดเด่นสักกี่คน ในยุคที่ค่าครองชีพสูงขึ้น เราอยากจะให้ได้มากที่สุด แต่ไม่สามารถทำได้ เราพยายามอย่างที่สุด และนั่นจึงเป็นสิ่งที่ท้าทาย 


ล่าสุดเรามีบัณฑิตประมาณ 37,000 คน ที่จะจบการศึกษาจากมหาวิทยาลัย ที่เรารู้เพราะเรามีโครงการที่เรียกว่า Artstart ที่จะให้ทุนแก่บัณฑิตทางศิลปะที่จบใหม่ หรือที่เพิ่งจบเพื่อเป็นเงินทุนในการเริ่มต้นทำงาน หรือสร้างผลงานขึ้นมา ซึ่งเราก็ต้องเก็บข้อมูลนั้นๆ เอาไว้ 


คิดว่าศิลปินหน้าใหม่ จะมีชีวิตอยู่รอดในวงการได้อย่างไร 


ในเบื้องต้นศิลปินเหล่านี้จะได้รับเงินทุน แต่อย่างไรก็ดี เพียง 10-15% เท่านั้นที่จะได้รับทุน นอกจากนั้นพวกเขาต้องพยายามหาที่หาทางตามแกลเลอรี่ต่างๆ หรือต้องพยายามอยู่ในสิ่งแวดล้อมที่จะสามารถใช้ความถนัดของตัวเองได้ เช่น ตามโรงละคร ดนตรี หรืองานเขียน ซึ่งรายได้เฉลี่ยประมาณ 3000-5000 ดอลลาร์ (ต่อเดือน) ขึ้นอยู่กับแหล่งที่อยู่ อยู่ในเมือง หรือนอกเมือง 


เราอยู่ระหว่างการพัฒนาโครงการเศรษฐกิจสร้างสรรค์ อย่าง หนัง เกมส์ ซึ่งเป็นธุรกิจใหม่ที่เติบโตอย่างรวดเร็ว และเป็นธุรกิจที่ต้องการความชำนาญด้านศิลปะอย่างสูง และที่เราอยากจะมุ่งเน้นคือตัวสื่อ (Media) ซึ่งเป็นการใช้ความชำนาญด้านศิลปะเช่นเดียวกัน และก็จะเติบโตอย่างสูงเช่นเดียวกัน 


จากคำถามของคุณ เราพยายามมุ่งไปด้านเศรษฐกิจสร้างสรรค์นี้ ทั้ง หนัง เกมส์ ดีไซน์ ซึ่งเป็นงานในส่วนเชิงพาณิชย์ เป็นหนทางที่จะสามารถทำรายได้ได้ดี 


หรืออีกส่วนหนึ่งคือการศึกษาที่สามารถทำรายได้ได้ดี คือการเปลี่ยนมาเป็นครูสอนทักษะ เช่นอาชีพนักดนตรีที่เก่งๆ นั้น เมื่อได้สอนด้วย ก็จะมีรายได้ดีมาก 


และอีกสายหนึ่งที่เรียกว่า Well-being ที่เกี่ยวกับด้านการดูแลสุขภาพ เราพยายามทำ Well-being community ซึ่งตัวศิลปินถือเป็นผู้นำที่สำคัญคนหนึ่ง ตัวศิลปินจะเข้าไปมีส่วนร่วมกับการทำงานในหลากหลายตำแหน่ง เช่น การศึกษา สิ่งแวดล้อม 


อยากให้พูดถึงการทำงานในระดับนานาชาติ ? 


โดยหน้าที่ เราทำงานเพื่อสนับสนุนให้ผู้ชมผู้ฟังได้มีประสบการณ์กับผลงานศิลปะของศิลปินชาวออสเตรเลีย แต่เพื่อให้ผลงานมีคุณภาพเพิ่มขึ้น เราสนับสนุนให้มีการแลกเปลี่ยนกับศิลปินต่างประเทศด้วย เพราะเราเชื่อว่าจะเป็นแนวทางพัฒนาไปในทางที่ดีขึ้น และเป็นการสนับสนุน รวมถึงการได้ไปเผยแพร่ตาม festival ต่างๆ ทั่วโลก 


เรามีการติดต่อกับนานาประเทศ อย่าง สหรัฐอเมริกา, ยุโรป หรืออย่างปีที่แล้วเรามุ่งเน้นไปที่จีน เนื่องจากการจัด world expo ที่นั่น นอกจากจีนแล้ว ก็มี เกาหลี อินเดีย และปีหน้า (2012) กับไทย (เป็นวาระครบรอบ 60 ปีสายสัมพันธ์ไทย-ออสเตรเลีย) อย่างไรก็ดี เรามีการติดต่อและสายสัมพันธ์ที่ดีกับหน่วยงานศิลปะอื่นๆ ทั่วโลก 


ส่วนอื่นๆ ที่เราเกี่ยวเนื่องมากยิ่งขึ้น คือ National Board Band Network ซึ่งทุ่มงบไปมากถึง 37 พันล้านดอลลาร์ ให้ระบบนี้ใช้ได้ทั่วประเทศ เพื่อที่ศิลปินประมาณ 20-25% ในสายนี้เข้าถึงการใช้งานได้ครอบคลุม ซึ่งเราจะได้แน่ใจได้ว่า ศิลปินทางสาย digital นี้จะได้มีเวลาพร้อมทั้งการสนับสนุนให้เนื้อหาสาระทางศิลปะมากเพียงพอที่ศิลปินเหล่านี้จะมาใช้ประโยชน์ได้ และเป็นวัตถุดิบในการทำงาน ให้แก่องค์กรอื่นๆ ทั่วประเทศได้ 


ทำอย่างไรในการส่งออกผลงานศิลปะของออสเตรเลียไปที่อื่น 


เรามีการทำ Branding หน้าที่ของเรา การทำงานของเรา เกี่ยวเนื่องกับ brand ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของหัวเรื่องใหญ่ คือ ศิลปะ แต่ brand คงไม่มีเงินพอเพียงที่จะสนับสนุนศิลปินนัก เรามีโครงการศิลปะที่เรียกว่า Art trade ที่จะนำผลงานต่างๆ ไปโชว์รอบโลก อย่างไรก็ดี เรายังคงมุ่งเน้นที่จะนำเสนอผลงานความเป็นออสเตรเลีย และศิลปะที่บอกเล่าเรื่องราว อย่างผลงานของศิลปินพื้นถิ่น หรือการแสดงนาฏกรรม วรรณกรรม นั่นคือ art trade จะทำหน้าที่เข้าร่วมกับงานแฟร์ต่างๆ หรือ festival ต่างๆ ทั่วโลก ใช่ เรามีการให้ทุนสนับสนุนโครงการ Asian link ด้วย เนื่องมาจากเราต้องการมีสายสัมพันธ์อันดีต่อกัน เราภูมิใจกับผลของโครงการนี้ 


ถ้าพวกคุณมีเวลาพอ น่าจะไปเยือนทางฝั่ง Art development ว่าพวกเขาทำงานกันอย่างไร เพื่อจะพัฒนาผลงานกันออกมา นอกจากนี้ยังมี Australia Performing Art Market ที่เป็นงานที่ดึงดูดคนจากทั่วโลก มาชมศิลปินที่มีผลงานโดดเด่น หรือว่ามีการพัฒนาก้าวหน้าไปถึงไหนแล้วบ้าง ทั้งการละคร เพลง อื่นๆ นอกจากนี้ ยังเป็นตลาดสำหรับการเลือกโชว์ไปแสดงตามตาม festival ต่างๆ ถือเป็นโอกาสดีที่จะลองไปดู 


โดยภาพรวม แม้องค์กรของเราจะได้รับเงินสนับสนุนจากรัฐบาล ทว่า แต่ละรัฐยังคงมีเงินทุนอีกส่วนหนึ่งของรัฐนั้นๆ เองอีกด้วย แล้วยังมี Local community ซึ่งมีทุนของตัวเอง ถือว่าออสเตรเลียโชคดีกว่าอีกหลายๆ ประเทศ แต่อย่างไรก็ตาม เรายังไม่เคยมีเงินทุนสนับสนุนอย่างเพียงพอ. 





โดย: อนันต์ ลือประดิษฐ์

ที่มา: bangkokbiznews.com / 30 กรกฎาคม 2554

Views: 33

Reply to This

© 2009-2024   PORTFOLIOS*NET by CreativeMOVE.   Powered by

Badges  |  Report an Issue  |  Terms of Service