ย้อนรอย “แฟชั่นอิตาลี” ย้อนดู “กรุงเทพฯ เมืองแฟชั่น”

พื้นที่ Event Hall ของเซ็นทรัล ชิดลม ถูกแปลงโฉมเป็น Fashion Gallery กึ่งพิพิธภัณฑ์ เนื่องจากเสื้อผ้าที่จัดแสดง นอกจากมีมูลค่า ยังเป็นของสะสมที่มีคุณค่าเชิงประวัติศาสตร์และหาชมได้ยาก 
-------------------------------------------- 

ในโลกมนุษย์ที่มีผู้คนอาศัยอยู่หลายพันล้านคน จะมีสักกี่สิ่งที่คนทั้งโลกชื่นชอบและหลงใหลร่วมกัน หนึ่งในนั้นคือ “แฟชั่น” บางคนอาจมองว่า แฟชั่นเป็นสิ่งฉาบฉวย แต่มีอีกไม่น้อยที่มองว่าแฟชั่นไม่ใช่เรื่องผิวเผิน เพราะเบื้องหลังแฟชั่น สิ่งที่ซ่อนอยู่ในแฟชั่นคือ “รากเหง้า” 

“เวลาที่เรามองกลับไปในประวัติ ศาสตร์ด้วยความตั้งใจหรือไม่ก็ตาม หลาย ครั้งที่เรามักมองผ่านแฟชั่น เพราะแฟชั่นสามารถบอกอะไรได้หลายอย่าง ไม่ว่าจะเป็นความชำนาญในอะไรบางอย่างที่ซ่อน อยู่ในแบรนด์แฟชั่น หรือจะเป็นวิวัฒนาการ ของเครื่องจักร แม้แต่ความศิวิไลซ์ของแต่ละ สังคม ก็มองผ่านจากแฟชั่นได้เช่นกัน” 

กุลวิทย์ เลาสุขศรี ผู้เชี่ยวชาญด้านแฟชั่นของเมืองไทย และบรรณาธิการบริหารนิตยสาร Elle แสดงความคิดเห็นใน ฐานะหนึ่งในผู้จัดนิทรรศการ “GLAMOUR, 60 Years of Italian Fashion” ซึ่งรวบรวมแฟชั่นชั้นสูงของอิตาลีในช่วงเวลา 60 ปีที่ผ่านมา นำเสนอผ่านผลงานของ 24 ดีไซเนอร์ชาวอิตาลีแถวหน้าของโลก 

บนเวทีแฟชั่นโชว์จำลอง ชุดราตรีสีน้ำเงินเข้มเข้ารูป รับกับโครงส่วนอกที่เป็น รูปใบไม้โอบ ประดับเลื่อม ดูงดงามราวงาน ประติมากรรมจากผ้า สมควรแก่ราคาหลัก ล้านบาทของชุดนี้ ข้างเคียงกันเป็นชุดราตรี ยาวทรงสุ่มประดับวัสดุสีทองที่ขอบชายกระโปรง มูลค่ากว่า 1.2 แสนบาท และชุด ราตรีสีดำแพตเทิร์นลายก้นหอย พร้อมด้วย ชุดราตรีชีฟองสีครีมบ่าเฉียง ราคาชุดละราว 4 แสนบาท 

แค่แฟชั่นเสื้อผ้าบนพรมแดงหน้าทาง เข้านิทรรศการก็มีมูลค่าร่วม 2 ล้านบาทแล้ว ทว่า นิทรรศการย้อนรอยแฟชั่นอิตาลี ครั้งนี้จัดแสดงผ่านเสื้อผ้าราคาแพงและหายากทั้งหมด 84 ชิ้น รวมเป็นมูลค่ากว่า 40 ล้านบาท 

หลายคนทราบดีว่า แฟชั่นอิตาลีน่าจะมีอายุยาวนานนับร้อยปี แต่สำหรับเวลา 60 ปีที่ถูกนำเสนอในนิทรรศการครั้งนี้เป็นระยะเวลาที่ธุรกิจแฟชั่นอิตาลีได้เริ่มต้นขึ้นอย่างจริงจัง โดยผู้จัดเริ่มนับตั้งแต่ปี 2494 ซึ่งเป็นครั้งแรกที่มีการจัดแฟชั่นโชว์ของอิตาลี 

รันเวย์แรกของแฟชั่นอิตาลีเกิดขึ้น ณ วิลล่า ตอร์ริจิอานี ซึ่งเป็นบ้านพักของมาร์คีส์ โจวานนี บาติสตา จอร์จินี นักธุรกิจชาวอิตาเลียน และเจ้าหน้าที่ฝ่ายจัดซื้อสินค้างานฝีมือของอิตาลี เพื่อส่งออกไปยังห้างสรรพ สินค้าชั้นนำของอเมริกา 

 
ผู้ชมสนใจดูชุดที่เป็นหนึ่งในไฮไลต์ของนิทรรศการครั้งนี้อย่างใกล้ชิด ชุดราตรีชีฟองสีครีม มูลค่าร่วม 4 แสน ขณะที่ชุดราตรีสีดำ โครงส่วนอกเป็นรูปใบไม้โอบ ราคาสูงถึงหลักล้านบาท 
------------------------------------------ 

 

ไฮไลต์ของนิทรรศการครั้งนี้ 
--------------------------- 

 
หนึ่งกลยุทธ์การตลาดที่ถือว่ามีประสิทธิภาพมากของเหล่าแบรนด์เสื้อผ้าอิตาลี คือการใช้ "Innovator" หรือสตรีที่มีชื่อเสียงของโลก มาเป็นผู้สวมใส่ชุดของตน โดยชุดราตรีสีขาวนี้โด่งดังเพราะเคยเป็นฉลองพระองค์ของเจ้าหญิงไดอาน่า 
------------------------------



แรงบันดาลใจของแฟชั่นโชว์ครั้งนี้มาจากกระแสความคลั่งไคล้ของสื่อมวลชนและสาธารณชนโลกที่มีต่อชุดแต่งงานของดาราฮอลลีวูด ลินดา คริสเตียน ที่มาจากห้องเสื้อโซเรลเล ฟอนตานา 

ว่ากันว่า การจัดแฟชั่นโชว์ครั้งนั้นถือเป็นเดิมพันสำคัญต่ออนาคตวงการแฟชั่นในอิตาลี เพราะนั่นคือ การท้าทายสุดยอดแห่งแฟชั่นชั้นสูง หรือโอต์ กูตูร์ (Haute Couture) ของผู้นำแฟชั่นโลกอย่างประเทศฝรั่งเศส 

“หากแฟชั่นชั้นสูงของฝรั่งเศสคือศิลปะ แฟชั่นชั้นสูงอิตาลีคือการผนวกเอาระบบอุตสาหกรรมเข้ากับ งานศิลปะ ร่วมกับวิธีคิดในการสร้างแบรนด์ หรือก็คือการทำให้ศิลปะมาเป็นสินค้า อีกนัยก็คือการเอาความ เป็นโอต์ กูร์ตูแบบฝรั่งเศส ผนวกเข้ากับความเป็นอเมริกา เพราะตลาดสำคัญของแฟชั่น อิตาลียุคแรกคือ ตลาดอเมริกา” กุลวิทย์อธิบาย 

ความสำเร็จจากแฟชั่นโชว์ครั้งนั้นสร้างความประทับใจให้กับสื่อมวลชนที่มาร่วมงานอย่างมาก ถึงขนาดที่วารสาร WWD (Women Wear Daily) ซึ่งถือเป็นไบเบิลของวงการแฟชั่น จากประเทศอเมริกา ตีพิมพ์บทความยกย่องแฟชั่นโชว์ครั้งนี้ว่า เป็นปรากฏการณ์ “อิตาลีเริ่มแต่งตัว” 

เวทีแฟชั่นโชว์ครั้งนั้นถือเป็นจุดกำเนิดของสินค้าแฟชั่นภายใต้แบรนด์ “Made in Italy” จากวันนั้นมาจนวันนี้ ก็ครบ 6 ทศวรรษพอดี และเพื่อฉลองครบรอบ 60 ปี ในธุรกิจแฟชั่นอิตาลี สถานทูตอิตาลีจึงได้ร่วมมือกับห้างเซ็นทรัลในการจัดนิทรรศการแฟชั่นชั้นสูงของอิตาลีในครั้งนี้ ภายใน Event Hall ชั้น 3 ของห้างเซ็นทรัล ชิดลม ถูกแปลงโฉมเป็นแฟชั่นแกลเลอรี่ หรือจะเรียกว่าเป็น “พิพิธภัณฑ์เสื้อผ้าหาดูยาก” ก็คงไม่เกินความจริง เพราะเสื้อผ้าราคาเรือนแสนถึงล้านบาท ทั้งหมดที่นำมาจัดแสดงล้วนเป็นคอลเลกชั่นของสะสมของนักสะสมเสื้อผ้าราคาแพง 

มีเพียง 10 กว่าชุดที่เป็นของสะสมของเซเลบริตี้คนไทย ที่เหลือเกือบ 70 ชุดที่จัดแสดง เป็นเสื้อผ้า ราคาแพงและหายาก ซึ่งคัดเลือกมาจากกรุสมบัติของนักสะสมชาวอิตาลีที่ชื่อ Dr.Giorgio Forni ประธานแห่ง Sartirana Foundation ผู้อุทิศตัวให้กับการสนับสนุนงานที่เกี่ยวกับศิลปะและวัฒนธรรมของประเทศ อิตาลี ซึ่งมีทั้งหมดกว่า 2 พันชิ้น โดยคอลเล็กชั่นเสื้อผ้าของเขาถูกเช่าไปจัดแสดงมาแล้วในหลายประเทศ 

ดูเหมือนเสื้อผ้าที่เป็นไฮไลต์ของนิทรรศการครั้งนี้จะถูกขนมารวมอยู่ในโซน Designer Galleria จัดแสดงแฟชั่นเสื้อผ้ายุคบุกเบิกกว่า 40 ชิ้น ซึ่งเป็น “ไอคอน (icon)” ของแต่ละยุคนับตั้งแต่ยุค 50s จนถึงยุคโมเดิร์น และเป็น “ลุคสำคัญ (key look)” ที่สะท้อนตัวตนดีไซเนอร์ชาวอิตาลีชื่อดังแต่ละคน เช่น อาร์มานี่, บาเลสตรา, คาปุชชี่, จิอาน ฟรังโก้ เฟอร์เร่, โดลเช่ แอนด์ กาบบาน่า, กุชชี่, ฟอนตานา, มอสชิโน, วาเลนติโน่ และเวอร์ซาเช่ เป็นต้น 

ชุด “Voille 1980” หรือชุดราตรีสีดำสลับครีม ติดกับชุดราตรีดำลายจุดยุค 1980 มูลค่าชุดละกว่า 1 ล้านบาท ของคาปุชชี่ ดูโดดเด่นด้วยโครงสร้างเสื้อผ้า คล้ายงานประติมากรรม ซึ่งเป็นเอกลักษณ์ ของคาปุชชี่ จนได้ชื่อว่าประติมากรด้าน แฟชั่น ว่ากันว่าผลงานของเขามักถูกซื้อเพื่อเป็นของสะสมมากกว่าเพื่อสวมใส่ 

เกือบทุกชุดที่ถูกนำมาจัดแสดงในโซนนี้ สนนราคาสูงกว่า 1 แสนบาท และ หลายชุดราคาสูงกว่าครึ่งล้าน ไม่ใช่เพียงแค่ “มูลค่า” อีกสองสิ่งที่ทำให้นิทรรศ-การแฟชั่นครั้งนี้ดูน่าสนใจ ได้แก่ เรื่องราวเชิงประวัติศาสตร์ของเสื้อผ้าแต่ละชุดที่บอกเล่าถึงความรุ่งเรืองทาง ศิลปะและแฟชั่นของอิตาลี และประวัติของเสื้อผ้าซึ่งถูกสวมใส่โดยสตรีผู้มีชื่อเสียงของโลก ซึ่งดูได้ในโซน Hall of Fame 

ชุดราตรียาวสีขาวมุกของเวอร์ซาเช่ ปี 1981 ครั้งหนึ่งเคยเป็นฉลองพระองค์ของเจ้าหญิงไดอาน่า มูลค่าเกือบ 3 แสนบาท หรือชุดออกงานกลางวันผ้าลูกไม้สีดำของเจ้าหญิงเกรซ เคลลี แห่งโมนาโก โดยวาเลนติโน่ ปี 2519 สนนราคา 4 แสนบาท ชุดราตรี ยาวสีดำ ตัดด้วยแขนเสื้อแบบปีกสีชมพูสดของฟอนตานา ปี 2503 สวมใส่โดยอลิซาเบธ เทย์เลอร์ แพงถึง 4.8 แสนบาท ...นี่เป็นเพียงบางส่วนของเสื้อผ้าหายากที่นำเข้ามาจากอิตาลี 

“ตามทฤษฎีแฟชั่น การที่แฟชั่นจะบูมได้ ต้องมีคนที่เป็น “innovator” หรือ “ผู้นำ แฟชั่น” ซึ่งเป็นคนที่ดีไซเนอร์มองแล้วว่าพวกเธอเหล่านี้จะเป็นคนสร้างสไตล์และ “ลุค” ให้กับชุดนั้น ภายในนิทรรศการนี้เราจะบอกเลยว่าชุดนี้ใครใส่ คนเหล่านี้เองที่จุดประกาย ความดังให้กับคอลเลกชั่น” กุลวิทย์กล่าว 

บนเวทีสัมมนาที่จัดขึ้นระหว่างนิทรรศการ เขาย้ำว่า สไตล์ธุรกิจของแฟชั่นอิตาลีมีความซับซ้อน แต่ในความลุ่มลึกเหล่านี้นี่เองที่สร้างเม็ดเงินให้ประเทศนี้ปีละหลายพันล้านบาท 

สำหรับโซน Print Galleria แม้อาจมีมูลค่าเฉลี่ยของเสื้อผ้าไม่สูงเท่าโซนอื่น แต่จุดเด่นของโซนนี้คือภาพ สะท้อนความร่วมมือในอุตสาหกรรมแฟชั่นอิตาลี จนเกิดเป็นแคมเปญ “Made in Italy” ในการโปรโมตแฟชั่นอิตาลีในช่วงปี 1970s โดยเกิดจากความร่วมมือระหว่างดีไซเนอร์ ผู้ผลิตผ้า และผู้ที่อยู่ในโครงสร้างของอุตสาหกรรมแฟชั่น 

โดยเฉพาะธุรกิจผ้าพิมพ์และสิ่งทอที่สามารถพัฒนาเครื่องจักรและเทคโนโลยี ให้มีความละเอียดและคุณสมบัติที่ดี เพื่อ “เก็บภาษา” ของงานดีไซน์ได้สมบูรณ์ แต่ขณะเดียวกัน ก็ผลิตได้เร็วขึ้นในราคาที่ถูกลง ส่งผลให้แฟชั่นอิตาลีเข้าถึงตลาดผู้นิยม บริโภคแฟชั่นที่กว้างขึ้น 

 
ชุดสีดำสองชุดนี้ มีมูลค่ากว่าล้านบาท เป็นผลงานของดีไซเนอร์คนเดียวกับชุดราตรีสีดำรูปใบไม้โอบ เขาคือ "คาปุชชี่" ผู้ที่ได้ชื่อว่าเป็นนักประติมากรด้านแฟชั่น ผู้เข้าสู่วงการแฟชั่นมาตั้งแต่อายุ 18 ปี 
----------------------------- 
 
ซ้าย ชุดผ้าพิมพ์ลายมาดอนน่า นับเป็นชิ้นที่ดูมีสีสันและน่าสนใจอีกชุดที่จัดแสดงในโซน "Print Galleria" ขณะที่ชุดสีแดงสดถูกแยกมาจัดแสดงในโซน "RED Galleria" ขวา เป็นการเฉพาะ เนื่องจากผู้จัดมองว่า สีแดง ถือเป็นกิมมิคหนึ่งของแฟชั่นอิตาลี 
------------- 

 
โซนชุดผ้าพิมพ์ (Print Galleria) สะท้อนให้เห็นว่าอุตสาหกรรมแฟชั่นของอิตาลีก้าวไกลมาถึงวันนี้ ส่วนหนึ่งเป็นเพราะเทคโนโลยีในการพิมพ์ที่มีประสิทธิภาพสูง คือทั้งเร็วและคุณภาพดีไม่ว่าจะพิมพ์บนวัสดุผ้าแบบใด 
------------------------ 

 
เพราะชุดที่นำมาจัดล้วนเป็นแบรนด์ที่หลายคนคุ้นเคยและเป็นผลงานชิ้นเอกของแต่ละแบรนด์ในยุคนั้น ทั้งยังล้วนแต่เป็นชุดที่หาชมได้ยาก งานนี้จึงมีทั้งลูกค้าของห้างและผู้คนทั่วไปให้ความสนใจเข้าชมอย่างมาก 
----------------------------



ตลอดนิทรรศการนี้ สาระสำคัญที่ผู้จัดพยายามสะท้อนออกมาให้เห็น นั่นคือนอกจาก ความสามารถของดีไซเนอร์ ความพร้อมของโครงสร้างอุตสาหกรรมก็ถือเป็นสิ่งสำคัญที่ช่วยผลักดันและขับเคลื่อนแฟชั่นอิตาลีให้มายืนอยู่บนแถวหน้าของเวทีแฟชั่นโลกจนวันนี้ 

“แฟชั่นอิตาลี เขาทำมาพร้อมกับความร่วมมือของรัฐบาล บนพื้นฐานความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับธุรกิจแฟชั่น และมองเห็นความสำคัญของธุรกิจนี้ ดังนั้น นโยบายและโครงสร้าง ต่างๆ จึงถูกปรับให้รองรับกับวิสัยทัศน์นี้” กุลวิทย์สรุป 

หลังจากเพลิดเพลินไปกับแฟชั่นของอิตาลี ผู้จัดตั้งใจปิดท้ายนิทรรศการแฟชั่นชั้นสูงของอิตาลีด้วยชุดราตรีสวยหรูที่ออกแบบโดยดีไซเนอร์ชาวอิตาลี แต่ตัดเย็บด้วยผ้าไทยจากโครงการศูนย์ส่งเสริมศิลปาชีพ ...ราวกับต้องการกระตุกให้ผู้ชมหันมามองดูธุรกิจแฟชั่นของไทยบ้าง 

ในฐานะผู้เชี่ยวชาญทางด้านแฟชั่นของเมืองไทย กุลวิทย์มั่นใจว่า วงการแฟชั่นของไทยสามารถ “โกอินเตอร์” ไปไกลถึงระดับโลกได้ไม่ยาก เพียงแต่รัฐบาลต้องยื่นมือเข้ามาช่วย ส่งเสริมและสนับสนุนอุตสาหกรรมแฟชั่นอย่างจริงจัง บนพื้นฐานความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับธุรกิจแฟชั่น 

ที่สำคัญคือ การสรรหาบุคลากรที่มีความรู้และความเข้าใจถึงความซับซ้อนของธุรกิจแฟชั่นระดับโลกเข้ามาดูแลรับผิดชอบ ซึ่งจุดนี้ถูกมองว่า เป็นความผิดพลาดของโครงการ “กรุงเทพฯ เมืองแฟชั่น” ที่เคยจุดพลุไปเมื่อ 6-7 ปีก่อนด้วยงบประมาณมหาศาล แต่แล้วก็ล้มหายไป พร้อมกับความหวังริบหรี่ในการเป็น “เมืองแฟชั่น” ของกรุงเทพฯ 

“ในแง่งานดีไซน์ เราไม่แพ้ใครเลย ธุรกิจแฟชั่นของเราคงไม่มืดมัวหรอก แต่อาจขลุกขลักไม่น้อย” กุลวิทย์ทิ้งท้าย 

สำหรับคนที่อยากชมประวัติศาสตร์แฟชั่นชั้นสูงของอิตาลี อยากเห็นความงามของโครงสร้างเสื้อผ้าจากดีไซเนอร์ชื่อดังชาวอิตาลี หรือแค่อยากเห็นเสื้อผ้าราคาแพงที่เคยสวมใส่โดยคนดังระดับโลก นิทรรศการแฟชั่นครั้งนี้จะจัดแสดงไปจนถึงวันที่ 14 สิงหาคม ศกนี้... หลังจากนั้นอาจจะต้องตามไปดูที่ประเทศอื่น หรือบางชุดอาจไม่ถูกนำออกแสดงอีกเลย 

 
ในงานสัมมนากึ่งวิชาการที่จัดคู่ไปกับนิทรรศการ "60 ปีแฟชั่นอิตาลี" มีนิสิตนักศึกษาที่เรียนด้านแฟชั่นเข้าฟังด้วยความสนใจอย่างล้นหลาม หรือพวกเขาเหล่านี้จะคือความหวังใหม่ของ "กรุงเทพฯ เมืองแฟชั่น" 
-------------------------------------------



 

โดย: สุภัทธา สุขชู

ที่มา: ผู้จัดการ 360องศา / สิงหาคม 2554

Views: 418

Reply to This

© 2009-2024   PORTFOLIOS*NET by CreativeMOVE.   Powered by

Badges  |  Report an Issue  |  Terms of Service