เบื้องหลังการแปล 'สาธนา' กับ 'หิ่งห้อย' บังเอิญ/โลกกลม/พรหมลิขิต?

 
กว่าต้นร่างงานประพันธ์แห่งเมธีปราชญ์ 'รพินทรนาถ ฐากูร' จะมาสู่สายตานักอ่านชาวไทย 'การแปล' คือ หัวใจสำคัญ 

ไม่ว่าต้นฉบับนั้นจะเขียนด้วยภาษาใด หรือใครเขียน ท้ายที่สุด...การแปลและเรียบเรียงเป็นภาษาถิ่นต่างหากที่จะนำพาคนอ่านต่างสัญชาติให้กำซาบสุนทรียรสอันแท้จริงได้ 

ในบรรณพิภพ...ต้องยอมรับว่าวรรณกรรมระดับ 'คลาสสิค' ส่วนมากเป็นผลงานของนักเขียนชาวต่างชาติ ไม่ว่าจะเป็นแถบทวีปใดก็ตาม นั่นหมายความว่า การรับรู้จึงถูกจำกัดอยู่ในกลุ่มผู้ที่รู้ภาษาต่างประเทศเท่านั้น 

หลายผลงานถูกแปลและเรียบเรียงเป็นภาษาต่างๆ มากมาย เช่น ภาษาสากลอย่างอังกฤษ ซึ่งเป็นผลดีไม่น้อย เพราะคนไทยส่วนหนึ่งรู้ เข้าใจภาษาอังกฤษค่อนข้างดี ทว่าไม่ใช่ทั้งหมด ! 

ดังนั้น 'นักแปล' จึงเปรียบดั่งพจนานุกรมมีชีวิต ที่จะช่วยตีความถ้อยคำจนกระจ่างชัดแก่นักอ่าน หากแต่เป็นประพันธบทแห่งปราชญ์แล้วไซร้ การแปลย่อมเป็นภาระหนักที่ต้องแบกรับทั้งดอกไม้และก้อนอิฐที่ผู้อ่านและผู้ประพันธ์มอบให้ 

'ศาสตราจารย์ ดร.ระวี ภาวิไล' และ 'อาจารย์ ประคิณ ชุมสาย ณ อยุธยา' ศิลปินแห่งชาติสาขาวรรณศิลป์ทั้งสองท่าน ต่างก็เป็นนักแปลชั้นครูทั้งสองคน ไม่ใช่ด้วยวัยวุฒิระดับอาวุโสเกือบศตวรรษเท่านั้น แต่ด้วยคุณวุฒิซึ่งทั้งสองท่านสะสมบ่มเพาะทั้งชีวิต พิสูจน์ได้จากงานแปลคุณภาพทุกชิ้นที่ท่านทั้งสองรังสรรค์ไว้ 


0 ระวี ภาวิไล ผู้รับใช้คุรุเทพ 
สำหรับ ศาสตราจารย์ ดร.ระวี ภาวิไล นอกจากจะเป็นนักวิชาการด้านดาราศาสตร์ผู้บุกเบิกการศึกษาด้านดาราศาสตร์เป็นคนแรกๆ ของไทยแล้ว ยังมีผลงานประพันธ์และงานแปลด้านวิทยาศาสตร์ พุทธศาสนา วรรณกรรมและปรัชญามากมาย อาทิ ปรัชญาชีวิต โดย คาลิล ยิบราน, สาธนา : ปรัชญานิพนธ์ โดย รพินทรนาถ ฐากูร, ปีกหัก โดย คาลิล ยิบราน, อลิซผจญภัยในแดนมหัศจรรย์ โดย ลูอิส คาร์รอลล์ ฯลฯ 

หนึ่งในผลงานแปลที่อาจารย์ระวีชื่นชอบมาก คือ 'สาธนา : ปรัชญานิพนธ์' ประพันธบทแห่งคุรุเทพ รพินทรนาถ ฐากูร แน่นอนว่าหากใครได้ยินกิตติศัพท์เล่าขานในงานของท่านรพินทรนาถแล้ว คงขยาดเกรงในเนื้อความอันหลบเร้น ยากแก่การเข้าใจ แต่สำหรับอาจารย์ระวีหาได้เกรงกลัวไม่ ท่านกลับสนุกสนานเพลิดเพลินกระทั่งประทับใจบทกวีสั้นๆ ซึ่งเคยปรากฏบนหน้าหนังสือพิมพ์ แม้เป็นเพียงบทกวีสั้นๆ แต่กลับดึงดูดให้อาจารย์ระวีประทับชื่อรพินทรนาถ ฐากูรไว้ในห้วงจำไว้นานนับกัปกัลป์พุทธันดร 

"ผมเคยได้อ่านบทความของท่านรพินทรนาถ ฐากูร ที่มีคนแปลลงหนังสือพิมพ์ บทกวีสั้นๆ นั้นนับว่าสั้นมาก ผมประทับใจ แต่จำไม่ได้ว่าเนื้อความว่าอย่างไร แต่ประทับใจเลยจำชื่อท่านได้" ศาสตราจารย์ ดร.ระวี ภาวิไล บอกเล่าในงานเสวนา 'จากร้อยปี สู่ ร้อยห้าสิบปี ปรัชญานิพนธ์ สาธนา ฉบับภาษาไทย' และ 'หิ่งห้อย กับสองศิลปินแห่งชาติผู้รังสรรค์งานแปล' เมื่อวันที่ 11 กรกฎาคม 2554 ณ อาคารมหาจุฬาลงกรณ์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย 

กระทั่งอาจารย์ระวีเข้าไปที่ห้องสมุดคณะอักษรศาสตร์ ท่านไม่ปล่อยให้โอกาสที่จะได้รู้จักคุรุเทพแห่งโลกตะวันออกหลุดลอยไปหรือเป็นเพียงแค่ 'นักเขียนในดวงใจ' เท่านั้น ท่านจึงค้นหาหนังสือของรพินทรนาถ ฐากูร จนได้พบกับสาธนา หนังสือที่บรรจุบทกวีสั้นๆ บทเดิมซึ่งยังตรึงแน่นในหัวใจของอาจารย์ระวีมิคลาย 

นี่เป็นเพียงจุดเริ่มต้นของ 'รักแรกพบ' ที่ได้หวนมาพบกันอีกครั้ง... 

หลังจากอาจารย์ระวีหรือนายระวีในวัยหนุ่มขอยืมหนังสือสาธนาไป ครั้งแล้วครั้งเล่า ทุกๆ ครั้งที่เขาหยิบอ่านจะคัดลอกด้วยลายมือเก็บไว้ ลอกไปแปลไป...ทำเช่นนี้ประจำ 

อาจารย์ระวีเล่าว่า "ในกรณีของสาธนานี้ ผมลอกไว้เป็นตอนๆ เพราะมีหลายตอน ถ้าเราไปเปิดดูจะพบว่ามีหลายตอน สมัยนั้นไม่มีเครื่องถ่ายเอกสาร ก็ขอยืมมาแล้วลอกไว้ด้วยลายมือ แต่ว่าไม่ได้ลอกทั้งหมด ยืมทีก็ลอกส่วนหนึ่ง ส่วนที่ลอกก็นำมาแปล" 

เมื่อสบโอกาสวันฉลองวันปิยมหาราช ทางสโมสรนิสิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยได้จัดทำหนังสือ ชื่อ 'หนังสือมหาวิทยาลัย' อาจารย์ระวีจึงนำงานแปลสาธนาบางช่วงตอนไปลงพิมพ์ แม้จะลงได้เพียงปีละตอนเท่านั้น แต่ท่านก็ยังคงเดินหน้าแปลเรื่องสาธนาเก็บไว้...ทำเช่นนี้อยู่หลายปี กระทั่งได้หนังสือออกมา 

เมื่อรวบรวมได้ครบถ้วนแล้ว หม่อมราชวงศ์อายุมงคล โสณกุล โอรสของพลตรี หม่อมเจ้าฉัตรมงคล โสณกุล และพระเจ้าวรวงศ์เธอพระองค์เจ้าจุไรรัตนศิริมาน ได้พาอาจารย์ระวีไปถวายหนังสือเล่มนี้แก่หม่อมเจ้าธานีนิวัต หรือพระวรวงศ์เธอพระองค์เจ้าฯ กรมหมื่นพิทยลาภพฤฒิยากร โดยที่ไม่รู้มาก่อนเลยว่าช่วงเวลานั้นตรงกับงานฉลองครบรอบหนึ่งร้อยปีชาตกาลของรพินทรนาถ ฐากูร และหม่อมเจ้าธานีนิวัตก็เป็นประธานจัดงานเฉลิมฉลองครั้งนี้ด้วย หม่อมเจ้าธานีนิวัตรับหนังสือไว้ไม่นานนักก็ตามอาจารย์ระวีไปพบและรับหนังสือคืน ปรากฏว่าหม่อมเจ้าธานีนิวัตแก้ไขข้อผิดพลาดบางประการให้ พร้อมทั้งเขียนบันทึกซึ่งกลายมาเป็นคำนิยมในหนังสือสาธนาด้วย จากบางช่วงตอนว่า 

"อาจารย์ระวี ภาวิไล แห่งแผนกฟิสิกส์ คณะวิทยาศาสตร์ ในจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้แปลปรัชญานิพนธ์ของ 'รพินทรนาถ ฐากูร' ชื่อ 'สาธนา' จากฉบับภาษาอังกฤษ แล้วนำมาขอให้ข้าพเจ้าอ่านเพื่อพิจารณา ข้าพเจ้าขอออกตัวว่าไม่เคยสนใจหรือสันทัดวิชาปรัชญาแม้แต่น้อย แต่โดยที่รู้จักชอบพอกันกับผู้แปล และนิยมในการที่ผู้แปลมีความสนใจกว้างขวางในวิชาความรู้ทั่วๆ ไป จึงได้อ่านดูอย่างลัดๆ ได้ช่วยแก้ไขถ้อยคำบ้างเล็กน้อย เห็นว่าเนื้อเรื่องเรียงไว้ดี สมควรพิมพ์ให้ได้ถึงมือบรรดาผู้สนใจในปรัชญานิพนธ์ของมหากวีรพินทรนาถ ฐากูร ความนิยมของข้าพเจ้ามีอยู่เป็นส่วนมากในตัวผู้แปล..." 

0 'อุชเชนี' ราชินีนักแปล 

ด้านอาจารย์ ประคิณ ชุมสาย ณ อยุธยา ศิลปินแห่งชาติสาขาวรรณศิลป์ (กวีนิพนธ์) ปี 2536 เจ้าของนามปากกา 'อุชเชนี' ผู้รจนาบทกวีอันไพเราะและทรงพลังตั้งแต่อยู่ในรั้วมหาวิทยาลัย มีผลงานทั้งประพันธ์และงานแปล อาทิ รวมบทกวีเรื่อง ขอบฟ้าขลิบทอง, บทกวีแปลจากกวีนิทานพื้นบ้านของจีนเรื่อง อัษมา, บทกวีแปลจากบทกวีของรพินทรนาถ ฐากูร เรื่อง หิ่งห้อย ฯลฯ 

เรื่อง 'หิ่งห้อย' เป็นงานที่อาจารย์ประคิณแปลร่วมกับอาจารย์ระวี ซึ่งหากล่วงรู้ที่มาที่ไปของการได้มาพบกันระหว่างต้นฉบับและนักแปลแล้ว อาจคล้ายเป็นพรหมลิขิตเฉกเช่นเดียวกับกรณี 'สาธนากับอาจารย์ระวี' 

เดิมทีอาจารย์ประคิณไม่เคยรู้จักบทกวีเรื่องนี้มาก่อน แต่เมื่อครั้งที่อาจารย์ระวี ภาวิไลจำต้องเดินทางไปศึกษาต่อที่ประเทศออสเตรเลีย อาจารย์ระวีได้หอบหิ้วหนังสือระดับคัดสรรกองมหึมาฝากไว้กับอาจารย์ประคิณ และได้บอกทิ้งท้ายว่ากลับมาเมื่อไรจะมาเอาคืน โดยหารู้ไม่ว่าหนังสือเหล่านั้น คือหนังสือที่ทรงคุณค่ามากในสายตาของอาจารย์ระวี เพราะล้วนเป็นหนังสือชั้นเลิศทั้งสิ้น ที่อาจารย์ระวีเคยเปิดเผยว่าจะฝากไว้ได้เฉพาะกับผู้ที่ไว้เนื้อเชื่อใจที่สุด และบุคคลนั้นก็คืออาจารย์ประคิณ 

ที่สำคัญ...นี่เป็นที่มาของการได้พบกันระหว่าง 'อาจารย์ประคิณและหิ่งห้อย' 

"ก่อนที่อาจารย์ระวีจะไปเรียนต่อปริญญาเอกที่ประเทศออสเตรเลีย ท่านได้เอาหนังสือมาฝาก แล้วบอกว่ากลับมาเมื่อไรจะมาเอาคืน ดิฉันเห็นว่าเป็นหนังสือดีทั้งนั้นเลย ได้นั่งดู พลิกไปพลิกมา ก็เจอหิ่งห้อย เล่มเล็กๆ มีข้อความสั้น เป็นคติพจน์ ซึ่งท่านรพินทรนาถ ฐากูรเขียนไว้เพราะมาก และยังไม่มีใครแปล ดิฉันอยู่ว่างๆ เมื่อไรคิดถึงหนังสือเล่มนี้ก็หยิบมาค่อยๆ แปลวันละเล็กวันละน้อยจนจบเล่ม ที่จริงไม่ค่อยหนาเท่าไร ทำได้เร็วพอสมควร ก็เก็บเอาไว้เฉยๆ" 

อาจารย์ประคิณแปลเรื่องหิ่งห้อยเก็บไว้ได้ไม่นานนัก อาจารย์ระวีก็เดินทางกลับมา 'สัญญาต้องเป็นสัญญา' อาจารย์ประคิณได้นำหนังสือชั้นเยี่ยมเหล่านั้นคืนสู่อาจารย์ระวี และคล้ายการให้ดอกเบี้ยเมื่อรับฝาก อาจารย์ประคิณได้มอบต้นฉบับแปลเรื่องหิ่งห้อยแก่อาจารย์ระวีเป็นของแถม แต่อาจารย์ระวีหาได้พอใจในเนื้อความอันรุ่มรวยไม่ ตามวิสัยของนักวิทยาศาสตร์ที่พออกพอใจกับเนื้อๆ เน้นๆ เสียมากกว่า 

"ดิฉันนำหนังสือพวกนี้ไปคืน แล้วก็เอาต้นฉบับภาษาไทยไปให้ท่านด้วย ว่าดิฉันแปลออกมาเป็นแบบนี้ ท่านเอาไปอ่านก็ไม่ชอบใจ เพราะภาษาของชาวอักษรศาสตร์ก็รู้กันอยู่ว่าต้องฟุ่มเฟือย มีสร้อยมีอะไรประดับประดา ซึ่งชาววิทยาศาสตร์อย่างอาจารย์ระวีจะไม่ชอบ ท่านก็ตัดๆ จนเหลือความซึ่งกระชับมากและตรงกับภาษาอังกฤษ เสร็จแล้วท่านก็เอาไปให้ศึกษิตสยามตีพิมพ์ครั้งแรกในยุคนั้นเมื่อ พ.ศ.2517" 

0 เส้นทาง 'นักแปล' กับ 'ต้นฉบับ' 

สังเกตได้ว่าที่มาของผลงาน 'สาธนา' และ 'หิ่งห้อย' ฉบับแปลไทยนั้นคล้ายคลึงกันในนิยามหนึ่ง ซึ่งเหมือนจะถูก 'กำหนด' มาแล้วว่า 'ใครคือคนแปล ?' แต่จะด้วยความบังเอิญหรือปาฏิหาริย์ไม่ทราบได้ หากมองให้ถ่องแท้แล้ว นักแปลชั้นครูทั้งสองท่านกลับมีจุดร่วมหนึ่งเดียวกันคือ ความรัก และสนใจในเนื้องานของรพินทรนาถ ฐากูร อันอุดมสรรพวิทยาทั้งองคาพยพ และต้องการสะท้อนถ่ายสู่ผู้อ่านด้วยภาษาซึ่งตนถักทอให้สมกับต้นฉบับแห่งเมธีปราชญ์ 

ในทางกลับกัน ปัจจุบันธุรกิจสิ่งพิมพ์คือสิ่งที่นำพานักแปลมาพบกับต้นฉบับ แม้ต้นฉบับนั้นจะไม่เคยผ่านหูผ่านตานักแปลที่ต้องรับหน้าที่นี้เลยก็ตาม กระทั่งส่งให้ 'นักแปล' กลายเป็นอาชีพหนึ่งที่ผู้รู้ภาษาต่างประเทศคว้าไว้ใช้เลี้ยงชีพ ไม่ต้องมี 'พรหมลิขิต' ไม่ต้องมี 'บังเอิญ' ทุกอย่างถูกจัดสรรในกระบวนการผลิตหนังสืออยู่แล้ว 

ต้นทางของการแปลหนังสือในยุคก่อนเมื่อเปรียบเทียบกับปัจจุบันแล้วช่างเป็นเรื่องแตกต่าง ชนิดหน้ามือกับหลังมือ ! 

ในฐานะที่เป็นบรรณาธิการสำนักพิมพ์ที่ต้องร่วมงานกับนักแปลมากหน้าหลายตา ทั้งรุ่นเก่าเก๋าเกมไปจนถึงหน้าใหม่ไฟแรง มกุฎ อรฤดี บรรณาธิการสำนักพิมพ์ผีเสื้อ แสดงทัศนะว่า 

"การเดินทางของหนังสือแต่ละเล่มไม่เหมือนสมัยนี้ เดี๋ยวนี้สำนักพิมพ์ซื้อลิขสิทธิ์มาบอกว่าให้คนนั้นคนนี้แปล ก็เป็นเรื่องธุรกิจ มันก็เป็นการเดินทางของหน้าที่ ของการทำงาน แต่การเดินทางของต้นฉบับในสมัยนั้นไม่ใช่ มันเป็นคนละเรื่องเลย มันเป็นเรื่องอภินิหาร มันเป็นเรื่องบังเอิญ แล้วแต่เราจะว่าเอา แต่อย่างไรก็ตาม ท้ายที่สุดมันก็เดินทางมาถึงวันนี้" 

เมื่อห้าสิบปีที่แล้วในงานฉลองวาระชาตกาลของรพินทรนาถ ฐากูร หนังสือสาธนาฉบับแปลไทยของศาสตราจารย์ ดร.ระวี ภาวิไล รูปแบบหนังสือมือทำ ได้รับเกียรติให้จัดแสดงสู่สาธารณชนเป็นครั้งแรก ทว่าหลังจากนั้น สาธนาก็ได้สาบสูญไปจากการรับรู้ของคนทั่วไปอย่างบางเบา เพราะไม่ได้หายไปอย่างไร้ซึ่งร่องรอย การกลับมาจึงเป็นไปได้ ! 

มกุฎ อรฤดี กล่าวว่า "ทุกสิ่งทุกอย่างไม่ใช่เป็นความตั้งใจว่าจะใช้หนังสือพวกนี้เป็นการเปิดตัวสำนักพิมพ์ภารตะหรืออะไร เป็นความบังเอิญ จะอธิบายด้วยถ้อยคำอื่นหรือไม่ ไม่ทราบ บางคนอาจบอกว่าเป็นการดลบันดาล หรือถ้อยคำใดก็ตาม ผมไม่ทราบ แต่ว่าช่วงเวลานี่มันแปลก เวลาที่หนังสือหนึ่งเล่มปรากฏที่งานนั้น แล้วหายไป อยู่ดีวันดีคืนดี เราก็ได้ความจำกลับมาว่าหนังสือนั้นเคยปรากฏในงานนั้น ตอนนี้ครบร้อยห้าสิบปี ก็ควรจะปรากฏในงานนี้อีก ผมหวังว่ามันคงไม่ต้องรอถึงห้าสิบปีเพื่อที่จะพิมพ์ครั้งใหม่ (หัวเราะ)" 

มาถึงตรงนี้...หลายคนอาจยังไม่เข้าใจว่าอะไรคือคุณงามความดีของสาธนาและหิ่งห้อยนอกจากเป็นบทประพันธ์ของเมธีปราชญ์รพินทรนาถ ฐากูร และได้รับการแปลและเรียบเรียงโดยศิลปินแห่งชาติสาขาวรรณศิลป์สองท่าน หากได้เปิดหน้าหนังสือทั้งสองเล่มนี้แล้วคงหมดความสงสัยด้วยประการทั้งปวง 

มกุฎเล่าให้ฟังว่าน่าแปลกที่ทำไมหนังสือทั้งสองเล่มนี้แม้จะเคยตีพิมพ์หลายต่อหลายครั้งแล้ว แต่กลับขายไม่ได้ เหลือเยอะมากจนเอาไปถมที่ได้ (มุกตลก) จึงได้มานั่งทบทวนว่าเกิดจากอะไร ในกรณีของหิ่งห้อย พบว่าคนส่วนมากลงความเห็นว่า อ่านไม่รู้เรื่อง ! 

เมื่อมกุฎ อรฤดีพิจารณาถี่ถ้วนแล้วจึงพบสาเหตุความไม่รู้เรื่องนั้นว่าเกิดจากวรรคตอนที่ผิดเพี้ยนไป เมื่อวรรคตอนผิด ความเข้าใจจึงผิดตาม และกำลังดำเนินการแก้ไขให้ถูกต้องสมบูรณ์ 

"หลังจากที่เราศึกษาผลงานของท่านรพินทรนาถ แล้วอยากศึกษาเรื่องปรัชญานิพนธ์เราควรจะอ่านเล่มแรกซึ่งเปรียบเสมือนรากต้นไม้ที่หยั่งลึกลงในดิน คือสาธนา ถ้าเราเริ่มอ่านสาธนาจนจบเล่มอย่างเข้าใจ เราจะอ่านเล่มใดของท่านก็ได้ในโลกนี้ที่ท่านเขียนไว้อย่างเข้าใจ อย่างไพเราะ เสมือนหนึ่งเราปลูกต้นไม้ไว้แน่นหนาดีแล้ว ลำต้นแข็งแรงดีแล้ว แล้วต้นก็งอกออกไป เป็นกิ่งเป็นก้าน ในที่สุดเราก็จะเห็นดอก ดอกที่อยู่ในลำต้นที่แข็งแรง และกิ่งก้านสีเขียว ดอกมันจะสมบูรณ์ เบ่งบานเต็มที่ตามเวลาของมัน อ่านไปเถอะ จะรู้สึกได้ว่ามันคือดอก ไม่ใช่ดินนะ แต่มันคือดอก มันคือสวย มันคืองามที่สุดเท่าที่เราจะหยิบฉวยได้ในเวลาอันสั้นๆ ภายในสามบรรทัดเท่านั้น เรารู้สึกอิ่มไปอีกนานเลย..." 

ศาสตราจารย์ ดร.ระวี ภาวิไล และ อาจารย์ประคิณ ชุมสาย ณ อยุธยา น่าจะเป็นบุคคลตัวอย่างที่ดีสำหรับนักแปลเลือดใหม่ที่กำลังก้าวเข้าสู่ 'ธุรกิจวรรณกรรมแปล' ตัวอย่างสำหรับนักแปลที่ต้องการรับดอกไม้มากกว่าก้อนอิฐจากนักอ่าน 

นี่คือบทพิสูจน์โดย 'รพินทรนาถ ฐากูร' คุรุเทพ และเมธีปราชญ์แห่งโลกตะวันออก ที่มอบผลงานอันลึกล้ำให้นักแปลได้ร่วมพิสูจน์ 

ถึงกับมีคำกล่าวหนึ่งจากมกุฎ อรฤดีว่า 

"ศิลปินสองท่านนี้เหมาะสมที่สุดที่จะรับใช้งานของท่านรพินทรนาถ ฐากูร" 




โดย: ปริญญา ชาวสมุน
ที่มา: bangkokbiznews.com / 31 กรกฎาคม 2554

Views: 454

Reply to This

© 2009-2024   PORTFOLIOS*NET by CreativeMOVE.   Powered by

Badges  |  Report an Issue  |  Terms of Service