ศิลปะและภาวนา แมนดาล่าทราย

 
การสร้างแมนดาล่าทราย เป็นทั้งศิลปะและการภาวนา หนึ่งในกิจกรรมในการประชุมนานาชาติศากยธิดาฯ ครั้งล่าสุด 

สำหรับคนที่ไม่เคยเห็นการภาวนาจากเม็ดทรายละเอียดยิบหลากสีสันที่เรียกว่า แมนดาล่าทราย คงนึกสงสัยว่า มันคืออะไร แต่สำหรับบางคนที่เคยเห็นมาบ้าง ก็จะรู้ว่า นี่คือ ศิลปะและการภาวนารูปแบบหนึ่งของนักบวชพุทธสายวัชรยาน 

ที่น่าสนใจคือ สามเณรีจากเนปาลจะบินมาร่วมกิจกรรมในการประชุม นานาชาติศากยธิดาเพื่อพุทธสาวิกา ครั้งที่ 12 ณ เสถียรธรรมสถาน (12-18 มิถุนายน 2554) ในทุกๆ วันของการประชุม นักบวชจะนั่งจดจ่อกับการหยอดทรายทีละนิดอย่างมีสมาธิ เพื่อสร้างแมนดาล่า โดยเปิดโอกาสให้ชาวพุทธได้เรียนรู้กระบวนการภาวนาร่วมกัน 

ก่อนหน้านี้ สามเณรี 4 รูปจากเนปาล เคยเดินทางมาเมืองไทยเพื่อสร้างแมนดาล่าทรายพระไภษัชยคุรุ ที่วัดธรรมปัญญาราม จ.นครปฐม เป็นเวลา 7 วันเมื่อปี 2551 

การสร้างแมนดาล่าทราย ใช่ว่าใครๆ ก็ทำได้ ต้องมีการฝึกฝนและสืบทอด เนื่องจากผู้สร้างแมนดาล่าต้องใช้ทักษะชั้นสูง ซึ่งส่วนใหญ่เป็นนักบวชจากอินเดีย เนปาลและทิเบต 

สำหรับการสร้างแมนดาล่าทรายในเนปาล สามเณรีอาวุโสผู้เชี่ยวชาญจะเป็นคนคัดเลือกผู้สืบทอด เพราะกระบวนการมีความซับซ้อน นักบวชที่ทำต้องมีสภาวะจิตที่สงบนิ่งกับงานศิลปะอย่างแท้จริง ปกติแล้วสามเณรีรูปหนึ่งจะมีความเชี่ยวชาญในการสร้างแมนดาล่าทรายเพียงหนึ่งหรือสองแบบเท่านั้น เมื่อนักบวชคนใดถูกคัดเลือกแล้ว จะต้องได้รับการฝึกฝนอย่างเข้มสองปี จนกระทั่งจดจำลวดลายที่มีสีสันและความซับซ้อนได้ขึ้นใจ 

สามเณรีชาวเนปาลทั้งสี่ที่จะเดินทางมาเมืองไทยคราวนี้ เคยออกจาริกไปในอเมริกา สวิตเซอร์แลนด์ เยอรมัน และอีกหลายประเทศ เพื่อสืบทอดธรรมเนียมการทำแมนดาล่าทรายโดยผ่านการภาวนาในการสร้างงานศิลปะที่ละเอียดอ่อน และแผ่พลังแห่งความเมตตาสู่เพื่อนมนุษย์ 

ว่ากันว่า ลวดลายของแมนดาล่าทรายที่ปรากฏให้เห็น เปรียบเสมือนจักรวาลอันศักดิ์สิทธิ์ โดยทำเป็นรูปสองมิติวาดลงบนกระดาษหรือผืนผ้า ส่วนใหญ่สร้างขึ้นสำหรับพิธีมนตราภิเษก เป็นเครื่องมืออย่างหนึ่งในการทำสมาธิ เพื่อแสดงให้เห็นสภาวะของการรู้แจ้งของจิตใจ 

ในพุทธศาสนาสายวัชรยาน ภิกษุสงฆ์และสามเณรีจะสร้างแมนดาล่าที่ซับซ้อนด้วยทรายสีที่ทำจากหินพลอยอ่อนละเอียด เม็ดทรายแต่ละเม็ดเปรียบเสมือนพรอันประเสริฐ ส่วนขั้นตอนในทำแมนดาล่าจะแสดงถึงพลังแห่งจิตวิญญาณ หากผู้สร้างจิตไม่สงบนิ่ง คงยากจะสร้างสรรค์เม็ดทรายเล็กๆ นับล้านให้เป็นรูปศิลปะอันงดงาม และที่น่าแปลกคือ จะไม่มีการสะสมภาพแมนดาล่าทราย เมื่อสร้างเสร็จ จะถูกทำลาย คืนสู่ธรรมชาติ 

"ก่อนสามเณรีเนปาลกลุ่มนี้จะเดินทางมาภาวนากับแมนดาล่าทราย นักบวชกลุ่มนี้ใช้เวลาฝึกฝนหลายปี เป็นการภาวนาที่ดูสงบมาก เป็นความสงบที่มาจากสภาวะจิต มือเคลื่อนไหวใจตั้งมั่น ภาพแมนดาล่าที่ใช้ศิลปะการโรยทรายมีความละเอียดอ่อนมาก คราวนี้จะทำเป็นภาพพระอารยตารามหาโพธิสัตว์ ในแต่ละวันของการประชุมนักบวชจะนั่งโรยทรายขึ้นรูปอย่างต่อเนื่อง ซึ่งเป็นวัฒนธรรมของเขา" แม่ชีศันสนีย์ เสถียรสุต เสถียรธรรมสถาน เจ้าภาพจัดการประชุมฯ กล่าวและขอเชิญชวนผู้หญิงมาภาวนาและเรียนรู้ร่วมกัน 

ส่วนขั้นตอนก่อนจะลงมือทำแมนดาล่าทราย นักบวชจะต้องลากเส้นเค้าโครงบนแท่งยกพื้นเป็นไม้ โดยใช้อุปกรณ์กรวยโลหะรูปทรงแคบและยาวที่เรียกว่า Chak-pu แล้วนำเขาสัตว์มาถูกกับกรวย เพื่อให้ทรายที่บรรจุภายในไหลออกมาอย่างสม่ำเสมอ นอกจากนี้ยังมีเครื่องขูดที่ทำจากไม้ ที่เรียกว่า shing-ga นำมาใช้จัดขอบให้ตรงและจัดเม็ดทรายให้เป็นระเบียบ 

ทุกขั้นตอนของการภาวนา ก็เพื่อสื่อความหมายของชีวิต ตั้งแต่การลากเส้น การเลือกสีของเม็ดทราย ลักษณะเม็ดทรายที่มีทั้งความหยาบและละเอียด ไม่เว้นแม้กระทั่งเครื่องประดับที่นำมาตกแต่งทั้งภายในและภายนอกของแมนดาล่า กระบวนการทั้งหมดเกี่ยวโยงกับทุกสรรพสิ่งในโลก ต่างต้องพึ่งพิงซึ่งกันและกัน 

และเมื่อจบสิ้นกระบวนการทำแมนดาล่าทราย ยังสื่อให้เห็นถึงความไม่ยั่งยืนของชีวิต ไม่ว่านักบวชจะทำแมนดาล่าทรายออกมางดงามเพียงใด หรือเป็นศิลปะชั้นเลิศที่หาชมได้ยากในโลกใบนี้ แต่หลังจากสร้างเสร็จแล้ว จะทำลายทิ้งโดยการแยกชิ้นส่วน เพื่อสื่อถึงความไร้แก่นสาร เม็ดทรายจากการทำแมนดาล่าจะถูกกวาดรวมกัน และนำมาใส่ในภาชนะ เพื่อแจกจ่ายให้ผู้ร่วมงานหลังจากจบพิธี และส่วนที่เหลือจะนำไปโปรยลงน้ำ คืนสู่ธรรมชาติ 


แต่อย่างไรก็ตาม หลังจากสามเณรีเนปาลสร้างแมนดาล่าทรายในการประชุมครั้งนี้เสร็จ ทางเสถียรธรรมสถาน จะเก็บไว้ให้คนชมระยะหนึ่ง 




ที่มา: bangkokbiznews.com / 5 มิถุนายน 2554

Views: 150

Reply to This

© 2009-2024   PORTFOLIOS*NET by CreativeMOVE.   Powered by

Badges  |  Report an Issue  |  Terms of Service