“เมลเบิร์น” บนชีพจรศิลปะ

ผู้คนไปเมลเบิร์นด้วยเหตุผลมากมาย จิบไวน์ เสพศิลปะ ฟังเพลง หรือแม้กระทั่งช็อปปิงสินค้าเลิศหรู 

เมืองหลวงของรัฐเล็กๆ “วิคตอเรีย” ออสเตรเลียแห่งนี้ มีมิติทางวัฒนธรรมที่เต้นด้วยจังหวะชีพจรเฉพาะตัว และด้วยเสน่ห์แบบหญิงสาวที่ทำให้ใครๆ อยากกลับไปเยือนอีกหน 

การเดินทางไปออสเตรเลียเที่ยวล่าสุด เปลี่ยนความคิดอ่านของผมที่มีต่อดินแดนดาวน์อันเดอร์อย่างค่อยเป็นค่อยไป กระทั่งลงเอยเป็นความประทับใจในที่สุด หลังจากที่เคยผิดหวังกับตารางเดินทางแบบซ้ำซาก มีแต่ “กิน” กับ “ช็อปปิง” ที่จัดโดยทัวร์สำเร็จรูปมาก่อนหน้านั้น 


โดยปกติ หากเลือกได้ เมื่อมีโอกาสเดินทางต่างแดน ผมใฝ่ฝันถึงมิวเซียมโบราณในยุโรป หรือตามติดร่องรอยเก่าๆ ของผู้คนขบถในย่านกรีนิชวิลเลจของเกาะแมนฮัตตัน ในนิวยอร์กซิตี เสียมากกว่า แต่ในความเป็นจริง สถานที่แต่ละแห่งล้วนมีเรื่องราวและลมหายใจในตัวเอง ขึ้นอยู่กับนักเดินทางที่จะเปิดกว้างแก่ประสบการณ์ใหม่ๆ ที่ผ่านเข้ามาเพียงใด 


สำหรับ “เมลเบิร์น” การได้ใช้เวลาซึมซับกับสภาพแวดล้อม สูดอากาศที่แตกต่าง พบปะกับผู้คนที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับแวดวงศิลปวัฒนธรรม ทำให้ภาพความเป็นไปในวิถีชีวิตของผู้คนที่นี่ชัดเจนขึ้น อย่างน้อย ๆ ผมค้นพบว่าชีวิตกับแง่มุมของความงาม มิใช่สิ่งที่อยู่ไกลเกินเอื้อม หากเราจัดการให้เป็น 



-1- 

ทริปเยือน “เมลเบิร์น” ครั้งนี้ เป็นส่วนหนึ่งของ 3 เมือง “อินเวอร์ล็อค-เมลเบิร์น-ซิดนีย์” ที่เชิญโดยสถานทูตออสเตรเลียและสถาบันออสเตรเลีย-ไทย ซึ่งกำหนดการหลักๆ เป็นการพบปะกับบุคลากรชั้นนำทางด้านศิลปวัฒนธรรม หรือเข้าร่วมในกิจกรรมต่างๆ ที่จัดขึ้น 


วันนั้น เราเดินทางด้วยรถแวน ออกจากเมืองตากอากาศเล็กๆ ชื่อ “อินเวอร์ล็อค” สถานที่จัดงานเทศกาลดนตรีแจ๊สในแบบฉบับไม่เหมือนใคร มาถึง “เมลเบิร์น” ในยามใกล้เที่ยง 


หลังจากเช็คอินที่โรงแรม “มันตรา” บนถนน “ลิตเติล เบิร์ค สตรีท” ซึ่งอยู่ห่างจากไชนาทาวน์ ไปทางทิศตะวันตกไม่มากนัก เป้าหมายแรกคือการเยือน “เกอร์ทรูด คอนเทมโพแรรี อาร์ต สเปซส์” ในย่านฟริสต์รอย-คอลลิงวูด 


“ฟริสต์รอย-คอลลิงวูด” จัดเป็นย่านเฉพาะที่มีเอกลักษณ์ในตัวเอง ที่น่าเพลิดเพลินที่สุดแห่งหนึ่งสำหรับคนชอบความคิดสร้างสรรค์ ที่นี่เป็นแหล่งรวมของบรรดาศิลปิน ดีไซเนอร์ คนรุ่นใหม่ที่มีหัวศิลป์ทั้งหลาย ร้านรวงแต่ละร้านมีไอเดียเป็นของตัวเอง เช่น “Title” ร้านซีดีและร้านหนังสือที่มีคอลเลคชั่นหายาก หรือร้านกระเป๋าหนังทำมือแบบที่มีใบเดียวในโลก อย่าง “Matt” หรือ ร้านกาแฟเท่ๆ เป็นต้น 


สำหรับ “เกอร์ทรูด คอมเทมโพรี อาร์ต สเปซส์” เป็นองค์กรไม่แสวงหากำไร ตั้งอยู่บนถนนเกอร์ทรูด นอกจากเปิดเป็นแกลลอรีแสดงผลงานศิลปะแล้ว ที่นี่ยังมีสตูดิโอให้ศิลปินรุ่นใหม่เสนอโครงการเพื่อมาทำงานสร้างสรรค์ถึง 16 สตูดิโอ โดยที่นี่พร้อมอุดหนุนงบประมาณให้จำนวนหนึ่ง ถือเป็นแกลลอรีที่มีบทบาทอย่างสูงในแวดวงศิลปะร่วมสมัย 


อมิตา เคอร์พาลานี (Amita Kirpalani) ผู้จัดการแกลลอรีแห่งนี้ ต้อนรับเราอย่างอบอุ่น ด้วยน้ำเย็นและของว่าง อย่าง “ทิม แทมส์” ซึ่งเป็นขนมเวเฟอร์ชื่อดังของ ออสเตรเลีย เธอบอกเล่าความเป็นมาของแกลลอรีที่ก่อตั้งมาตั้งแต่ปี 1985 , บทบาทของแกลลอรีต่อวงการศิลปะ และความร่วมมือกับศิลปินในระดับนานาชาติ 


จากนั้น สาวที่ชื่อเหมือนนักร้องสาวบ้านเรา ก็พาเราเดินชมพื้นที่ของสตูดิโอ ซึ่งดูจากสภาพโครงสร้าง ตัวอาคารหลังเก่าแห่งนี้ เคยเป็นโรงทอผ้าเก่ามาก่อน จึงมีลักษณะเป็นกึ่งๆ โรงงาน ให้ความรู้สึกแข็งกระด้างอยู่บ้าง แต่ในเวลาเดียวกัน ก็สอดรับกับแนวทางการสร้างงานร่วมสมัยที่เน้นเรื่องของแนวคิด และความเรียบง่าย 


อมิตา ขออนุญาตศิลปิน 2-3 รายที่กำลังทำงานในสตูดิโอ เข้าไปชมความก้าวหน้าของงาน พร้อมกับพูดคุยแลกเปลี่ยน ณ เวลานั้น ผมตระหนักได้ในทันทีว่า การส่งเสริมให้ศิลปินรุ่นใหม่ที่กำลังก้าวขึ้นมามีชื่อเสียง ได้มีเวทีสร้างสรรค์งาน ก็ไม่ต่างจากการเตรียมดิน ปุ๋ย และน้ำ เพื่อให้ต้นไม้เหล่านี้เติบโตเท่าใดนัก 


ความจริงที่น่าประจักษ์ต่อไปก็คือ วิถีทางของคนทำงานศิลปะ ซึ่งเลือกเดินบนเส้นทางนี้ คงต้องมีความเรียบง่ายและสมถะเป็นพื้นฐาน เพราะเงินอุดหนุนให้ทำงานนั้น มิใช่เงินก้อนใหญ่ที่เปลี่ยนชีวิตคุณเป็นเศรษฐี เพียงแต่ทำให้คุณพอมีปัจจัยในการสร้างสรรค์งานเท่านั้นเอง 


น่าคิดว่า เราจะเปิดให้มีเงื่อนไขแบบนี้ในสังคมไทยได้เมื่อใด 



-2- 


ดัก ฮอลล์ (Doug Hall) หนึ่งในคณะกรรมการสถาบันออสเตรเลีย-ไทย เป็นบุคคลเป้าหมายต่อไป บนสนทนาของเราเริ่มต้นอย่างหรูในมื้อค่ำที่โรงแรมแกรนด์ ไฮแอท บนถนนคอลลินส์ 


ดัก พูดคุยกับเราทุกเรื่องราว ตั้งแต่การบริหารจัดการงานศิลปะ การระดมทุนจากภาครัฐ กลยุทธในการสะสมผลงานศิลปะสู่พิพิธภัณฑ์ โดยดักเป็นคนแรกๆ ที่ให้ความสนใจผลงานศิลปะร่วมสมัยของศิลปินในย่านเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยเฉพาะศิลปินไทย ด้วยเหตุผลง่ายๆ ว่า เอเชียนั้นอยู่ใกล้ชิดกับออสเตรเลีย มากกว่าอังกฤษ ยุโรป หรือสหรัฐอเมริกาเสียอีก 


เสร็จจากมื้อค่ำ คนโตแห่งวงการศิลปะออสเตรเลีย พาเราเดินเท้าออกจากโรงแรม ข้ามฝั่งไปยัง “ACDC Lane” เพื่อบอกเล่าถึงที่มาของซอยแคบๆ มืดๆ ซอยนี้ ที่มีการเปลี่ยนชื่อซอยใหม่ เมื่อปี 2004 เพื่อเป็นเกียรติแก่วงร็อคชื่อดังของออสเตรเลีย AC/DC ในฐานะทูตทางวัฒนธรรม 


“หากเนื้อหาเพลงระบุว่า มีถนนไฮเวย์ไปสู่นรกจริง ก็ขอให้มีเลนเล็กๆ ไปสู่สวรรค์บ้าง ขอให้พวกเราเริงรำกับเพลงร็อคเถิด” ครั้งหนึ่ง จอห์น โซ (John So) ผู้ว่าการนครเมลเบิร์นเชื้อสายจีน ที่ตั้งชื่อถนนสายนี้เคยกล่าวไว้ 


หลังจากร่ำลา ดัก ฮอลล์ เราจับแท็กซี่ไปเยือนแจ๊สคลับชื่อดังและดีที่สุดของเมืองเมลเบิร์น ชื่อ “เบ็นเน็ทท์ส เลน” ไม่น่าเชื่อว่าคลับขนาดเล็กที่จุผู้ชมได้เพียง 50-60 คนจะมีบทบาทในการสนับสนุนให้ดนตรีแขนงนี้เติบโตในเมืองเมลเบิร์น คลับแห่งนี้น่าจะเล็กกว่า บราวน์ ชูการ์ หลังสวนด้วยซ้ำ 


เช่นเดียวกับคลับแจ๊สทั่วโลก “เบ็นเน็ทท์ส เลน” ตกแต่งอย่างเรียบๆ ด้วยภาพถ่ายศิลปินระดับตำนานสลับกับภาพถ่ายศิลปินร่วมสมัย ในบรรยากาศมืดสลัว ที่นี่เป็นสถานที่ๆ ศิลปินท้องถิ่นได้หมุนเวียนขึ้นมาแสดงความสามารถ โดยในบางคราวก็มีศิลปินระดับโลกแวะเวียนมาเปิด “กิ๊ก” (Gig - งานแสดงของนักดนตรีเช่นกัน) ให้ได้ฟังกัน 


เม็ก เอแวนส์ (Meg Evans) สาวใหญ่ใจดี ผู้บริหารที่นี่ บอกกับผมในตอนท้ายก่อนปิดร้านว่า ในแวดวงแจ๊สที่ออสเตรเลียมีเครือข่ายช่วยเหลือกัน นอกจากแจ๊สคลับแห่งนี้แล้ว ยังมีบาร์แจ๊สอื่นๆ ดังนั้น หากศิลปินแจ๊สไทยสนใจ ก็สามารถส่งรายละเอียดมาเปิดการแสดงที่นี่ได้เช่นกัน 


ฟังดูแล้วชวนให้มีความหวัง-อย่างไรไม่รู้ ? 



-3- 


วันรุ่งขึ้น ตารางนัดหมายของเราเริ่มต้นในยามสาย กับ อัลลิสัน ลีช (Allison Leach) ที่ VCA and Music หรือ “วิคตอเรียน คอลเลจ ออฟ อาร์ตส แอนด์ มิวสิค” ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของมหาวิทยาลัยเมลเบิร์น จัดได้ว่าเป็นสถาบันการศึกษาด้านศิลปะระดับแนวหน้าแห่งหนึ่งของโลก 


VCA and Music อยู่ทางใต้ของเมลเบิร์น บนถนนสาย “เซนต์คิลดา” เดิมเป็นพื้นที่สำหรับการเลี้ยงม้าและคอกม้า ต่อมามีการตั้งโรงเรียนสอนการแสดง ดนตรี ศิลปะขึ้นที่นี่ 


อัลลิสัน พาเราทัวร์ชมห้องเรียน ห้องบรรยาย ห้องแสดงของวิชาเอกต่างๆ ตั้งแต่ดนตรี ศิลปะ การแสดง ละคร บัลเล่ต์ และภาพยนตร์ ซึ่งแต่ละสาขาวิชามีอาคารเป็นเอกเทศไม่ปะปนกัน รวมทั้งพื้นที่ในการแสดงผลงานของนักศึกษาและคณาจารย์ ซึ่งถือเป็นการปูทางไปสู่เส้นทางวิชาชีพนี้ในอนาคต 


ข้อความหนึ่งของนักศึกษาที่เขียนติดผนังไว้เตือนใจตนเอง มีใจความว่า 


“ฉันรู้แน่ว่า ฉันคือใคร 


ฉันรู้แน่ว่า ฉันต้องการอะไร 


ฉันรู้แน่ว่า ฉันมาที่นี่ทำไม” 


ทั้งที่ออกจาก VCA and Music มานานแล้ว แต่คำพูดของอาจารย์การละครท่านหนึ่งที่นั่นยังก้องในโสตประสาท เพราะเป็นความจริงที่ไม่อาจปฏิเสธได้ 


“ ที่นี่ เรามีนักศึกษาออสเตรเลียเป็นส่วนใหญ่ มีบ้างที่มาจากประเทศอื่นๆ เช่น สิงคโปร์ มาเลเซีย แต่ยังไม่เคยมีนักศึกษาจากประเทศไทย คุณรู้ใช่มั้ยว่า การละครต้องใช้ภาษาอังกฤษ คนเรียนการละคร จึงต้องมีภาษาอังกฤษที่ดีมาก...” 


ช่วงบ่ายวันนั้น เรามีกำหนดการเยือน “แอ็คมี” (ACMI) หรือในชื่อเต็มว่า Australian Center for the Moving Image หรือศูนย์ภาพเคลื่อนไหวออสเตรเลียนนั่นเอง 


ACMI ตั้งอยู่ในย่านใจกลางเมือง ใกล้จตุรัสเฟดเดอเรชั่น ที่นี่เป็นพื้นที่สำหรับความคิดสร้างสรรค์โดยแท้ ไม่เพียงโรงหนัง 2 แห่ง และแกลลอรีแสดงประวัติศาสตร์ความเป็นมา พัฒนาการของภาพยนตร์จากอดีต จนถึงปัจจุบัน และก้าวล้ำไปในอนาคตเท่านั้น แต่ แอ็คมี ยังมีนิทรรศการหมุนเวียน ที่เป็นเรื่องสนุกๆ เรียกความสนใจจากผู้ชมทั่วไปได้อย่างกว้างขวาง เช่น นิทรรศการเกี่ยวกับเทพนิยายของวอล์ท์ ดิสนีย์ เป็นต้น 


สำหรับคนชื่นชอบเรื่องราวของหนัง และนวัตกรรมที่เกี่ยวข้อง คุณสามารถใช้เวลาอยู่ที่ “แอ็คมี” ได้เป็นวันๆ เลยทีเดียว 




-4- 


แม้จะมีตารางนัดหมายแบบ “จัดเต็ม” แต่เรายังมีโอกาสสูดลมหายใจ ด้วยการเดินร่วมไปกับผู้คนบนท้องถนนในนครเมลเบิร์น ทั้งในยามสาย บ่าย และค่อนดึก เมืองหลวงที่มีประชากรราว 4 ล้านคนแห่งนี้ กับบรรยากาศโดยรวม ถือว่าเป็นขนาดกำลังสบาย สมกับการติดอันดับเมืองน่าอยู่อันดับ 2 ติดต่อกันหลายปีที่สำรวจโดยวารสาร “ดิ อีโคโนมิสต์” 
หากคุณเหน็ดเหนื่อยกับการเดินสำรวจซอกซอย หรือไม่อยากเสียเงินช็อปปิ้งในย่านสินค้าแบรนด์ไฮเอนด์บนถนนสายคอลลินส์ คุณสามารถใช้เวลาส่วนหนึ่งกับการกระโดดขึ้นรถรางที่มีบริการฟรีสำหรับนักท่องเที่ยว เพื่อใช้ในการชมเมือง 


นอกจากสวรรค์ของนักช็อปปิง ในย่านคอลลินส์สตรีท หรือ “เบิร์คสตรีท” ที่มีอาคารสถาปัตยกรรมยุควิคตอเรียน รูปทรงของการกลับมาใหม่ศิลปะแบบโกธิคที่ปรากฏอยู่ทั่วไปแล้ว เมลเบิร์น ยังมีซอกมุมน่ารัก ซึ่งอาจจะเป็นเครปรสชาติดีจากรถเข็น 


สำหรับเพื่อนร่วมเดินทางคนหนึ่งในทริปนี้ การกลับมาเยือนเมลเบิร์นอีกครั้งทำให้เธอนึกถึง Pellegrini ร้านอาหารเล็กๆ ในแบบอิตาเลียนที่โด่งดังในฐานะ expresso bar ซึ่งให้บริการอยู่บนถนนเบิร์คสตรีทมาตั้งแต่ยุคฟิฟตีส์ ไม่เพียงกาแฟรสเข้ม แต่ที่นี่ยังมี “พาสตา” หลากซอร์ส รสชาติโดนใจ กับบริการอย่างอบอุ่นและเป็นกันเอง 


แค่นั้นก็เพียงพอแล้วที่จะมีความสุข ท่ามกลางความเป็นไปของเมืองที่หลากหลายและเต็มไปด้วยสีสันของศิลปะแห่งนี้. 

การเดินทาง 


การเดินทางไปประเทศออสเตรเลียต้องทำเรื่องขอวีซ่า ตามเงื่อนไขที่กำหนดโดยกงสุล สถานทูตออสเตรเลียประจำประเทศไทย 


มีสายการบินหลายสาย รวมทั้งสายการบินต้นทุนต่ำ ที่บินตรงจากท่าอากาศสุวรรณภูมิไปยังเมืองเมลเบิร์น 


การเช่ารถขับเป็นเรื่องสะดวกสบาย ที่นี่มีบริษัทรถยนต์ให้เช่ามากมาย รวมถึง Rent-a-Bomb ที่มีราคาถูกพิเศษ ราววันละ 35-40 เหรียญ โดยค่าจอดรถในเมืองเมลเบิร์น เฉลี่ยอยู่ที่ ชั่วโมงละ 2 เหรียญ เวลาจอดต้องดูวันเวลาให้แน่ชัด 


สำหรับผู้สะดวกในการใช้บริการขนส่งสาธารณะ ทั้งรถราง รถบัส และรถไฟ สามารถดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ www.metlinkmelbourne.com.au 


ทั้งนี้ การใช้ Metcards จะอำนวยความสะดวกในการขึ้นรถราง รสบัส และรถไฟ ซึ่งมีขายทั่วไป ในแบบเครื่องจำหน่ายตั๋วอัตโนมัติ หรือจากร้านค้าปลีก โดยมีการแบ่งเป็นโซนต่างๆ ซึ่งปกติ โซนสำหรับนักท่องเที่ยวจะอยู่โซน 1 (เมืองและเขตชานเมืองภายใน) มีค่าใช้จ่ายวันละ 6.80 เหรียญ 




โดย: อนันต์ ลือประดิษฐ์ 
ที่มา: bangkokbiznews.com / 9 กรกฎาคม 2554

Views: 123

Reply to This

© 2009-2024   PORTFOLIOS*NET by CreativeMOVE.   Powered by

Badges  |  Report an Issue  |  Terms of Service