"ขาลง" ของเทศกาลหนังยุโรป?

วัดชีพจรหนังยุโรปในกรุงเทพฯ จากที่เคยกางจอใหญ่อย่างคึกคัก มาวันนี้กลับเหลือเพียงแค่ห้องฉายเล็กๆ กับคนดูเพียงหยิบมือ 

เสียงทักทายแสดงความยินดีของแขกเหรื่อ..เสียงพูดคุยของผู้คนที่มาร่วมงานเปิด "เทศกาลหนังยุโรป" ตลอด 20 ปีที่ผ่านมานั้น นับว่าเป็น "เสียงแห่งความสุข" ทางวัฒนธรรม 

"จุดประกาย" เองได้ร่วมงานเทศกาลที่ว่านี้มาตั้งแต่ "ปีแรก" จนถึง "ปีล่าสุด" หนังที่ได้ดูหลายเรื่อง ผ่านไปหลายปีอาจรางเลือน แต่ที่แจ่มชัดเสมอมาก็คือ บทบาทที่แจ่มชัดและสำคัญยิ่ง ในการช่วยพัฒนาประสบการณ์ในการดูหนังหลากหลายแนวทาง จนสามารถบอกได้ว่า เทศกาลหนังยุโรป เติบโตคู่มากับพัฒนาการของวัฒนธรรมแห่งการชมภาพยนตร์สังคมไทย 

กล่าวคือ ฟิล์มเฟสติวัลชื่อนี้ เป็นแรงขับเคลื่อนที่ดีอย่างหนึ่งของเทศกาลหนังต่างชาติในบ้านเรา 

เพียงแต่ว่า ในระยะหลังๆ นั้น มีเสียง "ซุบซิบนินทา" จากนักดูหนังบ้าง จากแฟนประจำบ้าง และจากนักวิจารณ์บางกลุ่มบ้างว่า เทศกาลหนังยุโรป ดร็อปลงไปอย่างชัดเจน "จุดประกาย" ไม่เชื่อว่าเป็นเช่นนั้น แต่หากรับฟังเหตุผลบางอย่าง มันก็น่าสนใจว่า ข้อสันนิษฐานนี้เป็นจริงมากน้อยแค่ไหน 

จากผู้ชมที่แย่งกันซื้อบัตรในช่วงแรกๆ ของการจัดงาน จนมาถึงหนังหลายเรื่องมีคนดูไม่กี่สิบคน... 

จากที่ฉายในโรงภาพยนตร์ใหญ่โตและหลายแห่ง ลงมาอยู่ในชายคาของหอศิลป์กับห้องฉายหนังปรกติบ้าง กับออดิโทเรียมเล็กๆ บ้าง... 

และจากที่เคยเป็นระบบฟิล์มหลายปีที่ผ่านมา การฉายมาจากแผ่น dvd ...ยังไม่นับว่าบางที มีการฉายหนังเก่า ซึ่งผ่านไปแล้วหลายปี 

เรื่องดีๆ แน่นอนว่ายังมีอยู่ และน่าให้กำลังใจ แต่ที่กล่าวมาเหล่านี้ เป็นตัวอย่างของการตั้งข้อสังเกตว่า นี่คือ "ขาลง" ของเทศกาลหนังยุโรป หรือเปล่า ?

............................. 

ประวิทย์ แต่งอักษร เป็นนักวิจารณ์และอาจารย์พิเศษด้านภาพยนตร์ที่คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาและในหลายสถาบันการศึกษา แต่ที่มากกว่านั้น เขาคือชายหนุ่มผู้ติดตามดูเทศกาลหนังยุโรปมาตลอด ประวิทย์ กับ "จุดประกาย" ว่า อาจมีการเปลี่ยนแปลงไปบ้าง แต่ไม่ถึงกับเรียกได้ว่า เป็นขาลงหรือย่ำแย่ 


"ก่อนอื่น ต้องบอกก่อนว่า เทศกาลนี้ผมเองก็ดูมาอยู่เรื่อยๆ และก็พบว่าตัวเองได้มีโอกาสสัมผัสกับหนังดีๆ แปลกๆ อยู่มากมายหลายเรื่อง ซึ่งจุดนี้ ต้องบอกว่าเป็นสิ่งที่ดีมาก เพราะผมคิดว่ามันสำคัญต่อพัฒนาการในการดูหนังของคนนะ อย่างบางปีจำได้เลยว่า เคยเจอหนังแปลกๆ แบบโอ้โห แปลกดี น่าสนใจ 

หมายความว่า ขนาดตัวเองก็เป็นคนที่ชอบติดตามดูหนังอยู่เสมอๆ แล้ว เราก็ยังมีโอกาสได้เจอหนังในแบบอื่นๆ" 

ประวิทย์ สรุปว่า ไม่ว่าอย่างไร เทศกาลหนังยุโรปยังมีความสำคัญต่อสังคมไทย ส่วนเรื่องอาการ "ขาลง" ที่บางคนตั้งข้อสังเกตนั้น เขาเห็นด้วยว่ามันมีเหตุผลจากปัจจัยอื่นๆ เข้ามา 

"..อย่างการมาจัดที่หอศิลป์นี่ เราก็ไม่รู้ว่าเหตุผลจริงๆ คืออะไร แต่ในแง่ของการดูหนังนั้น ตัวผมไม่ได้แอนตี้ที่ไหน เพียงแต่อยากจะเสนอความเห็นว่า หนังมันควรจะจัดฉายในโรงภาพยนตร์ หรืออย่างน้อยๆ จัดฉายในสถานที่มันเหมาะแก่การดูหนัง เพราะว่าหนังมันเป็นเรื่องที่ต้องให้ความสำคัญด้านนี้ แต่เรื่องที่น่าเป็นห่วงมากกว่า และเรารู้สึกว่า มันส่งผลกระทบต่อวัฒนธรรมการดูหนังในเทศกาลและการดูภาพยนตร์ในโรงเลยก็คือ การดาวน์โหลดหนังทางเน็ต" 

นักวิจารณ์หนังที่ทำงานมายาวนานมากกว่า 20 ปี แจกแจงว่า การโหลดหนังนั้น มีมาทุกรูปแบบให้เลือก 

"คือมันน่ากลัวในความรู้สึกของผม เพราะคนดูไม่ต้องรออะไรแล้ว ไม่ต้องให้ผ่านกระบวนการของอะไร อยากดูเรื่องไหนก็โหลดมาเลย มีตั้งแต่ชัด ไปจนถึงยังไม่ชัด แอบถ่ายอะไรแบบนั้น คือผมรู้สึกว่า มันส่งผลในแง่ที่ว่า คนดูบางส่วนอาจจะคิดว่ามันลดทอนความสำคัญในการดูหนังตามเทศกาลลงไป ขณะที่สมัยก่อน การได้ดูหนังที่มาจากยุโรป มีความตื่นเต้นที่จะได้ดู หรือบางคนอาจจะรอหนังเรื่องนี้อยู่ และมีโอกาสได้ดู ก็ไปต่อคิวซื้อตั๋วกัน แต่ตอนนี้กลายเป็นว่า คนส่วนหนึ่งซึ่งผมคิดว่าไม่น้อย ใช้การดาวน์โหลดเอา และอาจจะพอใจในการดูหนังจากจอคอมพิวเตอร์" 

การโหลดหนังทางอินเทอร์เน็ต เป็นการกัดกร่อนวัฒนธรรมการดูหนัง ที่ส่งผลมาถึงตัวเทศกาลในมุมหนึ่ง แต่ในเรื่องอื่นๆ คนดูบางคนก็ยังไม่เข้าใจในรูปแบบของการฉายด้วย dvd ของเทศกาลหนังยุโรป 

มัลลิกา เอี่ยมละออ เจ้าหน้าที่ฝ่ายวัฒนธรรมฯ ของ "บริติช เคานซิล" อธิบายกับ "จุดประกาย" ว่า ช่วงแรกๆ การเลือกหนังมาฉายในเทศกาลหนังยุโรปนั้น เป็นฟิล์มมาก่อน แต่ระยะหลังที่เป็น dvd เพราะมีเหตุผลหลายอย่างที่ต้องทำเช่นนั้น 

"อย่างแรกเลยคือ มันประหยัดค่าใช้จ่ายมาก.." (เธอลากเสียงว่า มากกก..) "ยกตัวอย่างง่ายๆ เลยนะ ตอนเป็นฟิล์ม สมมติ 5-6 ม้วน ขนเข้ามา ค่าใช้จ่ายตรงนี้ตั้ง 4-5 หมื่น นี่ยังไม่นับว่าเกิดส่งผิดนี่ เราก็ต้องเสียภาษี คือตัวเลขที่จะต้องเสียมันเยอะมาก แต่พอเป็นแผ่น dvd เราจ่ายไม่กี่ตังค์เอง" นี่คือเหตุผลข้อแรกจากคนที่ทำงานจริง 


ส่วนประเด็นต่อมา เธออธิบายว่า การใช้ dvd ฉายนั้น มีความสำคัญส่วนอื่นๆ เพิ่มขึ้น ที่บางคนอาจจะไม่ทราบ 

"..หนังที่ฉายในเทศกาลหรือฟิล์มเฟสติวัลนั้น โดยมากก็เป็นหนังนอกกระแส ทีนี้บางเรื่อง ทางเจ้าของลิขสิทธิ์ก็มีก๊อบปี้เดียว พอมีก๊อบปี้เดียว เขาก็อยากจะเอาไปฉายในเทศกาลหนังใหญ่ๆ หรือที่อื่นๆ ก่อน พอเป็นแบบนี้ ก็จะทำให้การเลือกหนังมีปัญหาติดขัด เพราะว่าเราไม่สามารถมั่นใจได้เลยว่า ในระหว่างการรอหนังนั้น เราจะได้แน่ๆ ซึ่งจริงๆ ทางเราก็เข้าใจเจ้าของหนังนะ เพราะว่าใครๆ ก็อยากได้หนังของเขา ไปฉายในงานใหญ่ๆ ก่อน ยิ่งถ้าเป็นพวกโตรอนโต คานส์ เวนิส หรือที่ดังๆ หนังใหม่ๆ บางเรื่องแทบจะหมดสิทธิคิดเลย" 

มัลลิกา แจกแจงว่า เธอไม่แปลกใจที่เคยมีคนดูตั้งคำถามว่า ทำไมหนังในเทศกาลหนังยุโรปหรืออังกฤษ ถึงมาจากแผ่น 

"เพราะพอมันเป็นรูปแบบของแผ่น มันทำให้หลายอย่างมีโอกาสมากขึ้น ถ้าเป็นหนังใหม่มาก โอกาสที่จะได้มา ก็น้อยลงอย่างที่บอก บางปีทางเราพยายามเลือกหนังที่มันน่าสนใจ แปลก แต่พอเป็นฟิล์มก๊อบปี้เดียว มันก็ยาก เพราะเขาจะเอาไปฉายที่อื่นๆ ก่อน" 

นักดูหนังบางคนซึ่งเป็นแฟนของเทศกาลหนังยุโรปมานาน แสดงความเห็นกับ "จุดประกาย" ว่า หอศิลป์ กทม.ที่แม้จะดีในหลายๆ อย่าง แต่ไม่เหมาะในการเป็นสถานที่จัดฉายหนังจากหลายปัจจัย แม้แต่ทวิตเตอร์ของบางคน ก็ตั้งข้อสังเกตว่า อาจเป็นไปได้ว่า ค่าเช่าถูก (ขณะที่บางคนบอกว่า ไม่เสียค่าเช่า) 

"จุดประกาย" ยกหูไปสัมภาษณ์ "แหล่งข่าววงใน" ของการจัดงาน ซึ่ง "เขา" ให้ข้อมูลที่น่าสนใจว่า.. 

"การเปลี่ยนแปลง เคลื่อนย้ายการจัดงานอะไร อาจจะทำให้คนรู้สึกว่า ตัวเทศกาลดร็อปลงไป แต่ความจริงผู้จัดยังมีความตั้งใจอยู่นะ บางทีมันก็เป็นเงื่อนไขบางอย่างที่ข้างนอกไม่รู้ ยกตัวอย่างง่ายๆ เราต้องยอมรับว่า มีหนังหลายเรื่อง หรือบางเรื่องที่มีความเป็นเฉพาะหรือเป็นท้องถิ่นมากๆ งานเหล่านี้ พอเอามาฉายก็มีคนดูในโรงหนัง ไม่เกิน 30 คน พอเป็นแบบนี้ ทางสถานที่เขาก็มองว่าไม่คุ้ม และส่วนหนึ่ง คนก็ไปดูหนังที่อยู่ในข่าวสารหลักๆ หนังที่แปลกๆ เขาก็ไม่สนใจ แต่พวกเขาไม่ผิดนะ เพราะใครๆ ก็อยากดูหนังที่มันน่าสนใจ" 

แหล่งข่าวรายเดิมเล่าว่า ผลกระทบมันส่งกันเป็นทอดๆ..พอเป็นหนังที่มีลักษณะเฉพาะของบางชาติ คนไม่สนใจพอ ดูกันแค่ "หยิบมือเดียว" ทางโรงก็ไม่แฮปปี้ 

"การจัดงานที่หอศิลป์ก็อาจจะเป็นทางออก ที่ต้องลองดู ปีที่แล้ว ยอมรับว่าห้องฉายไม่ดีนัก แต่ปีนี้ ทางผู้จัด ได้ออดิทอเรียมซึ่งน่าจะโอเคขึ้นนะ อีกเหตุผลหนึ่ง ที่โดยส่วนตัวคิดว่า แนวคิดของการจัดงานน่าสนใจก็คือ การมาฉายหอศิลป์ ทำให้ไม่มีค่าตั๋ว เพราะดูฟรี ทางเราก็อาจจะได้กลุ่มคนดูใหม่ๆ เช่นนักเรียนนักศึกษา และถ้าเป็นเช่นนั้น ก็ต้องบอกว่าน่าจะลองดู ที่จะขยายคนดูไปยังกลุ่มอื่นๆ ดูบ้าง" 

................................ 

จากด้านดีและข้อด้อยของเทศกาลหนังยุโรป ที่พอจะเห็นภาพกว้างๆ นั้น กรรมการตัดสินหนังของหลายสถาบันภาพยนตร์อย่าง มโนธรรม เทียมเทียบรัตน์ ให้สัมภาษณ์กับ "จุดประกาย" ว่า บางเรื่องพอเข้าใจ และบางเรื่องขอเห็นแย้งบ้าง.. 

"เทศกาลหนังยุโรปมีความสำคัญแน่นอน ผมยังจำความสนุกสนานแบบสมัยแรกๆ ได้ ตอนที่คนดูกระตือรือร้นต้อนรับงานแบบนี้ แต่เมื่อถึงตอนนี้ ผมรู้สึกว่าวิธีคิดของการจัดงานเปลี่ยนไปมาก อย่างแรก มีคำถามว่าทำไมต้องมีการเอาหนังเก่ามาฉาย บางปีหนังมาจากยุค 90 โน่นเลยนะ ถ้าจะเป็นหนังเก่า คนดูไปซื้อ dvd ตามแผงหรือสั่งเอาจะดีกว่าไหม.." เขาถาม 

"..อย่างที่สอง การที่ไปจัดงานที่หอศิลป์ โดยอ้างว่าฟรีนั้น มันน่ากลับมาคิดว่า มันเหมาะไหม สถานที่ก็ไม่ใช่เลยนะครับ หลายคนก็บ่นแบบนี้เยอะ พื้นราบๆ ..หรือคำว่าดูฟรีนั้น ก็ไม่ควรแค่นั้น เพราะผมว่าคนดูกลุ่มนี้ พร้อมจะเสียค่าตั๋วถ้าสถานที่พร้อม เราก็เห็นอยู่แล้วนี่จากที่ผ่านมา คุณบอกว่าดูฟรี แต่ประชาชนก็ต้องเดินทางออกจากบ้าน นั่งรถ มาเสียเวลารออยู่ดี มันก็มีต้นทุนที่เขาต้องออกอยู่ ไม่ใช่ว่าดูฟรีๆ แล้วจัดที่ไหนก็ได้" 

มโนธรรม ซึ่งติดตามดูเทศกาลหนังยุโรป "ทุกปี" ไม่เคยพลาด แสดงทัศนะว่า ด้านดีก็มีให้เห็นอยู่ แต่ขอติงเรื่องที่ควรปรับปรุง อาทิ การเลือกหนังไม่ควรเลือกหรือวัดเอาแค่ การแสดงภาพเศรษฐกิจของประเทศนั้นๆ หรือเป็นหนังโฆษณาภูมิประเทศตัวเอง เพราะหนังที่มาฉายงานแบบนี้ ควรจะเป็น "ภาพยนตร์ที่มีอะไร.." 

"ของอังกฤษนี่ ดีมาก ของฝรั่งเศสและอิตาลีก็น่าสนใจ แต่บางชาตินี่ รับไม่ไหวนะ การคัดหนังมาฉาย ต้องไม่ดูถูกปัญญาของคนไทย มันควรจะมีรสนิยมของหนัง อย่างสุดท้ายคือ ผมเห็นว่า เทศกาลหนังยุโรป ควรที่จะกลับไปฉายในโรงหนังแบบเดิม เพราะถ้าไล่แต่ของฟรี สถานที่ฟรี มันก็สะท้อนอะไรบางอย่างของสถานทูตต่างชาติเหมือนกันนะ" 

นอกจากประเด็นต่างๆ เหล่านี้ "แหล่งข่าวระดับสูง" คนหนึ่งของโรงหนังเมเจอร์ ซีนีเพล็กซ์ พารากอน ยังบอกกับ "จุดประกาย" ว่า เท่าที่ผ่านมา ทางโรงมีนโยบายในการจัดฉายและจัดงานแบบนี้ และเคยจัดมาแล้วหลายครั้ง 

"ปีต่อๆ ไป น่าจะลองมาคุยหรือจัดงานร่วมกัน ดูเรื่องเงื่อนไขการจัดงานที่ไปด้วยกันได้ เพราะว่างานแบบนี้ทำให้คนไทยได้ดูหนังที่หลากหลายขึ้น.." 

สุดสัปดาห์นี้ เทศกาลหนังยุโรปในวัย 20 ปี "เต็มสาว" จะจัดที่หอศิลป์ และ "จุดประกาย" ขอให้กำลังใจการจัดงาน ที่จะมีต่อๆ ไปในอนาคต ทั้งยังหวังด้วยว่า คนไทยจะได้ดูหนังดีๆ ที่ไม่ "มักง่าย" หรือคิดแค่ "ดูฟรี" เพราะ "วัฒนธรรมภาพยนตร์" เป็นอะไรมากกว่า..การแค่ดูหนัง 

และมากกว่าการ "ชนแก้ว".. "สวมสูท".. ในวันเปิดงาน 

เพราะบางที "คนที่ชนแก้ว" อยู่ในวันเปิดงาน กับ "คนดูจริงๆ" นั้น... 

เป็น "คนละกลุ่ม" กัน 




โดย: นันทขว้าง สิรสุนทร
ที่มา: bangkokbiznews.com / 8 กรกฎาคม 2554

Views: 43

Reply to This

© 2009-2024   PORTFOLIOS*NET by CreativeMOVE.   Powered by

Badges  |  Report an Issue  |  Terms of Service